วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

เศรษฐศาสตร์ชาตินิยม Nationalism Economics (Attitude Review Series)

ตอนที่ 2 เงินในกระเป๋ากู หายไปไหน

ปูพื้นตัวละครหลักที่จะกล่าวถึงในตอนนี้และตอนถัดๆ ไป


สรวงสุดา อายุ 28 ปี อาชีพ A.E ดูแลผลิตภัณฑ์คอนซูเมอร์ บริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง
รายได้ 40,000 – 50,000 บาท/เดือน (รวมคอมมิชชั่นและผลประโยชน์อื่นๆ หมดแล้ว)
นิสัยส่วนตัว อัธยาศัยดี ร่าเริง ชอบเฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อนในแผนกและลูกค้า ชอบกินอาหารญี่ปุ่น เที่ยวผับอาทิตย์ละครั้ง เที่ยวต่างจังหวัดบ้างเป็นบางครั้ง
รายจ่ายประจำ ผ่อนบ้าน , ผ่อนรถยนต์ ,รายจ่ายบัตรเครดิต ,ค่าน้ำมันรถ ,ซื้อเสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัว(ชอบของแบรนด์เนมเป็นพิเศษโดยเฉพาะกระเป๋า และรองเท้า) ให้มารดาทุกเดือน , ค่าอาหาร , ค่าโทรศัพท์ BB ส่วนค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในบ้าน สามีเป็นคนจ่าย
เธอพบว่า เงินฝากส่วนตัวต่อเดือน 5,000 ถึง 8,000 บาท ไม่เพียงพอ เธอจึงนำไปลงทุนเพิ่ม ซื้อหุ้น สลากออมสิน หวยและสลากกินแบ่ง ทอง ฝากกองทุนรวม (LTF)


อนาคิน อายุ 30 ปี อาชีพ รัฐวิสาหกิจในแผนกช่างซ่อมบำรุง องค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง
รายได้จากงานประจำ 30,000-35,000 บาท (รวมเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลาและโบนัสเฉลี่ยแล้ว)
รายได้เสริมจากรับงานซ่อมอิสระ อีกเดือนละ 10,000 บาท
นิสัยส่วนตัว เงียบขรึม แต่มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยเฉพาะสตรี ชอบทานหมูกระทะ หมูจุ่ม ทานเหล้า เบียร์บุหรี่ เที่ยวอ่างอาบน้ำทุกอาทิตย์ หลังๆ ลดลงมาเป็นเดือนละครั้งหรือ 2 เดือนครั้งแล้วแต่โอกาสพาไป เป็นคนประหยัดด้านอาหารการกิน และไม่ค่อยได้แต่งตัวซื้อของมากนัก ให้ภรรยาจัดหาให้
รายจ่ายประจำ ผ่อนบ้าน , ผ่อนรถยนต์ ,รายจ่ายบัตรเครดิต ,ค่าน้ำมันรถ ,ค่ากินเที่ยว ค่าเหล้าเบียร์บุหรี่ ค่าอ๊อฟเด็ก , ค่าเล่าเรียนเด็ก (อุปการะเด็กผู้หญิง) ให้เงินทางบ้านทุกเดือน ,ค่าอาหาร ,ค่าโทรศัพท์ i-phone ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ภายในบ้าน
เขาพบว่า เงินฝากส่วนตัวต่อเดือน 5,000 บาท แทบไม่มีเก็บ บางครั้งชักหน้าไม่ถึงหลัง เนื่องจากต้องรับภาระครอบครัว และกำลังจะมีลูกกับภรรยา เขาจึงนำเงินเก็บส่วนหนึ่งไปซื้อหุ้นกู้ สลากออมสิน พันธบัตรรัฐบาล ซื้อหวยและสลากกินแบ่ง เล่นพนันบอลเป็นบางนัดตามโอกาส ฝากสหกรณ์รัฐวิสาหกิจ


