วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

GTH เธอจะอยู่กับฉันตลอดไป


สืบเนื่องจากการแถลงข่าวปิดตัวลงไปของค่ายหนังอารมณ์ดี GTH ที่ทำเอาแฟนคลับใจหายไปตามๆ กัน ไม่เคยรู้ระแคะระคายมาก่อน หรือไม่ได้คาดคิดมาก่อน จนกลายเป็นกระแส talk of the town ให้พูดถึงในโลกโซเชียลกันมากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะว่าไปก็มีหลายเสียงบ่นว่าเสียดาย ไม่น่าปิดตัวลงไปเลย สู้อุตส่าห์ให้การสนับสนุน และเป็นบริษัทหนังหัวหอกของคนไทย ที่ทำหนังถูกใจตลาดมากที่สุด และโดยส่วนใหญ่ก็เป็นหนังที่ได้รับการตอบรับจากแฟนหนังชาวไทยมากที่สุดบริษัทหนึ่ง จนก้าวขึ้นมาเป็นค่ายหนังที่อยู่ในใจคนไทยอันดับ 1 , บางเสียงบ่นก็พูดถึงความประทับใจที่มีต่อจีทีเอช ในรอบ 11 ปี (ผู้เขียน แม้นอ้างตัวว่าเป็นแฟนคลับของจีทีเอช แต่ก็ไม่ได้ดูหนังทุกเรื่องของจีทีเอช ซึ่งมีถึง 43 เรื่อง คงได้ดูเพียงประมาณครึ่งนึงของจำนวนนั้น) บางเสียงบ่นก็บอกว่าก็ดีนะ ในเมื่อแนวความคิดไม่ตรงกัน ก็ควรจะแยกย้ายกันไปทำในส่วนที่ตนเองถนัดจะดีกว่า เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ ดีกว่าจะทนทู่ซี้ ผลิตผลงานที่จมอยู่ในกรอบความคิดที่จำกัดอยู่เช่นนี้ต่อไป (ซึ่งประเด็นนี้ เดี๋ยวจะมีการพูดขยายต่อไป)

 
 

กล่าวถึงประเด็นที่พี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง (ปธ.เจ้าหน้าที่บริหารฝั่งจีเอ็มเอ็มแกรมมี่) ได้แถลงในวันแถลงข่าว บอกว่าสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจยุติการร่วมมงานกันในนามบริษัทจีทีเอช เพราะว่าหุ้นส่วนหลัก 2 ฝ่ายคิดเห็นไม่ตรงกัน คือฝ่ายคุณวิสูตร (ไทเอ็นเตอร์เทน) มองเห็นว่าควรนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนในการขยายงาน และสร้างฐานเงินทุนให้แข็งแกร่งในการผลิตผลงานที่สเกลใหญ่ขึ้นได้ ในขณะที่ฝ่ายของพี่เก้งจิระ,คุณจีน่า (หับโห้หิ้น) เห็นว่าไม่ควรเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในช่วง 1 -3 ปีนี้ เนื่องจากยังไม่พร้อม และอาจเป็นการสร้างแรงกดดันให้ไม่สามารถทำงานในกรอบที่ตนเองถนัดฟังดูมีเหตุผลที่ดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นตลอดมา ทำให้ฝั่งของจีเอ็มเอ็มที่อยู่ตรงกลาง ไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร จะถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็กลัวจะเสียมิตร จึงเลือกหนทางที่จะยุติบทบาทการทำหนังในนามจีทีเอชลง และเปิดโอกาสให้ 2 บริษัท (ไทเอ็นเตอร์เทน,หับโห้หิ้น) ได้ไปตั้งหลักใหม่ ด้วยการอาจจะไปเปิดบริษัทหนังขึ้นมาใหม่ และเลือกเดินในเส้นทางถนัดของตน และจีเอ็มเอ็ม ดูเหมือนจะสนับสนุนและพร้อมจะร่วมเป็นพันธมิตรกับทั้ง 2 ฝั่ง

