วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

โลก 360 องศา - (สลดผู้ช่วยนักบินเยอรมันวิงส์ตั้งใจบังคับเครื่องบินโหม่งโลก,ซาอุร่วมพันธมิตรนำกองกำลังบุกเยเมน,ทั่วโลกไว้อาลัยลีกวนยูผู้สร้างชาติสิงคโปร์,นายกตูนิเซียสั่งปลดตำรวจเซ่นเหตุยิงกราดพิพิธภัณฑ์,รัสเซียขู่จะยิงมิสไซด์ติดหัวรบนิวเคลียร์หากเดนมาร์กเข้าร่วมนาโต้,สหรัฐเล่นบทพระเอกเชิญ AIIB มาเป็นพันธมิตรกับ IMF,ADB,World Bank)


นับตั้งแต่นาทีที่อัยการฝรั่งเศส แถลงข่าวสุดช็อก ทำให้ชาวโลกต้องตกตะลึง นายแอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินผู้ช่วยชาวเยอรมัน ของสายการบินเยอรมันวิงส์​ มีความจงใจ หรือมีเจตนา บังคับเครื่องบินโดยสาร เที่ยวบิน 4U 9525 พุ่งชนเทือกเขาแอลป์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตหมดทั้งลำ 150 ศพ คำถามที่ดังกระหึ่มตามมา ก็คือ นายแอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินหนุ่มชาวเยอรมัน คนนี้คือใคร ? และเพราะสาเหตุใด ที่ทำให้ ลูบิตซ์ นักบินหนุ่ม อายุเพียง 28 ปี จึงก่อโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญถึงขนาดนี้?  ข้อมูลจากกล่องดำ ที่พบในบริเวณเครื่องบินตก บ่งชี้ว่า ลูบิตซ์ ได้ฉวยโอกาสตอนกัปตันลุกเดินออกจากห้องนักบินไปทำธุระส่วนตัว รีบล็อกประตู และไม่ยอมให้กัปตันเข้ามาในห้องได้อีก ในช่วงก่อนเครื่องบินตก อีกทั้งข้อมูลจากเครื่องรับส่งเรดาร์ ยังแจ้งว่า มีคนในห้องนักบินตั้งระบบ ออโตไพลอตหรือระบบขับเคลื่อนเครื่องบินโดยอัตโนมัติ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโปรแกรม ปรับระดับเพดานบินใหม่ จาก 38,000 ฟุต ให้เหลือเพียง 100 ฟุต!  เรียกว่า รายงานดังกล่าวสนับสนุนคำแถลงอัยการฝรั่งเศสให้มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก ว่า นายลูบิตซ์ จงใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขาแอลป์ ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ พาดหัวข่าวนี้ ว่า ตั้งโปรแกรมสังหารเลยทีเดียว ทำไม หรือเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ ลูบิตซ์ ลงมือก่อหายนะร้ายแรงครั้งนี้ !! ทั้งที่เมื่อพลิกดูประวัติของเขาแล้ว อาชีพนักบิน ถือเป็นอาชีพที่ลูบิตซ์ใฝ่ฝันอยากจะเป็น สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ลูบิตซ์ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมเครื่องร่อน ‘LSC Waterwald e.V.’ ที่เมืองมอนตาบอร์ บ้านเกิด ทางตะวันตกของเยอรมนี มาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย วัยเพียง 14 ก่อนจะมุ่งมั่นเดินตามความฝันของตนเอง ด้วยการเป็น นักบินอาชีพ  ขณะที่ ตามคำบอกเล่าของเพื่อนสนิทมิตรสหาย และเพื่อนบ้าน ของลูบิตซ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นักบินผู้ช่วยหนุ่มคนนี้ เป็นคนเงียบๆ แต่ก็มีความสนุกสาน และเขาก็มีความสุขจากการทำงานเป็นนักบินมาก  โดยเพื่อนบ้านยังเล่าว่า ลูบิตซ์ยังชอบวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นชีวิตจิตใจ และพวกเขามักเห็นลูบิตซ์ วิ่งจ๊อกกิ้งกันเป็นประจำ  ส่วนด้านการเรียน ลูบิตซ์จบระดับมัธยมปลายเมื่อปี 2550 และปีต่อมา เขาก็เข้าเรียนฝึกหัดเป็นนักบินกับโรงเรียนสอนการบินของบริษัทลุฟต์ฮันซา เพียงแต่จากคำแถลงของนายคาร์สเทน สปอห์ร ซีอีโอของบริษัทลุฟต์ฮันซา ซึ่งเป็น บริษัทแม่ของสายการบินเยอรมันวิงส์ บอกว่า ลูบิตซ์หยุดพักการเรียนหลายเดือน เมื่อ 6 ปีก่อน แต่เขาก็กลับมาเข้าเรียนการบินอีกครั้ง และสามารถเรียนจนจบตามหลักสูตร ขณะที่นสพ.แทบบลอยด์ เยอรมนีรายงานอ้างคำบอกเล่าของเพื่อนนักบินว่า นายลูบิตซ์ เคยเข้ารับการรักษาอาการของโรค Burn-Out Syndrome หรือความเครียดที่เกิดจากภาวะคาดหวังเกี่ยวกับตัวเองสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนไม่เพียงพอ สมองไม่แล่น นอนไม่หลับ และทำให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงตามรายงานของเยอรมัน นิวส์ เว็บไซต์ สปีเกล ระบุว่า ลูบิตซ์ ได้เข้ามาทำงานกับสายการบินเยอรมันวิงส์ เมื่อเดือนก.ย. 2556 เริ่มจากการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ต่อมาได้ทำหน้าที่คอยมอนิเตอร์ หรือติดตามดูอุปกรณ์ต่างๆ ตามด้วย การติดต่อสื่อสารกับหอควบคุมการบิน กระทั่งได้เป็นนักบินผู้ช่วย โดยจะคอยช่วยกัปตันขับเครื่องบินในช่วงที่กัปตันพัก หรือรู้สึกไม่สบาย  บริษัทลุฟต์ฮันซ่า แจ้งว่า ลูบิตซ์ มีชั่วโมงบินรวม 630 ชั่วโมง ก่อนเที่ยวบิน 4U 9525 จะประสบเหตุตก ที่เชิงเทือกเขาแอลป์ หลังทะยานขึ้นจากสนามบินนานาชาติเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพื่อจะมุ่งหน้าไปยังเมืองดุสเซลดอร์ฟ ของเยอรมนี เมื่อ 24 มี.ค. ส่วน เจ้าหน้าที่ทางการเมืองดุสเซลดอร์ฟ เปิดเผยว่า ลูบิตซ์ได้เข้ารับการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา และผลการตรวจเช็กร่างกายก็ปกติแข็งแรงดี โดยซีอีโอบริษัทลุฟต์ฮันซา กล่าวว่า ลูบิตซ์แข็งแรงเต็ม 100 % ในการทำหน้าที่เป็นนักบินผู้ช่วยอย่างไรก็ดี ตามความเห็นของนาย คลาวส์ รัดคี สมาชิกชมรมเครื่องร่อน บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เขาเพิ่งเจอลูบิตซ์ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ซึ่งลูบิตซ์ ก็ยังบอกเล่าเกี่ยวกับอาชีพนักบินของเขาด้วยความกระตือรือร้น โดยตามความเห็นของนายรัดคี ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของอัยการฝรั่งเศส ที่บอกว่า ลูบิตซ์จงใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขาแอลป์!! ส่วน ปีเตอร์ รูซเคอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมเครื่องร่อนแห่งนี้มานาน ยืนยันเช่นกันว่า ลูบิตซ์ ยังดูมีความสุขมาก เมื่อเขาได้เจอครั้งล่าสุด ผมไม่รู้จะพูดอะไร ไม่รู้จะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แต่เท่าที่ผมรู้จัก แอนเดรียส การที่มีคนบอกว่า เขาจงใจทำลายเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องที่ผมนึกไม่ถึงนายรูซเคอร์ กล่าว  คงกล่าวได้ว่า สำหรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชมรมเครื่องร่อน ที่รู้จักกับลูบิตซ์มานาน ไม่เชื่อว่า นักบินผู้ช่วยหนุ่มผู้นี้ ตั้งใจทำให้เครื่องบินตก ตามที่นายไบรซ์ โรแบง อัยการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสอบสวนโศกนาฏกรรม 4U 9525  แถลง พร้อมกับชี้ว่า เบื้องต้น ไม่พบหลักฐานเบาะแสใดที่บ่งชี้ว่า ลูบิตซ์ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย เพียงแต่นายโรแบง ก็ปฏิเสธที่จะพูดเกี่ยวกับ ปูมหลังด้านการนับถือศาสนาของ  ลูบิตซ์ขณะที่นายสปอห์ร ซีอีโอของบริษัทลุฟต์ฮันซา ซึ่ง มีสีหน้าเศร้ามาหลายวัน กล่าวสั้นๆ ว่า เขา พูดไม่ออกเมื่อได้ยินคำแถลงของอัยการฝรั่งเศส และยังคงไม่สามารถเรียกหายนะครั้งนี้ ว่า เป็นการ ก่อการร้ายหรือ เป็นการ ฆ่าตัวตายของนักบินผู้ช่วยคนนี้ เพราะหากคนๆ เดียวคิดฆ่าตัวตายแล้วละก็ คงไม่ลากคนอื่นอีก 149 คนมาตายพร้อมเขาไปด้วยแน่ ภาพถ่ายของลูบิตซ์ ที่นั่งยิ้มอยู่ด้านหน้าสะพานโกลเดน เกต ในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเขานำมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถือเป็นรูปถ่ายภาพเดียวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ หลังเรื่องราวโศกนาฏกรรม เที่ยวบิน 4U 9525 พลิกกลับตาลปัตร อย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็น งานหนักของทีมสอบสวนที่ต้องพยายามหาหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ยืนยันว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจ หรือสาเหตุที่ทำให้ลูบิตซ์ ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง พร้อมกับยังทำให้ผู้โดยสาร และลูกเรืออีก 149 คน ต้องจากไปพร้อมกับเขาด้วยอย่างน่าสะเทือนใจเช่นนี้!!

