วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

Editor's Talk ความในใจของผู้เขียนบล็อก

Editor's Talk ความในใจของผู้เขียนบล็อก

ในช่วงปี 2008-2009 (พ.ศ.2551-2552) ประเทศต่างๆ ในโลกล้วนเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจการเงินใหญ่ระดับโลกที่เรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วโลก ตลาดหุ้นตก ธนาคาร และสถาบันการเงิน รวมถึงวานิชธนกิจ และบรรษัทระดับโลกเผชิญกับภาวะหนี้สินมหาศาลถึงขั้นล้มละลาย บางแห่งต้องถูกปิดกิจการ บางแห่งต้องถูกรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงและครอบครองกิจการ ซึ่งเหตุการณ์คล้ายๆ วิกฤติต้มยำกุ้งของบ้านเรา เมื่อปี 2540 และเหตุการณ์นั้นได้ส่งผลกระเทือนมาถึงรอบปีที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปหลายประเทศกำลังได้รับผลจากชะตากรรมนั้น อันได้แก่ ประเทศที่เรียกว่ากลุ่ม PIGS หรือก็คือ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และกำลังจะโดมิโน่ไปถึงประเทศสเปน ยังไม่นับรวมไปถึงอังกฤษ อิตาลี ฮังการี และอีกหลายประเทศที่จะตามมา ในช่วงปี 2010 ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานมานี้ ก็เป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติอีกอย่างหนี่งก็คือวิกฤติภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ซึ่งภัยธรรมชาติที่ในโลกนี้พึงจะมี ก็มาปรากฏให้เห็นพร้อมกันในปีที่ผ่านมา อาทิ แผ่นดินไหวในไฮติ ชิลี จีน , น้ำท่วมในปากีสถาน จีน ออสเตรเลีย , หิมะถล่มในรัสเซีย อังกฤษ อเมริกา และแม้กระทั่งในประเทศตะวันออกกลางอย่างซีเรีย , ภูเขาไฟระเบิดที่อินโดนีเซีย , ไฟป่าที่รัสเซีย ธารน้ำแข็งละลายที่อลาสก้า กรีนแลนด์ และนิวซีแลนด์ , พายุดีเปรสชั่นถล่มประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไต้หวัน และอเมริกา , ภาวะอุณหภูมิร้อนเฉียบพลันที่มาเกิดที่ประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เยอรมัน เป็นต้น เรียกได้ว่ามาครบทั้ง 4 ธาตุเลย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นผลมาจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ผลกระทบของปรากฏการณ์ลานีญ่า เอลนิโญ่ และเมื่อไม่กี่วันมานี้มีปรากฎการณ์ประหลาด นกจำนวนมากตกมาตายหมู่ตามท้องถนนในประเทศสหรัฐ และสวีเดน ปลาลอยมาตายหมู่เกลื่อนทะเลในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นลางบอกเหตุอะไรบางอย่าง ที่นักวิเคราะห์ นักวิจัย ได้คอยสังเกตการณ์ความเป็นไปบนโลกใบนี้อย่างใกล้ชิด

ด้านประเทศไทยนั้นปีที่ผ่านมาเราเผชิญวิกฤติการณ์ใหญ่ถึง 2 อย่างด้วยกันคือ วิกฤติการณ์ทางการเมือง กรณีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงเมษายน ปี 2552 และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 และวิกฤติการณ์ด้านภัยธรรมชาติ ก็คือ น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังนับว่าเป็นโชคหรืออะไรก็มิทราบที่ประเทศไทยเราอยู่รอดมาได้ด้วยกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถือว่าโตมากถึง 7 % ก็คือดีที่สุดในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเผชิญกับ 2 วิกฤติภายในประเทศ และวิกฤติจากภายนอกประเทศรอบด้านก็ตาม

3 กลไกเสาหลักที่ค้ำยันบ้านเมืองเอาไว้ ก็คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น (คนละอย่างกับสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์) ในรอบปีที่ผ่านมาทำงานอยู่อย่างเดียวนั่นก็คือ เศรษฐกิจ ในขณะที่การเมือง และสังคม ง่อยเปลี้ยและเป็นอัมพาตมานานหลายปีแล้ว คำถามก็คือแล้วระบบเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักค้ำยันประเทศให้อยู่ได้นั้น จะอยู่ดีไปอีกนานแค่ไหน ในสภาพที่การเมืองและสังคมยังเป็นอยู่เช่นปัจจุบัน ซึ่งคำตอบก็คงบอกได้แค่ว่ายังน่าเป็นห่วงอยู่มาก ท่ามกลางปัจจัยภายนอกตัวใหม่ที่กำลังจะบังเกิดให้เห็นในปีนี้ ปี 2011 ก็คือ วิกฤติด้านอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ นอกเหนือไปจากปัจจัย 2 ตัวเดิม คือวิกฤติด้านเศรษฐกิจการเงินของโลก และวิกฤติภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ซึ่งก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นด้วย คำถามก็คือ พวกเราคนไทยได้เตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้แล้วหรือยัง และเตรียมตัวอย่างไร ภายใต้สังคมแตกแยก แตกความสามัคคี ที่ไม่เห็นวี่แววว่าจะปรองดองกันได้ การแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ในทุกวงการ คนไทยใช้เวลาหมดสิ้นเปลืองไปกับความบันเทิงไร้สาระ สถานบันเทิงเปิดกันเกร่อราวกับดอกเห็ด รายล้อมสถานปฏิบัติธรรม ยาเสพติด,เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์,ซีดีโป๊ มีจำหน่ายเกลื่อนเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอบายมุขที่ทำร้ายทำลายสมอง สติสัมปชัญญะ และมักตามมาด้วยอาชญากรรม ภัยทางสังคมที่น่าเวทนาจนเป็นข่าวหน้า 1 ในหนังสือพิมพ์ทุกวี่วัน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง การคอรัปชั่นกับสูงขึ้น และหนี้สาธารณะนับวันจะสูงขึ้น ค่านิยมคนไทยนิยมของนอก การตกเป็นทาสทางวัฒนธรรมต่างชาติ คำถามก็คือประเทศไทยสิ้นชาติไปแล้วหรือยัง ผมคิดว่าโดยส่วนตัวนะ ความเป็นชาติได้สูญสิ้นไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เพราะสังคมไทยไม่เข้มแข็ง หากเราจะฟื้นฟูความเป็นชาติให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม ต้องกลับมาพิจารณาทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะนั่นคือวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมและสอดคล้องกับสังคมไทยที่สุดแล้ว ใช้ได้ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และไม่ล้าสมัยแต่อย่างใดเลย แม้แต่ชาติตะวันตกยังนิยมยกย่องและหลายประเทศได้นำทฤษฎีนี้ไปปรับใช้กับประเทศของตนเองแล้ว แต่สังคมไทยกลับไม่ตื่นตัวหรือนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

ในรอบ 2-3 ปีมานี้ เราได้เห็นพิษภัยของระบบทุนนิยมโลก และโลกาภิวัฒน์ที่โหดร้ายและเลือดเย็นต่อมนุษยชาตินี้มาแล้วในหลายๆ กรณี ทางออกของคนไทยก็คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงและควรใช้ควบคู่ไปกับการทำตามหลักคิด หลักธรรมทางพุทธศาสนาก็ยิ่งส่งผลดีให้กับชีวิตให้อยู่รอดได้ในสังคมโลกาภิวัตน์ที่นับวันจะโหดร้ายและรุนแรงในทุกด้าน

บทความนี้คงจะซีเรียสกว่าบทความอื่นในบล็อก เพราะโลกทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้แล้ว คำถามสุดท้ายก็คือ ในชีวิตนี้เรารื่นรมย์กับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตต่างๆ ได้นานที่สุดซักเท่าไหร่ เรามักพบว่าความสุขมันอยู่กับเราไม่นานก็จางหายไป แต่ความทุกข์อยู่กับเรานานเหลือเกิน นี่แหละคือสัจธรรมของชีวิต ที่มนุษย์ทุกคนไม่มีทางปฏิเสธมันได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมีเพียงสติเท่านั้น ที่ต้องทำหน้าที่พิจารณา ตื่นรู้ รู้แจ้ง และจะไม่ตื่นตูมไปกับเหตุการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ช่างมันไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น