อภิญญา อายุ 32 ปี อาชีพ ค้าขายของชำ อาหารตามสั่ง
รายได้โดยเฉลี่ย 50,000 บาทโดยเฉลี่ยต่อเดือน บางเดือนอาจจะไม่ถึง
ต้องมีภาระเลี้ยงดูบิดามารดา เลี้ยงน้องชายและน้องสาว
นิสัยส่วนตัว ใจดีมีน้ำใจ จริงจังกับชีวิต ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ขยันอดทน เป็นคนประหยัด มัธยัสต์ ไม่ค่อยใช้จ่ายอะไร กินง่าย ถ่ายง่าย มีโรคประจำตัวคือเป็นโรคกระเพาะ และโรคไมเกรน ภูมิแพ้
รายจ่ายประจำ ผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ส่งเสียค่าเล่าเรียนน้องชาย และน้องสาว ซึ่งเรียนในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยตามลำดับ ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อของเข้าร้านเพื่อใช้ประกอบกิจการลงทุนประจำวัน ฯลฯ
เธอพบว่า รายได้ที่ได้รับจากการค้าขายพอจะเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย ทั้งบิดา มารดา และน้องทั้ง 2 คน เพียงแต่หากจะสร้างความมั่นคงถาวรให้กับครอบครัวแล้ว เธอจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม เธอไม่มีความรู้ด้านการลงทุน จึงทำแต่เพียงฝากเงินในธนาคาร ซื้อทองเก็บบางส่วน ซื้อสลากออมสิน ไม่เล่นหวย ไม่เล่นหุ้น


ราชัน อายุ 25 ปี อาชีพ พนักงานฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่ง
รายได้ 15,000 บาทต่อเดือน
ไม่มีภาระทางบ้าน แต่ก็ส่งเงินให้มารดาเดือนละ 5,000 บาท
นิสัยส่วนตัว อัธยาศัยดี บุคลิกภาพดี สุภาพเรียบร้อย ขยันและกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา เป็นคนประหยัด มัธยัสต์ ไม่ค่อยใช้จ่ายมากนัก เป็นคนแข็งแรง ชอบออกกำลังกาย ใช้พาหนะมอเตอร์ไซด์เดินทาง
รายจ่ายประจำ ค่าอาหารการกินเล็กน้อย (ห่อข้าวไปทานที่ออฟฟิซ) ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวแทบไม่มี มีเพียงโทรศัพท์มือถือ BB ไม่มีบัตรเครดิต ไม่ทานเหล้า เบียร์ บุหรี่ และไม่เที่ยวกลางคืน มีเพียงค่าเทอม ค่าใช้จ่ายเรียนปริญญาโท และผ่อนซื้อ laptop หรือ I-PAD ,ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต
เขาพบว่า รายได้ที่เขาได้รับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในอนาคต เขาจึงพยายามหารายได้เสริมจากการขายประกัน หรือขายตรงผลิตภัณฑ์บางอย่าง แต่ก็ยังไม่ใช่ทางที่เขาชอบ เขาจึงตัดสินใจที่จะเรียนต่อปริญญาโท เพื่อจะหาโอกาสเปลี่ยนงานและสร้างรายได้เพิ่ม


ในสภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น อันสืบเนื่องมาจากพิษของเงินเฟ้อ หรือผลพวงจากการปรับขึ้นเงินเดือน ค่าแรงงานขั้นต่ำของรัฐบาล ทำให้สินค้าขึ้นราคา หรือเป็นผลจากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาของวัสดุต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานสูงขึ้น ไม่ว่าจากปัจจัยใดๆ ดังที่กล่าวมานี้ มีผลให้ค่าครองชีพในเมืองกรุงสูงขึ้น คนที่ทำงานกินเงินเดือนหรือมนุษย์เงินเดือนที่รายได้คงที่แทบไม่มีรายได้เสริมทางอื่น อาจเผชิญกับปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย ในรายของสรวงสุดานั้น เธอพบว่ารายจ่ายค่าบัตรเครดิตในเดือนนี้ของเธอสูงถึงหลักหมื่น อีกทั้งรายจ่ายด้านภาษีสังคมของเธอก็ขยับสูงขึ้น จากซองงานแต่งของเพื่อนฝูง คนรู้จัก หลายราย อีกทั้งเธอยังมีค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของคุณแม่ที่อยู่โรงพยาบาล ทำให้เธอเครียดมาก และเธอมักมีปากเสียงกับอนาคิน สามีของเธอ ซึ่งก็มีปัญหาด้านการเงินไม่แพ้กันอยู่บ่อยๆ เพราะรายจ่ายแอบแฝงของอนาคินที่สรวงสุดาไม่ล่วงรู้มีมากเกินครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของแฟนหนุ่ม แต่เธอรับรู้แต่เพียงว่าสามีของเธอมีรายได้เทียบเท่าหรือมากพอๆ กับเธอ การรับภาระค่าใช้จ่ายในบ้านจึงหารกันครึ่งๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอนาคินกลับอยู่ในสภาพอดอยาก อัตคัด แต่ก็ไม่สามารถปริปากได้ และนั่นก็เป็นปัญหาหมกเม็ดที่รอวันปะทุในภายภาคหน้า สภาพปัญหาของสรวงสุดาและอนาคิน คือสภาพปัญหาของคนกรุงที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ หรือมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ที่ประสบอยู่โดยทั่วไป แล้วแต่สภาพปัญหาของใครมากหรือน้อย สะสมมาอย่างไร และมีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือเข้าใจและยอมรับกับสภาพปัญหาของตนเองอย่างไร

ทางออกของสรวงสุดาและอนาคิน ก็คือหันหน้าปรับความเข้าใจกัน ยอมที่จะเปิดใจคุยกัน และต่างฝ่ายต่างต้องยอมถอยกันคนละก้าว คือต้องยอมเสียสละในส่วนของตนลง ลดอีโก้ ลดความต้องการของแต่ละฝ่ายลง ปัญหาจึงจะมีทางออก ซึ่งทางออกก็มีอยู่ 2 ทาง คือ 1 ลดค่าใช้จ่ายลง (วิธีนี้ทำได้ง่ายกว่าและแก้ที่พฤติกรรมได้ตรงจุดกว่า) 2 เพิ่มรายได้ให้มากขึ้น วิธีนี้มีเงื่อนไขข้อจำกัดมากมาย เช่น ต้องบริหารเวลาให้ลงตัว หมายถึงคุณจะมีเวลาให้กับครอบครัวลดลงหรือไม่มีเลย , พลังในการทำงานหรือไฟในการทำงานคุณมีมากพอที่จะผลักดันให้ตัวเองทำงานได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ และวิธีนี้ไม่รับประกันว่ารายจ่ายของคุณจะลดลงแถมอาจสร้างปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากด้วย และถ้ารายจ่ายเหล่านั้นกลายไปเป็นภาระหนี้สินขึ้นมาแล้วหล่ะก็ สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำก็คือพยายามลดภาระหนี้สินให้หมดไปก่อน โดยที่หนี้สินระยะสั้นมักมีภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่า หนี้สินระยะยาว

หนี้สินระยะสั้น ก็ได้แก่ บัตรเครดิต เงินกู้ฉุกเฉินประเภท personal loan บัตรผ่อนซื้อสินค้า เช่น aeon,firstchoice,ktc umiplus car4cash ฯลฯ
หนี้สินระยะยาว ก็ได้แก่ สินเชื่อซื้อบ้าน, สินเชื่อเช่าซื้อรถ

เงินในกระเป๋ากู หายไปไหน จริงๆ ไม่ได้หายไปไหน หากแต่ว่ากลไกในการจัดเก็บของเราไม่ดีเอง มันจึงรั่วไหลออกไปได้โดยง่าย หมดไปกับรายจ่าย จิปาถะ ที่เราไม่ได้ควบคุม ปล่อยให้เป็นไปตามกิเลส ความพอใจและอารมณ์พาไป ตามหลักของการบริโภคนิยมนั้น คนโดยส่วนใหญ่จะจ่ายเงินซื้อของโดยพิจารณาด้วยอารมณ์ มากกว่าเหตุผลเป็นอัตราส่วน ถึง 80 ต่อ 20 เลยทีเดียว ดังนั้น นักการตลาดจึงอาศัยข้อมูลนี้ ผลิตสินค้าที่ตอบสนองความพึงพอใจด้านอารมณ์ออกมามาก และอาศัยการตลาดสร้างสิ่งกระตุ้นและจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ และตามหลักของการบริหารเงินส่วนบุคคล กล่าวไว้ว่า ทุกครั้งที่คุณมีรายได้ออกมาเมื่อไร ให้หักเงินจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนเงินคงที่เป็นเงินออมก่อนเสมอ เช่น 10% ,20% ,30% ของเงินเดือนเป็นเงินออมก่อนเสมอ แล้วที่เหลือจึงนำไปบริหารเป็นค่าใช้จ่าย ถ้าทำได้ดังนี้ วินัยทางการเงินของคุณก็จะไม่เสีย และปัญหาทางด้านการเงินก็จะหมดไป



(ตอนที่ 3 จะกล่าวถึง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ค่าเงินในกระเป๋าเราลดลง และวิธีเพิ่มค่าเงินในกระเป๋าให้สูงขึ้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น