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. อ้างข้อมูลจากรายงานของสถานีโทรทัศน์อัล-อารบียา ว่ากองทัพซาอุดีอาระเบียหารือกับกลุ่มพันธมิตรอาหรับหลายประเทศ เรื่องการระดมกำลังทหารสูงสุด 150,000 นาย และเครื่องบินรบอีก 100 ลำ เพื่อปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในเยเมน ในการปราบปรามและขับไล่กลุ่มกบฏฮูซี ซึ่งเป็นฝ่ายรุกรานรัฐบาลซานาที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย และพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่ชาวเยเมนด้วย รายงานของอัล-อารบียาระบุด้วยว่า อียิปต์ จอร์แดน ซูดาน ปากีสถาน โมร็อกโก จอร์แดน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน แสดงความพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลริยาดยังไม่ออกมายืนยันข่าวดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เว้นเรื่องการส่งเครื่องบินรบเข้าไปเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายหลายจุดในกรุงซานา และฐานทัพสำคัญในเยเมนตั้งแต่คืนวันพุธ เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ศพ  ขณะที่ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน แสดงความสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในเยเมนที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ พร้อมกับเผยด้วยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา สั่งการโดยตรงให้กองทัพและหน่วยข่าวกรองมอบความช่วยเหลือให้แก่ซาอุดีอาระเบียอย่างเต็มที่ด้วย ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองสถานการณ์ความไม่สงบในเยเมนว่าคือ "สงครามตัวแทน" ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากกลุ่มกบฏฮูซีที่ยึดครองกรุงซานาตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้วนั้นมีแนวคิดทางการเมืองฝักใฝ่ในอิหร่าน ประเทศซึ่งมีสถานะเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลริยาดและอีกหลายประเทศในโลกอาหรับ ที่ให้การยอมรับประธานาธิบดีอาเบด รับโบห์ มานซูร์ ฮาดี ว่ายังมีสถานะเป็นผู้นำตามกฎหมายของเยเมน แม้เจ้าตัวลาออกจากตำแหน่งตามแรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มฮูซีแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ปฏิบัติการทางทหารของซาอุดีอาระเบียเป็นไปตามคำเตือนของรัฐบาลริยาดที่ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ว่า จะใช้ "มาตรการเด็ดขาด" หากสถานการณ์ในเยเมนไม่มีแนวโน้มยุติด้วยสันติวิธี

เอเจนซีส์ - สิงคโปร์อาลัย ลี กวนยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ในตอนก่อนรุ่งสางของวันจันทร์ (23 มี.ค.) ขณะที่ผู้นำทั่วโลกร่วมแสดงความเสียใจและสดุดีรัฐบุรุษที่ปลุกปั้นเกาะอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าโลก และเป็นแบบอย่างการพัฒนาสำหรับอีกหลายประเทศ ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์ติติงเขาที่ใช้การปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจและควบคุมความประพฤติของประชาชนราวกับเด็กที่ยังไม่โต “ไม่มีอีกแล้วบิดาผู้ก่อตั้งประเทศของเรา ท่านเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เรากล้าหาญและนำเรามาสู่จุดนี้ สำหรับชาวสิงคโปร์และผู้คนอีกมากมาย ลี กวนยูคือสิงคโปร์นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายคนโตของลี แถลงทางทีวี จากโรงพยาบาลสิงคโปร์ เจเนอรัล ที่ลี วัย 91 ปี พักรักษาตัวมานานหลายสัปดาห์จากโรคปอดบวมและอาการติดเชื้อ ทั้งนี้ตามคำแถลงของรัฐบาล เขาสิ้นชีวิตในเวลา 03.18 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 02.18 น.เวลาเมืองไทย) รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศไว้อาลัยลี ผู้เปลี่ยนเกาะเล็กๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรให้กลายเป็นเพลเยอร์ระดับโลกทั้งในด้านการเงิน การค้า ชิปปิ้ง และอุตสาหกรรมไฮเทค รวมเป็นเวลา 7 วันจนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ (29)  ขณะที่ผู้นำต่างประเทศอย่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวยกย่องลีที่ปกครองสิงคโปร์นานสามทศวรรษว่า เป็น ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงในประวัติศาสตร์  นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อของลี กวนยู ในฐานะผู้นำและหนึ่งในรัฐบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคสมัยใหม่ และว่า ผู้นำหลายคนของอังกฤษ รวมถึงตนเอง ล้วนได้รับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งจากลี การผสมผสานระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจและลัทธิอำนาจนิยมของลี ยังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างช่วงการเปิดประเทศในทศวรรษ 1980  ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยกย่องลีว่าเป็น สหายเก่าของชาวจีนและว่า ลีเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวางของนานาชาติในฐานะนักยุทธศาสตร์และรัฐบุรุษ  หลังจากข่าวอสัญกรรมของลีเผยแพร่ออกไป ชาวสิงคโปร์มากมายพากันนำดอกไม้และการ์ดไปวางที่อิสตานาหรือทำเนียบประธานาธิบดี และลงนามในสมุดไว้อาลัย พนักงานออฟฟิศหลายร้อยคนเข้าคิวซื้อหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ฉบับรำลึกอดีตผู้นำระหว่างช่วงพักกลางวัน  ที่ตลาดหลักทรัพย์ ข้อความ รำลึกถึงลี กวนยู 16 กันยายน 1923 ถึง 23 มีนาคม 2015" ถูกแทนที่สตรีมข่าวสารและราคาหุ้นบนหน้าจอขนาดใหญ่  ชาวสิงคโปร์บางคนตะโกนชื่อลี ขณะที่มีการเคลื่อนร่างนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ผู้นี้จากโรงพยาบาล เพื่อนำไปทำพิธีภายในครอบครัวเป็นเวลา 2 วัน ก่อนเคลื่อนย้ายสู่อาคารรัฐสภาเพื่อเปิดให้ประชาชนเคารพศพระหว่างวันที่ 25-28 โดยที่จะมีการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธีในวันอาทิตย์นี้ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่า จะมีผู้นำหลายสิบคนจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธี  ลี ที่สุขภาพแย่ลงนับจากกวา ก๊อก ชู ภรรยาที่ร่วมชีวิตกันมา 63 ปี เสียชีวิตในปี 2010 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมาเกือบ 7 สัปดาห์ด้วยอาการปอดอักเสบขั้นรุนแรง  เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปี 1959 เมื่ออังกฤษ เจ้าอาณานิคม มอบอำนาจในการปกครองตนเองให้ และนำสิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 1965 หลังจากผนึกรวมอย่างขมขื่นกับมาเลเซียเป็นช่วงเวลาสั้นๆ  ลีลงจากตำแหน่งในปี 1990 และส่งไม้ต่อให้รองนายกรัฐมนตรีโก๊ะ จก ตง ขึ้นบริหารประเทศแทนจนถึงปี 2004 จากนั้น โก๊ะจึงส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศกลับไปให้ลี เซียน ลุง บุตรชายคนโตของลี อย่างไรก็ดี ลี กวนยู ยังคงมีอิทธิพลในการเมืองสิงคโปร์เรื่อยมา โดยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และรัฐมนตรีที่ปรึกษา รวมทั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม  พรรคพีเพิลส์ แอ็กชัน ปาร์ตี้ (พีเอพี) ที่ลีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมก่อตั้งนั้น ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 1959 และเวลานี้ครองที่นั่งในสภา 80 จาก 87 ที่นั่ง  ลีอำลาบทบาทรัฐมนตรีที่ปรึกษาในปี 2011 หลังจากพีเอพีเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งครั้งรุนแรงที่สุด โดยได้คะแนนเสียงเพียง 60% เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้าประเทศ ค่าครองชีพพุ่งสูง ความแออัดในตัวเมือง และบ้านพักการเคหะไม่เพียงพอต่อความต้องการ  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สิงคโปร์ยังคงได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดในโลก สถิติอาชญากรรมต่ำ โครงสร้างพื้นฐานพรั่งพร้อมในระดับโลก  ในด้านการทูต ผู้นำทั่วโลก โดยเฉพาะจีน รวมถึงเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนติดต่อขอคำปรึกษาจากลีบ่อยครั้ง แม้ตลอดช่วงอายุขัย ลีได้รับการยกย่องจากนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาด แต่ขณะเดียวกัน แนวทางการเมืองแบบกำปั้นเหล็กของเขา ที่ครอบคลุมถึงการคุมขังศัตรูทางการเมือง การกดดันให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตนต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างแดน หรือล่มจมจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ก็ถูกวิจารณ์โดยนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศมาโดยตลอด กระนั้น ลี ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยืนยันแนวทางในการดำเนินกากับผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดของตน โดยบอกว่า ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ  สิงคโปร์นั้นควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างเคร่งครัด แม้จะผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีการลงโทษด้วยการเฆี่ยน และมีการควบคุมสื่อเข้มงวด กระทั่งติดอันดับที่ 150 ในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปีของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ต่ำกว่าอันดับของรัสเซียและซิมบับเว ด้วยซ้ำ  ในบรรดามาตรการเข้มงวดของสิงคโปร์นั้นมีอาทิ การห้ามผู้ชายไว้ผมยาวในทศวรรษ 1970 กระทั่งวงบีจีส์ และ เลด เซพพลิน ต้องยกเลิกการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในสิงคโปร์ ขณะที่การห้ามจำหน่ายหมากฝรั่งที่ยังคงบังคับใช้จนถึงวันนี้ และยังมีการลงโทษพวกพ่นสีตามผนังด้วยการเฆี่ยน  ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ประจำเอเชีย ยอมรับในมรดกทางเศรษฐกิจที่ลีทิ้งไว้ให้สิงคโปร์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า มรดกดังกล่าวต้องแลกด้วยต้นทุนสูงมากด้านสิทธิมนุษยชน และสำทับว่า นี่อาจถึงเวลาแล้วสำหรับ การเสวนาภายในประเทศเพื่อการเปิดเสรีทางการเมืองมากยิ่งขึ้น กระนั้น ในหนังสือเล่มสุดท้าย วัน แมนส์ วิว ออฟ เดอะ เวิลด์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ลีมองย้อนเส้นทางการเมืองของตนเองและสรุปว่า "สำหรับผม ผมได้ทำสิ่งที่ต้องการด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี และผมพอใจแล้ว

