วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559

ช่อง ONE ปรับทัพสู้ศึกอย่างไร เรตติ้งถึงพุ่งขึ้นสู่อันดับ 4 (ตอนที่ 3)

ช่อง one จัดทัพปรับกลยุทธ์อย่างไร ทำให้เรตติ้งพุ่งทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ได้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าสัญญาสัมปทานของทีวิดิจิตอลมีอายุเพียงแค่ 15 ปี ถ้าครบกำหนดจะต่อใหม่ก็ต้องเสียค่าสัมปทานกันใหม่อีก และในช่วง 3 ปีแรก จะต้องจ่ายค่าสัมปทานที่ประมูลมาให้ครบ (สำหรับช่อง one ประมูลมาได้ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท) มองแบบชาวบ้านก็คือ 3 ปีแรกจะเป็นช่วงหืดจับ เทหมดหน้าตัก ในการเอาช่องให้อยู่รอดให้ได้ หลังจากนั้นในปีที่ 4-15 ก็เป็นช่วงเก็บกินไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจะอยู่รอดหรือเจ๊ง ก็อยู่ตรง 3 ปีแรกนี้แหละ เห็นตัวอย่างของช่องเจ๊ติ๋มแล้วใช่มั๊ย คือช่องไทยทีวีกับช่องโลก้า ที่ประมูลมา 2 ช่อง แต่สุดท้ายไปไม่รอดตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากต้องลงทุนมหาศาลในช่วงแรก แต่รายได้ยังไม่เข้าตามเป้าหมาย แม้ว่าจะขอให้ กสทช.ผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ แล้ว แต่คดียังอยู่ในศาล ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็อีกนาน แต่ธุรกิจมันต้องเดินด้วยท้อง ด้วยเม็ดเงินจริงๆ หากสายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องจอดตั้งแต่ปีแรก ซึ่งจ๊ติ๋มเลือกที่จะยกธงขาวไปก่อน ทั้งๆ ที่แกยังมีเม็ดเงินทำต่อ แต่มองเห็นแล้วว่าดิ้นสู้ต่อไป ท้ายที่สุดก็คงไปไม่รอดอยู่ดี เพราะว่าผ่านช่วง 3 ปีแรกไปแล้ว ก็ยังต้องไปแย่งสู้เม็ดเงินโฆษณากันอีกในช่วงปีที่เหลือ หากว่าเงินทุนไม่มากพอ เกมทีวีดิจิตอลยังต้องใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล หากต้องการขยับเรตติ้งให้สูงขึ้น เพราะมันแข่งกันที่คอนเท้นต์ และคอนเท้นต์มันจะเสกได้ด้วยเงินและกึ๋นเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต่างจากสงครามในน่านน้ำสีแดง รบไปเรื่อยๆ จะเหลือผู้รอดชีวิตไม่กี่ราย ซึ่งรายเก่าๆ จะได้เปรียบอยู่แล้ว





ช่อง ONE ประเมินสงครามในครั้งนี้ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง และดูจะเป็นช่องที่ขยับเรื่องการใช้กลยุทธ์การตลาดได้แบบ 360 องศามากที่สุดด้วย คุณดูว่ามีอะไรบ้าง ป้ายโฆษณาช่องวันที่ข้างรถ ปอ.,โฆษณาตามบิลบอร์ดหรือบนรถไฟฟ้า BTS,โฆษณาทางทีวีจอยักษ์ตามสี่แยกสำคัญ, กิจกรรมของช่อง ONE มีอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น วันยกช่อง, ส่ง sms ทายคำถามละครชิงโชคมือถือซัมซุง ,จัดมีทติ้งแฟนคลับละครกับนักแสดงในละครสุดฮิตหรือแฟนเรียกร้องแบบเอ็กซ์คลูซีฟ,หรือการใช้ Below The Line ออกตระเวนหาผู้โชคดีตามตลาด เล่นเกมกับพี่แท่งแล้วแจกของรางวัล (วันแจกโชค) ,Product Placement ที่เห็นกันจะจะในซิทคอมทุกเรื่อง, Tie-In สินค้า ในละคร,หรือทำแม้กระทั่งพล็อตละครซิทคอมสั้นเพื่อโปรโมตสินค้า (ก็เป็นความริเริ่มใหม่ มีเพียงช่อง one ที่ทำ) โฆษณาในช่วงละครหลักข่าวภาคค่ำจะแน่นที่สุดช่องนึงเลย ไม่ใช่เพราะช่องมีเรตติ้งสูงมาก ทุกสินค้าต่างแย่งกันไปลงโฆษณาช่อง one แต่มันเกิดจากการวางแผนการตลาดมาเป็นอย่างดี อย่างเป็นระบบ เขาขายโฆษณากันล่วงหน้าเป็นไตรมาส มีการวางแผน Luanch สินค้า ในที่นี้คือละครเรื่องใด สปอนเซอร์โฆษณาตัวใดจะเป็นตัวหลัก ตัวใดจะเป็นตัวรอง และหากสินค้าใดเพิ่งมาสนใจลงโฆษณา จะสามารถสอดแทรกเข้าไปในช่วงเวลาใดได้บ้าง ซื้อโฆษณาในช่วงไพรม์ไทม์หลักตลอด 1 ปี จะมีแถมโปรโมชั่น ลงในช่วงใดเพิ่มให้อีก หรือหากสินค้าใดยอมเป็นสปอนเซอร์หลักตัวยืนในรายการใดของช่อง จะได้สิทธิพิเศษใดบ้าง ช่องจะวางแผนผลิตละครที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์สปอนเซอร์สินค้า ตอบโจทย์แม้กระทั่งกระแสสังคมไปทางใด หรือกำลังมีเรื่องราวใดเป็นประเด็น จะให้ทีมเขียนบท เขียนบทรอเอาไว้ พร้อมเปิดกล้องได้ทันทีเลย มีช่องไหนทำอย่างนี้ได้บ้าง ไปลองพิจารณาดู คือจอมทัพอ่านเกมเก่ง แม่ทัพทีมงานขยับรุกเข้าตีเร็ว ที่เหลือองคาพยพขยับตัวตาม นี่จึงทำให้ละครของช่องวันดูจะทันสมัย และสดใหม่อัพเดทกว่าทุกช่อง พูดง่ายๆ สามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ได้เร็ว บางครั้งดูเกมแล้ว คู่แข่งเอาละครฟอร์มยักษ์มาลงจอ ช่อง ONE มีสต็อกละครฟอร์มยักษ์ไปชนกับคู่แข่งมั๊ย ถ้าไม่มีก็เอาละครฟอร์มเล็กกว่าแต่มีบทที่เฉียบคมและสนุกกว่าไปชนแทน เป็นเกมตั้งรับและหาจังหวะรุกกลับในช่วงที่ตนเองได้เปรียบ อย่างตอนนี้ละครพิษสวาท ละครฟอร์มยักษ์ของช่อง เตรียมพร้อมมานานลงจันทร์-อังคาร ชนกับละครช่องใหญ่ได้แบบสู้ได้ และเรตติ้งแซงชนะช่อง 3 ได้เป็นครั้งแรก

กลุ่มเป้าหมายหลักของช่อง ONE จริงๆ แล้ว 80% น่าจะเป็นคนเมือง และเป็นผู้หญิง 70% ผู้ชายแค่ 30%(อันนี้รวมเอากลุ่ม LGBT ไว้แล้ว) นี่คือคำตอบว่าเหตุใดรายการต่างๆ และละครของช่อง one จะเน้นแนวแซ่บๆ เอาใจผู้หญิงเสียมากกว่า รายการส่วนใหญ่จะมีความเป็น feminist เสียเยอะ แต่ใช่ว่าช่อง one จะไม่สนใจที่จะขยายฐานไปสู่แฟนคลับกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้ชายให้เพิ่มขึ้น สังเกตว่าพยายามทำรายการกีฬาอย่าง Thai Hero, ครอบครัวลูกหนัง (ปัจจุบันคือบ้าบอล), มีรายการท่องเที่ยวแบบ Adventure อย่าง View Finder,TT Rider, ซีรีส์จีนกำลังภายใน, One Theatre ,ถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลรายการใหญ่ๆ เป็นต้น

จุดแข็งของช่อง one ก็คือทีมงานผลิตละครของเอ็กซ์แซ็กท์+ซีนาริโอ้เดิม แบ่งเป็น 4 ทีมใหญ่ คือ 1.ทีมทำละครเวทีบวกพวกรายการคอนเสิร์ต,โชว์ในงานแสดงใหญ่ๆ 2.ทีมผลิตละครภาคค่ำและละครซีรีส์ต่างๆ 3.ทีมผลิตละครซิทคอม 4.ทีมเขียนบทละครของเอ็กซ์แซ็กท์ พวกนี้จะทำงานสอดประสานกัน  การเขียนบทให้เดินเรื่องกระชับฉับไว ไม่ยืดตอน แม้ว่าจะเรตติ้งดี จบเป็นจบ จะไม่มีเพิ่มตอนก่อนจบ เหมือนบางช่องที่เคยทำ

