วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ยุทธจักรนักการเมือง ตอน ลำนำเพลงดาบ (3) อาบโลหิต พิชิตบัลลังก์ จากถัง สู่ชิง ตอนที่ 3


ซ่งเหนือ (ปีค.ศ. 960 – 1127)

การถือกำเนิดขึ้นของราชวงศ์ซ่งเหนือ(北宋)ได้ยุติสภาพแตกแยกของบ้านเมืองภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ถัง แม้ว่าแผ่นดินจีนในยุคนี้ จะตกอยู่ในภาวะตั้งรับภัยคุกคามจากกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือ อาทิ แคว้นเหลียว จิน และซีเซี่ย ที่มีกำลังเข้มแข็งขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกัน แต่บ้านเมืองโดยรวมยังมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้าและศิลปวิทยาการ โดยครึ่งหนึ่งของสี่สุดยอดสิ่งประดิษฐ์จีนได้รับการพัฒนาจนเป็นที่แพร่หลายในยุคนี้ อีกทั้งยังเป็นยุคทองของภาพวาดและวรรณคดีจีนอีกด้วย  อนึ่ง นักประวัติศาสตร์จีนได้แบ่งราชวงศ์ซ่ง(ปี 960 – 1279) ออกเป็นสองยุคสมัย ตอนต้นได้แก่ ยุคซ่งเหนือ (960 – 1127) นครหลวงอยู่ที่เมืองไคเฟิง และตอนปลาย คือ ยุคซ่งใต้ (1127 – 1279) ย้ายนครหลวงมายังเมืองหลิงอัน (ปัจจุบันคือเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง) ภายหลังจากทัพจินบุกเข้าทำลายเมืองหลวงไคเฟิงจนเสียหายอย่างหนัก

 
 
ซ่งรวมแผ่นดิน

แผ่นดินภาคกลาง ภายหลังโจวซื่อจง(周世宗)แห่งราชวงศ์โฮ่วโจวสิ้น(ราชวงศ์สุดท้ายในห้าราชวงศ์) ภายในราชสำนักอยู่ในภาวะตึงเครียด ภายนอกเผชิญภัยคุกคามจากทัพเหลียว ปี 960 เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงที่เฉินเฉียว เจ้าควงอิ้น赵匡胤)ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพรักษาวังหลวง บัญชาการกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายทัพใต้ร่มธง บีบให้โจวก้งตี้(周恭帝)วัยเจ็ดขวบสละราชย์ จากนั้นสถาปนาราชวงศ์ซ่งขึ้นแทนที่โฮ่วโจว นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เป่ยซ่งหรือซ่งเหนือ(北宋) ซ่งไท่จู่(宋太祖)เจ้าควงอิ้นขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ก็จัด งานเลี้ยงสุราปลดอาวุธสลายกำลังของนายทหารกลุ่มต่างๆที่สนับสนุนตนขึ้นสู่บัลลังก์โดยไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ขึ้นได้อีก ทั้งเล็งเห็นว่าการที่นายทัพคุมกำลังทหารไว้ ย่อมจะมีอำนาจพลิกฟ้าอยู่ในมือ ซ่งไท่จู่จึงใช้วิธีการเดียวกันในการโอนถ่ายอำนาจทางทหารของแม่ทัพรักษาชายแดนเข้าสู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ เพื่อลิดรอนอำนาจขุนนางที่อาจส่งผลคุกคามต่อราชบัลลังก์ในภายภาคหน้า จึงออกกฎระเบียบใหม่ ให้มีเพียงขุนนางระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าเฝ้าเพื่อปรึกษาราชกิจ โดยมีกษัตริย์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ขุนนางเป็นเพียงผู้รับไปปฏิบัติ ไม่ได้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะข้อราชการดังเช่นแต่ก่อน นับแต่นั้นมา อำนาจเด็ดขาดทั้งมวลจึงตกอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว  เวลานั้น รอบข้างยังประกอบด้วยแว่นแคว้นต่างๆ สืบเนื่องมาจากสมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น อาทิ โฮ่วสู(后蜀) หนันฮั่น(南汉)หนันถัง(南唐)อู๋เยว่(吴越)เป่ยฮั่น(北汉)เป็นต้น ดังนั้นภารกิจสำคัญของเจ้าควงอิ้นจึงได้แก่ การเปิดศึกรวมแผ่นดิน ทัพซ่งมุ่งลงใต้ ทยอยรวบรวมดินแดนภาคใต้กลับมาอีกครั้ง หลังจากปราบแคว้นหนันถังอันเข้มแข็งได้สำเร็จในปี 974 แว่นแคว้นที่เหลือต่างทยอยเข้าสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ซ่ง ปลายรัชกาล เจ้าควงอิ้นหันทัพมุ่งขึ้นเหนือ หวังรวมแคว้นเป่ยฮั่นที่หลงเหลือเพียงหนึ่งเดียว แต่แล้วสิ้นพระชนม์ลงระหว่างการศึกภาคเหนือในปี 976  ซ่งไท่จง(宋太宗)เจ้ากวงอี้赵光义)(ปี 976 – 997) ที่เป็นน้องชายขึ้นสืบราชบัลลังก์ สานต่อปณิธานรวมแผ่นดิน โดยรวมแคว้นเป่ยฮั่นสำเร็จในปี 979 จากนั้นพยายามติดตามทวงคืนดินแดนที่เคยเสียให้กับเหลียว (ปักกิ่งและต้าถง) กองทัพซ่งเหนือเปิดศึกกับเหลียวหลายครั้ง ขณะที่แคว้นเหลียวก็หาโอกาสรุกลงใต้ กลายเป็นสภาพการเผชิญหน้ากัน จวบกระทั่งปี 1004 ล่วงเข้ารัชกาลซ่งเจินจง(宋真宗)ซ่งเหนือกับเหลียวบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่ฉานหยวน (澶渊之盟)สงครามอันยาวนานจึงยุติลง

เปิดศึกกับซีเซี่ย (西夏)

ปลายรัชกาลซ่งไท่จงเจ้ากวงอี้ ชนเผ่าตั่งเซี่ยง(党项)ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือเริ่มมีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น หันไปสวามิภักดิ์กับแคว้นเหลียว ราชสำนักซ่งจึงสั่งปิดชายแดนตัดขาดการติดต่อค้าขายระหว่างกัน ทำให้เกิดธุรกิจค้าเกลือเถื่อน และการปล้นสะดมสินค้าในบริเวณใกล้เคียง สองฝ่ายปะทะกันหลายครั้งแต่ไม่อาจเอาชนะกันได้ ต่อเมื่อ ปี 1006 ภายหลังซ่งทำสัญญาสงบศึกกับเหลียว จึงหันมาผูกมิตรกับซ่งเหนือ เปิดการค้าชายแดนตามปกติ  จวบกระทั่งปี 1038 หลี่หยวนเฮ่า(李元昊)ผู้นำคนใหม่ในเวลานั้น สถาปนาแคว้นซี่เซี่ย(西夏)ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ที่เมืองซิ่งโจว (ปัจจุบันคือเมืองอิ๋นชวน มณฑลหนิงเซี่ย) ซีเซี่ยฉีกสัญญาพันธมิตรที่มีมากว่า 30 ปี เริ่มรุกรานเข้าดินแดนภาคตะวันตกของซ่งเหนือ ขณะที่กองทัพซ่งเหนือพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามเรียกร้องให้มีการเจรจากสงบศึกแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม เมื่อทำศึกเป็นเวลานาน การค้าที่เคยมีต้องประสบกับความเสียหาย ซีเซี่ยกลับเป็นฝ่ายเดือดร้อนเพราะขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น สุดท้าย ซีเซี่ยจึงยอมเจรจาสงบศึก โดยซี่เซี่ยยอม สวามิภักดิ์กับราชสำนักซ่ง ขณะที่ซ่ง พระราชทานผ้าไหมแพรพรรณ เงินทองและชาให้กับซีเซี่ย สองฝ่ายต่างรื้อฟื้นเส้นทางค้าขายระหว่างกันดังเดิม

พลิกโฉมการปกครองภายใน

เจ้าควงอิ้นและเจ้ากวงอี้สองพี่น้องที่ได้ผ่านพบความวุ่นวุ่นวายแตกแยกของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก อีกทั้งประสบการณ์ความพลิกผันทางการเมืองของตน ทราบว่า เป็นเพราะเหล่าขุนศึกมีทั้งกำลังทหารและกำลังทรัพย์อยู่ในมือ ทั้งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนอำนาจของเหล่าแม่ทัพรักษาชายแดน ราชสำนักได้จัดส่งขุนนางฝ่ายบุ๋นออกไปทำหน้าที่ปกครองในส่วนท้องถิ่นโดยตรง มีการคัดเลือกทหารฝีมือดีจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่กองกำลังรักษาวังหลวง ทั้งให้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งประจำการทุกสามปี ส่วนด้านการเงิน ก็กำหนดให้รายรับรายจ่ายของท้องถิ่น(ภาษี เงินปี เบี้ยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ต้องจัดรวบรวมและแจกจ่ายจากส่วนกลาง  การปฏิรูปดังกล่าว เป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองส่วนกลางให้เข้มแข็งขึ้นอย่างไม่มียุคใดเทียบได้ พร้อมกับได้สลายขุมกำลังท้องถิ่นลงอย่างราบคาบ ตลอดราชวงศ์ไม่มีขุมกำลังอื่นใดในแผ่นดินสามารถท้าทายราชอำนาจของกษัตริย์ได้อีก อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้กองทัพอ่อนแอลง ทำให้ราชสำนักซ่งต้องตกเป็นฝ่าย ตั้งรับในยุคสมัยที่รอบข้างเต็มไปด้วยชนเผ่านักรบจากนอกด่านที่ทวีความแข็งกล้าขึ้น ดูจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก

เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ

ภายหลังสัญญาสงบศึกที่ฉานหยวน ซ่งเหลียวยุติศึกสงครามอันยาวนานนับสิบปี เมื่อปลอดภัยสงคราม การค้า การผลิต ศิลปวิทยาการและวัฒนธรรมของสองฝ่ายต่างเจริญรุ่งเรืองขึ้น พร้อมกับการขยายตัวของหน่วยงานราชการส่วนกลาง ที่ประสิทธิภาพนับวันจะถดถอยลงคลอง ทหารขาดการซ้อมรบและศึกษายุทธวิธีในการศึก กองทัพอ่อนแอลง ถึงกับมีคำกล่าวว่า ทหารม้าไม่รู้จักการใส่อานม้า ทหารราบก็รบไม่เป็น เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูก็ได้แต่ตัวสั่นงันงกด้วยความกลัวตาย ระหว่างนายทัพกับพลทหารไม่รู้จักไม่รู้ใจ ได้แต่บัญชาการรบบนแผ่นกระดาษ อันเป็นสาเหตุแห่งความแพ้พ่ายครั้งแล้วครั้งเล่าของทัพซ่ง  นอกจากนี้ หน่วยงานข้าราชการขุนนางก็มีขนาดใหญ่โตเทอะทะขึ้นทุกวัน ทั้งที่ยังมีบุคคลากรที่ผ่านการสอบคัดเลือกแต่ไม่มีตำแหน่งการงานรองรับอีกมากมายนับไม่ถ้วน กล่าวกันว่า มีอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้ตำแหน่งงานถึงหนึ่งต่อสิบทีเดียว   ภาวะดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสการอนุรักษ์อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเกรงว่าจะต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อันจะกระทบกระเทือนตำแหน่งของตน ในเวลาเดียวกัน บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ต่างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน กวาดเก็บทรัพย์สินเข้าพกเข้าห่อ ไม่สนใจถึงผลกระทบต่อส่วนรวม บรรยากาศดังกล่าวปกคลุมไปทั่วราชสำนักซ่ง  การขยายตัวของหน่วยงานราชการ ทำให้ราชสำนักซ่งต้องเผชิญกับวิกฤตค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จากบันทึกค่าใช้จ่ายสมัยซ่ง พบว่า เมื่อถึงรัชสมัยซ่งอิงจง
(宋英宗)(1063 – 1067)ท้องพระคลังที่ว่างเปล่ากลับมีรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นจำนวนมหาศาล บ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินอันคลอนแคลนของราชสำนัก

ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)


ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าโก้ว (赵构) ชาวฮั่นซึ่งเป็นทายาทของตระกูลเจ้า ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อตั้งราชธานีขึ้นในบริเวณดินแดนแถบเจียงหนาน (พื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) เรียกว่าเมืองหลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง) โดยเจ้าโก้วนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็น ซ่งเกาจง (宋高宗) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ กระนั้นตลอดระยะเวลา 153 ปีของราชวงศ์ซ่งใต้ รวมฮ่องเต้ 9 พระองค์ ราชวงศ์นี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคามของอาณาจักรจิน (คนไทยมักเรียกว่า กิม”) โดยตลอด จนกระทั่งพบจุดจบภายใต้เงื้อมมือของชนเผ่ามองโกล  ความขัดแย้งภายในและความอ่อนแอของราชวงศ์ซ่งใต้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ตลอดเวลา 150 กว่าปีของราชวงศ์ซ่งใต้ ชาวฮั่นไม่มีโอกาสที่จะกลับไปยึดครองดินแดนทางภาคเหนือคืนได้อีกเลย โดยพรมแดนทางตอนเหนือสุดของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ติดกับเขตแดนของอาณาจักรจินนั้นก็คือ เส้นลากจากแม่น้ำเว่ยสุ่ย (淮水) ผ่านสองเขต ถัง (; ปัจจุบันคือถังเหอ มณฑลเหอหนาน) และ เติ้ง (ปัจจุบันคือตำบลเติ้งตะวันออก ในมณฑลเหอหนาน) ไปสิ้นสุดที่ด่านฉินหลิงต้าซ่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณมณฑลส่านซี ขณะที่พรมแดนทางด้านอื่นๆ นั้นยังคงเดิมเหมือนกับราชวงศ์ซ่งเหนือ  หลังจากกองทัพจินบุกเข้าเมืองไคเฟิงกวาดต้อน ซ่งฮุยจงและซ่งชินจง สองฮ่องเต้แห่งซ่งเหนือ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้นจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย ในเดือนสองปี ค.ศ.1127 เนื่องด้วยปีดังกล่าวนั้นเป็นปีแรกของศักราชจิ้งคัง (靖康元年) ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์การจับสองฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือไปเป็นเชลยว่าเป็น เหตุการณ์ปีจิ้งคัง หรือ ทุกขภัยสมัยจิ้งคัง (靖康之)  ต่อมาในเดือนห้าของปีเดียวกัน เชื้อพระวงศ์และแม่ทัพของกองทัพราชวงศ์ซ่งเหนือที่ล่มสลายนามเจ้าโก้ว ได้อาศัยช่วงเวลาที่กองทัพจินถอนทัพตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้นใหม่ที่เมือนหนานจิง (ปัจจุบันคือเมืองซังชิว มณฑลเหอหนาน) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเกาจง ในปีถัดมา (ค.ศ.1128) ซ่งเกาจงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหลินอัน (เมืองหางโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นเมืองที่มีภูมิชัยค่อนข้างดีในการตั้งรับการรุกรานจากอาณาจักรจิน  ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังได้เรียกขานราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ดินแดนเจียงหนานนี้ว่า ราชวงศ์ซ่งใต้ หลังยึดดินแดนในแถบเจียงหนานเป็นฐานที่มั่นได้ ฮ่องเต้ซ่งเกาจง ได้แต่งตั้งหลี่กัง ()ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และจงเจ๋อ () ขุนนางที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี ทั้งยังดำเนินยุทธวิธีทางการทหารหลายประการ เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของชนเผ่าจินอย่างแข็งขัน ด้วยการกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่ต่างๆ, พัฒนายุทโธปกรณ์ทางการทหารให้มีความทันสมัยขึ้น, ปฏิรูประบบการทหารเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตามเนื่องจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งใต้มีบัญชาให้ดำเนินนโยบายสันติและปกป้องดินแดนเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวนโยบายพื้นฐานให้ขุนนางฝ่ายบุ๋นเป็นฝ่ายควบคุมขุนนางฝ่ายบู๊ ยกการเมืองเหนือการทหาร ส่งผลให้การขยายดินแดน การยึดครองดินแดนที่เสียไปในราชวงศ์ซ่งเหนือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลี่กังซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีได้เพียง 75 วันก็ถูกปลด ขณะที่เสนาบดีจงเจ๋อถึงกับตรอมใจตาย  ในประเด็นดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์จีนได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์บุกขึ้นเหนือไปยึดดินแดนคืนจากพวกจินก็เพราะว่า หนึ่งพระองค์เกรงกลัวต่อกองทัพจิน และสองพระองค์เกรงกลัวว่าหากสามารถปราบพวกจินได้ฮ่องเต้สองพระองค์ที่ถูกจับเป็นเชลยไปคือ ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงจะกลับมาแย่งบัลลังก์จากพระองค์ไป ... ด้วยความขัดแย้งอันนี้นี่เองที่ทำให้ภายในราชสำนักซ่งใต้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางฝ่ายเหยี่ยวและขุนนางฝ่ายพิราบโดยตลอด  ในปี ค.ศ.1128 กองทัพจินได้ทียกทัพลงมารุกรานดินแดนทางตอนใต้อีกครั้ง โดยสามารถบุกตีเมืองสำคัญๆ ได้หลายแห่ง คือ เปี้ยนจิง (汴京), สีว์โจว (徐州), หยางโจว (扬州) เป็นต้น ต่อมาในฤดูหนาวปีเดียวกันแม่ทัพของจินนามอูจู๋ () ได้ยกทัพใหญ่บุกเมืองเจี้ยนคัง (建康) และ หางโจว เมื่อฮ่องเต้ซ่งเกาจงเห็นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขันพระองค์จึงหลบหนีไปยังเมืองติ้งไห่ (定海; ปัจจุบันคือเมืองเจิ้นไห่ มณฑลเจ้อเจียง) และเวินโจว ในเวลาเดียวกันเนื่องจากระหว่างการยกทัพมารุกรานชาวฮั่น ทหารจินได้ทำการฆ่าฟันชาวฮั่นด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ชาวบ้านมีความโกรธแค้นทหารจินเป็นอย่างมาก จนกระแสการต่อต้านกองทัพจินในหลายพื้นที่นั้นพุ่งขึ้นสูง  ในภาวะวิกฤตของชาติเช่นนี้นี่เอง ทำให้ในกองทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ก่อกำเนิดขุนศึกเลื่องชื่อเกิดขึ้นหลายคน โดยหนึ่งในขุนศึกที่ชนรุ่นหลังรู้จักกันดีที่สุดก็คือ งักฮุย

 
งักฮุย หรือ เย่ว์เฟย (; ค.ศ.1103-1142) เกิดในครอบครัวชาวนาในมณฑลเหอหนาน ค.ศ.1125 ขณะที่งักฮุยอายุได้ 22 ปี เมื่อกองทัพจินบุกลงใต้ เขาได้ร่วมกับกองทัพในการปกป้องเมืองไคเฟิง ด้วยความเก่งกาจในการรบของงักฮุยทำให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพจินโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่ทัพ งักฮุยได้ฝึกฝนกองทัพอันเข้มแข็งของตัวเองขึ้นในในนาม กองทัพงักฮุย (岳家)” ความเข้มแข็งและชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารจินนั้นครั่นคร้ามต่อกองทัพงักฮุยเป็นอย่างยิ่ง จนมีคำร่ำลือกันในหมู่ทหารจินว่า โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่งในปี ค.ศ.1140 ภายในอาณาจักจินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแม่ทัพสายเหยี่ยวอย่างอูจู๋ขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนักจิน ส่งผลให้ในเวลาต่อมากองทัพจินยกทัพลงมารุกรานอาณาจักรซ่งใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการแบ่งการเดินทัพออกเป็นหลายสาย อย่างไรก็ตามด้วยการต่อต้านอันเข้มแข็งของประชาชนและทหารซ่งทำให้สามารถยันกองทัพจินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ด้วยความกล้าหาญและสามารถของแม่ทัพแห่งราชวงศ์ซ่งหลายต่อหลายนายอย่างเช่น หานซื่อจง (韩世忠), จางจุ้น (张俊) รวมไปถึงงักฮุย ทำให้นอกจากจะสามารถป้องกันอาณาเขตไว้ได้แล้ว กองทัพซ่งยังสามารถรุกเอาดินแดนคืนได้อีกมากมายด้วย โดยกองทัพของงักฮุยสามารถยึดเอาไช่โจว (蔡州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) อิ่งชาง (颍昌; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) เจิ้งโจว และลั่วหยาง คืนมาจากจินได้ โดยในเวลาต่อมากองทหารม้าของงักฮุยยังสามารถรักษาเหยี่ยนเฉิง (郾城; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) และตีกองทัพทหารม้าอันเข้มแข็งของอูจู๋เสียกระเจิงอีกด้วย โดยชัยชนะครั้งนั้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนบันทึกเอาไว้ว่าคือ ชัยชนะที่เหยี่ยนเฉิง (郾城大捷)”  ณ เวลานั้นแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นใจอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูประเทศของราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีนามฉินฮุ่ย (秦桧) กลับมีแนวนโยบายในการเจรจาสงบศึกกับอาณาจักรจิน โดยมองว่างักฮุยนั้นคืออุปสรรคของการเจรจา ทำให้มีการส่งป้ายทองอาญาสิทธิ์ 12 ป้ายภายในวันเดียวเรียกให้งักฮุยถอนทัพกลับมาทางใต้ แม้งักฮุยจะพยายามฝืนคำสั่งของราชสำนักเช่นไรแต่สุดท้ายก็ทัดทานไว้ไม่ไหวต้องยกทัพกลับเมืองหลวง ปล่อยให้กองทัพจินยึดดินแดนคืนกลับไป

ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368)


ราชวงศ์หยวน หรือที่เรียกในนามว่าต้าหยวน (大元)เป็นมหาอาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกลที่อาศัยอยู่บนที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศจีน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีชนกลุ่มน้อยสามารถเข้ายึดครองอำนาจการปกครองทั่วทั้งแผ่นดินจีนได้ ชาวมองโกลที่เชี่ยวชาญด้านการสัประยุทธ์ ไม่เพียงแต่ใช้กำลังทหารยึดครองเขตภาคกลางและพื้นที่ทางตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ของจีนเท่านั้น แต่ยังได้แผ่ขยายแสนยานุภาพควบคุมไปจนถึงเขตเอเชียตะวันตก กลางเป็นราชวงศ์ที่มีขอบเขตการปกครองที่กว้างใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีประวัติศาสตร์จีนเป็นต้นมา

อุบัติกาลชนชาติมองโกล

ชนชาติมองโกล(蒙古族)จัดเป็นชนเผ่าเก่าแก่หนึ่ง ที่อาศัยการเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ในการดำรงชีวิต เนื่องจากอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ทุรกันดาร มีอากาศหนาวจัด และเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ชาวมองโกลเป็นคนที่มีความทรหดอดทน และเก่งกล้าสามารถในการขี่ม้าและยิงธนู กระทั่งช่วงศตวรรษที่ 12 ในชนเผ่ามองโกลได้บังเกิดยอดคนที่เป็นผู้นำขึ้นคนหนึ่งนามว่า เถี่ยมู่เจิน (铁木真) หรือเตมูจินที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชนเผ่าด้วยการรวบรวมชาวมองโกลที่แตกแยกกระจัดกระจายได้สำเร็จ จนได้รับการขนานนามเป็น เจงกิสข่าน” (成吉思汗)ในปีค.ศ. 1206  ภายใต้การนำของเจงกีสข่าน ชนเผ่ามองโกลได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นกองกำลังทางเหนือของจีนที่ไม่อาจดูแคลนได้อีกต่อไป ในขณะนั้น นอกจากอาณาจักรซ่งใต้ (南宋)แล้ว ยังมีอาณาจักรซีเซี่ย(西夏) และอาณาจักรจิน(金国)ที่จัดว่าเป็นดินแดนที่มีเอกราชอธิปไตยของตนอยู่ จนกระทั่งปี 1227 เจงกิสข่านได้นำทัพเข้าพิชิตดินแดนซีเซี่ย และสิ้นพระชนม์จบชีวิตอันเกรียงไกรของตนลงในปีเดียวกัน  แม้ว่าเจงกิสข่านจะสิ้นชีพไปแล้ว ทว่าด้วยรากฐานที่ได้วางเอาไว้ ส่งผลให้อาณาจักรของมองโกลมิเพียงไม่ถดถอย ซ้ำยังรุดหน้าขยายแผ่นดินไปเรื่อยๆ หลังจากกลืนแผ่นดินซีเซี่ยเป็นผลสำเร็จ ก็เบนเข็มต่อมายังอาณาจักรจิน ซึ่งถือว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรซ่งใต้กับมองโกล ซึ่งในช่วงเวลานั้น ราชสำนักซ่งใต้ ได้เลือกที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับมองโกล จนกระทั่งในปีค.ศ. 1234 กองทัพอันเหี้ยมหาญของชนชาติที่ยิ่งใหญ่บนทุ่งหญ้า ก็สามารถพิชิตอาณาจักรจินที่กำลังเสื่อมถอยลงได้

 

สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวน

หลังจากผ่านการสืบทอดอำนาจมาหลายรุ่น จากเจงกีสข่าน มาสู่วอคั่วข่าน กุ้ยโหยวข่าน เมิ่งเกอข่าน และเมื่อมาถึงสมัยของกุบไลข่าน หรือฮูปี้เลี่ย (
忽必烈) หลานของเจงกีสข่านผู้ขนานนามตนเองว่าหยวนซื่อจู่ (元世祖)ได้ยอมรับความคิดเห็นของขุนนางนามหลิวปิ่งจง, หวังเอ้อ สถาปนาราชวงศ์ต้าหยวนขึ้นในปีค.ศ. 1271 และย้ายราชธานีมาอยู่ที่ต้าตู (大都) หรือปักกิ่งในปัจจุบันโดยคำว่าหยวนมาจากคำในคัมภีร์โบราณของจีน อี้จิง” () โดยยังคงรักษาซั่งตู ให้เป็นเมืองหลวงทางตอนเหนือเอาไว้ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของอาณาจักรมองโกลผู้แผ่ขยายอาณาเขตไปจนถึงเปอร์เซีย รัสเซีย ที่แต่เดิมสนใจเพียงปล้นชิงขูดรีดจากแผ่นดินจีน กลายมาเป็นถือเป็นแผ่นจีนเป็นศูนย์กลางในการปกครองอาณาจักร อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ปักกิ่งค่อยๆกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมทางการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  แม้ว่าจะมีการตั้งเมืองหลวงอยู่ในต้าตูแล้ว ทว่า ณ เวลานั้นชนชาติมองโกลยังไม่สามารถครอบครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ด้วยปณิธานที่ต้องการจะรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น กุบไลข่านจึงนำทัพบุกดินแดนซ่งใต้แล้วจับตัวฮ่องเต้ซ่งกงตี้กับพระมารดาไป ในห้วงเวลาดังกล่าวก็ยังมีขุนนางซ่งผู้จงรักภักดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านกองทัพมองโกลอย่างกล้าหาญ ทว่าในที่สุดราชวงศ์ซ่งใต้ก็ถูกพิชิตอย่างราบคาบในปี 1279 ราชวงศ์หยวนสามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นโดยมีอาณาเขตทางเหนือจรดแผ่นดินมองโกล ไซบีเรีย ทางใต้จรดหนันไห่ (ทะเลใต้) ตะวันตกเฉียงใต้ครอบคลุมไปถึงมณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) และทิเบตในปัจจุบัน ตะวันตกเฉียงเหนือไปถึงทางตะวันออกของซินเจียง (ซินเกียง) ตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงทะเลโอคอตสค์ เป็นมหาจักรวรรดิแห่งแรกที่ครองพื้นที่ไปทั่วทั้งเอเชียและยุโรป


อารยธรรมอันรุ่งโรจน์ มาร์โคโปโล เยือนจีน

ในยุคสมัยของหยวนซื่อจู่ ปฐมฮ่องเต้ในราชวงศ์หยวน ประเทศจีนในยามนั้นนับว่าเป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมั่งคั่งมากแห่งหนึ่งในโลก จนกระทั่งมีบรรดาทูต พ่อค้าวาณิชย์ และนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางเข้ามายังแผ่นดินจีน  นอกจากนั้นฮ่องเต้หยวนซื่อจู่เองก็ยังทรงโปรดให้นำชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำให้ราชวงศ์หยวนเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การแพทย์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การทำปืนใหญ่ และหัตถกรรมฯลฯ และสืบเนื่องจากชนชั้นผู้ปกครองได้ทุ่มเทผลักดันการกสิกรรมแทนการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว ทำให้วิวัฒนาการทางการเกษตรในช่วงเวลานี้ได้พัฒนาไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะเมื่ออาณาเขตได้แผ่ขยายไปจนถึงเอเชียตะวันตก ทำให้จีนกับยุโรปมีการไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น จนมีการถ่ายเทกรรมวิธีและความรู้ต่างๆไปมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงปีค.ศ. 1231-1316 กัวโส่วจิ้ง(
郭守敬) ผู้เป็นทั้งนักดาราศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคณิตศาสตร์ และนักชลประทานชื่อดังแห่งราชวงศ์หยวน โดยกัวโส่วจิ้งกับหวังสวิน (王恂)ได้รับบัญชาจากหยวนซื่อจู่ ให้คุมงานการจัดสร้างหอดาราศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ต้าตู โดยนอกจากการก่อสร้างแล้ว กัวโส่วจิ้งยังได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆขึ้นกว่าสิบสามชนิด เพื่อใช้ในหอดาราศาสตร์ดังกล่าว โดยเฉพาะเครื่องดูดาวพิกัดท้องฟ้าทรงกลม(简仪) ซึ่งจัดเป็นนวัตกรรมที่ล้ำยุคอย่างยิ่งในสมัยนั้น

 

ส่วนการร่วมงานกับต่างชาติในยุคนี้ เห็นได้ชัดจากบันทึกของมาร์โค โปโล นักเดินทางชาวอิตาเลียน ซึ่งถือว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางข้ามทวีปเอเชียและเขียนบันทึกการเดินทางถึงสิ่งที่ได้พบได้ยินเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ The Travels of Marco Polo  โดย Niccolo กับ Maffeo บิดาและลุงของมาร์โคโปโลได้เดินทางมายังประเทศจีน และได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตจากกุบไลข่าน หลังจากกลับจากแผ่นดินจีนไปยังบ้านเกิด การมาอีกครั้งหนึ่งของพวกเขาได้นำพาบุตรชายมาร์โค โปโลติดตามมาด้วย  มาร์โค โปโลมาใช้เวลาเดินทาง 3 ปี กระทั่งมาถึงประเทศจีนด้วยวัย 20 ย่าง 21 ปี โดยเดินทางไปถึงซั่งตู และได้รับพระราชทานจัดงานเลี้ยงต้อนรับขึ้นในวังหลวง จากนั้นก็ให้ตระกูลโปโลอยู่ถวายงานในราชสำนัก ทำให้ในช่วงเวลา 17 ปีที่มาร์โค โปโลพำนักอยู่ในประเทศจีน มีโอกาสได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อปฏิบัติภารกิจมากมาย ในหนังสือของมาร์โค โปโลมีการบันทึกถึงรูปร่างของแผ่นดิน สัตว์ พืชพันธุ์ต่างๆ รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ การเล่าถึงหินและของเหลวที่ติดไฟได้ (ถ่านหินและน้ำมัน) โดยเขาได้พรรณนาถึงอารยธรรมจีนว่ามีความเจริญเหนือกว่าวัฒนธรรมและเทคโนโลยีของชาวยุโรป และระบุว่าจีนมีแหล่งพลังงานที่ยิ่งใหญ่อยู่ 2 อย่างก็คือ ดินปืนและบะหมี่
การแบ่งชั้นวรรณะและการปกครองอันเหี้ยมโหด

ราชวงศ์หยวนเป็นยุคสมัยที่ประเทศต้องปกครองผู้คนหลากหลายชนชาติเผ่าพันธุ์ โดยมีประชากรที่เป็นชาวฮั่นมากที่สุด การปกครองในสมัยนั้นจึงยึดเอาชนชาติมองโกลเป็นกลุ่มชนหลักในการบริหารประเทศ เพื่อปกครองและป้องกันการต่อต้นขัดขืนจากชาวฮั่นที่มีอยู่อย่างมหาศาลในแผ่นดินจีน ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นจึงได้เลียนอย่างอาณาจักรจินที่มีการแบ่งชนชั้นของประชาชน ซึ่งในสังคมราชวงศ์หยวนชาวมองโกลทั้งหลายจะถูกจัดว่ามีฐานะทางสังคมสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นพวกเซ่อมู่ (เป็นชื่อเรียกรวมผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ทางตะวันตก อาทิพวกซี่เซี่ย หุยหุย ซีอี้ว์ เป็นต้น) จากนั้นก็เป็นชาวฮั่นทางเหนือที่เคยอยู่ใต้อาณัติการปกครองของอาณาจักรจิน ซึ่งรวมถึงชาวหนี่ว์เจิน ชี่ตาน ป๋อไห่ และที่ต่ำสุดก็คือชาวใต้ที่หมายถึงชาวฮั่นจากซ่งใต้ที่ถูกรวบเข้ามาอยู่ในอาณัติปกครองหลังสุด และแม้ว่าในสมัยนั้น ราชสำนักไม่ได้มีการออกกฎหมายการแบ่งชนชั้นออกมา ทว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนอยู่ในสิทธิอำนาจและหน้าที่ต่างๆของกฎหมายหลายๆฉบับ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่
นอกจากการแบ่งชนชั้นแล้ว สมัยราชวงศ์หยวนยังมีการแบ่งระดับความสูงต่ำของอาชีพเอาไว้เป็น 10 ลำดับได้แก่ ระดับที่1 ขุนนาง 2 ข้าราชการ 3 พระสงฆ์ 4 นักบวชเต๋า 5 แพทย์ 6 กรรมกร (แรงงาน) 7 ช่างฝีมือ 8 โสเภณี 9 บัณฑิต 10 ขอทาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บรรดาบัณฑิต หรือปัญญาชนทั้งหลายได้สูญเสียจุดยืนความสำคัญที่เคยมีมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง ถูกจัดลำดับในสังคมอยู่ต่ำกว่ากระทั่งโสเภณีจนเกิดคำล้อเลียนเสียดสีในยุคสมัยนั้นว่า หนึ่งขุนนางสองข้าราชการ เก้าบัณฑิตสิบขอทานขึ้น  อย่างไรก็ตามเมื่อมีวัตถุอุดมสมบูรณ์มากขึ้น บรรดาชนชั้นปกครองของราชวงศ์หยวนก็เริ่มที่จะใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อฟอนเฟะ อีกทั้งเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจภายในอย่างรุนแรง โดยหลังจากที่ฮ่องเต้เฉินจง ที่สืบทอดต่อจากหยวนซื่อจู่ ซึ่งนับว่ายังพอจะรักษาผลงานของกุบไลข่านไว้ได้บ้างแล้ว หลังจากนั้นในระยะเวลาสั้นๆเพียง 25 ปีนับตั้งแต่ปี 1308-1333 ราชวงศ์หยวนมีฮ่องเต้ถึง 8 พระองค์จากฮ่องเต้อู่จง เหรินจง อิงจง ไท่ติ้งตี้ เทียนซุ่นตี้ เหวินจง หมิงจง หนิงจง และหยวนซุ่นตี้ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจอย่างหนักหน่วง โดยบางพระองค์ครองราชย์เพียงปีเดียวเท่านั้น  ในยุคหลังของราชวงศ์หยวน ฮ่องเต้แต่ละพระองค์ต่างใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะตอบสนองตัณหาของตน จึงขูดรีดภาษีจากประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะกับชาวฮั่น ที่โดนกดขี่อย่างหนักหน่วง จนทำให้ชาวฮั่นทั้งหลาย ต้องเริ่มที่จะใช้วิธีการต่างๆในการตอบโต้กับการปกครองอันเหี้ยมโหดนี้
 
กองทัพโพกผ้าแดงและการล่มสลายของราชวงศ์

ความฟอนเฟะในราชสำนักได้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงปลายราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลในชนชั้นปกครองยิ่งขูดรีดประชาชนสาหัส ใช้ความรุนแรงและโหดเหี้ยมกับทาส มีการอายัดที่ดินจำนวนอย่างมหาศาลเพื่อเอาไปใช้เสพสุข และผลักดันให้ประชาชนที่สูญเสียที่ดินกลายไปเป็นทาส อีกทั้งเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าต้นราชวงศ์ถึง 20 เท่าตัว นอกจากนั้นยังมีการคร่ากุมสตรีชาวบ้านที่งดงาม ถลุงเงินจนรายจ่ายคลังหลวงไม่เพียงพอต่อรายรับ จนต้องมีการพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างมากมาย ทำให้ค่าของเงินตราที่ใช้ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ผนวกกับในยามนั้นเขื่อนกั้นแม่น้ำฮวงโหไม่ได้รับการบูรณะมาเป็นเวลาหลายปี จนเกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้ง ทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ยากลำเค็ญ จนกลายเป็นสภาพ ผู้คนอดตายเกลื่อนถนน คนเป็นก็ไม่พ้นใกล้เป็นผี” (
饿死已满路 生者与鬼)  ในปี 1351 ภายใต้สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ราชสำนักต้าหยวนได้ส่งทหาร 20,000 คนเพื่อบังคับเกณฑ์แรงงานชาวฮั่นถึง 150,000 คนเพื่อไปขุดลอกแม่น้ำและซ่อมเขื่อนที่พัง ซ้ำรายขุนนางที่มีหน้าที่คุมการขุดลอกยังฉวยโอกาสโกงกินเงินค่าอาหารของแรงงาน ทำให้ชาวฮั่นที่ถูกเกณฑ์มาต้องทนหิวทนหนาว จนมวลชนเกิดความเจ็บแค้นต่อราชสำนัก ในเวลานั้นเอง หลิวฝูทง (刘福通) จึงได้อาศัยลัทธิดอกบัวขาว (连教) ในการรวบรวมชาวบ้านเป็นกองทัพชาวนาขึ้น ต่อมาหลิวฝูทงได้ส่งสาวกลัทธิดอกบัวขาว ให้ออกไปปล่อยข่าวลือว่า เมื่อใดที่มนุษย์หินตาเดียวปรากฏ ก็จะมีการพลิกฟ้าผลัดแผ่นดินหลังจากนั้นก็ลอบส่งคนไปทำรูปปั้นหินมนุษย์ตาเดียวแล้วนำไปฝังไว้บริเวณที่มีการขุดลอกแม่น้ำ ภายหลังเมื่อมีชาวบ้านไปขุดพบรูปปั้นหิน การต่อต้านชาวมองโกลจึงลุกลามขึ้นเป็นไฟลามทุ่ง
เมื่อโอกาสสุกงอม หลิวฝูทง และหานซันถง (韩山童)ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำลัทธิดอกบัวขาว ได้นำพาชาวบ้านจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้น เนื่องจากชาวบ้านที่รวมตัวกันนี้ต่างโพกผ้าสีแดงเอาไว้บนศีรษะ จึงได้รับการเรียกขานเป็น กองทัพโพกผ้าแดง” (红巾军) ทว่าในห้วงเวลาที่เริ่มก่อตั้งกองทัพนั้น เนื่องจากเกิดความลับรั่วไหล ทำให้กองทัพโพกผ้าแดงที่เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างถูกทหารทางการล้อมปราบ หานซันถงหนึ่งในผู้นำถูกจับกุมตัวและสังหาร ในขณะที่หลิวฝูงทงหนีฝ่าวงล้อมออกมา หลังจากที่หลิวฝูทงหลบรอดออกมาได้ ก็ทำการรวบรวมกองกำลังขึ้นอีกครั้ง แล้วทำการบุกตีเมืองต่างๆ และเนื่องจากไม่ว่ากองทัพบุกยึดไปถึงที่ใด ก็จะมีการเปิดคลังหลวงเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ทั้งหลายจนทำให้กองทัพมีกองกำลังเพิ่มขึ้นเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน และเมื่อถึงปี 1355 เมื่อกองทัพภายใต้การนำพาของหลิวฝูทงสามารถพิชิตเมืองป๋อโจวได้ จึงสถาปนา หานหลินเอ๋อ (韩林儿) บุตรชายของหานซันถงขึ้นเป็น เสี่ยวหมิงหวัง” (小明王) จัดตั้งอำนาจการปกครองที่เกิดจากการปฏิวัติของชาวนาขึ้น จนกระทั่งในปี 1357 เมื่อหลิวฝูทงได้แบ่งกำลังเป็น 3 สายบุกขึ้นเหนือ โดยเส้นตะวันออกบุกผ่านซันตง เหอเป่ย มุ่งไปยังต้าตู เส้นกลางบุกผ่านซันซี เหอเป่ย ไปยังซั่งตู ราชธานีทางเหนือของมองโกล จนสามารถเผาพระราชวังทางเหนือของมองโกลได้ ทางตะวันตกบุกผ่านกวนจง ซิงหยวน เฟิ่งเสียง แล้วตีไปทางเสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ยโดยประสบชัยชนะมาตลอดทางถือเป็นช่วงที่กองทัพโพกผ้าแดงมีความรุ่งเรืองและเข้มแข็งที่สุด  ทว่าในภายหลัง ราชวงศ์หยวนยังคงดิ้นรนด้วยการให้ตำแหน่งกับบรรดาเจ้าของที่ดินและเหล่าเศรษฐีที่สามารถช่วยระดมพลมาช่วยทำศึกได้ ผนวกกับในขณะนั้นที่กองทัพโพกผ้าแดงได้แบ่งเป็นสามทัพแยกย้ายทำศึก ไม่มีการปักหลักแหล่งที่แน่นอนอีกทั้งขาดแผนการที่รัดกุมเพียงพอ จึงทำให้ต้องสูญเสียดินแดนที่ยึดมาได้กลับไปใหม่หลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งในห้วงเวลาที่กองทัพโพกผ้าแดงกำลังสู้ศึกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกับกองทัพหยวน หลิวฝูทงผู้นำของกองทัพก็ต้องมาเสียชีวิตลงในปี 1362  เมื่ออำนาจของกองกำลังโพกผ้าแดงเสื่อมสลายนั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่อีกกองกำลังทางใต้ที่นำโดยจูหยวนจาง (朱元璋)กำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจูหยวนจางผู้นี้เป็นลูกชาวนาเกิดในครอบครัวที่แร้นแค้น เดิมสังกัดอยู่กับกัวจื่อซิงในกองทัพโพกผ้าแดง ทว่าภายหลังได้ออกมาตั้งกองกำลังของตนเอง และได้แผ่ขยายขึ้นหลังจากที่ได้บุกยึดเมืองจี๋ชิ่ง (นานกิงในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอิ้งเทียนฝู่ พร้อมทั้งยอมรับคำแนะนำจากนักกลยุทธนามจูเซิงที่ได้ชี้ว่า ให้สร้างกำแพงเมืองสูง สั่งสมเสบียงอาหาร ชะลอการตั้งตนเป็นอ๋องบวกกับได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีเสิ่นวั่นซันทำให้กองทัพนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
 
จูหยวนจางเองแม้สร้างผลงานมากมาย แต่ในระยะแรกก็ยึดมั่นในคำแนะนำดังกล่าว พยายามสนับสนุนให้ชาวเมืองเพิ่มพูนผลผลิต และตั้งตนเองเป็นเพียงอู๋กั๋วกง (เจ้าพระยา) อีกทั้งเชิญตัวเสี่ยวหมิงหวังที่กองทัพโพกผ้าแดงตั้งเป็นกษัตริย์มาอยู่ด้วย ทำให้ชาวฮั่นทั้งหลายเชื่อถือในความชอบธรรมของกองทัพนี้มากกว่ากองกำลังอื่นๆ จนสุดท้ายสามารถเอาชนะกองกำลังขุนศึกอื่นๆอย่างสีว์โซ่วฮุย เฉินโหย่วเลี่ยง และจางซื่อเฉิงไปได้  เมื่อวันขึ้นสี่ค่ำ เดือนอ้าย ปี1368 (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม) ทั่วทั้งแดนใต้ก็อยู่ในอำนาจของจูหยวนจางทั้งหมด จูหยวนจางจึงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์หมิง (明朝)ขึ้นที่อิ้งเทียนฝู่ โดยตั้งชื่อรัชกาลว่าหงอู่ ตั้งเมืองอิ้งเทียนเป็นเมืองหลวงทางใต้ และตั้งไคเฟิงเป็นเมืองหลวงทางเหนือ ที่มาของชื่อราชวงศ์นั้น มีตำนานเล่าขานกันว่ามาจากการที่ในอดีตจูหยวนจางเคยเป็นสาวกลัทธิแสงสว่าง (หมิงเจี้ยว) เมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้จึงได้ใช้คำว่า หมิงมาเป็นชื่อราชวงศ์ จนกระทั่งถึงเดือน 7 ในปีเดียวกัน จูหยวนจางได้ส่งแม่ทัพใหญ่สีว์ต๋าบุกถึงต้าตู อันเป็นราชธานีของราชวงศ์หยวน จนกระทั่งหยวนซุ่นตี้ต้องลี้ภัยขึ้นไปทางเหนือจึงถือว่าเป็นกาลอวสานของราชวงศ์หยวนอันเกรียงไกร   ราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์ที่สถาปนาขึ้นโดยชนชาติมองโกล มีอายุทั้งสิ้น 97 ปี และมีฮ่องเต้ทั้งหมด 11 พระองค์ (นับจากที่กุบไลข่านสถาปนาราชวงศ์) นับเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีความเข้มแข็งมากราชวงศ์หนึ่ง ทว่าด้วยความแบ่งแยกชนชั้น ความฟุ้งเฟ้อ การขูดรีดและการกดขี่ชาวฮั่นทำให้ต้องล่มสลายเร็วกว่าที่ควร ซึ่งความผิดพลาดในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นอุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของราชวงศ์ชิงในยุคต่อมา  อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์หยวนจัดว่าเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ได้กำหนดอาณาเขตการปกครองของแผ่นดินจีนในภายหลังขึ้น เนื่องจากตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนจนถึงช่วงกลางหลังของราชวงศ์ชิง อาณาเขตของแผ่นดินจีนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

เครดิตอ้างอิง (บทความนี้ถอดความมาจากคอลัมน์ มุมจีน ธารประวัติศาสตร์  7 มิถุนายน 2548, 7 พฤษภาคม 2550 และ 22 มกราคม 2551 ,ผู้จัดการออนไลน์)   


ตอนต่อไป จะกล่าวถึงเหตุการณ์และบุคคลสำคัญของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น