รอยเตอร์ - ฮาบิบ เอสซิด นายกรัฐมนตรีของตูนิเซีย สั่งปลดตำรวจระดับผู้บัญชาการ 6 นายรวดในวันจันทร์(23มี.ค.) ในนั้นรวมถึงหัวหน้ากองกำลังรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ตามหลังเหตุนักรบโจมตีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฆ่าชาวต่างชาติ 20 ศพเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่าในตำรวจ 6 นายดังกล่าว ยังรวมไปยังหัวหน้ากองพันข่าวกรอง ผู้บัญชาการตำรวจเขตตูนิส ผู้บัญชาการตำรวจจราจร หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของพิพธิภัณฑ์บาร์โด และผู้บัญชาการตำรวจเขตซิดี บาชีร์ ในเมืองหลวง "นายกรัฐมนตรีฮาบิน เอสซิด ลงพื้นที่พิพิธภัณฑ์บาร์โดเมื่อวานนี้ และหมายเอาไว้ว่า มีความล้มเหลวด้านความปลอดภัยหลายอย่างที่นั่น"  พวกนักรบลงมือสังหารหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 คน ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่น โปแลนด์ อิตาลีและสเปนเมื่อวันพุธที่แล้ว(18มี.ค.) ขณะที่พวกเขาเพิ่งลงจากรถบัส เพื่อเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบาร์โด ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอาคารรัฐสภาที่มีการรักษาการณ์อย่างแน่นหนา  เหตุการณ์นี้ถือเป็นการโจมตีชาวต่างชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษของตูนิเซีย และมันถือเป็นการทดสอบประชาธิปไตยวัยหนุ่มของชาติแอฟริกาเหนือแห่งนี้ 4 ปีหลังจากเหตุลุกฮือโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการนายซีเน เอล อาบีดิน เบน อาลี และเปิดทางให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี  สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่ามีตำรวจนายหนึ่งซึ่งประจำการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ถูกควบคุมตัวฐานละเลยหน้าที่ระหว่างเหตุโจมตี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันถึงการจับกุมดังกล่าว เหล่าแขกผู้ทรงเกียรติจากต่างชาติได้รับเชิญให้ไปยังกรุงตูนิสในวันอาทิตย์นี้ เข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านก่อการร้ายในแบบกับเมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเชิญพวกผู้นำโลกไปยังกรุงปารีส หลังจากเกิดเหตุพวกอิสลามิสต์โจมตีนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา  มือปืน 2 คนถูกวิสามัญฆาตกรรม ณ จุดเกิดเหตุและเจ้าหน้าที่เผยว่าพวกเขากำลังตามหาผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 โดยจนถึงตอนนี้ได้ควบคุมตัวประชาชนไว้มากกว่า 20 ราย ซึ่ง 10 ในนั้น เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุโจมตี ขณะที่บางส่วนเพิ่งเดินทางกลับจากไปสู้รบเคียงข้างกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ในซีเรีย อิรักและลิเบีย  นักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส) ที่กำลังสู้รบในอิรักและซีเรีย ออกมาอ้างว่าผู้สนับสนุนของพวกเขาเป็นผู้ปฏิบัติการโจมตี แม้ว่ากลุ่ม Okba Ibn Nafaa เครือข่ายท้องถิ่นของอัลกออิดะห์ ได้ออกมาเผยแพร่รายละเอียดและแสดงความเห็นต่อเหตุจู่โจมครั้งนี้เช่นกัน  เหตุโจมตีต่อเป้าหมายที่มีชื่อเสียงครั้งนี้ ได้ก่อความเสียหายแก่ประเทศเล็กๆในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ที่ต้องพึ่งพึงการท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมา ตูนิเซีย รอดพ้นจากเหตุความรุนแรงเลวร้ายจากฝีมือของพวกนักรบมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือของประชาชนโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบิดีน เบน อาลี เมื่อปี 2011  การลุกฮือของตูนิเซียได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติ อาหรับ สปริงในเหล่าชาติเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย อียิปต์ ซีเรียและเยเมน แต่ด้วยที่พวกเขารับเอารัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งอย่างสันติที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง สถานการณ์ในประเทศจึงมั่นคงต่างจากประเทศอื่นๆที่ดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิง อย่างไรก็ตามหลังจากอดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบิดีน ถูกโค่นอำนาจ พวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงหลายกลุ่มได้ปรากฎตัวขึ้น และนับตั้งแต่นั้นกองกำลังความมั่นคงก็ต้องตกอยู่ท่ามกลางการสุ้รบที่สาหัสมากขึ้นเรื่อยๆกับกลุ่มนักรบ ที่บางส่วนกลับจากไปฝึกฝนหรือทำศึกสงครามในต่างแดน  เจ้าหน้าที่บอกว่ามือปืน 2 คนของเหตุโจมตีพิพิธภัณฑ์บาร์โด ผ่านการฝึกที่ค่ายกลุ่มหัวรุนแรงในลิเบีย โดยพวกเขาเดินทางออกจากตูนิเซียเข้าไปลิเบียอย่างผิดกฎหมายในเดือนธันวาคมที่แล้วและไปฝึกการใช้อาวุธที่นั่น พร้อมยอมรับว่ามีชาวตูนิเซียกว่า 3,000คนเข้าไปในอิรัก ซีเรียและลิเบีย เพื่อต่อสู้ร่วมกับนักรบญิฮัด ซึ่งก่อความหวาดผวาว่าพวกหัวรุนแรงเหล่านี้จะเดินทางกลับมาพร้อมกับแผนก่อการร้ายในประเทศ

รอยเตอร์ รัสเซียขู่ที่จะใช้มิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์จัดการเรือรบเดนมาร์ก หากรัฐบาลเดนมาร์กตัดสินใจเข้าร่วมระบบการป้องกันมิสไซล์ขององค์การนาโต ซึ่งทางเดนมาร์กวิจารณ์ว่า การข่มขู่ครั้งนี้รับไม่ได้ ในขณะที่นาโตกล่าวว่า การแถลงของรัสเซียนั้นไม่ได้ทำให้มีสันติภาพเกิดขึ้น เดนมาร์กได้เคยประกาศในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า จะติดตั้งระบบเรดาร์บนเรือรบของตนเพื่อศักยภาพของระบบป้องกันมิสไซล์ ซึ่งพันธมิตรชาติตะวันตกกล่าวว่า เป็นระบบที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสมาชิกจากประเทศอริ เช่น อิหร่าน  แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้ว่า มอสโกได้ต่อต้านแนวความคิดนี้ โดยอ้างว่า ระบบป้องกันมิสไซล์ของโลกตะวันตกจะทำให้ศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียลดลง และนำไปสู่ยุคสงครามเย็นครั้งใหม่ที่ทำให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธมากขึ้น  ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten เอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์ก มิคาอิล วานิน ( Mikhail Vanin) กล่าวว่า ดูเหมือนเดนมาร์กจะยังไม่เข้าใจถึงผลที่จะตามมาหากเข้าร่วมระบบการป้องกันมิสไซล์ของนาโต ซึ่งหากเหตุการณ์นั้นเกิดชึ้นจริง เรือรบทุกลำของเดนมาร์กจะเป็นเป้าของอาวุธมิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซียทันทีวานินให้ความเห็น  ด้าน Oana Lungescu โฆษกหญิงนาโตกล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เดนมาร์กถือเป็นชาติพันธมิตรสมาชิกที่ทุ่มเท และนาโตจะปกป้องพันธมิตรจากภัยคุกคามทุกประเภท ทางเราได้ประกาศแน่ชัดก่อนหน้านี้แล้วว่า ระบบป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศไม่ได้มีเป้าหมายที่รัสเซีย หรือ ประเทศใด แต่มีไว้เพื่อป้องกันภัยจากขีปนาวุธ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้น นานแล้ว แต่ทว่าเราแปลกใจในระยะเวลาที่ประจวบเหมาะ ท่าที ตลอดจนโทนเสียง ของแถลงการณ์ของเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์ก ซึ่งแถลงการณ์เช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจ หรือนำไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดสันติภาพ หรือความมั่นคงโฆษกนาโตแถลง ทั้งนี้ยังไม่มีมิสไซล์ติดตั้งในดินแดนเดนมาร์กภายใต้โครงการของนาโต แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการติดตั้งบนเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก หนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten รายงานเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์กให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เดนมาร์กจะเป็นหนึ่งในปรปักษ์ของรัสเซีย และจะส่งผลทำให้ไม่มีความสงบสุข และจะส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติและยังเสริมว่า รัสเซียยังมีขีปนาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างระบบป้องกันภัยทางอากาศในอนาคตขององค์การนาโต ในขณะที่มาร์ติน ลินเดอร์การด (Martin Lidegaard) รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์กชี้ว่า การให้สัมภาษณ์ของวานิน นั้นรับไม่ได้ รัสซียทราบเป็นอย่างดีว่าระบบป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศของนาโตนั้นไม่ได้มีเป้าเล็งไปที่รัสเซียลินเดอร์การดให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten  ด้านพลเรือเอกฟิลิป บรีดเลิฟ ( Philip Breedlove) ผู้บัญชาการระดับสูงของนาโต และกองกำลังสหรัฐฯประจำนาโต กล่าวในที่ประชุมบรัสเซลส์เมื่อวานนี้(22) ว่า การให้สัมภาษณ์ของเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์กนั้น ถือเป็นก้าวต่อไปในการต่อต้านประเทศใดก็ตามที่จะเข้าร่วมโครงการป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศนาโต

รอยเตอร์ สหรัฐฯ เสนอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จีนริเริ่มหันมาร่วมมือกับสถาบันการเงินของตะวันตก เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ดีกว่าจะมุ่งเป็น คู่แข่งกัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิล รายงานเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) สหรัฐฯ ซึ่งหวั่นวิตกกับการขยายอิทธิพลทางการทูตของจีน เคยออกมาเตือนให้ทุกประเทศ คิดให้รอบคอบก่อนจะร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIIB) ซึ่งเชื่อว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับเวิลด์แบงก์ และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต่อไปในอนาคต แต่ถึงสหรัฐฯ จะพยายามปลุกความเคลือบแคลงสงสัยแค่ไหน อังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมกับเอไอไอบีแล้วเมื่อต้นเดือนนี้ ส่วนฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ก็ตบเท้าตามไปติดๆ โหลว จี้เหว่ย รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจีน แถลงเมื่อวานนี้ (22)ว่า เอไอไอบีซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มี 27 ประเทศแสดงความจำนงร่วมเป็นสมาชิกแล้ว และจะสามารถปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาได้ภายในสิ้นปีนี้ จากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์เนิล นาธาน ชีทส์ ปลัดกระกระทรวงการคลังสหรัฐฯฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ระบุว่า สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับสถาบันการเงินพหุภาคีแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างระบบการเงินโลก”  อย่างไรก็ดี ชีทส์ ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีทว่า จะเป็นการดียิ่งกว่าหากเอไอไอบีลงทุนปล่อยกู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น เวิลด์แบงก์ หรือเอดีบี เพราะจะทำให้ธนาคารแห่งใหม่มีบทบาท เติมเต็มมากกว่าจะมาแข่งขันกับสถาบันการเงินที่มีอยู่ก่อน  ทั้งนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานชิ้นนี้  ด้าน จิม ยัง คิม ประธานเวิลด์แบงก์ เผยวานนี้ (22)ว่า ขณะนี้เวิลด์แบงก์กำลังหารือร่วมกับเอไอไอบี ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดได้อย่างไรบ้าง... เราปรารถนาที่จะแบ่งปันความรู้ และร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ทั่วเอเชีย  ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงสงวนท่าทีไม่สมัครเข้าร่วมเอไอไอบีในขณะนี้  ผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และเอดีบี ได้แถลงต่อเวทีเสวนาด้านนโยบายการเงินที่กรุงปักกิ่งวานนี้ (22)ว่า พวกเขากำลังหารือ และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับเอไอไอบีต่อไปในอนาคต ธนาคารเอไอไอบีเปิดตัวขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้งในด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น


