นับตั้งแต่นาทีที่อัยการฝรั่งเศส
แถลงข่าวสุดช็อก ทำให้ชาวโลกต้องตกตะลึง นายแอนเดรียส ลูบิตซ์
นักบินผู้ช่วยชาวเยอรมัน ของสายการบินเยอรมันวิงส์ มีความจงใจ หรือมีเจตนา
บังคับเครื่องบินโดยสาร เที่ยวบิน 4U 9525 พุ่งชนเทือกเขาแอลป์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จนเป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตหมดทั้งลำ
150 ศพ คำถามที่ดังกระหึ่มตามมา ก็คือ นายแอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินหนุ่มชาวเยอรมัน
คนนี้คือใคร ? และเพราะสาเหตุใด ที่ทำให้ ลูบิตซ์
นักบินหนุ่ม อายุเพียง 28 ปี จึงก่อโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญถึงขนาดนี้? ข้อมูลจากกล่องดำ
ที่พบในบริเวณเครื่องบินตก บ่งชี้ว่า ลูบิตซ์
ได้ฉวยโอกาสตอนกัปตันลุกเดินออกจากห้องนักบินไปทำธุระส่วนตัว รีบล็อกประตู
และไม่ยอมให้กัปตันเข้ามาในห้องได้อีก ในช่วงก่อนเครื่องบินตก
อีกทั้งข้อมูลจากเครื่องรับส่งเรดาร์ ยังแจ้งว่า มีคนในห้องนักบินตั้งระบบ ‘ออโตไพลอต’ หรือระบบขับเคลื่อนเครื่องบินโดยอัตโนมัติ
ด้วยการเปลี่ยนแปลงโปรแกรม ปรับระดับเพดานบินใหม่ จาก 38,000
ฟุต ให้เหลือเพียง 100 ฟุต! เรียกว่า
รายงานดังกล่าวสนับสนุนคำแถลงอัยการฝรั่งเศสให้มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก ว่า
นายลูบิตซ์ จงใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขาแอลป์ ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ พาดหัวข่าวนี้ ว่า ‘ตั้งโปรแกรมสังหาร’
เลยทีเดียว ทำไม หรือเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ ลูบิตซ์
ลงมือก่อหายนะร้ายแรงครั้งนี้ !! ทั้งที่เมื่อพลิกดูประวัติของเขาแล้ว อาชีพนักบิน
ถือเป็นอาชีพที่ลูบิตซ์ใฝ่ฝันอยากจะเป็น สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ลูบิตซ์
ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมเครื่องร่อน ‘LSC Waterwald e.V.’ ที่เมืองมอนตาบอร์
บ้านเกิด ทางตะวันตกของเยอรมนี มาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย วัยเพียง 14
ก่อนจะมุ่งมั่นเดินตามความฝันของตนเอง ด้วยการเป็น ‘นักบิน’
อาชีพ ขณะที่
ตามคำบอกเล่าของเพื่อนสนิทมิตรสหาย และเพื่อนบ้าน ของลูบิตซ์
ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นักบินผู้ช่วยหนุ่มคนนี้ เป็นคนเงียบๆ
แต่ก็มีความสนุกสาน และเขาก็มีความสุขจากการทำงานเป็นนักบินมาก โดยเพื่อนบ้านยังเล่าว่า
ลูบิตซ์ยังชอบวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นชีวิตจิตใจ และพวกเขามักเห็นลูบิตซ์
วิ่งจ๊อกกิ้งกันเป็นประจำ ส่วนด้านการเรียน
ลูบิตซ์จบระดับมัธยมปลายเมื่อปี 2550 และปีต่อมา
เขาก็เข้าเรียนฝึกหัดเป็นนักบินกับโรงเรียนสอนการบินของบริษัทลุฟต์ฮันซา
เพียงแต่จากคำแถลงของนายคาร์สเทน สปอห์ร ซีอีโอของบริษัทลุฟต์ฮันซา ซึ่งเป็น ‘บริษัทแม่’ ของสายการบินเยอรมันวิงส์ บอกว่า
ลูบิตซ์หยุดพักการเรียนหลายเดือน เมื่อ 6 ปีก่อน
แต่เขาก็กลับมาเข้าเรียนการบินอีกครั้ง และสามารถเรียนจนจบตามหลักสูตร ขณะที่นสพ.แทบบลอยด์
‘เยอรมนี’ รายงานอ้างคำบอกเล่าของเพื่อนนักบินว่า
นายลูบิตซ์ เคยเข้ารับการรักษาอาการของโรค Burn-Out Syndrome หรือความเครียดที่เกิดจากภาวะคาดหวังเกี่ยวกับตัวเองสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนไม่เพียงพอ
สมองไม่แล่น นอนไม่หลับ และทำให้ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงตามรายงานของเยอรมัน นิวส์
เว็บไซต์ สปีเกล ระบุว่า ลูบิตซ์ ได้เข้ามาทำงานกับสายการบินเยอรมันวิงส์
เมื่อเดือนก.ย. 2556 เริ่มจากการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
ต่อมาได้ทำหน้าที่คอยมอนิเตอร์ หรือติดตามดูอุปกรณ์ต่างๆ ตามด้วย
การติดต่อสื่อสารกับหอควบคุมการบิน กระทั่งได้เป็นนักบินผู้ช่วย
โดยจะคอยช่วยกัปตันขับเครื่องบินในช่วงที่กัปตันพัก หรือรู้สึกไม่สบาย บริษัทลุฟต์ฮันซ่า แจ้งว่า ลูบิตซ์
มีชั่วโมงบินรวม 630 ชั่วโมง ก่อนเที่ยวบิน 4U 9525
จะประสบเหตุตก ที่เชิงเทือกเขาแอลป์
หลังทะยานขึ้นจากสนามบินนานาชาติเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
เพื่อจะมุ่งหน้าไปยังเมืองดุสเซลดอร์ฟ ของเยอรมนี เมื่อ 24 มี.ค. ส่วน
เจ้าหน้าที่ทางการเมืองดุสเซลดอร์ฟ เปิดเผยว่า
ลูบิตซ์ได้เข้ารับการตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ ล่าสุด เมื่อวันที่ 27
ม.ค.ที่ผ่านมา และผลการตรวจเช็กร่างกายก็ปกติแข็งแรงดี โดยซีอีโอบริษัทลุฟต์ฮันซา
กล่าวว่า ลูบิตซ์แข็งแรงเต็ม 100 % ในการทำหน้าที่เป็นนักบินผู้ช่วยอย่างไรก็ดี
ตามความเห็นของนาย คลาวส์ รัดคี สมาชิกชมรมเครื่องร่อน
บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เขาเพิ่งเจอลูบิตซ์
เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ซึ่งลูบิตซ์
ก็ยังบอกเล่าเกี่ยวกับอาชีพนักบินของเขาด้วยความกระตือรือร้น โดยตามความเห็นของนายรัดคี
ยืนกรานไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของอัยการฝรั่งเศส ที่บอกว่า
ลูบิตซ์จงใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนเทือกเขาแอลป์!! ส่วน ปีเตอร์ รูซเคอร์
ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมเครื่องร่อนแห่งนี้มานาน ยืนยันเช่นกันว่า ลูบิตซ์
ยังดูมีความสุขมาก เมื่อเขาได้เจอครั้งล่าสุด “ผมไม่รู้จะพูดอะไร
ไม่รู้จะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แต่เท่าที่ผมรู้จัก แอนเดรียส
การที่มีคนบอกว่า เขาจงใจทำลายเครื่องบินนั้น เป็นเรื่องที่ผมนึกไม่ถึง” นายรูซเคอร์ กล่าว คงกล่าวได้ว่า
สำหรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชมรมเครื่องร่อน ที่รู้จักกับลูบิตซ์มานาน ไม่เชื่อว่า
นักบินผู้ช่วยหนุ่มผู้นี้ ตั้งใจทำให้เครื่องบินตก ตามที่นายไบรซ์ โรแบง
อัยการฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสอบสวนโศกนาฏกรรม 4U 9525
แถลง พร้อมกับชี้ว่า เบื้องต้น ไม่พบหลักฐานเบาะแสใดที่บ่งชี้ว่า ลูบิตซ์
เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย เพียงแต่นายโรแบง ก็ปฏิเสธที่จะพูดเกี่ยวกับ
ปูมหลังด้านการนับถือศาสนาของ ลูบิตซ์ขณะที่นายสปอห์ร
ซีอีโอของบริษัทลุฟต์ฮันซา ซึ่ง มีสีหน้าเศร้ามาหลายวัน กล่าวสั้นๆ ว่า เขา ‘พูดไม่ออก’ เมื่อได้ยินคำแถลงของอัยการฝรั่งเศส
และยังคงไม่สามารถเรียกหายนะครั้งนี้ ว่า เป็นการ ‘ก่อการร้าย’
หรือ เป็นการ ‘ฆ่าตัวตาย’ ของนักบินผู้ช่วยคนนี้ เพราะหากคนๆ เดียวคิดฆ่าตัวตายแล้วละก็
คงไม่ลากคนอื่นอีก 149 คนมาตายพร้อมเขาไปด้วยแน่ ภาพถ่ายของลูบิตซ์
ที่นั่งยิ้มอยู่ด้านหน้าสะพานโกลเดน เกต ในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ
ซึ่งเขานำมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถือเป็นรูปถ่ายภาพเดียวที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ
หลังเรื่องราวโศกนาฏกรรม เที่ยวบิน 4U 9525 พลิกกลับตาลปัตร อย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็น ‘งานหนัก’ ของทีมสอบสวนที่ต้องพยายามหาหลักฐานต่างๆ
มาพิสูจน์ยืนยันว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจ หรือสาเหตุที่ทำให้ลูบิตซ์
ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง พร้อมกับยังทำให้ผู้โดยสาร และลูกเรืออีก 149 คน
ต้องจากไปพร้อมกับเขาด้วยอย่างน่าสะเทือนใจเช่นนี้!!
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงริยาด
ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 26 มี.ค.
อ้างข้อมูลจากรายงานของสถานีโทรทัศน์อัล-อารบียา ว่ากองทัพซาอุดีอาระเบียหารือกับกลุ่มพันธมิตรอาหรับหลายประเทศ
เรื่องการระดมกำลังทหารสูงสุด 150,000 นาย และเครื่องบินรบอีก 100 ลำ
เพื่อปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในเยเมน ในการปราบปรามและขับไล่กลุ่มกบฏฮูซี
ซึ่งเป็นฝ่ายรุกรานรัฐบาลซานาที่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย
และพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่ชาวเยเมนด้วย รายงานของอัล-อารบียาระบุด้วยว่า อียิปต์
จอร์แดน ซูดาน ปากีสถาน โมร็อกโก จอร์แดน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์
และบาห์เรน แสดงความพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตร อย่างไรก็ตาม
รัฐบาลริยาดยังไม่ออกมายืนยันข่าวดังกล่าวอย่างเป็นทางการ
เว้นเรื่องการส่งเครื่องบินรบเข้าไปเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายหลายจุดในกรุงซานา
และฐานทัพสำคัญในเยเมนตั้งแต่คืนวันพุธ เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ศพ ขณะที่ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน
แสดงความสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในเยเมนที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ
พร้อมกับเผยด้วยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา
สั่งการโดยตรงให้กองทัพและหน่วยข่าวกรองมอบความช่วยเหลือให้แก่ซาอุดีอาระเบียอย่างเต็มที่ด้วย
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองสถานการณ์ความไม่สงบในเยเมนว่าคือ "สงครามตัวแทน"
ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย
เนื่องจากกลุ่มกบฏฮูซีที่ยึดครองกรุงซานาตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้วนั้นมีแนวคิดทางการเมืองฝักใฝ่ในอิหร่าน
ประเทศซึ่งมีสถานะเป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลริยาดและอีกหลายประเทศในโลกอาหรับ
ที่ให้การยอมรับประธานาธิบดีอาเบด รับโบห์ มานซูร์ ฮาดี ว่ายังมีสถานะเป็นผู้นำตามกฎหมายของเยเมน
แม้เจ้าตัวลาออกจากตำแหน่งตามแรงกดดันอย่างหนักจากกลุ่มฮูซีแล้วก็ตาม นอกจากนี้
ปฏิบัติการทางทหารของซาอุดีอาระเบียเป็นไปตามคำเตือนของรัฐบาลริยาดที่ออกมาเมื่อต้นสัปดาห์ว่า
จะใช้ "มาตรการเด็ดขาด" หากสถานการณ์ในเยเมนไม่มีแนวโน้มยุติด้วยสันติวิธี
เอเจนซีส์
- สิงคโปร์อาลัย ลี กวนยู บิดาผู้ก่อตั้งประเทศ ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ในตอนก่อนรุ่งสางของวันจันทร์
(23 มี.ค.)
ขณะที่ผู้นำทั่วโลกร่วมแสดงความเสียใจและสดุดีรัฐบุรุษที่ปลุกปั้นเกาะอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าโลก
และเป็นแบบอย่างการพัฒนาสำหรับอีกหลายประเทศ
ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์ติติงเขาที่ใช้การปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจและควบคุมความประพฤติของประชาชนราวกับเด็กที่ยังไม่โต “ไม่มีอีกแล้วบิดาผู้ก่อตั้งประเทศของเรา ท่านเป็นแรงบันดาลใจ
ทำให้เรากล้าหาญและนำเรามาสู่จุดนี้ สำหรับชาวสิงคโปร์และผู้คนอีกมากมาย ลี
กวนยูคือสิงคโปร์” นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง
ผู้เป็นบุตรชายคนโตของลี แถลงทางทีวี จากโรงพยาบาลสิงคโปร์ เจเนอรัล ที่ลี วัย 91
ปี พักรักษาตัวมานานหลายสัปดาห์จากโรคปอดบวมและอาการติดเชื้อ
ทั้งนี้ตามคำแถลงของรัฐบาล เขาสิ้นชีวิตในเวลา 03.18 น.
ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 02.18 น.เวลาเมืองไทย) รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศไว้อาลัยลี ผู้เปลี่ยนเกาะเล็กๆ
ที่ขาดแคลนทรัพยากรให้กลายเป็นเพลเยอร์ระดับโลกทั้งในด้านการเงิน การค้า ชิปปิ้ง
และอุตสาหกรรมไฮเทค รวมเป็นเวลา 7 วันจนกระทั่งถึงวันอาทิตย์
(29) ขณะที่ผู้นำต่างประเทศอย่างประธานาธิบดีบารัค
โอบามา กล่าวยกย่องลีที่ปกครองสิงคโปร์นานสามทศวรรษว่า เป็น “ผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงในประวัติศาสตร์” นายกรัฐมนตรีเดวิด
คาเมรอนของอังกฤษ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อของลี กวนยู
ในฐานะผู้นำและหนึ่งในรัฐบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคสมัยใหม่ และว่า
ผู้นำหลายคนของอังกฤษ รวมถึงตนเอง ล้วนได้รับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งจากลี การผสมผสานระหว่างการปฏิรูปเศรษฐกิจและลัทธิอำนาจนิยมของลี
ยังเป็นที่สนใจอย่างยิ่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนระหว่างช่วงการเปิดประเทศในทศวรรษ
1980 ประธานาธิบดีสี
จิ้นผิงยกย่องลีว่าเป็น “สหายเก่าของชาวจีน” และว่า
ลีเป็นที่เคารพอย่างกว้างขวางของนานาชาติในฐานะนักยุทธศาสตร์และรัฐบุรุษ หลังจากข่าวอสัญกรรมของลีเผยแพร่ออกไป
ชาวสิงคโปร์มากมายพากันนำดอกไม้และการ์ดไปวางที่อิสตานาหรือทำเนียบประธานาธิบดี
และลงนามในสมุดไว้อาลัย
พนักงานออฟฟิศหลายร้อยคนเข้าคิวซื้อหนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทมส์ฉบับรำลึกอดีตผู้นำระหว่างช่วงพักกลางวัน ที่ตลาดหลักทรัพย์ ข้อความ “รำลึกถึงลี กวนยู 16 กันยายน 1923 ถึง 23 มีนาคม 2015" ถูกแทนที่สตรีมข่าวสารและราคาหุ้นบนหน้าจอขนาดใหญ่ ชาวสิงคโปร์บางคนตะโกนชื่อลี
ขณะที่มีการเคลื่อนร่างนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ผู้นี้จากโรงพยาบาล
เพื่อนำไปทำพิธีภายในครอบครัวเป็นเวลา 2 วัน
ก่อนเคลื่อนย้ายสู่อาคารรัฐสภาเพื่อเปิดให้ประชาชนเคารพศพระหว่างวันที่ 25-28
โดยที่จะมีการจัดพิธีศพแบบรัฐพิธีในวันอาทิตย์นี้ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
ซึ่งคาดว่า จะมีผู้นำหลายสิบคนจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมพิธี ลี ที่สุขภาพแย่ลงนับจากกวา
ก๊อก ชู ภรรยาที่ร่วมชีวิตกันมา 63 ปี เสียชีวิตในปี 2010
เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมาเกือบ 7 สัปดาห์ด้วยอาการปอดอักเสบขั้นรุนแรง เขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับจากปี
1959 เมื่ออังกฤษ เจ้าอาณานิคม มอบอำนาจในการปกครองตนเองให้
และนำสิงคโปร์ประกาศเอกราชในปี 1965 หลังจากผนึกรวมอย่างขมขื่นกับมาเลเซียเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ลีลงจากตำแหน่งในปี 1990 และส่งไม้ต่อให้รองนายกรัฐมนตรีโก๊ะ จก ตง ขึ้นบริหารประเทศแทนจนถึงปี 2004
จากนั้น โก๊ะจึงส่งมอบตำแหน่งผู้นำประเทศกลับไปให้ลี เซียน ลุง
บุตรชายคนโตของลี อย่างไรก็ดี ลี กวนยู ยังคงมีอิทธิพลในการเมืองสิงคโปร์เรื่อยมา
โดยอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และรัฐมนตรีที่ปรึกษา
รวมทั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม พรรคพีเพิลส์ แอ็กชัน ปาร์ตี้
(พีเอพี) ที่ลีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมก่อตั้งนั้น
ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 1959 และเวลานี้ครองที่นั่งในสภา
80 จาก 87 ที่นั่ง ลีอำลาบทบาทรัฐมนตรีที่ปรึกษาในปี 2011 หลังจากพีเอพีเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งครั้งรุนแรงที่สุด
โดยได้คะแนนเสียงเพียง 60% เนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้าประเทศ
ค่าครองชีพพุ่งสูง ความแออัดในตัวเมือง และบ้านพักการเคหะไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สิงคโปร์ยังคงได้ชื่อว่า
เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงสุดในโลก สถิติอาชญากรรมต่ำ
โครงสร้างพื้นฐานพรั่งพร้อมในระดับโลก
ในด้านการทูต ผู้นำทั่วโลก โดยเฉพาะจีน
รวมถึงเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนติดต่อขอคำปรึกษาจากลีบ่อยครั้ง แม้ตลอดช่วงอายุขัย
ลีได้รับการยกย่องจากนโยบายที่เป็นมิตรต่อตลาด แต่ขณะเดียวกัน
แนวทางการเมืองแบบกำปั้นเหล็กของเขา ที่ครอบคลุมถึงการคุมขังศัตรูทางการเมือง
การกดดันให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตนต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างแดน
หรือล่มจมจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง
ก็ถูกวิจารณ์โดยนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศมาโดยตลอด กระนั้น ลี
ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ยืนยันแนวทางในการดำเนินกากับผู้คัดค้านอย่างเข้มงวดของตน โดยบอกว่า
ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ สิงคโปร์นั้นควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมอย่างเคร่งครัด
แม้จะผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีการลงโทษด้วยการเฆี่ยน
และมีการควบคุมสื่อเข้มงวด กระทั่งติดอันดับที่ 150 ในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปีของกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน
ต่ำกว่าอันดับของรัสเซียและซิมบับเว ด้วยซ้ำ ในบรรดามาตรการเข้มงวดของสิงคโปร์นั้นมีอาทิ
การห้ามผู้ชายไว้ผมยาวในทศวรรษ 1970 กระทั่งวงบีจีส์ และ เลด
เซพพลิน ต้องยกเลิกการเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตในสิงคโปร์
ขณะที่การห้ามจำหน่ายหมากฝรั่งที่ยังคงบังคับใช้จนถึงวันนี้
และยังมีการลงโทษพวกพ่นสีตามผนังด้วยการเฆี่ยน ฟิล โรเบิร์ตสัน
รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ประจำเอเชีย
ยอมรับในมรดกทางเศรษฐกิจที่ลีทิ้งไว้ให้สิงคโปร์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า
มรดกดังกล่าวต้องแลกด้วยต้นทุนสูงมากด้านสิทธิมนุษยชน และสำทับว่า
นี่อาจถึงเวลาแล้วสำหรับ “การเสวนา” ภายในประเทศเพื่อการเปิดเสรีทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
กระนั้น ในหนังสือเล่มสุดท้าย “วัน แมนส์ วิว ออฟ เดอะ
เวิลด์” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ลีมองย้อนเส้นทางการเมืองของตนเองและสรุปว่า
"สำหรับผม ผมได้ทำสิ่งที่ต้องการด้วยความสามารถทั้งหมดที่มี และผมพอใจแล้ว”
รอยเตอร์ - ฮาบิบ เอสซิด นายกรัฐมนตรีของตูนิเซีย สั่งปลดตำรวจระดับผู้บัญชาการ 6 นายรวดในวันจันทร์(23มี.ค.) ในนั้นรวมถึงหัวหน้ากองกำลังรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ตามหลังเหตุนักรบโจมตีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฆ่าชาวต่างชาติ 20 ศพเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่าในตำรวจ 6 นายดังกล่าว ยังรวมไปยังหัวหน้ากองพันข่าวกรอง ผู้บัญชาการตำรวจเขตตูนิส ผู้บัญชาการตำรวจจราจร หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของพิพธิภัณฑ์บาร์โด และผู้บัญชาการตำรวจเขตซิดี บาชีร์ ในเมืองหลวง "นายกรัฐมนตรีฮาบิน เอสซิด ลงพื้นที่พิพิธภัณฑ์บาร์โดเมื่อวานนี้ และหมายเอาไว้ว่า มีความล้มเหลวด้านความปลอดภัยหลายอย่างที่นั่น" พวกนักรบลงมือสังหารหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 คน ไม่ว่าจะเป็นชาวญี่ปุ่น โปแลนด์ อิตาลีและสเปนเมื่อวันพุธที่แล้ว(18มี.ค.) ขณะที่พวกเขาเพิ่งลงจากรถบัส เพื่อเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบาร์โด ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตอาคารรัฐสภาที่มีการรักษาการณ์อย่างแน่นหนา เหตุการณ์นี้ถือเป็นการโจมตีชาวต่างชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษของตูนิเซีย และมันถือเป็นการทดสอบประชาธิปไตยวัยหนุ่มของชาติแอฟริกาเหนือแห่งนี้ 4 ปีหลังจากเหตุลุกฮือโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการนายซีเน เอล อาบีดิน เบน อาลี และเปิดทางให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่ามีตำรวจนายหนึ่งซึ่งประจำการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ถูกควบคุมตัวฐานละเลยหน้าที่ระหว่างเหตุโจมตี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยืนยันถึงการจับกุมดังกล่าว เหล่าแขกผู้ทรงเกียรติจากต่างชาติได้รับเชิญให้ไปยังกรุงตูนิสในวันอาทิตย์นี้ เข้าร่วมเดินขบวนต่อต้านก่อการร้ายในแบบกับเมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเชิญพวกผู้นำโลกไปยังกรุงปารีส หลังจากเกิดเหตุพวกอิสลามิสต์โจมตีนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มือปืน 2 คนถูกวิสามัญฆาตกรรม ณ จุดเกิดเหตุและเจ้าหน้าที่เผยว่าพวกเขากำลังตามหาผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 โดยจนถึงตอนนี้ได้ควบคุมตัวประชาชนไว้มากกว่า 20 ราย ซึ่ง 10 ในนั้น เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุโจมตี ขณะที่บางส่วนเพิ่งเดินทางกลับจากไปสู้รบเคียงข้างกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ในซีเรีย อิรักและลิเบีย นักรบรัฐอิสลาม(ไอเอส) ที่กำลังสู้รบในอิรักและซีเรีย ออกมาอ้างว่าผู้สนับสนุนของพวกเขาเป็นผู้ปฏิบัติการโจมตี แม้ว่ากลุ่ม Okba Ibn Nafaa เครือข่ายท้องถิ่นของอัลกออิดะห์ ได้ออกมาเผยแพร่รายละเอียดและแสดงความเห็นต่อเหตุจู่โจมครั้งนี้เช่นกัน เหตุโจมตีต่อเป้าหมายที่มีชื่อเสียงครั้งนี้ ได้ก่อความเสียหายแก่ประเทศเล็กๆในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ที่ต้องพึ่งพึงการท่องเที่ยวจากยุโรปเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมา ตูนิเซีย รอดพ้นจากเหตุความรุนแรงเลวร้ายจากฝีมือของพวกนักรบมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือของประชาชนโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบิดีน เบน อาลี เมื่อปี 2011 การลุกฮือของตูนิเซียได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ในเหล่าชาติเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลิเบีย อียิปต์ ซีเรียและเยเมน แต่ด้วยที่พวกเขารับเอารัฐธรรมนูญใหม่และจัดการเลือกตั้งอย่างสันติที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง สถานการณ์ในประเทศจึงมั่นคงต่างจากประเทศอื่นๆที่ดำดิ่งสู่ความยุ่งเหยิง อย่างไรก็ตามหลังจากอดีตประธานาธิบดีซีเน เอล อาบิดีน ถูกโค่นอำนาจ พวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงหลายกลุ่มได้ปรากฎตัวขึ้น และนับตั้งแต่นั้นกองกำลังความมั่นคงก็ต้องตกอยู่ท่ามกลางการสุ้รบที่สาหัสมากขึ้นเรื่อยๆกับกลุ่มนักรบ ที่บางส่วนกลับจากไปฝึกฝนหรือทำศึกสงครามในต่างแดน เจ้าหน้าที่บอกว่ามือปืน 2 คนของเหตุโจมตีพิพิธภัณฑ์บาร์โด ผ่านการฝึกที่ค่ายกลุ่มหัวรุนแรงในลิเบีย โดยพวกเขาเดินทางออกจากตูนิเซียเข้าไปลิเบียอย่างผิดกฎหมายในเดือนธันวาคมที่แล้วและไปฝึกการใช้อาวุธที่นั่น พร้อมยอมรับว่ามีชาวตูนิเซียกว่า 3,000คนเข้าไปในอิรัก ซีเรียและลิเบีย เพื่อต่อสู้ร่วมกับนักรบญิฮัด ซึ่งก่อความหวาดผวาว่าพวกหัวรุนแรงเหล่านี้จะเดินทางกลับมาพร้อมกับแผนก่อการร้ายในประเทศ
รอยเตอร์ – รัสเซียขู่ที่จะใช้มิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์จัดการเรือรบเดนมาร์ก
หากรัฐบาลเดนมาร์กตัดสินใจเข้าร่วมระบบการป้องกันมิสไซล์ขององค์การนาโต
ซึ่งทางเดนมาร์กวิจารณ์ว่า การข่มขู่ครั้งนี้รับไม่ได้ ในขณะที่นาโตกล่าวว่า
การแถลงของรัสเซียนั้นไม่ได้ทำให้มีสันติภาพเกิดขึ้น เดนมาร์กได้เคยประกาศในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า
จะติดตั้งระบบเรดาร์บนเรือรบของตนเพื่อศักยภาพของระบบป้องกันมิสไซล์
ซึ่งพันธมิตรชาติตะวันตกกล่าวว่า
เป็นระบบที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสมาชิกจากประเทศอริ เช่น อิหร่าน แต่อย่างไรก็ตาม
เป็นที่รับรู้ว่า มอสโกได้ต่อต้านแนวความคิดนี้ โดยอ้างว่า
ระบบป้องกันมิสไซล์ของโลกตะวันตกจะทำให้ศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียลดลง
และนำไปสู่ยุคสงครามเย็นครั้งใหม่ที่ทำให้เกิดการแข่งขันสะสมอาวุธมากขึ้น ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์
Jyllands-Posten เอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์ก มิคาอิล
วานิน ( Mikhail Vanin) กล่าวว่า
ดูเหมือนเดนมาร์กจะยังไม่เข้าใจถึงผลที่จะตามมาหากเข้าร่วมระบบการป้องกันมิสไซล์ของนาโต
“ซึ่งหากเหตุการณ์นั้นเกิดชึ้นจริง
เรือรบทุกลำของเดนมาร์กจะเป็นเป้าของอาวุธมิสไซล์ติดหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซียทันที”วานินให้ความเห็น ด้าน Oana Lungescu โฆษกหญิงนาโตกล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า
เดนมาร์กถือเป็นชาติพันธมิตรสมาชิกที่ทุ่มเท
และนาโตจะปกป้องพันธมิตรจากภัยคุกคามทุกประเภท “ทางเราได้ประกาศแน่ชัดก่อนหน้านี้แล้วว่า
ระบบป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศไม่ได้มีเป้าหมายที่รัสเซีย หรือ ประเทศใด
แต่มีไว้เพื่อป้องกันภัยจากขีปนาวุธ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้น นานแล้ว
แต่ทว่าเราแปลกใจในระยะเวลาที่ประจวบเหมาะ ท่าที ตลอดจนโทนเสียง
ของแถลงการณ์ของเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์ก
ซึ่งแถลงการณ์เช่นนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นใจ
หรือนำไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดสันติภาพ หรือความมั่นคง” โฆษกนาโตแถลง
ทั้งนี้ยังไม่มีมิสไซล์ติดตั้งในดินแดนเดนมาร์กภายใต้โครงการของนาโต
แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการติดตั้งบนเกาะกรีนแลนด์
ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก หนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten รายงานเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์กให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เดนมาร์กจะเป็นหนึ่งในปรปักษ์ของรัสเซีย และจะส่งผลทำให้ไม่มีความสงบสุข
และจะส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติ” และยังเสริมว่า
รัสเซียยังมีขีปนาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างระบบป้องกันภัยทางอากาศในอนาคตขององค์การนาโต
ในขณะที่มาร์ติน ลินเดอร์การด (Martin Lidegaard) รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์กชี้ว่า
การให้สัมภาษณ์ของวานิน นั้นรับไม่ได้ “ รัสซียทราบเป็นอย่างดีว่าระบบป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศของนาโตนั้นไม่ได้มีเป้าเล็งไปที่รัสเซีย”ลินเดอร์การดให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Jyllands-Posten ด้านพลเรือเอกฟิลิป บรีดเลิฟ ( Philip
Breedlove) ผู้บัญชาการระดับสูงของนาโต และกองกำลังสหรัฐฯประจำนาโต
กล่าวในที่ประชุมบรัสเซลส์เมื่อวานนี้(22) ว่า
การให้สัมภาษณ์ของเอกอัคราชทูตรัสเซียประจำเดนมาร์กนั้น
ถือเป็นก้าวต่อไปในการต่อต้านประเทศใดก็ตามที่จะเข้าร่วมโครงการป้องกันภัยขีปนาวุธทางอากาศนาโต
รอยเตอร์ – สหรัฐฯ
เสนอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาที่จีนริเริ่มหันมาร่วมมือกับสถาบันการเงินของตะวันตก
เช่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ดีกว่าจะมุ่งเป็น “คู่แข่ง”
กัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิล รายงานเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) สหรัฐฯ ซึ่งหวั่นวิตกกับการขยายอิทธิพลทางการทูตของจีน
เคยออกมาเตือนให้ทุกประเทศ “คิดให้รอบคอบ” ก่อนจะร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian
Infrastructure Investment Bank – AIIB) ซึ่งเชื่อว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับเวิลด์แบงก์
และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ต่อไปในอนาคต แต่ถึงสหรัฐฯ
จะพยายามปลุกความเคลือบแคลงสงสัยแค่ไหน
อังกฤษก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าร่วมกับเอไอไอบีแล้วเมื่อต้นเดือนนี้
ส่วนฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ก็ตบเท้าตามไปติดๆ โหลว
จี้เหว่ย รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจีน แถลงเมื่อวานนี้ (22)ว่า
เอไอไอบีซึ่งมีทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มี 27
ประเทศแสดงความจำนงร่วมเป็นสมาชิกแล้ว
และจะสามารถปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ
ในประเทศกำลังพัฒนาได้ภายในสิ้นปีนี้ จากรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์เนิล นาธาน ชีทส์
ปลัดกระกระทรวงการคลังสหรัฐฯฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ระบุว่า “สหรัฐฯ ยินดีต้อนรับสถาบันการเงินพหุภาคีแห่งใหม่
ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างระบบการเงินโลก” อย่างไรก็ดี ชีทส์ ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีทว่า
จะเป็นการดียิ่งกว่าหากเอไอไอบีลงทุนปล่อยกู้ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น
เวิลด์แบงก์ หรือเอดีบี เพราะจะทำให้ธนาคารแห่งใหม่มีบทบาท “เติมเต็ม”
มากกว่าจะมาแข่งขันกับสถาบันการเงินที่มีอยู่ก่อน ทั้งนี้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานชิ้นนี้ ด้าน จิม ยัง คิม
ประธานเวิลด์แบงก์ เผยวานนี้ (22)ว่า
ขณะนี้เวิลด์แบงก์กำลังหารือร่วมกับเอไอไอบี “ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดได้อย่างไรบ้าง...
เราปรารถนาที่จะแบ่งปันความรู้ และร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ทั่วเอเชีย” ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในเอเชีย-แปซิฟิก
ยังคงสงวนท่าทีไม่สมัครเข้าร่วมเอไอไอบีในขณะนี้ ผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ไอเอ็มเอฟ) และเอดีบี ได้แถลงต่อเวทีเสวนาด้านนโยบายการเงินที่กรุงปักกิ่งวานนี้
(22)ว่า พวกเขากำลังหารือ
และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับเอไอไอบีต่อไปในอนาคต ธนาคารเอไอไอบีเปิดตัวขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้งในด้านการขนส่ง พลังงาน
โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานอื่น
เอเจนซีส์-กลุ่มกบฏ “คอบร้า” ในซูดานใต้ปล่อยตัว “ทหารเด็ก” 250 คน ซึ่งรวมถึงเด็กหญิงที่มีอายุเพียง 9 ปีเป็นอิสระและมีแผนปล่อยตัวนักรบรุ่นเยาว์ของตนเพิ่มเติมอีก 400 คนใน 48 ชั่วโมงข้างหน้าตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาล ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของ “องค์การยูนิเซฟ” ในวันอาทิตย์ (22 มี.ค.)อย่างไรก็ดี ปัญหาการบังคับหรือจับเด็กมาเป็นทหารยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าจบสิ้นในซูดานใต้ เนื่องจากคาดว่ามีทหารเด็กกว่า 12,000 คนยังคงทำการสู้รบอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศนี้ ที่ต้องตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2013 หลังจากที่ประธานาธิบดีซัลวา คิอีร์กล่าวหาและสั่งปลดรองประธานาธิบดีรีค มาชาร์ ด้วยข้อหาพยายามก่อรัฐประหาร ส่งผลให้ผู้สนับสนุนของทั้งสองจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน ทั้งนี้ สงครามกลางเมืองซูดานใต้ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับหมื่นราย ขณะที่ประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนต้องอพยพหนีตายออกจากบ้านเรือนของตน และอีกกว่า 4 ล้านคนต้องเผชิญภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารขั้นเลวร้าย ที่ผ่านมา แม้ซูดานใต้จะมีการบังคับใช้กฎหมายเมื่อปี 2008 ว่าด้วยการห้ามใช้ทหารที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในการสู้รบ แต่องค์การยูนิเซฟ ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิเด็กหลายแห่งต่างกล่าวหาทั้งรัฐบาลและฝ่ายกบฏในซูดานใต้ ถึงการบังคับเด็กให้ทำการสู้รบในสงครามกลางเมืองทั้งสิ้น
เอเอฟพี - กบฏฮูตีและพรรคพวก
ได้บุกยึดสนามบินที่เมืองทาเอสในวันอาทิตย์ (22 มี.ค.)
จากฝ่ายกองกำลังท้องถิ่นที่ถักดีต่อผู้นำเยเมน ทาเอส
เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของเยเมน
อยู่ระหว่างกรุงซานาซึ่งถูกพวกกบฏฮูตีบุกยึดไปเมื่อเดือนกันยายน กับเมืองเอเดนทางตอนใต้
ที่ประธานาธิบดีอับดี รับบูห์ มานซูร์ ฮาดี หนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ การเข้ายึดเมืองทาเอส
ทำให้ฝ่ายกบฏฮูตีและกองกำลังที่ภักดีต่ออดีตประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์
สามารถกระชับพื้นที่บีบรัดเข้ามาใกล้ฮาดีได้มากขึ้น แหล่งข่าวระบุว่า
นักรบของกบฏฮูตีที่สวมเครื่องแบบกองทัพ กับพวกกองกำลังพิเศษ รวมกันประมาณ 300
นาย ได้ถูกส่งมายังสนามบินดังกล่าว
ขณะที่กำลังหนุนทั้งทางบกและทางอากาศจากกรุงซานาก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง กองกำลังพิเศษที่เป็นพวกเดียวกับกบฏฮูตี
ก่อนหน้านี้พวกเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อกองกำลังความมั่นคงกลาง
ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับอดีตผู้นำซาเลห์
ผู้ถูกโค่นลงจากอำนาจในปี 2012 "ทหารพวกนี้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีซาเลห์"
แหล่งข่าวทางทหารบอกกับเอเอฟพี แหล่งข่าวบอกอีกว่า
กบฏฮูตียังได้ส่งคนออกตรวจการณ์ในละแวกใกล้เคียงกับเมือง
พร้อมทั้งขยายพื้นที่ลงมาทางใต้ โดยมีการตั้งจุดตรวจไว้ในราเฮดา
ห่างจากเมืองทาเอสลงมาทางใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร
บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปเมืองเอเดน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทหารที่ภักดีต่อประธานาธิบดีฮาดี
กับกองกำลังกึ่งทหารทางตอนใต้ของประเทศ ได้ถูกจัดส่งไปยังเขตพื้นที่ลาห์จ
ซึ่งอยู่ทางเหนือของเอเดน ไปคอยระวังภัยเผื่อในกรณีที่พวกกบฏฮูตีบุกมา ฮาดีได้พยายามที่จะสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเอเดน
เมืองที่เขาประกาศให้เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของประเทศเยเมน
หลังจากที่เขาได้ยกเลิกการลาออกจากตำแหน่งที่ต้องทำไปเพราะถูกพวกกบฏฮูตีบีบบังคับ เมื่อวันพฤหัสบดี กองกำลังฝ่ายฮาดี
ได้บุกฐานในเมืองเอเดนของพวกกองกำลังพิเศษ
หลังจากผู้บังคับการประจำฐานนั้นปฏิเสธที่จะยอมรับคำสั่งของฮาดี
ที่จะปลดเขาออกจากตำแหน่ง ก่อนหน้านี้
มีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้งที่มุ่งเป้าไปยังมัสยิดของฝ่ายกบฏฮูตีในกรุงซานา
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 142 ราย บาดเจ็บ 351 ราย การโจมตีดังกล่าวถูกอ้างว่าเป็นฝีมือของพวกนักรบญฮัดกลุ่มรัฐอิสลาม
(ไอเอส)
เอเจนซีส์-สหประชาชาติออกโรงเตือนผ่านรายงานฉบับล่าสุดซึ่งมีการเผยแพร่ที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย
โดยระบุ พื้นที่กว่าร้อยละ 40 ของโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำภายในปี
2030 หรือ 15 ปีข้างหน้า
หากผู้คนในประเทศต่างๆยังไม่รู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างสำคัญ รายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นระบุว่า
ขณะนี้ปริมาณของแหล่งน้ำใต้ดินทั่วโลกได้ลดต่ำลงและเหลือน้อย
ขณะที่หลายพื้นที่ของโลกต่างประสบปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรงทั้งในแง่ของการใช้น้ำเพื่อการเกษตร
อุตสาหกรรม และการใช้น้ำในชีวิตประจำวันตามบ้านเรือน รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า
ความต้องการใช้น้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 55 ภายในปี 2050
แต่หากพฤติกรรมการใช้น้ำของผู้คนทั่วโลกยังดำเนินต่อไปเช่นทุกวันนี้
โลกของเราก็จะเหลือน้ำเพียงพอใช้เพียงร้อยละ 60 ของความต้องการใช้น้ำทั้งหมดภายใน
15 ปีจากนี้ หรือในปี 2030 ทั้งนี้ รายงานระบุด้วยว่า
การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความไม่ยั่งยืน ตลอดจนความไร้จิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
จะยิ่งส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนน้ำของโลกเลวร้ายมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาดที่กำลังคุกคามความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 748
ล้านคนในเวลานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น