การที่ GMM grammy เป็นพันธมิตรธุรกิจ และมีข้อตกลงร่วมกันกับ Line TV ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลรายใหญ่ ทำให้ละครของเครือแกรมมี่ทั้งหมด ทั้งช่อง GMM25 และช่อง ONE จะถูกนำไปฉายในช่องทางของ Line TV ก่อนภายหลังออกอากาศแล้วทางช่อง GMM 25,ONE รวมถึงรายการโทรทัศน์ดังๆ และละครบางเรื่องถูกผลิตขึ้นมาเพื่อลงในช่องทาง LINE TV โดยเฉพาะ ไม่ผ่านช่องทางทีวีดิจิตอล อาทิ Stay ซากะ ฉันจะคิดถึงเธอ, แก๊สโซฮัก รักเต็มถัง, I hate You,I love You. ของค่ายนาดาวหรือ GDH ,สงครามนางงาม 2 ภาคขยาย ตัวละครมะเหมี่ยวกับโบว์ ดูได้ผ่านช่องทาง Line TV เท่านั้น เป็นต้น

1.ละครภาคค่ำที่ผลิตเพื่อลงในช่วงเวลาไพร์มไทม์ พวกนี้ทางช่องจะลงทุนกับโปรดักชั่น และการเขียนบท เพื่อให้ละครออกมาดูดี มีมาตรฐาน (ละครของเอ็กซ์แซ็กท์ว่ากันว่า เรื่องนึงลงทุนกันหลัก 10 ล้านขึ้นโดยเฉลี่ย และต้องสามารถต่อยอดส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย) แม้ว่าบางเรื่องจะซื้อบทประพันธ์ที่เคยเป็นที่นิยมอยู่แล้วมาผลิต ก็ยังให้ทีมเขียนบทตีความ และเขียนออกมาใหม่ ให้ทันกับยุคสมัย ยกเว้นว่าบทประพันธ์นั้นร่วมสมัยจริง และบทโทรทัศน์เดิมทำไว้ดีอยู่แล้วก็จะคงรักษาตามบทเดิม ยกตัวอย่างละครรีเมก เรื่อง เงาอโศก กับพิษสวาท ที่ออนแอร์อยู่เวลานี้ มีการปรับบทโทรทัศน์ใหม่ จากการตีความตัวละครบางตัวใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย หรือให้มีบทบาทดีขึ้น ปรากฏได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะเรตติ้งของละครพิศวาสพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันแรกๆ ที่ออนแอร์ ไต่ระดับจาก 1 ไป 2,3,4 และเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 6.4 ในกทม.มาแล้ว และยังสร้างปรากฏการณ์พิษสวาทกันทั้งเมือง และเป็นละครที่ทำให้เรตติ้งโดยรวมของช่อง กระชากขึ้นสู่หลัก 0.99 แซงช่องโมโนและช่อง 8 ขึ้นมายืนอยู่บัลลังก์อันดับ 4 ของเรตติ้งรวมสูงุสุดทีวีดิจิตอล ในเดือนสิงหาคมได้สำเร็จ (ผลสำรวจโดย AGB Nielsen) บางเรื่องปรับบทโทรทัศน์ใหม่ มีการเปลี่ยนบทตัวละครหลัก จนทำให้แฟนละครรับไม่ได้ และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว ก็เช่น เรื่อง หัวใจมีเงา ,จุดนัดฝัน, ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย เป็นต้น

แต่ละครรีเมกบางเรื่องที่บทประพันธ์และบทโทรทัศน์เดิมดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน อาทิ เล่ห์รตี, ตะวันตัดบูรพา ,ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด

ละครบางเรื่องใช้เค้าโครงเรื่องมาจากต่างประเทศหรือซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงทำเป็นละครไทย อาทิ กรุงเทพมหานครซ้อนรัก มาจาก The O.C หรือ ขอโทษที่รักเธอ มาจาก Sorry! , I love You ยังคงใช้เค้าโครงจากต้นฉบับ แต่มีการปรับบทและปรับตัวละครบางตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย หรืออาจมีการบิดเรื่องนิดหน่อยให้เหมาะสมกับการดำเนินเรื่องแบบไทยๆ

2.ละครภาคค่ำที่พล็อตขึ้นมาใหม่เอง โดยทีมเขียนบทของเอ็กซ์แซ็กท์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแข็งและเป็นจุดขายที่สำคัญของละครช่อง ONE เลยทีเดียว เพราะหลายเรื่องประสบความสำเร็จเกินคาด อาทิ เล่ห์นางฟ้า, เรือนสเน่หา, สงครามนางงาม 1,2 ,เรือนร้อยรัก ,เสน่หาข้ามเส้น, โสดสตอรี่ เรื่องเหล่านี้ถูกพล็อตขึ้นมาเองจากทีมเขียนบทของค่าย ทำให้มีความสดใหม่ทั้งบุคลิกตัวละคร สถานการณ์ ปมปัญหาหรือประเด็น การดำเนินเรื่อง รวมถึงการแสดงที่เข้มข้น ซึ่งประสบการณ์และความเชียวชาญของค่ายเอ็กซ์แซ็กท์ทำให้ละครแทบทุกเรื่องที่พล็อตเอง สนุก และประสบความสำเร็จ ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกเสียเป็นส่วนใหญ่ และจุดนี้เองที่สร้างฐานแฟนคลับให้เกิดขึ้นกับค่ายละครเอ็กซ์แซ็กท์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนจะมาทำทีวีดิจิตอลอีก

3,ละครซิทคอม อันนี้ก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดขายของช่อง one จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตละครซิทคอม ตั้งแต่สมัยยุคอนาล็อก พอมาเป็นยุคดิจิตอล มีช่องเป็นของตนเอง ทำให้สามารถผลิตละครซิทคอมได้หลายเรื่องมากขึ้น เลือกลงในช่วงเวลาได้ตามใจชอบ อาทิ ยีนส์เด่น,เพราะมีเธอ,ขบวนการกุ๊กกุ๊กกู๋ เคยลงในช่วงเวลาเย็น และขยับเป็นช่วงค่ำ ในวันเสาร์ อาทิตย์และมารีรันในช่วงเวลาเที่ยงๆ บ่าย ๆ มีการปรับบท เพิ่มตัวละครในซิทคอมที่ได้รับความนิยมสูง อย่างเช่น บ้านนี้มีรัก,เป็นต่อ หรือตัดจบ หาบทสรุปให้กับซิทคอมที่เริ่มจะอิ่มตัวแล้ว อย่าง นัดกับนัด,ผุ้กองยอดรัก,เฮงเฮงเฮง และการกลับมาของซิทคอมที่เคยได้รับความนิยมสูงอย่าง บางรักซอย 9/1 ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนบท เพิ่มตัวละครขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพัฒนาการของตัวละครหลัก อย่าง แป้งและชัดเจน มีครอบครัว มีลูกด้วยกัน ซิทคอมที่พล็อตแนวเรื่องได้ทันสมัยและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่าง เสือชะนีเก้ง กลับได้รับความนิยม ได้รับการตอบรับที่ดีจากยอดวิวในไลน์ทีวี,ยูทูป และเรตติ้ง 3 กว่า สูงสุดในหมวดซิทคอมของช่อง

4.ละครซีรีส์ที่ถูกผลิตโดยค่ายละคร นอกค่ายเอ็กซ์แซ็กท์ ก็มีความน่าสนใจ และทำให้ผู้ชมได้ชมอรรถรสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับช่อง ONE และยังสร้างสีสัน แปลกใหม่ ให้กับวงการละครไทยอีกด้วย อาทิ ซีรีส์ฮอร์โมนส์ ของค่ายนาดาวบางกอก, ซีรีส์รูมอโลน 1,2 ของจีเอ็มเอ็มทีวี, ซีรีส์คอนโด บาริสต้า ,ซีรีส์ชุด รุ่นพี่ เลิฟซีเคร็ท, ซีรีส์ อัศจรรย์คุณครูเทวดา, ซีรีส์ sotus พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ของจีเอ็มเอ็มทีวี หรือแม้กระทั่งซีรีส์แนวใหม่ๆ ที่ผลิตโดยเอ็กซ์แซ็กท์หรือซีนาริโอ้เอง อย่างรักฝุ่นตลบ,โสดสตอรี่ ก็ได้รับกระแสชื่นชมว่ามีความสดใหม่ ไดอาล็อกดี บทดี และมีความทันสมัย เป็นต้น

-นักแสดงของช่อง ONE ที่เป็นนักแสดงในสังกัดหรือเซ็นต์สัญญากับช่อง ONE จะได้รับการฝึกปรือฝีมือ หรือเรียนการแสดงกับบรมครูด้านการแสดงอย่าง มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านการแสดงของ พี่นกสินจัย,พี่อ๊อฟพงษ์พัฒน์,พลอย เฌอมาลย์,ชาคริต แย้มนาม,อนันดา เอฟเวอริ่งแฮม,มาริโอ้ เมาเร่อร์ เป็นต้น จึงทำให้ทักษะด้านการแสดงของ นักแสดงช่อง one จัดอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉลี่ย

-การมีโรงถ่ายเป็นของตนเอง (Acts Studio) ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับทีมงานและนักแสดงได้มาก ทำให้ต้นทุนการผลิตละครสามารถควบคุมได้และระยะเวลาการผลิตละครเสร็จเร็วขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ เราจะได้เห็นฉากซ้ำๆ ในละครของช่อง ONE