เอเจนซีส์-กลุ่มกบฏ คอบร้าในซูดานใต้ปล่อยตัว ทหารเด็ก” 250 คน ซึ่งรวมถึงเด็กหญิงที่มีอายุเพียง 9 ปีเป็นอิสระและมีแผนปล่อยตัวนักรบรุ่นเยาว์ของตนเพิ่มเติมอีก 400 คนใน 48 ชั่วโมงข้างหน้าตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาล ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของ องค์การยูนิเซฟในวันอาทิตย์ (22 มี.ค.)อย่างไรก็ดี ปัญหาการบังคับหรือจับเด็กมาเป็นทหารยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าจบสิ้นในซูดานใต้ เนื่องจากคาดว่ามีทหารเด็กกว่า 12,000 คนยังคงทำการสู้รบอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศนี้ ที่ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2013 หลังจากที่ประธานาธิบดีซัลวา คิอีร์กล่าวหาและสั่งปลดรองประธานาธิบดีรีค มาชาร์ ด้วยข้อหาพยายามก่อรัฐประหาร ส่งผลให้ผู้สนับสนุนของทั้งสองจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน ทั้งนี้ สงครามกลางเมืองซูดานใต้ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับหมื่นราย ขณะที่ประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนต้องอพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนของตน และอีกกว่า 4 ล้านคนต้องเผชิญภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารขั้นเลวร้าย  ที่ผ่านมา แม้ซูดานใต้จะมีการบังคับใช้กฎหมายเมื่อปี 2008 ว่าด้วยการห้ามใช้ทหารที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในการสู้รบ แต่องค์การยูนิเซฟ ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิเด็กหลายแห่งต่างกล่าวหาทั้งรัฐบาลและฝ่ายกบฏในซูดานใต้ ถึงการบังคับเด็กให้ทำการสู้รบในสงครามกลางเมืองทั้งสิ้น

เอเอฟพี - กบฏฮูตีและพรรคพวก ได้บุกยึดสนามบินที่เมืองทาเอสในวันอาทิตย์ (22 มี.ค.) จากฝ่ายกองกำลังท้องถิ่นที่ถักดีต่อผู้นำเยเมน  ทาเอส เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของเยเมน อยู่ระหว่างกรุงซานาซึ่งถูกพวกกบฏฮูตีบุกยึดไปเมื่อเดือนกันยายน กับเมืองเอเดนทางตอนใต้ ที่ประธานาธิบดีอับดี รับบูห์ มานซูร์ ฮาดี หนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ การเข้ายึดเมืองทาเอส ทำให้ฝ่ายกบฏฮูตีและกองกำลังที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ สามารถกระชับพื้นที่บีบรัดเข้ามาใกล้ฮาดีได้มากขึ้น  แหล่งข่าวระบุว่า นักรบของกบฏฮูตีที่สวมเครื่องแบบกองทัพ กับพวกกองกำลังพิเศษ รวมกันประมาณ 300 นาย ได้ถูกส่งมายังสนามบินดังกล่าว ขณะที่กำลังหนุนทั้งทางบกและทางอากาศจากกรุงซานาก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง  กองกำลังพิเศษที่เป็นพวกเดียวกับกบฏฮูตี ก่อนหน้านี้พวกเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อกองกำลังความมั่นคงกลาง ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับอดีตผู้นำซาเลห์ ผู้ถูกโค่นลงจากอำนาจในปี 2012  "ทหารพวกนี้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซาเลห์" แหล่งข่าวทางทหารบอกกับเอเอฟพี  แหล่งข่าวบอกอีกว่า กบฏฮูตียังได้ส่งคนออกตรวจการณ์ในละแวกใกล้เคียงกับเมือง พร้อมทั้งขยายพื้นที่ลงมาทางใต้ โดยมีการตั้งจุดตรวจไว้ในราเฮดา ห่างจากเมืองทาเอสลงมาทางใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปเมืองเอเดน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทหารที่ภักดีต่อประธานาธิบดีฮาดี กับกองกำลังกึ่งทหารทางตอนใต้ของประเทศ ได้ถูกจัดส่งไปยังเขตพื้นที่ลาห์จ ซึ่งอยู่ทางเหนือของเอเดน ไปคอยระวังภัยเผื่อในกรณีที่พวกกบฏฮูตีบุกมา  ฮาดีได้พยายามที่จะสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเอเดน เมืองที่เขาประกาศให้เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของประเทศเยเมน หลังจากที่เขาได้ยกเลิกการลาออกจากตำแหน่งที่ต้องทำไปเพราะถูกพวกกบฏฮูตีบีบบังคับ  เมื่อวันพฤหัสบดี กองกำลังฝ่ายฮาดี ได้บุกฐานในเมืองเอเดนของพวกกองกำลังพิเศษ หลังจากผู้บังคับการประจำฐานนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับคำสั่งของฮาดี ที่จะปลดเขาออกจากตำแหน่ง  ก่อนหน้านี้ มีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้งที่มุ่งเป้าไปยังมัสยิดของฝ่ายกบฏฮูตีในกรุงซานา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 142 ราย บาดเจ็บ 351 ราย การโจมตีดังกล่าวถูกอ้างว่าเป็นฝีมือของพวกนักรบญฮัดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
  
เอเจนซีส์-สหประชาชาติออกโรงเตือนผ่านรายงานฉบับล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่ที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย โดยระบุ พื้นที่กว่าร้อยละ 40 ของโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี 2030 หรือ 15 ปีข้างหน้า หากผู้คนในประเทศต่างๆยังไม่รู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างสำคัญ  รายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นระบุว่า ขณะนี้ปริมาณของแหล่งน้ำใต้ดินทั่วโลกได้ลดต่ำลงและเหลือน้อย ขณะที่หลายพื้นที่ของโลกต่างประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรงทั้งในแง่ของการใช้น้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการใช้น้ำในชีวิตประจำวันตามบ้านเรือน  รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 55 ภายในปี 2050 แต่หากพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้คนทั่วโลกยังดำเนินต่อไปเช่นทุกวันนี้ โลกของเราก็จะเหลือน้ำเพียงพอใช้เพียงร้อยละ 60 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมดภายใน 15 ปีจากนี้ หรือในปี 2030  ทั้งนี้ รายงานระบุด้วยว่า การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความไม่ยั่งยืน ตลอดจนความไร้จิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำของโลกเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาดที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 748 ล้านคนในเวลานี้     

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ยุทธจักรนักการเมือง ตอน ลำนำเพลงดาบ (3) อาบโลหิต พิชิตบัลลังก์ จากถัง สู่ชิง ตอนที่ 3


ซ่งเหนือ (ปีค.ศ. 960 – 1127)

การถือกำเนิดขึ้นของราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋)ได้ยุติสภาพแตกแยกของบ้านเมืองภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ถัง แม้ว่าแผ่นดินจีนในยุคนี้ จะตกอยู่ในภาวะตั้งรับภัยคุกคามจากกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือ อาทิ แคว้นเหลียว จิน และซีเซี่ย ที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่บ้านเมืองโดยรวมยังมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้าและศิลปวิทยาการ โดยครึ่งหนึ่งของสี่สุดยอดสิ่งประดิษฐ์จีนได้รับการพัฒนาจนเป็นที่แพร่หลายในยุคนี้ อีกทั้งยังเป็นยุคทองของภาพวาดและวรรณคดีจีนอีกด้วย  อนึ่ง นักประวัติศาสตร์จีนได้แบ่งราชวงศ์ซ่ง(ปี 960 – 1279) ออกเป็นสองยุคสมัย ตอนต้นได้แก่ ยุคซ่งเหนือ (960 – 1127) นครหลวงอยู่ที่เมืองไคเฟิง และตอนปลาย คือ ยุคซ่งใต้ (1127 – 1279) ย้ายนครหลวงมายังเมืองหลิงอัน (ปัจจุบันคือเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง) ภายหลังจากทัพจินบุกเข้าทำลายเมืองหลวงไคเฟิงจนเสียหายอย่างหนัก

 
 
