วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ยุทธจักรนักการเมือง ตอน ลำนำเพลงดาบ (2) อาบโลหิต พิชิตบัลลังก์ จากถัง สู่ชิง ตอนที่ 2

เหตุการณ์ในยุคสมัยราชวงศ์ถัง

ราชวงศ์ถังเป็นช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่มีสถานะความสำคัญเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงต้นราชวงศ์ ประสบความสำเร็จในการสร้างกลไกการปกครองที่มีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพอย่างทั่วถึงในราชอาณาจักร บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองในทุกๆด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ วรรณคดี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯลฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของศักดินาและเป็นยุคทองของวรรณคดี อาณาจักรกว้างใหญ่เป็นปึกแผ่น มั่งคั่งร่ำรวยและทรงอานุภาพที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดของจีน นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญต่อแนวคิดการสร้างชาติของชนชาติจีน ด้วยเกิดการรวมตัวของกลุ่มชนเผ่าที่หลากหลาย นับตั้งแต่สมัยวุ่ยจิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ ราชวงศ์สุย จวบจนราชวงศ์ถัง ได้หลอมรวมวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียว ด้วยแนวคิดการรวมประเทศอย่างมั่นคงสืบต่อมา

สถาปนาราชวงศ์ถัง

ปฐมกษัตริย์ถังเกาจู่หรือหลี่ยวน
(李渊)ถือกำเนิดในเชื้อสายชนชั้นสูงจากราชวงศ์เหนือ มีความเกี่ยวดองสายเครือญาติกับปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุยอย่างใกล้ชิด ครั้นถึงปลายราชวงศ์สุย แผ่นดินอยู่ในสภาพระส่ำระสายจากกลุ่มกองกำลังต่างๆที่ลุกฮือขึ้น ปี 617 หลี่ยวนที่รักษาแดนไท่หยวน ตกอยู่ในภาวะล่อแหลม เนื่องจากไท่หยวนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กลุ่มกองกำลังต่างต้องการแย่งชิง ขณะเดียวกันก็ทราบว่าสุยหยางตี้ทรงระแวงว่าหลี่ยวนจะแปรพักตร์ จึงประกาศตัวเป็นอิสระจากราชสำนัก เวลานั้น กองกำลังหวากั่ง และเหอเป่ย เข้าปะทะกับกองทัพสุย เป็นเหตุให้กำลังป้องกันของเมืองฉางอันอ่อนโทรมลง หลี่ยวนได้โอกาสบุกเข้ายึดเมืองฉางอันไว้ได้ จากนั้นตั้งหยางโย่ว 杨侑)เป็นฮ่องเต้หุ่น ปีถัดมา สุยหยางตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ที่เมืองเจียงตู หลี่ยวนจึงปลดหยางโย่ว ประกาศตั้งตนเป็นกษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์ถัง(唐)โดยมีนครหลวงอยู่ที่เมืองฉางอัน พร้อมกับแต่งตั้งโอรสองค์โตหลี่เจี้ยนเฉิง (李建成)เป็นรัชทายาท หลี่ซื่อหมิน (李世民)โอรสองค์รองเป็นฉินหวัง(秦王) และหลี่หยวนจี๋ (李元吉)โอรสองค์เล็กเป็นฉีหวัง齐王)

 
หลี่ซื่อหมินรวมแผ่นดิน

ภายหลังสถาปนาราชวงศ์ถัง แผ่นดินยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังต่างๆ อาทิ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ มีเซียว์จี่ว์
(薛举)ทางเหนือมีหลิวอู่โจว (刘武周)หวังซื่อชง(王世充)สถาปนาแคว้นเจิ้ง郑)ที่เมืองลั่วหยาง โต้วเจี้ยนเต๋อ窦建德)ตั้งตนเป็นเซี่ยหวัง (夏王)ที่เหอเป่ย (ทางภาคอีสานของจีน) ปลายปี 618 เซียว์จี่ว์เสียชีวิตกะทันหัน เซียว์เหยินเก่า(薛仁杲)บุตรชายสืบทอดต่อมา หลี่ซื่อหมินเห็นเป็นโอกาสรุกทางทหาร ยึดได้ดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปี 619 กลุ่มกองกำลังของหลี่กุ่ย(李轨)เกิดการแย่งชิงอำนาจ จึงเป็นโอกาสให้ราชวงศ์ถังเข้าครอบครองแดนเหอซี ปี 620 กวาดล้างกลุ่มกองกำลังของหลิวอู่โจว ปลายปีเดียวกัน หลี่ซื่อหมินยกทัพใหญ่เข้าปิดล้อมหวังซื่อชงที่ลั่วหยาง โต้วเจี้ยนเต๋อยกกำลังมาช่วย แต่ถูกหลี่ซื่อหมินโจมตีแตกพ่ายไป โต้วเจี้ยนเต๋อถูกจับ ภายหลังเสียชีวิตที่ฉางอัน หวังซื่อชงได้ข่าวการพ่ายแพ้ของโต้วเจี้ยนเต๋อจึงยอมจำนนต่อราชวงศ์ถัง ปี 622 ทัพถังกวาดล้างกองกำลังเหอเป่ยที่หลงเหลือ จากนั้นกองกำลังต่างๆบ้างยอมสวามิภักดิ์ บ้างถูกปราบปรามจนราบคาบ ภารกิจเบื้องต้นในการรวมแผ่นดินถือได้ว่าสำเร็จลง ขณะที่ศึกแย่งชิงอำนาจในราชสำนักก็เริ่มปะทุขึ้น

เหตุเปลี่ยนแปลงที่ประตูเซวียนอู่


หลี่ซื่อหมินที่นำทัพปราบไปทั่วแผ่นดิน นับว่าสร้างผลงานความชอบที่โดดเด่น เป็นที่ริษยาของพี่น้อง ประกอบกับระหว่างการกวาดล้างกองกำลังน้อยใหญ่นั้นได้เพาะสร้างขุมกำลังทางทหาร และยังชุบเลี้ยงผู้มีความสามารถไว้ข้างกายจำนวนมาก อาทิ อี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ
(尉迟敬德)หลี่จิ้ง(李靖)ฝางเซวียนหลิ่ง(房玄齡)เป็นต้น อันส่งผลคุกคามต่อรัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง เป็นเหตุให้รัชทายาทเจี้ยนเฉิงร่วมมือกับฉีหวังหลี่หยวนจี๋เพื่อจัดการกับหลี่ซื่อหมิน ปัญหาข้อขัดแย้งดังกล่าวทำให้สองฝ่ายยิ่งทวีความเป็นปรปักษ์มากขึ้น  จวบจนกระทั่งปี 626 หลี่ซื่อหมินชิงลงมือก่อน โดยกราบทูลเรื่องราวต่อถังเกาจู่ ถังเกาจู่จึงเรียกทุกคนให้เข้าเฝ้าในเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่ขบวนของหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนจี๋ผ่านเข้าประตูเซวียนอู่นั้น (ประตูใหญ่ทางทิศเหนือของวังหลวง) หลี่ซื่อหมินก็นำกำลังเข้าจู่โจมสังหารรัชทายาท และฉีหวัง เหตุการณ์ครั้งนี้ต่อมาได้รับการเรียกขานว่า เหตุเปลี่ยนแปลงที่ประตูเซวียนอู่(玄武门之变)ภายหลังเหตุการณ์ ถังเกาจู่แต่งตั้งหลี่ซื่อหมินเป็นรัชทายาท จากนั้นอีกสองเดือนต่อมาก็ทรงสละราชย์ ให้หลี่ซื่อหมินขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา ทรงพระนามว่า ถังไท่จง(唐太宗)และประกาศให้เป็นศักราชเจินกวน (ปี 627 – 649)

ศักราชเจินกวน贞观之治)

ต้นศักราชเจินกวน บ้านเมืองยังอยู่ในสภาพทรุดโทรมเสียหายจากสงครามกลางเมือง ประชาชนต้องระเหเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย ถังไท่จงได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์สุย อันเป็นที่มาของคำกล่าวว่า กษัตริย์เปรียบเสมือนเรือ ส่วนประชาชนคือน้ำ น้ำสามารถหนุนส่งเรือให้ลอย และสามารถจมเรือได้เช่นกันทราบว่า การรีดเลือดกับปู ถ้าราษฎรอยู่ไม่ได้ ผู้ปกครองก็ไม่อาจดำรงอยู่เช่นกัน ดังนั้นจึงตั้งอกตั้งใจในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มกำลัง ทรงดำเนินนโยบายที่เปิดกว้าง ผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษี ลดการลงทัณฑ์ที่รุนแรง แต่เน้นความถูกต้องยุติธรรมมากกว่า เร่งพัฒนากำลังการผลิต จัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรได้กลับคืนสู่ไร่นาและดำเนินวิถีชีวิตตามปกติ  ช่วงเวลาดังกล่าว มีการตรากฎหมายเพิ่มขึ้น เปิดการสอบคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการจากบุคคลทั่วไป ไม่เลือกยากดีมีจน ไม่จำกัดอยู่แต่ชนชั้นขุนนางดังแต่ก่อน ทั้งมีการตรวจตราการทำงานของบรรดาขุนนางท้องถิ่นอย่างเข้มงวด เลือกใช้คนดีมีปัญญา ถอดถอนคนเลว นอกจากนี้ ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นและคำทักท้วงจากขุนนางรอบข้าง เพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดในการบริหารแผ่นดินได้อย่างทันการณ์ รอบข้างจึงเต็มไปด้วยอัจฉริยะบุคคลที่ตั้งอกตั้งใจทำงาน อย่าง ฝางเซวียนหลิ่ง เว่ยเจิง หลี่จิ้ง เวินเหยียนป๋อ เป็นต้น อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศักราชเจินกวนมีการบริหารการปกครองที่โปร่งใสและมีเสถียรภาพ

ในด้านแนวคิดการศึกษา ถังไท่จงให้ความสำคัญต่อการรวบรวมและจัดเก็บตำรับตำราความรู้วิทยาการและประวัติศาสตร์เป็นหมวดหมู่ ทั้งยังเปิดกว้างในการนับถือและเผยแพร่แนวคิดในลัทธิศาสนาต่างๆ เช่น พุทธศาสนา เต๋า หยู(ลัทธิขงจื้อ) รวมทั้งศาสนาบูชาไฟของเปอร์เซีย ศาสนาแมนนี และคริสตศาสนา
เหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่พุทธศาสนา ได้แก่ หลวงจีนเซวียนจั้ง
(玄奘)หรือพระถังซำจั๋ง(三藏)ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดียอันไกลโพ้น เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมา แปลเป็นภาษาจีนและเผยแพร่ออกไป ทำให้พุทธศาสนาในสมัยราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ถังไท่จงยังส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการจัดแบบแผนการศึกษา มีการสร้างสถานศึกษาสำหรับบรรดาลูกหลานผู้นำ เรียกว่า สำนักศึกษาหงเหวินก่วน
(弘文馆)เปิดสอนศาสตร์สาขาต่างๆในการเป็นผู้นำ อาทิ การบริหารการปกครอง กฎหมาย วรรณคดี อักษรศาสตร์ การคำนวณ ฯลฯ เพื่ออบรมบ่มเพาะบรรดาลูกหลานที่เป็นทายาทเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และชนชั้นสูง ทั้งยังจัดตั้งสำนักศึกษาในศาสตร์สาขาต่างๆทั่วราชอาณาจักร บรรดาเจ้าผู้ครองแคว้นรอบนอกจึงนิยมส่งบุตรหลานของตนเข้ามาศึกษายังนครฉางอัน ทำให้ในเวลานั้นจีนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิทยาการต่างๆในแถบภูมิภาคนี้

ในรัชสมัยนี้ ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการปกครอง ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการก่อหวอดของผู้มีกำลังทหารอยู่ในมือดังที่ผ่านมา ข้าราชการท้องถิ่นไม่มีสิทธิเคลื่อนพล ในภาวะสงคราม ส่วนกลางจะเป็นผู้สั่งระดมพลจากที่ต่างๆ จากนั้นจัดส่งนายทัพไปบัญชาการรบ ภายหลังเสร็จศึก ทหารกลับสู่กรมกอง แม่ทัพกลับคืนสู่ราชสำนัก
การขยายแสนยานุภาพของราชอาณาจักร ถังไท่จงได้ดำเนินการทั้งด้านการทหารและการทูตไปพร้อมกัน อาทิ ในปี 630 ทัพถัง นำโดยแม่ทัพหลี่จิ้งและหลี่จี ปราบทูเจี๋ยว์ตะวันออก ขยายพรมแดนทางเหนือขึ้นไป (ปัจจุบันคือ มองโกเลียใน) ภายหลังทูเจี๋ยว์ตะวันออกล่มสลาย ถังไท่จงดำเนินนโยบายเปิดกว้างให้อิสระแก่ชนเผ่าฯในการดำรงชีวิต มีชนเผ่าทูเจี๋ยว์บางส่วนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในฉางอัน ทั้งมีไม่น้อยที่เข้ารับราชการทหาร หลอมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมภาคกลางไป
ซงจั้นกั้นปู้หรือพระเจ้าสรองตาสันคัมโป
(松赞干布)แห่งแคว้นถู่ฟาน(ทิเบตในปัจจุบัน) ที่รวบรวมแว่นแคว้นทางตะวันตกเฉียงใต้ไว้ได้ มีกำลังรุ่งเรืองขึ้น ได้จัดส่งราชฑูตมาสู่ขอราชธิดาในถังไท่จงหลายครั้ง ในที่สุดปี 641 ถังไท่จงตัดสินใจส่งองค์หญิงเหวินเฉิง(文成公主)ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ความสามารถในศาสตร์ศิลป์เดินทางไปเป็นทูตไมตรีครั้งนี้ องค์หญิงเหวินเฉิงได้นำเอาศิลปะความรู้วิทยาการต่างๆ ของจีนอาทิ อักษรศาสตร์ การดนตรี การเพาะปลูก ทอผ้า การทำกระดาษและหมึก ฯลฯ ไปเผยแพร่ยังดินแดนอันห่างไกลนี้ แคว้นถู่ฟานและราชวงศ์ถังจึงรักษาไมตรีอันดีสืบมา (แม้ว่าภายหลังแคว้นถู่ฟานได้เกิดข้อขัดแย้งกับราชสำนักถังในรัชสมัยต่อมา แต่องค์หญิงเหวินเฉิงยังคงได้รับการเคารพเทิดทูนอย่างสูงในหมู่ชนชาวทิเบตจวบจนปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ปลายรัชสมัยถังไท่จง เกิดปัญหาสำคัญคือ การคัดสรรรัชทายาทที่เหมาะสม เนื่องจากในปี 643 รัชทายาทหลี่เฉิงเฉียน
(李承乾)กับวุ่ยหวังหลี่ไท่(李泰)แก่งแย่งอำนาจกัน เมื่อถังไท่จงทราบเรื่องจึงสั่งปลดรัชทายาทและวุ่ยหวังเป็นสามัญชน แต่งตั้งหลี่จื้อ(李治)โอรสองค์ที่เก้าขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ต่อมาในปี 649 ถังไท่จงสวรรคต หลี่จื้อจึงขึ้นเสวยราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าถังเกาจง(唐高宗)
 

บูเช็กเทียน -จักรพรรดินีหนึ่งเดียวในแผ่นดิน (624 – 705)

อู่เจ๋อเทียนหรือบูเช็กเทียน (武则天)เป็นฮองเฮาในถังเกาจงหลี่จื้อ มีชื่อว่า เจ้า(曌)บิดาเป็นพ่อค้าไม้ ปลายราชวงศ์สุยได้มีการติดต่อกับหลี่ยวน ต่อมาเมื่อหลี่ยวนสถาปนาราชวงศ์ถัง ก็ติดตามมาตั้งรกรากที่นครฉางอัน เข้ารับราชการต่อมา  เมื่อบูเช็กเทียนอายุได้ 14 ปี ถูกเรียกตัวเข้าวังเป็นนางสนมรุ่นเยาว์ในรัชกาลถังไท่จงหลี่ซื่อหมิน เมื่อถังไท่จงสวรรคต จึงต้องออกบวชเป็นชีตามโบราณราชประเพณี  หลังจากถังเกาจงหลี่จื้อขึ้นครองราชย์ก็รับตัวบูเช็กเทียนเข้าวังมา ด้วยการสนับสนุนจากหวังฮองเฮาที่กำลังขัดแย้งกับสนมเซียว และต่างฝ่ายต่างคอยให้ร้ายกัน ต่อมาในปี 655 ถังเกาจงคิดจะปลดหวังฮองเฮา และตั้งบูเช็กเทียนขึ้นแทน แต่เสนาบดีเก่าแก่ ฉางซุนอู๋จี้长孙无忌)และฉู่ซุ่ยเหลียง (褚遂良)แสดงท่าทีคัดค้าน ส่วนหลี่อี้ฝู่(李义府)และสี่ว์จิ้งจง许敬宗)แสดงความเห็นคล้อยตาม ต่อมาเมื่อถังเกาจงปลดหวังฮองเฮา แต่งตั้งบูเช็กเทียนขึ้นเป็นฮองเฮาแทน ฉางซุนอู๋จี้ ฉู่ซุ่ยเหลียงและกลุ่มที่คัดค้านต่างทยอยถูกปลดจากตำแหน่ง บ้างถูกบีบคั้นให้ฆ่าตัวตาย ส่วนหวังฮองเฮาและสนมเซียวก็ไม่อาจรอดพ้นชะตากรรมได้ ภายหลัง ถังเกาจงร่างกายอ่อนแอ ล้มป่วยด้วยโรครุมเร้า ไม่อาจดูแลราชกิจได้ บูฮองเฮาเข้าช่วยบริหารราชการแผ่นดิน จึงเริ่มกุมอำนาจในราชสำนัก สุดท้ายสามารถรวบอำนาจไว้ทั้งหมด  ปี 683 ถังเกาจงหลี่จื้อสิ้น รัชทายาท หลี่เสี่ยน(李显)โอรสองค์ที่สามของบูฮองเฮาขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่าถังจงจง(唐中宗) ปีถัดมา บูเช็กเทียนปลดถังจงจงแล้วตั้งเป็นหลูหลิงหวัง 庐陵王)จากนั้นตั้งหลี่ตั้น(李旦)ราชโอรสองค์ที่สี่ขึ้นครองราชย์แทน พระนามว่าถังรุ่ยจง(睿宗)แต่ไม่นานก็ปลดจากบัลลังก์เช่นกัน  ระหว่างนี้ กลุ่มเชื้อพระวงศ์ตระกูลหลี่และขุนนางเก่าที่ออกมาต่อต้านอำนาจของตระกูลบูล้วนถูกกำจัดกวาดล้างอย่างเหี้ยมโหด ฐานอำนาจของกลุ่มตระกูลหลี่อ่อนโทรมลงอย่างมาก กระทั่งปี 690 บูเช็กเทียนประกาศเปลี่ยนราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว(周)หรือในประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า ราชวงศ์อู่โจว (武周)มีนครหลวงที่ลั่วหยาง ตั้งตนเป็นจักรพรรดินี ทรงอำนาจสูงสุด ด้วยวัย 67 ปี ถือเป็นจักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน  แม้ว่าการเข่นฆ่ากวาดล้างศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่ ส่งผลให้บรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้นเต็มไปด้วยความหวาดระแวงและความกลัว แต่โดยทั่วไปแล้ว สภาพเศรษฐกิจและสังคมยังมีความเจริญรุ่งเรือง บูเช็กเทียนได้ปรับปรุงระบบโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการและทหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถมากมาย ซึ่งส่งผลให้ในรัชกาลถังเสวียนจงในเวลาต่อมา แวดล้อมด้วยเสนาอำมาตย์ที่ทรงภูมิความรู้และคุณวุฒิเป็นผู้ช่วยเหลือ  เมื่อถึงปี 705 ขณะที่พระนางบูเช็กเทียนวัย 82 ปี ล้มป่วยลงด้วยชราภาพ เหล่าเสนาบดีที่นำโดยจางเจี่ยนจือ张柬之)ก็ร่วมมือกันก่อการ โดยบีบให้บูเช็กเทียนสละราชย์ให้กับโอรสของพระองค์ ถังจงจงหลี่เสี่ยน ทั้งรื้อฟื้นราชวงศ์ถังกลับคืนมา ภายหลังเหตุการณ์ไม่นาน บูเช็กเทียนสิ้น


ดวงตะวันฉายแสง

ภายหลังรัชกาลของบูเช็กเทียน สภาพการเมืองภายในราชสำนักปั่นป่วนวุ่นวาย เนื่องจากถังจงจงอ่อนแอ อำนาจทั้งมวลตกอยู่ในมือของเหวยฮองเฮา韦皇后)ที่คิดจะยิ่งใหญ่ได้เช่นเดียวกับบูเช็กเทียน เหวยฮองเฮาหาเหตุประหารรัชทายาท จากนั้นในปี 710 วางยาพิษสังหารถังจงจง โอรสองค์ที่สามของถังรุ่ยจง นามหลี่หลงจี(李隆基)ภายใต้การสนับสนุนขององค์หญิงไท่ผิง(太平公主)ชิงนำกำลังทหารบุกเข้าวังหลวงสังหารเหวยฮองเฮาและพวก ภายหลังเหตุการณ์องค์หญิงไท่ผิงหนุนถังรุ่ยจงขึ้นครองราชย์ แต่งตั้งหลี่หลงจีเป็นรัชทายาท แต่แล้วองค์หญิงไท่ผิงพยายามเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เกิดขัดแย้งกับรัชทายาทหลี่หลงจี ปี 712 ถังรุ่ยจงสละราชย์ให้กับโอรส หลี่หลงจีเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า ถังเสวียนจง (唐玄宗)สิ่งแรกที่กระทำคือกวาดล้างขุมกำลังขององค์หญิงไท่ผิง นำพาสันติสุขกลับคืนมาอีกครั้ง
     "ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏครั้งนี้ เป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับคืนมาเช่นเมื่อครั้งก่อนเก่าได้อีก"
       
อาทิตย์ดับยามเที่ยง

ต้นรัชกาลถังเสวียนจงบริหารบ้านเมืองอย่างจริงจัง รอบข้างแวดล้อมด้วยขุนนางผู้ทรงความรู้ความสามารถมากมาย มีการปฏิรูปการบริหารการปกครองครั้งใหญ่ ตัดทอนรายจ่ายฟุ้งเฟ้อที่เคยมีในรัชกาลก่อน ลดขนาดหน่วยงานราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ กวาดล้างขุนนางฉ้อราษฎร์ที่มาจากการซื้อขายตำแหน่ง จัดระเบียบและรวบรวมผลงานวรรณกรรมและวิทยาการต่างๆ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด  แต่แล้วในปลายรัชสมัย เนื่องจากบ้านเมืองสงบสุขเป็นเวลานาน ถังเสวียนจงค่อยวางมือจากราชกิจ ปี 744 นับแต่รับตัวหยางอวี้หวนเป็นสนมกุ้ยเฟยไว้ข้างกาย ก็ลุ่มหลงกับการเสพสุขในบั้นปลาย ทอดทิ้งภารกิจบริหารราชการแผ่นดิน จนเป็นโอกาสให้เสนาบดีหลี่หลินฝู่
(李林甫)เข้ากุมอำนาจ แสวงหาอำนาจส่วนตน คอยกีดกันขุนนางและนายทัพที่มีความดีความชอบ ริดรอนขุมกำลังจากส่วนกลางในที่ไม่ใช่พรรคพวกตน ขณะที่ให้การสนับสนุนแม่ทัพชายแดนที่มาจากกลุ่มชนเผ่าภายนอก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดภาวะตึงเครียดตามแนวชายแดนกับทิเบต ทูเจี๋ยว์ เกาหลี และน่านเจ้าทางภาคใต้ กำลังทหารรับจ้างที่ต้องประจำอยู่ตามแนวพรมแดนมีจำนวนมากขึ้น แม่ทัพชายแดนจึงกุมอำนาจเด็ดขาดทางทหารไว้ได้  หลังจากหลี่หลินฝู่เสียชีวิต หยางกั๋วจง杨国忠)ญาติผู้พี่ของสนมหยางกุ้ยเฟยได้ขึ้นเป็นเสนาบดีแทน แต่กลับเลวร้ายยิ่งกว่า ด้วยถืออำนาจบาตรใหญ่ ฉ้อราษฎร์บังหลวง การโกงกินของขุนนางทำให้ระบบการจัดสรรที่นาและการเกณฑ์ทหารล้มเหลว กำลังทหารอ่อนโทรมลง ช่วงเวลาดังกล่าว เกิดเหตุขัดแย้งจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างหยางกั๋วจงเสนาบดีคนใหม่กับอันลู่ซัน(安禄山)แม่ทัพชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเหตุให้อันลู่ซันหาเหตุยกกำลังบุกเข้านครฉางอัน   ถังเซวียนจงและหยางกุ้ยเฟยหลบหนีลงใต้ ระหว่างทางบรรดานายทหารที่โกรธแค้นพากันจับตัวหยางกั๋วจงสังหารเสีย จากนั้นบีบบังคับให้ถังเซวียนจงประหารหยางกุ้ยเฟย จากนั้นเดินทัพต่อไปถึงแดนเสฉวน ขณะเดียวกัน รัชทายาทหลี่เฮิง(李亨)หลบหนีไปถึงหลิงอู่(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลหนิงเซี่ย) ก็ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระนามว่า ถังซู่จง(唐肃宗) ฝ่ายกองกำลังกบฏเมื่อได้ชัย ก็เข้าปล้นชิงทรัพย์สินราษฎร ปี 757 เกิดการแตกแยกภายใน อันลู่ซันถูกชิ่งซี่ว์庆绪)บุตรชายสังหาร ทัพถังได้โอกาสยกกำลังบุกยึดนครฉางอันและลั่วหยางกลับคืนมา แต่แล้วในปี758 สื่อซือหมิง(史思明)ขุนพลเก่าของอันลู่ซันก่อการอีกครั้ง ที่เมืองฟั่นหยาง(ปักกิ่ง) สังหารอันชิ่งซี่ว์ จากนั้นบุกยึดนครลั่วหยางได้อีกครั้ง ปี 761 ระหว่างยกกำลังบุกฉางอันถูกเฉาอี้(朝义) บุตรชายสังหารเช่นกัน เป็นเหตุให้กองกำลังระส่ำระสาย ทัพถังได้โอกาสร่วมกับกองกำลังของชนเผ่าหุยเหอ(回纥)ตีโต้กลับคืน เฉาอี้พ่ายแพ้ฆ่าตัวตาย เหตุวิกฤตจากกบฏอันลู่ซันและสื่อซือหมิง ตั้งแต่ปี 755 – 763 จึงกล่าวได้ว่าสงบราบคาบลง  ความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการกบฏครั้งนี้ เป็นเหตุให้ยุคทองของราชวงศ์ถังดับวูบลง อย่างไม่อาจฟื้นคืนกลับคืนมาเช่นเมื่อครั้งก่อนเก่าได้อีก

ยุคเสื่อมของราชวงศ์ถัง

ระหว่างเกิดกบฏอันลู่ซัน สภาพเศรษฐกิจและสังคมในเขตเมืองที่กบฏอันลู่ซันเข้าปล้นสะดมได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง กองทัพถังถูกเรียกระดมกลับเข้าสู่ส่วนกลางเป็นจำนวนมาก ป้อมรักษาการณ์เขตชายแดนว่างเปล่า เป็นเหตุให้อาณาจักรรอบนอก อาทิ ถู่ฟานหรือทิเบตทางภาคตะวันตก และอาณาจักรน่านเจ้าทางทิศใต้ต่างแยกตัวเป็นอิสระ ทั้งยังรุกรานเข้ามาเป็นครั้งคราว ช่วงปลายวิกฤตในปี 762 เกิดเหตุเปลี่ยนแปลงในราชสำนักถังโดยขันทีหลี่ฝู่กั๋ว
(李辅国)สังหารจางฮองเฮา ถังซู่จงสิ้น ขันทีหลี่ฝู่กั๋วจึงยกรัชทายาทหลี่อวี้ขึ้นครองราชย์ พระนามว่าไต้จง(代宗)ภายหลังกบฎอันลู่ซัน ภาพลักษณ์ความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของอาณาจักรสั่นคลอนครั้งใหญ่ บรรดาแม่ทัพรักษาชายแดนต่างสะสมกองกำลังของตนเอง แม้ว่าในนามแล้วยังรับฟังคำสั่งจากราชสำนัก แต่ไม่จัดเก็บภาษีเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งสืบทอดตำแหน่งแม่ทัพโดยผ่านทางสายเลือด ไม่ยอมรับการแต่งตั้งจากส่วนกลางอีก ขอบเขตอำนาจจากส่วนกลางหดแคบลง เหลือเพียงดินแดนแถบเสฉวน ส่านซีและซันซี สภาพบ้านเมืองเสื่อมทรุด ภายนอกเป็นสงครามแก่งแย่งของเหล่าขุนศึก ภายในยังมีการช่วงชิงในราชสำนัก

ยุคขันทีครองเมือง

ต้นราชวงศ์ถัง ปริมาณขันทีมีไม่มากนัก สถานภาพทางสังคมยังต่ำต้อย ไม่มีสิทธิข้องเกี่ยวทางการทหาร แต่เมื่อถึงรัชสมัยถังเสวียนจง ปริมาณขันทีเพิ่มมากขึ้น โดยหัวหน้าขันทีเกาลี่ซื่อ
(高力士)ได้รับความไว้วางพระทัยอย่างสูง ช่วงปลายรัชกาลถังเสวียนจงละเลยราชกิจ หนังสือถวายรายงานทั้งหลาย ล้วนต้องผ่านเกาลี่ซื่อก่อน ทั้งมีอำนาจจัดการตัดสินชี้ขาดต่างพระเนตรพระกรรณ ขันทีผู้ใหญ่ยังเข้ารับหน้าที่สำคัญๆ อย่างการออกตรวจพล และเป็นราชทูต ตัวแทนพระองค์ฯลฯ เมื่อถึงรัชกาลถังซู่จง ขันทีหลี่ฝู่กั๋ว(李辅国)ที่หนุนพระองค์ขึ้นครองบัลลังก์ ระหว่างลี้ภัยกบฏอันลู่ซันก็ยิ่งได้รับความไว้วางพระทัย จนสามารถกุมอำนาจสั่งการทหารองครักษ์ในวังหลวงทั้งหมด  หลังจากรัชสมัยถังไต้จง(代宗)(762 – 779) ขันทีมีหน้าที่เป็นตัวแทนพระองค์ออกตรวจกำลังพล ประกาศราชโองการ ตรวจตราหนังสือกราบทูล ดูแลหน่วยข่าวกรองและสืบราชการลับ และองค์รักษ์วังหลวงทั้งหมด ทั้งสามารถแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าการทหารท้องถิ่น มีอิทธิพลล้นฟ้า อำนาจในราชสำนักจึงตกอยู่ในมือของเหล่าขันที กษัตริย์ราชวงศ์ถังในรัชกาลต่อมา บ้างสิ้นพระชนม์ด้วยมือขันที และบ้างขึ้นสู่ราชบัลลังก์ด้วยมือของขันที  ยุคขันทีครองเมืองนี้ ได้นำพาสังคมสู่ภัยพิบัติ เนื่องจากขันทีไม่ได้มีฐานอำนาจจากขุนนางอยู่แต่เดิม มือเท้าที่คอยทำงานให้ก็เป็นกลุ่มพ่อค้าและอันธพาลร้านถิ่น สภาพสังคมวุ่นวายสับสน ต่างแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจส่วนตน ทั้งกษัตริย์ ขุนนางที่ไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้คำบงการของกลุ่มขันทีได้แต่กล้ำกลืนฝืนทน ดังนั้น จึงมักเกิดเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นต่อต้านเป็นระยะ

ลมหายใจเฮือกสุดท้าย


ภายหลังกบฏอันลู่ซัน เศรษฐกิจสังคมเสียหายหนัก มีราษฎรสูญเสียทรัพย์สินและที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการโกงกินของข้าราชการขุนนาง ทำให้ระบบการปกครองล้มเหลว ประชาชนไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ตามปกติสุข สุดท้ายต้องลุกฮือขึ้นก่อการ  เริ่มจากปี 875 กลุ่มพ่อค้าเกลือเถื่อนหวังเซียนจือ
(王仙芝)ลุกฮือขึ้นก่อการ จากนั้นเป็นกบฏหวงเฉา(黄巢)ลุกฮือขึ้นหนุนเสริม ภายหลังหวังเซียนจือเสียชีวิตในการต่อสู้ หวงเฉาจึงกลายเป็นผู้นำต่อมา โดยยึดได้ดินแดนทางตอนใต้เกือบทั้งหมด จากนั้นมุ่งตะวันออกอย่างรวดเร็ว กบฏหวงเฉาสยายปีกขึ้นเหนือ ยึดได้ฉางอัน สถาปนาแคว้นต้าฉี(大齐) ในปี 880 บีบให้ถังซีจง(僖宗)(873 – 887)หลบหนีไปยังแดนเสฉวน ภายหลัง แม้ว่ากบฏหวงเฉาถูกปราบราบคาบลง แต่ครั้งนี้ ราชสำนักได้รับความเสียหายอย่างหนัก ไม่อาจฟื้นตัวได้อีก ได้แต่รอวันดับสูญอย่างช้าๆ  ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามกบฏหวงเฉาคนหนึ่งคือ จูเฉวียนจง(朱全忠)แต่เดิมชื่อจูเวิน(朱温)เคยเป็นขุนพลใต้ร่มธงของหวงเฉา แต่ภายหลังหันมาสวามิภักดิ์กับราชวงศ์ถัง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้าหน่วยปราบปรามในแดนเหอตง และได้รับพระราชทานนามว่าเฉวียนจง (แปลว่าซื่อสัตย์จงรักภักดี) ปีถัดมาได้เลื่อนเป็นแม่ทัพรักษาดินแดนหน่วยเซวียนอู่ พอถึงปี 884 จูเฉวียนจงร่วมมือกับหลี่เคอย่ง(李克用)ชนเผ่าซาถัว เข้าปราบกองกำลังของหวงเฉา ภายหลังเหตุการณ์ กองกำลังที่นำโดย จูเฉวียนจง หลี่เคอย่อและหลี่เม่าเจิน(李茂贞) ถือเป็นกองกำลังที่ทรงอำนาจที่สุดในขณะนั้น กบฏหวงเฉาจบสิ้นไปแล้ว แต่การแก่งแย่งในราชสำนักยังไม่จบสิ้น ทั้งที่ความจริงอำนาจราชสำนักเหลือเพียงแต่เปลือก หลังจากถังเจาจง(昭宗)(888 – 904)ขึ้นครองราชย์ ก็ร่วมมือกับกลุ่มเสนาบดีชุยยิ่น(崔胤)เพื่อกำจัดอำนาจขันทีในวัง จึงนัดหมายกับจูเฉวียนจงให้เป็นกำลังสนับสนุนจากภายนอก ปี 903 หลังจากจูเฉวียนจงโจมตีกองกำลังของหลี่เม่าเจินที่ให้การสนับสนุนฝ่ายขันทีแตกพ่ายไป ก็นำกำลังทหารบุกเข้าฉางอัน กวาดล้างเข่นฆ่าขันทีในวังครั้งใหญ่ เป็นอันสิ้นสุดยุคขันทีครองเมือง  จูเฉวียนจงได้รับการปูนบำเหน็จความดีความชอบจากการกวาดล้างขันที ให้เป็นเหลียงหวัง(梁王) กุมอำนาจบริหารแผ่นดินอย่างเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว แต่แล้วในปี 904 จูเฉวียนจงสังหารเสนาบดีชุยยิ่นและถังเจาจง แต่งตั้งถังอัยตี้(哀帝)วัย 13 ขวบขึ้นเป็นฮ่องเต้หุ่นเชิดแทน จากนั้นในปี 907 จูเฉวียนจงปลดถังอัยตี้ ตั้งตนเป็นใหญ่ สถาปนาแคว้นเหลียง(梁)ขึ้น โดยมีนครหลวงที่เมือง เปี้ยนโจว (ปัจจุบันคือเมืองไคฟง) ราชวงศ์ถังจึงถึงกาลอวสานลง
เครดิตอ้างอิง (บทความนี้ถอดความมาจากคอลัมน์ มุมจีน ธารประวัติศาสตร์  19 มกราคม 2548 ผู้จัดการออนไลน์)

ภายหลังราชวงศ์ถังล่มสลาย แผ่นดินจีนตกอยู่ในสภาพกลียุค แผ่นดินภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำฮวงโหต่อมาอีก 54 ปี ได้มีการผลัดแผ่นดินของห้าราชวงศ์ ได้แก่ โฮ่วเหลียง,โฮ่วถัง,โฮ่วจิ้น,โฮ่วฮั่น และโฮ่วโจว ในขณะเดียวกัน ขุนพลที่ครองแผ่นดินในแถบลุ่มแม่น้ำทางตอนใต้และแถบชายฝั่งทะเล ได้แก่ แถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซี ต่างแยกตัวเป็นแว่นแคว้นอิสระถึงสิบแคว้น นักประวัติศาสตร์จีนจึงเรียกยุคสมัยนี้ว่า เป็นยุค “สมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น”  รายละเอียดของยุคสมัยห้าราชวงศ์สิบแคว้น ลองเข้าไปอ่านในหน้าเพจนี้ดู http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3  ,หรือที่เพจนี้ดู  http://www.manager.co.th/China/viewnews.aspx?NewsID=9480000033892&Page=2

ไฮไลท์ที่สำคัญของยุคสมัยราชวงศ์ถังก็คงอยู่ในช่วงต้นรัชสมัย ถ้ารุ่งเรืองสุดก็ยุคที่ถังไท่จงเป็นฮ่องเต้ ประเทศจีนมีความก้าวหน้าในหลายด้าน ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาที่อื้อฉาวและฉาวโฉ่ที่สุดก็เป็นรัชสมัยของจักรพรรดินี นามว่า “บูเช็คเทียน”  และตกต่ำที่สุดก็ตั้งแต่ยุคของฮ่องเต้ถังเสวียนจงลงมาจนถึงฮ่องเต้น้อยถังอัยตี้  ตอนหน้าเราจะพูดถึงราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวนต่อ ว่ามีเหตุการณ์ใดและบุคคลท่านใดน่าสนใจบ้าง โปรดติดตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น