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ละครช่อง ONE ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมและได้รับความนิยมในระดับนึง ซึ่งมีผลต่อเรตติ้งโดยรวมให้สูงขึ้นมาโดยลำดับ

บทวิเคราะห์โดย  นิติชัช/หยิกแกมหยอก

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2559

ช่อง ONE ปรับทัพสู้ศึกอย่างไร เรตติ้งถึงพุ่งขึ้นสู่อันดับ 4 (ตอนที่ 2)


 
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การจัดทัพปรับกลยุทธ์ของช่อง ONE เป็นอย่างไร

 ด้านบุคลากรที่เห็นเด่นชัด ก็คือฝ่ายข่าว มีการลาออกของคุณต๊ะ นารากร ติยายน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานี (โดยเหตุผลที่คุณต๊ะให้ไว้ ในการยื่นใบลาออกก็คือ จุดยืนในการทำข่าวไม่ตรงกับทางผู้บริหารสถานี โดนกดดันจากผู้ใหญ่เรื่องการลดต้นทุนในฝ่ายข่าวลง เนื่องจากสถานีแบกรับรายจ่ายจากฝ่ายข่าวมากเกินไป เนื่องจากฝ่ายข่าวเป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถหารายได้เข้าสถานีได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ จนเป็นที่มาของการลดเวลาข่าว และยกเลิกรายการข่าวช่วงเช้า ต่อมามีการกดดันเรื่องการปรับลดพนักงานในฝ่ายข่าวลง นั่นเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คุณต๊ะตัดสินใจลาออก ในฐานะเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานี เพื่อเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายข่าวได้ตามที่ผู้บริหารสถานีต้องการ) พอคุณต๊ะ นารากร ลาออกไปแล้ว ดูเหมือนทางผู้บริหารจะแต่งตั้งคุณเดียว วรตั้งตระกูลมาเป็นผู้ดูแลบริหารในฝ่ายข่าวแทน และได้มีการรับผู้ประกาศข่าวหญิงคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ประกาศข่าวในช่วงเย็น ภายหลังไม่มีผู้ประกาศข่าวหญิงในสถานี เนื่องจากคุณนารากร ติยายนกับคุณ วิลาสินี แวนฮาเร่น ลาออกไปทั้ง 2 คน

การปรับกลยุทธ์ในด้านรายการข่าว จากช่วงต้นปีที่มีรายการข่าวช่วงเช้า แล้วโฆษณาไม่เข้าตามเป้า คุณบอยตัดสินใจยกเลิกรายการข่าวช่วงเช้าลง โดยอ้างว่าทำไปแล้วขาดทุน โฆษณาเข้าน้อย และอาจถูกแชร์ไปยังช่องอื่น แต่พอเข้าสู่ช่วงกลางปี ทางผู้บริหารได้ตัดสินใจให้บริษัทภาพดีทวีสุขเข้ามาร่วมทำข่าวกับทีมข่าวของสถานี โดยได้พิธีกรคนดังจากบริษัทภาพดีทวีสุข คือคุณเอก เอกรัฐ กับคุณจั๊ด หิมะ มาเป็นผู้ประกาศข่าว/พิธีกรคู่กัน ในชื่อรายการ “ตื่นแต่เช้า” โดยรูปแบบรายการ คล้ายรายการ 7 วันทันข่าว ที่ทางทีมนี้เคยทำให้กับช่อง GMM25 มาก่อน ในช่วงเย็นเสาร์อาทิตย์ ก็เปลี่ยนมาเป็นเช้าตรู่จันทร์ถึงศุกร์แทน และย้ายมาลงช่อง one แทน ดูเหมือนทางออกตรงนี้ก็ดูเข้าท่า เพราะกลายเป็นข่าวเช้าดูมีสีสัน และ 2 พิธีกรคู่นี้ก็เคมีเข้าขากันดี รายการเป็นลักษณะพูดคุย เล่าข่าว แทนที่จะเป็นมานั่งอ่านข่าวเหมือนของเดิม ลูกล่อลูกชน และการคุยสนุก ทำให้รายการดูน่าสนใจขึ้นเยอะ พอจะไปชนกับข่าวช่วงเช้าของต่างช่องได้ ในส่วนของข่าวภาคเที่ยง ถูกปรับให้เป็นรายการเที่ยงรายวัน ใช้ผู้ประกาศข่าวนั่งอ่านข่าวถึง 5 คนพูดคุยกึ่งรายงานข่าว ทำให้ไม่เป็นทางการมากนัก และมีสอดแทรกเนื้อหาข่าวบันเทิง หรือสกู๊ป ประเด็นกระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ และบางวันอาจมีเชิญแขกรับเชิญมาร่วมรายการ มีศิลปินมาเยี่ยมรายการ และร้องเพลงหรือประชาสัมพันธ์คอนเสิร์ต หรือละคร ฯลฯ ส่วนข่าวช่วงเย็น จะเป็นข่าวรอบวัน ยังคงสไตล์เดิมคือดูเป็นทางการหน่อย ใช้ผู้ประกาศข่าว 2 คน ส่วนข่าวรอบดึกที่เคยมีหลังรายการวาไรตี้โชว์ภาคค่ำ ก็ถูกยกเลิกไป เปลี่ยนมาเป็นรายการ “นอนดึก” ซึ่งเป็นรายการกึ่งทอล์คโชว์ วาไรตี้โชว์ สำหรับคนนอนดึก โดยเนื้อหาจะนำเอาเรื่องราวที่อยู่ในกระแสโซเชียล หรือของล้ำนำเทรนด์มาพูดคุย กึ่งรายงาน โดย 3 พิธีกรวัยรุ่นมาดกวน คือ อ๊อฟ ชัยนนท์ ,คิว คิ้วสาหร่าย, บอส ณัฐพงศ์พล คือดูไปจะคล้าย ๆ สมัยช่อง 5 ทีมีรายการแบบ five live อะไรประมาณนี้

ถือว่าช่อง one เป็นช่องที่มีการปรับเปลี่ยนผังรายการอยู่ตลอดเวลา ทุกเดือน จนบางครั้งผู้ดู ผู้ชม แฟนคลับรู้สึกเบื่อ ที่จะต้องมาคอยติดตามว่าวันนั้น วันนี้ รายการไหน เปลี่ยนแปลง ถูกยุบ เปลี่ยนเป็นรายการอะไรแล้ว เพราะถือว่าในรอบปีที่ผ่านมาปรับเปลี่ยนบ่อยมาก แต่ก็เข้าใจว่ายังอยู่ในช่วงของการทดลอง และรีเสิร์ชว่า รายการรูปแบบใด เป็นที่นิยม เรตติ้งดี หรือรายการรูปแบบใด ไม่เป็นที่นิยม และช่วงเวลาใดในแต่ละวัน มีอัตราการรับชมของผู้ชมเป็นอย่างไร ผลตอบรับดีหรือไม่ดี และผลจากการทดลองปรับผัง และรีเสิร์ชในช่วงเปิดสถานีมาจนถึงกลางปีนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อเรตติ้ง
 
การปรับกลยุทธ์ในด้านรายการเกมส์โชว์ วาไรตี้โชว์ เรียลลิตี้โชว์ จากช่วงเปิดสถานีอย่างเป็นทางการ เม.ย.ปี 57,การเปิดตัวสถานีเต็มรูปแบบ ออกอากาศในระบบ HD ในปี 58 และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ 59 มีการถอดรายการที่เคยเป็นรายการหลักในช่วงก่อตั้งสถานีอย่าง เช่น naked show,concert in one,สถานีแสนแสบ,2 สาวเล่าเรื่อง,สมรภูมิพรมแดง,มาจิเด๊ะเจแปน,Food Prince,โตแล้วไปไหน,ขอรวยด้วยคน,รอบดึกกับจอห์น วิญญู,วันนี้,เม้าท์ละคร,แซ่บวัน,ว๊าวดารา,มหัศจรรย์แห่งรัก,Dream Up,งานเข้าที่เล้าเป็ด,เกมแจกเก๋ง,จันทร์ได้ใจ,สมาคมนิยมยิ้ม,4 โพธิ์ดำ,Thai Hero,One Big World,S.U.N reporter,ลองดี Try Out,DeScience,เป็นเรื่อง,Life Record,เสือติดปีก,พ่อบ้านปากเก่ง,ดารามหาชน,โชว์ไทยไชโย,เจาะใจ,โจ๊ะ,ครอบครัวลูกหนัง เป็นต้น จะสังเกตว่าหลายรายการก็ถือว่าได้รับการตอบรับจากแฟนคลับของช่อง one เป็นอย่างดี แต่บางรายการติดปัญหาด้านตัวพิธีกรขอถอนตัว พิธีกรย้ายช่อง ต้นทุนการผลิตหรือโปรดักชั่นแพงไม่คุ้มกับเรตติ้งที่ได้ หรือบางรายการมีการปรับย้ายวันเวลาออกอากาศแล้วไม่เปรี้ยง หรือหมดมุกในการผลิต ฯลฯ รายการที่ยังอยู่เหมือนเดิมคือเทยเที่ยวไทย,Doctor Smith โดยคุณหมอโอ๊คสมิทธิ์,ONE บันเทิง,One Theatre,เรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง The Star ค้นฟ้าคว้าดาว,จับต้นชนปลาย,ร้านนี้ Number One,ซุปตาร์ปาร์ตี้,4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม,ศึกวันดวลเพลง เป็นต้น

