วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ตอนที่ 2 ปัญหาหนี้ครัวเรือน – หนี้นอกระบบ – หนี้สาธารณะ


ปัญหาหนี้ครัวเรือน – หนี้นอกระบบ – หนี้สาธารณะ

เวลานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเรื่องหนี้สิน เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย หรือใครจะปฏิเสธ ดูเหมือนบรรดานักการเมือง หรือผู้บริหารประเทศ จะนิ่งดูดายกับปัญหานี้มานาน เพราะไม่เช่นนั้น ระดับความรุนแรงของมัน น่าจะลดน้อยถอยลงบ้าง แต่นี่กลับพอกพูน และทวีความรุนแรงหนักหน่วงขึ้นมาก ไปดูความหมายของหนี้ในระดับต่างๆ กัน



1.หนี้ครัวเรือน คือหนี้สินที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชน ในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งรวมเอาหนี้ส่วนบุคคลเอาไว้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ มันคือหนี้โดยรวมของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนมารวมกัน เช่น ในครอบครัวประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ลุง ป้า น้า อา หลาน กี่คนก็ตาม ภายในบ้าน 1 หลัง เราเรียกหนี้รวมทั้งหมดของสมาชิกครอบครัวนั้นว่า หนี้ครัวเรือน บางครั้งครอบครัวประกอบด้วยเพียง 2 คน คือสามีกับภรรยา เราก็เรียกหนี้โดยรวมของ 2 คนนี้ว่า หนี้ครัวเรือนเช่นกัน เพราะถือว่า 2 คนนี้สมรสอยู่กินกันเป็นครอบครัวแล้ว หนี้ครัวเรือนนี้ แม้ดูผิวเผินเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หรือปัญหาของแต่ละครอบครัว ซึ่งมากน้อยก็แล้วแต่ครอบครัวนั้น แต่ในความเป็นจริง ถ้ารวมเอาทุกครอบครัวในสังคม หรือระดับประเทศมารวมกัน ต้องถือว่า เป็นหนี้ก้อนโต ในระดับมหภาค ที่จะว่าไปแล้ว เป็นปัญหาที่เวลานี้ใหญ่ในระดับประเทศแล้ว
(เปิดตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ปี’61 คนไทยแบกหนี้ 12.83 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี
วันที่ 1 April 2019 - 20:11 น. อ้างอิง ประชาชาติธุรกิจ)



2.หนี้นอกระบบ คือหนี้สินที่เกิดจากภาคเอกชน หรือในระดับปัจเจกบุคคลเช่นกัน แต่มีการจำแนกว่า อยู่ในระบบ กับนอกระบบ คำถามคือทำไมต้องแยกเป็นหนี้ในระบบกับหนี้นอกระบบ ก็เพราะหนี้ในระบบ ควบุคมได้ คือมีเพดานกำหนดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยอย่างตายตัว และเจ้าหนี้ทุกคน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในการตามหนี้จากลูกหนี้ และลูกหนี้ก็สามารถได้รับการคุ้มครองจากกฏหมาย หรือสามารถใช้กฎหมายในการเจรจาต่อรอง หรือขอผ่อนผัน และบรรเทาภาระหนี้ลงได้ แต่หนี้นอกระบบนั้นตรงกันข้ามเลย คือกฎหมายไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรได้มากนัก นอกจากตามจับกุมบรรดาเจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ แต่หากไม่สามารถตามจับกุมตัวได้ บรรดาเจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้ก็กระทำกับลูกหนี้แบบนอกกฎหมาย ทั้งทวงหนี้โหด เก็บดอกเบี้ยโหดในอัตราสูง จนทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนจ่ายให้เงินต้นลดลงได้ หรือแม้แต่ดอกเบี้ย ก็ยังไม่สามารถผ่อนจ่ายได้ครบตามระยะเวลาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ จนเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ที่บรรดาลูกหนี้ทั้งหลายถูกทำร้าย เอาชีวิต และบางรายถึงกับต้องฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้หรือภาวะความเครียดจากการถูกทวง/ตามหนี้ ปัญหาหนี้นอกระบบในสังคมไทย เท่าที่เป็นอยู่ ต้องถือว่ายังคงมีอยู่ และแม้จะลดลงบ้าง จากมาตรการปราบปรามอย่างหนักหน่วง ในช่วงยุครัฐบาล คสช. แต่ในสภาพความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า หนี้นอกระบบยังคงฝังรากอยู่ในทุกหัวระแหงของสังคมไทย แม้ว่าภาครัฐจะพยายามผลักดัน ไมโครไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงินระดับรากหญ้าเพื่อลงไปช่วยเหลือ แก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของประชาชนรากหญ้าหรือรายย่อยก็ตาม แต่ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลงของการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐหรือไม่ก็การกระจายตัวของไมโครไฟแนนซ์เหล่านี้ยังไม่มากพอ ทำให้ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ เลือกที่จะใช้บริการหนี้นอกระบบที่มีอยู่เกลื่อนกลาดและเข้าถึงได้ง่ายกว่า เป็นทางเลือกเดียวที่เขามีอยู่ แม้จะรู้ว่าเสี่ยงและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมากก็ตาม คำถามคือภาครัฐจะแก้โจทก์นี้อย่างไร เพราะนับวันปัญหาหนี้นอกระบบไม่ได้ลดลงเลย




3.หนี้สาธารณะ คือหนี้สินภาครัฐ ที่เกิดขึ้นได้จากภาครัฐเท่านั้น เกิดจากการใช้จ่ายของทางภาครัฐที่ต้องการลงทุนในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือกับนโยบายรัฐบาลบางอย่าง ที่ต้องใช้ตัวเงินในการเบิกจ่ายจำนวนมาก แต่เงินงบประมาณของทางภาครัฐมีไม่เพียงพอ จนต้องเกิดการกู้ยืมมาลงทุน หรือใช้จ่ายในโครงการนั้นๆ หนี้ชนิดนี้ไกลตัวจากบรรดาเราๆ ท่านๆ ที่เป็นชาวบ้านตาดำๆมากนัก แต่อย่าลืมว่า ผลกระทบของหนี้สาธารณะที่ภาครัฐเป็นคนก่อ ท้ายที่สุดจะส่งผลถึงประชาชนชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ท่านๆ แบบหนีไม่พ้นเช่นกัน เพราะหนี้สาธารณะเป็นตัวบ่งบอกสถานะทางการเงินของภาครัฐ หรือเงินคงคลังของประเทศ ไม่ต่างจากหนี้ครัวเรือน เป็นตัวบ่งบอกสถานะการเงินของครอบครัวหรือภาคเอกชน ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น เราจึงนิ่งดูดายไม่ได้เช่นกัน เมื่อเห็นว่า หนี้สาธารณะในระดับประเทศก็พอกพูนคูณทวีเป็นไปในทิศทางเดียวกับหนี้ครัวเรือน ไม่แตกต่างกันเลย 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่ว่าจะเป็นระดับจุลภาค คือหนี้ครัวเรือนหรือหนี้ส่วนบุคคล ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันหนี้สาธารณะซึ่งเป็นหนี้ภาครัฐก็ไปในทิศทางเดียวกัน มันเป็นตัวบ่งบอกอะไรได้มากกมาย
(ก.คลัง กางตัวเลขหนี้สาธารณะสิ้นปี’61 เฉียด 7 ล้านล้าน เป็นหนี้รัฐบาล 5.5 ล้านล้าน อ้างอิง ข่าวสดออนไลน์)

คำถามคือ แล้วไอ้หนี้สินนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วอะไรคือสาเหตุกันแน่

หนี้สินคือผลลัพธ์ของการจัดการปัญหาการเงิน กล่าวคือ เมื่อใดที่รายจ่ายหรือค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับหรือเงินทุนที่มีอยู่ ส่วนต่างตรงนั้น ก็คือหนี้สิน นั่นเอง ทำให้เป็นจุดเริ่มของการก่อหนี้ การกุ้ยืมเงิน มาชดเชยส่วนต่างตรงนี้ คำถามคือแล้วเราไม่กู้ยืมได้มั๊ย คำตอบก็คือ ก็ได้ ถ้าไม่กู้ยืมหรือสร้างหนี้ ก็มีหนทางอีกแบบนึง ก็คือ เอาทรัพย์สินไปขาย หรือควักเงินเก็บหรือเงินทุนออกมาใช้ หรือเอาทรัพย์สินมีค่าไปจำนำ อย่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักทำกันในช่วงใกล้เปิดเทอม อย่างที่เราได้เห็นตามข่าว แต่เมื่อไหร่ ที่ทางเลือกเหล่านั้นหมดลง หรือไม่มี ท้ายที่สุดคุณก็ต้องกู้ยืมอยู่ดี อันนี้หมายรวมถึงภาคธุรกิจด้วย ถ้าคุณมีรายรับ ไม่พอกับรายจ่าย คุณจักควักเงินทุนมาใช้เหรอ ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจก็จะเลือกที่จะใช้สินเชื่อหรือเงินกู้ยืม เช่นกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เกิดการก่อหนี้ ในระดับภาครัฐหรือระดับประเทศก็เช่นเดียวกัน ถ้าเขาไม่สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายรับได้ ก็จำเป็นต้องก่อหนี้ ในรูปเงินกู้ยืม เฉกเช่นเดียวกับภาคเอกชนหรือธุรกิจเช่นกัน

ที่บอกว่า ปัญหาหนี้สิน คือผลลัพธ์ของการจัดการปัญหาการเงินนั้น แท้ที่จริงแล้ว ถ้าเราสามารถบริหารจัดการเงินในกระเป๋าหรือเงินในหน้าตัก เราได้ คือทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้รายได้ รายรับ หรือยอดขาย มันมากกว่า รายจ่าย ค่าใช้จ่าย ได้แล้ว ปัญหาหนี้สินก็จะไม่เกิดขึ้น แถมยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย แล้วอะไรที่ทำให้ คนเราไม่สามาถหารายได้มากกว่ารายจ่าย บางคนก็อ้างสาเหตุว่า เป็นเพราะ ยอดขายตก ต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนสินค้าเพิ่ม ทำให้กำไรลดลง เศรษฐิกิจไม่ดี ทำยอดขายหรือรายรับลดลง บ้างก็ว่าส่วนแบ่งการตลาดลด โดนคู่แข่งแย่งลูกค้าไป บ้างก็ว่า ประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนผิดพลาด ปัญหา disruption ในภาคธุรกิจของตน บลาๆๆ แล้วแต่จะสรรหาเหตุผลมาอธิบาย จริงๆ แล้วปัญหาหนี้สิน ไม่ใช่มีแต่ประเทศไทยที่ประสบปัญหาอยู่ประเทศเดียว แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ยุโรป จีน ก็กำลังประสบปัญหาเรื่องนี้เฉกเช่นเดียวกับเรา และอาจจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์กว่ามากด้วย จนเป็นต้นตอของการเปิดสงครามทางการค้าระหว่างกันอยู่ในขณะนี้ 

หนี้สินภาคครัวเรือนหรือระดับปัจเจกบุคคล ยังพอจะแก้ไขให้บรรเทาลดน้อยลงได้บ้าง ด้วยการแก้ที่พฤติกรรมการใช้จ่าย การบริโภคของคุณลง และพยายามเร่งหารายได้เพิ่ม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง ปัญหาก็จะบรรเทาลงจนอยู่ในระดับที่จะสามารถบริหารจัดการได้ แต่ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศพอกพูน ยังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนแก้ได้สำเร็จ สุดท้ายก็ต้องให้ประชาชนรับกรรม ด้วยการรับภาระหนี้เหล่านั้นแทน นี่สิ เป็นเรื่องที่แม้แต่ การที่คุณมีบุญเก่า ทำกรรมดีมาทั้งชีวิต ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยง กรรมร่วม เวรที่ก่อโดยผุ้บริหารประเทศห่วยๆ บางคนได้ทำเอาไว้ได้ อนุโมทนาสาธุ ขอให้ท่านทั้งหลายผ่านปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลไปได้ด้วยดี เถิด.....สาธุ



บทความโดย เพจหยิกแกมหยอก

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอยุ่หัวฯ ร.10




เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 พุทธศักราช 2562

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ 

ข้าพระพุทธเจ้า บล็อกหยิกแกมหยอก