วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ดูบุญรอด หวนให้คิดถึงเพลงเก่า ภาพประทับใจในอดีต


อันสืบเนื่องมาจากผู้เขียนได้ชมละครเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” ละครรีเมค ที่ผลิตโดย บ.เอ็กแซ็กท์ จก. ฉายทางช่องวัน ผู้กำกับ คือ คุณสถาพร นาควิไลโรจน์ นักแสดงนำคือ คุณนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ,คุณวิลลี่ แม็คอินทอช, คุณเข็มรุจิรา ช่วยเกื้อ, คุณอภิรดี ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ฯลฯ (ขออภัย ถ้าบางคนจะเปลี่ยนชื่อไปแล้ว)  เป็นผลงานบทประพันธ์ของ โบตั๋น เขียนบทโดยคุณบุตรรัตน์ บุตรพรม  เกิดความประทับใจ และได้ข้อคิดที่ดีมากมายจากในละคร จัดว่าเป็นละครรีเมคอีกเรื่องนึง ที่ทำออกมาได้ดี ทั้งงานกำกับภาพ กำกับศิลป์ การออกแบบเครื่องแต่งกาย บท การแสดง การตีความให้เข้ากับยุคสมัย การแคสนักแสดงมาเล่น โดยส่วนใหญ่ก็จัดว่าเป็นทีมคุณภาพมากๆ การเดินเรื่องฉับไว แต่ที่สุดที่ทำให้ต้องมาเขียนบทความนี้ก็คือประทับใจเพลงประกอบในละคร ที่มิใช่เพลงธีมหลักของเรื่อง อย่างเพลง สักวันต้องได้ดี กับใจฉันจะเป็นของเธอ ที่ขับร้องโดย น้องมาตัง (จริงๆ ก็ชอบเสียงของน้อง และเพลงก็ไพเราะด้วย) แต่ผู้เขียนสนใจเพลงสากลเก่าๆ ที่ประกอบในละคร ทำให้คิดไปถึงยุคสมัยอดีต เพลงยุคนั้นเลย คือยุคทองของบทเพลงสากลในบ้านเรา ที่มันฟังแล้วอิน นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ยุค70’s ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนก็ไปดู ภ.เรื่อง The Martian มา ในหนังก็มีเพลงประกอบเพลงยุคดิสโก้ยุคนั้นคล้ายๆ กัน นี่มันช่างบังเอิญจริงๆ ที่กลิ่นไอ ยุคสมัยเก่าๆ หวนกลับมา อดคิดถึงวันเวลาเก่าๆ และภาพจำในอดีตของผู้เขียนหลายอย่างผุดขึ้นมา และไม่ใช่อะไรหรอก คิดถึงเพลงเหล่านี้ จะขออนุญาตไม่กล่าวถึงเนื้อหาของละคร หรือเรื่องย่ออะไรทั้งสิ้น ผู้อ่านไปหาอ่านหรือย้อนดูกันเอาเองในยูทูปก็มี แต่สิ่งที่มันเลอค่าในละครอีกอย่างก็คือเพลงประกอบละครซึ่งเป็นเพลงสากลเหล่านี้ ไม่ได้ฟังมาตั้งนานแล้ว ขอเอามาลงในบทความนี้ ฟังให้หนำใจไปเลย 
 
 

เกร็ดความรู้ที่ได้จากละครเรื่อง “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด”  คำว่า “ช็อกการี” มีที่มาอย่างไร

คำนี้นั้น สมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นได้ยินคำนี้แล้ว คือเป็นคำที่ใช้ด่าผู้หญิงที่ตนไม่ชอบ  เป็นคำที่ผู้หญิงด่ากันเองเวลาทะเลาะกัน ความหมายจะหมายถึง ผู้หญิงร่าน สมสู่ผู้ชาย ไม่เลือกหน้า เป็นผู้หญิงขายตัว ทำนองนี้

ใครที่ถูกด่าเช่นนี้ถือว่า น่าอับอายขายหน้าไปทั่วหมู่บ้าน ทั่วตำบล แต่ผู้หญิงสมัยนี้อาจถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว การเสียตัวถือเป็นเรื่องที่เสียหายอะไรมาก เหมือนอย่างแต่ก่อน ดังนั้นคำว่า ช็อกการีอาจจะไม่กระเทือนความรู้สึกมากนักนั่นเอง

ช็อกการี มากจากภาษาฮินดี ซึ่งจะเป็นภาษาของชาวฮินดูที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียว่า โฉกกฬีแปลว่า เด็กผู้หญิง (โฉกกฬา แปลว่า เด็กชาย)

ที่เปลี่ยนคำไปเป็น ช็อกการี และเปลี่ยนความหมายไปเป็นหญิงขายบริการ เข้าใจว่าคำนี้จะเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ ในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏ คำช็อกการีมาก่อน

ตอนนั้นชาวอินเดียเข้ามาทำมาหากินอยู่แถวพหุรัด มีการเปิดโรงนวดบริการให้ผู้ชายไปเที่ยว เพื่อเป็นการเรียกลูกค้า จึงมีการหาคำที่บอกกล่าวว่ามีเด็กผู้หญิงสาวๆ ในโรงนวดให้บริการ ซึ่งภาษาฮินดีก็คือ คำว่า โฉกกฬีต่อมาจึงเพี้ยนเสียงและความหมายไปเป็นดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนคำว่าโสเภณีจริงๆ ภาษาฮินดีใช้ว่า รัณฑี

คำนี้บางทีสะกดเป็น ช็อกกาลีก็มี ซึ่งก็น่าจะถูกต้องมากว่า เพราะว่า ฬ เทียบเสียงแล้วตรงกับ ล

ในละครโทรทัศน์ เห็นว่าไม่ควรที่จะใช้คำนี้ในบทบาทที่จะต้องด่ากัน เพราะออกอากาศให้คนทั่วไปได้รับชมกัน อาจจะต้องใช้คำที่ลดระดับความรุนแรงลงไปหน่อย อย่างเช่น แก่มันก็อีคนขายตัวเก่านั่นเอง…” หรือ แกมันก็อีหญิงโคมเขียวเก่านั่นเอง

หญิงโคมเขียวหมายถึง หญิงขายบริการทางเพศ ในยุครัตนโกสินทร์ ปลายรัชการที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ.2451) บังคับให้สถานที่รับจ้าง ทำชำเราบุรุษ” (ภาษาสมัยนั้น)

ต้องปฏิบัติให้รู้ว่าเป็นสถานที่รับจ้างเพื่อการนั้น เพื่อมิให้โรคเพศสัมพันธ์ระบาด ตอนหนึ่งมีความว่า ต้องมีโคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย…”
 
ทั้งนี้ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นโรคโคมอะไร แต่สันนิฐานว่าเจ้าหน้าที่ ทำโคมตัวอย่างเป็นกระจกเขียว เจ้าของโรงรับจ้างทำชำเราบุรุษ (หรือซ่องโสเภณี) จึงใช้โคมเขียวตามไปด้วย โคมดังกล่าวจึงเป็นสีเขียวเหมือนกันหมด
 

กฎหมายฉบับนี้ จัดเป็นฉบับแรกที่ตราใช้บังคับหญิงนคร โสเภณีให้ปฎิบัติตามกฎหมาย ชาวบ้านจึงเรียกโรงหญิงนครโสเภณีในสมัยนั้นว่า หญิงโคมเขียวตามลักษณะโคมที่แขวนหญิงโคมเขียวนั้นจะฟังดูไม่รุนแรงนัก

ย้อนไปกลับคำว่า ช็อกการี คำนี้ ต่อมากร่อนเสียงไปเป็น กะหรี่ตรงนี้ กับคำว่า กะหรี่ปั๊บ เกี่ยวกับหรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะว่าคำว่า กะหรี่ปั๊บ นั้นมาจากคำว่า curry puff

Curry แปลว่า ผงกะหรี่

Puff  แปลว่า ซึ่งความหมายของคำนี้นั้นก็จะแปลออกมาได้หลายอย่าง แต่ในที่ตรงนี้แปลว่า ขนมร่วน ผงแป้งร่วน

ถ้าถอดเสียงเป็นคำไทยต้องใช้ว่า เคอรี่พัฟฟ์ แต่สมัยก่อนเราออกเสียงกันตรงๆ เป็นกะหรี่ปั๊บ พจนานุกรมให้ความหมายว่า ชื่อของกินชนิดหนึ่ง ใช้แป้งสาลีห่อไว้ผสมผงกะหรี่ แล้วจับกลีบคล้ายหอยแครง ทอดน้ำมัน  (คัดลอกจากบทความ “ช็อกการี คำที่คนรุ่นใหม่ ไม่อาจไม่ได้ยิน เขียนโดย ร.ศ.พวา พันธุ์เมฆา มศว ประสานมิตร หน้าเพจ สารานุกรมความรู้)
 
 

การเข้าสู่บริบทของความเป็นเมียเช่า

เราต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่าเมียเช่าเสียก่อน ขอเรียนว่าคำจำกัดความนี้ใช้กับยุคสมัยในช่วงปีพ.ศ.2508 หรือ 1964- พ.ศ.2520 หรือ1976 เท่านั้น เพราะนอกเหนือหรือออกจากกรอบเวลานี้แล้วคำว่าเมียเช่าอาจมีคำจำกัดความเป็นอย่างอื่นไปแล้วแต่ยุคสมัย เมียเช่า หมายถึง เมียเก็บหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เมียเช่า มีความหมายเช่นเดียวกันกับโสเภณี หรือ Prostitute,หรือ Whore หรือ ไม่ คำตอบคือมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่มีเมียเช่าไม่ได้หมายถึงพวกหญิงประเภท Street Walkersที่ผู้ชายสามารถหาเก็บเอาตามบาร์หรือตามข้างถนนเพื่อไปนอนค้างคืนเพียงชั่วครั้งคราว เมียเช่าไม่ใช่ผู้หญิงหากินที่มาจากซ่อง หรือ The house of the rising sun หรือ whores'houses แต่เมียเช่าคือผู้หญิงที่มีวิถีการดำเนินชีวิตด้วยการหาเลี้ยงชีพจากการเป็นคู่นอนหรือ เมียของทหาร G.I.หรือทหารอเมริกันประเภทอื่นๆ อย่างมีระยะเวลา มีช่วงเวลาแล้วแต่ความพึงพอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนมากแล้วจะอยู่ด้วยกันค่อนข้างนาน 6 เดือนขึ้นไป จนกว่าทหารอเมริกันคนนั้นจะถูกเรียกกลับ หรือถูกเรียกไปประจำการที่อื่น หรือไม่ก็ตายห่าจากการไปปฏิบัติภาระกิจที่ลาว หรือเวียตนามเหนือเสียก่อน  ก่อนหน้าที่จะมีฐานทัพอเมริกาและทหารอเมริกันตามพื้นที่จังหวัดต่างๆที่กล่าวมาในช่วงแรกนั้น ในบ้านเรามีผู้หญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการขายตัวอยู่ก่อนแล้วซึ่งเราเรียกว่า โสเภณีบ้าง ผู้หญิงหากินบ้าง ถ้ามีระดับหน่อยก็เรียกว่า พวก พาร์ทเนอร์ ซึ่งจริงๆแล้วคำๆนี้ในภาษาอังกฤษไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น แต่พอมาใช้กันในเมืองไทยแล้วความหมายเปลี่ยนไปหมด พอมีฐานทัพและทหารอเมริกันเข้ามาก็เกิดปรากฏการณ์เมียเช่าขึ้น เริ่มแรกก็จะเป็นผู้หญิงหากินจากบาร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเพื่อตอบสนองความต้องการของทหารอเมริกัน (ถ้าไม่ขี้เกียจโปรดอ่านwebsiteที่ใช้keyword ว่าThaibar girls) ก็เป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้วโดยเฉพาะในภาวะสงครามอย่างนั้น ในพื้นที่บ้านเรานั้นมันเป็นแนวหลังที่ทหารไม่ว่าจะเป็นชาติใหนมันก็จะมี เหล้า ดนตรี ผู้หญิง ประกอบกันไป ไปๆมาๆ การเช่าผู้หญิงแบบ one nignt คงจะสร้างความยุ่งยากหรือน่าเบื่อหน่ายที่จะเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ หรือประกอบกับธรรมชาติของผู้ชายที่ต้องการการเอาอกเอาใจ ต้องการเพื่อนคู่ใจในยามที่จากบ้านจากเมืองมา การรบก็ไม่ได้อยู่ในแนวหน้าด้วย ก็เลยตัดสินใจเช่าบ้าน หรือ บังกาโลว์อยู่ด้วยกันซะเลย บ้านเช่าฝรั่งหรือเรียกกันติดปากว่า บังกาโลว์ เกิดขึ้นอย่างมากมายตามจังหวัดที่มีฐานทัพ( ผมเองครอบครัวมีบ้านให้ฝรั่งเช่าและเติบโตมากับวัฒนธรรมเหล่านี้) ผมไม่ทราบว่ามันเป็นธรรมชาติหรือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญอะไร หรือเป็นอัตลักษณ์ทางระบบคิดของคนไทยโดยเฉพาะคนอิสานที่เห่อฝรั่งกันเอามากๆ ผู้หญิงจากชานเมืองหลั่งไหลกันเข้ามาเป็นเมียเช่าทั้งๆที่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นเลยมาเป็นเอาทีหลังและผมสามารถยืนยันได้ว่าในบรรดาเมีย 100 คน ไม่มีโสเภณีจากซ่องถึง3คนเลย หรือแทบไม่มีเลย ในยุคนั้นประเทศไทยยังไม่ได้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ เหมือนทุกวันนี้ น้องนางบ้านนาต่างๆ หากอยู่ที่บ้านทำงานตัวเองไปก็คงไม่เดือดร้อนอะไรมากนัก แต่ผมอยากจะเรียนท่านว่าในยุคนั้น เงินหนึ่งดอลลาร์มีค่าเท่ากับยี่สิบบาท ในขณะที่ทอง หนึ่งบาทราคาไม่ถึงพันเลย ก๋วยเตี๋ยวเนื้อลูกชิ้นอย่างดีไม่มีแป้งผสมจนเป็นลูกชิ้นแป้งราคาชามละ3-5 บาทนั้นเองครับ นี่คงเป็นแรงจูงใจประเด็นหนึ่งที่ผู้หญิงไทยก้าวเข้าสู่บริบทของความเป็นเมียเช่า คราวนี้มาพูดคำศัพย์พวกนี้ก่อน บริบท มันหมายถึงอะไรเห็นพวกนักวิชาการพูดบ่อยๆ คำว่า บริบท หรือ Context หมายถึง สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆที่รายล้อมเหตุการณ์หนึ่ง เรื่องหนึ่งหรือประเด็นหนึ่ง ฯลฯ (เสรี พงษ์พิศ,2547) ส่วนคำว่า Housegirls ฝรั่งหน้าแค้มป์จะออกเสียงเป็น ฮัสเกิร์ล หมายถึง เมียเช่า ไม่ได้หมายถึงผู้หญิงที่ทำงานตามบ้านนะครับ. แล้วค่อยอ่านต่อตอนต่อไป  (คัดลอกข้อมูลบางส่วนจากบทความ ตำนานเมียเช่า “The Legend of Housegirls (2)  โดยอุทิศ สกุลภักดี, หน้าเพจเว็บบอร์ดของคู่สร้างคู่สม)
 
 

ผู้หญิงไทยผู้ยากจนจากชนบทตามต่างจังหวัด ได้เดินทางมาผจญภัยแสวงหาโชคกันที่นี่ หาเงินส่งไปให้พ่อแม่ญาติพี่น้อง ผู้หญิงเหล่านี้ต้องมามีอาชีพนั่งเป็นเพื่อนดื่ม (ดริงก์) กับทหารจี.ไอ. ได้เงินค่าทิปครั้งละห้าบาทสิบบาทคืนหนึ่งมากกว่าร้อยบาท มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละสามพันบาท ขณะที่เงินเดือนข้าราชการ พนักงานบริษัทยังคงอยู่ที่พันกว่าบาท หรือก็สองพันบาทต่อเดือน แล้วผู้หญิงเหล่านี้ที่สุดจะถูก ออฟไปข้างนอกไปหาความสุขกันต่อตามบ้านเช่าที่มีอยู่ดาษดื่น รอบๆ พื้นที่ตั้งของสถานเริงรมย์นั้นๆ และ กัญชาชนิดที่หั่นละเอียดนำมายำผสมยัดไส้บุหรี่ กลายเป็นของขายดีที่ทหารจี.ไอ.ซื้อมาสูบคลายเครียด ต่อมา พวกสถานเริงรมย์บาร์เหล้า บาร์เบียร์ส่วนหนึ่ง ถูกย้ายไปอยู่เขต จ.ระยอง เป็นหมู่บ้านชื่อ นิวแลนด์มีการค้าประเวณีครบครัน โดยอ้างเรื่องรักษาความปลอดภัยให้ทหารจี.ไอ.

ตามฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยนี้เอง ทำให้เกิดตำนาน เมียเช่าขึ้น จำได้ว่า นายสุรเทพ ทุมมานนท์ (เสียชีวิตแล้ว) ฉายา ดร.หงอกอดีตผู้สื่อข่าวพิเศษร่วมสำนักกระซิบบอก ทั้งเรื่องของบาร์เหล้า เรื่องสถานเริงรมย์ เรื่องชีวิตผู้หญิงนั่งดริงก์ ผู้หญิงบริการนั้น ดร.หงอกอยู่ในขั้น ผู้ชำนาญการจึงติดตามลงไปศึกษาชีวิตจริงของผู้หญิงเหล่านั้น ตามย่านสนามบินอู่ตะเภาที่เงินสกุลดอลลาร์สะพัดนัก ได้เรื่อง เมียเช่าผู้เปลี่ยนชีวิตยกฐานะจากผู้หญิงนั่งดริงก์ในสถานเริงรมย์มาเขียนเป็นข่าว เมียเช่านี้เอาใจเก่ง ปรนนิบัติดี


 

ทหารจี.ไอ.จึงหลงเสน่ห์เอามากๆ ได้อยู่กินกันแบบเหมารวมใช้ชีวิตคู่ มีฐานะดีเป็น คุณนายจี.ไอ.เพราะสามีทหาร จี.ไอ.จ่ายเงินให้รายเดือน มีบ้านเช่าอยู่ มีตู้เย็นใช้ มีบุหรี่นอกสูบ มีไวน์มีสุราของนอกดื่ม มีสเต๊กเนื้อ สเต๊กหมู ขนมปังทาเนยกิน บางคนโชคดีทหารอเมริกันเป็นโสดเมื่อย้ายกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะแต่งงานแล้วนำไปใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วย แต่ทหารอเมริกันมิได้แต่งงานกับเมียเช่าเท่านั้น ยังมีที่พบรักจริงกับสาวไทยที่มีความรู้ทำงานตามฐานบินทหารสหรัฐด้วย

ชีวิต เมียเช่าผู้พูดภาษาอังกฤษได้แบบ “SnakeFishงูๆ ปลาๆ นั้น เมื่อทหารจี.ไอ.คนหนึ่งเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม ก็จะหันมาหาสามีจี.ไอ.คนใหม่ ครั้นจี.ไอ.บางคนย้ายไปอยู่ฐานทัพอื่น หรือกลับไปประเทศเกิดแล้ว ก็จะไหว้วานคนเก่งภาษาอังกฤษเขียนจดหมายสื่อสารให้ การเขียนจดหมายให้ เมียเช่านี้ กลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำเงินให้ผู้เก่งภาษาอังกฤษ แต่ เมียเช่าก็ไม่โชคดีทุกคน บางคนตั้งท้องมีลูกเป็นชายก็มี เป็นหญิงก็มี ที่ใช้ชีวิตกินอยู่กับทหารจี.ไอ.ผิวขาวก็คลอดลูกผมสีทองนัยน์ตาสีฟ้า ส่วนที่กินอยู่กับจี.ไอ.ผิวสี ก็ได้ลูกผมหยิกดำน่ารักน่าชัง


 
ได้เขียนเรื่องชื่อ ฮัลโหล.. อเมอราเชี่ยนสะท้อนชีวิตเด็กผมแดงเด็กผมดำที่เกิดจากพ่อจี.ไอ.กับแม่หญิงไทยชาวเอเชียไว้ ครั้งที่มูลนิธิ เพิร์ล เอส บั๊คเชิญไปฟังการแถลงข่าวดูการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ได้ค่าเขียน 150 บาท ค่าภาพอีก 50 บาท ใช้นามปากกา กรัณฑ์ สมิทธิ์ได้นายทวี เกตะวันดี พี่วีของนักข่าวรุ่นน้องๆ รีไรต์ต้นฉบับให้ พี่วีนี้ในอดีตเป็นนายกสมาคมนักข่าวครั้งอยู่ถนนราชดำเนิน เป็นนักประพันธ์ชื่อดัง เจ้าของนามปากกา รมย์ รติวันมีผลงานหนังสือชื่อ เสียงแคนและเปียนโนรวมเล่มกับเรื่องอื่นๆ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เดือนพฤษภาคม ปี 2515 ขายเล่มละ 6 บาท ซึ่งขายดีมาก

ส่วนคำว่า จี.ไอ.”-“G.I.”..มาจาก Government Issue ซึ่งหมายเรียกเกณฑ์ทหาร (อเมริกัน) และได้ถูกนำมาเรียกทหารสหรัฐฯ ที่ถูกส่งไปรบในดินแดนต่างๆ และคำว่า G.I. นั้นได้โด่งดังมาจากเพลงของนักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน เอลวิส เพรสลี่ย์ ชื่อเพลง จีไอ.บลูส์- “G.I. Blues” ปี ค.ศ.1960 เมื่อ 52 ปี ราวปี พ.ศ.2503  (คัดลอกข้อมูลบางส่วนจากบทความ เปิดภาพยุคสงครามเวียด...B-52 สนามบินอู่ตะเภา ตำนานเมียเช่ากับทหารจี.ไอ.,คอลัมน์ข่าวภูมิภาค,เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ,27 มิถุนายน 2555)

 
 
 
 
 
เปรียบเทียบแฟชั่นยุค 70's ของสากล กับของในละคร เหมือนหรือแตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น