ผู้เขียนมองอย่างนี้นะครับ (ขออนุญาตวิเคราะห์และให้ทัศนะส่วนตัวซึ่งเป็นความคิดส่วนตัว ซึ่งอาจถูกหรือผิดก็ได้) ประเด็นเห็นต่างเรื่องการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ฝั่งคุณวิสูตรต้องการผลักดัน แต่ฝั่งหับโห้หิ้นเห็นแย้งนั้น ผู้เขียนมองว่าประเด็นนี้นำเอามาเป็นเหตุผลในการแถลงข่าวออกสื่อ ให้ฟังดูดี มีหลักการ น่าเชื่อถือ แต่เบื้องลึกแล้ว ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ อาจเป็น 1 ในสาเหตุหลัก แต่ไม่ใช่สาเหตุใหญ่ เพราะถ้ามองเพียงว่าการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์คือชนวนที่สำคัญนั้น ก็ต้องบอกว่าหลายบริษัทที่เคยคิดจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีกระบวนการ ขั้นตอน ตรวจสอบที่ยาวนาน กว่าจะไฟนอล จนถึงไอพีโอ มันใช้กระบวนการที่นานพอที่บริษัทจะมีเวลาปรับตัวหรือตั้งหลักได้ก่อน บางครั้งต้องเลื่อนการเข้าตลาดไปเป็นปีๆ หรือถึง 2-3 ปีด้วยซ้ำ ด้วยอุปสรรคหรือข้อจำกัดบางอย่าง ข้อดีก็คือเป็นแหล่งระดมทุนที่ประหยัดต้นทุน ไม่เสียดอกเบี้ย ใช้เป็นฐานเงินทุนสำหรับการผลิต โปรดักชั่นต่างๆ มีเงินทุนหมุนเวียน ขยายงานมากมาย ซึ่งก็สอดคล้องกับศักยภาพของจีทีเอชอยู่แล้ว ส่วนข้อเสียก็คือ จะต้องเปิดเผยแผนงานทางธุรกิจ  งบการเงิน ฐานะการเงิน เปิดเผยสู่สาธารณชน ซึ่งตรงส่วนนี้หรือเปล่าที่เป็นข้อกังวลต่อฝั่งหับโห้หิ้น ที่มองว่าอาจมีผลมากดดันการทำงานหรือกรอบการทำงานที่เคยสามารถทำได้อย่างเป็นเอกเทศ มีอิสระเสรื ไม่มีใครจะมาประเมินผลได้ ซึ่งมองว่าที่ผ่านมา จีทีเอชมีทีมงานหรือบุคลากรที่ทำงานเป็นระบบมืออาชีพอยู่แล้ว วัดได้จากผลงานที่ออกมา จึงไม่น่ามีปัญหาในส่วนนี้

จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ ที่จะมองกลับไปยังประเด็นสาเหตุใหญ่ ที่ไม่ใช่สาเหตุเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเข้าตลาดฯ นั่นก็คือเรื่องของแนวความคิดในการทำหนังที่แตกต่างกันของ 2 ฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานแล้วนั่นเอง ก็คือฝั่งของคุณวิสูตร ถนัดทำหนังที่ตอบโจทย์ตลาด สูตรสำเร็จ ทำหนังที่ตอบโจทย์คนดูโดยส่วนใหญ่หรือแมส เพื่อเน้นสร้างรายได้เป็นหลัก แต่ในฝั่งของหับโห้หิ้น ถนัดทำหนังที่ตอบโจทย์คนทำหนังหรือผู้กำกับมากกว่า หรือมีความเป็นศิลปะของหนัง ไม่เป็นหนังสูตร ตลาดจ๋า ซึ่งจะว่าไปก็เป็นสองขั้วทางความคิดที่ใหญ่มาก ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาสามารถผสานให้มันลงตัวได้ ด้วยสูตรการทำหนังแบบที่เรียกว่า “ฟีลกู๊ด” ก็คือเอาข้อดีของ 2 ฝั่งมาคนคละกัน จับมาเขย่าอยู่ตรงกลาง จึงออกมาเป็นแบบฟีลกู๊ดที่เห็นๆ กัน จนถูกขนานนามว่าค่ายหนังอารมณ์ดี  แต่พอบริษัทมันเริ่มเติบใหญ่ขึ้น มุมมองในการทำหนังจำเป็นที่จะต้องโตตามอายุของบริษัท โตไปตามประสบการณ์ของคนดู จะมานั่งทำหนังในแง่คิดบวก มองโลกสวยงาม หรือแบบเดิมๆ คนดูก็จะรู้สึกเบื่อหรือไม่เป็นที่ชื่นชอบ จึงเกิดแนวความคิดที่จะฉีกกรอบหรือขยายฐานคนดูให้มีแนวทางหนังที่แปลกใหม่หรือสร้างทางเลือกเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากหนังแนวโรแมนติก คอมเมดี้ ,หนังรัก ,หนังผี ,หนังวัยรุ่น ,หนังตลก ที่ตนเองถนัด แต่พอต้องฉีกกรอบหรือแตกไลน์แนวหนังออกไป ก็เผชิญความเห็นต่างของผู้บริหารสองฝั่งที่เห็นขัดแย้งกันอย่างชัดเจน ก็คือฝั่งหนึ่งต้องการทำหนังตลาด หนังสูตรเดิมๆ ที่เคยประสบความสำเร็จ และได้ตังค์  อีกฝั่งก็ต้องการฉีกออกจากกรอบเดิมๆ สร้างหนังแนวทางเลือกใหม่ๆ แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้มากนัก บางครั้งมีการรอมชอมกันให้มาอยู่ตรงกลาง เพื่อให้หนังสำเร็จออกฉายได้ตามกำหนด แต่เผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่สุดไปซักทาง อาทิ เช่น ภ.เรื่องฝากไว้ในกายเธอ เป็นตัวอย่างของหนังจีทีเอช ที่มีส่วนผสมของ 2 แนวความคิดอย่างละครี่ง มันไม่สุดไปทางใดทางหนึ่ง จะเป็นหนังสูตรตลาดจ๋าก็ไม่ใช่ จะแอบมีติสท์ ฉีกกรอบบริบท ในตอนท้ายของหนังที่จบแบบคนดูรู้สึกค้างคาใจ ทำให้ตัวหนังมันทำรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ และก็เกิดปัญหาอีหร็อบเดียวกัน กับเรื่อง ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ และ เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ  หนังทั้ง 3 เรื่องหลังสุดนี้ของจีทีเอช คือตัวอย่างของการที่ผู้บริหาร 2 ฝั่งมีความเห็นขัดแย้งกันในแนวความคิดหลัก ที่ทำให้ตัวหนังออกมาในลักษณะคาบลูกคาบดอก ไม่สุดไปในทางใดทางหนึ่ง และมันสะท้อนออกมาให้เห็นในแง่ของรายได้ของหนังที่ผิดฝาผิดตัว เพราะถ้าหนังเดินไปในแนวของตนทางใดทางหนึ่ง ผลของรายได้จะเป็นดังนี้ ฝากไว้ในกายเธอ จะทำเงินเฉียดร้อยล้าน , ฟรีแลนซ์น่าจะทำรายได้เพียงหลัก 30-50 ล้าน และเมย์ไหน ควรจะจบที่เกินร้อยล้านขึ้น แต่ด้วยการผสมสูตรครึ่งๆ กลางๆ เพื่อรอมชอมกัน ไม่ใช่มีผลต่อรายได้เท่านั้น ในแง่ความพึงพอใจหรือความประทับใจของคนดู ก็เกิดความคาดหวังหรือสนองตอบที่ผิดคาด ไม่เหมือนครั้งที่จีทีเอชทำหนังในช่วงปีแรกๆ อันนั้นค่อนข้างมีแนวทางที่ชัดเจนกว่านี้ ว่าหนังเรื่องนี้เลือกเดินไปในแนวทางใด คนดูจะเป็นคนตัดสินเอง แต่ช่วงหลัง ดูเหมือนจีทีเอชค่อนข้างแคร์เรื่องผลตอบรับด้านรายได้เป็นหลัก ทำให้การตั้งโจทย์และแนวความคิดมันออกมาในรูปแบบที่จะเอาทั้งสองทาง คือเป็นหนังตลาด(แมส)ด้วยแต่ก็ยังต้องการความติสท์ที่มีเอกลักษณ์แฝงอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งตัวหนังมันไม่เอื้อที่จะให้คุณเดินไปทั้งสองด้านได้ จำต้องเลือกไปทางด้านใดด้านหนึ่ง การทำหนังแบบคาบลูกคาบดอกเช่นนี้เอง ที่ทำให้จีทีเอชสูญเสียแฟนคลับบางส่วนที่เคยเหนียวแน่นไป จากความผิดหวัง ความคาดหวังที่หนังที่เขาเลือกเข้าไปดู ทำไมมันเหยียบเรือสองแคม เดินตามสูตรแต่จบแบบติสท์  หรือเดินตามหนังติสท์ แต่เลือกจบตามหนังสูตร ทำให้คุณค่าความเป็นหนัง ความประทับใจมันเลือนหายไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหนังจีทีเอชในช่วงหลังๆ

ดังนั้น ทางออกในการยุติการทำหนังในชื่อจีทีเอช และเลือกที่จะไปสร้างสตูดิโอผลิตหนังของแต่ละฝั่ง น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อทั้งผู้ผลิตและคนดูในระยะยาว (วินวินด้วยกันทั้งคู่) เพราะจะสามารถทลายกรอบ หรือข้อผูกมัดอะไรบางอย่างที่จะต้องมานั่งฝืนทนทำกันในลักษณะนี้ และทำให้ผลของงานออกมาไม่ดี สู้ออกไปหาแนวทางและทำผลงานตามแบบที่ตนถนัด และตอบโจทย์คนดูได้มากกว่า และยังเป็นการขยายฐานตลาดของทั้งสองบริษัทให้กว้างมากขึ้น ไม่ต้องมาจำกัดตนเองอยู่ในกรอบของคำว่า ฟีลกู๊ดอีกต่อไป ไม่ได้บอกว่า ฟีลกู๊ด ไม่ดีนะครับ แต่ควรมี ฟีลแบ๊ดบ้างก็ได้ หรือมีหลากหลายแนวทาง เพราะมันหมดยุคโลกสวยไปตั้งนานแล้ว อะไรต่างๆ ก็ควรปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย จะว่าไปที่จีทีเอชประสบความสำเร็จได้ก็เพราะรวมเอาข้อดีของทั้งสามฝ่ายมาเข้าด้วยกัน คุณวิสูตรเก่งเรื่องแนวทางการตลาด, ฝ่ายหับโห้หิ้นเก่งเรื่องไอเดียและพล็อต และแกรมมี่เก่งเรื่องการประชาสัมพันธ์และช่องทางการสื่อสาร เมื่อมันต้องแยกย้ายกันไปเป็นแนวทางเอกเทศของ 2 บริษัท จะลดทอนศักยภาพในส่วนนี้ลงหรือไม่ จากพลังบวกของ 3 บริษัท จากนี้ไปคงต้องเป็นบทพิสูจน์ที่ต้องเผชิญความท้าทาย และเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะติดตาม สำหรับคอหนังไทยต่อไป

ตลอดระยะเวลา 11 ปีของการมีค่ายหนัง จีทีเอช ค่ายหนังอารมณ์ดีนี้ ผู้เขียนก็อยากจะรวบรวมความประทับใจส่วนตัว ที่จะเก็บเอาไว้ในความทรงจำส่วนตัว ว่าเราประทับใจอะไรบ้าง เกี่ยวกับหนังของค่ายนี้ โดยขอจัดเป็น 5 ที่สุดแห่งความประทับใจ เกี่ยวกับจีทีเอช ดังนี้

1.    ภาพยนตร์แห่งความทรงจำ ก็ขอไล่เรียงแบบไม่จัดอันดับ ดังนี้  แฟนฉัน ,ชัตเตอร์ ,มหาวิทยาลัยเหมืองแร่ ,เพื่อนสนิท ,เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ,สายลับจับบ้านเล็ก ,รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ,กวนมึนโฮ ,แฝด ,บอดี้ศพ 19 , 4 แพร่ง ,5 แพร่ง ,เด็กหอ ,วัยรุ่นพันล้าน ,เก๋าเก๋า, ลัดดาแลนด์ ,ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ,กอด,เคาน์ดาวน์,พี่มากพระโขนง ,ไอฟายแท๊งค์กิ้วเลิฟยู ,คิดถึงวิทยา ,ฝากไว้ในกายเธอ ,ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ,suck seed ห่วยขั้นเทพ ,เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ ,รัก 7 ปีดี 7 หน,สายล่อฟ้า ขอรวมเอา 15 ค่ำเดือน 11 เข้าไปด้วย เป็นต้น

 

2.    ซีรี่ย์หรือรายการโทรทัศน์แห่งความทรงจำ ที่ประทับใจ ได้แก่  ซีรี่ย์ชุด เนื้อคู่ประตูถัดไป เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร ,ซีรี่ย์ชุด Hormones , ซีรี่ย์ชุดมาลีเพื่อนรักพลังพิสดาร , หมวดโอภาสเดอะซีรี่ย์ รายการ Gang Ment เป็นต้น      

 

3.    เพลงประกอบภาพยนตร์หรือละคร แห่งความทรงจำ อาทิ ความทรงจำสีจาง, คนของเธอ ,ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ,ยินดีที่ไม่รู้จัก ,โปรดส่งใครมารักฉันที ,ไม่บอกเธอ ,แตกต่างเหมือนกัน ,รถของเล่น , ทำไมต้องรัก ,ทุ้มอยู่ในใจ ,อย่างน้อย ฯลฯ

 
 

 

4.    นักแสดงของค่ายจีทีเอชที่สร้างความประทับใจ  อาทิ แก๊งค์นักแสดงจากเรื่องแฟนฉัน ,ซันนี่ ,เต๋อ ,พีค ,หนูนา, ไอซ์, เต้ย ,แพ็ตตี้  แก๊งค์นักแสดงจากเรื่องพี่มาก , แก๊งค์นักแสดงจากซีรี่ย์ฮอร์โมนส์ , แก๊งค์นักแสดงจากซีรี่ย์ เนื้อคู่ประตูถัดไป เป็นต้น

 

5.    วลีเด็ดๆ ที่เป็นประโยคจำจากภาพยนตร์หรือซีรี่ย์

 

-        ดากานดา ฉันรักแกหว่ะ   แกมาทำอะไรเอาตอนนี้ เพื่อนสนิท

-        ถึงแม่หนูจะดำ แต่หนูก็รักของหนูนะ อ้วนดำ ๆ ๆ -แฟนฉัน

-        โห....หล่อทะลุแป้งเลยหว่ะ รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

-        อาหารร้านลุงเนี่ย รสชาติเหี้ยมาก กวนมึนโฮ

-        อีหนวด หูกาง นมแบน ตัวหนา ขาสั้น ตูดใหญ่ ศอกดำ เข่าด้าน หน้าบานอย่างกะลิง ...     โกรธป๊ะ ? ... สมองหมา ปัญญาควาย พ่อมึงตาย แม่ยายมึงสิ้น ... เออ สนุกดีว่ะ กวน มึนโฮ

-        อี อ้าก เอ๋น อี๋ - พี่มากพระโขนง
-        นึกว่ารักดนตรี ที่แท้ก็ตามผู้หญิงมา - Season Change
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น