วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

นักเขียน Best Seller ผู้เป็นแรงบันดาลใจแห่งยุค 2


การค้นหานักเขียนผู้เป็นแรงบันดาลใจคงจะไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ คงจะมีอีกในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะบรรดานักเขียนที่เป็นไอค่อนของคนยุคก่อน และมีงานเขียนขึ้นหิ้งทั้งหลาย แต่ในตอนนี้เราคงจะขอแนะนำนักเขียนอีก 5 ท่านที่เป็นนักเขียนในระดับ best seller ซึ่งยังมีงานเขียนอยู่ในยุคปัจจุบันมานำเสนอก่อน เหตุเพราะว่างานเขียนของท่านเหล่านี้ยังมีให้เห็นในแผงหนังสือปัจจุบัน เหมาะแก่การซื้อหามาอ่านสำหรับท่านที่เป็นนักอ่านมือใหม่ หรือกำลังจะเริ่มมองหางานเขียนจากนักเขียนดีๆ เก่งๆ และมีเนื้อหาน่าสนใจ และเราได้เลือกมา 5 ท่านนี้ ซึ่งแต่ละท่านมีความถนัดในงานเขียนคนละแบบกัน แต่ก็มีจุดเด่นและเป็นสุดยอดในแต่ละด้านมาแนะนำกัน หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้นำไปพิจารณาหาอ่านได้ไม่ยาก ส่วนงานเขียนของนักเขียนรุ่นเก่าจะได้กล่าวถึงและแนะนำในโอกาสต่อไป 



วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ (หรือชื่อเล่น โหน่ง อะเดย์) เกิดที่ ธนบุรี กรุงเทพมหานคร จบการศึกษา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง นิตยสารอะเดย์ (A Day) ร่วมกับ นิติพัฒน์ สุขสวย และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการอำนวยการ นิตยสารอะเดย์ นิตยสาร Hamburger นิตยสาร Knock Knock และบรรณาธิการที่ปรึกษาสำนักพิมพ์ อะบุ๊ค

ประวัติการทำงาน
  • กองบรรณาธิการ นิตยสาร Hi-Class (2533-2534)
  • กองบรรณาธิการ นิตยสาร Life & Decor (2534-2537)
  • บรรณาธิการบทความ นิตยสาร GM (2537-2538)
  • บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Trendy Man (2538-2541)
  • รองบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Image (2541-2542)
  • บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร a day (2543-2545)
  • บรรณาธิการที่ปรึกษา นิตยสาร a day , HAMBURGER , KNOCKKNOCK! , a book (2545-ปัจจุบัน)
  • บรรณาธิการอำนวยการ a day BULLETIN (2551-ปัจจุบัน)
ผลงานเขียน
  • เรื่องเล็ก (2543)
  • The Story of The Modern Rebel (2546)
  • The Bear Wish Project (นามปากกา เดปป์ นนทเขตคาม) (2547)
  • หญิงสาวนักขายขนมปัง (2547)
  • มากกว่านั้น (2548)
  • Wake Up ! (ร่วมกับ วชิรา รุธิรกนก และ ทรงกลด บางยี่ขัน) (2550)
  • Question Mark (บทสัมภาษณ์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) (2550)
  • TRY (2552)

สฤณี อาชวานันทกุล (ชื่อเล่น:ยุ้ย) ผู้ใช้นามปากกาว่า คนชายขอบเป็น นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย นักการเงิน และนักเขียนที่มีความสนใจรอบด้านทั้ง การเงิน(โดยเฉพาะระบบการเงินท้องถิ่น) ตลาดทุน เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม กลอนและบทกวี เกมส์  คอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ ศาสนา การศึกษา ภาพยนตร์ ดนตรี สื่อ และ การเดินทางท่องเที่ยว
คุณสฤณีจบการศึกษาปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์และปริญญาโททางด้านการบริหารธุรกิจจาก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมือสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่อยู่ในสายการเงินและการธนาคารเป็นหลัก ตำแหน่งงานประจำสุดท้ายที่ได้รับคือกรรมการบริหารบริษัทวาณิชธนกิจแห่งหนึ่งก่อนที่จะลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ
คุณสฤณีชอบการเขียนมาตั้งแต่เด็ก เคยเขียนบทความลงนิตยสารสตรีสารระดับเยาวชน เรียงความสั้น รวมถึงการเขียนกลอนแปดเพื่อลงในมติชนสุดสัปดาห์ ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2548 คุณสฤณีเริ่มก็เขียนบล็อกของตัวเองในเว็บไซด์ fringer.org   เนื่องด้วยคุณสฤณีมีฐานความรู้และประสบการณ์จากการที่อยู่ในแวดวงการเงินมาพอสมควร รวมถึงเป็นเรื่องที่เธอเองให้ความสนใจ เรืองที่เธอเขียนจึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเงินและเศรษฐศาสตร์อยู่มาก คุณสฤณีใช้นามปากกว่าว่า คนชายขอบ” (fringer) เซึ่งเธอให้เหตุผลว่า คนชายขอบหมายถึงคนที่อยู่ชายขอบและไม่ได้ถูกครอบครองหรือเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่หนึ่งที่ใด และคำนี้น่าจะเป็นคำที่อธิบายความเป็นตัวตนและความรู้สึกของเธอได้ดีที่สุด  การเขียนบล็อกใน fringer.org ของคุณสฤณีได้นำไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ประจำ ในช่วงปลายเดีอนกันยายนปี 2548 คุณสฤณีได้ถูกชักชวนโดยคุณปิ่น ปรเมศวร์ ให้มาเขียนคอลัมน์ลงใน โอเพ่นออนไลน์   นอกจากนี้คุณสฤณียังเป็นคอลัมนิสต์ประจำให้กับสื่ออีกหลายสำนัก
ปัจจุบันเธอเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ โอเพ่นโดยรับช่วงต่อจาก คุณ ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552

การทำงาน

ปัจจุบัน: นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษ นักเขียนอิสระ
Executive Director: Hunters Advisory Ltd. มกราคม 2550 – กุมภาพันธ์ 2551
Assistant Vice President : SCB Securities มกราคม 2546 – กุมภาพันธ์ 2549
Associate: Deutsche Bank Group ตุลาคม 2543 – ตุลาคม 2545
Lending Officer: The Siam Commercial Bank สิงหาคม 2539 – สิงหาคม 2541

การศึกษา

University (postgraduate)   Finance: NYU Stern MBA
University                        Economics: Harvard University ’96
Secondary school              Phillips Exeter Academy ’92
ผลงานเขียนและแปลทั้งหมด 24 เล่ม มีดังนี้

ผลงานเขียนภายใต้สำนักพิมพ์ชายขอบ

ไทยแลนด์แดนสวรรค์
นิราศยุโรป

ผลงานเขียนภายใต้สำนักพิมพ์ openbooks

To think well is good, to think right is better
ตกน้ำไม่ไหล
ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์: The World is Flat
ภูฏาน อารยธรรมแห่งสุดท้าย
นอมินี
คน(ไม่)สำคัญ
วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน)
ทุนนิยมที่มีหัวใจ: ทางเลือกใหม่แห่งการพัฒนา
วิชาสุดท้าย(ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน) เล่ม 2
U.S.CRISIS (ร่วมกับ กอบศักดิ์ ภูตระกูลและ ปกป้อง จันวิทย์)
วิชาห้าสิบเล่มเกวียน
ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์ 2: Hot, Round & Crowded
Macrotrends: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกใหม่และการปรับตัวของไทย (ร่วมกับ เอื้อมพร พิชัยสนิธ และ ปกป้อง จันวิทย์)
เงินเดินดิน
เศรษฐกิจทางเลือก: ว่าด้วยเศรษฐกิจความสุข เศรษฐกิจอิสลาม และนโยบายประชานิยม

  ทุนนิยมสร้างสรรค์ Creative Capitalism


ผลงานเขียนภายใต้สำนักพิมพ์มติชน

1. นายธนาคารเพื่อคนจน (แปลจาก Banker to the Poor โดย Muhummad Yunus)


2. ความมั่งคั่งปฏิวัติ (แปลจาก The Revolutionary Wealth โดย Alvin Toffler และ Heidi Toffler)


3. เศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต (แปลจาก The Logic of Life โดย Tim Harford)


4. พลังของคนหัวรั้น (แปลจาก The Power of Unreasonable People โดย John Elkington และ Pamela Hartigan)


5. เศรษฐกิจติดขัด (แปลจาก The Gridlock Economy โดย Michael Heller)


ผลงานเขียนภายใต้สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด


ภูฏาน A Sketch book
Fringer the Blogger

ผลงานด้านอื่นๆ

ผลงานด้านอื่นๆ ของคุณสฤณีเช่น ผลงานที่เกี่ยวกับเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล คือ เว็บไซต์ Home of the Underdogs ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมเกมเก่าที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก และไม่ถูกจำหน่ายแล้ว (abandonware) ไว้ให้ผู้ใช้สมัยใหม่ดาวน์โหลดไปเล่น เว็บไซต์นี้เปิดให้บริการในปี 2541และกลายเป็นเว็บไซต์ดาวน์โหลดเกมเก่าที่เป็นที่นิยมสูงสุดแห่งหนึ่ง ก่อนจะปิดตัวลงไปในปี 2552 โดยมีผู้อื่นมาสืบทอดเจตนาต่อไป (หนึ่งในตัวอย่างคำขอบคุณจากผลงาน) งานเขียนเกี่ยวกับเกมส์ในเว็บไซด์ของ fuse นอกจากนี้เธอยังหนึ่งในทีมที่บุกเบิกเรื่อง creative commonในประเทศไทย


คุณสฤณีเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อหลายสำนัก ได้แก่
   คอลัมน์ คนชายขอบเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์
คอลัมน์ คน (ไม่) สำคัญนิตยสารสารคดี
คอลัมน์ ทุนนิยมที่มีหัวใจมติชนสุดสัปดาห์
คอลัมน์ รู้ทันตลาดทุนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ การเงินปฏิวัติล่องคลื่นโลกาภิวัตน์ ?? หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ “Serious Game” นิตยสารฟิ้ว
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์กู้โลกเว็บไซต์โลกสีเขียว
คอลัมน์ “make a difference” นิตยสาร Women & Home
เว็บไซต์ส่วนตัว


วิกรม กรมดิษฐ์ 

นักธุรกิจและนักเขียนชาวไทย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร (CEO) 

บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งในประเทศไทย ปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนและใช้ชีวิตอย่างสงบที่ แพวิเวก เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

ประวัติ วิกรม กรมดิษฐ์ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2496 เวลา 24.00 น. ที่ จังหวัดกาญจนบุรี บรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากชาวจีนแคะหรือ ฮากก้า ซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนท่าเรือเมื่อ 150 กว่าปีมาแล้ว นอกจากนี้เขายังมีเชื้อสายมอญจากยาย เขาเป็นบุตรชายคนโตของตระกูล มีน้องมารดาเดียวกันและต่างมารดา 23 คน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน มีความสนใจการค้าตั้งแต่ยังเล็ก โดยรับช่วงต่อกิจการร้านถั่วคั่วจากป้า ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จนเมื่อเรียนจบปริญญาตรีกลับมาเปิดบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้า - ส่งออก เมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมาหันมาบุกเบิกธุรกิจด้านนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งของประเทศไทยและ 2 แห่งในประเทศเวียดนาม ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท การจ้างงานกว่า 170,000 คน มีโรงงานกว่า 700 โรง

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ตลอดจนสนใจงานด้านการเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตเป็นแบบอย่างที่เป็นประโยชน์ ต่ออนุชนรุ่นหลังๆต่อไป

ผลงานเขียน

ผมจะเป็นคนดี โดยมี ประภัสสร เสวิกุล เป็นผู้เรียบเรียง ตีพิมพ์มาแล้วกว่า 100,000 เล่ม และเป็นหนังสือที่ขายดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง โดยได้เล่าประวัติของตัวเอง

มองโลกแบบวิกรม โดยมี วิมล ไทรนิ่มนวล เป็นผู้เรียบเรียง

มองซีอีโอโลก โดยมี วิมล ไทรนิ่มนวล เป็นผู้เรียบเรียง ตีพิมพ์มาแล้วกว่า 100,000 เล่ม และเป็นหนังสือที่ขายดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง โดยได้เล่าประวัติของซีอีโอชื่อดังของโลก

มองซีอีโอโลก ภาค 2 โดยมี วิมล ไทรนิ่มนวล เป็นผู้เรียบเรียง เปิดตัวหนังสือวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2551 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการเสวนาในหัวข้อ เยาวชนไทย ก้าวไกลสู่ซีอีโอโลก
มองซีอีโอโลก ภาค 3

มองซีอีโอโลก ภาค 4

มองซีอีโอโลก ภาค 5

มองซีอีโอโลก ภาค 6


การศึกษา :

- วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ไต้หวัน
- บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประสบการณ์ระหว่างเป็นนักศึกษา

1971 : ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี จากรัฐบาลไต้หวัน
1973 : ได้รับรางวัลในฐานะนักเรียนนานาชาติยอดเยี่ยม ในการกล่าวสุนทรพจน์
1973 : ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่านักเรียนไทยในไต้หวัน

ประสบการณ์ในอดีต

1975-1994 : กรรมการผู้จัดการบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชั่น (มหาชน)
1989-1994 : ประธานบริษัท กรมดิษฐ์ โฮลดิ้ง
1992-1997 : รองประธาน บี ไอ พี แอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

ตำแหน่งทางสังคมปัจจุบัน

- รองประธานสภาธุรกิจไทย – จีน
- เหรัญญิก ของสมาคมไทย – ญี่ปุ่น
- รองประธานสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยไต้หวัน
- สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- สมาชิกสมาคมการสื่อสารแห่งประเทศไทย
- สมาชิกสมาคมสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

ตำแหน่งทางสังคมในอดีต

1990-1992 : เลขานุการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
1992-1995 : รองประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
1992-1994 : กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
1992-1993 : ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1993-1994 : ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1994-1996 : ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
1998-2002 : ประธานคณะกรรมการไทย – ไต้หวัน สภาอุตสาหกรรม

รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ 
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งใน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ภายหลังจากพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2551 ได้ทำงานอิสระ และกลับเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553


ประวัติ

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2490 ที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับประถมศึกษา จากโรงเรียนราชินี มัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนมัธยมสาธิตปทุมวัน (ปัจจุบันคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน) เมื่อปี พ.ศ. 2505 มัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2507 และจาก Leederville Technical School, Perth ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2508 เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีเดียวกัน ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก The University of Western Australia ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2513 ปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคนซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2524 และยังได้รับปริญญาบัตรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 37 เมื่อปี พ.ศ. 2537 ด้วย


การทำงาน

ตำแหน่งทางวิชาการเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน งานทางด้านเอกชน เคยเป็นผู้อำนวยการอาวุโสบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ถึง ปี พ.ศ. 2540 ทางด้านการเมือง เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ถึงปี พ.ศ. 2544 รวมทั้งยังเคยเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการรองนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ถึงปีพ.ศ. 2529 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2550 อีกด้วย


งานเขียน

รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากการเป็นนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์และให้ความเห็นในประเด็นเศรษฐกิจที่กระทบต่อสังคมตามสื่อและโอกาสต่าง ๆ โดยมีผลงานเขียนประจำที่ น.ส.พ.มติชน โดยใช้นามปากกาว่า " วีรกร ตรีเศศ " และนิตยสาร เช่น เปรียว แพรว โลกสีเขียว เป็นต้น รวมทั้งยังมีผลงานเป็นหนังสือออกมากมาย เช่น “ DIFFERENT ” " BEST " " FIRST " ในปี พ.ศ. 2547 " โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี " 5 ภาค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2547" NICE " ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้น

ชาติ กอบจิตติ


ประวัติย่อ   ชาติ กอบจิตติ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2497 ที่บ้านริมคลองหมาหอน ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวนพี่น้องผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 4คน รวมเก้าคน ชื่อเดิมคือสุชาติ แต่เขาเห็นว่าคนใช้ชื่อนี้กันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็น "ชาติ" พ่อของเขาเป็นพ่อค้าขายเกลือเม็ด ส่วนแม่ขายของเล็กๆน้อยๆ ต่อมาพ่อก็ไปค้าทราย และขายของชำ

เขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่ บ้านปอ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในจังหวัดเดียวกัน เพราะไปอยู่กับยายชั่วคราว เมื่อพ่อไปค้าทรายที่ราชบุรี เขามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนปทุมคงคาเมื่อ พ.ศ.2509 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพาน หรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปี่สามแล้วก็เรียนต่อเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์

เนื่องจากเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียนหนังสือ ฝันใฝ่ที่จะเป็นนักประพันธ์ เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512 ได้มีโอกาสเขียนบทละครแสดงที่เพาะช่างมากกว่าสิบเรื่องบางเรื่องได้แสดงเองด้วย ตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เคยสมัครไปทำงานเปิดบาร์อะโกโก้ ที่ถนนพัฒน์พงษ์ เพื่อหางานเรียน พ.ศ. 2515 ช่วงเรียนชั้นปีที่ 3 ศิริพงษ์ อยู่ชวนไปทำอาร์ตเวิร์คหนังสือ “เสนาสาร” ยุคดารา อยู่ระยะหนึ่งและได้เขียนวิจารณ์โทรทัศน์

เขาแต่งงานเมื่อ พ.ศ.2520 กับเพื่อนสาวที่เรียนจบเพาะช่างมาด้วยกัน ชื่อ รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ ซึ่งรับราชการอยู่กองโบราณคดี แผนกซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร แล้วลาออก ซึ่งต่อมาได้ช่วยกันทำกระเป๋าไปฝากขายตามห้าง ซึ่งมีรายได้ดี เคยได้รวมงานกับรุ่นน้องที่เพาะช่างทำสำนักพิมพ์ “สายธาร” พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม วันหนึ่งได้นำเรื่องสั้นชื่อว่า “ผู้แพ้” มาให้เรืองเดช อ่านซึ่งตอนนั้นเรืองเดชได้รวมงานกันอยู่ เรืองเดชได้อ่านแล้วเห็นว่าเรื่องนี้ดีเลยส่งไปให้สุชาติสวัสดิ์ศรีที่กำลังทำ “โลกหนังสือ” อยู่ในขณะนั้นพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องสั้น ของชาติ กอบจิตติ ได้ลงพิมพ์ในโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นชุด “คลื่นหัวเดิ่ง” เมื่อพ.ศ.2522 และเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับรางวัล “ช่อการะเกด” ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลที่ได้มาตรฐานมากที่สุดรางวัลหนึ่งและเรื่องเดี่ยวกันนี้ ยังได้รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522 ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ระหว่างพ.ศ. 2532 – 2535 ได้เดินทางไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ได้มีผลงานออกมาจากการเขียนเรื่องสั้นบันทึกชีวิตที่นั้นบางเรื่อง จนพ.ศ. 2536 ก็จัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “เวลา” โดยสำนักพิมพ์ “หอน” ของตัวเอง ปรากฏว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2537 นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และเรื่องเดียวกันนี้ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการประจำปี 2537

ปัจจุบัน เขาทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงใช้ชีวิตอยู่เงียบๆที่ไร่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเขาทำงานด้านการเขียนเพียงอย่างเดียว นอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว ในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้น

ผลงานเขียน

- เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา2512

ผลงานรวมเล่ม

- ทางชนะ : 2522 เรื่องสั้นกึ่งนิยาย

- จนตรอก : 2523 นวนิยายขนาดสั้น

- คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย

- เรื่องธรรมดา : 2526 เรื่องสั้นขนาดยาว

- มีดประจำตัว : 2527 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 1

- หมาเน่าลอยน้ำ พ.ศ. 2530 นวนิยายขนาดสั้น

- พันธุ์หมาบ้า : 2531 นวนิยายขนาดยาว

- นครไม่เป็นไร : 2532 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2

- เวลา : 2536 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย

- บันทึก : บันทึกเรื่องราวไร้สาระของชีวิต : 2539 ความเรียง-บันทึก

- รายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตี : 2539 เรื่องสั้นขนาดยาว

- เปลญวนใต้ต้นนุ่น : 2546 รวมบทความของ ชาติ จากนิตยสารสีสัน 2542-2546

- ลมหลง : 2543 บทภาพยนตร์

- บริการรับนวดหน้า : 2548 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 3

งานที่ได้รับรางวัล

- เรื่องสั้นเรื่อง ผู้แพ้ ได้รับรางวัล ช่อการะเกด และรางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

- คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย พิมพ์เผยแพร่มากกว่า20 ครั้ง

- นวนิยายเรื่อง เวลา พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลซีไรท์ เป็นครั้งที่ 2 ปี 2537 และได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2537

ปัจจุบัน ชาติ กอบจิตติ กับภรรยาซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน ไปใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่ในไร่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และทำงานประพันธ์เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวนอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว ในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้นด้วย


วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ในความทรงจำ หนังเยี่ยม จะอยู่ชั่วนิรันดร์

ในความทรงจำ หนังเยี่ยม จะอยู่ชั่วนิรันดร์


ใกล้วันประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2010 เว็บบล็อกของเราจะไม่กล่าวถึงคงจะไม่ได้ และคงต้องถือโอกาสย้อนรอยและทบทวนผลรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปด้วยในตัว เฉพาะรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเพียงสาขาเดียวหากย้อนหลังไปประมาณ 20 ปี (จัดเต็ม จัดหนักไปเลย) จะพบว่า มีหนังเยี่ยมที่เป็นไปตามกระแสหรือการคาดหมายอยู่หลายเรื่อง ซึ่งยังคงเป็นกระแสหลักของออสการ์มาทุกปี แต่ก็มีบางปีที่หนังเยี่ยมเป็นหนังที่ไม่ได้รับการคาดหมายหรือม้ามืดแหกโผมารับรางวัลชนิดค้านสายตาคนดูทั่วโลกก็มี แต่ทุกเรื่องที่ได้รับรางวัลหนังภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง และยังไงเสียก็เป็นภาพยนตร์ที่น่าชมอยู่ดี และหากใครบางคนเบื่อหนัง ไม่มีหนังน่าดูเลยในช่วงนี้ ก็ลองหันไปหาหนังเยี่ยมของออสการ์เก่าๆ มาดูเพื่อรำลึกถึงความทรงจำที่น่าประทับใจ โดยหนังเยี่ยมเหล่านั้นบางเรื่องมีให้หาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป แต่บางเรื่องอาจจะหาได้ยากหน่อย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถหรอก ลองเข้าไปค้นหาซื้อได้ในเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังดู ในมุมมองของบล็อกเรา หนังเยี่ยมในใจผู้เขียนอาจไม่ตรงนักกับหนังเยี่ยมที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี แต่ยังไงเสียก็น่าจะไปร่วมกันทบทวนดูว่ามีเรื่องอะไรกันบ้างด้วยกัน ดังนี้



ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1991 คือ The Silence of the Lambs หรือชื่อไทย อำมหิตไม่เงียบ

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Silence of the Lambs, Beauty and the Beast, Bugsy, JFK, The Prince of Tides

เราเห็นด้วยกับหนังเยี่ยมในปีนี้ แบบไร้ข้อกังขา เพราะผู้เข้าชิงที่เหลือทั้ง 4 เรื่องยังเทียบไม่ได้กับความยอดเยี่ยมของ The Silence of the Lambs ตัวหนังสร้างจากนิยายขายดีของโธมัส แฮร์ริส อีกทั้งยังได้รับรางวัลสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ๆไปด้วยทั้ง 5 สาขาหลัก คือ ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ดารานำชาย และดารานำหญิงยอดเยี่ยม คือถ้าหนังเรื่องใดที่ได้รางวัลหลักทั้ง 4 สาขานี้แล้ว จะไม่ได้หนังเยี่ยมก็คงจะแปลก และสถิตินี้ยังหาคู่แข่งหรือเทียบเคียงได้ยาก ดูกี่ครั้งก็ยังประทับใจ นอกจากนี้ยังสร้างตอนอื่นๆ ตามมาอีก อาทิ The Hannibal , Red Dragon,Hannibal Rising  แต่ก็ไม่สามารถสู้ภาคแรกได้ ผู้กำกับเรื่องนี้ คือ โจนาธาน เด็มป์ ,ผู้แสดงนำชายคือ แอนโธนี่ย์ ฮ็อบกิ้นส์ และ โจดี้ ฟอสเตอร์ จริงๆ แล้วผู้เขียนก็ยังชอบเรื่อง JFK อีกเรื่องนึงด้วย แต่หนังเรื่องนี้ยังเดินเรื่องแบบกึ่งๆ สารคดี และก็ไม่ค่อยเร้าอารมณ์ได้เทียบเท่า The Silence of the Lambs  จึงขอยกรางวัลหนังเยี่ยมให้กับอำมหิตไม่เงียบไปแบบไร้ข้อกังขา

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1992 คือ Unforgiven หรือชื่อไทย ไถ่บาปด้วยบุญปืน

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Crying Game, A few good men, Howards End, Sc ent of Women

ผู้เขียนเห็นว่าหนังเยี่ยมในปีนี้ คือ Unforgiven มีความเหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ถึงกับชื่นชอบหรือประทับใจอะไรมากนัก อีกทั้ง ภาพยนตร์ที่เข้าชิงทั้ง 4 เรื่องนั้นก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าในบรรดาหนังที่เข้าชิงทั้ง 5 เรื่อง มีค่าเฉลี่ยของคุณภาพใกล้เคียงกัน เรื่องใดได้หนังเยี่ยมก็ไม่ถือว่าค้านสายตามากนัก ผู้เขียนยังรู้สึกชอบ The Crying Game และ A few good men มากกว่าเสียด้วยซ้ำ กล่าวคือ หนังเยี่ยมของปีนี้ เยี่ยมจริงแต่ไม่ถึงกับชอบมากนัก ถ้าจะให้รางวัลหนังเยี่ยมของปีนี้ ในความเห็นของบล็อก เราขกยกให้ The Crying Game หรือไม่ก็ A few good men เรื่องใดเรื่องนึงมากกว่า แบบไม่มีเหตุผล

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1993 คือ Schindler’s List หรือชื่อไทย ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Fugitive, In the Name of the Father, The Piano, The Remains of the Day

ต้องถือว่าเป็นปีที่มีหนังคุณภาพเยอะจริงๆ และรายชื่อผู้เข้าชิงก็จัดได้ว่าแข็งและเจ๋งจริงๆ เกือบทุกเรื่องสามารถเป็นหนังเยี่ยมได้หมด แต่ผู้เขียนเห็นว่า Schindler’s List ยอดเยี่ยมที่สุดแล้วสำหรับรางวัลนี้ อีกทั้งยังได้รับรางวัลในสาขาใหญ่ๆ ไปอีกหลายรางวัล เป็นอีกผลงานที่ดีที่สุดของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่เป็นผู้กำกับในดวงใจของผู้เขียนด้วย ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้มันมีหลายมิติ ทั้งในแง่ของประเด็นเนื้อหาที่สะท้อนและถ่ายทอดชะตาชีวิตของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเทคนิคงานสร้าง ถ่ายภาพ ตัดต่อภาพเป็นแบบหนังฟิมล์นัวร์ การแสดงที่เยี่ยมยอดไม่ใช่แค่นักแสดงนำ แต่เกือบทุกตัวแสดงในเรื่อง ภาพที่เสมือนจริง และบทภาพยนตร์ ที่แม้กระทั่งงานช่วงหลังๆ ของสปีลเบิร์กยังเทียบงานเรื่องนี้ของเขาเองไม่ได้เลย เราเรียกโดยรวมว่า หนังขึ้นหิ้ง ไปแล้ว แต่ใช่ว่าหนังที่ได้เข้าชิงทั้ง 4 เรื่องเราจะไม่ชอบนะ มันดีมากด้วยในระดับนึง แต่เมื่อมารวมอยู่กับ Schindler’s List แล้ว รัศมีของเรื่องนี้ก็กลบทุกเรื่องหายไปเลยจริงๆ

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1994 คือ Forrest Gump หรือชื่อไทย อัจฉริยะปัญญานิ่ม

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Four Wedding and a Funeral, Pulp Fiction, Quiz Show, The Shawshank Redemption

ในช่วงที่ Forrest Gump ได้รับรางวัลออสการ์ในปีนั้น ผู้เขียนก็เห็นด้วยและประทับใจ จัดได้ว่าเป็นหนังเยี่ยมในดวงใจอีกเรื่องนึงในทำเนียบที่ชอบด้วย แต่ภายหลังที่เพิ่งจะมาได้ชมหนังที่เป็นคู่แข่งตัวเต็งในปีนั้นอีกเรื่องนึงคือ The Shawshank Redemption (เนื่องจากเป็นหนังที่ตัวผู้เขียนตกสำรวจไม่เคยดู เพิ่งไปหาซื้อเป็น dvd มาได้ชมในปีที่ผ่านมานี้เอง) เมื่อมาเปรียบเทียบแล้วผู้เขียนก็เปลี่ยนใจและตัดสินให้รางวัลหนังเยี่ยมในปีนั้นแก่ The Shawshank Redemption ไปครองแทน Forrest Gump เพราะรู้สึกถึงได้ว่าหนังเรื่อง Forrest Gump เป็นหนังประดิษฐ์ที่จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อเร้าอารมณ์คนดูให้เกิดความประทับใจ โดยที่ความประทับใจนั้นถูกปูมาทั้งเรื่องโดยที่ผู้ชมอาจไม่รู้ตัว และการแสดงของทอม แฮ้งค์ที่ว่ายอดเยี่ยมนั้นแท้จริงแล้วมันเป็นไปตามบทหรือคาแร็กเตอร์ที่แท้จริงหรือไม่ อันนี้เป็นข้อกังขาหรือข้อสังเกตของตัวผู้เขียนเอง แต่เมื่อมาเทียบความยอดเยี่ยมของทิม ร็อบบิ้นส์และมอร์แกน ฟรีแมน ใน The Shawshank Redemption ผมกลับเห็นว่าเขาเล่นได้เป็นธรรมชาติกว่าและตัวบทไม่ได้เร้าอารมณ์มากนัก แต่คนดูอินและประทับใจไปเองมากกว่า แต่อาจเป็นเพราะกระแสของหนังเรื่องนี้ในตอนนั้น ไม่แรงเท่า Forrest Gump จึงทำให้พ่ายแพ้ไป แต่ความเยี่ยมนั้นไม่แพ้แน่ๆ

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1995 คือ Braveheart หรือชื่อไทย วีรบุรุษหัวใจมหากาฬ

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Apollo 13, Babe , Il Postino (The Postman) , Sense and Sensibility

เป็นอีกปีหนึ่งที่หนังเยี่ยมชนะแบบไร้ข้อกังขา เพราะคู่แข่งในปีนั้นอ่อนมากๆ แทบไม่มีเรื่องใดขึ้นมาทาบรัศมีได้เลย จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ได้เยี่ยมยอดอะไรมากนักในสายตาของนักวิจารณ์หรือผู้เขียนเอง หากเป็นเพราะความโชคดีของหนังส่วนหนึ่งที่มาในจังหวะโอกาสที่ดี เรียกกระแสจากอเมริกันชนได้ ในภาวะที่คนอเมริกันต้องการความสามัคคี เลือดรักชาติ หนังเรื่องนี้ปลุกกระแสเลือดรักชาติได้ดี และการแสดงที่เยียมยอดของเมล กิ๊บสัน ผนวกรวมกันจึงเป็นหนังเยี่ยมในปีนั้น แต่ผู้เขียนให้รางวัลหนังเยี่ยมแก่ Babe เป็นหนังที่ตัวละครหลักเป็นสัตว์ นั่นก็คือสุกร มันน่ารักและมีเสน่ห์มาก ไม่เคยคิดว่าฝรั่งมันจะทำหนังเกี่ยวกับหมูได้ดีถึงเพียงนี้ การได้ดูหนังเรื่องนี้ในช่วงนั้น ทำให้ผู้เขียนงดกินเนื้อสุกรไปพักนึงเลยทีเดียว ส่วน Apollo 13 ก็เป็นหนังที่ชื่นชอบเช่นเดียวกัน แต่ไม่คิดว่าจะถึงขนาดได้เข้าชิงหนังเยี่ยมในปีนั้น นั่นแสดงว่าหนังดราม่าในปีนั้นอ่อนมากๆ เลยถึงขนาดเอาหนังไซไฟสไตล์บ็อกออฟฟิซมาเข้าชิงรางวัลออสการ์กับเขาด้วย

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1996 คือ The English Patient หรือชื่อไทย ในความทรงจำ ความรักอยู่ได้ชั่วนิรันดร์

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Fargo, Jerry Mcguire, Secrets & Lies , Shine

เป็นปีที่หนังออสการ์ที่เข้าชิงไม่มีเรื่องใดเป็นหนังดังทำเงินเลยซักเรื่องนึง และออกจะกระเดียดไปทางหนังอินดี้หน่อยๆ เกือบทุกเรื่องด้วย ทุกเรื่องเป็นหนังที่ดูสนุกน่าประทับใจด้วยกันทุกเรื่อง แต่ความดีเด่นต้องยกให้ The English Patient จะว่าไปหนังเรื่องนี้ไม่ได้โดดเด่นด้านบทภาพยนตร์แต่เพียงอย่างเดียว การถ่ายภาพดีมากด้วย รวมถึงดนตรีประกอบ การเล่าเรื่องที่เรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่ไปเร้าอารมณ์ตอนท้ายนี่แหละคือความสุดยอดของหนัง ที่สร้างความประทับใจ แต่ก็เป็นปีที่หนังเข้าชิงแต่ละเรื่องมีความโดดเด่นฉีกกันไปคนละแนวทาง แล้วแต่กรรมการตัดสินจะชื่นชอบให้เรื่องใด Fargo โดดเด่นด้านพล็อตเรื่อง Jerry Mcguire โดดเด่นด้านพลังของดาราและประเด็นเนื้อหา Secrets & Lies โดดเด่นด้านพล็อตและพลังดาราแต่ประเด็นเนื้อหาธรรมดาเกินไป ส่วน Shine โดดเด่นด้านการแสดงและประเด็นเนื้อหา แต่ The English Patient มีครบเครื่องกว่าที่ทุกเรื่องมี คือพล็อตเรื่อง พลังของดารา ประเด็นเนื้อหา และการแสดงที่เยี่ยมยอด จึงได้รับรางวัลผู้ชนะไปอย่างสมศักดิ์ศรี

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1997 คือ Titanic หรือชื่อไทย ชู้รักเรือล่ม เอ๊ยไม่ใช่ ชื่อไททานิค

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ As Good as it Gets , The Full Monty , Good Will Hunting , L.A. Confidential

เป็นปีที่ออสการ์ทุ่มรางวัลไปให้ภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวมากที่สุดถึง 11 สาขารวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยให้กับเรื่อง Titanic รวมถึงกระแสการตอบรับด้านรายได้ก็ดีมาก เรียกว่าได้ทั้งเงินและกล่องจน ผู้กำกับเจมส์ คาเมร่อน ยกย่องตัวเองว่าเป็น King of The World ผู้เขียนเองก็ชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มากเช่นกัน แต่ก็ไม่เห็นด้วยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเยี่ยมยอดที่สุดใน 5 เรื่องที่เข้ารอบมาด้วยกัน ไม่ว่าจะดูหนังตอนปีนั้นหรือปีไหนๆ ผู้เขียนก็ยังยกให้ L.A.Confidential เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นมากกว่า Titanic และไม่จำเป็นว่าผู้กำกับของเรื่องจะต้องเป็น King of The World ด้วย เพราะในภายหลังต่อมาก็มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เจมส์ คาเมร่อน ก็ไม่ได้เจ๋งจริงอย่างที่คุย เมื่อกำกับ Avatar ได้ห่วยมากในสายตาของผู้เขียน ซึ่งเดี๋ยวจะได้กล่าวไปถึงหนังเรื่องดังกล่าวในปีถัดมาด้วย  นอกจากนี้หนังอย่าง Good Will Hunting ก็โดดเด่นมากในด้านพล็อตเรื่องและประเด็นเนื้อหาของเรื่อง จนได้รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมไปในปีนั้น และ As Good as it Gets ก็ทำให้ปู่แจ็ค นิโคลสันได้รางวัลในสาขาแสดงนำฝ่ายชายไปได้ แล้วไหนหล่ะหนังเยี่ยมแต่คุณไม่ได้รางวัลในสาขาบทภาพยนตร์และผู้แสดงนำ จะเรียกเป็นหนังเยี่ยมได้อย่างไร ลองหันไปดูปี 1991 สิ นั่นอ่ะกวาดไปหมดในสาขาหลักๆ ดังนั้น Titanic จึงเป็นหนังเยี่ยมของมหาชน แต่ไม่ใช่ของปัญญาชนหรือปัจเจกบุคคลซักเท่าไหร่


ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1998 คือ Shakespear in Love หรือชื่อไทย กำเนิดรักก้องโลก

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Saving Private Ryan , Life is Beautiful, Elizabeth ,The Thin Red Line

เป็นปีที่ออสการ์อัปยศที่สุด เมื่อผลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตกเป็นของ Shakespear in Love เรียกได้ว่าหักปากกาเซียนกันเลยทีเดียว และผู้เขียนก็แทบอยากจะเอาหัวโขกกรรมการเลยด้วย ก็เพราะว่าในบรรดาที่เข้ารอบมา ต้องถือว่าเรื่องนี้อ่อนด้อยที่สุดในบรรดาทั้ง 5 เรื่อง ซึ่งตัวผู้เขียนเองขอยกให้ Saving Private Ryan เป็นหนังเยี่ยมของปีนั้น ควบด้วยรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั่นก็คือสปีลเบิร์ก และก็ขอบอกว่าทอม แฮ็งค์ ในเรื่องนี้เล่นได้ดีกว่าเรื่อง Forrest Gump เสียอีก ในสายตาของผู้เขียน แต่กลับไม่ได้รางวัลใดๆ นอกจากนี้ Life is Beautiful รวมถึง Elizabeth สมควรได้รางวัลในสาขานักแสดงนำไปทั้ง 2 เรื่อง ในกรณีของ Life is Beautiful นั้นได้ตามคาดหมาย แต่ Elizabeth นำแสดงโดย เคท แบนเช็ตกลับไม่ได้ ผู้ชนะกลับกลายเป็น กวินเนธ พาลโธรว์ และจูดี้ เดนซ์ จากเรื่อง Shakespear in love ซึ่งออกมาแสดงเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น ถึงกับได้รางวัลสมทบหญิงยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเรื่องแปลกและตลกมาก จนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในปีนั้น ว่าออสการ์ตัดสินรางวัลในปีนั้นได้ผิดฝาผิดตัวมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประกาศรางวัล ทุกวันนี้หนังเรื่อง Shakespear in Love ก็ไม่เป็นที่จดจำหรือพูดถึงของนักดูหนังในโลกนี้เลย นั่นก็แสดงว่าหนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คุณค่าของคน (ตัดสิน)

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 1999 คือ American Beauty หรือชื่อไทย คือ อเมริกัน บิวตี้

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Cider House Rules , The Green Mile , The Insider , The Sixth Sense

ผู้เขียนขอปรบมือให้กับหนังเยี่ยมในปีนี้อย่าง American Beauty จัดได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ผู้ชนะ ชนะได้อย่างสมศักดิ์ศรีไร้คู่แข่งที่เท่าเทียมกัน หนังที่พอจะเป็นคู่แข่งได้บ้างในสาขานักแสดงนำก็อาจเป็น The Insider แต่ด้วยความเฉียบคมของพล็อตเรื่อง ประเด็นเนื้อหา และการแสดงที่เยี่ยมยอดของ เควิน สเปซี่ย์ และแอนเน็ธ เบนนิ่ง ทำให้หนังเรื่องนี้ดูกี่ครั้งก็ยังประทับใจและสะเทือนใจที่ได้ดู ซึ่งตัวหนังเองให้ข้อคิดถึงความเหลวแหลก จิกกัดสังคมอเมริกันได้อย่างลึกซึ้งถึงปมปัญหาได้อย่างถึงแก่น เอ๊ะมองดูแล้วคล้ายๆ ประเทศอะไรหนอ

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2000 คือ Gladiator หรือชื่อไทย คือนักรบผู้กล้า ผ่าแผ่นดินทรราชย์

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Chocalat , Crouching Tiger Hidden Dragon, Erin Brockovich, Traffic

หนังเยี่ยมอย่าง Gladiator ชนะอย่างไร้คู่แข่งอีกปีหนึ่ง แบบนอนมาเลย คล้ายๆ ปี 1995 และปีที่แล้วเหมือนกัน ที่ผู้ท้าชิงที่เหลือทั้ง 4 เรื่องนั้นอ่อนกว่ามาก แต่ใช่ว่าหนังที่เข้าชิงทั้ง 4 เรื่องจะไม่น่าสนใจ อย่าง Chocolat ตอนดูครั้งแรกรู้สึกว่าเป็นหนังรักที่ประทับใจ ช่างโรแมนติคดี ดูชิลล์ๆ ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นมากนัก ,ส่วน Crouching Tiger Hidden Dragon ก็เป็นหนังจีนกำลังภายในที่ดันหลุดเข้ามาเป็นหนังชิงออสการ์กับเขาได้อย่างไร แถมได้รางวัลหนังสาขาต่างประเทศยอดเยี่ยมไปด้วย นับว่าออสการ์ใจกว้างมากกับหนังเอเชียเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงหนังเอเชียที่มีบทดีๆ เนื้อหาประเด็นดีๆ กลับไม่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ก่อนหน้านี้เลย แต่หนังกำลังภายในดูว่าจะธรรมดาเรื่องนี้มีอะไรดีนักหนาจึงได้เข้าชิง ผู้เขียนก็ยังฉงนมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะผู้เขียนเองก็เป็นคอหนังจีนกำลังภายใน ดูมาก็มาก เห็นของดีมาก็เยอะ จึงมีมุมมองกับหนังเรื่องนี้ในแบบเฉยๆ มาก ไม่คิดว่าเจ๋งอะไรนักหนาควรค่าแก่การเข้าชิงออสการ์เลยซักนิด ส่วนอีก 2 เรื่องทีเหลือไม่เคยได้มีโอกาสได้ชม จึงขออนุญาตที่จะไม่วิจารณ์หรือกล่าวถึง

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2001 คือ A Beautiful Mind หรือชื่อไทย คือ ผู้ชายหลายมิติ

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Gosford Park, In the Bedroom , The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring และ Moulin Rouge

ขอบอกว่าเป็นอีกปีนึงที่ผู้เขียนเห็นต่างกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้เป็นอย่างมาก เพราะในบรรดาหนังที่ได้เข้าชิงทั้ง 5 เรื่องนั้น เรื่องที่ผู้เขียนชอบน้อยที่สุดก็คือเรื่องที่ได้รางวัลในสาขานี้ นั่นคือ A Beautiful Mind หนังสร้างจากประวัติชีวิตจริงของศาสตราจารย์จอห์น แนช ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ มีประเด็นเนื้อหาที่น่าสนใจ แต่ทำได้ไม่น่าสนใจ ตรงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่องยังไม่สามารถเร้าอารมณ์คนดู หรือทำให้เกิดความประทับใจได้ การแสดงของรัสเซลล์ โครว์ ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังสู้ตอนเล่น Gladiator หรือ The Insider ไม่ได้เลย Gosford Park ประเด็นเนื้อหายังน่าสนใจกว่าเสียอีก ตัวละครมากมาย แต่ผู้กำกับเก่งสามารถแบ่งบทกันให้เล่นออกมาได้อย่างดี เป็นอีกเรื่องนึงที่ประทับใจ In the Bedroom เด่นทั้งประเด็นเนื้อหาและการแสดงของผู้แสดงนำ และเป็นตัวเต็งที่จะได้กลับพลาดไป ในส่วนของ The Lord of the Rings ในภาคแรกนี้ ผู้เขียนคิดว่าตัวหนังเองยังไม่ถึงขนาดได้รับการเสนอขื่อเข้าชิง เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็นการปูพื้นไปสู่โครงเนื้อหาใหญ่ และนำไปสู่ภาคต่อไป ยังไม่มีอะไรโดดเด่นมากพอ และ Moulin Rouge เป็นหนังเพลงที่เยี่ยมยอดที่สุด นับจาก The Sound of Music ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนะครับ เรื่องนี้เด่นในด้านไดอะล็อค บทภาพยนตร์ เพลงประกอบและเพลงนำภาพยนตร์ รวมถึงการแสดงที่มีเสน่ห์ของทั้ง นิโคล คิดแมน และยวน แม็คเกรเกอร์ ชั้นเชิงการเล่าเรื่องซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แล้วจบด้วยอารมณ์เศร้า เป็นหนังที่สุดประทับใจแห่งปีของผู้เขียนเลยทีเดียว จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าผู้เขียนจะยกย่องให้ Moulin Rouge เป็นหนังเยี่ยมในใจของปี 2001 มากกว่า A Beautiful Mind ถ้าเทียบ Moulin Rouge เป็นต้มยำกุ้งแล้วหล่ะก็ A Beautiful Mind ก็เป็นแกงจืดที่จืดชืด จืดสนิท แบบไร้รสชาติเอาเสียเลย

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2002 คือ Chicago หรือชื่อไทย คือ ชิคาโก้

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Gangs of New York ,The Hours ,The Lord of the Rings: The Two Towers , The Pianist

ขอตัด The Lord of the Rings ภาค 2 นี้ออกไปก่อน เหตุผลก็คล้ายๆ ภาคแรก ,Gangs of Newyork เด่นด้านการแสดง แต่ประเด็นเนื้อหาไม่มีอะไร ส่วน The Hours โดดเด่นทั้งประเด็นเนื้อหาและการแสดงนำของฝ่ายหญิง บทได้ถูกแบ่งกันออกไปถึง 4 คน จนไม่ทราบว่าใครเด่นกว่าใคร ซึ่งถ้าหากเทียบกับ Chicago นั้น ทั้งประเด็นเนื้อหาและการแสดงนั้นแรงกว่า The Hours มาก ได้การแสดงเยี่ยมๆ ของทั้ง แคททาลีน ซีต้าโจนส์ และ เรเน่ เซลวีโก้ อีกทั้ง Chicago ยังสร้างออกมาในแบบละครเพลง หรือ musical จึงใส่ลูกเล่นเข้าไปได้อย่างมากมายคล้ายๆ Moulin Rouge แต่จะมาในโทนหม่นๆ มืดๆ เพราะเป็นหนังที่กล่าวถึงอาชญากรรม ส่วนอีกเรืองนึง คือ The Pianist ผู้เขียนให้เป็นภาคต่อ ของ Shindler’s List เพราะหนังที่ตีแผ่เกี่ยวกับความทารุณกรรมป่าเถื่อนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเกี่ยวกับยิว มักจะเป็นหนังเยี่ยมซะทุกเรื่อง เรื่องนี้ยังโดดเด่นในสาขานักแสดงนำฝ่ายชายด้วย กล่าวโดยสรุปทั้ง Chicago และ The Pianist นั้นผู้เขียนชอบทั้งคู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่ในเมื่อออสการ์ตัดสินว่าให้ Chicago เป็นผู้ชนะในสาขานี้ไปแล้ว ผู้เขียนจึงขอถือหาง The Pianist เป็นหนังเยี่ยมในปีนั้นไปครับ

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2003 คือ The Lord of the Rings: The Return of the King หรือชื่อไทย คือ  ลอร์ดออฟเดอะริงส์ มหาสงครามชิงพิภพ

รายชื่อผู้เข้าขิงในปีนั้นคือ Lost in Translation, Master and Commander , Mystic River , Seabiscuit


คงต้องยกหนังเยี่ยมให้กับ The Lord of the Rings: The Return of the King เพราะมีการปูพื้นและเข้าชิงออสการ์มาถึง 3 ปีติดกัน จัดเป็นหนังในแนวEpic,Fantasy,Adventure ที่เป็นภาคต่อทีได้รางวัลออสการ์เป็นเรื่องแรกด้วย (The Godfather,Rocky และ The Silence of the Lambs เป็นหนังภาคต่อแนวดราม่าที่เคยได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาก่อน) สำหรับ TLOTR เป็นหนังภาคต่อที่ผู้เขียนเองชื่นชอบมากที่สุดเรื่องนึง ส่วนหนังที่ได้เข้าชิงอีก 4 เรื่องก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน Lost in Translation จัดเป็นหนังรักที่ดูเหงาๆ อย่างไรชอบกล Master and Commander เป็นหนังโปรดักชั่นใหญ่ที่ดูเงียบขรึม เสมือนผิวน้ำท้องทะเลที่นิ่งเงียบ ไร้คลื่นลม ด้าน Mystic River จัดเป็นดราม่าที่เข้มข้น รสชาติจี๊ดจ๊าดมาก โดดเด่นด้านการแสดงที่เยี่ยมยอดของทีมนักแสดงฝ่ายชาย หากปีนี้ไม่มีหนังเรื่อง The Lord of the Rings เข้ามาชิงด้วย หนังที่สมควรจะได้รับรางวัลในสาขายอดเยี่ยมควรจะตกเป็นของ Mystic River อย่างไม่ต้องสงสัย เหมือนบุญมีแต่กรรมบังจริงๆ ต้องมาชนกับช้าง ,ส่วน Seabiscuit เป็นหนังที่ให้แรงบันดาลใจ ความหวังในชีวิตคล้ายๆ เรื่อง The Shawshank Redemption แต่ Seabiscuit ดูจะให้น้ำหนักไปทางมิตรภาพของตัวพระเอกกับม้าแข่งของเขามากเกินไปหน่อย สรุปโดยรวมถ้าไม่นับ The Lord of the Rings แล้ว หนังที่เข้าชิงที่เหลือทั้งหมด เป็นหนังคุณภาพน่าสนใจทั้งในแง่ประเด็นเนื้อหา และการแสดงที่ดี จัดว่าเป็นปีของหนังออสการ์ที่ดีปีนึงเลยทีเดียว

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2004 คือ Million Dollar Baby หรือชื่อไทย คือ เวทีแห่งฝัน วันแห่งศักดิ์ศรี

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Aviator , Finding Neverland , Ray , Sideways


ถ้าจะมองถึงความยอดเยี่ยมของเนื้อหาและการแสดงก็คงต้องยกให้ Million Dollar Baby เป็นผู้ชนะไปในปีนี้ แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าแม้ว่าในปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ Million Dollar Baby ชนะไปอย่างสมศักดิ์ศรี ไร้คู่แข่ง และเป็นอีกปีนึงที่ผู้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์อ่อนแอมากอีกปีนึงในรอบหลายปี Finding Neverland ดูจะเป็นหนังกึ่งๆ แฟนตาซียังอุตส่าห์ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เท่ากับว่าเป็นการเปิดมุมมองที่หลากหลายมาก ด้าน The Aviator กับ Ray ยังไม่เคยได้ชม จึงขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วน Sideways ดูจะเป็นหนัง roadmovie ที่ให้คุณค่าความหวังหรือแรงบันดาลใจ ที่คนในยุคปีนั้นโหยหาเป็นอย่างมาก ผู้เขียนคิดว่า Sideway ดูจะจับต้องได้และไลฟ์สไตล์ดูจะใกล้เคียงกับเรามากที่สุด ประเด็นเนื้อหาก็ดูจะอินเทรนด์กว่าทุกเรื่อง จึงขอยกตำแหน่งหนังเยี่ยมในปีนี้กับเรื่องนี้มากกว่า Million Dollar Baby
หมายเหตุ การแสดงของฮิลลารี สแว้งค์ ใน Million Dallar Baby ยังเทียบไม่ได้กับตอนที่แสดงใน Boy Don't Cry  ส่วนปู่คลิ้น อีสต์วู้ด กับงานกำกับเรื่องนี้และแสดงด้วย ยังเทียบไม่ได้กับตอนกำกับ Unforgiven และอีกหลายๆ เรื่องต่อมาของแก อย่าง Gran Torino, Letters from Iwo Jima

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2005 คือ Crash หรือชื่อไทย คือ คน....ผวา

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Brokeback Mountain , Capote , Good Night and Good Luck, Munich

ต้องขอยอมรับเลยว่าเป็นปีที่ผู้เขียนดูหนังออสการ์น้อยที่สุด แทบไม่ได้ดูเรื่องไหนเลย มีเพียง Brokeback Mountain เรื่องเดียวที่ผ่านตา แต่เรื่องเดียวกันนี้ก็มากพอทั้งกระแสการยอมรับในส่วนของนักวิจารณ์จากทั่วโลกและรางวัลที่ได้ในเวทีแจกรางวัลอื่นๆ มากมายรวมถึงลูกโลกทองคำด้วย ด้วยประเด็นเนื้อหาที่แรง และอยู่ในความสนใจของคนยุคปัจจุบัน บวกกับหนังที่ชูสิทธิของเพศที่ 3 มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับในเวทีออสการ์หรือในระดับหนังเยี่ยมมาก่อน นี่จึงนับเป็นความแปลกใหม่ และกล้าท้าทายกระแสโลก ยังไม่นับรวมการแสดงที่ดีเยี่ยมของนักแสดงนำทั้งฮีธ เลดเจอร์ และ เจค กิลลานฮาล ผู้เขียนจึงมีความเห็นแบบเดียวกับคนทั้งโลกว่าหนังเยี่ยมในปีนั้นควรจะเป็น Brokeback Mountain มากกว่า Crash

ผู้ขนะหนังเยี่ยมของปี 2006 คือ The Departed หรือชื่อไทย คือ ภารกิจโหด แฝงตัวโค่นเจ้าพ่อ

รายขื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Babel , Letters from Iwo Jima , Little Miss Sunshine , The Queen

ขอฟันธงได้เลยว่า Babel นั้นยอดเยี่ยมกว่า ทั้งในประเด็นเนื้อหาและการแสดง มากกว่า The Departed ซึ่งเป็นงานรีเมคจาก Infernal Affairs ของฮ่องกง แต่ทำได้หยาบกระด้างกว่า ต้นฉบับมาก อีกทั้งการแสดงก็สู้ของต้นฉบับไม่ได้เลย นี่ถ้าไม่เคยได้ดูต้นฉบับมาก่อนอาจจะพอยอมรับได้ แต่ถึงจะยังไงก็ยังคงเห็นว่า The Departed ยังไม่ใช่งานดีที่สุด ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อยู่ดี เพราะเขาเคยทำได้ในระดับเทพมาก่อนจากเรื่อง Good Fellas แต่ก็ยังไม่ได้รางวัลหนังเยี่ยมมาก่อนเลย ดังนั้นงานอย่าง The Departed ดันมาได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็เป็นเพราะจังหวะเวลาที่ออสการ์อยากจะให้รางวัลแก่สกอร์เซซี่เสียที หลังจากที่เขาเคยพลาดรางวัลออสการ์มาทุกครั้งตลอดชีวิตการกำกับกว่า 30 ปี แต่นี่ไม่ใช่ช่วงที่เขา topform สุดๆ นั่นเอง มันจึงเป็นข้อกังขาที่ได้รางวัลนี้มา ในขณะที่เพื่อนคู่แข่งอื่นๆ กลับดีกว่าหมดเลย ทั้ง Babel, Letters from Iwo Jima หรือ Little Miss Sunshine ถ้าผมเป็นมาร์ติน สกอร์เซซี่ ผมควรจะดีใจหรือเสียใจดีหว่า

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2007 คือ No Country for Old Men หรือชื่อไทย คือ ล่าคนดุ ในเมืองเดือด

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Atonement , Juno , Michael Clayton ,There Will Be Blood

เป็นอีกปีนึงที่ผู้เข้าชิงหนังยอดเยี่ยมแข็งแรงมาก และไม่ว่าเรื่องใดจะได้รับรางวัลไปก็ถือว่าเหมาะสม ขึ้นอยู่กับความชอบ ความเหมาะสมของคณะกรรมการออสการ์ แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนก็เห็นตรงกับคณะกรรมการที่ตัดสินให้ No Country for Old Men จริงๆ แล้วเรื่องนี้โดดเด่นในส่วนของพล็อต ประเด็นของเนื้อหา และการแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก เรียกว่าตื่นเต้นจนหยุดหายใจไปเลย โดยเฉพาะฉากไคลแม็กซ์ตอนท้ายของเรื่อง นั้นถือว่าสุดยอดจริงๆ นานๆ จะได้ดูหนังที่ไม่ได้ขายพลังของดารา และไม่ได้มีโปรดักชั่นดีไซน์อะไรเลย แต่ดูสนุก ตื่นเต้น ครบรส จังหวะการเล่าเรื่อง และลำดับภาพดีๆ ซักเรื่องนึง ที่กล่าวมามันมีอยู่ในหนังเพียงเรื่องเดียวนั่นคือ No Country for Old Men จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะได้เป็นหนังเยี่ยมในปีนั้น

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2008 คือ Slumdog Millionaire หรือชื่อไทย คือ สลัมด็อก มิลเลี่ยนแนร์ คำตอบสุดท้าย... อยู่ที่หัวใจ

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon , Milk , The Reader

จัดเป็นออสการ์อีกปีที่หินมาก เพราะหนังที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้ง 5 เรื่องนั้นโดดเด่นแตกต่างกันไป และมีประเด็นเนื้อหาที่แข็งแรง เข้มข้น การแสดงยอดเยี่ยมกันทั้งนั้น ดังนั้น การที่ Slumdog Millionaire แหวกโผมาได้รับจึงเป็นเพราะกระแสความแรงของหนังที่ได้ทั้งเงินและกล่องจากหลายๆประเทศมาก่อนแล้ว โดยผู้เขียนเห็นว่า The Reader เหมาะสมกว่าทั้งในส่วนของประเด็นเนื้อหา และการแสดงของเคต วินซเล็ต (และนี่ก็เป็นหนังเกี่ยวกับยิวเรื่องนึงอีกแล้ว)

ผู้ชนะหนังเยี่ยมของปี 2009 คือ The Hurt Locker หรือชื่อไทย คือ  หน่วยระห่ำ ปลดล็อคระเบิดโลก

รายชื่อผู้เข้าชิงในปีนั้นคือ Avatar ,The Blind Side, District 9, An Education , Inglourious Basterds , Precious: Based on the Novel "Push" by Sapphire, A Serious Man, Up , Up in the Air

เป็นปีแรกของออสการ์ที่หนังที่ถูกเสนอเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมีมากกว่า 5 เรื่อง ดูจากรายชื่อทั้งหมดแล้ว ผู้เขียนขอหยิบมาเพียง 3 เรื่องไว้พิจารณา คือ The Hurt Locker , A Serious Man และ Up in the Air หากจะเทียบประเด็นเนื้อหาก็ต้องถือว่ามีความโดดเด่นด้วยกันทั้ง 3 เรื่องแตกต่างกันไป ถ้าจะเอาเรื่องการแสดง ก็ต้องเป็น 2 เรื่องหลัง แต่ถ้าหากจะพูดถึงบรรยากาศ ไลฟ์สไตล์ ความร่วมสมัย และใกล้เคียงวิถีชีวิตของข้าพเจ้ามากที่สุดแล้วหล่ะก็ ก็คงต้องยกให้ Up in the Air เป็นหนังเยี่ยมในใจของผู้เขียนมากกว่า The Hurt Locker

Avatar นั้นแต่เดิม ผู้เขียนตั้งความคาดหวังกับมันไว้สูง เพราะเห็นเจมส์ คาเมร่อนคุยนักคุยหนาว่าที่ไม่ได้้กำกับหนังมาเลยในช่วง 10 กว่าีปีหลังมานี้ เพราะรอที่จะทำเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว และรอเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง บวกกับการหยิบเอาคำว่าอวตาร มาสร้างเป็นพล็อตเรื่อง เราจึงคาดหวังว่าหนังจะมีประเด็นเนื้อหาที่ดี ที่มีมุมมองน่าสนใจแปลกใหม่ และมีเทคนิคการถ่ายทำหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ให้เราดู แต่พอได้ไปดูเป็นวันแรกที่หนังเข้าฉายในโรง ก็เซอร์ไพร้ซ์มากเลย (เซอร์ไพร้ซ์ด้านลบ) นี่หรือวะที่มึงรอมานานที่จะสร้าง ห่วยมากเลย คือถ้าจะเทียบกับ District 9 เรื่องพล็อตหรือประเด็นเนื้อหาก็สู้ไม่ได้ ถ้าจะเทียบเทคนิคด้านภาพที่่คุยนักคุยหนาว่าเป็น 3D ผมก็ไม่เห็นมันจะแปลกใหม่ตรงไหน หนัง animation บางเรื่องยังจะดูดีเสียกว่า และถ้ามองด้านนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็ไม่เห็นจะดีเด่นกว่าตอนทำ Terminator 2 หรือ Titanic ตรงไหน สรุปจึงรู้สึกผิดหวังกับแกมาก และคงไม่คิดจะตามดู Avatar ภาค 2 ของแกอีกแน่  ขอบอกว่าเป็น sci-fi ดาดๆ เรื่องนึงเท่านั้น ถ้าจะดูหนังแนวนี้ดีๆ ของปีนี้ ยกให้ District 9 ดีกว่า

Inglourious Basterds เป็นตลกร้ายที่แทรกอยู่ในโครงสร้างหนังดราม่าอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุคสมัยนาซี แต่แฝงมุกตลกร้ายไว้เยอะมาก ต้องถือว่าเป็นงานถนัดของพี่เควนติน ทาเรนติโน่ เขา กี่เรื่องกี่เรื่องก็มันส์สะใจ ชอบทุกเรื่องที่พี่เขาเคยกำกับ อย่างเช่น Pulp Fiction, Kill bill  แต่ถึงอย่างไรหนังเรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นชิงหนังออสการ์อยู่ดี เพราะความที่โครงสร้างเรื่องมันอ่อนหลวมและดูไม่จริงจัง มันเลยขาดความน่าเชื่อถือ แต่ดูเอามันส์ก็น่าจะใช่

A Serious Man  มาในทางเดียวกันกับ Inglourious Basterds  แต่วิธีการนำเสนอเป็นปัจจุบันและดูจะแหลมคมกว่ามาก เพราะเราสามารถนำทฤษฏีจิตวิเคราะห์มาใช้กับการวิเคราะห์ตัวละครในเรื่องได้ ทำให้เราได้มุมมอง ข้อคิดที่ได้จากเรื่องมีมาก ตัวบทส่งมากในสาขานักแสดงนำฝ่ายชาย และก็น่าจะได้รางวัลติดมือมาบ้าง ถ้าถามความเห็นส่วนตัวก็คิดว่าเป็นหนังที่ดีและชอบมากเรื่องนึงของปีนี้

Up การ์ตูนแอนิเมชั่นของ pixar เรียกว่าครองตลาดด้านแอนิเมชั่นมาทุกปี และจะต้องมีเด่นๆ ปีละเรื่องนึงและปีนี้เขาเด่นมากกับเรื่อง Up ทั้งพล็อตเรื่อง ประเด็นเนื้อหาดีกว่าหนังที่ใช้คนแสดงบางเรื่องเสียอีก แต่ถึงกระนั้นยังไม่คิดว่าจะถึงขนาดเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเลย ถ้าได้ขึ้นมา หนังที่ใช้คนเล่นจะอายเขามั๊ยเนี่ย  ออสการ์น่าจะต้องแยกรางวัลด้านภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมออกไปจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาหลักได้แล้ว ไม่งั้นวันนึงการ์ตูนอาจจะต้องได้ เพราะคนมันห่วยนั่นเอง

ในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้นั้น รายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลออสการ์ประจำปี 2010 ยังไมได้ประกาศออกมา แต่ก็ขอเอาใจช่วยเรื่อง The Social Network กับ Inception ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคงต้องมาวิเคราะห์กันในโอกาสต่อไป แต่ดูจากกระแสและรายชื่อหนังที่เป็นตัวเต็งแล้ว ขอบอกได้เลยว่าโลกยุคนี้เป็นโลกของคนยุคใหม่จริงๆ เพราะคนรุ่นใหม่จะเป็นผู้สร้างโลกต่อไปในอนาคต พอกันทีกับคนรุ่นเก่าที่ได้สร้างสรรค์ จรรโลงโลกมามากพอแล้ว มันเป็นช่วงเวลาของคนยุคใหม่ที่จะชี้ชะตาและกำหนดโลกบ้างแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

ฮอลลีวู้ดสร้างหนังอะไร แบบไหน ให้เราดูบ้าง

ฮอลลีวู้ดสร้างหนังอะไร แบบไหน ให้เราดู




 


ถ้าย้อนเวลาไปซัก 10-20 ปีนั้น ภาพยนตร์ที่จัดว่ามีคุณภาพดีมักเป็นภาพยนตร์ดราม่า เนื้อหาเข้มข้น หรือไม่ก็เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ หรือลูกโลกทองคำ แต่พอมาซักช่วงประมาณ 4-5 ปีมานี้เอง ที่ผู้เขียนเริ่มรู้สึกว่าหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ หรือลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้น อาจจะไม่ใช่หนังดีในสายตาของเราอีกต่อไปแล้ว เพราะบางเรื่องค้านกับความรู้สึกของเราเป็นอย่างมาก และมีเรื่องอื่นที่เราคิดว่าดีกว่า เหมาะสมกว่า ควรจะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากกว่า แต่ก็ช่างเถอะ เป็นที่รู้กันมาตั้งนานแล้วว่า ออสการ์มักจะให้รางวัลกับหนังที่มีกระแสดีกว่าโดยไม่ได้คำนึงถึงว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออสการ์ในช่วง 3-4 ปีมานี้ อย่างเช่น Million Dollar Baby , The Departed  , Slumdog Millionnaire , Hurt Locker คุณภาพเทียบไม่ได้เลยกับหนังออสการ์ในอดีตยุค 80’s กับยุค 90’s หรือว่าคุณภาพของหนังฮอลลีวู้ดนั้นลดลง อะไรเป็นตัววัดว่าคุณภาพนั้นลดลง ผู้เขียนคิดว่าคงกล่าวเช่นนั้นยาก อาจจะเป็นด้วยรสนิยมของคนดูหนังเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัจจุบันจะหาชมภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้น ที่บทภาพยนตร์ดีๆ นั้น มีน้อยลงไปอีกทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ หรือสตูดิโอใหญ่ๆ ตั้งหน้าตั้งตาหันมาสร้างหนังที่จะเป็นทางของ Box Office เพื่อหวังโกยเงินกันมากกว่า เราจึงได้ดูหนังฮอลลีวู้ดในแบบฟาสต์ฟู้ดกันมากขึ้น คือสวยแต่รูปลักษณ์ภายนอก (หน้าหนังดี) แต่รสชาติห่วย และไม่อร่อยเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเราจึงขอรวบรวม สไตลของหนังฮอลลีวู้ดในยุคปัจจุบัน ที่เป็นตัวทำเงินให้กับสตูดิโอ และพยายามสร้างออกมามาก เพื่อหวังโกยรายได้มาให้ลองพิจารณากันว่า ฮอลลีวู้ดสร้างหนังอะไร แบบไหน ให้เราดูกันบ้าง

1.หนัง Action Superhero เทรนด์นี้จริงๆ ทำมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่ The Spiderman , Batman ,Ironman , X-men ,Superman , The Hulk , Watchmen , Kick-Ass ฯลฯ หนังแอ็คชั่นแนวซุปเปอร์ฮีโร่มักถ่ายทอดมาจากบทประพันธ์ที่เป็นการ์ตูนคอมมิคส์ของค่าย Marvel หรือเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่โด่งดังจากเกมส์ฮิตๆ แล้วจึงนำมาสร้าง หนังแนวนี้สร้างขึ้นมาทดแทนหนังแอ็คชั่นประเภทฮีโร่ที่เป็นคน หนุ่มกล้ามใหญ่ โชว์เดี่ยวต่อสู้กับวายร้าย หรือมาเป็นในรูปคู่หู ซึ่งพักหลังมานี้หาพระเอกแนวนี้ไม่ค่อยมี เพราะเริ่มแก่ อายุเริ่มมาก จึงทำให้หาพระเอกแนวนี้รุ่นใหม่แทบไม่มี ถ้าจะไล่มาก็ตั้งแต่ อาร์โนลด์ ชวาสเซเนกเกอร์ , ซิลเวสเตอร์ สตาร์โลน ,ฌองคล้อด แวน แดม , บรู้ซ วิลลิส , เคิร์ก รัสเซลล์ ,ทอม ครู้ซ ,สตีเว่น ซีกัล ,เจสัน สเตอแฮม , แมท เดม่อน , วิลล์ สมิธ ,แดเนียล เครก เพียซ บอสแนน ,วินซ์ ดีเซล ฯลฯ หนังในแนวนี้ได้แก่ ตระกูลเจมส์บอนด์ เจสันบอนน์  Die hard, Misson Impossible ,คนเหล็ก, Transpotter ,BadBoy เป็นต้น
2.หนังแนวโรแมนติค คอมเมดี้ มาพร้อมกับนักแสดงนำที่เป็นแม่เหล็ก ตัวแม่ฝ่ายหญิง อาทิ จูเลีย โรเบิร์ต จาก Pretty Woman, Notting Hill , Runaway Bride , เม็ก ไรอัน จาก Addicated to Love , Sleepless in Seattle You’re Got mail แซนดร้า บุลล็อค จาก Miss Conginality , The Proposal , The Blind side ,คาเมรอน ดิแอซ จาก There something about Mary รีซ วิเธอร์สปูน จาก Legally Blonde นักแสดงนำที่เป็นตัวพ่อฝ่ายชายฮิวจ์ แกรนท์ จาก Four Wedding and The Funeral , About a boy , Love Actually อีกคนคือ อดัม แซนด์เล่อร์ เจ้าพ่อหนังแนวนี้อีกคน จาก The Wedding Singer, Big Daddy ,40 first date , จอห์น ครูแซ็ก จาก High Fidelity , Serendiplity ริชาร์ด เกียร์ จาก Pretty Woman เป็นต้น จริงๆ ยังมีอีกหลายคน ที่มีผลงานเด่นจากหนังแนวนี้ และหนังในแนวนี้จะมีแฟนกลุ่มใหญ่เป็นผู้หญิง และยังคงเป็นแนวหลักที่ผู้หญิงให้การตอบรับอยู่เสมอ อย่างซีรี่ย์เรื่องดังที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อย่าง sex and the city ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หรือหนังที่สร้างจากวรรณกรรมหรือนวนิยาย อาทิ เช่น Bridget Jones Diary

หนังตลกโปกฮามุกต่ำกว่าสะดือก็จัดอยู่ในหนังแนวนี้ไปด้วย อาทิ There something about Mary, Dumb and Dumber , Dude ,where’re my car? , Roadtrip,American Pie Hang Over นอกจากนี้ในกลุ่มของหนังเพลงหรือ musical  ผมก็จัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย อาทิ The Sound of Music, FlashDance ,Grease,Dirty Dancing ,West Side Story, Evita , Moulin Rouge , Chicago , 8 Mile , The Phantom of the Opera , Step Up ฯลฯ



3.หนัง Epic ทุนสร้างมโหฬาร เกี่ยวกับมหากาพย์ สงคราม หรือประวัติศาสตร์ย้อนยุค อาทิ เช่น Titanic ,Gladiator , 300 , ,Clash of the Titans จัดอยู่ในกลุ่มนี้ หนังแนวนี้จะเน้นสเปเชียลเอ็ฟเฟ็กท์ค่อนข้างมาก เน้นการต่อสู้ ผจญภัยกับเหล่าร้าย หรือหนังประเภทสงคราม หนังผจญภัย ก็น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ถ้าเป็นหนังในอดีตก็อย่างเช่น Gone with the wind, Ben-Hur,Lawrence of Arabia, Platoon, The Last Emperor,The Shindler's list เป็นต้น



4.หนังอินดี้ทุนสร้างต่ำ แต่บทหนังหรือวิธีการนำเสนอ มาแนวแปลก อาทิ Fargo , The Blairwitch Project , Mulholland Drive ,The cell, Slumdog Millionnaire , Bruno Panorama Activity เป็นต้น หนังแนวนี้จะใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างเต็มที่ ทำให้เปิดมุมมองความคิด และการเล่าเรื่องที่แตกต่าง น่าสนใจ แก่ผู้ชมแบบคาดไม่ถึง

5.หนังภาคต่อ หรือหนัง remake กลับมาสร้างใหม่ อาทิ หนังบ็อกออฟฟิซยอดนิยมทั้งหลาย อาทิ แฮรี่ พอตเตอร์ ,ทรานฟอร์มเมอร์ , ทไวไลท์ ซาก้า , คนเหล็ก Terminator , สตาร์วอร์ส ,แบ็คทูเดอะฟิวเจอร์ , ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า Indiana Jones, Pirates of the Caribian ,Chronical of Narnia เป็นต้น หนังภาคต่อเป็นอะไรที่เฝือ และน่าเบื่อที่สุด ไม่มีอะไรใหม่ เพราะโครงสร้างของเรื่องยังเหมือนเดิม พล็อตเดิมๆ แต่ที่แตกต่างคือพัฒนาการของตัวละคร หรือมีตัวละครตัวใหม่ๆ เสริมเข้ามาเพื่อสร้างสีสรร ให้กับเรื่องเท่านั้นเอง บางครั้งหนังภาคต่อในบางตอนก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้เมื่อเทียบกับตอนแรก  จึงทำให้ผู้เขียนบล็อกเองไม่ค่อยนิยมกันหนังแนวภาคต่อซักเท่าไร พอหมดยุค Lord of the Ring แล้วก็แทบไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องใดเป็นพิเศษ หรือทำให้ตื่นเต้นอยากดูซักเท่าไหร่



6.หนัง Thriller ฆาตกรต่อเนื่อง, ผีดิบแวมไพร์,หมาป่า ,สืบสวนสอบสวน หรือแนวพวกสัตว์ดุร้าย  เช่น   I khow what you did last summer, Scream , The Texas Chainsaw Masecre , Saw , Predator , Aliens , Twilight , Resident Evil ,Underworld ,Friday13th , Holloween , Dawn of the dead หนังในตระกูลนี้ผู้เขียนชื่นชอบ Silence of the Lambs , Jaws , Jurassic Park  ,Dracula  และ Interview with the Vampire  เป็นต้น

7.หนังมหันตภัยทำลายโลก อาทิ ID4, Deep Impact, Amageddon, The day after tomorrow , 2012 จัดเป็นหนังสูตรสำเร็จที่เข้ากับยุคกระแสเป็นที่สุด เพราะโลกเผชิญกับภัยร้ายทางธรรมชาติ ซึ่งพล็อตแนวนี้สามารถหากินไปได้ตลอดจนกว่าจะสิ้นโลกนั่นแหละ อาทิ Volcano , Dante Peak ,Twister, Vertical Limit, Perfect Storm เป็นต้น



8. หนังขายพล็อต Innovation ใหม่ อาทิ Matrix ,Six Sense ,Pulp Fiction, Inception , Being John Malkovich, Eternal Sunshine Of The Spotless Mind, Magnolia,Fight Club เป็นต้น




9. หนัง animation ทั้งหลาย อาทิ Toy Story, Up , Wall-E ,How to train  your Dragon , Shrek , Kungfu Panda ในบรรดาหนังหลากหลายแนวที่ได้กล่าวมานี้ ผู้เขียนคิดว่าหนังที่สร้างความแปลกใหม่ ตื่นตาตื่นใจ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ให้กับผู้เขียนได้มากที่สุดก็คือหนังแนวนี้ และเมื่อเวลาใดผู้เขียนรู้สึกเครียด คิดอะไรไม่ออก ปวดหัว ก็มักชม ภ.แอนิเมชั่นนี่แหละเป็นการผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี และพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของเขา ทำให้เราเข้าไปโลดแล่นอยู่ในจินตนาการแบบที่ว่ามีความสุขไปอีกแบบ และความเครียดก็จะทุเลาลง ผู้อ่านอาจลองเอาไปใช้ดูบ้างก็ได้ ไม่รู้จะรู้สึกเหมือนผู้เขียนหรือไม่

10 หนังเทคโนโลยีใหม่ 3D จริงๆ หนังแนวนี้มีมานานแล้ว แต่ถูกนำมาปลุกกระแสใหม่ด้วย ภ.เรี่องยิ่งใหญ่อย่าง Avatar และด้วยเทคโนโลยีตัวใหม่ มุมมองภาพที่พิเศษอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ใน ค.ศ.นี้ มีหนัง 3 มิติ สร้างออกมาอย่างมากมายเพื่อให้ผู้ชมได้มีทางเลือกในการชมอย่างเต็มที่ และจะกลายเป็นหมัดเด็ดที่สตูดิโอใหญ่ๆ หันมาใช้ฟาดฟันกันในสงครามภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดต่อไป นับจากนี้อีกหลายปี และไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีการสร้างหนังเป็นระบบ 3 มิติกันหมดก็เป็นไปได้ หนังในแนวนี้ อาทิ Avatar, Piranya 3D ,Under Sea World ,Tron,  Step UP เป็นต้น

11.หนังแนวแฟนตาซีหรือครอบครัว (family) หนังแนวนี้เป็นหนังแนวถนัดของค่าย Walt Disney หรือ Buenavista Internantional ชอบทำมากๆ และก็มักทำเงินให้กับค่ายเป็นกอบเป็นกำ อาทิ เช่น Alice in wonderland ,Chronical of Narnia ,Christmast Carol  เป็นต้น


12.หนังแนววิทยาศาสตร์ หรือ sci-fi หนังแนวนี้คือเอกลักษณ์ของหนังฮอลลีวู้ด ที่มักไม่ค่อยมีในหนังชาติอื่นๆ เพราะมักสร้างจากฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ และความเป็นไปได้สูง นอกเหนือจากจินตนาการหรือโปรดักท์ดีไซน์ หนังแนวนี้ก็เช่น Blade Runner, Starwars ,Startrex ,
Apollo 13, Encounter of the Thirdkind ,Gattaga, 2001 A space Odyssey ,Mission to Mars เป็นต้น

ยุคหลังๆ มานี้ เราไม่ค่อยได้เห็นหนัง sci-fi ดีๆ มาให้ได้ชมกันอีกเลย อาจเป็นเพราะผู้สร้างสร้างน้อยลง กระแสตอบรับด้านรายได้ลดลง พล็อตเรื่องไม่มีความแปลกใหม่ หรือแม้แต่กระทั่งคนดูยุคนี้ไม่ค่อยตื่นเต้นกับหนังแนวนี้ซักเท่าไรแล้ว เพราะสิ่งที่ปรากฎอยู่ในหนังกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้แล้วในยุคนี้หรืออนาคต ทำให้ความสดใหม่เมื่อเทียบกับหนัง sci-fi ขึ้นหิ้งในอดีตเทียบกันไม่ได้ ทำให้ผู้สร้างต้องเจอโจทย์ที่หินและยากมากที่จะสร้างความแปลกใหม่ออกมาให้โดนใจผู้ชมในยุคนี้