วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มองออสการ์ มองฮอลลีวู้ด และทิศทางภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้

 เมื่อใกล้ถึงวันประกาศผลรางวัลออสการ์(Academy Award) ทุกปี จะมีเรื่องให้ต้องเขียนถึงได้ทุกที ปีนี้ก็เช่นกัน ซึ่งจะมีประเด็นที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี บทความชิ้นนี้ก็จะขอพูดถึงการวิเคราะหภาพยนตร์ที่จะเข้าชิงออสการ์ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยที่จะไม่ใช่การกะเก็งรางวัลอะไรแต่อย่างใด (เพราะตัวผู้เขียนไม่ใช่นักวิจารณ์ภาพยนตร์,หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์) เพราะไม่ได้มีความถนัด แต่จะขอตั้งข้อสังเกตจากความเห็นของตัวผู้เขียนเองในประเด็นที่คิดออก และน่าสนใจ และก็จะพูดถึงประวัติความเป็นมาของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ความเป็นมาของรางวัลออสการ์ และก็ทิศทางของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงหนังฟอร์มยักษ์ที่จะเข้าโรงฉายภายในปีนี้ว่าจะมีเรื่องใดที่น่าสนใจกันบ้าง


รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ เมื่อปี 2010 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1. Avatar 2.The Blind Side 3.District 9 4. An Education 5. Inglourious Basterds 6. Precious: Based on the Novel “Push” by Sapphire 7. A Serious Man 8. UP 9. Up in the Air 10.The Hurt Locker

รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ เมื่อปี 2011 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.Black Swan 2. The Fighter 3. Inception 4. The Kids Are All Right 5. The King’s Speech 6. 127 Hours 7. The Social Network 8. Toy Story 3 9. True Grit 10. Winter’s Bone

รายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ในปีนี้ 2012 มีรายชื่อดังต่อไปนี้

1.The Artist 2.The Descendants 3.Extremely Loud and Incredibly Close 4. Hugo 5. Midnight in Paris 6. The Help 7.Moneyball 8. War Horse 9. The Tree of Life

ผู้เขียนรู้สึกว่าหนังชิงออสการ์ในปี 2010 มันเล่นกับจิตใจของมนุษย์ เป็นธีมของความเป็นมนุษย์ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น Avatar ,The Hurt Locker (หนังยอดเยี่ยมของปีนั้น) ไม่ว่าจะเป็น Inglourious Basterds, A Serious Man, UP หรือ Up in the Air หรือแม้กระทั่งกับหนัง Sci-Fi อย่าง District 9 ก็ตั้งคำถามกับคนดูถึงความสำคัญระหว่างจิตใจของมนุษย์จริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ในขณะที่จิตใจของมนุษย์ต่างดาวกลับดีกว่ามนุษย์โลกเสียอีกใน Avatar,District 9 ในปีนั้น ผู้เขียนชื่นชอบ District 9,Inglourious Basterds, A Serious Man และ Up in the Air มาก ๆ ถือว่ามีสีสันไปคนละแบบในปีนั้น

หนังเข้าชิงออสการ์ในปี 2011 ถือเป็นปีหินของออสการ์ หนังดราม่าที่มีบทเด่นแข็งโป๊กมาชนกัน ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็นธีมของนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะหลายเรื่องนั้นตัวละครเอกต้องต่อสู้กับแรงบีบคั้น แรงกดดัน หรือข้อจำกัดของตนเอง เรียกว่าเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ และรางวัลแห่งชีวิตคือเครื่องพิสูจน์คุณค่าความเป็นคน ซึ่งเป็นปีที่หนังชิงออสการ์แข็งมากที่สุดปีนึง ซึ่ง The King’s Speech คือผู้ชนะของปีนั้น แต่จัดว่าทุกเรื่องที่เข้าชิงนั้นมีทางของตนเอง ที่แข็งแรงอยุ่แล้ว และก็ควรค่าต่อการเป็นหนังเยี่ยมได้ทุกเรื่อง ชอบที่สุดคงเป็น Black Swan ,The Fighter, Inception, The King’s Speech , 127 Hours, The Social Network เรียกว่าเป็นสูตรสำเร็จของหนังดราม่าหลากหลายรูปแบบมาชนกันทีเดียว ยอดเยี่ยมทุกเรื่องเลยในแนวทางของตน

หนังชิงออสการ์ในปีนี้ 2012 บอกตามตรงว่าเพิ่งได้ดูก็เพียงเรื่อง The Artist,The Descendants ,War horse เท่านั้นเอง แต่เมื่อดูจากหน้าหนังและเรื่องย่อของแต่ละเรื่อง และบางเรื่องมีโอกาสได้ชมเป็นหนังตัวอย่างมาบ้าง ก็พบว่ามีจุดร่วมหรือธีมที่สำคัญของปีนี้เหมือนกัน นั่นก็คือ โหยหาอดีต และตัวละครเอกสูญเสียความมั่นใจ อันเกิดจากการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตอะไรบางอย่าง และบททดสอบของชีวิต การแก้ไขปัญหา และยังต้องหาทางออกของชีวิตให้เจอ ซึ่งจะเป็น คีย์เวิร์ดของหนัง หรือประเด็นของเรื่องนั่นเอง ปีนี้จึงเป็นปีที่มีหนังดราม่าบทดีๆ เและธีมหลักของเรื่องดูแข็งแรงมาก พอๆกับปีที่แล้ว ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันซักเท่าไหร่ จะต่างกันก็แค่ หนังเข้าชิงปีนี้น้อยกว่า 1 เรื่อง คือมี 9 เรื่อง ปีก่อนหน้านี้มีถึง 10 เรื่อง หนังตัวเก็งที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เด่นๆ มีดังนี้


The Artist เด่นมากทั้งในเรื่อง production design การแสดง ,บท, และความที่มันแปลก คือสร้างเป็นหนังย้อนยุคในแบบยุค 30’s คือเป็นหนังขาวดำ เป็นหนังเงียบ ฉากหลังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักแสดงในวงการมายา ซึ่งก็ให้คุณค่าเป็นการคารวะต่อวงการภาพยนตร์ และความเป็นต้นแบบของหนังขาวดำ ยุคหนังเงียบหรือคลาสสิค เรื่องนี้จึงถูกจับตามองมากที่สุดหรือเต็ง 1 ที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จในเวทีออสการ์หนนี้ โดยถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 10 สาขารางวัล


Hugo เด่นมากในเรื่อง production design งานสร้างประเภทสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คท์ต่างๆ ,การแสดง, บท ซึ่งจุดเด่นคงเป็นหนังแบบแฟนตาซี จินตนาการ ผูกโยงไปกับการค้นหาของตัวละครที่เป็นเด็ก ซึ่งผู้ชมสามารถอินไปกับหนังได้ง่าย ถ้าเทียบเป็นขนมก็เป็นขนมหวานทานง่ายรสอร่อย และชื่อชั้นของผู้กำกับอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี่ มานั่งกำกับ และนับเป็นหนังแหวกแนวที่สกอร์เซซี่ไม่เคยทำหนังแนวนี้มาก่อนด้วย ปู่แกถนัดทำหนังแนวอาชญากรรม เจ้าพ่อมาเฟียมากกว่า ถ้าไม่รู้มาก่อนหรือไม่บอกว่าใครกำกับนะ ยังคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลงานของสตีเว่น สปีลเบิร์ก ,ปีเตอร์ แจ็คสัน หรือ โรเบิร์ต โซเมอร์คิส เสียอีก เอาใจช่วยให้แกได้ออสการ์อีก 1 ตัว จากเรื่องนี้ เพราะโดยภาพรวมแล้วเป็นหนังดี ดูแล้วอิ่ม เปิดโลกจินตนาการสุดๆ ตัวหนังได้เข้าชิงมากที่สุดในปีนี้ถึง 11 สาขารางวัล


The Descendants เด่นมากในเรื่องของการแสดง โดยเฉพาะพี่จอร์จ คลูนี่ย์ กับบทบาทการเป็นพ่อบ้าน หัวหน้าครอบครัวที่ไม่เคยทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเลย เอาแต่หาเงิน แล้วเมื่อวันนึงภรรยาป่วยหนัก ต้องกลับมาดูแลภรรยาและลูกๆ เขาก็ต้องเผชิญโจทย์ยาก และปัญหาต่างๆ ตามมามากมายให้ตามแก้และตัดสินใจ , บทแบบนี้เข้าทางออสการ์ จะว่าเรื่องนี้ก็เดินไปใน 2 แนวทางพร้อมๆ กันคือเป็นทั้งดราม่าและคอเมดี้ด้วย ให้น้ำหนักพอๆ กัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัว หนังแนวดราม่าปนตลกร้าย ซึ่งแอบเสียดสีสังคมเล็กๆ และสะท้อนชีวิตผู้คน สังคม เรื่องนี้จะเป็นทางถนัดของผู้กำกับที่ชื่ออเล็กซานเดอร์ เพนน์ ซึ่งแกก็ประสบความสำเร็จมาแล้วจากหลายๆเรื่องอาทิ About Schmidt , Sideways แต่ยังไม่เคยได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแค่นั้นเอง มาเอาใจช่วยอีกเรื่องนึงที่นานๆ ปีจะมีมาให้ดูซักเรื่อง หนังแนวแบบอารมณ์ดี เสียดสี ตลกร้าย และก็แอบดราม่าหน่อยๆ ไม่รู้จะพูดว่ายังไง แนวนี้ผู้เขียนชอบทุกทีเลย และมักมีไดอะล็อก บทพูดดีๆ กินใจ ซึ้งๆ ให้ได้น้ำตาร่วงก็มี หรือให้ได้นำไปคิดต่อ เติมเต็มชีวิตได้อีก

สถิติที่น่าจดจำ หรือข้อสังเกตของผู้เขียนก็คือ ในปีนี้เป็นปีของหนังผู้หญิงหรือ ตัวบทนำเอกเป็นผู้หญิงเป็นตัวชูโรง มีจำนวนมาก หลากหลาย และก็เนื้อหาดีๆ ก็หลายเรื่อง อีกทั้งยังได้เข้าชิงในหลากหลายสาขารางวัล อาทิ The Help (หนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ของคนรับใช้หญิงผิวดำกับนายจ้างผิวขาว) ได้เข้าชิงทั้งนักแสดงนำ สมทบหญิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ยังมี The Girl with The Dragon Tattoo (เป็นหนังที่สร้างรีเมคจากต้นฉบับที่เป็นหนังจากนวนิยายขายดีของสวีเดน) ,Brides Maids, The Lady(หนังประวัติของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า) , Iron Lady (หนังประวัติของอดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษ นางมากาเร็ต แท็ตเช่อร์) , My Week With Marilyn (หนังประวัติเสี้ยวนึงของมาริลีน มอนโร) ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ติดโผหนังออสการ์ แต่เป็นหนังที่ตัวนำเอกเป็นผู้หญิง อาทิ Martha Marcy May Marlene, Jane Eyre, Young Adult, Prom, Bad Teacher เป็นต้น





เป็นปีแรกที่ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมนั้น ไม่มีตัวเต็งจ๋าอย่างหนังของ Pixar เข้าชิงแบบนอนมา ว่าต้องได้ เพราะในปีนี้ หนังของ Pixar ไม่เด่นพอ และมีสตูดิโอหนังค่ายอื่นทำออกมาได้ดีกว่า จึงเป็นปีที่เปิดมากสำหรับสาขารางวัลนี้ ว่าสตูดิโอไหนจะประสบความสำเร็จในรางวัลนี้ ในเมื่อ Pixar ไม่มีตัวเต็งแบบนอนมา เข้ามาชิง รายชื่อหนังแอนิเมชั่นที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง มีดังนี้ คือ A Cat in Paris หนังแอนิเมชั่นจากฝรั่งเศส ,Chico & Rita หนังแอนิเมชั่นจากสเปน ,Kung Fu Panda 2 ของค่ายดรีมเวิร์ค , Puss in Boots ของค่ายดรีมเวิร์ค , Rango ของค่ายพาราเม้าท์พิคเจอร์ จะสังเกตว่าดรีมเวิร์คเข้าชิงถึง 2 เรื่อง และเป็นปีที่ไม่มีคู่แข่งอย่าง Pixar ถ้าดรีมเวิร์ค ไม่ได้ในปีนี้ ก็ต้องถือว่าน่าเสียดาย เพราะโอกาสนั้นเปิดให้กับดรีมเวิร์คอย่างมากแล้ว

ประวัติความเป็นมาของเมืองมายาชื่อก้องโลกนาม “ฮอลลีวู้ด”


พูดถึง “ฮอลลีวู้ด” คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า เป็นเมืองของการผลิตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเมืองที่คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งใช้เป็นแหล่งชุบตัว จากคนธรรมดาสามัญให้กลายเป็น “ดารา” นามกระเดื่อง จนมักจะรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองมายา” แต่ก็คงมีน้อยคนที่จะรู้ถึงประวัติและความเป็นมาของฮอลลีวู้ด สถานที่อันเป็นที่ตั้งของฮอลลีวู้ดอยู่ในเวลานี้ (ตั้งอยู่ไม่ห่างจากนครลอสแอนเจลิสไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย) แต่เดิมเป็นแต่เพียงพื้นที่ป่าธรรมดานี่เอง คนพวกแรกที่เข้ามาพบก็คือพวกนักสำรวจชาวสเปน เพราะขณะนั้นพวกอินเดียนแดงพื้นเมืองยังอาศัยอยู่ตามโตรกตามหุบเขา (canyon) แถบเทือกเขาซานตาโมนิกา ต่อมาภายหลังชาวอินเดียนเหล่านั้นจึงได้อพยพเข้ามาครอบครองแผ่นดินแถบนั้นภายใต้การปกครองของสเปน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ แถบทิศตะวันตกเรียกชื่อว่า “รานโชลาเบรีย” (Rancho La Brea) และด้านทิศตะวันออกเรียกชื่อว่า “รานโชลอสเฟลิซ” (Rancho Los Feliz) ต่อมาราวปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ.2413 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่.5 ของไทยเรา) จึงเริ่มมีการเพาะปลูกพืชพรรณเกษตรและธัญญาหารขึ้น มีทั้งการทำทุ่งหญ้าเฮย์สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ ธัญพืช กล้วย และสัปปะรด และเมื่อมาถึงราวๆ ปี ค.ศ.1880 (พ.ศ. 2423) พื้นที่บริเวณดังกล่าวก็ถูกแบ่งซอยออกเป็นแปลงย่อยๆ และมีผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์จนถึงปี ค.ศ. 1886 เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินด้านทิศตะวันตกส่วนหนึ่งมีชื่อว่านายวิลค็อกซ์และมีภรรยาชื่อว่า นางดีดา วิลค็อกซ์ (Mrs.Daeida Wilcox) นางได้ตั้งชื่อที่ดินส่วนนั้นว่า “ฮอลลีวู้ด” (Hollywood) แปลว่า ป่าฮอลลี่” หรือ “ป่าแห่งต้นฮอลลี่” เข้าใจว่าคงจะเป็นเพราะมีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่อย่างชุกชุมกระมัง? จากนั้น เพียง 2-3 ปี นายวิลค็อกซ์ซึ่งน่าจะนับได้ว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ในยุคโน้น ก็เริ่มวางแผนและกำหนดผังที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นชุมชนแห่งใหม่ขึ้น โดยสิ่งแรกที่เขาทำก็คือการจัดทำแนวถนน (เส้นที่ทุกวันนี้เราเรียกชื่อว่า “ถนนฮอลลีวู้ดบูลเลอวาร์ด” Hollywood Boulevard) แล้วเขาก็แบ่งที่ขายให้แก่คนที่มีเงินและกำลังมองหาทำเลดีๆ เพื่อสร้างบ้านพักอาศัย ซึ่งก็เป็นไปตามแผนของเขา ณ ถนนสายดังกล่าว ไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็นย่านอันเป็นที่ตั้งวังและคฤหาสน์ของเจ้านายและผู้ดี เช่น เป็นวังของพระราชินีแอนน์,ผู้ดีแห่งยุควิกตอเรียของอังกฤษ (ราวศตวรรษที่ 19) และบ้านพักของนักสอนและเผยแพร่ศาสนา เป็นต้น จากนั้นนางวิลค็อกซ์ยังได้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสร้างโบสถ์ สร้างโรงเรียน และห้องสมุด จนทำให้ฮอลลีวู้ดกลายเป็นย่านที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ.2446 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) ฮอลลีวู้ดก็มีการจัดการบริหารท้องถิ่นของตนเอง แต่เพียง 7 ปี ก็ต้องผนวกเข้ากับการบริหารของนครลอสแอนเจลิส เนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในขณะที่ลอสแอนเจสิล มีแหล่งน้ำเหลือเฟือ

โรงถ่ายภาพยนตร์แห่งแรกได้เกิดขึ้นในแถบโรงเตี๊ยมของถนนซันเซ็ตและโกเวอร์ (Sunset & Gower) เมื่อปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย) โดยมีบริษัทเนสเตอร์ (Nester Company) มาตั้งเป็นรายแรก ต่อมาก็ได้แก่ เชชิล บี. เดอมิล และ เดวิด วาร์ก กริฟฟิธ (D.W. Griffith) เป็นรายต่อๆ มา การที่มีโรงถ่ายภาพยนตร์เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย พื้นที่สีเขียวที่เคยใช้ทำการเกษตรด้านทิศใต้ของถนนฮอลลีวู้ดบูลเลอวาร์ด ได้ถูกแบ่งและกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนงานในโรงถ่ายภาพยนตร์ไปมากมาย ยิ่งกว่านั้นก็เกิดตึกสูงๆ เพื่อการพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแถบไฮแลนด์ (Highland) คาฮูเองกา (Cahuenga) และแถบไวน์ (Vine) ทำให้เกิดศูนย์การค้าขึ้นมาถึง 3 มุมถนนเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีธนาคาร ภัตตาคาร สโมสรราตรี (Night Clubs) เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย สถานที่หลายแห่งสร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของช่วงปี ค.ศ. 1920 –1930 ตรงกับปี พ.ศ.2463-2473 ,สมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย) ซึ่งภายหลังทางการต้องเข้ามาขึ้นบัญชีสถาปัตยกรรมบางแห่งเป็นโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของฮอลลีวู้ดเอาไว้สำหรับดาราภาพยนตร์ ในระยะหลังๆ นี้ได้โยกย้ายจากฮอลลีวู้ด (ย่านโรงถ่าย) ไปอยู่แถบเบเวอรี่ฮิลล์ ทำให้จำนวนของร้านค้าและภัตตาคารพลอยผุดขึ้นตามไปด้วย จนถึงปี ค.ศ. 1960 (ตรงกับปี พ.ศ. 2503) ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นอีก เพราะมีห้องอัดเสียงไปตั้งและดำเนินธุรกิจในฮอลลีวู้ดอย่างมากมาย และแถบทิศตะวันตกของถนนซันเซ็ตบูลเลอวาร์ด จนถึงทุกวันนี้ฮอลลีวู้ดกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีชีวิตชีวา คึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเมืองแห่งความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ มีปริมาณเงินสะพัดหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และเป็นสวรรค์สำหรับดาราภาพยนตร์ผู้ร่ำรวยเงินทอง แต่อย่างไรก็ตาม “ฮอลลีวู้ด” ก็คือ “ฮอลลีวู้ด” เป็นได้ทั้งสถานที่ที่จะทำให้คนหนุ่มสาวที่มีความฝันได้มาตามหาฝัน ชุบตัวเป็นคนใหม่ เป็นซุปเปอร์สตาร์ เพื่อสร้างฐานะเงินทอง ชื่อเสียง มาแสวงหาคู่ใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ฉาบโรยไว้ด้วย “มายาภาพ” ในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะทำให้คนที่รู้ไม่เท่าทันต้องประสบกับความผิดหวังและหายนะได้เช่นเดียวกัน

(ถอดความบางส่วนจาก บทความ "ฮอลลีวู้ด เมืองมายา ประวัติและความเป็นมา, ย้อนรอยหนังฝรั่ง, ไพบูลย์ แพงเงิน ,สำนักพิมพ์วสี ครีเอชั่น )

ประวัติความเป็นมาของรางวัลออสการ์ (Academy Award) 


พีธีมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรกจัดขึ้นแบบงานเลี้ยงอาหารค่ำเล็กๆที่โรงแรม Roosevelt ในฮอลลีวู้ด บัตรเข้าชมราคา 5$ มีผู้ร่วมงานไม่ถึง 250 คน ปีต่อมาๆได้เปลี่ยนมาจัดที่โรงแรม Ambassador และโรงแรม Biltmore พีธีมอบรางวัลออสการ์ครั้งที่สองได้เริ่มมีการกระจายเสียงสดผ่านทางวิทยุ ต่อมาในปีค.ศ. 1953 จึงเปลี่ยนมาแพร่ภาพทางโทรทัศน์ขาวดำ มีผู้ชมหลายล้านคนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในปีค.ศ. 1966 พีธีมอบรางวัลได้แพร่ภาพทางโทรทัศน์สีเป็นครั้งแรก และมีการออกอากาศไปทั่วโลกตั้งแต่ปีค.ศ. 1969 เป็นต้นมา  ในช่วงทศวรรษแรก ธรรมเนียมปฏิบัติในการประกาศรางวัลสู่สาธารณชนจะทำโดยนำผลการตัดสินให้กับหนังสือพิมพ์ในเวลา 23 นาฬิกาของคืนวันงาน จนกระทั่งปีค.ศ. 1940 หนังสือพิมพ์ลอสเองเจลลิสไทม์แอบทราบผลการตัดสินและได้นำไปตีพิมพ์สู่สาธารณชนก่อนพิธีประกาศรางวัลจะเริ่มขึ้น นับแต่นั้นมา ผลการตัดสินจึงอยู่ในซองจดหมายที่ปิดผนึก พิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ได้จัดที่โกดักเธียเตอร์นับตั้งปีค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ก็จัดขึ้นที่โกดักเธียเตอร์เหมือนเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นชื่อ  Hollywood Hiland Center อันเนื่องมาจากบริษัทโกดักฟิมล์ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ได้ถูกศาลพิทักษ์ให้เป็นบริษัทล้มละลายแล้ว

รางวัลออสการ์ (อังกฤษ: Oscar) หรือ อคาเดมีอวอร์ดส (อังกฤษ: Academy Awards) เป็นงานรางวัลทางภาพยนตร์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดโดยสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (อังกฤษ: Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือ อังกฤษ: AMPAS) โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปีค.ศ. 1929 โดยในปีค.ศ. 2012 จะเป็นงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 84 และจะจัดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ณ ฮอลลีวู้ดไฮแลนด์เซ็นเตอร์ (โกดักเธียเตอร์เดิม)

ที่มาของคำว่า ออสการ์ นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ กรณีแรก ในชีวประวัติของนักแสดงหญิงรางวัลออสการ์ชื่อ Bette Davis ได้อ้างว่าเธอเป็นผู้ตั้งชื่อให้กับรูปปั้นนี้ เนื่องจากด้านหลังของรูปปั้นนั้นดูคล้ายของสามีคนแรกของเธอที่ชื่อ Harmon Oscar Nelson เธอจึงใช้ชื่อกลางของเขาตั้งชื่อรูปปั้นว่า ออสการ์ ทางด้านนิตยสารไทม์ได้มีการกล่าวถึงคำว่า ออสการ์ ในบทความที่เกี่ยวกับงานประกาศผลอคาเดมีอวอร์ดสครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ. 1934 และกล่าวถึงการรับรางวัลของ Bette Davis ในปี ค.ศ. 1936  นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงวอลต์ ดิสนีย์ ว่าเขาได้ขอบคุณอคาเดมีสำหรับรางวัลออสการ์ของเขาในต้นปี ค.ศ. 1932  กรณีที่สอง ได้มีการอ้างว่า Margaret Herrick เลขานุการผู้บริหารของอคาเดมี เป็นผู้ตั้งชื่อให้กับรูปปั้นนี้[4] ในปี ค.ศ. 1931 เธอเป็นคนแรกที่ได้เห็นถ้วยรางวัล เนื่องจากรูปปั้นนี้มีลักษณะคล้ายลุงของเธอ เธอจึงตั้งชื่อรูปปั้นนี้ตามชื่อลุงของเธอว่า ออสการ์ อย่างไรก็ตามทั้งคำว่า ออสการ์ และ อคาเดมีอวอร์ดส ต่างก็เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของสถาบันนี้  คืนประกาศผลรางวัล เป็นการถ่ายทอดสด โดยมากจะจัดหลังจากประกาศผู้เข้าชิงรางวัล 6 สัปดาห์ ดารานักร้องที่เข้าร่วมงานมักจะเดินบนพรมแดง แต่งชุดอย่างสวยงาม ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน นอกจากมีการมอบรางวัลต่างๆ ยังมีการแสดงเพลงจากผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาเพลง มีการประมาณการว่า มีผู้ชมกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก (ในปี 2546) ตัวงานได้แพร่ภาพออกทางโทรทัศน์ ในปี พ.ศ. 2496 ทางสถานี NBC จากนั้นจึงเปลี่ยนมือเป็นสถานี ABC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519     การออกแบบตัวรางวัลหรือรูปปั้นออสการ์นั้น Cedric Gibbons ซึ่งเป็นผู้กำกับศิลป์ของเอ็มจีเอ็มและเป็นหนึ่งในสมาชิกเก่าแก่ของออสการ์ เป็นผู้ออกแบบรูปปั้นรางวัลออสการ์ Cedric ได้ใช้เรือนร่างเปลือยของนักแสดงเม็กซิโกคนหนึ่งที่ Dolores del Río ผู้เป็นภรรยาของเขาได้แนะนำให้รู้จัก ชื่อว่า Emilio Fernández เป็นแบบในการทำรูปปั้น โดยมี George Stanley เป็นผู้ร่างแบบบนดินเหนียว และมี Sachin Smith เป็นผู้หล่อรูปปั้นโดยใช้ส่วนประกอบ ดีบุก 92.5% ทองแดง 7.5% และชุบด้วยทองคำ โดยในส่วนฐานของรูปปั้นได้เพิ่มเข้ามาในภายหลัง แต่เดิมฐานจะทำจากหินอ่อน ในปีค.ศ. 1945 จึงเปลี่ยนเป็นโลหะ  แม่พิมพ์ต้นฉบับของรูปปั้นออสการ์ทำขึ้นในปีค.ศ. 1928 ที่ C.W. Shumway & Sons Foundry ในบาทาเวีย มลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งแม่พิมพ์ของถ้วยรางวัลเอมมีและรางวัล Vince Lombardi Trophy ก็ทำขึ้นจากที่นี่เช่นเดียวกัน ในแต่ละปีรูปปั้นรางวัลออสการ์จำนวนประมาณ 40 อัน จะทำขึ้นที่ชิคาโก โดยบริษัท R.S. Owens หากมีรูปปั้นใดทำออกมาแล้วไม่มีคุณภาพ รูปปั้นนั้นจะถูกตัดเป็นสองท่อนแล้วนำไปหลอมละลาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปปั้นรางวัลออสการ์ที่มอบให้กับผู้รับรางวัลจะทำจากปูนปลาสเตอร์ โดยจะให้รูปปั้นที่ทำจากทองคำหลังสงครามสิ้นสุด  รูปปั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Academy Award of Merit เป็นรูปอัศวินถือดาบครูเสดเอาปลายแหลมลงดิน ยืนบนม้วนแผ่นฟิล์ม สูง 13 นิ้วครึ่ง (34 เซนติเมตร)หนัก 8 ปอนด์ครึ่ง (3.85 กิโลกรัม) ทำจากบริทานเนียมชุบด้วยทองคำบนฐานโลหะสีดำ ออกแบบโดย Cedric Gibbons ตรงส่วนฐานที่เป็นม้วนแผ่นฟิล์มนั่นจะเป็นที่จารึก 5 ชื่อสาขาใหญ่ ๆ ของรางวัล อันประกอบไปด้วย นักแสดง เขียนบท กำกับการแสดง อำนวยการสร้าง และด้านเทคนิค

(อ้างอิงข้อมูลจาก วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)   Link : http://oscar.go.com/

ทิศทางของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในปีนี้




ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ฟังการสัมภาษณ์คุณปัณณทัต พรหมสุภา ผู้บริหารของบริษัท UIP ถึงทิศทางของหนังฮอลลีวู้ดในปีนี้ ซึ่งดำเนินรายการโดยคุณนันทขว้าง สิรสุนทร ในช่องแมงโก้ทีวี และก็บทสัมภาษณ์ของคุณปัณณทัต ในเอนเตอร์เทนเอ็กซ์ตร้า ที่กล่าวไว้ตรงกัน ว่าทิศทางของหนังฮอลลีวู้ดในปีนี้ จะมีอะไรที่ยิ่งใหญ่ และเป็นแนวทางใหม่ๆ ไม่ใช่หนังสูตรสำเร็จในแบบภาคต่อฟอร์มยักษ์อีกแล้ว เพราะหนังสูตรสำเร็จในแบบหนังภาคต่อนั้นคนดูเริ่มจับทางได้ และก็เน้นสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็คท์กันอย่างเดียว บทอ่อน เพราะซ้ำเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ในส่วนของด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ก็พัฒนาไปถึงขั้นหนังดิจิตอล แบบ 3,4 มิติ กันแล้ว ซึ่งด้านนวัตกรรมในการผลิตภาพยนตร์ก็พัฒนามาไกลสุดกู่แล้ว แม้ว่าในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก แต่ในด้านการพัฒนาแนวทางของเนื้อหา บทภาพยนตร์นั้นยังตามไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเลย ผู้เขียนคิดว่าคนดูโดยส่วนใหญ่ยังต้องการเสพอรรถรสจากเนื้อหาดีๆ มากกว่าด้านเทคนิคหรือพัฒนาเคียงคู่กันไปแบบสอดคล้องพอเหมาะพอดี ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีความก้าวหน้าด้านภาพด้านเสียงตื่นตาตื่นใจมาก แต่บทอ่อนปวกเปียก ไม่มีสาระประเด็นอะไรใหม่ๆให้คิดเลย แม้ว่าหนังภาคต่อยังคงเป็นกระแสหลักที่ยังจะมีออกมาอีกมากในปีนี้ แต่แนวทางใหม่ๆ ที่คุณปัณณทัต ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจก็คือเรื่องของการพัฒนาบทภาพยนตร์ซึ่งจะเป็นธีมใหม่ ที่ทุกสตูดิโอทุกค่ายจะต้องหันมาให้ความใส่ใจกันมากขึ้น บทต้องคมเข้ม ลึกซึ้งและให้รายละเอียดของตัวละครแบบมีชั้นเชิงและลึกลับซับซ้อนมากกว่าเดิม โดยยกตัวอย่างหนังเด่นของค่าย UIP ในปีนี้จะได้แก่ Battleship (ซึ่งจะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ 5 ดาวในปีนี้) อีกเรื่องก็ 47 Ronin (หนังที่ได้อิทธิพลจากตำนานของญี่ปุ่น นำแสดงโดยคีอานู รีฟ ที่จะหวนคืนจออีกครั้งกับหนังแอ็คชั่น) ,The Hobbit : An Unexpected Journey นอกจากนี้ยังมีหนังภาคต่อที่จะยังคงเป็น Box Office ตามออกมาเป็นขบวนอีกมาก อาทิ Madagascar 3 , G.I.JOE : Retaliation ,The Bourne Legacy (หนังสายลับบอร์นตอนใหม่) ,American Pie Reunion , Snow White and the Huntsman , ยังมีหนังที่คาดว่าจะเป็นฟอร์มยักษ์ของปีนี้ อาทิ เช่น The Pirates! In an Adventure with Scientists,ICE AGE : Continental Drift, Dr.Seuss'The Lorax,ParaNorman (4 เรื่องนี้เป็นหนังแอนิเมชั่น) The Avengers (หนังที่รวบรวมเอาซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายของมาร์เวล มาปะทะกัน) ,Men in Black ภาค 3, The Dark Knight Rises ภาคต่อของแบ็ทแมนตอนใหม่ , The Amazing Spider-Man ภาคต่อของสไปเดอร์แมนตอนใหม่ ,Twilight Saga :Breaking Dawn ตอน 2 (จบเสียที) ,The Expendables 2 ,Total Recall หนังรีเมคภาพยนตร์ไซไฟที่เคยโด่งดังในอดีต เช่นเดียวกับ Judge Dredd ก็กลับมาสร้างใหม่ หนังสุดฉาว อย่าง The Dictator ยังมีหนังสงครามไซไฟล้ำยุคที่สร้างโดย pixar ค่ายหนังแอนิเมชั่น แต่เรื่องนี้จะเป็นหนังที่ใช้คนแสดงเป็นเรื่องแรกของ pixar ชื่อเรื่องคือ John Carter และหนังรีเมคงานเก่าเป็นหนังรักย้อนยุคแต่ทำเป็น 3 มิติ ผลงานกำกับของบาซ เลอร์มานน์ โดยให้ลีโอนาโด ดิคาปริโอเล่น (The Great Gatsby) ฟังดูแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว  นี่แค่บางส่วนที่ไล่ตั้งแต่ช่วงซัมเมอร์จนถึงช่วงปลายปี บางเรื่องอาจไม่ได้รับการคาดหมาย หรือคาดหวังไว้แต่แรก แต่อาจฮิตถล่มทลายด้านรายได้ก็เป็นไปได้ ในทางตรงกันข้ามเราอาจได้เห็นหนังฮีโร่ฟอร์มยักษ์ หรือหนังที่ใช้ทุนสร้างมหาศาลแต่ฉายจริงอาจแป๊กไม่เป็นท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบรับของมหาชน กระแสการบอกต่อจากนักวิจารณ์ รวมถึงบรรยากาศ จังหวะช่วงเวลาที่เข้าฉายเอื้ออำนวยแค่ไหน แต่ก็ยังคงเป็นอีกปีนึงที่หนังฮอลลีวู้ดคงยึดหัวหาดอุตสาหกรรมทั่วโลกไว้ได้ ซึ่งยังไม่มีกระแสใดจะมากลบได้
















วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

One up on SET เหนือกว่าตลาดหุ้นไทย ตอน เคล็ดลับรวมฮิตพิชิตตลาดหุ้น

ช่วงต้นปีมานี้ กระแสเงินสดไหลเข้าหรือที่เรียกว่า Fund Flow หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในบ้านเราและในประเทศรอบบ้านเรา เยอะมาก อันเนื่องมาจากหนีร้อนมาพึ่งเย็น คือหนีความเสี่ยง วุ่นวาย ปัญหาหนี้ที่ยังแก้กันไม่จบของทางฝั่งยุโรป และเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวช้า และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินของการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ มาพึ่งตลาดทุนเกิดใหม่อย่างฝั่งเอเซียดีกว่า ทำให้กระแสเงินถาโถมเข้าสู่เอเซียอย่างมากมาย และจริงๆ ก็ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งแต่กลางปีที่แล้วแล้ว ในส่วนของเอเซีย แต่ในส่วนของบ้านเรา มาเจอผลกระทบจากอุทกภัยยักษ์เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เงินทุนเหล่านั้นหนีบ้านเราไปพักใหญ่ และเพิ่งเริ่มกลับเข้ามาลงทุนใหม่เมื่อต้นปีนี้เอง ทำให้ในช่วงนี้ หลายคนได้ผลกำไรจากการขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ หุ้นบางตัวสามารถทำกำไรในระดับ 20-30 % เลยทีเดียว แต่บางคนก็ไม่ได้รับอานิสงส์อะไรเท่าที่ควรจากการที่ดัชนีหุ้นดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดเมื่อปีที่แล้วในระดับ 850 จุด มาถึง 1120 จุดในตอนนี้ กว่า 200 จุด แต่บางคนก็ยังขาดทุนอยู่หรือบวกลบคูณหาร หักกลบลบหนี้กันแล้ว ปีที่แล้วจากกำไรเมื่อต้นปี มาขาดทุนเอาในตอนปลายปี และก็ชิงขายหมูไป รอบนี้หุ้นขึ้นมา ก็ดันตกรถไฟ กระโจนขึ้นไม่ทัน หรือไม่กล้ากระโดดขึ้นตาม ทำให้หุ้นขึ้นรอบนี้แทบไม่ได้รับผลกำไรอย่างที่ควรจะเป็น อันเนื่องมาจากจับทิศทางตลาดผิดพลาด หรือเข้าลงทุนหุ้นผิดตัว ผิดกลุ่ม หรือชิงขายหุ้นเมื่อชนแนวต้านแล้วไม่ผ่าน แต่หุ้นดันกลับไม่ลง ไม่ปรับฐาน ขึ้นต่อเนื่องแบบยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว อาการคล้ายๆ กับดัชนีดาวน์โจนส์ ของสหรัฐอเมริกา คือแทบจะไม่ปรับฐานใหญ่ๆ เลย มีปรับฐานเล็กน้อยเมื่อเผชิญข่าวร้าย แต่หุ้นก็ยังดีดกลับขึ้นมาได้อีก และทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ตลาดหุ้นรอบบ้านเรา ทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะมีก็แต่พี่ไทยเราเอง ที่ตลาดหุ้นยักแย่ยักยันอยู่ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว พอมาปีนี้เริ่มจะปรับเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นบ้างแล้ว นักลงทุนในบ้านเราที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย และลงทุนระยะสั้น ก็อาจจะตามน้ำ ตามกระแสเงิน Fund Flow ไปได้ในปีนี้ อย่างไม่น่าต้องกังวลใจนัก แต่หุ้นปีนี้ก็ยังคงเล่นยาก สวิง ผันผวนไปตามข่าวร้ายที่จะมีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยต่างประเทศ ปัจจัยในประเทศ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ อันนี้รวมถึงพวกราคาของโภคภัณฑ์ทุกตัว ปีนี้นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว สิ่งที่จะต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้นมาอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ภัยจากสงครามและการก่อการร้าย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมา เมื่อปีที่แล้วอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่มาปีนี้ค่อนข้างน่ากังวล เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกนี้เริ่มสุกงอมในหลายประเทศ และมีการปะทุขึ้นมาบ้างแล้ว การลงทุนเป็นรอบจึงยังน่าจะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง แต่หากไปถามนักลงทุนระยะยาวหรือเน้นคุณค่า ก็จะบอกว่าการลงทุนแบบระยะสั้นนั้นในระยะยาว ไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไปกับการติดตามข่าวสาร ความเครียด และสุขภาพจิตที่เสียไปจากการลงทุนหุ้น ดังนี้แล้วเราจะมาหาเคล็ดลับที่จะตอบโจทย์ แก้ปัญหาการลงทุนที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรได้อย่างไร ผู้เขียนจึงขอรวบรวมเคล็ดลับรวมฮิตพิชิตตลาดหุ้น มาไว้พิจารณาประกอบการลงทุนสำหรับนักลงทุนมือใหม่ มือกลางเก่ากลางใหม่ มือเก่าแล้วแต่ก็ยังเป็นแมงเม่าที่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที ได้พิจารณากันดู ดังนี้


คุณพรเทพ ตังคเศรณี บอกว่าจะเอาชนะตลาดหุ้น ไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดๆ ก็คือ ช่วงเวลาและข้อมูลของบริษัทหุ้นตัวนั้น อย่างถี่ถ้วน แถมยังเสนอทฤษฏี Random Walk Theory ไว้ใช้พิจารณาเลือกหุ้น จุดเด่นของทฤษฏีนี้ก็คือ การลงทุนในระยะยาว แบบ Buy and Hold

คุณธิติ ธาราสุข บอกว่า เคล็ดลับการลงทุน 5 ข้อ ที่ได้ผลนั่นก็คือ 1.ต้องรู้ถึงแนวโน้มตลาด หรือภาพรวมก่อนว่า เป็นไปในทิศทางใด เราควรเข้าไปในตลาดหรือไม่ 2. จังหวะเวลาที่เหมาะสมของการลงทุน “การเล่นหุ้นในเชิงเทคนิค คุณต้องลงทุนในช่วงขาขึ้นเท่านั้น อย่าไปเสี่ยงลงทุนในช่วงขาลง” 3. ต้องดูดีมานด์ และซัพพลายของตลาด นั่นก็คือวอลุ่มซื้อขาย ฝั่งใดเยอะ 4. ห้ามโลภ กำไรตามที่ตั้งใจไว้ระดับหนึ่งเป็นพอ และอย่าเข้าไปเล่นซ้ำหลายรอบ 5.พิจารณาตัวเองก่อนเข้าตลาด ว่าตนเองได้เปรียบนักลงทุนคนอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่ คุณคงเดาได้ว่าโอกาสเสี่ยงเจ็บตัวของคุณมีอยู่สูง

คุณมนตรี นิพิฐวิทยา บอกว่าบทเรียนของการลงทุน ว่าไว้ กฏข้อที่ 1 อย่ายอมขาดทุน กฎข้อที่ 2 อย่าลืมกฏข้อที่ 1 สิ่งที่จะทำให้เราปลอดภัยได้นั่นก็คือ ส่วนต่างความปลอดภัย หรือ Margin of Safety ความเสี่ยงเกิดขึ้นจากการขาดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ หรือมีไม่เพียงพอ ไม่ใช่เกิดจากความผันผวนของราคาหุ้น หุ้นที่ดีคุณต้องรอเวลาหรือรอโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นคุณจะได้หุ้นดีในราคาที่แพง ในทางตรงกันข้าม โอกาสในการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ มักจะเกิดขึ้นเมื่อกิจการที่ดีถูกห้อมล้อมไปด้วยสถานการณ์ที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้มูลค่าของกิจการนั้นถูกประเมินอย่างผิดพลาด เช่น ข่าวร้ายที่มากระทบ การขายหุ้นล็อตใหญ่ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในที่สุดคุณจะรู้ว่าใครแก้ผ้าว่ายน้ำก็ตอนน้ำลดแล้วนั่นแหละ

คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ กล่าวว่า กุญแจ 5 ดอกของการลงทุนหุ้น ก็คือ 1 บริษัทนี้ที่จะลงทุนเป็นบริษัทที่ดีหรือไม่ ต้องผ่านการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว 2.มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทนี้อยู่ที่เท่าไหร่ ผ่านการดูงบการเงิน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ 3.ราคาหุ้นของบริษัทนี้อยู่ในระดับที่น่าสนใจหรือไม่ เทียบเคียงกับข้อมูลข้อที่ 2 4.ตัวเร่ง (Catalyst) ทีมีประสิทธิภาพมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ไหน ตัวเร่งมีจากปัจจัยภายในและจากปัจจัยภายนอก 5.ราคาที่ซื้อให้ส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) มากน้อยแค่ไหน การลงทุนในแบบของปีเตอร์ ลินซ์ นั้น ในส่วนของจำนวนหุ้นที่ควรจะถือ เขาแนะนำว่า ให้นักลงทุนรายย่อยถือหุ้น ไม่น้อยกว่า 5 ตัว ในพอร์ต ซึ่งเป็นบทเรียนที่เขาได้รับจากการบริหารกองทุน นั่นคือ เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทจำนวน 5 บริษัท เขาจะพบว่า หุ้น 3 บริษัทจะเป็นไปตามที่คาดคิดไว้ หุ้นจำนวน 1 บริษัทจะประสบกับปัญหาที่คิดไม่ถึง ส่วนหุ้นอีก 1 บริษัท จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่คาดคิด ซึ่งหุ้นตัวสุดท้ายนี่เองที่จะเป็นตัวช่วย ให้พอร์ตการลงทุนโดยรวมของคุณยังคงมีกำไร เอาชนะตลาดหุ้นได้ สิ่งเลวร้ายที่สุดที่คุณสามารถจะพบได้ก็คือ การลงทุนในบริษัที่คุณไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับบริษัทนั้นเลย ข้อผิดพลาดของนักลงทุนมือใหม่ก็คือ 1.ทนอยู่เฉยๆ ไม่ได้ (คันไม้คันมือ) 2.ไม่ยอมขายขาดทุน (เมื่อตัดสินใจพลาด) 3.ไม่เข้าใจหุ้นที่ลงทุนดีพอ (ไม่รู้ว่าเป็นหุ้นปั่น หรือถึงรู้ว่าเป็นหุ้นปั่น แต่ก็ยังอยากเล่นกับเจ้ามือ)

คุณวิบูลย์ ยังกล่าวถึงหุ้นในกลุ่มของพวก VI (Value Investor) ว่าควรจะถือนานแค่ไหน หรือจะขายหุ้นเมื่อไหร่ ก็คือ 1.เมื่อพบว่าตัดสินใจลงทุนผิด (จากหลายๆ สาเหตุ) 2.เมื่อพื้นฐานบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร หรือมีนัยสำคัญ 3.เมื่อมีโอกาสในการลงทุนในหุ้นตัวอื่นหรือการลงทุนในแบบอื่น ที่ดีกว่า 4.เมื่อราคาหุ้นบริษัทนั้นสูงเกินไปหรือเกินปัจจัยพื้นฐานมากๆ ก็จะ take profit หรือขายทำกำไรออกไป

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร บอกว่า จะซื้อหุ้นที่ถูกกว่าความเป็นจริง ต้องมี margin of safety , P/E ไม่ควรเกิน 15 เท่า หรือค่า P/E คูณกับ P/B ไม่ควรเกิน 22 เท่า P/B เกิน 2 เท่าก็ถือว่าสูงแล้ว บริษัทนั้นจะต้องมีกำไรสะสมต่อเนื่อง มีเงินปันผลที่ดี ควรจ่ายอย่างต่อเนื่องหลายปี มีฐานะการเงินมั่นคง มีหนี้น้อย สัดส่วนของหนี้ระยะยาวไม่ควรเกินกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น มีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่มีโอกาสล้มละลายเลย เป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมนั้นๆ คือมีทั้งขนาดและยอดขายที่ดี

คุณสถาพร งามเรืองพงศ์ จะมีวิธีการลงทุนโดยดูจากงบการเงิน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ดูมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ดูการเติบโตของรายได้และกำไรในอนาคต วิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรม ทั้งปัจจัยภายในบริษัทเอง และปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อตัวบริษัท

คุณปิยพันธ์ วงศ์ยะรา นักลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่ำสิบ หรือ penny stocks โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.พิจารณา P/BV หากต่ำกว่า 1 นำมาพิจารณาเป็นพิเศษ 2. ตรวจสอบ BV (Book Value) ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ 3.ประเมินว่าหุ้นตัวนั้นพ้นวิกฤติแล้ว หรือกำลังจะจบวิกฤตินั้นในเวลาอันใกล้หรือไม่ 4. หากมีประวัติการกระชากราคาหุ้น นำมาเป็นเกณฑ์พิจารณา 5.พิจารณานิสัยหุ้น และพฤติกรรมของกลุ่มคนชี้นำราคาหุ้นตัวนั้น (นิสัยของเจ้ามือ,เจ้าของกิจการ)

คุณพิชัย จาวลา กล่าวถึง “ทฤษฎีผลประโยชน์” ที่พิชัยคิดขึ้น หลักการตัดสินใจที่จะเข้าซื้อหรือขายหุ้นจะต่างจากคนทั่วไปที่ตัดสินใจจาก ข่าว, เหตุการณ์หรือบทวิเคราะห์ แต่ทฤษฎีผลประโยชน์เราจะต้องคิด “สองชั้น” คือฟังข่าวแล้ววิเคราะห์การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ แล้วเลือกแทงฝั่ง “ตรงข้าม”

หลักการสำคัญอีกข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ มองตลาดหุ้น ขึ้น/ลง ตาม “เหตุผล” แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ถ้าสังเกตให้ดี เหตุผลต่างๆของนักวิเคราะห์จะตามมาหลังจากหุ้นขึ้นหรือลงไปแล้วระยะหนึ่ง ความจริงคือตลาดหุ้นอยู่นอกเหนือเหตุผล ราคาต่างหากเป็นผู้กำหนดข่าว..ไม่ใช่ข่าวกำหนดราคา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน พิชัยยกตัวอย่างวิกฤติตลาดหุ้นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “แบล็กมันเดย์” ปี 2530 หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส” ปี 2551 นักลงทุนต่างแห่กันเทขายหุ้นเพราะกังวลกับ “ข่าวร้าย” แต่ไม่เคยมีคนมองอีกด้านว่ามีคนอีกกลุ่มเขากำลังทำในสิ่งตรงข้ามกันคือ “ซื้อหุ้น” ที่คนส่วนใหญ่ยอมขายขาดทุน (หนีตาย) “ลองคิดดูซิ! ถ้าไม่มีคนมาคอยรับซื้อหุ้น คุณจะขายหุ้นออกไปได้อย่างไร ในขณะที่คนส่วนใหญ่ขายหุ้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งเข้าไปช้อนซื้อของถูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ ในที่สุดจะได้กำไร และคนส่วนใหญ่ที่แห่ขายจะขาดทุน”   นักคิดแห่งล้านนา ยกตัวอย่างวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จอร์จ โซรอส เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทด้วยวิธีการ “เทขายเงินบาท” อย่างหนัก แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นฝ่ายเข้าไปซื้อเงินบาทไว้ก่อนแล้ว หรือกรณีบริษัทขนาดใหญ่ (ในกลุ่ม ปตท.) เมื่อปลายปี 2551 ขาดทุน Stock Loss หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะเข้าไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าไว้หรอกหรือ ถึงขาดทุน
“นี่ไม่ใช่ทฤษฎีผู้มีอำนาจคุมตลาด (Big Brother) แต่เป็น “ความจริง” อยู่ในมุมเล็กๆของกลไกตลาด ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม ถ้าคิดจะทำกำไรในตลาดหุ้น คุณจะต้องเป็นคนส่วนน้อยของตลาดที่ต้องคิดต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักบอกว่าลงทุนด้วยเหตุผลต่างๆ เราก็ต้องลงทุนโดยไม่ใช้เหตุผลที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่” พิชัยเสริมว่าแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่บอกว่า การเก็งกำไรจากตลาดหุ้นทำได้ยากมาก วิธีการทำกำไรที่ดีที่สุดคือการค้นหาหุ้นคุณค่าที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วถือให้ยาว และไม่แห่ลงทุนตามกระแส
บทสรุปของวิธีคิดนี้คือ จงกล้าในขณะที่คนส่วนใหญ่กลัว และจงกลัวในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม คำพูดนี้คือ “สัจธรรม” ในตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจงเป็น “คนส่วนน้อย” เพื่อจะเป็น “ผู้ชนะ” ในตอนจบ

บัญญัติ 10 ประการของการลงทุน

1.ศึกษาก่อนการลงทุน

2.เป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น เงินปันผล ในแต่ละปีต้องมากกว่า หรือเท่ากับรายจ่ายประจำปีของเรา

3.วิธีการลงทุนที่จะทำให้เกิดความมั่งคั่งนั้น ต้องเป็นไปแบบระยะยาว เสมือนการฝากเงินแล้วดอกผลทบต้นไปเรื่อยๆ กับเงินต้นที่ฝาก

4.หัวใจสำคัญที่สุดของการลงทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ ระวังอย่าให้ขาดทุน

5.การลงทุนต้องมีการกระจายความเสี่ยง เช่น ถ้าเป็นตราสารทุน (หุ้น) ก็ควรมีในพอร์ตไม่ต่ำกว่า 5-6 ตัว การลงทุนในตัวจำนวนเงินมากๆ ในหุ้นเพียงตัวเดียว เป็นความเสี่ยง ในขณะที่การลงทุนในจำนวนเงินน้อยๆ และลงทุนในระยะสั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุน เช่นกัน

6.การลงทุนในระยะยาว 3-4 ปีขึ้นไป นั้น ราคาหุ้นจะต้องขึ้นลงไปตามปัจจัยพื้นฐาน นั่นก็คือผลกำไรของบริษัทเสมอ

7.การลงทุนที่จะมีความมั่นใจสูงและให้ผลตอบแทนดีเยี่ยมนั้น คือการซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ในช่วงเวลาที่หุ้นของบริษัทตกต่ำผิดปกติ หรือต่ำกว่าพื้นฐานมากๆ

8.นักลงทุนควรมีเงินสดที่มีสภาพคล่องสูง อย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายประจำ 6 เดือน เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง และสภาพคล่องของคุณ

9.นักลงทุนที่แท้จริง ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ใจเย็น อดทน และมีเหตุผล

10.นักลงทุนพันธุ์แท้ ที่เป็นมืออาชีพจริงๆ จะไม่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย หรือจะไม่ใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น


นี่เป็นเพียงบางส่วนของเคล็ดลับการลงทุน และเป็นเพียงบางส่วนของนักลงทุนที่มีชื่อเสียง ที่นำมากล่าวในบทความนี้ ยังมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งที่เป็นบทความ หนังสือ หรือการไปปาฐกถา หรือบรรยายพิเศษตามงานสัมมนา วาระโอกาสต่างๆ ซึ่งเราสามารถจะไปแสวงหาความรู้เหล่านั้นเพิ่มเติมได้จากหลากหลายช่องทาง และขึ้นอยู่กับใครจะนำกฏเกณฑ์ ต้นแบบของใครไปใช้ในการลงทุน ให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของแต่ละคน คิดว่าคงไม่มีนักลงทุนท่านใดสงวนไว้เป็นลิขสิทธิ์ส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะโลกของความรู้ โลกของการลงทุน เป็นโลกเดียวกับโลกาภิวัฒน์ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้เหมือนๆ กัน



วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ร่วมไว้อาลัย และสดุดีราชินีเพลงโซลป๊อบ Whitney Houston เธอได้จากเราไปแล้ว อย่างไม่มีวันกลับ

Birth   August 9,1963

Death   February 11,2012

ช่วงสายของวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันพักผ่อน แต่ไม่ใช่วันว่างซักเท่าไหร่ เพราะผู้เขียนกำลังทำกิจกรรมส่วนตัวอยู่นั้น เพื่อนสนิทโทร.มาหาพอดี และบอกข่าวร้ายให้ทราบนั่นก็คือ Whitney เสียชีวิตแล้ว โดยรับทราบข่าวจากรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ทางช่อง 3 ผู้เขียนเกิดอาการขนลุกขึ้นมาทันที เพราะตัวเองกำลังฮัมเพลง saving all my love for you อยู่เลยเมื่อตะกี๊นี้เอง เพราะว่าเกิดคิดถึงเพลงของ Whitney ขึ้นมาในบัดดล เนื่องจากเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมาได้ชมรายการตีสิบ ในช่วงดันดารา ที่มีการนำเอาน้องๆ นักเรียนมัธยม จาก 2 โรงเรียนมาประชันฝีมือกัน โรงเรียนละ 3 คน โรงเรียนนึงคือสาธิต มศว.ประสานมิตร กับอีกโรงเรียนนึงจำชื่อไม่ได้จากต่างจังหวัด รู้สึกว่าจะเป็นอ่างทองหรือราชบุรี อะไรนี่แหละ และก็บังเอิญที่น้องนักเรียนทั้ง 2 โรงเรียนหยิบเอาเพลงของ Whitney มาร้องทั้ง 2 โรงเรียน ฝั่งหนึ่งร้องเพลง Saving all my love for you และอีกฝั่งร้อง One moment in time ซึ่งก็เป็นเพลงดังของนักร้อง Whitney ด้วย โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบเพลง Saving all my love for you มาตั้งนานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเห็นว่าน้องที่ร้องเพลงนี้ร้องได้ดีกว่า และรู้สึกว่าจะเป็นฝ่ายที่ชนะฝั่งที่ร้องเพลง One moment in time เสียด้วย ไม่เกี่ยวกับว่าเพลงไหนไพเราะกว่าเพลงไหน เพราะต้นฉบับนั้นไพเราะและดีทั้ง 2 เพลง และตัวผู้เขียนก็ชอบทั้ง 2 เพลง แต่เพลง Saving จะจำติดหูมากกว่า จึงได้หยิบเอาเพลงนี้มาฟังอีกครั้ง ด้วยความที่รายการตีสิบ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงเพลงนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ต้องขนลุก และใจหวิวขึ้นมา ทันทีที่เพื่อนสนิทโทร.มาบอก ภายหลังวางสายเพื่อนคนนั้นไปแล้ว ผมหยิบเพลงนั้นขึ้นมาฟังอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่กล้าร้องฮัมตามแล้ว คือฟังเสียง Whitney Houston อย่างเดียว ด้วยความคิดถึง และก็กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ (อีกตามเคย) บอกได้คำเดียวว่า ผมชอบ Whitney จริงๆ ชอบจับใจเลย เธอคือศิลปินหญิงเบอร์ 1 ของผู้เขียนนั่นเอง และน่าจะเป็นของโลกด้วย ไปตลอดกาลแล้ว


คงจะไม่มีคำลาอาลัยใดๆ จะมอบให้เธอ ได้ดีเท่ากับหยิบเอาผลงานเพลงที่ผู้เขียนเคยประทับใจและชื่นชอบของเธอมาเปิดฟัง และนี่คือ ที่สุดของเพลง Whitney Houston ที่ผู้เขียนชื่นชอบ ชื่นชม และคงจะจดจำเธอไปตลอดกาล เธอได้ไปสบายดีแล้ว ชีวิตของเธอก็ไม่ต่างไปจากนักร้องหญิงเบอร์ 1 ของไทยอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ คงเหลือแต่ความทรงจำที่ดีๆ สำหรับเธอคนนี้ ราชินีเพลงโซล ป็อบหญิงของโลก Whitney Houston

ผลงานอัลบั้ม
 
Whitney Houston (1985)

Whitney (1987)

I'm Your Baby Tonight (1990)

My Love Is Your Love (1998)

Just Whitney (2002)

One Wish: The Holiday Album (2003)

I Look to You (2009)

ส่วนรางวัลที่เธอเคยได้รับนั้นมากมาย แจกแจงไม่หวาดไม่ไหว หลักๆ คือรางวัลแกรมมี่ ศิลปินหญิงเดี่ยว รายละเอียดเข้าไปหาข้อมูลได้ใน wikipedia.com

R.I.P.
 

เพลงนี้เป็นเพลงสร้างชื่อให้เธอโด่งดังในฐานะนักร้องคุณภาพ

เพลงนี้ผู้เขียนชอบเป็นการส่วนตัว เพลงดังของเธอ
 
เพลงนี้ วิทนี่ย์ featuring กับ มารายห์ แครี่ ดวลพลังเสียงกัน

เพลงนี้โชว์พลังเสียง ใช้เป็นเพลงต้นแบบประกวดร้องเพลง
 
เพลงนี้เป็นอีกเพลงนึงที่ผู้เขียนชื่นชอบ มากกว่าผลงานในยุคหลังๆ


วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Paris, Je T' Aime (Paris,I Love You) หลากหลายชีวิต จุมพิตของหัวใจ

หนังสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้ประกอบด้วยหนังสั้น จำนวน ถึง 18 เรื่องสั้นๆ ประกอบขึ้นเป็นภาพยนตร์รักแห่งปี 2006 ที่ชื่อ Paris,I Love You หรือชื่อฝรั่งเศสว่า PARIS, JE T’AIME เป็นผลงานภาพยนตร์ของผู้กำกับชั้นนำเกือบ 20 คน เช่น กาส แวน แซง, เวส คราเวน , วินเซนโซ่ ,นาตาลี ,คริสโตเฟอร์ ดอยส์ , อัลฟองโซ คูเอรอน และสองพี่น้องตระกูล โคเอน (โจเอลกับอีธาน)แต่ละเรื่องไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือเป็นหนังรัก บอกเรื่องราวความรักในหลากหลายรูปแบบไม่ใช่แต่เพียงความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น มีฉากหลังคือมหานครปารีส ซึ่งในเรื่องก็ได้แสดงนัยยะถึงความเป็นมหานครแห่งความรัก (บ้านเกิดแห่งความรัก,เรือนนอนแห่งความโรแมนติก)นั่นเอง ความยาวของหนังสั้นแต่ละเรื่องจะอยู่ราว ๆ เรื่องละ 5-8 นาที นอกเหนือไปจากนั้นหนังยังรวบรวมนักแสดงชั้นนำไว้มากมาย เช่น กาสปาร์ อูลลิแอล, อีไลจาห์ วู๊ด , นาตาลี พอร์ตแมน ทั้งยังรวมด้วย จูเลียต ปีโนชต์ ,แม็กกี้ จิลเลอร์ฮาล และวิลเลียม เดโฟ เป็นต้น พอฟังว่ามีชื่อของผู้กำกับและนักแสดงชื่อดังมาร่วมอยู่ในผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากมายแล้วนั้น ทำให้หนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจ เช่น จุดเด่นที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นจากการนำหนังสั้นของผู้กำกับหลายคนมารวมกัน ก็คือ ความหลากหลายของเรื่องราว สไตล์ และกลวิธีการเล่าเรื่อง กลายเป็นตำรับตำราชั้นดีสำหรับใครก็ตามที่ต้องการจะศึกษารูปแบบของผู้กำกับแต่ละคน เช่น ในหนังสั้นของสองพี่น้อง โจเอลและอีธาน โคเอน ก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน และเป็นตลกร้าย หรือของเวส คราเวน ก็ยังคงไม่ทิ้งเรื่องราวความลี้ลับในเรื่องวิญญาณ

หนังสั้นที่เปิดตัวเรื่องแรกใน Paris, I Love You (Paris, Je T’aime) ก็คือ Montmartre จากการกำกับของบรูโน่ โพดาลีเดส พูดถึงเรื่องราวง่ายๆ เมื่อชายหนุ่มโดดเดี่ยวคนหนึ่งขับรถออกจากบ้าน แต่หลังจากจอดรถได้สักพัก จู่ๆ ก็มีหญิงสาวมาเป็นลมอยู่ที่ท้ายรถ จากนั้นความรักก็มาถามหาใจที่เปลี่ยวเหงาของหนุ่มใหญ่คนนั้น
Le Marais เป็นชื่อหนังสั้นของ กาส แวง แซง ว่าด้วยเรื่องราวความรักของชายสองคน (ชายรักชาย) หนุ่มคนแรกเชื่อในเรื่องการตามหาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต ขณะที่หนุ่มอีกคน ดูจะไม่เข้าใจสิ่งที่ชายคนแรกพูดนัก หนังจบลงแบบให้คนดูคิดต่อเอาเองว่า ไอ้หนุ่มคนหลังมันเก็ตและวิ่งตามหาความรักจากไอ้หนุ่มคนแรกเจอหรือไม่ หนังก็จบอยู่แค่นั้น  ขณะเดียวกัน วินเซนโซ นาตาลี เลือกที่จะถ่ายทอดความรักออกมาในช่วงตึกสงัดของกรุงปารีส ในชื่อ Quartier de la Madeleine เมื่อชายหนุ่มนักท่องเที่ยวต้องเผชิญหน้ากับแวมไพร์สาวสวย เลือดสีแดงในเรื่องถูกแทนค่าความรักและความปรารถนา นอกไปจากเรื่องรักจากหนังสั้นสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้วนั้น เรายังจะได้เห็นภาพของความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้น ณ บ้านเกิดของหอไอเฟล อีกหลากรูปแบบในภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น ความรักของชายหนุ่มกับหญิงสาว แม่กับลูก บิดากับบุตร และคนแปลกหน้าที่มาพบรักกัน ณ มหานครแห่งนี้
Tour Eiffle ของ ซิลแวน โคเมต์ เป็นหนังสั้นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก ผู้กำกับใช้กลวิธีการเล่าเรื่องโดยให้ตัวละครชายหนุ่มและหญิงสาวแสดงออกมาในรูปแบบของละครใบ้ เพื่อสื่อถึงความแปลกแยกและโดดเดี่ยวจากสังคมรอบข้างที่ทั้งคู่มี จนเมื่อทั้งสองมาพบกันและตกหลุมรักกัน ความอ้างว้างที่เคยมีมาก็จางหายไป

หนังสั้นทั้ง 18 เรื่อง พาเราไปสัมผัสแง่มุมที่ผิดแผกและหลากหลายของกรุงปารีสอย่างที่เราไม่เคยเห็นจากไหนมาก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ ท้องถนน คาเฟ่ บาร์ หอไอเฟล มัสยิด โมนาลิซ่า สวนสาธารณะ กลางวัน กลางคืน เรื่อยไปจนถึงสถานีรถไฟใต้ดิน โดยทุกหนแห่งที่หนังพาเราไปนั้น ล้วนมีเรื่องราวและเรื่องราวเหล่านั้นก็เกี่ยวข้องกับคำสั้นๆ 2 พยางค์ที่เรียกว่า “ความรัก” ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นในใจกลางมหานครแห่งนี้ เราได้เห็นภาพของหนุ่มคริสเตียนที่ช่วยพยุงสาวอิสลาม วินาทีที่คนแปลกหน้าสองคนมาเจอกัน โมงยามที่แม่นั่งร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกที่จากไป วันคืนที่หนุ่มตาบอดเดินกุมมือกับนักแสดงสาวสวย และช่วงเวลาที่ชายหนุ่มวิ่งตามชายอีกสองคนเพื่อบอกว่าเขาคืออีกครึ่งหนึ่งของชีวิตที่เขาตามหา

(ถอดความบางส่วนจากคอลัมน์ Paris,I Love You หนังรักแห่งปี 2007, Moviegoer โดย พรทิพย์ แย้มงามเหลือ,entertrend,Bizweek)

เรื่องย่อในแต่ละเรื่องสั้น มีดังนี้


ย่านม็องต์มาร์ตร(Montmartre) ในระหว่างที่กำลังสอดส่ายสายตาหาที่จอดรถในถนนแคบ ๆ กลางย่านม็องต์มาร์ตร ชายหนุ่มก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ทำไมชีวิตถึงจนตรอกขนาดนี้ ทำไมเขาจึงไม่เจอรักแท้เสียที จู่ ๆ สตรีลึกลับนางหนึ่งก็มาเป็นลมล้มพับอยู่ข้าง ๆ รถของเขา ฤานี่จะเป็นความรักที่เขาโหยหารอมานาน

ทางเดินเลียบแม่น้ำแซน (Quais de Seine) ฟรังซัว กับเพื่อนอีกสองคนตะโกนประโยคเด็ดหวังเรียกร้องความสนใจจากสาว ๆ ที่เดินผ่านไปมาบนทางเดินเลียบแม่น้ำแซน แล้วฟรังซัวก็เห็นสาวมุสลิมคนหนึ่งเดินสะดุดล้มลง เขาพุ่งเข้าไปช่วยพยุงเธอยืนขึ้นขณะที่เพื่อน ๆ หัวเราะเยาะ แล้วหญิงสาวก็เดินต่อไปยังมัสยิด ส่วนเขากลับมารวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ แต่ก็ฉุกคิดว่า เขาไม่อาจปล่อยให้ผู้หญิงคนนั้นเดินออกไปจากชีวิตของเขาได้

เลอ มาเร่ส์(Le Marais) เมื่อ แกส ก้าวเข้ามาในโรงพิมพ์ ชายหนุ่มก็ถูกชะตากับ อีไล พนักงานหนุ่มเข้าให้เต็มเปา อีไลคงไม่เข้าใจสิ่งที่ แกสป้า วิเคราะห์และกล้าฟันธงแบบคนรุ่นใหม่เพราะเขาหูหนวก แต่เมื่อแกสป้าอลับออกไปแล้ว อีไลก็รู้ว่าความรู้สึกพิเศษและคิดไม่ออกบอกไม่ถูกเกิดขึ้นกับเธอแล้ว....

พระที่นั่งตุยเลอรีส์ (Tuileries) นักท่องเที่ยวอเมริกันยืนอ่านหนังสือนำเที่ยวอยู่ที่ชานชาลารถไฟใต้ดิน สถานีพระที่นั่งตุยเลอรีส์ เขาเหลือบไปเห็นหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่งกำลังจุมพิตกันอย่างดูดดื่มอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม กว่าจะตั้งสติได้เขาก็ลืมคำแนะนำที่หนังสือพร่ำเตือนว่า อย่าจ้องมองตาใครเวลาอยู่ใช้บริการรถไฟใต้ดินของปารีส แล้วทีนี้ก็มีเรื่องขำ ๆ ตามมาอีกเพียบ

ไกลจากเขต 16(Loin du 16eme) ในตอนเช้า คุณแม่ยังสาวจำใจต้องทิ้งลูกน้อยของเธอไว้ให้เนิร์สเซอรี่ใกล้บ้านเลี้ยงดู เพื่อรีบขึ้นรถไฟจากชานเมืองเข้าไปยังใจกลางเมือง หลังจากการเดินทางอันแสนเหนื่อยอ่อน เธอก็มาถึงยังเขต 16 สุดหรูหราเพื่อทำงานของเธอ ซึ่งก็คือการเป็น พี่เลี้ยงให้กับลูกของคนอื่นที่พักอยู่ในย่านนั้นนั่นเอง

ย่านปอร์ต เดอ ชัวซี(Porte de Choisy) การพบปะกันที่แทบจะเกินกว่าความเป็นจริงใด ๆ จะตีกรอบได้ระหว่าง หนุ่มนักขายทัวร์ กับ ซ้อเจ้าของกิจการร้านทำผมจีนสุดสวย

ย่านบาสตีย์(Bastille) ก่อนที่หนุ่มใหญ่จะเอ่ยปากขอหย่ากับภรรยาคนปัจจุบัน เพื่อไปครองรักหวานชื่นกับกิ๊กที่ทั้งสาวและสวยกว่า แต่ภรรยาของเขากลับโพล่งออกมาก่อน พร้อมน้ำตาอาบสองแก้ม บอกว่าเธอเป็นมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่กี่เดือนเท่านั้น เขาจึงตัดสินใจละทิ้งทุกอย่างเพื่อมาดูแลภรรยาที่กำลังป่วย ชีวิตของเขาต้องพลิกผันกลับตาละปัด เมื่อเขาตกหลุมรักภรรยาอีกเป็นครั้งที่สอง

จัตุรัสชัยสมรภูมิ (Place des Victoires) หญิงสาวคนหนึ่งนอนไม่หลับด้วยเสียงร้องเพรียกหาจากลูกของเธอที่ตายไปแล้ว เธอจึงกลับมายังจัตุรัสที่ลูกของเธอเสียชีวิต และพบกับคาวบอยแปลกประหลาดคนหนึ่ง เขาเปิดโอกาสให้เธอได้พบกับลูกชายของเธอพักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะหายตัวไปอีกครั้ง

หอไอเฟล(Tour Eiffel) ศิลปินละครใบ้หนุ่มสุดแสนเดียวดายใช้เวลาทุกวี่ทุกวันอยู่ใต้หอไอเฟล ตามตื้อนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งเขาถูกตำรวจจับข้อหาก่อกวนความสงบ แล้วที่สถานีตำรวจนั่นเองที่เขาได้พบเนื้อคู่ ศิลปินละครใบ้สาวสวย นั่นเอง

สวนสาธารณะมองโซ(Parc Monceau) ชายชราชาวอเมริกันนัดกับหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่สวยแต่หัวรั้นสุด ๆ แต่เขามาสาย ทั้งสองเดินทะเลาะกันไปตามถนนในสวนสาธารณะ ซึ่งมันเป็นการเปิดเผยให้รู้ถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและสับสนซับซ้อนของคนรักคู่นี้

ย่านเด็กแดง (Quartier des Enfants Rouges) นักแสดงชาวอเมริกันสาวกำลังเข้ากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ดราม่าย้อนยุค ที่อาศัยแมนชั่นเก่าในมหานครปารีสเป็นฉาก เธอผูกมิตรกับพ่อค้ายาเสพติดแสนลึกลับคนหนึ่ง ว่าแต่เธอจะพบความพึงพอใจตรงตามที่ปรารถนาหรือ

จัตุรัสเทศกาล (Place des Fetes) ชายคนหนึ่งล้มนอนใกล้ขาดใจอยู่กลางจัตุรัสเทศกาล โซฟี นักศึกษาแพทย์สาวประสบการณ์น้อยพยายามจะช่วยชีวิตของเขา แล้วจึงตระหนักว่าทั้งสองเคยพบกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ปิกาล(Pigalle) สังเวียนรักสุดแสนเซ็กซี่ที่เกิดขึ้นกลางย่านโลกีย์ ปิกาล กำลังเล่นเอาล่อเอาเถิดกับคู่รักสูงวัยที่พยายามจะรักษาความสัมพันธ์ของพวกเขาไว้ให้ยืนยาว

ย่านมัดแลน (Quartier de la Madeleine) ชายหนุ่มเข้าไปขัดจังหวะในขณะที่แวมไพร์สาวกำลังสูบเลือกจากเหยื่อรายล่าสุดของเธอ เสน่ห์สาวทำให้ชายหนุ่มติดอกติดใจเข้าเต็มเปา และมุ่งมั่นจะครอบครองเธอชนิดอุปสรรคใดก็ขวางไม่ได้

แปร์ ลาแชส(Pere-Lachaise) คู่รักที่เพิ่งแต่งงานกันหมาด ๆ พยายามปรับตัวเข้าหากัน ขณะที่หลงทางเดินวนเวียนตามหลุมศพในสุสานแปร์ ลาแชส ก่อนที่วิญญาณของออสการ์ จะปรากฎตัวขึ้นมาช่วยหาข้อยุติให้กับเรื่องไม่ลงรอยกันของทั้งคู่

โฟบูร์ แซ็งต์ เดอนี(Faubourg Saint-Denis) นักแสดงอเมริกันสาวสวยโทรไปหาแฟนหนุ่มตาบอดของเธอเพื่อขอบอกเลิก การเดินทางในหัวของชายหนุ่มสะท้อนให้เราได้สัมผัสกับความสัมพันธ์ของพวกเขา ตั้งแต่ที่พบหน้ากันครั้งแรก ถือว่าเป็นเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบว่าด้วย การยอมรับและการให้อภัยซึ่งกันและกัน ได้เป็นอย่างดี

ย่านละติน (Quartier Latin) ชายสูงวัยชาวอเมริกันที่ยังกระฉับกระเฉงนัดพบอดีตภรรยา เพื่อขอให้เธอจัดการเอกสารสำคัญในการหย่าอย่างเป็นทางการให้เรียบร้อย การใส่หน้ากากเข้าหากันสิ้นสุดลงเมื่อ เบ็น และ จีน่า ต่างบันดาลโทสะขึ้นเสียงผรุสวาทเข้าใส่กันอย่างเผ็ดร้อน ผลงานเฮฮาเสียดสีอย่างเจ็บแสบที่จะเผยให้เห็นถึงความปวดร้าวที่ต้องแยกกันอยู่มานานหลายปี และความรักที่ยังคงอยู่ไม่มีวันตาย

ย่าน 14 (14eme Arrondissement) นักท่องเที่ยวอเมริกันสาวเพิ่งเข้าใจ และยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเธอเองเมื่อเดินผ่านย่าน 14 ของมหานครปารีส ซึ่งเป็นอารมณ์ขัน และบทสรุปโดนใจของภาพยนตร์เรื่อง Paris, je t’aime ได้อย่างลงตัวสุด ๆ

ในช่วงเทศกาลแห่งความรัก (Valentine’s Day) อย่างนี้ มักจะมีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักออกมาฉายชนกัน ตามกระแสอย่างมากมาย ให้เข้ากับบรรยากาศ แต่ส่วนใหญ่หนังรักที่ดี มักจะไม่ได้ฉายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ซักเท่าไหร่ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดู (อันนี้ไม่ได้ว่าหนังที่ฉายในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ไม่ดีนะ อันนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนตัวของแต่ละคน) โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า หนังรักที่ดี ไม่ต้องอาศัยดาราหรือนักแสดงชื่อดังมาช่วยเรียกเรตติ้งอะไรเลย ขึ้นอยู่กับบทภาพยนตร์และการแสดงที่ดีมากกว่า ดังนั้นหนังรักที่รวบรวมนักแสดงชื่อดังไว้เป็นจำนวนมากจึงแป้กไม่เป็นท่า หรือผลตอบรับจากผู้ชมไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป ในกรณีของ Love Actually นั้นได้รับคำชื่นชมจากทั้งคนดูในวงกว้างและนักวิจารณ์ว่าทำออกมาได้ดี กลมกล่อม ลงตัว ในขณะที่เรื่อง Valentine’s Day และภาคต่ออย่าง New Year Eve กลับไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนัก ทั้งๆ ที่ก็คอนเซ็ปต์ก็ใกล้เคียงกัน ภาพยนตร์ในรูปแบบที่นำเสนอความรักในลักษณะร้อยแปดพันเก้าหรือหลากหลายชีวิต หลากหลายคู่ นั้นโดยส่วนตัวคิดว่าทำยากและการเรียงร้อย ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่ จุดเชื่อมโยง การแจกแจงบทบาท หรือให้น้ำหนักของแต่ละคู่ คีย์พ้อยท์หรือประเด็นนำเสนอซึ่งเป็น main theme ของเรื่องว่าต้องการจะสื่ออะไรนั้นสำคัญมาก และถ้าทำได้ไม่ถึง มีสิทธิ์จะเละ หรือเรื่องราวดูสับสันวุ่นวายและหาบทสรุปอะไรไม่ได้ ทำให้หนังไม่สามารถสร้างความประทับใจต่อคนดูหรือการตอบรับที่ดีก็เห็นมาแล้ว หนังเกาหลีก็มีอย่างเช่น Sad Movie ฮ่องกงมีเรื่อง Hot Summer Days เป็นต้น ช่วงหลังเราได้เห็นภาพยนตร์ไทยเริ่มนำคอนเซ็ปต์ของหนังรักรูปแบบนี้มาใช้บ้างแล้วกับหนังไทย แต่ดูเหมือนยังเป็นเพียงการทดลองที่ยังต้องหาจุดแห่งความพอดี ความสมดุล หรือจุดลงตัว นั่นคือรสชาติความกลมกล่อมที่ถูกปากกับคนไทยมากกว่านี้ แต่ยังไงก็อยากจะชื่นชมคุณยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร ฉายาผู้กำกับ100 ล้าน ที่ริเริ่มกับการนำเอาคอนเซ็ปต์แบบนี้มาใช้กับ ภ.เรื่อง ส.ค.ส. สวีทตี้ และ ภาคต่อ วาเลนไทน์ สวีทตี้ ที่บอกตามตรงว่าผู้เขียนชื่นชอบในผลงานเก่าๆ ของคุณยอร์ช มากกว่า 2 เรื่องหลัง

ในขณะที่รูปแบบหนังรักแบบเป็นตอนๆ หรือหนังสั้น ที่ร้อยเรียงอยู่ในหนังยาว 1 เรื่อง รูปแบบนี้มีมานานแล้ว จำไม่ได้ว่าคอนเซ็ปต์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับภาพยนตร์เรื่องอะไร อาทิ Paris,I Love You (เรื่องที่จั่วหัวเป็นตัวอย่างมาข้างต้น) New York, I Love You หนังไทยก็มีรูปแบบนี้ อาทิ ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, ฝัน หวาน อาย จูบ และที่กำลังจะออกฉายเร็วๆนี้ เป็นผลงาน ภาพยนตร์ฉลองครบรอบ 7 ปี ของค่ายหนัง GTH ซึ่งจะเป็นหนังสั้น 3 เรื่อง ซึ่ง 1 ในนั้นจะมีผลงานการกำกับโดยพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับคนเก่ง หวนกลับมานั่งแท่นกำกับหนังไทยอีกครั้งในรอบหลายปี ซึ่งผู้เขียนก็รอติดตามอยู่ โดยส่วนตัวชอบดูหนังสั้นเป็นตอนๆ มากกว่าหนังหลากหลายคู่มากกว่า เพราะเราจะได้สัมผัสอาหารแต่ละจานแบบเป็นรสชาดเดียว แม้ว่าจะจืดชืดหรือแซ่บจัดจ้านเพียงใดก็สามารถบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบได้โดยง่าย ในขณะที่หนังรักในรูปแบบหลากหลายคู่นั้น เปรียบเหมือนต้มยำ จับฉ่ายที่ผสมผสานวัตถุดิบมาหลากหลายประเภท ทำให้แยกแยะรสชาดได้ลำบาก แต่หากปรุงได้อย่างฝีมือและกลมกล่อม โดยเชฟมีฝีมือ ก็จะทำให้อาหารจานนั้นรสชาติอร่อย แบบไม่ซ้ำแบบใครเลยทีเดียว ซึ่งก็ได้สัมผัสน้อยมาก อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ผู้อ่านหรือผู้ชมในแต่ละท่านมีรสนิยมในการเลือกชิมอาหารแบบไหน และชอบในรสชาติแบบใด ไม่สามารถบอกได้ว่าถูกหรือผิด หรือจานไหนดีกว่าจานไหน เลือกชิมได้ตามอัธยาศัยเลยครับ เพราะรสนิยมเป็นสมบัติติดตัวคนทุกคนจริงๆ

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประกาศผลรางวัล “ODGLA” (อ๊อดกล้า) ของสมาคมลิเกการเมืองไทย

ประกาศผลรางวัล “ODGLA” (อ๊อดกล้า) ของสมาคมลิเกการเมืองไทย
ปี พ.ศ. สอง พัน ห้าร้อย ห้าสิบ ฮ่า ฮ่า ฮ่า มีดังนี้

เนื่องด้วยสมาคมลิเกการเมืองไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 5,000 กว่าคน จากหลากหลายสาขาอาชีพ (ขอทาน,นักแสดง,พ่อบ้านแม่บ้าน,นักเรียนประถม,จิตแพทย์,ผู้พิการทางสายตา,ผู้พิการทางการได้ยิน,คนขับรถเมล์ รถรับจ้าง ม.วิน,แท็กซี่ ,นักเรียนช่างกล,ผู้คุมบ่อน,แมงดาในซ่อง,คนเดินโพยหวย,คนขายยาบ้า,เด็กวิ่งโพยบอล,นักเพาะกาย,พริตตี้ โคโยตี้ตามผับ,เจ้าสัว นักธุรกิจ,แม่ค้าตลาดสด,ผู้ต้องขังในสถานกักกัง,คนป่วยในรพ.ประสาท,นักศึกษาสัตวแพทย์,นักดาราศาสตร์,นักโหราศาสตร์,ตลกคาเฟ่,กรรมกรก่อสร้าง,ผู้หญิงขายบริการ,ผู้สูงวัยบ้านบางแค,คนรับใช้ชาวพม่า,ลาว,จีนฮ่อ ,พิธีกรรายการผีวัดดอน เป็นต้น) ได้มีการนัดประชุมสังสรรค์ประจำปี เพื่อรวบรวมผลงานอันเป็นที่น่าจดจำของผู้มีผลงานอันโดดเด่น สำหรับบุคคลในแวดวงการเมืองไทย โดยสมาคมลิเกการเมืองไทย จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ จะชิมลางจัดเป็นปีแรก โดยมีการมอบรางวัลกันที่ลานเมรุ ป่าช้าวัดดอน ซึ่งได้มีการมอบรางวัล ทั้งสิ้น 10 รางวัล/สาขา โดยโผรายชื่อผุ้เข้าชิงในแต่ละสาขามี ดังนี้


ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. 2011 มหาอุทกภัยถล่มโลก (เอาอยู่ค่ะ) โดย สหบาทาฟิมล์

2. ก่อการร้ายอำพราง (มันมาอีกแล้ว) โดย ฟิมล์บางบอน

3. Land of The Drug ยาหาง่ายกว่าขนมปัง โดย จีทีเอช (Gold Triangle Hub)

4. ศปภ. ห่วยขั้นเทพ โดย พระนครศรีอยุธยาฟิมล์

5. นิติราษฏร์ ขอตามหลอนเธอทุกชาติไป โดย 112 ฟิมล์อั๊กลี่ ร่วมกับ สหบาทาฟิมล์

เรามีเสรีภาพที่จะแสดงออกทางวิชาการได้อย่างเต็มที่ครับ จริงๆแล้ว เราทำเพื่อในหลวงนะครับ











นักแสดงนำยอดเยี่ยม ฝ่ายชาย 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. เฉลิม อยู่บำรุง 

2. พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน

3. กิตติรัตน์ ณ ระนอง 

4. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ 

5. ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์


ดิฉัน ว่า GDP ประเทศไทยคงโต 7 % สบายๆ ค่ะ เพราะดิฉันเอาอยู่ค่ะ

นักแสดงนำยอดเยี่ยม ฝ่ายหญิง สาขานี้มีเพียง 4 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2. ธิดา ถาวรเศรษฐ์ 

3. มัลลิกา บุญมีตระกูล

4. สุดารัตน์ เกยุราพันธ์


ผมมาขอความเป็นธรรมให้กับพวกผมด้วย  เงิน 7.7 ล้าน ใจถ้าไม่ด้านพอนี่รับไม่ได้จริงๆ










นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม ฝ่ายชาย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

2. อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง 

3. จตุพร พรหมพันธุ์

4. การุณ โหสกุล 

5. พตอ. ประชา พรหมนอก


นอกจากงานถ่ายแบบแล้วนะคะ เดี๊ยนยังถ่ายอุจจาระอีกด้วยค่ะ

นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม ฝ่ายหญิง ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. ฐิติมา ฉายแสง

2. ดร.นลินี ทวีสิน

3. ดา ตอร์ปิโด  

4. คำผกา โตวิระ 

5. รังสิมา รอดรัศมี






สุพรรณบุรี ต้องยิ่งใหญ่กว่างานตรุษจีนที่เยาวราช


ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1.  บรรหาร ศิลปอาชา

2.  ทักษิณ ชินวัตร

3.  สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

4.  เนวิน ชิดชอบ

5.  ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1 . 2011 มหาอุทกภัยถล่มโลก (เอาอยู่ค่ะ)

2.  ก่อการร้ายอำพราง (มันมาอีกแล้ว)

3.  โชว์แฟชั่น ณ ดาวอส ( Show Fashion in Davos)

4   โจรสลัดแห่งดูไบ ตอนขุมทรัพย์พลังงานใต้ท้องทะเลไทย

5.  พรก.4 ฉบับ เกมร้ายเกมลัก



ผมเป็นผู้วิเคราะห์วิจารณ์บทภาพยนตร์ บทเรื่องนี้ห่วยมากครับ คนเล่นเล่นไม่สมบทบาทเลย


บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. 7.7 ล้าน เออรับ เออเว่อร์

2  สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า บ่อน

3. พรฏ ขออภัยโทษนะคะ บกพร่องโดยสุจริต

4. Land of The Drug ยาหาง่ายกว่าขนมปัง

5. นิติราษฏร์ ขอตามหลอนเธอทุกชาติไป


ภาพยนตร์ต่างประเทศ ยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1. หนี้สาธารณะท่วมโลกถล่มปฐพี

2. เขาพระวิหาร ดินแดนมหัศจรรย์

3. พม่า เปิดบริสุทธิ์ ทุกอณู

4. ลิเบีย ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

5. Mission Impossible ตอน ยุทธการเด็ดหัวบินลาเดน


ผมรู้คุณก็เชียร์ผมอยู่

เพลงประกอบภาพยนตร์ ยอดเยี่ยม 5 รายชื่อสุดท้าย ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง

1  ใจไม่ด้านพอ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ศปภ. ห่วยขั้นเทพ

2. เพียงพอ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง โจรสลัดแห่งดูไบ ตอนขุมทรัพย์พลังงานใต้ท้องทะเลไทย

3. ยอม ประกอบภาพยนตร์เรื่อง 7.7 ล้าน เออรับ เออเว่อร์

4. คนไม่สำคัญ ประกอบภาพยนตร์เรื่อง โชว์แฟชั่น ณ ดาวอส (Show Fashoin in Davos)

5. เชื่อฉัน ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ก่อการร้ายอำพราง (มันมาอีกแล้ว)


ผลการประกาศรางวัล "อ๊อดกล้า"   มีดังนี้

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่   2011 มหาอุทกภัยถล่มโลก (เอาอยู่ค่ะ) โดย สหบาทาฟิมล์

นักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ได้แก่  ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จาก ภ.นิติราษฏร์ ขอตามหลอนเธอทุกชาติไป

นักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก ภ.โชว์แฟชั่น ณ ดาวอส

นักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม ได้แก่ การุณ โหสกุล  จาก ภ.ศปภ.ห่วยขั้นเทพ

นักแสดงสมทบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ได้แก่ คำผกา โตวิระ  จาก ภ.นิติราษฏร์ ขอตามหลอนเธอทุกชาติไป

ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่  ทักษิณ ชินวัตร จาก.ภ.โจรสลัดแห่งดูไบ ตอนขุมทรัพย์พลังงานใต้ท้องทะเลไทย

บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ได้แก่ ภ.เรื่องก่อการร้ายอำพราง (มันมาอีกแล้ว)

บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ได้แก่ ภ.เรื่อง 7.7 ล้าน เออรับ เออเว่อร์

ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ได้แก่ ภ.เรื่อง พม่า เปิดบริสุทธิ์ ทุกอณู

เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้แก่  ยอม ประกอบภาพยนตร์เรื่อง 7.7 ล้าน เออรับ เออเว่อร์




ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัล "อ๊อดกล้า" ทั้ง 5 เพลง ที่ได้เข้าชิงดังนี้