ซ่งรวมแผ่นดิน

แผ่นดินภาคกลาง ภายหลังโจวซื่อจง(周世宗)แห่งราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้น(ราชวงศ์สุดท้ายในห้าราชวงศ์) ภายในราชสำนักอยู่ในภาวะตึงเครียด ภายนอกเผชิญภัยคุกคามจากทัพเหลียว ปี 960 เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่เฉินเฉียว เจ้าควงอิ้น赵匡胤)ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาวังหลวง บัญชาการกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทัพใต้ร่มธง บีบให้โจวก้งตี้(周恭帝)วัยเจ็ดขวบสละราชย์ จากนั้นสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นแทนที่โฮ่วโจว นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เป่ยซ่งหรือซ่งเหนือ(北宋) ซ่งไท่จู่(宋太祖)เจ้าควงอิ้นขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็จัด งานเลี้ยงสุราปลดอาวุธสลายกำลังของนายทหารกลุ่มต่างๆที่สนับสนุนตนขึ้นสู่บัลลังก์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ขึ้นได้อีก ทั้งเล็งเห็นว่าการที่นายทัพคุมกำลังทหารไว้ ย่อมจะมีอำนาจพลิกฟ้าอยู่ในมือ ซ่งไท่จู่จึงใช้วิธีการเดียวกันในการโอนถ่ายอำนาจทางทหารของแม่ทัพรักษาชายแดนเข้าสู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ เพื่อลิดรอนอำนาจขุนนางที่อาจส่งผลคุกคามต่อราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า จึงออกกฎระเบียบใหม่ ให้มีเพียงขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชกิจ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขุนนางเป็นเพียงผู้รับไปปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะข้อราชการดังเช่นแต่ก่อน นับแต่นั้นมา อำนาจเด็ดขาดทั้งมวลจึงตกอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว  เวลานั้น รอบข้างยังประกอบด้วยแว่นแคว้นต่างๆ สืบเนื่องมาจากสมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น อาทิ โฮ่วสู(后蜀) หนันฮั่น(南汉)หนันถัง(南唐)อู๋เยว่(吴越)เป่ยฮั่น(北汉)เป็นต้น ดังนั้นภารกิจสำคัญของเจ้าควงอิ้นจึงได้แก่ การเปิดศึกรวมแผ่นดิน ทัพซ่งมุ่งลงใต้ ทยอยรวบรวมดินแดนภาคใต้กลับมาอีกครั้ง หลังจากปราบแคว้นหนันถังอันเข้มแข็งได้สำเร็จในปี 974 แว่นแคว้นที่เหลือต่างทยอยเข้าสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ซ่ง ปลายรัชกาล เจ้าควงอิ้นหันทัพมุ่งขึ้นเหนือ หวังรวมแคว้นเป่ยฮั่นที่หลงเหลือเพียงหนึ่งเดียว แต่แล้วสิ้นพระชนม์ลงระหว่างการศึกภาคเหนือในปี 976  ซ่งไท่จง(宋太宗)เจ้ากวงอี้赵光义)(ปี 976 – 997) ที่เป็นน้องชายขึ้นสืบราชบัลลังก์ สานต่อปณิธานรวมแผ่นดิน โดยรวมแคว้นเป่ยฮั่นสำเร็จในปี 979 จากนั้นพยายามติดตามทวงคืนดินแดนที่เคยเสียให้กับเหลียว (ปักกิ่งและต้าถง) กองทัพซ่งเหนือเปิดศึกกับเหลียวหลายครั้ง ขณะที่แคว้นเหลียวก็หาโอกาสรุกลงใต้ กลายเป็นสภาพการเผชิญหน้ากัน จวบกระทั่งปี 1004 ล่วงเข้ารัชกาลซ่งเจินจง(宋真宗)ซ่งเหนือกับเหลียวบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉานหยวน (澶渊之盟)สงครามอันยาวนานจึงยุติลง

เปิดศึกกับซีเซี่ย (西夏)

ปลายรัชกาลซ่งไท่จงเจ้ากวงอี้ ชนเผ่าตั่งเซี่ยง(党项)ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเริ่มมีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น หันไปสวามิภักดิ์กับแคว้นเหลียว ราชสำนักซ่งจึงสั่งปิดชายแดนตัดขาดการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ทำให้เกิดธุรกิจค้าเกลือเถื่อน และการปล้นสะดมสินค้าในบริเวณใกล้เคียง สองฝ่ายปะทะกันหลายครั้งแต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ ต่อเมื่อ ปี 1006 ภายหลังซ่งทำสัญญาสงบศึกกับเหลียว จึงหันมาผูกมิตรกับซ่งเหนือ เปิดการค้าชายแดนตามปกติ  จวบกระทั่งปี 1038 หลี่หยวนเฮ่า(李元昊)ผู้นำคนใหม่ในเวลานั้น สถาปนาแคว้นซี่เซี่ย(西夏)ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ที่เมืองซิ่งโจว (ปัจจุบันคือเมืองอิ๋นชวน มณฑลหนิงเซี่ย) ซีเซี่ยฉีกสัญญาพันธมิตรที่มีมากว่า 30 ปี เริ่มรุกรานเข้าดินแดนภาคตะวันตกของซ่งเหนือ ขณะที่กองทัพซ่งเหนือพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากสงบศึกแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม เมื่อทำศึกเป็นเวลานาน การค้าที่เคยมีต้องประสบกับความเสียหาย ซีเซี่ยกลับเป็นฝ่ายเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สุดท้าย ซีเซี่ยจึงยอมเจรจาสงบศึก โดยซี่เซี่ยยอม สวามิภักดิ์กับราชสำนักซ่ง ขณะที่ซ่ง พระราชทานผ้าไหมแพรพรรณ เงินทองและชาให้กับซีเซี่ย สองฝ่ายต่างรื้อฟื้นเส้นทางค้าขายระหว่างกันดังเดิม

พลิกโฉมการปกครองภายใน

เจ้าควงอิ้นและเจ้ากวงอี้สองพี่น้องที่ได้ผ่านพบความวุ่นวุ่นวายแตกแยกของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก อีกทั้งประสบการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของตน ทราบว่า เป็นเพราะเหล่าขุนศึกมีทั้งกำลังทหารและกำลังทรัพย์อยู่ในมือ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนอำนาจของเหล่าแม่ทัพรักษาชายแดน ราชสำนักได้จัดส่งขุนนางฝ่ายบุ๋นออกไปทำหน้าที่ปกครองในส่วนท้องถิ่นโดยตรง มีการคัดเลือกทหารฝีมือดีจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่กองกำลังรักษาวังหลวง ทั้งให้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งประจำการทุกสามปี ส่วนด้านการเงิน ก็กำหนดให้รายรับรายจ่ายของท้องถิ่น(ภาษี เงินปี เบี้ยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ต้องจัดรวบรวมและแจกจ่ายจากส่วนกลาง  การปฏิรูปดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองส่วนกลางให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไม่มียุคใดเทียบได้ พร้อมกับได้สลายขุมกำลังท้องถิ่นลงอย่างราบคาบ ตลอดราชวงศ์ไม่มีขุมกำลังอื่นใดในแผ่นดินสามารถท้าทายราชอำนาจของกษัตริย์ได้อีก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กองทัพอ่อนแอลง ทำให้ราชสำนักซ่งต้องตกเป็นฝ่าย ตั้งรับในยุคสมัยที่รอบข้างเต็มไปด้วยชนเผ่านักรบจากนอกด่านที่ทวีความแข็งกล้าขึ้น ดูจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ

ภายหลังสัญญาสงบศึกที่ฉานหยวน ซ่งเหลียวยุติศึกสงครามอันยาวนานนับสิบปี เมื่อปลอดภัยสงคราม การค้า การผลิต ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสองฝ่ายต่างเจริญรุ่งเรืองขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ที่ประสิทธิภาพนับวันจะถดถอยลงคลอง ทหารขาดการซ้อมรบและศึกษายุทธวิธีในการศึก กองทัพอ่อนแอลง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ทหารม้าไม่รู้จักการใส่อานม้า ทหารราบก็รบไม่เป็น เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูก็ได้แต่ตัวสั่นงันงกด้วยความกลัวตาย ระหว่างนายทัพกับพลทหารไม่รู้จักไม่รู้ใจ ได้แต่บัญชาการรบบนแผ่นกระดาษ อันเป็นสาเหตุแห่งความแพ้พ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของทัพซ่ง  นอกจากนี้ หน่วยงานข้าราชการขุนนางก็มีขนาดใหญ่โตเทอะทะขึ้นทุกวัน ทั้งที่ยังมีบุคคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแต่ไม่มีตำแหน่งการงานรองรับอีกมากมายนับไม่ถ้วน กล่าวกันว่า มีอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานถึงหนึ่งต่อสิบทีเดียว   ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเกรงว่าจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อันจะกระทบกระเทือนตำแหน่งของตน ในเวลาเดียวกัน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน กวาดเก็บทรัพย์สินเข้าพกเข้าห่อ ไม่สนใจถึงผลกระทบต่อส่วนรวม บรรยากาศดังกล่าวปกคลุมไปทั่วราชสำนักซ่ง  การขยายตัวของหน่วยงานราชการ ทำให้ราชสำนักซ่งต้องเผชิญกับวิกฤตค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากบันทึกค่าใช้จ่ายสมัยซ่ง พบว่า เมื่อถึงรัชสมัยซ่งอิงจง
(宋英宗)(1063 – 1067)ท้องพระคลังที่ว่างเปล่ากลับมีรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นจำนวนมหาศาล บ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินอันคลอนแคลนของราชสำนัก

ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)


ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าโก้ว (赵构) ชาวฮั่นซึ่งเป็นทายาทของตระกูลเจ้า ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อตั้งราชธานีขึ้นในบริเวณดินแดนแถบเจียงหนาน (พื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) เรียกว่าเมืองหลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง) โดยเจ้าโก้วนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็น ซ่งเกาจง (宋高宗) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ กระนั้นตลอดระยะเวลา 153 ปีของราชวงศ์ซ่งใต้ รวมฮ่องเต้ 9 พระองค์ ราชวงศ์นี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคามของอาณาจักรจิน (คนไทยมักเรียกว่า กิม”) โดยตลอด จนกระทั่งพบจุดจบภายใต้เงื้อมมือของชนเผ่ามองโกล  ความขัดแย้งภายในและความอ่อนแอของราชวงศ์ซ่งใต้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ตลอดเวลา 150 กว่าปีของราชวงศ์ซ่งใต้ ชาวฮั่นไม่มีโอกาสที่จะกลับไปยึดครองดินแดนทางภาคเหนือคืนได้อีกเลย โดยพรมแดนทางตอนเหนือสุดของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ติดกับเขตแดนของอาณาจักรจินนั้นก็คือ เส้นลากจากแม่น้ำเว่ยสุ่ย (淮水) ผ่านสองเขต ถัง (; ปัจจุบันคือถังเหอ มณฑลเหอหนาน) และ เติ้ง (ปัจจุบันคือตำบลเติ้งตะวันออก ในมณฑลเหอหนาน) ไปสิ้นสุดที่ด่านฉินหลิงต้าซ่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณมณฑลส่านซี ขณะที่พรมแดนทางด้านอื่นๆ นั้นยังคงเดิมเหมือนกับราชวงศ์ซ่งเหนือ  หลังจากกองทัพจินบุกเข้าเมืองไคเฟิงกวาดต้อน ซ่งฮุยจงและซ่งชินจง สองฮ่องเต้แห่งซ่งเหนือ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้นจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย ในเดือนสองปี ค.ศ.1127 เนื่องด้วยปีดังกล่าวนั้นเป็นปีแรกของศักราชจิ้งคัง (靖康元年) ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์การจับสองฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือไปเป็นเชลยว่าเป็น เหตุการณ์ปีจิ้งคัง หรือ ทุกขภัยสมัยจิ้งคัง (靖康之)  ต่อมาในเดือนห้าของปีเดียวกัน เชื้อพระวงศ์และแม่ทัพของกองทัพราชวงศ์ซ่งเหนือที่ล่มสลายนามเจ้าโก้ว ได้อาศัยช่วงเวลาที่กองทัพจินถอนทัพตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้นใหม่ที่เมือนหนานจิง (ปัจจุบันคือเมืองซังชิว มณฑลเหอหนาน) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเกาจง ในปีถัดมา (ค.ศ.1128) ซ่งเกาจงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหลินอัน (เมืองหางโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นเมืองที่มีภูมิชัยค่อนข้างดีในการตั้งรับการรุกรานจากอาณาจักรจิน  ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังได้เรียกขานราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ดินแดนเจียงหนานนี้ว่า ราชวงศ์ซ่งใต้ หลังยึดดินแดนในแถบเจียงหนานเป็นฐานที่มั่นได้ ฮ่องเต้ซ่งเกาจง ได้แต่งตั้งหลี่กัง ()ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และจงเจ๋อ () ขุนนางที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี ทั้งยังดำเนินยุทธวิธีทางการทหารหลายประการ เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของชนเผ่าจินอย่างแข็งขัน ด้วยการกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่ต่างๆ, พัฒนายุทโธปกรณ์ทางการทหารให้มีความทันสมัยขึ้น, ปฏิรูประบบการทหารเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตามเนื่องจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งใต้มีบัญชาให้ดำเนินนโยบายสันติและปกป้องดินแดนเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวนโยบายพื้นฐานให้ขุนนางฝ่ายบุ๋นเป็นฝ่ายควบคุมขุนนางฝ่ายบู๊ ยกการเมืองเหนือการทหาร ส่งผลให้การขยายดินแดน การยึดครองดินแดนที่เสียไปในราชวงศ์ซ่งเหนือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลี่กังซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีได้เพียง 75 วันก็ถูกปลด ขณะที่เสนาบดีจงเจ๋อถึงกับตรอมใจตาย  ในประเด็นดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์จีนได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์บุกขึ้นเหนือไปยึดดินแดนคืนจากพวกจินก็เพราะว่า หนึ่งพระองค์เกรงกลัวต่อกองทัพจิน และสองพระองค์เกรงกลัวว่าหากสามารถปราบพวกจินได้ฮ่องเต้สองพระองค์ที่ถูกจับเป็นเชลยไปคือ ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงจะกลับมาแย่งบัลลังก์จากพระองค์ไป ... ด้วยความขัดแย้งอันนี้นี่เองที่ทำให้ภายในราชสำนักซ่งใต้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางฝ่ายเหยี่ยวและขุนนางฝ่ายพิราบโดยตลอด  ในปี ค.ศ.1128 กองทัพจินได้ทียกทัพลงมารุกรานดินแดนทางตอนใต้อีกครั้ง โดยสามารถบุกตีเมืองสำคัญๆ ได้หลายแห่ง คือ เปี้ยนจิง (汴京), สีว์โจว (徐州), หยางโจว (扬州) เป็นต้น ต่อมาในฤดูหนาวปีเดียวกันแม่ทัพของจินนามอูจู๋ () ได้ยกทัพใหญ่บุกเมืองเจี้ยนคัง (建康) และ หางโจว เมื่อฮ่องเต้ซ่งเกาจงเห็นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขันพระองค์จึงหลบหนีไปยังเมืองติ้งไห่ (定海; ปัจจุบันคือเมืองเจิ้นไห่ มณฑลเจ้อเจียง) และเวินโจว ในเวลาเดียวกันเนื่องจากระหว่างการยกทัพมารุกรานชาวฮั่น ทหารจินได้ทำการฆ่าฟันชาวฮั่นด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ชาวบ้านมีความโกรธแค้นทหารจินเป็นอย่างมาก จนกระแสการต่อต้านกองทัพจินในหลายพื้นที่นั้นพุ่งขึ้นสูง  ในภาวะวิกฤตของชาติเช่นนี้นี่เอง ทำให้ในกองทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ก่อกำเนิดขุนศึกเลื่องชื่อเกิดขึ้นหลายคน โดยหนึ่งในขุนศึกที่ชนรุ่นหลังรู้จักกันดีที่สุดก็คือ งักฮุย

 
งักฮุย หรือ เย่ว์เฟย (; ค.ศ.1103-1142) เกิดในครอบครัวชาวนาในมณฑลเหอหนาน ค.ศ.1125 ขณะที่งักฮุยอายุได้ 22 ปี เมื่อกองทัพจินบุกลงใต้ เขาได้ร่วมกับกองทัพในการปกป้องเมืองไคเฟิง ด้วยความเก่งกาจในการรบของงักฮุยทำให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพจินโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่ทัพ งักฮุยได้ฝึกฝนกองทัพอันเข้มแข็งของตัวเองขึ้นในในนาม กองทัพงักฮุย (岳家)” ความเข้มแข็งและชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารจินนั้นครั่นคร้ามต่อกองทัพงักฮุยเป็นอย่างยิ่ง จนมีคำร่ำลือกันในหมู่ทหารจินว่า โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่งในปี ค.ศ.1140 ภายในอาณาจักจินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแม่ทัพสายเหยี่ยวอย่างอูจู๋ขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนักจิน ส่งผลให้ในเวลาต่อมากองทัพจินยกทัพลงมารุกรานอาณาจักรซ่งใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการแบ่งการเดินทัพออกเป็นหลายสาย อย่างไรก็ตามด้วยการต่อต้านอันเข้มแข็งของประชาชนและทหารซ่งทำให้สามารถยันกองทัพจินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ด้วยความกล้าหาญและสามารถของแม่ทัพแห่งราชวงศ์ซ่งหลายต่อหลายนายอย่างเช่น หานซื่อจง (韩世忠), จางจุ้น (张俊) รวมไปถึงงักฮุย ทำให้นอกจากจะสามารถป้องกันอาณาเขตไว้ได้แล้ว กองทัพซ่งยังสามารถรุกเอาดินแดนคืนได้อีกมากมายด้วย โดยกองทัพของงักฮุยสามารถยึดเอาไช่โจว (蔡州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) อิ่งชาง (颍昌; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) เจิ้งโจว และลั่วหยาง คืนมาจากจินได้ โดยในเวลาต่อมากองทหารม้าของงักฮุยยังสามารถรักษาเหยี่ยนเฉิง (郾城; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) และตีกองทัพทหารม้าอันเข้มแข็งของอูจู๋เสียกระเจิงอีกด้วย โดยชัยชนะครั้งนั้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนบันทึกเอาไว้ว่าคือ ชัยชนะที่เหยี่ยนเฉิง (郾城大捷)”  ณ เวลานั้นแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นใจอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูประเทศของราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีนามฉินฮุ่ย (秦桧) กลับมีแนวนโยบายในการเจรจาสงบศึกกับอาณาจักรจิน โดยมองว่างักฮุยนั้นคืออุปสรรคของการเจรจา ทำให้มีการส่งป้ายทองอาญาสิทธิ์ 12 ป้ายภายในวันเดียวเรียกให้งักฮุยถอนทัพกลับมาทางใต้ แม้งักฮุยจะพยายามฝืนคำสั่งของราชสำนักเช่นไรแต่สุดท้ายก็ทัดทานไว้ไม่ไหวต้องยกทัพกลับเมืองหลวง ปล่อยให้กองทัพจินยึดดินแดนคืนกลับไป

ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368)


ราชวงศ์หยวน หรือที่เรียกในนามว่าต้าหยวน (大元)เป็นมหาอาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกลที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชนกลุ่มน้อยสามารถเข้ายึดครองอำนาจการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินจีนได้ ชาวมองโกลที่เชี่ยวชาญด้านการสัประยุทธ์ ไม่เพียงแต่ใช้กำลังทหารยึดครองเขตภาคกลางและพื้นที่ทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ของจีนเท่านั้น แต่ยังได้แผ่ขยายแสนยานุภาพควบคุมไปจนถึงเขตเอเชียตะวันตก กลางเป็นราชวงศ์ที่มีขอบเขตการปกครองที่กว้างใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีประวัติศาสตร์จีนเป็นต้นมา

อุบัติกาลชนชาติมองโกล

ชนชาติมองโกล(蒙古族)จัดเป็นชนเผ่าเก่าแก่หนึ่ง ที่อาศัยการเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในการดำรงชีวิต เนื่องจากอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร มีอากาศหนาวจัด และเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ชาวมองโกลเป็นคนที่มีความทรหดอดทน และเก่งกล้าสามารถในการขี่ม้าและยิงธนู กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 12 ในชนเผ่ามองโกลได้บังเกิดยอดคนที่เป็นผู้นำขึ้นคนหนึ่งนามว่า เถี่ยมู่เจิน (铁木真) หรือเตมูจินที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชนเผ่าด้วยการรวบรวมชาวมองโกลที่แตกแยกกระจัดกระจายได้สำเร็จ จนได้รับการขนานนามเป็น เจงกิสข่าน” (成吉思汗)ในปีค.ศ. 1206  ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน ชนเผ่ามองโกลได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกองกำลังทางเหนือของจีนที่ไม่อาจดูแคลนได้อีกต่อไป ในขณะนั้น นอกจากอาณาจักรซ่งใต้ (南宋)แล้ว ยังมีอาณาจักรซีเซี่ย(西夏) และอาณาจักรจิน(金国)ที่จัดว่าเป็นดินแดนที่มีเอกราชอธิปไตยของตนอยู่ จนกระทั่งปี 1227 เจงกิสข่านได้นำทัพเข้าพิชิตดินแดนซีเซี่ย และสิ้นพระชนม์จบชีวิตอันเกรียงไกรของตนลงในปีเดียวกัน  แม้ว่าเจงกิสข่านจะสิ้นชีพไปแล้ว ทว่าด้วยรากฐานที่ได้วางเอาไว้ ส่งผลให้อาณาจักรของมองโกลมิเพียงไม่ถดถอย ซ้ำยังรุดหน้าขยายแผ่นดินไปเรื่อยๆ หลังจากกลืนแผ่นดินซีเซี่ยเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มต่อมายังอาณาจักรจิน ซึ่งถือว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรซ่งใต้กับมองโกล ซึ่งในช่วงเวลานั้น ราชสำนักซ่งใต้ ได้เลือกที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับมองโกล จนกระทั่งในปีค.ศ. 1234 กองทัพอันเหี้ยมหาญของชนชาติที่ยิ่งใหญ่บนทุ่งหญ้า ก็สามารถพิชิตอาณาจักรจินที่กำลังเสื่อมถอยลงได้

