ช่อง one จัดทัพปรับกลยุทธ์อย่างไร ทำให้เรตติ้งพุ่งทะยานขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ได้
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าสัญญาสัมปทานของทีวิดิจิตอลมีอายุเพียงแค่ 15 ปี ถ้าครบกำหนดจะต่อใหม่ก็ต้องเสียค่าสัมปทานกันใหม่อีก และในช่วง 3 ปีแรก จะต้องจ่ายค่าสัมปทานที่ประมูลมาให้ครบ (สำหรับช่อง one ประมูลมาได้ด้วยมูลค่า 3,320 ล้านบาท) มองแบบชาวบ้านก็คือ 3 ปีแรกจะเป็นช่วงหืดจับ เทหมดหน้าตัก ในการเอาช่องให้อยู่รอดให้ได้ หลังจากนั้นในปีที่ 4-15 ก็เป็นช่วงเก็บกินไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วจะอยู่รอดหรือเจ๊ง ก็อยู่ตรง 3 ปีแรกนี้แหละ เห็นตัวอย่างของช่องเจ๊ติ๋มแล้วใช่มั๊ย คือช่องไทยทีวีกับช่องโลก้า ที่ประมูลมา 2 ช่อง แต่สุดท้ายไปไม่รอดตั้งแต่ปีแรก เนื่องจากต้องลงทุนมหาศาลในช่วงแรก แต่รายได้ยังไม่เข้าตามเป้าหมาย แม้ว่าจะขอให้ กสทช.ผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ แล้ว แต่คดียังอยู่ในศาล ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็อีกนาน แต่ธุรกิจมันต้องเดินด้วยท้อง ด้วยเม็ดเงินจริงๆ หากสายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องจอดตั้งแต่ปีแรก ซึ่งจ๊ติ๋มเลือกที่จะยกธงขาวไปก่อน ทั้งๆ ที่แกยังมีเม็ดเงินทำต่อ แต่มองเห็นแล้วว่าดิ้นสู้ต่อไป ท้ายที่สุดก็คงไปไม่รอดอยู่ดี เพราะว่าผ่านช่วง 3 ปีแรกไปแล้ว ก็ยังต้องไปแย่งสู้เม็ดเงินโฆษณากันอีกในช่วงปีที่เหลือ หากว่าเงินทุนไม่มากพอ เกมทีวีดิจิตอลยังต้องใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล หากต้องการขยับเรตติ้งให้สูงขึ้น เพราะมันแข่งกันที่คอนเท้นต์ และคอนเท้นต์มันจะเสกได้ด้วยเงินและกึ๋นเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต่างจากสงครามในน่านน้ำสีแดง รบไปเรื่อยๆ จะเหลือผู้รอดชีวิตไม่กี่ราย ซึ่งรายเก่าๆ จะได้เปรียบอยู่แล้ว
ช่อง ONE ประเมินสงครามในครั้งนี้ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง และดูจะเป็นช่องที่ขยับเรื่องการใช้กลยุทธ์การตลาดได้แบบ 360 องศามากที่สุดด้วย คุณดูว่ามีอะไรบ้าง ป้ายโฆษณาช่องวันที่ข้างรถ ปอ.,โฆษณาตามบิลบอร์ดหรือบนรถไฟฟ้า BTS,โฆษณาทางทีวีจอยักษ์ตามสี่แยกสำคัญ, กิจกรรมของช่อง ONE มีอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น วันยกช่อง, ส่ง sms ทายคำถามละครชิงโชคมือถือซัมซุง ,จัดมีทติ้งแฟนคลับละครกับนักแสดงในละครสุดฮิตหรือแฟนเรียกร้องแบบเอ็กซ์คลูซีฟ,หรือการใช้ Below The Line ออกตระเวนหาผู้โชคดีตามตลาด เล่นเกมกับพี่แท่งแล้วแจกของรางวัล (วันแจกโชค) ,Product Placement ที่เห็นกันจะจะในซิทคอมทุกเรื่อง, Tie-In สินค้า ในละคร,หรือทำแม้กระทั่งพล็อตละครซิทคอมสั้นเพื่อโปรโมตสินค้า (ก็เป็นความริเริ่มใหม่ มีเพียงช่อง one ที่ทำ) โฆษณาในช่วงละครหลักข่าวภาคค่ำจะแน่นที่สุดช่องนึงเลย ไม่ใช่เพราะช่องมีเรตติ้งสูงมาก ทุกสินค้าต่างแย่งกันไปลงโฆษณาช่อง one แต่มันเกิดจากการวางแผนการตลาดมาเป็นอย่างดี อย่างเป็นระบบ เขาขายโฆษณากันล่วงหน้าเป็นไตรมาส มีการวางแผน Luanch สินค้า ในที่นี้คือละครเรื่องใด สปอนเซอร์โฆษณาตัวใดจะเป็นตัวหลัก ตัวใดจะเป็นตัวรอง และหากสินค้าใดเพิ่งมาสนใจลงโฆษณา จะสามารถสอดแทรกเข้าไปในช่วงเวลาใดได้บ้าง ซื้อโฆษณาในช่วงไพรม์ไทม์หลักตลอด 1 ปี จะมีแถมโปรโมชั่น ลงในช่วงใดเพิ่มให้อีก หรือหากสินค้าใดยอมเป็นสปอนเซอร์หลักตัวยืนในรายการใดของช่อง จะได้สิทธิพิเศษใดบ้าง ช่องจะวางแผนผลิตละครที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มเป้าหมาย และตอบโจทย์สปอนเซอร์สินค้า ตอบโจทย์แม้กระทั่งกระแสสังคมไปทางใด หรือกำลังมีเรื่องราวใดเป็นประเด็น จะให้ทีมเขียนบท เขียนบทรอเอาไว้ พร้อมเปิดกล้องได้ทันทีเลย มีช่องไหนทำอย่างนี้ได้บ้าง ไปลองพิจารณาดู คือจอมทัพอ่านเกมเก่ง แม่ทัพทีมงานขยับรุกเข้าตีเร็ว ที่เหลือองคาพยพขยับตัวตาม นี่จึงทำให้ละครของช่องวันดูจะทันสมัย และสดใหม่อัพเดทกว่าทุกช่อง พูดง่ายๆ สามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ได้เร็ว บางครั้งดูเกมแล้ว คู่แข่งเอาละครฟอร์มยักษ์มาลงจอ ช่อง ONE มีสต็อกละครฟอร์มยักษ์ไปชนกับคู่แข่งมั๊ย ถ้าไม่มีก็เอาละครฟอร์มเล็กกว่าแต่มีบทที่เฉียบคมและสนุกกว่าไปชนแทน เป็นเกมตั้งรับและหาจังหวะรุกกลับในช่วงที่ตนเองได้เปรียบ อย่างตอนนี้ละครพิษสวาท ละครฟอร์มยักษ์ของช่อง เตรียมพร้อมมานานลงจันทร์-อังคาร ชนกับละครช่องใหญ่ได้แบบสู้ได้ และเรตติ้งแซงชนะช่อง 3 ได้เป็นครั้งแรก
กลุ่มเป้าหมายหลักของช่อง ONE จริงๆ แล้ว 80% น่าจะเป็นคนเมือง และเป็นผู้หญิง 70% ผู้ชายแค่ 30%(อันนี้รวมเอากลุ่ม LGBT ไว้แล้ว) นี่คือคำตอบว่าเหตุใดรายการต่างๆ และละครของช่อง one จะเน้นแนวแซ่บๆ เอาใจผู้หญิงเสียมากกว่า รายการส่วนใหญ่จะมีความเป็น feminist เสียเยอะ แต่ใช่ว่าช่อง one จะไม่สนใจที่จะขยายฐานไปสู่แฟนคลับกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้ชายให้เพิ่มขึ้น สังเกตว่าพยายามทำรายการกีฬาอย่าง Thai Hero, ครอบครัวลูกหนัง (ปัจจุบันคือบ้าบอล), มีรายการท่องเที่ยวแบบ Adventure อย่าง View Finder,TT Rider, ซีรีส์จีนกำลังภายใน, One Theatre ,ถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลรายการใหญ่ๆ เป็นต้น
จุดแข็งของช่อง one ก็คือทีมงานผลิตละครของเอ็กซ์แซ็กท์+ซีนาริโอ้เดิม แบ่งเป็น 4 ทีมใหญ่ คือ 1.ทีมทำละครเวทีบวกพวกรายการคอนเสิร์ต,โชว์ในงานแสดงใหญ่ๆ 2.ทีมผลิตละครภาคค่ำและละครซีรีส์ต่างๆ 3.ทีมผลิตละครซิทคอม 4.ทีมเขียนบทละครของเอ็กซ์แซ็กท์ พวกนี้จะทำงานสอดประสานกัน การเขียนบทให้เดินเรื่องกระชับฉับไว ไม่ยืดตอน แม้ว่าจะเรตติ้งดี จบเป็นจบ จะไม่มีเพิ่มตอนก่อนจบ เหมือนบางช่องที่เคยทำ
การที่ GMM grammy เป็นพันธมิตรธุรกิจ และมีข้อตกลงร่วมกันกับ Line TV ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลรายใหญ่ ทำให้ละครของเครือแกรมมี่ทั้งหมด ทั้งช่อง GMM25 และช่อง ONE จะถูกนำไปฉายในช่องทางของ Line TV ก่อนภายหลังออกอากาศแล้วทางช่อง GMM 25,ONE รวมถึงรายการโทรทัศน์ดังๆ และละครบางเรื่องถูกผลิตขึ้นมาเพื่อลงในช่องทาง LINE TV โดยเฉพาะ ไม่ผ่านช่องทางทีวีดิจิตอล อาทิ Stay ซากะ ฉันจะคิดถึงเธอ, แก๊สโซฮัก รักเต็มถัง, I hate You,I love You. ของค่ายนาดาวหรือ GDH ,สงครามนางงาม 2 ภาคขยาย ตัวละครมะเหมี่ยวกับโบว์ ดูได้ผ่านช่องทาง Line TV เท่านั้น เป็นต้น
1.ละครภาคค่ำที่ผลิตเพื่อลงในช่วงเวลาไพร์มไทม์ พวกนี้ทางช่องจะลงทุนกับโปรดักชั่น และการเขียนบท เพื่อให้ละครออกมาดูดี มีมาตรฐาน (ละครของเอ็กซ์แซ็กท์ว่ากันว่า เรื่องนึงลงทุนกันหลัก 10 ล้านขึ้นโดยเฉลี่ย และต้องสามารถต่อยอดส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย) แม้ว่าบางเรื่องจะซื้อบทประพันธ์ที่เคยเป็นที่นิยมอยู่แล้วมาผลิต ก็ยังให้ทีมเขียนบทตีความ และเขียนออกมาใหม่ ให้ทันกับยุคสมัย ยกเว้นว่าบทประพันธ์นั้นร่วมสมัยจริง และบทโทรทัศน์เดิมทำไว้ดีอยู่แล้วก็จะคงรักษาตามบทเดิม ยกตัวอย่างละครรีเมก เรื่อง เงาอโศก กับพิษสวาท ที่ออนแอร์อยู่เวลานี้ มีการปรับบทโทรทัศน์ใหม่ จากการตีความตัวละครบางตัวใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย หรือให้มีบทบาทดีขึ้น ปรากฏได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะเรตติ้งของละครพิศวาสพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันแรกๆ ที่ออนแอร์ ไต่ระดับจาก 1 ไป 2,3,4 และเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 6.4 ในกทม.มาแล้ว และยังสร้างปรากฏการณ์พิษสวาทกันทั้งเมือง และเป็นละครที่ทำให้เรตติ้งโดยรวมของช่อง กระชากขึ้นสู่หลัก 0.99 แซงช่องโมโนและช่อง 8 ขึ้นมายืนอยู่บัลลังก์อันดับ 4 ของเรตติ้งรวมสูงุสุดทีวีดิจิตอล ในเดือนสิงหาคมได้สำเร็จ (ผลสำรวจโดย AGB Nielsen) บางเรื่องปรับบทโทรทัศน์ใหม่ มีการเปลี่ยนบทตัวละครหลัก จนทำให้แฟนละครรับไม่ได้ และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาแล้ว ก็เช่น เรื่อง หัวใจมีเงา ,จุดนัดฝัน, ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย เป็นต้น
แต่ละครรีเมกบางเรื่องที่บทประพันธ์และบทโทรทัศน์เดิมดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยน อาทิ เล่ห์รตี, ตะวันตัดบูรพา ,ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด
ละครบางเรื่องใช้เค้าโครงเรื่องมาจากต่างประเทศหรือซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงทำเป็นละครไทย อาทิ กรุงเทพมหานครซ้อนรัก มาจาก The O.C หรือ ขอโทษที่รักเธอ มาจาก Sorry! , I love You ยังคงใช้เค้าโครงจากต้นฉบับ แต่มีการปรับบทและปรับตัวละครบางตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย หรืออาจมีการบิดเรื่องนิดหน่อยให้เหมาะสมกับการดำเนินเรื่องแบบไทยๆ
2.ละครภาคค่ำที่พล็อตขึ้นมาใหม่เอง โดยทีมเขียนบทของเอ็กซ์แซ็กท์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดแข็งและเป็นจุดขายที่สำคัญของละครช่อง ONE เลยทีเดียว เพราะหลายเรื่องประสบความสำเร็จเกินคาด อาทิ เล่ห์นางฟ้า, เรือนสเน่หา, สงครามนางงาม 1,2 ,เรือนร้อยรัก ,เสน่หาข้ามเส้น, โสดสตอรี่ เรื่องเหล่านี้ถูกพล็อตขึ้นมาเองจากทีมเขียนบทของค่าย ทำให้มีความสดใหม่ทั้งบุคลิกตัวละคร สถานการณ์ ปมปัญหาหรือประเด็น การดำเนินเรื่อง รวมถึงการแสดงที่เข้มข้น ซึ่งประสบการณ์และความเชียวชาญของค่ายเอ็กซ์แซ็กท์ทำให้ละครแทบทุกเรื่องที่พล็อตเอง สนุก และประสบความสำเร็จ ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกเสียเป็นส่วนใหญ่ และจุดนี้เองที่สร้างฐานแฟนคลับให้เกิดขึ้นกับค่ายละครเอ็กซ์แซ็กท์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนจะมาทำทีวีดิจิตอลอีก
3,ละครซิทคอม อันนี้ก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดขายของช่อง one จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตละครซิทคอม ตั้งแต่สมัยยุคอนาล็อก พอมาเป็นยุคดิจิตอล มีช่องเป็นของตนเอง ทำให้สามารถผลิตละครซิทคอมได้หลายเรื่องมากขึ้น เลือกลงในช่วงเวลาได้ตามใจชอบ อาทิ ยีนส์เด่น,เพราะมีเธอ,ขบวนการกุ๊กกุ๊กกู๋ เคยลงในช่วงเวลาเย็น และขยับเป็นช่วงค่ำ ในวันเสาร์ อาทิตย์และมารีรันในช่วงเวลาเที่ยงๆ บ่าย ๆ มีการปรับบท เพิ่มตัวละครในซิทคอมที่ได้รับความนิยมสูง อย่างเช่น บ้านนี้มีรัก,เป็นต่อ หรือตัดจบ หาบทสรุปให้กับซิทคอมที่เริ่มจะอิ่มตัวแล้ว อย่าง นัดกับนัด,ผุ้กองยอดรัก,เฮงเฮงเฮง และการกลับมาของซิทคอมที่เคยได้รับความนิยมสูงอย่าง บางรักซอย 9/1 ที่อาจมีการปรับเปลี่ยนบท เพิ่มตัวละครขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพัฒนาการของตัวละครหลัก อย่าง แป้งและชัดเจน มีครอบครัว มีลูกด้วยกัน ซิทคอมที่พล็อตแนวเรื่องได้ทันสมัยและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่าง เสือชะนีเก้ง กลับได้รับความนิยม ได้รับการตอบรับที่ดีจากยอดวิวในไลน์ทีวี,ยูทูป และเรตติ้ง 3 กว่า สูงสุดในหมวดซิทคอมของช่อง
4.ละครซีรีส์ที่ถูกผลิตโดยค่ายละคร นอกค่ายเอ็กซ์แซ็กท์ ก็มีความน่าสนใจ และทำให้ผู้ชมได้ชมอรรถรสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับช่อง ONE และยังสร้างสีสัน แปลกใหม่ ให้กับวงการละครไทยอีกด้วย อาทิ ซีรีส์ฮอร์โมนส์ ของค่ายนาดาวบางกอก, ซีรีส์รูมอโลน 1,2 ของจีเอ็มเอ็มทีวี, ซีรีส์คอนโด บาริสต้า ,ซีรีส์ชุด รุ่นพี่ เลิฟซีเคร็ท, ซีรีส์ อัศจรรย์คุณครูเทวดา, ซีรีส์ sotus พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง ของจีเอ็มเอ็มทีวี หรือแม้กระทั่งซีรีส์แนวใหม่ๆ ที่ผลิตโดยเอ็กซ์แซ็กท์หรือซีนาริโอ้เอง อย่างรักฝุ่นตลบ,โสดสตอรี่ ก็ได้รับกระแสชื่นชมว่ามีความสดใหม่ ไดอาล็อกดี บทดี และมีความทันสมัย เป็นต้น
-นักแสดงของช่อง ONE ที่เป็นนักแสดงในสังกัดหรือเซ็นต์สัญญากับช่อง ONE จะได้รับการฝึกปรือฝีมือ หรือเรียนการแสดงกับบรมครูด้านการแสดงอย่าง มล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านการแสดงของ พี่นกสินจัย,พี่อ๊อฟพงษ์พัฒน์,พลอย เฌอมาลย์,ชาคริต แย้มนาม,อนันดา เอฟเวอริ่งแฮม,มาริโอ้ เมาเร่อร์ เป็นต้น จึงทำให้ทักษะด้านการแสดงของ นักแสดงช่อง one จัดอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉลี่ย
-การมีโรงถ่ายเป็นของตนเอง (Acts Studio) ช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับทีมงานและนักแสดงได้มาก ทำให้ต้นทุนการผลิตละครสามารถควบคุมได้และระยะเวลาการผลิตละครเสร็จเร็วขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ เราจะได้เห็นฉากซ้ำๆ ในละครของช่อง ONE
ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ละครช่อง ONE ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมและได้รับความนิยมในระดับนึง ซึ่งมีผลต่อเรตติ้งโดยรวมให้สูงขึ้นมาโดยลำดับ
บทวิเคราะห์โดย นิติชัช/หยิกแกมหยอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น