มีการเสริมรายการใหม่เข้ามาที่ถือเป็นแม่เหล็กอย่างรายการ สาบานว่าพูดจริง,รู้ไหมใครโสด,The Bachelor Thailand,บ้าบอลพัฒนามาจากรายการครอบครัวลูกหนัง,เซียนแกะสูตร,เรื่องของเรื่องรีเทิร์น,ลิเก HD,นอนดึก,ซีรีส์ต่างประเทศ เช่น ซีรีส์จีน,ซีรีส์เกาหลี เป็นต้น

ช่วงเวลาที่จัดว่าเป็นเวลาทองหรือไพร์มไทม์ ไม่ใช่มีเพียงแค่ช่วงค่ำถึงดึกของวันธรรมดา (20.00-23.00 น.) จันทร์ถึงศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาของละครดี ดูที่ช่องวัน และรายการวาไรตี้โชว์หลังละคร แต่ยังมีช่วงทองช่วงหัวค่ำ จันทร์ถึงศุกร์ระหว่างเวลา 18.20-20.00 น.เป็นเวลาทองที่ช่อง one ปรับกลยุทธ์เข้าสู้ศึกนับตั้งแต่ต้นปี ด้วยการส่งรายการ เกมแจกเก๋ง และศึกวันดวลเพลง เข้าสู้ในช่วงเวลานี้ ผลการตอบรับค่อนข้างดีในช่วงแรก รายการถูกกล่าวขวัญถึงและติดตามอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรายการศึกวันดวลเพลง สามารถทำเรตติ้งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากหลัก 1 ในช่วงแรกๆ ไปพีคสุดได้ถึง 4 กว่า ๆ (จุดเด่นของรายการศึกวันดวลเพลงคือการเข้าถึงกลุ่มคนตจว.ที่ชอบเพลงลูกทุ่ง เป็นรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งที่มีเงินรางวัลสูง คอมเม้นเตเตอร์อย่างครูสลาที่ให้คำแนะนำดี นำไปปรับใช้ได้ รูปแบบรายการดูง่ายและสนุก) ปัจจุบันเป็นรายการที่ได้รับเรตติ้งความนิยมสูงสุดของช่อง ส่วนรายการเกมแจกเก๋งเคยทำเรตติ้งสูงสุดเป็นรองแค่รายการปริศนาฟ้าแลบ ของช่องเวิร์คพ้อยท์ ภายหลังเรตติ้งไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากไปชนกับช่วงเวลาละครเย็นของช่อง 3,7 ทำให้เรตติ้งไม่เป็นที่น่าพอใจนัก และต้นทุนการผลิตรายการสูง จึงถูกถอดรายการไป และนำรายการ 4 ต่อ 4 แฟมิลี่เกม มาแทน และเพิ่มรายการสาบานว่าพูดจริง มาคั่นแทรก จึงนับช่วงเวลาทองหัวค่ำนั้น ช่องวันสามารถปรับกลยุทธ์สู้ศึกได้สำเร็จ ทำให้เรตติ้งโดยรวมขยับขึ้นจากส่วนหนึ่งมาจากช่วงเวลาช่วงนี้ มีการขยับสับเปลี่ยนรายการมาถูกทาง

ต่อมาเป็นช่วงเวลาเช้าของเสาร์อาทิตย์ มีการปรับกลยุทธ์นำซีรีส์จีนมาฉายช่วง 8.00-9.00 น.ซึ่งช่วงต้นปีเป็นซีรีส์วัยรุ่นผลิตโดยจีเอ็มเอ็มทีวี พอจบชุดไปจึงนำซีรีส์จีนมาฉายแทน ตามด้วยช่วงเวลา 9.00-10.00 น.จะเป็นช่วงเวลาของรายการไลฟ์สไตล์ ผลิตโดยลูกหม้อของคุณบอย เช่น เจี๊ยบอ้อม,ภูริ,เร แม็คโดนนัลด์ (รายการ TT Rider ย้ายเวลาไปออนช่วงเย็น 16.00 ของวันเสาร์แทน) หรือผลิตโดยบริษัทที่มีคอนเนคชั่นดีกับทางผู้บริหารช่อง เช่น บริษัทมาถูกทางโปรดักชั่นจำกัด (ผลิตรายการ Animal Lulla) บริษัทที่ผลิตรายการไอทีนคลับ จากนั้นช่วงเวลา 10.00-11.00 น.จะเป็นช่วงเวลาของการรีรันซิทคอม เรื่องเก่าๆ เช่น ผู้กองยอดรัก,บ้านนี้มีรัก,เป็นต่อ เป็นต้น ช่วงเวลา 11.00-13.00 น.ยังเป็นช่วงเวลาทดลองที่มีการนำรายการหลากหลายมาลง และเปลียนอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่คอนเสิร์ต,รายการเกมส์โชว์ใหม่ๆ,รายการข่าว,ซีรีส์ต่างประเทศ คือนับตั้งแต่ต้นปี 59 มาจนถึงปัจจุบัน รายการช่วงครึ่งวันเช้าของเสาร์อาทิตย์ ช่อง ONE จะออกมาในลักษณะใกล้เคียงแบบนี้ และทำให้เรตติ้งเริ่มขยับ เนื่องจากสามารถสร้างฐานแฟนคลับจากรายการต่างๆ ที่มีเวลาตายตัว และรายการหลากหลายน่าสนใจ
พอมาถึงช่วงเวลาเย็นของวันเสาร์อาทิตย์ ก็คือตั้งแต่ 17.00-18.00 น. เดิมจะเป็นรายการซิทคอมชื่อดังของช่อง เช่น บ้านนี้มีรัก และเป็นตอนใหม่ๆ หลังๆ มีการปรับเปลี่ยนเอาช่วงเวลานี้เป็นของเกมส์โชว์ชื่อดัง เช่น 4 ต่อ 4 Celebrity,สาบานว่าพูดจริง ช่วง 18.20-20.00 น.เป็นช่วงเวลาใหม่ของช่อง มักเอาละครเรื่องใหม่มาลง อาทิ ทอฝันกับมาวิน,นางอาย,สลักจิต บางครั้งนำซีรีส์จีนมาลง เช่น ศึกอภินิหารภูผาซู และในปัจจุบันอาจมีการนำเกมส์โชว์มาลงในช่วงเวลานี้ด้วย เช่น รายการรู้ไหมใครโสด เป็นต้น ช่วง 20.00-22.00 น.ถูกล็อคเอาไว้ให้เป็นช่วงเวลาของรายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดัง อาทิ The Star,The Bachelor และอนาคตอาจมีซิทคอมหรือซีรีส์ใหม่ๆ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาแม่เหล็กของช่อง ONE ที่สามารถกระชากเรตติ้งขึ้นสู้กับช่องใหญ่ๆ ที่ฉายละครฉาคค่ำ (ศ,ส,อา) ในช่วงเวลาเดียวกัน

โดยภาพรวมรายการต่างๆ ของช่อง one มีรายการใหม่ๆ เสมอและปรับกลยุทธ์ตลอด ทำให้มีความเคลื่อนไหวเป็นข่าว และเรียกความสนใจ น่าติดตามได้ตลอด อีกทั้งมีแฟนคลับในช่องทางโซเชียลเป็นของตนเอง ทั้ง Line TV,Facebook Fanpage ช่อง One, IG, Youtube ,Twitter, Pantip, Dek-D ทำให้มีกระแสในโลกโซเชียลคอยซัพพอร์ทเป็นฐานให้รายการต่างๆ ถูกพูดดึงอยู่ตลอดเวลา และจริงๆ แล้วฐานแฟนคลับของช่อง ONE ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหลักๆ มาจากฐานแฟนคลับของช่องอื่น ๆ ที่หันเหความสนใจมาชมรายการของช่อง One แทนนั่นเอง
ตอนต่อไป จะไปวิเคราะห์ในส่วนของภาคละครของช่อง one ว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไร มีส่วนหรือไม่ในการดึงเรตติ้งให้ช่องสูงขึ้น

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

ช่อง ONE ปรับทัพสู้ศึกอย่างไร เรตติ้งถึงพุ่งขึ้นสู่อันดับ 4 (ตอนที่ 1)



 
ช่อง one ทำอย่างไรจึงขยับเรตติ้งจากอันดับ 6 เมื่อต้นปี (2559) มาสู่อันดับ 4 ในช่วงไตรมาส 3/59 ของปีได้สำเร็จ ผู้เขียนบังเอิญเป็นแฟนคลับของช่อง one และได้เฝ้าดู การขยับสับเปลี่ยน กลยุทธ์ และการบริหารงานของช่อง one มาโดยตลอด ในมุมมองของผู้เขียน จึงขอนำมาวิเคราะห์ให้ได้ทราบกัน

