วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ย้อนตำนานยุครุ่งเรือง ภาพยนตร์ไทย ตอนที่ 2




วงการหนังไทยเขาแบ่งยุคกันจากเทคโนโลยีของการฉายและฟิล์ม โดยหนังไทยมีวิวัฒนาการมาจากยุค ภาพยนตร์ 16 มม.(หรือยุคภาพยนตร์ขาวดำ ไม่มีเสียง) ต่อมาก็เป็นยุค 35 มม.แล้วค่อยพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคปัจจุบันเป็นเครื่องฉายแบบดิจิตอล ไม่ค่อยมีการสร้างโดยใช้ฟิล์มกันแล้ว เนื่องจากต้นทุนของค่าฟิล์ม ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ และข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการจัดทำก็อปปี้ของภาพยนตร์ก็มีต้นทุนที่สูง รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาแผ่นฟิล์มด้วย อย่างที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยว่าฟิล์มต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนั้น เรื่องนี้ได้สูญหายหรือถูกทำลายไปแล้ว หลายเรื่องไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ทำให้หนังไทยเก่าๆ จำนวนมาก ไม่มีฟิล์มต้นฉบับเก็บรักษาไว้ในหอภาพยนตร์ไทยให้ลูกหลานได้มีโอกาสได้ชมหรือศึกษาอีก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างมาก  แต่คำว่าภาพยนตร์ยุค 16 มม.กับ ภาพยนตร์ยุค 35 มม. มันเป็นอย่างไรและแตกต่างกันอย่างไรนั้น ผู้เขียนเองได้ไปหาคำอธิบายมาดังนี้
หนัง 16 มม. คือ หนังที่ถ่ายทำด้วยระบบฟิล์มขนาดความกว้าง 16 มม. ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับหนังสารคดีหรือเพื่อการศึกษาในสมัยก่อน หรือกลุ่มผู้ทำหนังทดลองในสมัยก่อนรวมถึงปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่ โดยปกติฟิล์มหนัง 16 มม. จะไม่ใช่ฟิล์มขนาดที่ผู้สร้างหนังอาชีพหรือเชิงพานิชย์จะใช้กัน แต่เมืองไทยยุคหนึ่งคือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำมาใช้สร้างหนังเพื่อออกฉายตามโรง เพราะประหยัดงบประมาณ เพราะสมัยก่อนเมืองไทยยังไม่มีแลปสร้างฟิล์มขนาด 35 มม. ซึ่งถือเป็นฟิล์มขนาดมาตรฐาน และมีขั้นตอนการทำสำเนาฟิล์มซับซ้อนกว่า 16 มม. และใช้ค่าใช้จ่ายสูง บวกกับสมัยดังกล่าวรัฐบาลไทยยังไม่สนใจและสนับสนุนให้ภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง หนังไทยยุคดังกล่าวคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 ส่วนมากจึงนิยมใช้ฟิล์ม 16 มม. และลดต้นทุนการผลิตลงไปอีกโดยไม่มีการบันทึกเสียงจริงลงฟิล์มขนาดถ่ายทำ เวลาฉายจึงต้องใช้การพากย์แทน (ซึ่งความจริงสามารถบันทึกเสียงได้

ฟิล์ม 35 มม. คือ ฟิล์มขนาดมาตรฐานโดยทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับในการผลิตในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยทั่วไปตามมาตรฐานสากล หนังไทยในยุคเริ่มแรกก็ใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. นี้ มาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิล์มขาดแคลน เลยมีผู้คิดนำฟิล์ม 16 มม. มาใช้แทน หลัง 2513 เป็นต้นมา ทางรัฐบาลได้สนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ไทยให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ภาพยนตร์ไทยจึงกลับมาใช้ฟิล์ม 35 มม. มีเสียงทั้งพากย์ในฟิล์ม และบันทึกเสียงจริงลงบนฟิล์ม จวบจนถึงปัจจุบัน

ส่วนฟิล์ม 70 มม. นั้นเป็นฟิล์มขนาดใหญ่พิเศษ มีค่าใช้จ่ายและเทคนิคในการผลิตสูงกว่า เวลาจะฉายต้องฉายด้วยเครื่องฉายพิเศษ มักใช้กับภาพยนตร์ที่ต้องการเน้นภาพฉากต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่อลังการเท่านั้น
ในเมืองไทยยุคหนึ่งก็มีหนังบางเรื่องที่ประกาศว่าถ่ายด้วยฟิล์มขนาดใหญ่ 70 มม. นี้ แต่ฟิล์มขนาด 70 มม. ดังกล่าวไม่สามารถฉายได้กับทุกโรง บางครั้งจึงมีการพิมพ์สำเนาย่อเป็น 35 มม. แบบปกติสำหรับฉายตามโรงทั่วไป หรืออาจจะมีพิมพ์ย่อเป็น 16 มม. สำหรับเครื่องฉายหนังกลางแปลงที่ยังคงมีอยู่ หรือสำหรับเครื่องฉาย 16 มม.ผู้เล่นเครื่องฉายและฟิล์มเป็นการส่วนตัว
  

1.ภาพยนตร์ไทยในยุคบุกเบิก (ระหว่างปี พ.ศ. 2470-2489)  ได้แก่ ภ.เรื่องนางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย,ตามด้วยโชคสองชั้น หนังยุคนี้จะเป็นหนังเงียบ และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงนี้พอดี การสร้างภาพยนตร์ไทยในช่วงนี้ก็ลดลง ประกอบกับฟิล์มขาดแคลนในช่วงนี้พอดี ทำให้ต้องหันไปสร้างด้วยฟิล์ม 16 มม. ภ.เรื่องหลงทาง เป็นภ.ไทยที่บันทึกเสียงลงในฟิล์มเป็นเรื่องแรก
2.ภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. (ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2515) ได้แก่ ภ.เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย,อินทรีทอง ฯลฯ ปัจจัยสำคัญของภาพยนตร์ยุคนี้ คือ ดาราในยุคนั้น มิตร ชัยบัญชาได้เล่นหนังเป็นพระเอกมาแล้วถึง 300 เรื่อง ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีดาราหญิงอยู่กลุ่มหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอันดับดารายอดนิยม นับตั้งแต่วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อมรา อัศวนนท์ และ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ทั้งนี้ ก่อนปี พ.ศ. 2502 คู่พระ-คู่นางที่ผูกขาดวงการภาพยนตร์ไทยก็ยังไม่ปรากฏ มีเพียงกลุ่มนักแสดงชั้นนำที่คนดูให้การยอมรับหรือชื่นชมเท่านั้น จนมาในปี พ.ศ. 2505-2513 พระเอก-นางเอก ของวงการภาพยนตร์ไทยจึงได้ถูกผูกขาดโดย 'มิตร-เพชรา   ระบบการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ยุคนั้น ตัวแสดงพูดไปตามบทโดยไม่มีการบันทึกเสียง นักพากย์จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกับคนดูได้ ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดให้ผู้ชมมาชมภาพยนตร์ ในช่วงเวลานั้นนักพากย์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ได้แก่ รุจิรา-มารศรี พันคำ (พร้อมสิน สีบุญเรื่อง) เสน่ห์ โกมารชุน จุรี โอศิริ สีเทา สมพงษ์ วงศ์รักไทย ฯลฯ  อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความนี้ได้ที่ http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=10  ของมูลนิธิภาพยนตร์ไทย

3.ภาพยนตร์ไทยในยุคเฟื่องฟู (ระหว่าง พ.ศ.2516-2529)  เป็นช่วงที่มีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นสื่อสะท้อนภาพของสังคม และความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนสภาพปัญหาและความเป็นจริงในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ยุคนี้ผู้เขียนถือเป็นยุคทองหรือรุ่งเรืองสุดๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เหตุเพราะว่าบรรดาผู้กำกับเลือดใหม่ ๆ หรือมีชื่อเสียง ต่างมีผลงานขึ้นหิ้ง หรือระดับมาสเตอร์พีช ก็เกิดในยุคนี้ทั้งนั้น หรือสร้างชื่อในยุคนี้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็น เปี๊ยก โปสเตอร์ ,มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ,ยุทธนา มุกดาสนิท, สักกะ จารุจินดา, วิจิตร คุณาวุฒิ ,ชนะ คราประยูร, เชิด ทรงศรี, เพิ่มพล เชยอรุณ, ฉลอง ภักดีวิจิตร, ดอกดิน กัญญามาลย์ ,กำธร ทัพคัลไลย ,คมน์ อรรฆเดช ,พิศาล อัครเศรณี ,รุจน์ รณภพ ,ไพจิตร ศุภวารี ,มจ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ,ศุภักษร ,ส.อาสนจินดา ,ชุมพร เทพพิทักษ์, สุรสีห์ ผาธรรม ,ชาลี อินทรวิจิตร ,พร้อมสิน สีบุญเรือง(พันคำ) ,แจ๊สสยาม ฯลฯ และเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์หนังไทยมากมายให้เกิดขึ้น เป็นครูบาอาจารย์ของผู้กำกับหนังในรุ่นต่อๆ มา รวมถึงนักแสดง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงหนังไทย (หากรายชื่อตกหล่นท่านใด ขอได้โปรดอภัย ผู้เขียนจำไม่ได้หมด)   

4.ภาพยนตร์ไทยในยุค แนวทางตลาดภาพยนตร์วัยรุ่น และยุคตกต่ำ 1 (ระหว่าง พ.ศ. 2530-2539) ขอยกยอดไปกล่าวไว้ในย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์ไทย ตอนที่ 3 ต่อไป

5.ภาพยนตร์ไทยในยุคก้าวข้ามสหัศวรรษใหม่ของหนังไทย (ระหว่างปี พ.ศ.2540-ปัจจุบัน) ขอยกยอดไปกล่าวไว้ในย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์ไทย ตอนที่ 3 ต่อไป

ถ้าจะกล่าวถึง แนวภาพยนตร์ไทย ที่กลายเป็นลายเซ็นต์ (signature stye) หรือคาแร็กเตอร์ ของหนังไทยไปแล้ว มีกี่แบบ ผู้เขียนคิดว่า มีอยู่ประมาณ 10-11 แบบ ดังนี้

1.    แนวตำรวจ-ผู้ร้าย บู๊ล้างผลาญ หรือ ระเบิดภูเขา เผากระท่อมกันนั่นแหละ สัดส่วนของหนังแนวนี้ ในภาพยนตร์ไทย มีอยู่ถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมดเลยทีเดียว ต้องถือว่ามากที่สุดก็ว่าได้ สร้างทั้งผู้กำกับ นักแสดง ตัวประกอบให้เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลือชัย ไชยาสมบัติ สรพงศ์ กรุง นาท ลักษณ์ ยอดชาย สุริยา รณ ดามพ์ ฤทธิ์ บิณฑ์ เป็นต้น  ภาพยนตร์ในแนวนี้ ได้แก่ อินทรีทอง, แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู, 7 ต่อ 1, ทอง 4-5 ภาค เป็นต้น
 
 

2.    แนวเมโลดราม่า ชิงรักหักสวาท หรือรักสามเส้า  แนวนี้ก็มีสัดส่วนเป็นประมาณ 1 ใน 3ของหนังไทยโดยรวม ซึ่งถือเป็นแนวยอดนิยม สร้างดาราคู่ขวัญ สร้างชื่อให้กับบรรดานักแสดงนำทั้งชาย-หญิง มากมาย รวมถึงผู้กำกับ สุดจะเจียระไนได้ครบ เอาเป็นว่าผู้อ่านหลับตาก็คงนึกออกว่ามีใครบ้าง  ภาพยนตร์ในแนวนี้ ได้แก่ ชู้,รักริษยา,นางทาษ ,เรือนแพ,แผลเก่า,เมียหลวง ,บ้านทรายทอง ฯลฯ
 
 

3.    แนวสะท้อนสังคม สร้างคุณค่าให้กับสังคม เชิดชูบุคคลหรืออาชีพ อาทิ ครูบ้านนอก ,สวัสดีไม้เรียว ,ลูกอีสาน ,คนภูเขา ,หลวงตา ,อิสรภาพของทองพูน โคกโพ ,น้ำพุ ,อยู่กับก๋ง, ข้าวนอกนา,ผีเสื้อและดอกไม้ ,เขาชื่อกานต์ ฯลฯ
 
 

4.    แนวละครเพลง หรือภาพยนตร์เพลง แนวนี้คงได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะ ภ.ฮอลลีวู้ด  แต่ของเรามาปรับให้เข้ากับเนื้อหา ขนบวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ทำออกมาแล้วเป็นภาพจำเลยก็อาทิ  ภ.เรื่องมนต์รักลูกทู่ง ,เงินเงินเงิน ,รักข้ามคลอง,วัยอลวน
 
 

5.    แนวอีโรติค โป๊ หรือวาบหวิว แนวๆ นี้แม้จะมีสัดส่วนน้อยมากๆ แต่เมื่อสร้างออกมาก็เป็นที่ฮือฮาพอสมควร อาทิ อีโล้นซ่าส์ ,กลกามแห่งความรัก,เรือมนุษย์,สนับมือ,รักพยาบาท,เล็บครุฑ78,ขุมทองนรก ,อีสาวทรหด ฯลฯ
 
 

6.    แนวเขย่าขวัญ หรือหนังผี แนวนี้ก็เป็นแนวยอดนิยมหรือมีสัดส่วนมากเป็น 1 ใน 10 ของหนังไทยโดยรวม เช่นเดียวกัน อาทิ แม่นาคพระโขนง, บ้านผีปอบ, กระสือ, กระหัง ,ผีหัวขาด, เปรตวัดสุทัศน์ ฯลฯ มักสร้างซ้ำๆ แนวกัน หรือสร้างเป็นหลายภาค
 
 

7.    แนวตลกขบขัน เบาสมอง หรือแนวล้อเลียนเสียดสีสังคม แนวนี้เป็นอีกแนวหนึ่งที่ได้รับความนิยม มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 10 ของหนังไทยโดยรวม  นับมาตั้งแต่ยุค ล้อต๊อก ชูศรี มาจนถึง ภ.เรื่อง ขบวนการต๊ะติ๊งโหน่ง ที่แจ้งเกิด เด่น เด๋อ เทพ มาจนถึงยุคกำธร ทัพคัลไลย และดอกดิน กัญญามาลย์
 
 

8.    แนวร่วมลงทุนกับต่างประเทศ หรือยืมพล็อต ยืมตัวแสดงจากต่างประเทศมาเล่น เช่น หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์ ,จงอางผยอง ,ทอง ,เพชรตัดหยก, กตัญญูประกาศิต ฯลฯ
 
 

9.    แนวชีวิต โศกนาฏกรรม หรือชีวิตรันทด ผิดศีลธรรม  เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย ,น้องเมีย, คู่กรรม ,สะพานรักสารสิน, นวลฉวี
  
 

10. แนวอิงประวัติศาสตร์ อิงวรรณกรรมชื่อดัง หรือเป็นบทประพันธ์ขึ้นหิ้ง อาทิ ขุนศึก ขุนช้างขุนแผน บางระจัน พันท้ายนรสิงห์ เลือดสุพรรณ ผู้ชนะสิบทิศ จุฬาตรีคูณ อิเหนา ฯลฯ
 
 
 
 
ภาวนา ชนะจิต (อังกฤษ: Parwarna Liu Lan Ying; จีน: 劉蘭英; ชื่อเล่น: หยิน) มีชื่อจริงว่า อรัญญาภรณ์ เหล่าแสงทอง (ชื่อเดิม: อรัญญา; 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485 10 กันยายน พ.ศ. 2555) นักแสดงภาพยนตร์ชาวไทย ที่ได้รับฉายา ไข่มุกแห่งเอเชียชื่อจริงคือ อรัญญาภรณ์ เหล่าแสงทอง (ชื่อเดิม: อรัญญา; ชื่อเล่น: หยิน) มีเชื้อสายจีนกวางตุ้ง เกิดวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ที่อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี มีชื่อจีนแมนดารินว่า หลิว หลานอิง หรือ อ่านเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ว่า Lau Lan Ying (จีน: 劉蘭英)  ภาวนาเสียชีวิตในเช้าวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่บ้านพักของตนเองในตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยตำรวจสรุปว่าเสียชีวิตจากการจมน้ำ สิริอายุได้ 69 ปี เริ่มแสดงภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก โดย รังสรรค์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผ่านการแนะนำของ เด็กยกรีเฟลค ในกองถ่าย และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ดาราในวงการเป็นผู้พาออกงาน  เมื่อ พ.ศ. 2503 เรื่อง แสงสูรย์ ซึ่งมี มิตร ชัยบัญชา และ อมรา อัศวนนท์ แสดงนำ กำกับโดย ประทีป โกมลภิส ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้เธอได้รับรางวัล ตุ๊กตาทอง ดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง

ในปี พ.ศ. 2516 ดารานำหรือประชันบทในภาพยนตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2522 คู่กับมิตร ชัยบัญชา, ไชยา สุริยัน, สมบัติ เมทะนี, ยอดชาย เมฆสุวรรณ, ลือชัย นฤนาท, อุเทน บุญยงค์, นาท ภูวนัย, กรุง ศรีวิไล, สรพงศ์ ชาตรี และ ภาพยนตร์จีน คู่กับเดวิด เจียง พระเอกชาวฮ่องกง ส่วนใหญ่มักเป็นรับบทเด็กสาว เมื่ออายุมากขึ้นก็ยังรับบทที่เด็กกว่าอายุจริงเสมอ จนกระทั่งตัดสินใจยุติบทบาทการแสดงในวัยใกล้ 40 ปี โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้คนจดจำภาพนางเอกในวัยสาวของเธอตลอดไป เจ้าของฉายา ไข่มุกแห่งเอเชีย จากการแสดงนำในภาพยนตร์ฮ่องกงหลายเรื่องของชอว์ บราเดอร์ เรื่อง Duel of Fists (จีน: 拳擊)ผลงานกำกับของ จางเชอะ ซึ่งมี ตี้หลุง และ เดวิด เจียง แสดงนำ เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ประมาณปี ค.ศ.1971 เกี่ยวกับศิลปะแม่ไม้มวยไทย ซึ่งนับเป็นหนังต่างประเทศเรื่องแรกๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมวยไทย ปี ค.ศ. 1971 แสดงนำใน The King Boxer (Xiao quan wang) ประกบนักแสดงกังฟูชื่อดัง เมิ่งเฟย และดาราชาวญี่ปุ่น ยะซุอะกิ คุระตะ รวมถึง นาท ภูวนัย ฉายในเมืองไทยชื่อ หมัดสังหารหลังจากนั้นได้แสดงนำในหนังฮ่องกงแนวกังฟู The Bloody Fight (Xue dou) ในปี ค.ศ. 1972 และ Shi hou ซึ่งเป็นภาคต่อของ The Bloody Fight ในปีเดียวกัน  ถัดมาอีก 2 ปี แสดงนำในภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ปี ค.ศ.1974 เรื่อง หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (Urutora 6-kyodai tai kaijû gundan) และภาพยนตร์ฮ่องกงปี ค.ศ.1976 เรื่อง Chun man Ba Di Ya  อีกด้วย ผลงานสู่สายตาผู้ชมระดับสากลในช่วงนี้ยังมี "ตัดเหลี่ยมเพชร" (H-Bomb) ภาพยนตร์ไทย-ฮ่องกง จากงานกำกับของ "ฟิลิป" ฉลอง ภักดีวิจิตร ประชันบทกับดาราชั้นนำ โอลิเวีย ฮัสซี่ และคริส มิตชั่ม ในยุคที่เธอมีชื่อเสียง เธอมีผลงานแสดงภาพยนตร์ไทยหลายสิบเรื่อง

ทูน หิรัญทรัพย์ (24 ตุลาคม พ.ศ. 2497 - ) พระเอกยอดนิยมชาวไทย นักแสดงคู่ขวัญร่วมกับ จารุณี สุขสวัสดิ์  ทูน หิรัญทรัพย์ มีชื่อจริงว่า โรเบิร์ต โจเซฟ เชสเปเดส เป็นลูกครึ่งไทย-ฟิลิปปินส์ บิดาเป็นชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี แล้วเดินทางไปท่องเที่ยวผจญภัยกับบิดาเลี้ยง ที่ประเทศแทนซาเนียนาน 1 ปี ก่อนจะกลับเมืองไทย จบปริญญาตรีด้านกราฟิกดีไซน์จากมหาวิทยาลัย รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย และเริ่มเข้าสู่วงการเมื่อ พ.ศ. 2523 หลังจากกลับมาจากต่างประเทศใหม่ ๆ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก ในบทสมทบจากเรื่อง อารมณ์ และเรื่องที่สอง แก้ว ของเปี๊ยก โปสเตอร์ รับบทชายตาบอด คู่กับลินดา ค้าธัญเจริญ โดยชื่อในการแสดง เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้ตั้งให้  เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง แก้วตาพี่ เล่นเป็นชายตาบอด แสดงคู่กับจารุณี สุขสวัสดิ์ กำกับโดย พันคำ กับภาพยนตร์เรื่อง ไข่ลูกเขย (เนื้อเรื่องเดียวกับ เขยบ้านนอก) คู่กับ เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์ กำกับโดย เปี๊ยก โปสเตอร์ หลังจากนั้นจึงมีผลงานทางจอเงินออกมาหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่ได้แสดงคู่กับจารุณี อาทิ ลูกสาวกำนัน, ลูกสาวกำนันภาค 2, แม่แตงร่มใบ, อาจารย์โกย, รัตติกาลยอดรัก เป็นต้น จนนับเป็นดาราคู่ขวัญวงการหนังไทยยุคหนึ่ง ทูนมักจะได้รับบทพระเอกเป็นส่วนมาก แต่ก็รับบทพระรองบ้างเพียงไม่กี่เรื่องอาทิ ดาวพระเสาร์, กากี, เพลิงภูหลวง ฯลฯ โดยส่วนใหญ่มักเป็นรองพระเอก สรพงศ์ ชาตรี ต่อมายังได้ผันตัวไปเล่นละครโทรทัศน์โดยรับบทพระเอกในช่วงแรกจนรับบทพ่อในยุคต่อมา ในปี พ.ศ. 2527 เขาได้ออกอัลบั้มเพลงชุดแรก ชื่อ ผู้ชายเฉิ่มเฉิ่ม สังกัดค่ายแกรมมี่ อำนวยการผลิตโดย เรวัต พุทธินันทน์, ปรัชญ์ สุวรรณศร และนิติพงษ์ ห่อนาค และมีอัลบั้มที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2535 ทูน 100% สังกัดค่าย เอส.พี.ศุภมิตร ปัจจุบันได้รับงานแสดงน้อยลง หันมาเป็นผู้ผลิตรายการเด็กป้อนสถานีโทรทัศน์ ก่อตั้งบริษัทผลิตงานบันเทิง และฝึกสอนการแสดง ชื่อ สถาบันศิลปะภาพยนตร์และบันเทิง (Film and Broadcasting Institute ชื่อย่อ FBI) และทำงานด้านสังคมร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ และรณรงค์การปลูกป่า ผลงานแสดงภาพยนตร์เรื่องล่าสุด คือเรื่อง พันธุ์ร็อกหน้าย่น (2546) และ คำพิพากษาของมหาสมุทร (2549) กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง รวมทั้งละครทางช่อง 3 เรื่อง สามีตีตรา และ อย่าลืมฉัน ซึ่งออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2557  ปัจจุบัน ทูน หิรัญทรัพย์ ได้ป่วยเป็นโรคต้อหิน เนื่องจากดวงตารับแสงสว่างจ้าจากดวงไฟที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ในสมัยก่อน ด้านครอบครัว เคยสมรสกับ เสาวนิตย์ พันธุ์วิวาศ อย่างเงียบ ๆ หลังใช้ชีวิตคู่มานานกว่า 20 ปี มีบุตรสาวด้วยกัน 3 คน แต่ปัจจุบันได้หย่าร้างกันแล้ว

จินตหรา สุขพัฒน์ มีชื่อจริงว่า จิตติมาฆ์ สุขพัฒน์ ชื่อเล่น แหม่ม เป็นนักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ชื่อดังของประเทศไทย โดยได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งในช่วง พ.ศ. 2527 - 2541จินตหราเกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2508 ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในครอบครัวไทยเชื้อสายมอญ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก  เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ที่เกิดจากนายปรีดีและนางสมจิตร สุขพัฒน์  ,จินตหราเป็น "นางเอกยอดฝีมือ" เป็น "นางเอกยอดนิยม" ต่อจาก เพชรา เชาวราษฎร์ และ จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็น "นางเอกอันดับหนึ่งคนสุดท้ายของวงการภาพยนตร์ไทย" และเป็น "ผู้ปิดตำนานนางเอกหนังไทย" และยังได้รับการยกย่องให้เป็น "นางเอกแห่งสยามประเทศ" และ "นางเอกดาวค้างฟ้า" นอกจากฝีมือทางการแสดงแล้ว จินตหรา ยังได้รับการยกย่องในความประพฤติ อัธยาศัย กิริยามารยาท วินัย และการวางตัวที่ดี เหมาะสม และสง่างาม โดยเป็นนักแสดงไทยที่ไม่เคยมีข่าวเสียหาย และเป็นที่ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีงามของนักแสดงรุ่นหลังหลายคน เช่น แอน ทองประสม  ขณะที่จินตหราเรียน ปวช.และทำงานพิเศษที่บริษัทโตโยต้า ทีมงานบริษัทเดนสึที่ทำโฆษณาให้โตโยต้าได้ชวนให้เธอไปทดสอบหน้ากล้องเพื่อถ่ายโฆษณาผ้าอนามัยลอริเอะ  เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. จินตหรา ได้ทำงานที่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติกส์ แผนกพัฒนาการขายเพี้ยซ และช่วงนั้นอำพล สุวรรณจิตร อาจารย์สอนแต่งหน้าสถาบันเอ็มทีไอ ก็ได้ชักชวนให้มาแสดงภาพยนตร์ของสักกะ จารุจินดา เรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา คู่กับไพโรจน์ สังวริบุตร ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่แจ้งเกิดเธอจากนั้นจินตหราได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงของค่ายไฟว์สตาร์ มีผลงานมาต่อเนื่องและทำให้จินตหรากลายเป็นนางเอกแถวหน้า อย่าง แก้วกลางดง แรงหึง คำมั่นสัญญา หวานมันส์ฉันคือเธอ สะพานรักสารสิน ภาพยนตร์ที่เป็นบทพิสูจน์ว่าจินตหราเป็นนางเอกที่โด่งดังและมีฝีมือทางการแสดงอย่าง คู่กรรม เหยื่อ ที่พลิกบทบาทการแสดงของจินตหรา ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44  ภาพยนตร์ที่ทำให้จินตหราเป็นที่นิยมในหมู่แฟน ๆ ชาวไทยมากที่สุดคือเรื่อง บุญชู แสดงคู่กับสันติสุข พรหมศิริ ที่สร้างติดต่อหลายภาค และเป็นที่รู้จักและชื่นชมไปทั่วโลกจากบทสาวชาวเวียดนามจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด เรื่อง Good Morning, Vietnam ที่แสดงคู่กับ โรบิน วิลเลียม  หลังจากหมดสัญญากับไฟว์สตาร์ จินตหราซึ่งเป็นนางเอกภาพยนตร์อันดับหนึ่งของประเทศไทยในยุคนั้นได้สร้างความฮือฮาให้กับสังคมเมื่อก้าวสู่วงการละครโทรทัศน์ด้วยการแสดงละครโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์สองสถานีใหญ่พร้อมกันคือ เชลยศักดิ์ ทางช่อง 7 และสี่แผ่นดิน ทางช่อง 3 (เชลยศักดิ์ออกอากาศก่อน) ผลงานทั้งสองทำให้จินตหราเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะบทแม่พลอยในละครสี่แผ่นดินที่ถือว่าจินตหราได้ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในบทบาทนักแสดงละครโทรทัศน์  ในปี พ.ศ. 2550 จินตหราได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จินตหรา สุขพัฒน์ ถือเป็นนางเอกภาพยนตร์ไทยหรือนางเอกจอเงินคนสุดท้าย ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จินตหราได้รับเกียรติให้ประทับรอยมือและรอยเท้าบนลานดาราซึ่งเป็นลานเกียรติยศของดาราภาพยนตร์ไทย ที่หอภาพยนตร์ ในฐานะของนางเอกคนสุดท้ายผู้ปิดตำนานภาพยนตร์ไทย

สันติสุข พรหมศิริ (ชื่อเล่น: หนุ่ม 6 สิงหาคม พ.ศ. 2506) ที่จังหวัดสิงห์บุรี  เป็นนักแสดง, นักพากย์ และพิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวไทย  สันติสุขเกิดที่อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ได้เป็นประธานชมรมการแสดง มีโอกาสแสดงภาพยนตร์และละครเวทีหลายเรื่อง ได้รับรางวัลตุ๊กตาเงินดาราดาวรุ่งยอดเยี่ยม  ในปี พ.ศ. 2531 บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เลือกให้รับบทเป็น บุญชู คู่กับ จินตหรา สุขพัฒน์ ในภาพยนตร์เรื่อง บุญชูผู้น่ารัก ของไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอันมาก ทำให้สันติสุขจินตหรา เป็นคู่ดารานำแห่งยุค ได้แสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ร่วมกันอีกจำนวนมาก  พ.ศ. 2532 รับบทเด่นเป็น จะเด็ด ที่ได้รับความนิยมสูงมาก เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ทางช่อง 3 และยังแสดงบทร้ายครั้งแรกในละครเรื่อง เลือดเข้าตา โดยแสดงเป็น สารวัตรก้อนเส้า ทางช่อง 5  ปี 2536 ออกอัลบัมเพลงชุดหนึ่งกับค่ายคีตา[1] แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนัก ชีวิตส่วนตัว สมรสกับณิชกานต์ เตชะโสภาพรรณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 มีบุตรด้วยกันสามคน ศิวกร พรหมศิริ หรือ โฟกัส เป็นบุตรหัวปี เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 บุตรอีกสองคนเป็นฝาแฝด

สินจัย เปล่งพานิช (นกหญิง) นามสกุลเดิม หงษ์ไทย เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2508 เป็นนักแสดงที่มีผลงานการแสดงภาพยนตร์และละครมากมาย ทั้งยังเคยออกผลงานอัลบั้มเพลงชุด ทอฝัน (2533) กับค่ายแกรมมี่สินจัย เกิดและโตที่กรุงเทพ มีพี่น้อง 4 คน เป็นคนที่ 2 พี่สาวต่างมารดาหนึ่งคน และน้องชายสองคน ศึกษาจบระดับมัธยมที่ 3 จากโรงเรียนศรีอยุธยา ก่อนเข้าวงการ ปี 2523 ได้ตำแหน่งนางสงกรานต์ของช่อง 5 และไปประกวด Miss Young International เข้ารอบ 15 คนและเป็นนางแบบให้กับห้างไทยไดมารู ด้วยรูปร่างที่มีส่วนสูงถึง 170 เซนติเมตร จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อปี 2524 ด้วยการถ่ายแบบให้กับนิตยสารสกุลไทย จากนั้นก็ได้มีโอกาสเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทย แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกเมื่ออายุ 16 ปี จากเรื่อง สายสวาทยังไม่สิ้น” (2525) กำกับโดยคุณแจ๊สสยาม แสดงนำเป็นเรื่องแรกคู่กับคุณฉัตรชัยและคุณพิศาล เป็นภาพยนตร์ของไฟว์สตาร์ ต่อจากนั้นได้แสดงเรื่องกตัญญูประกาศิต แสดงร่วมกับโจวหยุนฟะ แล้วเริ่มมีชื่อเสียงเมื่อแสดงเรื่องเพลิงพิศวาส กำกับโดยหม่อมน้อยและได้รางวัลพระสุรัสวดีนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากนวลฉวี กำกับโดยอาจารย์บรรจง ในปีเดียวกัน นวลฉวีได้รับการตอบรับที่ดีมาก เรื่องนี้แสดงคู่กับคุณอภิชาติ หาลำเจียก  ปี 2528 เล่นละครเรื่องแรก "ระนาดเอก" ทางช่อง 7 และในปี 2532 มีผลงานการเขียนหนังสือรวมเล่มกลอนเปล่า "ความงามแสนเหงา" โดยใช้นามปากกาว่า "ปรางทราย" จนปี 2533 ได้มีผลงานออกอัลบั้มเพลงชุด "ทอฝัน" กับค่ายแกรมมี่  ส่วนทางด้านการแสดงภาพยนตร์มีผลงานเช่น สายสวาทยังไม่สิ้น” (2525), “ ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529), “น้ำเซาะทราย” (2529), “ สะแกกรัง” (2529) , “ สะใภ้” (2529), “ แสงสูรย์” (2529), “ ฉันผู้ชายนะยะ” (2530), “ ฉันรักผัวเขา” (2530), "พลอยทะเล" (2530), “ ไฟซ่อนเชื้อ” (2530), “ ครั้งเดียวก็เกินพอ” (2531), “ ภุมรีสีทอง” (2531), “ รักด้วยชีวิต” (2531), “ วิวาห์จำแลง” (2531), “ รักข้างแรม” (2532) ฯลฯ "สุนีย์" ซึ่งจากภาพยนตร์เรื่องนี้เองทำให้เธอได้รับรางวัล ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากรางวัลภาพยนตร์ไทย ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 16, คมชัดลึก อวอร์ด และ สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส และอีกหลายรางวัล อีกทั้งเธอยังถูกจัดอันดับให้เป็นบุคคลบันเทิงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึ่งของประเทศไทย และต่อมาก็ได้รับรางวัลนักแสดงหญิงแห่งปี จากไนน์เอ็นเทอร์เท็นอวอดส์ 2008  เธอกลับมาแสดงภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2553 "นิดา" หญิงวัยกลางคนที่มีลูกชายป่วยเป็น "โรคฮิคิโคโมริ" กับภาพยนตร์ในการกำกับของภาคภูมิ วงษ์จินดา และ เขียนบทโดย เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ เรื่อง Who are you? ใคร...ในห้อง
สินจัย เปล่งพานิช (หงษ์ไทย) เป็นนักแสดงไทยในยุคหลังที่เคยผ่านงานแสดงภาพยนตร์ไทยในยุครุ่งเรืองมาก่อนและยังมีผลงานแสดงอย่างสม่ำเสมอมาจนถึงยุคปัจจุบัน มีผลงานภาพยนตร์อยู่ราว 40 กว่าเรื่อง ผลงานละครทางโทรทัศน์ ส่วนใหญ่อยู่ที่ช่อง 3 และช่อง 5 (ค่ายเอ็กซ์แซ็กท์) ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นผู้จัดละครให้กับช่อง 3 ร่วมกับพี่นกชาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น