ก่อนอื่นต้องทราบแบ็คกราวน์ดของช่อง one
ก่อน ช่อง one เป็นทีวีดิจิตอล ช่องหมายเลข 31
ที่ผ่านการประมูลช่องมาได้ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท
(ค่าสัมปทานมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ โดยปีแรกต้องจ่าย 50% ปีที่สองต้องจ่าย
30% และปีที่สามต้องจ่ายที่เหลือ 20%) ยังไม่นับค่าเช่าคลื่นสัญญาณเครือข่าย
ซึ่งต้องจ่ายอีกเป็นรายเดือนนับล้านกว่าบาท ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่
ยังไม่นับต้นทุนผันแปร คือบรรดาค่าจ้างเงินเดือนพนักงาน ต้นทุนการผลิตรายการ บริษัทถูกประมูลและบริหารงานโดยบริษัทวันเอ็นเตอร์ไพร์ซ
ซึ่งมีบริษัทแม่ GMM grammy ถือหุ้นอยู่ด้วย
และมีประธานบริหารบริษัทคือคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ (ซึ่งแต่เดิมก็บริหารงานบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์,บริษัทซีนาริโอ้
จำกัด ในเครือแกรมมี่อยู่ก่อนแล้ว) จุดแข็งเดิมของคุณบอย ถกลเกียรติ
ก็คือเป็นบริษัทรับจ้างผลิตละคร,ผลิตรายการทีวอื่นๆ ป้อนฟรีทีวีในอดีตมาก่อน
(ทั้งช่อง 3,5,7,9) และเคยรับสัมปทานผลิตละคร,รายการทีวีอื่นๆ ป้อนให้กับช่อง
5 โดยข้อตกลงก็คือบริหารเวลาเอง หารายได้ หาโฆษณาเอง
ในช่วงเวลาที่ได้รับสัมปทานจากช่อง 5 ทำให้มีประสบการณ์ทั้งในแง่ผู้ผลิตรายการ
และในแง่การบริหารงานสื่อทีวี นอกจากนั้นบริษัทเอ็กซ์แซ็กท์
ซึ่งเป็นบริษัทหัวหอกเดิมของกลุ่มคุณบอย
ยังเชี่ยวชาญการผลิตละครทุกรูปแบบทั้งละครดราม่าหลังข่าว,ละครซีรี่ส์ขนาดสั้น-ยาว,ละครซิทคอม รายการเกมส์โชว์, รายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังอย่าง The
Star,รายการรูปแบบโชว์ จัดคอนเสริ์ต โชว์บนเวทีประกวดนางงาม,
หรือแม้กระทั่งละครเวที (ปัจจุบันเป็นผู้นำทางด้านผู้ผลิตละครเวทีของบ้านเรา)
อีกทั้งมีโรงละครเป็นของตนเอง (รัชดาลัยเธียเตอร์)
มีโรงถ่ายละครขนาดใหญ่และครบวงจรที่ลาดหลุมแก้ว (โรงถ่ายละคร Acts Studio) มีดาราหรือนักแสดงที่เป็นสังกัดของตนเองอยู่ประมาณนึง ที่สามารถนำมาใช้ในงานผลิตละคร
เหล่านี้คือจุดแข็งโดยรวมของช่อง one ในปัจจุบัน
ช่อง ONE เปิดสถานีอย่างเป็นทางการก็คือ
1 เมษายน 2557 (ไม่นับช่วงทดลองออกอากาศก่อนหน้านั้น
ซึ่งก่อนหน้านั้น เป็นการทดลองออกอากาศในระบบดาวเทียม ผ่านกล่อง GMMZ) ช่วงแรกในปี 2557 ยังไม่มีการผลิตรายการข่าว
หรือยังไม่ผลิตละครโทรทัศน์ชุดใหม่มาลง แต่จะเป็นการนำละครเก่าๆ มารีรัน ผสมกับรายการโทรทัศน์ที่ผลิตขึ้นเอง
คอนเสิร์ตเก่าๆ ของศิลปินแกรมมี่ รายการดังๆจากช่อง acts channel (ซึ่งเป็นช่องรายการอยู่ในระบบดาวเทียมเดิม) มาฉาย และพอเข้าสู่ปีใหม่ 2558
จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีรายการใหม่ๆ มีรายการข่าวและทีมข่าวประจำตามช่วงเวลา
และมีการผลิตละครใหม่ๆ ลงในช่วงไพร์มไทม์เหมือนช่องทีวีหลักๆ ในช่วงต้นปี 2558-กลางปี 2559 เรตติ้งของช่อง one ยังเกาะกลุ่มอยู่ในแถวๆ 0.3-0.5 ปลายๆ อยู่ในอันดับที่ 6-8 ในตารางเรตติ้งช่องที่มีเรตติ้งสูงสุด
ขึ้นๆ ลงๆ อยู่แถวๆ นี้ จนมาในช่วงต้นปี 2559 ที่เรตติ้งคงที่อยู่ในอันดับ
6 ค่อนข้างสม่ำเสมอ จนมาเมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่เรตติ้งมีการขยับสับเปลี่ยนขึ้นมาอยู่อันดับ 5 (เรตติ้งช่อง
ONE เริ่มขยับมาอยู่อันดับ 5 โดยเรตติ้งเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่
0.582 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 59 และมาพีคสุดขึ้นไปถึง
0.771 ในเดือนสิงหาคม 59 ขึ้นไปอยู่อันดับ
4 ของตารางหัวแถว แซงช่อง Mono29 และช่อง
8 ที่เคยอยู่อันดับ 4,5 มาก่อน
อย่างมีนัยสำคัญ)
จะนำเข้าสู่ประเด็นว่าช่อง one
ทำอะไรบ้าง ที่ทำให้เรตติ้งของช่องตนเองขยับขึ้นมาใกล้สู่เป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
คุณบอยเคยให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายของช่อง one คือต้องการทำเรตติ้งช่องให้ได้สู่ระดับเลข
1 ขึ้นไป เพื่อฐานของรายได้คือค่าโฆษณาจะได้ปรับขึ้น
เมื่อเรตติ้งสูงขึ้น รายได้จะขยับตาม เพื่อเป้าหมายแรกคือให้ช่องอยู่ได้
อยู่รอดก่อน และเป้าถัดไปคือต้องการเป็นเบอร์ 1 ของช่องทีวีดิจิตอลใหม่ทั้งหมด
นั่นหมายความว่าต้องไปเบียดกับช่องเวิร์คพ้อยท์ ที่ครองบัลลังก์อยู่ในอันดับ 3
ในตารางหัวแถวของช่องเรตติ้งสูงอย่างไม่ต้องสงสัย และจะต้องทำอย่างไรเพื่อโค่นและแซงเวิร์คพ้อยท์ขึ้นไปอยู่ที่
3 แทน นั่นคือโจทย์ที่คุณบอยกำลังคิด และหากลยุทธ์อยู่
โปรดติดตามตอนต่อไป
ที่เราจะไปวิเคราะห์กันว่า 1 ปีที่ผ่านมาคุณบอยทำอะไรกับช่อง
one บ้าง เรตติ้งถึงพุ่งขึ้นมาได้
และหลังจากนี้ในไตรมาสสุดท้ายของปี คือไตรมาส 4/59 จะทำอย่างไรจึงจะรักษาสถานะของช่องอันดับ
4 เอาไว้ได้อย่างเสถียรและมั่นคง
นี่คือโจทย์ที่ท้าทายผู้บริหารคนเก่งอย่างคุณบอย ณ เวลานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น