ก่อนอื่นต้องทราบแบ็คกราวน์ดของช่อง one ก่อน ช่อง one เป็นทีวีดิจิตอล ช่องหมายเลข 31 ที่ผ่านการประมูลช่องมาได้ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท (ค่าสัมปทานมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยปีแรกต้องจ่าย 50% ปีที่สองต้องจ่าย 30% และปีที่สามต้องจ่ายที่เหลือ 20%)  ยังไม่นับค่าเช่าคลื่นสัญญาณเครือข่าย ซึ่งต้องจ่ายอีกเป็นรายเดือนนับล้านกว่าบาท ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ ยังไม่นับต้นทุนผันแปร คือบรรดาค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน ต้นทุนการผลิตรายการ บริษัทถูกประมูลและบริหารงานโดยบริษัทวันเอ็นเตอร์ไพร์ซ ซึ่งมีบริษัทแม่ GMM grammy ถือหุ้นอยู่ด้วย และมีประธานบริหารบริษัทคือคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ (ซึ่งแต่เดิมก็บริหารงานบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์,บริษัทซีนาริโอ้ จำกัด ในเครือแกรมมี่อยู่ก่อนแล้ว) จุดแข็งเดิมของคุณบอย ถกลเกียรติ ก็คือเป็นบริษัทรับจ้างผลิตละคร,ผลิตรายการทีวอื่นๆ ป้อนฟรีทีวีในอดีตมาก่อน (ทั้งช่อง 3,5,7,9)  และเคยรับสัมปทานผลิตละคร,รายการทีวีอื่นๆ ป้อนให้กับช่อง 5 โดยข้อตกลงก็คือบริหารเวลาเอง หารายได้ หาโฆษณาเอง ในช่วงเวลาที่ได้รับสัมปทานจากช่อง 5 ทำให้มีประสบการณ์ทั้งในแง่ผู้ผลิตรายการ และในแง่การบริหารงานสื่อทีวี นอกจากนั้นบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์ ซึ่งเป็นบริษัทหัวหอกเดิมของกลุ่มคุณบอย ยังเชี่ยวชาญการผลิตละครทุกรูปแบบทั้งละครดราม่าหลังข่าว,ละครซีรี่ส์ขนาดสั้น-ยาว,ละครซิทคอม รายการเกมส์โชว์, รายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังอย่าง The Star,รายการรูปแบบโชว์ จัดคอนเสริ์ต โชว์บนเวทีประกวดนางงาม, หรือแม้กระทั่งละครเวที (ปัจจุบันเป็นผู้นำทางด้านผู้ผลิตละครเวทีของบ้านเรา) อีกทั้งมีโรงละครเป็นของตนเอง (รัชดาลัยเธียเตอร์) มีโรงถ่ายละครขนาดใหญ่และครบวงจรที่ลาดหลุมแก้ว (โรงถ่ายละคร Acts Studio) มีดาราหรือนักแสดงที่เป็นสังกัดของตนเองอยู่ประมาณนึง ที่สามารถนำมาใช้ในงานผลิตละคร เหล่านี้คือจุดแข็งโดยรวมของช่อง one ในปัจจุบัน

ช่อง ONE เปิดสถานีอย่างเป็นทางการก็คือ 1 เมษายน 2557 (ไม่นับช่วงทดลองออกอากาศก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อนหน้านั้น เป็นการทดลองออกอากาศในระบบดาวเทียม ผ่านกล่อง GMMZ) ช่วงแรกในปี 2557 ยังไม่มีการผลิตรายการข่าว หรือยังไม่ผลิตละครโทรทัศน์ชุดใหม่มาลง แต่จะเป็นการนำละครเก่าๆ มารีรัน ผสมกับรายการโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้นเอง คอนเสิร์ตเก่าๆ ของศิลปินแกรมมี่ รายการดังๆจากช่อง acts channel (ซึ่งเป็นช่องรายการอยู่ในระบบดาวเทียมเดิม) มาฉาย และพอเข้าสู่ปีใหม่ 2558 จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีรายการใหม่ๆ มีรายการข่าวและทีมข่าวประจำตามช่วงเวลา และมีการผลิตละครใหม่ๆ ลงในช่วงไพร์มไทม์เหมือนช่องทีวีหลักๆ ในช่วงต้นปี 2558-กลางปี 2559 เรตติ้งของช่อง one ยังเกาะกลุ่มอยู่ในแถวๆ 0.3-0.5 ปลายๆ  อยู่ในอันดับที่ 6-8 ในตารางเรตติ้งช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด ขึ้นๆ ลงๆ อยู่แถวๆ นี้ จนมาในช่วงต้นปี 2559 ที่เรตติ้งคงที่อยู่ในอันดับ 6 ค่อนข้างสม่ำเสมอ จนมาเมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่เรตติ้งมีการขยับสับเปลี่ยนขึ้นมาอยู่อันดับ 5 (เรตติ้งช่อง ONE เริ่มขยับมาอยู่อันดับ 5 โดยเรตติ้งเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 0.582 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 59 และมาพีคสุดขึ้นไปถึง 0.771 ในเดือนสิงหาคม 59 ขึ้นไปอยู่อันดับ 4 ของตารางหัวแถว แซงช่อง Mono29 และช่อง 8 ที่เคยอยู่อันดับ 4,5 มาก่อน อย่างมีนัยสำคัญ) 

จะนำเข้าสู่ประเด็นว่าช่อง one ทำอะไรบ้าง ที่ทำให้เรตติ้งของช่องตนเองขยับขึ้นมาใกล้สู่เป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ คุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของช่อง one คือต้องการทำเรตติ้งช่องให้ได้สู่ระดับเลข 1 ขึ้นไป เพื่อฐานของรายได้คือค่าโฆษณาจะได้ปรับขึ้น เมื่อเรตติ้งสูงขึ้น รายได้จะขยับตาม เพื่อเป้าหมายแรกคือให้ช่องอยู่ได้ อยู่รอดก่อน และเป้าถัดไปคือต้องการเป็นเบอร์ 1 ของช่องทีวีดิจิตอลใหม่ทั้งหมด นั่นหมายความว่าต้องไปเบียดกับช่องเวิร์คพ้อยท์ ที่ครองบัลลังก์อยู่ในอันดับ 3 ในตารางหัวแถวของช่องเรตติ้งสูงอย่างไม่ต้องสงสัย และจะต้องทำอย่างไรเพื่อโค่นและแซงเวิร์คพ้อยท์ขึ้นไปอยู่ที่ 3 แทน นั่นคือโจทย์ที่คุณบอยกำลังคิด และหากลยุทธ์อยู่

โปรดติดตามตอนต่อไป ที่เราจะไปวิเคราะห์กันว่า 1 ปีที่ผ่านมาคุณบอยทำอะไรกับช่อง one บ้าง เรตติ้งถึงพุ่งขึ้นมาได้ และหลังจากนี้ในไตรมาสสุดท้ายของปี คือไตรมาส 4/59 จะทำอย่างไรจึงจะรักษาสถานะของช่องอันดับ 4 เอาไว้ได้อย่างเสถียรและมั่นคง นี่คือโจทย์ที่ท้าทายผู้บริหารคนเก่งอย่างคุณบอย ณ เวลานี้

5 ดีลการควบรวมกิจการ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกไอที ที่มีมูลค่ามหาศาล


 
ดีลการควบรวมกิจการ ที่มีมูลค่ามหาศาล ระดับโลก 5 ดีลใหญ่ (รวมของปีนี้) มาให้ดูกัน มีบริษัทไหนบ้าง การเข้าเทกโอเวอร์ Linkedln โซเชียลมีเดียขนาดมหึมาโดยไมโครซอฟท์ ในมูลค่า 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 917,000 ล้านบาท) เมื่อสัปดาห์ก่อน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เว็บไซต์ Pocketnow รวบรวม 5 เหตุการณ์เข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา

การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ไม่รวมการควบรวมกิจการ (Merger) คัดเลือกเฉพาะการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) แต่ไม่รวมการซื้อกิจการระหว่างบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มต้นจาก

1.อวาโกซื้อบรอดคอม (2558) มูลค่า 37,000 ล้านเหรียญฯ แม้ชื่อชั้นของอวาโก (Avago) และบรอดคอม (Broadcom) จะไม่คุ้นหูคุ้นตาเท่าไร แต่สำนักข่าวบลูมเบิร์กก็ได้จัดอันดับดีลนี้ว่าเป็นอภิมหาดีลแห่งวงการเทคโนโลยี เหนือกว่าเมื่อครั้งเดลล์ ซื้อกิจการอีเอ็มซี ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 67,000 ล้านเหรียญฯด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะศักยภาพของบรอดคอม ซึ่งขายชิพเซ็ตมือถือที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์กไวไฟ โดยเฉพาะในเครื่องไอโฟนเกือบทั้งหมด ขณะที่อวาโกขายชิพเซ็ตสำหรับสมาร์ทโฟนที่รับจ้างผลิต (OEMs) รถยนต์ และกลุ่มก่อสร้าง การซื้อกิจการครั้งนี้ จึงถือเป็นการขยายอาณาจักรครั้งใหญ่ ความเสี่ยงเดียวที่มีอยู่ก็คือ ยอดขายที่เริ่มแผ่วลงของไอโฟน

2.เฟซบุ๊กซื้อวอทสแอพ (2557) มูลค่า 19,000 ล้านเหรียญฯ มีบริการส่งข้อความ Messaging อยู่แล้ว ผู้คนจึงพากันสงสัยว่าเพราะอะไร เฟซบุ๊กจึงยอมทุ่มเงินซื้อวอทสแอ็ป (WhatsApp) เข้าสังกัดอีก เหตุเนื่องมาจากฐานลูกค้าจำนวนหลายพันล้านคนของวอทสแอพ ซึ่งแม้จะเป็นบริการฟรี แต่การได้ฐานลูกค้าขนาดนี้มา เป็นประโยชน์ต่อการขายโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่อยู่ในเฟซบุ๊กแน่ๆ

3.กูเกิลซื้อโมโตโรล่า (2555) มูลค่า 12,500 ล้านเหรียญฯ ตอนตัดสินใจซื้อ กูเกิลบอกว่าสนใจสิทธิบัตรที่โมโตโรล่าถืออยู่ 17,000 ชิ้น นอกจากการเป็นเจ้าของระระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟน ที่ทำให้กูเกิลต้องดิ้นรนมีแบรนด์มือถือเป็นของตัวเองเพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่างไรก็ตาม 2 ปีจากนั้นไม่ขาดไม่เกิน กูเกิลก็บรรลุดวงตาเห็นธรรม ว่าทำแบรนด์มือถือมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จึงขายโมโตโรล่าต่อให้เลอโนโว ในราคาแค่ 3,000 ล้านเหรียญฯ และตัดสินใจเก็บสิทธิบัตรไว้บางส่วนเท่านั้น

4.ไมโครซอฟท์ซื้อโนเกีย (2557) มูลค่า 7,800 ล้านเหรียญฯ ไม่ต่างอะไรกับกูเกิล ไมโครซอฟท์ต้องการหาลานจอดสำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์บนสมาร์ทโฟน และนั่นเป็นเหตุผลหลักในการเข้าซื้อกิจการโนเกีย แต่ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยในระยะเวลาอันสั้น เพียงแค่ปีเดียวโดดๆ โนเกียใต้ปีกไมโครซอฟท์ก็แพแตก วินโดวส์โฟนไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้บริโภค ตอนนี้จึงมีความพยายามในการปลุกผีแบรนด์ขึ้นมาใหม่ ภายใต้บังเหียนฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) แห่งประเทศจีน

5. ออราเคิลซื้อซัน (2552) มูลค่า 7,400 ล้านเหรียญฯ การเข้าซื้อกิจการซัน (Sun) ซึ่งเป็นเจ้าของจาวาสคริปต์ (JavaScript) ภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับการเขียนโปรแกรมบนอินเตอร์เน็ต ทำให้ออราเคิลกลายเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจาวาทั้งหมด และนำไปสู่การฟ้องร้องกูเกิลในมูลค่าหลายพันล้านเหรียญฯ ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์จาวา หลังพบว่ามีข้อมูลจาวารั่วไหล และถูกก๊อบปี้แปะอยู่บนแพลทฟอร์มกูเกิลจำนวนหนึ่ง โดยขณะนี้ออราเคิลในฐานะคนฟ้อง กำลังยื่นขออุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นมีคำตัดสินเป็นประโยชน์ต่อกูเกิ้ล (เครดิตข้อมูล จากหน้าเพจ ไทยรัฐออนไลน์)

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

Renovate ,Re-Branding, Re-Positioning ศูนย์การค้า ตอนที่ 6


คำกล่าวที่ว่า ประเทศไทย เป็นเมืองแห่งศูนย์การค้าหรือ ห้างสรรพสินค้า คงจะไม่เกินเลยจริงๆ เพราะว่าปีนี้ปีเดียว มีการเปิดศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นมาใหม่ และที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แบบรีโนเวท อีกเพียบ นับแล้วเกิน 20 แห่ง นี่เอาเฉพาะที่เป็นข่าวนะ และที่ไม่ทำโปรโมตหรือเป็นข่าวอีกมาก ตามต่างจังหวัดอีกเพียบเลย ก็ถือว่าเป็นข่าวดี ที่วงการธุรกิจการค้า มีการเคลื่อนไหวคึกคักกันตลอดเวลา ไม่เงียบเหงาไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว ที่ทำให้คนทำมาค้าขายได้อุ่นใจ ว่าธุรกิจการค้ายังเติบโตไปได้อีกมาก ทางบล็อกได้รวบรวมความเคลื่อนไหวในหนนี้ ตอนที่ 6 มาฝาก มีการเปิดตัว community mall ใหม่สุดชิค 5 แห่ง (จริงๆ เปิดใหม่มีมากกว่านี้) เอามาฝาก และการเปลี่ยนแปลงของศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป (CPN) อีกมากมาย ดังนี้
1.The BRIGHT คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านพระราม 2 ที่มีเนื้อที่กว่า 10 ไร่ บริหารโดยบริษัทผู้นำด้านหลอดไฟและอุปกรณ์เกี่ยวกับแสงสว่างชื่อดังอย่าง บริษัท แลมป์ตั้น ไลท์ติ้ง 2001 จำกัด ที่ใช้ชื่อโครงการว่า THE BRIGHT The First City Lifestyle Mall on Rama II ที่นี่ประกอบไปด้วยอาหารพลาซ่า 4 ชั้น ที่มีร้านอาหารให้คุณได้เลือกรับประทานมากมายหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทยอย่าง โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่, หัวปลาช่องนนทรี จูเนียร์ ร้านอาหารเกาหลี อย่าง Seoul Good Korean Hot Pot ร้านอาหารญี่ปุ่น อย่าง Wakayamma Ramen ร้านอาหารอิตาเลี่ยน อย่าง 7 Scoozi pizza หรือว่าจะเป็น คาเฟ่ชื่อดังสุดน่ารัก อย่าง Pan Cafe เท่านั้นยังไม่พอที่นี่ยังมี ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต อีกด้วย และถ้าคุณอยากรู้ว่าที่นี่มีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง ลองหาเวลาว่างมาเดินเล่น เดินช้อปปิ้ง กินของอร่อย ๆ กันดูนะคะ The BRIGHT (เดอะไบร์ท) ตั้งอยู่บนถนนพระราม 2 ใกล้โรงพยายาบาลมด เดินทางสะดวกเพราะอยู่ติดถนนใหญ่ (ถนนพระราม 2) และหายห่วงอย่างแน่นอนเรื่องที่จอดรถ เพราะ The BRIGHT มีอาคารจอดรถที่สามารถรองรับรถยนต์ได้มากกว่า 500 เลยทีเดียว

2.Suanplern Market (สวนเพลิน มาร์เก็ต) มาร์เก็ตมอลล์แห่งใหม่ย่านพระราม 4 มีพื้นที่ 10 ไร่ อยู่ตรงข้ามอาคารมาลีนนท์ เป็นโครงการที่พัฒนาโดย กลุ่มอรรถกระวีผู้บริหารเดียวกับ K-Village และ A Square และ Suanplern Market มีคอนเซปต์ของโครงการที่สุดแสนจะน่ารักว่า เพลินจิต เพลินใจ เพลินช้อป เพลินชิม” Suanplern Market ตกแต่งด้วยสไตล์ อินดัสเทรียล ลอฟท์ จำลองบรรยากาศสถานีรถไฟ เพราะด้านหลังของที่นี่ในอดีตเคยเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทย ที่เรียกว่า สายปากน้ำนั่นเองจ้า ความพิเศษคือที่นี้มีร้านค้า ร้านอาหาร ให้เลือกกว่า 250 ร้านเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ข้าวหมูแดงนายไซ, เตี๋ยวหน้าคลัง, Kiniku Gyudon, นิตยา ไก่ย่าง, Zen , Santafe’, Shabu One และร้าน T24 ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง แถมอีกนิดที่นี่ยัง Starbucks Drive Thru แห่งแรกใจกลางเมืองอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอที่นี่มีลานกิจกรรมสำหรับจัดอีเว้นท์พิเศษด้วยนะ และถ้าคุณอยากเลือกซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่นี่ก็มี Makro Food Service มาเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกบนถนนพระราม 4 แล้วจ้า และรับรองว่าสาวนักช้อปจะไม่ผิดหวัง Suanplern Market มีร้านเสื้อผ้าให้เลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดัง ๆ ไปจนถึงร้านขนาดเล็กจากโลกออนไลน์มาเปิดให้คุณได้จับจ่ายใช้สอย ในราคาที่ทุกคนสามารถพอใจแน่นอน


 
 
3.The Phyll (เดอะฟิล) คอมมูนิตี้มอลล์ แห่งใหม่ใจกลางเมือง ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท (ปากซอยสุขุมวิท 54) ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุชเพียง 180 เมตร เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ในปีที่ผ่านมา The Phyll บริหารงานโดยบริษัท สราญรัตน์พัฒนา จำกัด The Phyll มีการตกแต่งภายนอกและภายในอาคารด้วยแนวคิด ศูนย์การค้าที่มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่แห่งความสุข ที่เดอะฟิล (Phyll Green, Feel Good @ The Phyll) ที่ The Phyll มีพื้นที่โล่ง อีกทั้งยังประกอบไปด้วยน้ำพุ น้ำตก และสวนด้านข้างที่เป็นคล้ายที่พักผ่อน ในบรรยากาศสบาย ๆ ที่นีแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นล่าง L (lower floor) เป็นโซนของแหล่งอาหารที่เรียกว่า อ่อนนุชฟาร์มชั้นนี้มีซุปเปอร์มาร์เก็ต และยังรวมร้านอาหารไว้มากมาย ชั้น G (ground floor) เป็นชั้นที่ประกอบไปด้วยร้านขายยา คลีนิคเสริมความงาม ธนาคาร ร้านกาแฟ ชาไข่มุก เป็นต้น ชั้น U (upper floor) ประกอบด้วยร้าน AMWAY ร้าน Acts of green ร้านขายของเบ็ดเตล็ด และร้านลีโอคาเฟ่ เป็นต้น และ The Phyll ยังมีอาคารจอดรถในร่ม ที่รองรับได้กว่า 200 คัน อีกด้วย

4.The Seasons Mall (เดอะซี่ซันส์ มอลล์) คอมมูนิตี้ มอลล์ แห่งใหม่ใจกลางเมืองที่พหลโยธิน 1 บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ที่นี่โดดเด่นด้วยการตกแต่งแนว Contemporary Art Deco ศิลปะร่วมสมัย นั่นเองจ้า ที่ The Seasons มีร้านกว่า 200 ร้านค้าให้คุณได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านให้บริการเพื่อสุขภาพ ความงาม สินค้าแฟชั่น และไอที ให้เลือกมากมาย รับรองว่าตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมืองอย่างแน่นอน การเดินทางมาที่นี่ก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะ The Seasons อยู่ระหว่างรถไฟฟ้า BTS อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ BTS สนามเป้า

5.Crystal Veranda (คริสตัล วีรันด้า) ศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาส ที่เข้าถึงและสัมผัสได้จริง เป็นเฟสใหม่ล่าสุดของช้อปปิ้งมอลล์ชื่อดังอย่าง The Crystal (เดอะคริสตัล) เลียบทางด่วนเอกมัย รามอินทรา ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา จุดเด่นของ Crystal Veranda คือ โรงภาพยนตร์ SFX ที่ตกแต่งอย่างหรูหราและทันสมัยที่สุด และยังมีฟิตเนสเฟิร์ส ที่มาพร้อมคอนเซปต์วิวสวยที่สุด เท่านั้นยังไม่พอที่นี่ยังมีร้านอาหารสุดหรู คาเฟ่ชื่อดัง ร้านค้าไอทีที่ครบครันมากมายให้ลูกค้าได้เลือก ที่นี่ตั้งอยู่บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 7 เขตเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ คือ ลาดพร้าว วังทองหลาง วัฒนา บางเขน บึงกุ่ม บางกะปิ จตุจักร อีกด้วย และหมดห่วงเรื่องที่จอดรถ เพราะที่นี่มีอาคารจอดรถถึง 8 ชั้น ให้บริการจอดรถได้กว่า 1,800 คัน

ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ที่ออกมาประกาศแผนธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า (2559-2561) แถลงความพร้อมเดินหน้าลุย 10 โปรเจกต์ยักษ์ สร้างศูนย์การค้าใหม่ 5 แห่ง และพลิกโฉมศูนย์การค้าเดิม อีก 5 แห่ง เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์การชอปปิ้งที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในยุคปัจจุบัน ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก โดยการสร้างโอกาสพัฒนาคู่ค้าและนักธุรกิจ สู่ช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งที่ดีที่สุดของภูมิภาค
 
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอ็น ในฐานะผู้นำด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าธุรกิจสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทย ด้วยวิสัยทัศน์ในการลงมือพัฒนาพื้นที่ศักยภาพทั่วประเทศ จนสามารถขยายจำนวนศูนย์การค้าได้มากที่สุด และยังสร้างความสำเร็จร่วมกับนักธุรกิจและคนในท้องถิ่น ในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยภายในปี 2561 นี้ ซีพีเอ็น จะมีศูนย์การค้ามากกว่า 34 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 8 ล้านตารางเมตร พร้อมขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมี 1 โปรเจกต์นำร่องในประเทศมาเลเซีย”   โดย 5 โครงการใหม่ ของซีพีเอ็น ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ (2559-2561) ได้แก่
1. เซ็นทรัลพลาซา นครศรีธรรมราช

ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของจังหวัด รองรับการเป็นโลจิสติคส์ ฮับ ของภาคใต้ ได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559
2. เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา

มหานครแห่งอีสาน โครงการมิกซ์ยูสยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งภาคอีสาน ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม คอนโดมิเนียม ตลาดไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์ และสวนสาธารณะไว้ในที่เดียวกัน สร้างสรรค์โมเดลการใช้ชีวิตสมัยใหม่ให้กับชาวอีสานได้อย่างครบทุกมิติ ชูไฮไลท์การตกแต่งที่แปลกใหม่ มอบสีสันใหม่แห่ง 5 ฤดูกาลให้ภาคอีสาน และสร้างสรรค์ โคราช ริเวอร์วอล์คศูนย์รวมการพักผ่อนและการทำกิจกรรมต่างๆ ของชาวโคราช พร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2560
3. เซ็นทรัลพลาซา มหาชัย

ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพบนถนนพระรามสอง เส้นทางหลักที่เชื่อมต่อสู่ภาคใต้ รายล้อมไปด้วยแหล่งเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสำคัญของจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงและเป็นแหล่งอาหารทะเลขึ้นชื่อ เป็นจุดแวะพักการเดินทางที่สมบูรณ์แบบ โดยมีจุดเด่นคือ ตลาดซีฟู้ดสไตล์คนเมืองรูปแบบใหม่ ที่คับคั่งด้วยอาหารทะเลสดใหม่ พร้อมด้วยบริการจากเชฟ ที่สามารถนำไปปรุงเป็นเมนูสุดโปรดได้หลากหลาย เตรียมเปิดให้บริการปี 2560
4. เซ็นทรัล ภูเก็ต

เมกะโปรเจกต์ยิ่งใหญ่ระดับเวิลด์คลาส มูลค่ารวมทั้งโครงการกว่า 20,000 ล้านบาท ใจกลางเกาะภูเก็ต ศูนย์การค้าที่ตอบสนองความต้องการทั้งลักซ์ชัวรี-ไลฟ์สไตล์ และแคชชวล-ไลฟ์สไตล์ ของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งโรงแรมระดับพรีเมียม ศูนย์ประชุมนานาชาติ และแอทแทรคชั่น ที่มอบประสบการณ์พิเศษเหนือจินตนาการ เตรียมเปิดให้บริการปลายปี 2560
5. เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้

ศูนย์การค้าในต่างประเทศแห่งแรกของซีพีเอ็น ตั้งอยู่ในโครงการ ไอ-ซิตี้ อัลตราโพลิส (i-City Ultrapolis) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างซีพีเอ็น และ บริษัท ไอ-เบอร์ฮาด ผู้นำด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของมาเลเซีย โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องของซีพีเอ็น ในการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกระดับภูมิภาค เตรียมเปิดให้บริการภายในปี 2561
นอกจากนี้ ซีพีเอ็น ยังพลิกโฉมโครงการเดิมอีก 5 โครงการ ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เซ็นทรัลพลาซา บางนา เซ็นทรัลพลาซา พัทยา เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3 และ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย ด้วย 6 ไลฟ์สไตล์อินโนเวชั่น ของซีพีเอ็น อันได้แก

การสร้างบรรยากาศในศูนย์การค้า ด้วยการนำนวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยี มาสร้างความแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น
1. การสร้างบรรยากาศในศูนย์การค้า ด้วยการนำนวัตกรรมการออกแบบและเทคโนโลยี มาสร้างความแปลกใหม่ น่าตื่นเต้น

2. สร้างฟู้ด เดสติเนชั่น ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เรื่องอาหารของทุกกลุ่มทาร์เก็ตได้ครบและดีที่สุด ทั้งโซเชียลไลฟ์สไตล์และแฟมิลี่ไดน์นิ่ง
3. สร้างศูนย์กลางสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยบริการสำหรับหลายเจนเนอเรชั่น ให้ครอบครัวใหญ่มารีคอนเน็ค ใช้เวลาร่วมกัน

4. สร้างโคเวิร์คกิ้งสเปซ พื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ไอเดียในการทำงานและการเรียนพร้อมบริการครบวงจร อย่างเช่น ธิงค์-สเปซ
5. สร้างแอทแทรคชั่น ในรูปแบบใหม่และเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ

6. สร้างสรรค์ มาร์เก็ต ตลาดไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เข้าสู่ช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ และเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจ ให้เอสเอ็มอีไทย ให้เติบโตก้าวหน้า
การพัฒนาโครงการของซีพีเอ็นในทุกครั้ง ล้วนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเจริญ เกิดการกระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ผลักดันเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ รวมทั้งส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้ง ฮับที่ดีที่สุดของภูมิภาคอีกด้วย”” นายปรีชา กล่าวสรุป


PT บี้ ปตท (PTTRM) มาติดๆ พยายามหายใจรดต้นคอให้เร็วที่สุด


 
ใครไม่รู้ ตอนนี้คู่แข่งปั๊ม ปตท.ไม่ใช่ Esso,Shell หรือบางจากแล้วนะ แต่เป็น PT ต่างฝ่ายต่างเดินเกมรุกในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมัน (non oils) ในช่วง 3-4 ปีมานี้ PT ตามบี้ ปตท.มาอย่างไม่ลดละ พยายามหายใจรดต้นคอให้ได้เร็วที่สุด การบุกธุรกิจนอนออยล์อย่างจริงจังของ ปตท. ในช่วงหลายปีจนรั้งตำแหน่งผู้นำแซงคู่แข่ง กลายเป็นบทพิสูจน์ทั้งในแง่รายได้ กำไร และความอยู่รอด ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ล่าสุด ปตท. เดินหน้าผลักดันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนอนออยล์เทียบกับธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ไม่ใช่ 50:50 แต่จะเพิ่มเป็น 60:40 ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

ตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากงบลงทุนหน่วยธุรกิจน้ำมันระยะ 5 ปี (ปี 2559-2563)ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะใช้ขยายและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน 8,000 ล้านบาท ธุรกิจค้าปลีก 2,000 ล้านบาท ธุรกิจก๊าซหุงต้ม (LPG) 2,500 ล้านบาท ที่เหลือ 7,500 ล้านบาท ใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลงทุนคลังน้ำมันและระบบท่อต่างๆ ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเสริมในสถานีบริการน้ำมันไม่ใช่น้ำมัน หรือนอนออยล์ (non-oil) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะเน้นแผนขยายแฟรนไชส์ร้านคาเฟ่อเมซอนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1,400 สาขา เป็น 2,100 สาขา โดยหันมาเปิดร้านคาเฟ่อเมซอนนอกปั๊มน้ำมันมากขึ้นและขยายสาขาในต่างประเทศ ซึ่งจะไปพร้อมๆ กับการขยายปั๊มน้ำมันจากปัจจุบัน 40 สาขา เพิ่มขึ้นเป็น 400 สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งตั้งบริษัทลูกดูแลการขยายแฟรนไชส์คาเฟ่ อเมซอนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ปตท. เตรียมซื้อแฟรนไชส์อาหารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์ไก่ทอด “เท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken)” และแด๊ดดี้โด (Daddy Dough) มาแล้ว โดยจะขยายสาขาร้านเท็กซัส ชิคเก้น จากปัจจุบัน 2 แห่ง เป็น 40 แห่ง และแด๊ดดี้โดจาก 7 แห่ง เป็น 50 แห่ง ส่วนร้านเพิร์ลลี่ทีจะเพิ่มขึ้นจาก 180 สาขา เป็น 500 สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า พัชรา อนามบุตร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก บมจ. ปตท.กล่าวว่า ในปี 2559 ปตท. จะขยายสาขาร้านค้าในปั๊ม ปตท. ตามแนวตะเข็บจังหวัดชายแดนติดกับเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปั๊มมากขึ้น ทั้งปั๊มทั่วไปและปั๊มแบบพาร์ค 20 กว่าแห่ง ซึ่งขณะนี้มีปั๊ม ปตท. ทั่วประเทศประมาณ 1,200 แห่ง เป็นของบริษัท 200 กว่าแห่ง และดีลเลอร์ 1,000 แห่ง

ปัจจุบันรายได้ธุรกิจค้าปลีกกว่า 70% มาจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ได้สิทธิ์แฟรนไชส์มากกว่า 1,000 สาขา รองลงมาคือรายได้พื้นที่เช่าและธุรกิจค้าปลีกตัวอื่นๆ โดยบริษัทกำลังศึกษาแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อเป็นแม็กเน็ตดึงความสนใจของคู่ค้า เพราะแบรนด์เท็กซัสชิคเก้นตามสัญญาจะไม่ผูกติดกับปั๊มน้ำมัน เน้นการเปิดร้านในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ สัดส่วนกว่า 80% อีก 20% จะเปิดในสถานีบริการตามจุดพักรถขนาดใหญ่  ส่วนบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือ PTTRM ซึ่ง ปตท.จัดตั้งขึ้นมาบริหารธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มปั๊มน้ำมัน “เจ็ท” และร้านค้าสะดวกซื้อ “จิฟฟี่” หลังลุยต่อยอดจากแบรนด์ “จิฟฟี่” เพิ่มโมเดลมินิซูเปอร์มาร์เกต จิฟฟี่ ซูเปอร์เฟรชมาร์เก็ตและจิฟฟี่ พลัส ซูเปอร์มาร์เก็ต สร้างร้านอาหาร จิฟฟี่ คิทเช่น จิฟฟี่ บิสโทร สร้างแบรนด์ร้านชานมไข่มุก Prealy Tea ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากไต้หวัน รวมทั้งจับมือกับ เค.อี. แลนด์ ชิมลางการเข้าสู่แนวรบธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์

ปี 2558 บริษัทลุยธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซกเมนต์ใหม่ ภายใต้ชื่อ “จอย(Joy)” คอนเซ็ปต์คาเฟ่คอนวีเนียนสโตร์ จำหน่ายสินค้าและเพิ่มโซนร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ที โซนเบเกอรี่ โซนบิวตี้ รวมถึงโซน Price Point หรือสินค้าราคาเดียวเหมือนร้านไดโซะโดยกำหนดราคาเดียว 50 บาทต่อชิ้น ซึ่งถือเป็นจุดขายที่สร้างความแตกต่างจากคอนวีเนียนสโตร์ทั่วไป เหมือนย่อคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดเล็กลงมาให้เหมาะกับชุมชน แม้การขยายสาขา JOY ไม่เป็นไปตามแผนเดิม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ต้องทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง จากปัจจุบันเปิดแล้ว 4 สาขา คาดว่า ปี 2559 น่าจะเปิดเพิ่ม 30 สาขา

นอกจากนี้ ผุดรีเทลโมเดลใหม่ที่ไม่มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ในพื้นที่ ลักษณะจุดบริการพักรถสำหรับผู้ที่เดินทางไปยังต่างจังหวัด ภายใต้ชื่อ “จีฟฟี่ เรส แอเรีย” เปิดสมรภูมิใหม่ที่คู่แข่งทั้งบางจากและพีทีเร่งเปิดตัวตามด้วย ปลายปี 2558 PTTRM ฉีกแนวคู่แข่งในธุรกิจน้ำมัน เผยโฉม “ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ใจดี” จับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว อาหารปรุงสดใหม่ และเป็นอาหารคู่คนไทยมานาน สามารถเจาะลูกค้าทุกกลุ่ม จักรกฤช จารุจินดา กรรมการผู้จัดการ PTTRM กล่าวว่า ปตท. เห็นโอกาสทางธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าสูง เม็ดเงินราว 375,000-385,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยนำร่องเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ใจดี 2 สาขาในปั๊ม ปตท. จิฟฟี่ ปทุมธานี ลำลูกกา 4 (จรมา) และวงแหวนตะวันตก สามโคก (ขาออก) งบลงทุน 1.5 ล้านบาทต่อสาขา รวมทั้งตั้งเป้าปี 2559 ขยายเพิ่มอีก 10 สาขา และภายในปี 2560 จะพัฒนาเป็นธุรกิจแฟรนไชส์  สำหรับก๋วยเตี๋ยวเรือ ใจดี PTTRM ชูจุดขายที่รสชาติจัดจ้าน น้ำซุปเข้มข้น มีเมนูหมู เนื้อ หมูตุ๋นและเนื้อตุ๋น รวมทั้งเพิ่มเมนูขนมจีนแกงไก่ สูตรโบราณ ราคา 25-40 บาท ลูกชิ้นปิ้ง ขนมถ้วย และน้ำสมุนไพร  หากดูยุทธศาสตร์ของ ปตท. ทั้งบริษัทแม่และ PTTRM สามารถวางกรอบการขยายกลุ่มนอนออยล์แบบครบสูตร ขยายธุรกิจทั้งในและนอกสถานีบริการ มีทั้งกลุ่มร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านกาแฟและเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่ สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทั้งคาเฟ่อเมซอน เพิร์ลลี่ที แด๊ดดี้โด สินค้าเฮาส์แบรนด์ มาจนถึงร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ “ใจดี” บวกกับดึงคู่ค้าเข้ามาเติมเต็ม ซึ่งสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างทราฟฟิกการเข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมันหรือในจุดพักรถอย่าง จิฟฟี่ เรส แอเรีย

แน่นอนว่า คู่แข่งในธุรกิจน้ำมันกำลังเร่งลงทุนกลุ่มนอนออยล์ โดยเฉพาะสงครามแย่งชิงเบอร์ 2 ในตลาดระหว่างบางจาก เอสโซ่ และล่าสุด “พีทีจี” เจ้าของแบรนด์ปั๊มน้ำมัน “พีที” ซึ่งประกาศทุ่มเม็ดเงินกว่า 10,000 ล้านบาท พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่และตั้งเป้าชิงเบอร์ 2 ในตลาดให้ได้ เพราะถ้านับจำนวนปั๊มพีที ณ สิ้นปี 2558 มีอยู่ 1,200 แห่ง ถือว่ารองจาก ปตท. ที่มีปั๊ม ปตท. และปตท.-จิฟฟี่ รวมกันราว 1,600 แห่ง และแซงหน้า “บางจาก” ที่มีประมาณ 1,000 แห่ง โดยเดินหน้ารุกกลุ่มนอนออยล์ ทั้งร้านสะดวกซื้อ Max Mart และร้านกาแฟพันธุ์ไทย ซึ่งจะเปิดสาขาทั้งในปั๊มน้ำมันและตามทำเลต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย