วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (15) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 15

เรื่องที่ 15 NSA  ไม่ใช่  NASA แต่แปลเป็นไทยว่า เนียนๆ สอดแนม ของคุณพ่ออเมริกา

ข่าวดีคือ Edward Snowden ยังมีชีวิตอยู่ และรอดจากเงื้อมมือของทำเนียบขาว แต่ข่าวร้ายก็คือแนวคิดเกี่ยวกับ Enemy of The State มีจริง (ไม่ได้มีเพียงอยู่แต่ในหนังฮอลลีวู้ด) 

 
สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency) หรือ เอ็นเอสเอ (NSA) เป็นหน่วยงานข่าวกรองต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่รับผิดชอบการรวบรวมและวิเคราะห์การติดต่อกับต่างประเทศ และรับผิดชอบดูแลความมั่นคงของการติดต่อระหว่างหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ จากการหาข่าวของหน่วยงานลักษณะเดียวกันจากที่อื่น ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1952 เอ็นเอสเอเป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ  สืบเนื่องจากงานข่าวกรอง ทำให้เอ็นเอสเอมีงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาการเข้ารหัสลับเป็นจำนวนมาก เป็นหน่วยงานที่จ้างนักคณิตศาสตร์มากที่สุดในโลก   รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์มากที่สุดในโลก



รื่องย่อ ภ.เรื่อง Citizenfour

นับจากนี้ จงรู้ไว้ว่าทุกพรมแดนที่คุณข้าม ทุกการจับจ่ายที่คุณทำ ทุกสายที่คุณโทร ทุกสถานีโทรศัพท์มือถือที่คุณผ่าน เพื่อนที่คุณคบ เมืองที่คุณไป และข้อความที่คุณพิมพ์ ล้วนอยู่ในอุ้งมือของระบบซึ่งมีอำนาจการเข้าถึงไร้ขีดจำกัด แต่ปราศจากการป้องกันใด ๆ ทั้งสิ้น  นั่นคือคำเตือนจากบุรุษลึกลับผู้ใช้ นามแฝงว่า "พลเมืองสี่" ขณะส่งอีเมล์ประหลาดตรงถึง ลอร่า พอยทราส ผู้กำกับหญิงซึ่งเพิ่งผ่านประสบการณ์การถูกรัฐบาลสะกดรอยมาไม่นาน และอีเมล์ฉบับนี้นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งปฏิบัติการเสี่ยงตาย อันนำไปสู่การเปิดโปงนโยบายลับของประเทศมหาอำนาจซึ่งส่งผลสะเทือนโลกครั้ง ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ !  หนังระทึกขวัญที่ระทึกยิ่งกว่า หนัง เพราะมันคือเรื่องจริง "คือนิยามที่นักวิจารณ์เทให้แก่ CITIZENFOUR หนังสารคดีเจ้าของรางวัลออสการ์ปีล่าสุด ซึ่งเผยช่วงเวลาชวนลุ้นแห่งการผนึกกำลังกันของพอยทราส, เกลนน์ กรีนวาลด์ นักข่าวหนุ่มใจกล้า และ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์เทคนิควัยเพียง 29 ปีผู้ยอมกลายเป็น "คนทรยศชาติ" ด้วยการตีแผ่แผนลักลอบสอดแนมข้อมูลส่วนตัวประชาชนของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ ให้ชาวโลกรับรู้  มันคือช่วงเวลาสั้น ๆ ที่อัดแน่นทั้งด้วยข้อมูลน่าสะพรึงและอารมณ์ไหวหวั่นหวาดระแวงของทุกคนที่เกี่ยวข้อง หนังไม่เพียงทำให้เราได้เห็นอันตรายจากการถูกสอดแนม แต่ยังทำให้เรา "รู้สึก" ได้ถึงความน่าขนลุกของมัน จนในทันทีที่หนังปิดฉากลง เราจะไม่มีวันมองโทรศัพท์มือถือของเรา อีเมล์ของเรา บัตรเครดิตของเรา เว็บเบราเซอร์ของเรา หรือโซเชียลมีเดียใด ๆ ของเราเหมือนเดิมอีกต่อไป

ถึง ลอรา,
ณ ที่แห่งนี้ ผมไม่สามารถให้อะไรคุณได้เลย นอกจากคำพูดของผม ผมเป็นลูกจ้างระดับสูงของรัฐบาลในหน่วยงาน Intelligence Community (I.C. ฝ่ายเทคนิควิเคราะห์ข่าวกรอง -หน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1950 ช่วงสงครามเย็น) ผมหวังว่าคุณคงเข้าใจว่าการติดต่อกับคุณนั้นมันสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง บัดนี้รู้ไว้ว่า ทุกๆ พรมแดนที่คุณข้าม, ทุกๆ ธุรกรรมที่คุณกระทำ, ทุกๆ สายที่คุณติดต่อ, ทุกๆ การคุยมือถือ, เพื่อนที่คุณมี, บทความที่คุณเขียน, เว็บที่คุณแวะเข้าไปอ่าน, เนื้อหาทุกบรรทัดที่คุณพิมพ์ และสัมภาระเดินทางทุกชิ้น ล้วนอยู่ในกำมือของระบบอันไร้ซึ่งขีดจำกัดในการเข้าถึง แต่ไร้ซึ่งการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย ท้ายที่สุดนี้ หากคุณเผยแพร่แหล่งข้อมูลเหล่านี้ ผมก็คงต้องบอกว่าคุณได้เข้ามามีส่วนพัวพันกับคดีนี้โดยทันที ผมถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่าคุณจะทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไปสู่สาธารณชนชาวอเมริกัน
ขอบคุณและโปรดระมัดระวังราษฎรสี่ 


นี่คือเนื้อหาบางส่วนของจดหมายฉบับแรกที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ตอบกลับมาหา ลอรา พอยทราส ผู้กำกับสารคดีหญิงเรื่องนี้ ซึ่งปรากฏในตัวอย่างหนังด้วย

เชิงอรรถอธิบาย [หมายเหตุ: ราษฎรสี่ ในที่นี้เป็นการเล่นคำ อิงถึง ฐานันดรที่สี่ (The Fourth Estate) คำที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษ ที่แบ่งฐานันดรออกเป็น 1. กษัตริย์ ขุนนาง และนักรบ 2. ผู้นำทางศาสนา หรือพระ 3. ผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากคนธรรมดา ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐสภาอังกฤษในเวลานั้น โดย เอ็ดมันด์ เบอร์ค (1729-1797) นักเขียน และนักการเมือง ได้ชี้ไปยังกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่เข้ามาร่วมฟังประชุมสภา และกล่าวว่า บัดนี้มีฐานันดรที่ 4 เกิดขึ้นแล้วนับแต่นั้น นักหนังสือพิมพ์จึงถูกเรียกว่า ฐานันดรที่ 4ปัจจุบันหมายรวมไปถึงสื่อมวลชนทุกแขนง ขณะที่การปล่อยรั่วข้อมูลลับโดยสโนว์เดนนี้ การเล่นกับคำว่า ราษฎรสี่ได้ชี้ว่าตัวเขากระทำในฐานะสื่อมวลชนผู้ต้องการให้โลกรู้ข้อมูลเท็จจริง ซึ่งย้ำว่าขณะเดียวกัน เขาก็เป็นราษฎรด้วย อันสื่อนัยยะว่าตัวเขาสมควรจะได้รับการปกป้องจากรัฐ มิใช่ปฏิบัติต่อเขาเยี่ยงศัตรูอย่างทุกวันนี้]

หลายเดือนก่อนหน้านี้ พอยทราสได้เข้าพบสโนว์เดนในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ฮ่องกง เพื่อถ่ายสัมภาษณ์สโนว์เดนไป 8 วันรวด ทำให้ได้คลิปข่าวนานกว่ายี่สิบชั่วโมง ด้วยการซักถามของนักข่าวอีกสองคน คือ เกล็นน์ กรีนวาล์ด และอีเวน แม็คแอสคิล (ทั้งคู่เป็นนักข่าวจากเว็บไซต์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian) อันเป็นคลิปภาพข่าวที่น่าตื่นเต้นที่สุดเพราะยากที่ใครจะสามารถเข้าถึงตัวสโนว์เดนผู้จำต้องระหกระเหเร่ร่อนกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ย้ายไปตามประเทศต่างๆ ที่กล้าพอจะทานอำนาจสหรัฐฯ ได้ (ล่าสุดเขาพำนักชั่วคราวอยู่ในรัสเซีย)

Citizenfour เป็นส่วนสุดท้ายของสารคดีไตรภาค Post 9/11 ประกอบด้วยอีกสองเรื่องก่อนหน้านี้คือ My Country, My Country (2006) ที่ว่าด้วยสงครามอิรัก และ The Oath (2010) ที่ว่าด้วยทหารอเมริกันในกวนตานาโม ที่คิวบา ซึ่งบทสัมภาษณ์ของเธอเรื่องนี้ยังผลให้รายงานด้านสถานการณ์ความมั่นคง อันรวมถึงทีมงานที่สัมภาษณ์ทั้งชุดนี้ และเจเรมี ชิลล์ ซึ่งปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วย ทำให้หนังสือพิมพ์ The Guardian และ The Washington Post คว้ารางวัลพูลิตเชอร์สาขาสื่อสาธารณะไปได้ในปี 2014

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะการคว้าออสการ์หรือพูลิตเชอร์ ดูจะสวนทางกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิง ซึ่งแสดงทีท่าไม่ปลื้มด้วยเท่าไร และไม่ได้ช่วยให้สโนว์เดนได้รับการยกเว้นโทษแต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งทีมผู้สร้างหนังและแฟนหนังเรื่องนี้ จะช่วยกันออกล่ารายชื่อทางโลกออนไลน์เพื่อปลดปล่อยสโนว์เดน แต่หลังจากงานออสการ์ โฆษกทำเนียบขาวก็ออกมาแถลงข่าวยืนยันอีกครั้งว่า ผลรางวัลออสการ์ จะไม่มีผลใดใดต่อคดีของสโนว์เดน ผู้ที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

สิ่งที่ชัดเจนมากใน Citizenfour คือ พอยทราสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ภาพของสโนว์เดนเป็นเสมือนฮีโรหรือเป็นบุคคลศูนย์กลางของสารคดีเรื่องนี้ แต่เธอแทนความเป็นพระเอกของเรื่องด้วยการให้เห็นด้านซึ่งเป็นคนใจเย็น ถ่อมสุภาพ จริงใจ ฉลาด (และหล่อ) ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (โดยเฉพาะหากจะนำไปเทียบกับตัวพ่อด้านการปล่อยข่าวรั่วอย่าง จูเลียน อัสซานจ์ แห่งวิกิลีกส์ ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเขาตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและวิตกกังวลจากการถูกกระทำ ทำให้เขาต้องหวาดระแวง หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งหนังจึงให้ภาพแทนด้วยการถ่ายให้เห็นสโนว์เดนซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มในห้องหับคับแคบ

อันสอดคล้องกับประเด็นที่สารคดีพยายามจะพูดถึงประเด็นการถูกตรวจสอบโดยรัฐ ด้วยการดักข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นประเด็นเปิดโปงที่สโนว์เดนแฉให้โลกรู้ อันนำมาสู่การที่เขาต้องแปรสถานะกลายเป็นกบฏไปในทันที ซึ่งในแง่หนึ่งก็ได้ทำให้ตัวเขากลายเป็นผู้ถูกรัฐทำร้าย และไม่มีสิทธิ์สู้คดีกับฝ่ายรัฐที่มีอำนาจเต็มที่ในการกล่าวหา เอาผิด และลงโทษเขาทั้งๆ ที่การกระทำของสโนว์เดนไม่ได้บิดเบือนความจริงเลยแม้แต่น้อย

ขอบคุณเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน สำหรับความกล้าหาญของเขาลอรากล่าวขณะขึ้นรับรางวัลออสการ์ ทำให้ นีล แพ็ทริค แฮร์ริส พิธีกรออสการ์โพล่งติดตลกเรื่องที่สโนว์เดนไม่สามารถมาร่วมงานออสการ์ได้ว่า ด้วยเหตุผลว่าเขาเป็นกบฏซึ่งทั้งคำขอบคุณและมุกตลกบนเวทีออสการ์ครั้งนี้ ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญถึงสิ่งที่สโนว์เดนได้ทำไปนั้นว่า ทั้งเป็นประโยชน์และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งแต่สโนว์เดนก็ยืนยันในหนังว่า หากย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้ ผมก็จะทำแบบเดิมอีกอยู่ดี  (คัดลอกจากหน้าเพจ Thaipublica,บทความ Citizenfour ศัตรูของชาติ เพื่อความมั่นคงของใคร? ,28 กุมภาพันธ์ 2015)

เปิดโปง NSA โดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอและสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ  (National Security Agency หรือ NSA) ได้ทยอยเปิดเผยข้อมูลลับของ NSA

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อข้อมูลชิ้นหนึ่งชี้ว่ามีผู้นำ 35 ประเทศถูกสอดแนม ประเทศเหล่านี้ประกอบด้วยประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐอย่างเช่นเยอรมนี ฝรั่งเศส เม็กซิโก บราซิลและหลายประเทศในสหภาพยุโรป กับประเทศที่เป็นปรปักษ์อย่างคิวบาและเวเนซุเอลา เอกสารลับยังชี้อีกว่า NSA ร้องขอหมายเลขโทรศัพท์ผู้นำประเทศเหล่านี้จากเจ้าหน้าทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อ NSA จะได้ทำการสอดแนม จากข้อมูลดังกล่าวย่อมแสดงว่าการดักฟังผู้นำประเทศไม่ใช่การกระทำที่เป็นกรณีพิเศษหรือเจาะจงต่อผู้นำบางประเทศหรือในบางสถานการณ์ แต่เป็นแนวทางที่ NSA ดำเนินการเป็นปกติ เกิดคำถามว่าทำไมมิตรประเทศใกล้ชิดจึงยังถูกดักฟัง ในเวลาไล่เลี่ยกันสื่อหลายแห่งหลายประเทศรายงานข้อมูลของนายสโนว์เดนว่าประชาชนจำนวนมากถูกดักฟังทางโทรศัพท์จนน่าตกใจ เว็บไซต์ Cryptome หรือที่นิยมเรียกกันว่า Wikileaks เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2012 ถึง 8 มกราคม 2013 NSA ดักฟัง โทรศัพท์ประชาชนรวมทั้งหมด 124,800 ล้านครั้ง อัฟกานิสถานถูกดักฟัง 21,980 ล้านครั้ง ปากีสถานถูกดักฟัง 12,760 ล้านครั้ง ซาอุดิอาระเบีย 7,800 ล้านครั้ง แม้กระทั่งชาวอเมริกันยังถูกดักฟังถึง 3,000 ล้านครั้งหรือเฉลี่ยวันละ 100 ล้านครั้ง ทำให้ตัวเลขของฝรั่งเศสที่ 70 ล้านครั้งกับอิตาลีที่ 46 ล้านครั้งกลายเป็นจำนวนเล็กน้อย  ควรตระหนักด้วยว่าข้อมูลชิ้นนี้รายงานเพียงว่ามี 14 ประเทศที่ถูกดักฟัง แท้จริงแล้วอาจมีอีกหลายประเทศที่ถูกดักฟังเช่นเดียวกัน การดักฟังประชาชนจำนวนมากทำให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปออกโรงคัดค้านพฤติกรรมดังกล่าว คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันถึงกับกล่าวว่า ห้ามจารกรรมในหมู่มิตรด้วยกันกฎข้อนี้ บังคับใช้ต่อพลเมืองทุกคนในเยอรมนี  ในประเทศสหรัฐมีการประท้วงเช่นกัน แนวร่วมประชาชน ‘Stop Watching Us’ ได้ยื่นรายชื่อจำนวน 575,000 รายชื่อแก่รัฐสภา เรียกร้องขอให้สมาชิกรัฐสภา ทบทวนโครงการจารกรรมของ NSA ทั้งหมดข้อร้องเรียนต้องการปกป้องชาวอเมริกันและคนทั่วโลก 
 

ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ:

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการดักฟังทั้งหมดให้ความสำคัญกับเรื่องความเหมาะสม การดักฟังผู้นำของมิตรประเทศเป็นการไม่สมควร การดักฟังประชาชนจำนวนมากเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ละเมิดสิทธิมนุษยชน  แนวทางแก้ไขที่พูดถึงคือ รัฐบาลอเมริกันต้องหยุดการดักฟังผู้นำมิตรประเทศ และจำกัดขอบเขตการดักฟังประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ สอดคล้องกับท่าทีของทำเนียบขาว จากเดิมที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามากล่าวเมื่อเดือนกันยายนว่า อเมริกาไม่สนใจที่จะจารกรรมคนทั่วไป การข่าวของเราเน้นเป้าหมายในการค้นหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการปกป้องประชาชนของเรา และในหลายครั้งได้ปกป้องพันธมิตรของเราล่าสุดแสดงท่าทีว่ารัฐบาลโอบามากำลังทบทวนแผนการรวบรวมข่าวกรองเพื่อให้มีความสมดุลระหว่างความจำเป็นด้านความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นของพลเมืองอเมริกันหรือพันธมิตร  การปรับปรุงแก้ไข การจำกัดการสอดแนมประชาชนเป็นเรื่องดีสมควรสนับสนุน แต่ต้องไม่ละเลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ที่สุดของโลก และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องความไม่เหมาะสมทางการเมืองระหว่างประเทศเท่านั้น ควรตั้งคำถามด้วยว่าเป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่

 กรณี The Guardian:

นายสโนว์เดนอาศัยสื่อหลายแห่งช่วยเปิดเผยข้อมูล สื่อเหล่านี้มักจะเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศตน ถึงกระนั้นยังมีประเด็นที่รัฐบาลเห็นว่าสื่อกำลังทำผิดกฎหมาย สื่อ The Guardian ของอังกฤษเป็นกรณีตัวอย่าง เมื่อนายเดวิด คาเมนรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกโรงเตือนสื่อดังกล่าวว่าห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ถึงกับขู่ว่าจะฟ้องศาล เนื่องจากรัฐบาลไม่อนุญาตการเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ที่ทางราชการจัดว่าเป็นความลับ นายกฯ คาเมรอนกล่าวว่า ผมไม่ต้องการให้ศาลออกคำสั่ง การยื่น D-Notices (ห้ามสื่อเผยแพร่) หรือมาตรการอื่นที่รุนแรงกว่านี้ ผมคิดว่าเป็นการดีกว่าที่จะร้องขอให้หนังสือพิมพ์มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ถ้าพวกเขาไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมก็ยากที่รัฐบาลจะยืนนิ่งเฉยและไม่ทำอะไรก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม The Guardian ยอมให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการข่าวของอังกฤษที่เรียกว่า Government Communications Headquarters (GCHQ) มาสังเกตการทำลายข้อมูลลับของ NSA ที่ได้จากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนภายหลังที่รัฐบาลขู่ว่าจะฟ้องศาล แลกกับการที่ The Guardian สามารถนำเสนอเรื่องราวของ NSA ผ่านสำนักงานที่นิวยอร์ก  ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษไม่มีอะไรน่าแปลกใจ เพราะ GCHQ คือหน่วยงานข่าวกรองที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับ NSA และที่สำคัญคือ GCHQ ของอังกฤษทำงานใกล้ชิดกับ NSA มานานแล้ว เป็นการทำงานร่วมเป็นทีม เป้าหมายคือการสอดแนมตามแบบฉบับของ NSA ในย่านยุโรปทั้งหมด หากเปิดโปง NSA เท่ากับเปิดโปง GCHQ โดยปริยาย การที่รัฐบาลสั่งห้ามเปิดเผยข้อมูลทำให้การทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป ทิ้งไว้แต่คำถามว่าหากไม่มีการเปิดโปงคนนับล้านทั่วโลกจะต้องถูกสอดแนมต่อหรือไม่ ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษขัดแย้งกับท่าทีของหลายประเทศในยุโรปหรือไม่

เพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้นหรือ:

 ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางการสหรัฐจะยกเหตุผลต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อชี้ว่ารัฐมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบการข่าวที่ดี ทั้งที่โดยความจริงแล้วการข่าวมีมากกว่าการต่อต้านการก่อการร้าย แต่ไหนแต่ไรประเด็นความมั่นคงทางทหารคือเรื่องที่การข่าวให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง แม้ทุกวันนี้โลกไม่อยู่ในยุคสงครามเย็นแล้ว ความมั่นคงทางทหารยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุดอยู่ดี ในอีกด้านหนึ่งหน่วยข่าวภาครัฐสอดแนมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ เช่น สนับสนุนการเจรจาต่อรอง การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร และเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายบาย  นายมาร์ค โลเวนทอล (Mark Lowenthal) อธิบายว่าการข่าวด้านเศรษฐกิจจะกระทำด้วยความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างฝ่ายข่าวกรองกับภาคธุรกิจสหรัฐ ปัญหาการแบ่งปันข้อมูลแก่ภาคธุรกิจคือ ควรจะให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับผู้ใดเนื่องจากอุตสาหกรรมหรือธุรกิจแต่ละประเภทจะประกอบด้วยหลายรายที่แข่งขันกัน การสอดแนมไม่ได้กระทำต่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ยังกระทำต่อบริษัทเอกชน องค์กรภาคประชน จนถึงระดับปัจเจกบุคคล  คุณวิเวียน เรดดิง (Viviane Reding) คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการยุติธรรมของสหภาพยุโรป (European Union Commissioner for Justice) ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของชาวยุโรปผู้บริสุทธิ์นับล้านคน นี่ไม่ใช่การต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย บางทีอาจเป็นการกระทำเพื่อจะได้ข้อมูลลับทางการค้าทางด้านเจ้าหน้าที่ของ NSA ตอบประเด็นนี้ว่ารัฐบาล ไม่ได้ใช้ขีดความสามารถด้านการข่าวเพื่อประโยชน์ของบริษัทสหรัฐ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่สนใจข้อมูลทางเศรษฐกิจ

NSA จะสอดแนมเพื่อประโยชน์เรื่องการเจรจาต่อรองของรัฐหรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชนหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องค้นหาความจริงต่อไป และอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนนับล้านทั่วโลกจึงถูก NSA ติดตามสอดแนม  เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นถ้าคิดแบบเรียบง่ายคือนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนเปิดเผยข้อมูลอย่างมือสมัครเล่น แต่หากคิดว่านี่คือการเปิดโปงของมืออาชีพ หากตั้งสมมติฐานว่านี่คือแผนบั่นทอนรัฐบาลอเมริกา ย่อมต้องคาดการณ์ต่อว่าเรื่องราวยังไม่จบ นายสโนว์เดนยังมีข้อมูลที่รอเปิดโปงอีก เพื่อบั่นทอนรัฐบาลอเมริกาจนถึงที่สุด  การรีบด่วนสรุปประเด็นเรื่องราวต่างๆ จึงน่าจะเป็นโทษมากกว่า เพราะข้อสรุป ณ วันนี้อาจผิดพลาดหรือกลายเป็นเท็จเมื่อนายสโนว์เดนปล่อยหมัดเด็ดเพื่อหักล้างข้อสรุปแบบรวดรัด เช่น สมมุติว่ารัฐบาลโอบามาฟันธงว่าไม่เคยดักฟังนักธุรกิจต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ นายสโนว์เดนจึงแสดงหลักฐานการดักฟังดังกล่าวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลโอบามาอย่างรุนแรง  (คัดลอกจากหน้าเพจ chanchaivision คอลัมน์สถานการณ์โลก,บทความ “ปฏิบัติการเปิดโปง NSA ของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” , 4 พฤศจิกายน 2556)

NSA สอดแนมมวลชน-ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย?

8 มีนาคม 2557 – เจ้าหน้าที่จากองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล (Privacy International) ร่วมเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ NSA สอดแนมมวลชน- ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย? (What and Why do we need to know about NSA spying?) ณ ห้องสมุดศิลปะ The Reading Room  สรุปเป็นภาษาไทย โดย สฤณี อาชวานันทกุล

แมทธิว ไรซ์  (Matthew Rice) เจ้าหน้าที่จากองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล ชวนคุยย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของข่าวใหญ่เกี่ยวกับการสอดแนมประชาชน ก่อนมีการออกมาเปิดเผยข้อมูลโครงการของสำนักความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ เอ็นเอสเอ (NSA) โดยแบ่งยุคเป็น 2 ยุค คือ ยุคก่อนสโนว์เดนและ​ ยุคหลังสโนว์เดน

Pre-Snowden: ยุคก่อนสโนว์เดน เรารู้อะไรบ้าง?

  1. เรารู้ว่ารัฐบาลต่างๆ มีองค์กรข่าวกรองเป็นของตัวเอง
  2. กลุ่มองค์กรข่าวกรองเหล่านั้นเป็นพันธมิตรกัน นั่นคือ กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก หรือไฟว์อายส์ (Five Eyes) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย  นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และมีการปฏิบัติงานบางอย่างด้วยกัน เช่น มีการสร้างโปรแกรมเอชเชอรอน (ECHELON) คือ โปรแกรมดักข้อมูลที่ดักผ่านการส่งอีเมล และดาวน์โหลดไปยังคอมพิวเตอร์
  3. บริษัทเอกชนต่างๆ มีภาระหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบังคับกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคง ข่าวกรอง และถูกกำกับด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้
  4. อินเทอร์เน็ตมีโครงสร้างหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

Post-Snowden: ยุคหลังสโนว์เดน เราเรียนรู้อะไรบ้าง?

  1. หน่วยงานข่าวกรองต่างๆ ไม่ได้เป็นแค่พันธมิตรกัน แต่ร่วมกันสอดแนมให้กันและกัน เช่น สมมติว่าพลเมืองของอังกฤษคนหนึ่งเดินทางออกนอกประเทศ หากรัฐบาลอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพลเมืองคนนั้น ก็จะมีการขอให้สหรัฐฯ ส่งข้อมูลของคนอังกฤษให้
  2. เอ็นเอสเอทำให้มาตรฐานทางเทคนิคด้านความปลอดภัยอ่อนแอลง เมื่อก่อนเรามั่นใจว่าการส่งอีเมลของเราปลอดภัย แต่เอ็นเอสเอเข้าไปแทรกแซงการทำงาน ทำให้ถอดรหัสได้ง่ายขึ้น
  3. บริษัทเอกชนมีข้อตกลงกับหน่วยงานข่าวกรองต่างๆ คือ บริษัทเอกชนเหล่านั้นยอมให้เอ็นเอสเอเข้าถึงระบบเซิร์ฟเวอร์ได้ ทั้งแบบที่บริษัทรับรู้และไม่รับรู้
  4. โครงสร้างทางกายภาพของอินเทอร์เน็ตทำให้เราตกเป็นเหยื่อของการสอดแนม

นอกจากนี้ยังมีระบบของหน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักร​หรือจีซีเอชคิว (GCHQ: Government Communications Headquarters) เป็นโครงการที่มีการเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ระบบการดักข้อมูลที่ระบบใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เพื่อดูดข้อมูลการสื่อสารโดยตรง เน้นการสื่อสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกและที่อื่นๆ จุดขายของโครงการนี้คือกฎหมายและการกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรค่อนข้างอ่อน​เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา​

แมทธิวท้าวความไปเมื่อทศวรรษ 1990 มีการต่อสู้ระหว่างนักเข้ารหัสกับหน่วยงานข่าวกรองที่ไม่อยากให้มีการเข้ารหัสที่แข็งแรงนัก ซึ่งผลของสงครามนี้คือหน่วยงานข่าวกรองแพ้ ทำให้มีมาตรฐานการเข้ารหัสที่แข็งแรงมากขึ้น ได้มาตรฐาน หลายคนก็มั่นใจมากขึ้น​

แต่ก็มีโครงการใต้ดินของเอ็นเอสเอที่เข้าไปแทรกแซงองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานเทคนิคด้านความปลอดภัย ซึ่งทำให้วิธีการเข้ารหัสอ่อนแอ ไม่ให้มันแข็งแรงกว่าเดิม และยังได้เข้าไปในระบบ วิธีการแบบนี้ เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบมาก ทำให้คนอื่นสามารถเข้าไปต่อได้ เช่น รัฐบาลสามารถเข้าไปดูข้อมูลต่อได้หลังจากการเข้าไปเจาะระบบของเอ็นเอสเอ ซึ่งเอ็นเอสเอเองก็รู้ว่าจะเกิดผลพวงแบบนี้ขึ้น

ปริซึม (PRISM) เป็นโครงการที่โด่งดังมากที่สุดของเอ็นเอสเอ โดยสามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้มากมาย บริษัทเหล่านี้ก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเอ็นเอสเอ แต่หลักฐานที่ออกมาคือไม่ใช่ มีข่าวว่าค่าใช้จ่ายของโครงการนี้กับบริษัทเอกชนต่างๆ คือ 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มันอาจจะเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการก็ได้

ดังนั้น สิ่งที่เรารู้แล้วคือเอ็นเอสเอเข้าไปแทรกแซง แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจน คือ ผู้บริหารอาจจะไม่รู้เห็นหรือไม่รู้เห็น แต่ถูกแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว และเรารู้แล้วว่ามีบางโครงการที่บริษัทเอกชนให้ข้อมูลบางอย่างกับเอ็นเอสเอ แต่ก็มีบางโครงการที่เอ็นเอสเอเข้าไปดักฟัง เจาะระบบ หรือเข้าไปดักการเชื่อมต่อภายในเอง เช่น การเข้าไปเจาะระบบ 1 ในฐานเก็บข้อมูลของกูเกิลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งกูเกิลอาจจะชะล่าใจและไม่ได้เข่ารหัสโครงข่ายนี้ไว้

เอ็นเอสเอใช้วิธี “man in the middle attack” หรือการคั่นกลางการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่ายภายในเอง กล่าวคือ เจอช่องโหว่ตรงไหนก็เข้าตรงนั้นนั่นเอง

Why should we care about this?: แล้วเราจะสนใจเรื่องนี้ทำไม?

แมทธิวตอบว่า ต่อให้เราไม่ได้ใช้โปรแกรมแชทต่างๆ แค่อยู่บนอินเทอร์เน็ตก็ตามเราก็ถูกสอดแนมได้เหมือนกัน สมมติเราจะส่งอีเมลจากเอเชียไปแอฟริกา มันก็จะถูกดึงข้อมูลไปสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วค่อยเด้งกลับไปที่ปลายทาง หรือแม้กระทั่งการส่งภายในเอเชียเองก็ตาม ก็ยังมีการเก็บข้อมูลที่ส่งผ่านไฟเบอร์ออฟติค

เหตุผลที่เราต้องสนใจและเป็นกังวลนั้นก็เพราะระบบการเข้าสอดแนมทั้งหมดทำให้สถาปัตยกรรมของอินเทอร์เน็ตอ่อนแอลง ตอนที่เราใช้อีเมล เช่น จีเมล ยาฮู ฯลฯ เราเชื่อมั่นว่ามันปกป้องความปลอดภัยของเราได้ นักเทคนิคหลายคนตกใจไม่คิดว่ามันจะทำให้มาตรฐานความปลอดภัยของการเข้ารหัสอ่อนแอลงได้ถึงเพียงนั้น

ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการสอดแนมนี้ คือ มันเป็นการละเมิดสิทธิของเราทุกคนโดยตรง ละเมิดปฏิญญาสากลว่าสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสื่อสาร การสอดแนมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจำเป็น แต่มันดักข้อมูลทั้งหมดของเราเท่าที่มันทำได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคง ซึ่งเราทุกคนไม่น่าจะต้องถูกละเมิดสิทธิขนาดนี้

แต่แมทธิวแนะนำให้เราใช้บริการของผู้ให้บริการเหล่านี้ต่อไป อย่างน้อยก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแม้ว่าจะถูก เอ็นเอสเอเข้าแทรกแซง ก็ยังมีการเข้ารหัสแบบ PGP (Pretty Good Privacy)  กับเบราว์เซอร์​ Tor ที่เราสามารถใช้บริการได้ แต่ก็ต้องระวังไว้ว่ามันไม่ได้ปลอดภัย 100% เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่พอรัฐบาลมาสอดแนมเราจะเปลี่ยนหรือเลิกใช้

ประเด็นที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบเดียว ที่ผ่านมาเราคิดว่าประเด็นความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องของนักเทคนิคที่มีหน้าที่คิดทำให้มาตรฐานความปลอดภัยมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องหลายมิติ เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น การจัดการในสังคม การสร้างความตระหนักของประชาชน และข้อกฏหมายที่ช่วยสร้างหลักประกันว่าเรามีความปลอดภัยในความเป็นส่วนตัวได้

สุดท้ายแล้วมันเป็นปัญหาของการไม่มีความรับผิดของหน่วยงานข่าวกรอง รัฐบาลไม่มีกฎหมายที่เคร่งครัด หน่วยงานบางหน่วยก็มีการโกหกต่อรัฐบาลและต่อสภา อย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสามารถไปขอข้อมูลจากสหราชอาณาจักร​ซึ่งมีการกำกับดูแลที่อ่อนแอกว่า โดยที่ไม่ต้องไปถึงศาล แต่ไปถึงแค่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีต่างประเทศได้เลย มันเป็นประเด็นการเมืองไปหมด ฉะนั้นวิธีที่จะเริ่มผลักดันความรับผิดให้เกิดขึ้น เราต้องสร้างกระบวนการของเราเองขึ้นมา เริ่มจากการตั้งคำถามต่อหน่วยงานต่างๆ ให้มากขึ้น

อยากให้ทุกคนแสดงจุดยืนออกมา เพราะว่ามันกระทบต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ประชากรของสหรัฐหรือสหราชอาณาจักร​ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เป็นเรื่องของคนทั่วโลกที่ต้องตั้งคำถามต่อหน่วยงานข่าวกรองของประเทศตัวเอง และจริงๆ แล้วหน่วยงานเหล่านั้นมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้แค่ไหน

นอกจากจะต้องแสดงจุดยืนแล้วจะต้องร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีหลักสิทธิมนุษยชน ด้วยการปรับใช้ หลักความจำเป็นและได้สัดส่วน (Necessary and Proportionate Principles) เนื่องจากหน่วยงานสอดแนมต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเลย ซึ่งหลักการนี้มี 13 ข้อ พูดถึงการสอดแนมว่าควรจะมีความชอบธรรม มีกระบวนการที่ยุติธรรม มีความชัดเจน มีหลักสัดส่วนที่สมเหตุสมผล มีความจำเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น มีความโปร่งใส และต้องมีการกำกับจากสาธารณะ

แมทธิวย้ำว่าองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนลไม่ได้ต่อต้านการสอดแนม แต่ต่อต้านกฏหมายแย่ๆ ที่ไม่เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว เราต้องตระหนักว่าสิทธิมีความสำคัญ การสอดแนมที่เกิดขึ้นจำเป็นแค่ไหนกับสังคมประชาธิปไตย เป้าหมายของประชาธิปไตยคือการดักจับข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหรือเปล่า

(คัดลอกจากหน้าเพจ Thainetizen.org , บทความ “NSA สอดแนมมวลชน-ดักฟังข้อมูล เกี่ยวอะไรกับเราด้วย?” ,12 มีนาคม 2014)  

ผู้เขียนรู้สึกว่า ยิ่งโลกนี้ เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้นเท่าไร ความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลกับยิ่งลดน้อยถอยลงทุกวัน และนี่เป็นเพียงภาพสะท้อนเพียงจุดๆ หนึ่ง หรือประเด็นเดียวที่ยังไม่ได้จับไปเชื่อมโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ในระดับปัจเจก-ปัจเจก ,ระดับปัจเจก-ชุมชน ,ระดับปัจเจก-มหาชน (สังคม) ,ระดับปัจเจก-ประเทศ ,ระดับปัจเจก กับ ต่างประเทศ ,องค์กรระหว่างประเทศ, องค์กรโลกบาล ซึ่งจวนเจียนจะเข้าสู่ยุคไร้ความลับกันอีกต่อไป ทุกอย่างสามารถสืบเสาะ เจาะข้อมูล ล่วงรู้ถึงกันได้หมด ในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น