 

สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวน

หลังจากผ่านการสืบทอดอำนาจมาหลายรุ่น จากเจงกีสข่าน มาสู่วอคั่วข่าน กุ้ยโหยวข่าน เมิ่งเกอข่าน และเมื่อมาถึงสมัยของกุบไลข่าน หรือฮูปี้เลี่ย (
忽必烈) หลานของเจงกีสข่านผู้ขนานนามตนเองว่าหยวนซื่อจู่ (元世祖)ได้ยอมรับความคิดเห็นของขุนนางนามหลิวปิ่งจง, หวังเอ้อ สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวนขึ้นในปีค.ศ. 1271 และย้ายราชธานีมาอยู่ที่ต้าตู (大都) หรือปักกิ่งในปัจจุบันโดยคำว่าหยวนมาจากคำในคัมภีร์โบราณของจีน อี้จิง” () โดยยังคงรักษาซั่งตู ให้เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอาณาจักรมองโกลผู้แผ่ขยายอาณาเขตไปจนถึงเปอร์เซีย รัสเซีย ที่แต่เดิมสนใจเพียงปล้นชิงขูดรีดจากแผ่นดินจีน กลายมาเป็นถือเป็นแผ่นจีนเป็นศูนย์กลางในการปกครองอาณาจักร อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ปักกิ่งค่อยๆกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมทางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  แม้ว่าจะมีการตั้งเมืองหลวงอยู่ในต้าตูแล้ว ทว่า ณ เวลานั้นชนชาติมองโกลยังไม่สามารถครอบครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ด้วยปณิธานที่ต้องการจะรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น กุบไลข่านจึงนำทัพบุกดินแดนซ่งใต้แล้วจับตัวฮ่องเต้ซ่งกงตี้กับพระมารดาไป ในห้วงเวลาดังกล่าวก็ยังมีขุนนางซ่งผู้จงรักภักดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญ ทว่าในที่สุดราชวงศ์ซ่งใต้ก็ถูกพิชิตอย่างราบคาบในปี 1279 ราชวงศ์หยวนสามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นโดยมีอาณาเขตทางเหนือจรดแผ่นดินมองโกล ไซบีเรีย ทางใต้จรดหนันไห่ (ทะเลใต้) ตะวันตกเฉียงใต้ครอบคลุมไปถึงมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และทิเบตในปัจจุบัน ตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงทางตะวันออกของซินเจียง (ซินเกียง) ตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทะเลโอคอตสค์ เป็นมหาจักรวรรดิแห่งแรกที่ครองพื้นที่ไปทั่วทั้งเอเชียและยุโรป


อารยธรรมอันรุ่งโรจน์ มาร์โคโปโล เยือนจีน

ในยุคสมัยของหยวนซื่อจู่ ปฐมฮ่องเต้ในราชวงศ์หยวน ประเทศจีนในยามนั้นนับว่าเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมั่งคั่งมากแห่งหนึ่งในโลก จนกระทั่งมีบรรดาทูต พ่อค้าวาณิชย์ และนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางเข้ามายังแผ่นดินจีน  นอกจากนั้นฮ่องเต้หยวนซื่อจู่เองก็ยังทรงโปรดให้นำชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำให้ราชวงศ์หยวนเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การทำปืนใหญ่ และหัตถกรรมฯลฯ และสืบเนื่องจากชนชั้นผู้ปกครองได้ทุ่มเทผลักดันการกสิกรรมแทนการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ทำให้วิวัฒนาการทางการเกษตรในช่วงเวลานี้ได้พัฒนาไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะเมื่ออาณาเขตได้แผ่ขยายไปจนถึงเอเชียตะวันตก ทำให้จีนกับยุโรปมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จนมีการถ่ายเทกรรมวิธีและความรู้ต่างๆไปมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงปีค.ศ. 1231-1316 กัวโส่วจิ้ง(
郭守敬) ผู้เป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคณิตศาสตร์ และนักชลประทานชื่อดังแห่งราชวงศ์หยวน โดยกัวโส่วจิ้งกับหวังสวิน (王恂)ได้รับบัญชาจากหยวนซื่อจู่ ให้คุมงานการจัดสร้างหอดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ต้าตู โดยนอกจากการก่อสร้างแล้ว กัวโส่วจิ้งยังได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆขึ้นกว่าสิบสามชนิด เพื่อใช้ในหอดาราศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องดูดาวพิกัดท้องฟ้าทรงกลม(简仪) ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมที่ล้ำยุคอย่างยิ่งในสมัยนั้น

 

ส่วนการร่วมงานกับต่างชาติในยุคนี้ เห็นได้ชัดจากบันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียน ซึ่งถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปเอเชียและเขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งที่ได้พบได้ยินเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Travels of Marco Polo  โดย Niccolo กับ Maffeo บิดาและลุงของมาร์โคโปโลได้เดินทางมายังประเทศจีน และได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตจากกุบไลข่าน หลังจากกลับจากแผ่นดินจีนไปยังบ้านเกิด การมาอีกครั้งหนึ่งของพวกเขาได้นำพาบุตรชายมาร์โค โปโลติดตามมาด้วย  มาร์โค โปโลมาใช้เวลาเดินทาง 3 ปี กระทั่งมาถึงประเทศจีนด้วยวัย 20 ย่าง 21 ปี โดยเดินทางไปถึงซั่งตู และได้รับพระราชทานจัดงานเลี้ยงต้อนรับขึ้นในวังหลวง จากนั้นก็ให้ตระกูลโปโลอยู่ถวายงานในราชสำนัก ทำให้ในช่วงเวลา 17 ปีที่มาร์โค โปโลพำนักอยู่ในประเทศจีน มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อปฏิบัติภารกิจมากมาย ในหนังสือของมาร์โค โปโลมีการบันทึกถึงรูปร่างของแผ่นดิน สัตว์ พืชพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ การเล่าถึงหินและของเหลวที่ติดไฟได้ (ถ่านหินและน้ำมัน) โดยเขาได้พรรณนาถึงอารยธรรมจีนว่ามีความเจริญเหนือกว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของชาวยุโรป และระบุว่าจีนมีแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่อยู่ 2 อย่างก็คือ ดินปืนและบะหมี่
การแบ่งชั้นวรรณะและการปกครองอันเหี้ยมโหด

ราชวงศ์หยวนเป็นยุคสมัยที่ประเทศต้องปกครองผู้คนหลากหลายชนชาติเผ่าพันธุ์ โดยมีประชากรที่เป็นชาวฮั่นมากที่สุด การปกครองในสมัยนั้นจึงยึดเอาชนชาติมองโกลเป็นกลุ่มชนหลักในการบริหารประเทศ เพื่อปกครองและป้องกันการต่อต้นขัดขืนจากชาวฮั่นที่มีอยู่อย่างมหาศาลในแผ่นดินจีน ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจึงได้เลียนอย่างอาณาจักรจินที่มีการแบ่งชนชั้นของประชาชน ซึ่งในสังคมราชวงศ์หยวนชาวมองโกลทั้งหลายจะถูกจัดว่ามีฐานะทางสังคมสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นพวกเซ่อมู่ (เป็นชื่อเรียกรวมผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ทางตะวันตก อาทิพวกซี่เซี่ย หุยหุย ซีอี้ว์ เป็นต้น) จากนั้นก็เป็นชาวฮั่นทางเหนือที่เคยอยู่ใต้อาณัติการปกครองของอาณาจักรจิน ซึ่งรวมถึงชาวหนี่ว์เจิน ชี่ตาน ป๋อไห่ และที่ต่ำสุดก็คือชาวใต้ที่หมายถึงชาวฮั่นจากซ่งใต้ที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ในอาณัติปกครองหลังสุด และแม้ว่าในสมัยนั้น ราชสำนักไม่ได้มีการออกกฎหมายการแบ่งชนชั้นออกมา ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอยู่ในสิทธิอำนาจและหน้าที่ต่างๆของกฎหมายหลายๆฉบับ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่
นอกจากการแบ่งชนชั้นแล้ว สมัยราชวงศ์หยวนยังมีการแบ่งระดับความสูงต่ำของอาชีพเอาไว้เป็น 10 ลำดับได้แก่ ระดับที่1 ขุนนาง 2 ข้าราชการ 3 พระสงฆ์ 4 นักบวชเต๋า 5 แพทย์ 6 กรรมกร (แรงงาน) 7 ช่างฝีมือ 8 โสเภณี 9 บัณฑิต 10 ขอทาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บรรดาบัณฑิต หรือปัญญาชนทั้งหลายได้สูญเสียจุดยืนความสำคัญที่เคยมีมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ถูกจัดลำดับในสังคมอยู่ต่ำกว่ากระทั่งโสเภณีจนเกิดคำล้อเลียนเสียดสีในยุคสมัยนั้นว่า หนึ่งขุนนางสองข้าราชการ เก้าบัณฑิตสิบขอทานขึ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อมีวัตถุอุดมสมบูรณ์มากขึ้น บรรดาชนชั้นปกครองของราชวงศ์หยวนก็เริ่มที่จะใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟอนเฟะ อีกทั้งเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง โดยหลังจากที่ฮ่องเต้เฉินจง ที่สืบทอดต่อจากหยวนซื่อจู่ ซึ่งนับว่ายังพอจะรักษาผลงานของกุบไลข่านไว้ได้บ้างแล้ว หลังจากนั้นในระยะเวลาสั้นๆเพียง 25 ปีนับตั้งแต่ปี 1308-1333 ราชวงศ์หยวนมีฮ่องเต้ถึง 8 พระองค์จากฮ่องเต้อู่จง เหรินจง อิงจง ไท่ติ้งตี้ เทียนซุ่นตี้ เหวินจง หมิงจง หนิงจง และหยวนซุ่นตี้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจอย่างหนักหน่วง โดยบางพระองค์ครองราชย์เพียงปีเดียวเท่านั้น  ในยุคหลังของราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้แต่ละพระองค์ต่างใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตอบสนองตัณหาของตน จึงขูดรีดภาษีจากประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะกับชาวฮั่น ที่โดนกดขี่อย่างหนักหน่วง จนทำให้ชาวฮั่นทั้งหลาย ต้องเริ่มที่จะใช้วิธีการต่างๆในการตอบโต้กับการปกครองอันเหี้ยมโหดนี้
 
กองทัพโพกผ้าแดงและการล่มสลายของราชวงศ์

ความฟอนเฟะในราชสำนักได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงปลายราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลในชนชั้นปกครองยิ่งขูดรีดประชาชนสาหัส ใช้ความรุนแรงและโหดเหี้ยมกับทาส มีการอายัดที่ดินจำนวนอย่างมหาศาลเพื่อเอาไปใช้เสพสุข และผลักดันให้ประชาชนที่สูญเสียที่ดินกลายไปเป็นทาส อีกทั้งเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าต้นราชวงศ์ถึง 20 เท่าตัว นอกจากนั้นยังมีการคร่ากุมสตรีชาวบ้านที่งดงาม ถลุงเงินจนรายจ่ายคลังหลวงไม่เพียงพอต่อรายรับ จนต้องมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างมากมาย ทำให้ค่าของเงินตราที่ใช้ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ผนวกกับในยามนั้นเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโหไม่ได้รับการบูรณะมาเป็นเวลาหลายปี จนเกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้ง ทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ จนกลายเป็นสภาพ ผู้คนอดตายเกลื่อนถนน คนเป็นก็ไม่พ้นใกล้เป็นผี” (
饿死已满路 生者与鬼)  ในปี 1351 ภายใต้สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ราชสำนักต้าหยวนได้ส่งทหาร 20,000 คนเพื่อบังคับเกณฑ์แรงงานชาวฮั่นถึง 150,000 คนเพื่อไปขุดลอกแม่น้ำและซ่อมเขื่อนที่พัง ซ้ำรายขุนนางที่มีหน้าที่คุมการขุดลอกยังฉวยโอกาสโกงกินเงินค่าอาหารของแรงงาน ทำให้ชาวฮั่นที่ถูกเกณฑ์มาต้องทนหิวทนหนาว จนมวลชนเกิดความเจ็บแค้นต่อราชสำนัก ในเวลานั้นเอง หลิวฝูทง (刘福通) จึงได้อาศัยลัทธิดอกบัวขาว (连教) ในการรวบรวมชาวบ้านเป็นกองทัพชาวนาขึ้น ต่อมาหลิวฝูทงได้ส่งสาวกลัทธิดอกบัวขาว ให้ออกไปปล่อยข่าวลือว่า เมื่อใดที่มนุษย์หินตาเดียวปรากฏ ก็จะมีการพลิกฟ้าผลัดแผ่นดินหลังจากนั้นก็ลอบส่งคนไปทำรูปปั้นหินมนุษย์ตาเดียวแล้วนำไปฝังไว้บริเวณที่มีการขุดลอกแม่น้ำ ภายหลังเมื่อมีชาวบ้านไปขุดพบรูปปั้นหิน การต่อต้านชาวมองโกลจึงลุกลามขึ้นเป็นไฟลามทุ่ง
เมื่อโอกาสสุกงอม หลิวฝูทง และหานซันถง (韩山童)ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำลัทธิดอกบัวขาว ได้นำพาชาวบ้านจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้น เนื่องจากชาวบ้านที่รวมตัวกันนี้ต่างโพกผ้าสีแดงเอาไว้บนศีรษะ จึงได้รับการเรียกขานเป็น กองทัพโพกผ้าแดง” (红巾军) ทว่าในห้วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งกองทัพนั้น เนื่องจากเกิดความลับรั่วไหล ทำให้กองทัพโพกผ้าแดงที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างถูกทหารทางการล้อมปราบ หานซันถงหนึ่งในผู้นำถูกจับกุมตัวและสังหาร ในขณะที่หลิวฝูงทงหนีฝ่าวงล้อมออกมา หลังจากที่หลิวฝูทงหลบรอดออกมาได้ ก็ทำการรวบรวมกองกำลังขึ้นอีกครั้ง แล้วทำการบุกตีเมืองต่างๆ และเนื่องจากไม่ว่ากองทัพบุกยึดไปถึงที่ใด ก็จะมีการเปิดคลังหลวงเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ทั้งหลายจนทำให้กองทัพมีกองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน และเมื่อถึงปี 1355 เมื่อกองทัพภายใต้การนำพาของหลิวฝูทงสามารถพิชิตเมืองป๋อโจวได้ จึงสถาปนา หานหลินเอ๋อ (韩林儿) บุตรชายของหานซันถงขึ้นเป็น เสี่ยวหมิงหวัง” (小明王) จัดตั้งอำนาจการปกครองที่เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาขึ้น จนกระทั่งในปี 1357 เมื่อหลิวฝูทงได้แบ่งกำลังเป็น 3 สายบุกขึ้นเหนือ โดยเส้นตะวันออกบุกผ่านซันตง เหอเป่ย มุ่งไปยังต้าตู เส้นกลางบุกผ่านซันซี เหอเป่ย ไปยังซั่งตู ราชธานีทางเหนือของมองโกล จนสามารถเผาพระราชวังทางเหนือของมองโกลได้ ทางตะวันตกบุกผ่านกวนจง ซิงหยวน เฟิ่งเสียง แล้วตีไปทางเสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ยโดยประสบชัยชนะมาตลอดทางถือเป็นช่วงที่กองทัพโพกผ้าแดงมีความรุ่งเรืองและเข้มแข็งที่สุด  ทว่าในภายหลัง ราชวงศ์หยวนยังคงดิ้นรนด้วยการให้ตำแหน่งกับบรรดาเจ้าของที่ดินและเหล่าเศรษฐีที่สามารถช่วยระดมพลมาช่วยทำศึกได้ ผนวกกับในขณะนั้นที่กองทัพโพกผ้าแดงได้แบ่งเป็นสามทัพแยกย้ายทำศึก ไม่มีการปักหลักแหล่งที่แน่นอนอีกทั้งขาดแผนการที่รัดกุมเพียงพอ จึงทำให้ต้องสูญเสียดินแดนที่ยึดมาได้กลับไปใหม่หลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งในห้วงเวลาที่กองทัพโพกผ้าแดงกำลังสู้ศึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับกองทัพหยวน หลิวฝูทงผู้นำของกองทัพก็ต้องมาเสียชีวิตลงในปี 1362  เมื่ออำนาจของกองกำลังโพกผ้าแดงเสื่อมสลายนั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่อีกกองกำลังทางใต้ที่นำโดยจูหยวนจาง (朱元璋)กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจูหยวนจางผู้นี้เป็นลูกชาวนาเกิดในครอบครัวที่แร้นแค้น เดิมสังกัดอยู่กับกัวจื่อซิงในกองทัพโพกผ้าแดง ทว่าภายหลังได้ออกมาตั้งกองกำลังของตนเอง และได้แผ่ขยายขึ้นหลังจากที่ได้บุกยึดเมืองจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ พร้อมทั้งยอมรับคำแนะนำจากนักกลยุทธนามจูเซิงที่ได้ชี้ว่า ให้สร้างกำแพงเมืองสูง สั่งสมเสบียงอาหาร ชะลอการตั้งตนเป็นอ๋องบวกกับได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีเสิ่นวั่นซันทำให้กองทัพนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
จูหยวนจางเองแม้สร้างผลงานมากมาย แต่ในระยะแรกก็ยึดมั่นในคำแนะนำดังกล่าว พยายามสนับสนุนให้ชาวเมืองเพิ่มพูนผลผลิต และตั้งตนเองเป็นเพียงอู๋กั๋วกง (เจ้าพระยา) อีกทั้งเชิญตัวเสี่ยวหมิงหวังที่กองทัพโพกผ้าแดงตั้งเป็นกษัตริย์มาอยู่ด้วย ทำให้ชาวฮั่นทั้งหลายเชื่อถือในความชอบธรรมของกองทัพนี้มากกว่ากองกำลังอื่นๆ จนสุดท้ายสามารถเอาชนะกองกำลังขุนศึกอื่นๆอย่างสีว์โซ่วฮุย เฉินโหย่วเลี่ยง และจางซื่อเฉิงไปได้  เมื่อวันขึ้นสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปี1368 (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม) ทั่วทั้งแดนใต้ก็อยู่ในอำนาจของจูหยวนจางทั้งหมด จูหยวนจางจึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิง (明朝)ขึ้นที่อิ้งเทียนฝู่ โดยตั้งชื่อรัชกาลว่าหงอู่ ตั้งเมืองอิ้งเทียนเป็นเมืองหลวงทางใต้ และตั้งไคเฟิงเป็นเมืองหลวงทางเหนือ ที่มาของชื่อราชวงศ์นั้น มีตำนานเล่าขานกันว่ามาจากการที่ในอดีตจูหยวนจางเคยเป็นสาวกลัทธิแสงสว่าง (หมิงเจี้ยว) เมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้จึงได้ใช้คำว่า หมิงมาเป็นชื่อราชวงศ์ จนกระทั่งถึงเดือน 7 ในปีเดียวกัน จูหยวนจางได้ส่งแม่ทัพใหญ่สีว์ต๋าบุกถึงต้าตู อันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวน จนกระทั่งหยวนซุ่นตี้ต้องลี้ภัยขึ้นไปทางเหนือจึงถือว่าเป็นกาลอวสานของราชวงศ์หยวนอันเกรียงไกร   ราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกล มีอายุทั้งสิ้น 97 ปี และมีฮ่องเต้ทั้งหมด 11 พระองค์ (นับจากที่กุบไลข่านสถาปนาราชวงศ์) นับเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีความเข้มแข็งมากราชวงศ์หนึ่ง ทว่าด้วยความแบ่งแยกชนชั้น ความฟุ้งเฟ้อ การขูดรีดและการกดขี่ชาวฮั่นทำให้ต้องล่มสลายเร็วกว่าที่ควร ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของราชวงศ์ชิงในยุคต่อมา  อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์หยวนจัดว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ได้กำหนดอาณาเขตการปกครองของแผ่นดินจีนในภายหลังขึ้น เนื่องจากตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนจนถึงช่วงกลางหลังของราชวงศ์ชิง อาณาเขตของแผ่นดินจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

เครดิตอ้างอิง (บทความนี้ถอดความมาจากคอลัมน์ มุมจีน ธารประวัติศาสตร์  7 มิถุนายน 2548, 7 พฤษภาคม 2550 และ 22 มกราคม 2551 ,ผู้จัดการออนไลน์)   


ตอนต่อไป จะกล่าวถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง