วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (7) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 7




 
เรื่องที่ 7  วีรบุรุษกู้ชาติ โฮจิมินห์ กับบาดแผลของสงคราม ที่คนเวียดนามเป็นผู้รับกรรม

ก่อนอื่นคงต้องกล่าวถึงปูมหลังความเป็นมาเสียก่อน แต่เดิมเวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส มานับตั้งแต่ปี ค.ศ.1885 กินเวลามาอย่างยาวนานกว่า 80-90 ปี ก่อนที่จะมาเกิดสงครามเวียดนามในช่วงปี ค.ศ. 1957-1975 เขตปกครองของฝรั่งเศสในเวียดนามแบ่งออกเป็น 3 แคว้น คือ แคว้นตังเกี๋ย อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แคว้นอันนัม อยู่ตอนกลาง และแคว้นโคชินไชน่า อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ  ฝรั่งเศสได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเวียดนามให้เป็นแบบฝรั่งเศสเสียเป็นส่วนใหญ่ จนกลายเป็นได้รับอิทธิพลของฝรั่งเศสมาอย่างเต็มๆ จนถึงปัจจุบันนี้

ในปี 1941 ได้เกิดขบวนการเวียดมินห์ขึ้น เพื่อขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกจากประเทศ โดยมีโฮจิมินห์เป็นผู้นำ

ในปี 1942 ขณะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นก็ได้เข้ายึดครองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงได้ประกาศตนเป็นอิสระ แต่คงอยู่ในการควบคุมของญี่ปุ่น ขบวนการเวียดมินห์ที่ก่อเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นได้ร่วมมือกับสหรัฐและฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อต้านญี่ปุ่น (คล้ายขบวนการเสรีไทยของไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่น ต่างกันตรงที่เวียดมินห์มีกองทัพเป็นของตนเองในการสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นด้วย)

ฝรั่งเศสเริ่มการพิชิตอินโดจีนในปลายคริสต์ทศวรรษ 1850 และปราบปรามอย่างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1893 สนธิสัญญาเว้ ค.ศ. 1884 เป็นพื้นฐานการปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสในเวียดนามเป็นเวลาอีกเจ็ดทศวรรษ แม้จะมีการต้านทานทางทหาร ที่โดดเด่นที่สุด คือ เกิ่นเวืองแห่งฟาน ดิญ ฝุง ในปี 1888 พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศกัมพูชาและเวียดนามปัจจุบันกลายสภาพเป็นอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส และลาวถูกเพิ่มเข้าสู่อาณานิคมภายหลัง มีขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสหลายกลุ่มในช่วงนี้ เช่น พรรคชาตินิยมเวียดนามที่ก่อการกำเริบเอียนบ๊ายที่ล้มเหลวในปี 1930 แต่ท้ายที่สุด ไม่มีกลุ่มใดประสบความสำเร็จมากเท่ากับแนวร่วมเวียดมินห์ ซึ่งก่อตั้งในปี 1941 ซึ่งอยู่ในการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และได้รับเงินทุนจากสหรัฐอเมริกาและพรรคชาตินิยมจีนในการต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่น  ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสปราชัยต่อเยอรมนีในปี 1940 สำหรับอินโดจีนของฝรั่งเศส หมายความว่า เจ้าหน้าที่อาณานิคมกลายเป็นฝรั่งเศสเขตวีชี พันธมิตรของอักษะเยอรมนี-อิตาลี สรุปคือ ฝรั่งเศสร่วมมือกับกำลังญี่ปุ่นหลังการบุกครองอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี 1940 ฝรั่งเศสยังดำเนินกิจการในอาณานิคมต่อไป ทว่าอำนาจสูงสุดเป็นของญี่ปุ่น  เวียดมินห์ก่อตั้งขึ้นเป็นสันนิบาตเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส แต่ก็ต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นในปี 1945 ด้วยสาเหตุเดียวกัน สหรัฐอเมริกาและพรรคชาตินิยมจีนสนับสนุนเวียดมินห์ในการต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่น ทว่าทีแรกเวียดมินห์ยังไม่มีกำลังพอต่อสู้ในยุทธการแท้จริง ผู้นำเวียดมินห์ โฮจิมินห์ ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกพรรคชาตินิยมจีนจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี  การยึดครองซ้อนโดยฝรั่งเศสและญี่ปุ่นดำเนินมากระทั่งกำลังเยอรมนีถูกขับออกจากฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่อาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศสเริ่มต้นเจรจาทางลับกับฝรั่งเศสเสรี ด้วยเกรงว่าพวกตนไม่อาจเชื่อใจเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้อีกต่อไป กองทัพญี่ปุ่นจึงกักตัวเจ้าหน้าที่และทหารฝรั่งเศสในวันที่ 9 มีนาคม 1945 และสถาปนารัฐหุ่นเชิดจักรวรรดิเวียดนาม ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ยแทน ระหว่างปี 1944-1945 เกิดทุพภิกขภัยรุนแรงทางเหนือของเวียดนามเนื่องจากสภาพอากาศเลวและการแสวงหาประโยชน์ของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นประกอบกัน เพราะอินโดจีนฝรั่งเศสต้องจัดส่งธัญพืชแก่ญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตเพราะการอดอยากระหว่าง 400,000 ถึง 2 ล้านคน จากประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 10 ล้านคน ในเดือนมีนาคม 1945 เวียดมินห์อาศัยช่องว่างทางการปกครอง ซึ่งเกิดจากการกักตัวเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสหนุนให้ประชาชนปล้นคลังข้าวและปฏิเสธไม่จ่ายภาษี  มีคลังสินค้าถูกปล้นระหว่าง 75 ถึง 100 แห่ง การกบฏต่อผลกระทบแห่งทุพภิกขภัยและเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบต่อภัยดังกล่าวบางส่วนเสริมความนิยมของเวียดมินห์ และเวียดมินห์สามารถระดมสมาชิกได้เป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ระหว่างเดือนสิงหาคม 1945 กองทัพญี่ปุ่นยังไม่มีความเคลื่อนไหว ขณะที่เวียดมินห์และกลุ่มชาตินิยมอื่นยึดสถานที่ราชการและอาวุธ ซึ่งเริ่มการปฏิวัติเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่โอเอสเอสเข้าพบโฮจิมินห์และนายทหารเวียดมินห์อื่นหลายครั้งในช่วงนี้ และเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 โฮจิมินห์ประกาศอิสรภาพสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามต่อหน้าฝูงชน 500,000 คนในฮานอย เขาเริ่มสุนทรพจน์โดยถอดความคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาว่า "มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข"  เวียดมินห์ยึดอำนาจในเวียดนามในการปฏิวัติเดือนสิงหาคม ตาม Gabriel Kolko เวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ทว่า Arthur J. Dommen เตือน "มุมมองที่ถูกทำให้เย้ายวน" ของความสำเร็จนี้: "การใช้ความสะพรึงกลัวของเวียดมินห์นั้นเป็นระบบ....พรรคดึงรายชื่อผู้ต้องฆ่าทิ้งอย่างไม่รีรอ" หลังพ่ายในสงคราม กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมอบอาวุธให้ชาวเวียดนาม และยังคุมขังเจ้าหน้าที่และนายทหารวีชีฝรั่งเศสเป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังยอมจำนน เวียดมินห์ระดมทหารญี่ปุ่นกว่า 600 นายและมอบบทบาทให้พวกเขาฝึกหรือบังคับบัญชาทหารเวียดนาม อย่างไรก็ดี ฝ่ายสัมพันธมิตรหลักผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตล้วนตกลงกันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสไม่มีหนทางยึดเวียดนามคืนได้ทันที มหาอำนาจจึงบรรลุความตกลงกันว่าทหารอังกฤษจะยึดครองเวียดนามใต้ ขณะที่กำลังจีนชาตินิยมจะเคลื่อนเข้ามาจากทางเหนือ กำลังชาตินิยมจีนเข้าประเทศเวียดนามเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 16 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1945 เมื่ออังกฤษยกพลขึ้นบกทางใต้ ก็ติดอาวุธให้กำลังฝรั่งเศสที่ถูกกักตัว ตลอดจนกำลังญี่ปุ่นที่ยอมจำนนบางส่วนเพื่อช่วยฝรั่งเศสยึดเวียดนามใต้คน เพราะไม่มีพลเพียงพอกระทำการตามลำพัง ด้วยการกระตุ้นของสหภาพโซเวียต ทีแรกโฮจิมินห์พยายามเจรจากับฝรั่งเศส ซึ่งกำลังสถาปนาการควบคุมทั้งพื้นที่อย่างช้าๆ ในเดือนมกราคม 1946 เวียดมินห์ชนะการเลือกตั้งทั่วเวียดนามเหนือและกลาง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1946 ลุงโฮลงนามความตกลงอนุญาตให้กำลังฝรั่งเศสแทนกำลังจีนชาตินิยม แลกกับการรับรองสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามของฝรั่งเศสว่าเป็นสาธารณรัฐ "อิสระ" ในสหภาพฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การรับรองนี้จะกำหนดโดยการเจรจาในอนาคต ฝรั่งเศสขึ้นบกในฮานอยเมื่อเดือนมีนาคม 1946 และขับเวียดมินห์ออกจากนครในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น กำลังอังกฤษออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1946 ทิ้งเวียดนามให้อยู่ในการดูแลของฝรั่งเศส ไม่นานให้หลัง เวียดมินห์เริ่มต้นสงครามกองโจรต่อกำลังสหภาพฝรั่งเศส เริ่มต้นสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง สงครามลุกลามไปยังประเทศลาวและกัมพูชา ที่ซึ่งนักคอมมิวนิสต์จัดระเบียบขบวนการปะเทดลาวและเขมรเสรี ซึ่งทั้งสองถอดแบบมาจากเวียดมินห์ ด้านสถานการณ์โลก สงครามเย็นเริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งหมายความว่าการกระชับความสัมพันธ์ซึ่งมีระหว่างฝ่ายตะวันตกและสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้พังทลายลง การขาดอาวุธเป็นอุปสรรคของเวียดมินห์ แต่สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อปี 1949คอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองจีนได้ส่วนใหญ่แล้ว และสามารถจัดหาอาวุธให้แก่พันธมิตรเวียดนามได้  ในเดือนมกราคม 1950 สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตรับรองว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามของเวียดมินห์ซึ่งมีฐานในฮานอยเป็นรัฐบาลเวียดนามที่ชอบธรรม เดือนต่อมา สหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่รับรองว่ารัฐเวียดนามในไซ่ง่อนที่ฝรั่งเศสหนุนหลัง นำโดยอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย เป็นรัฐบาลเวียดนามที่ชอบธรรม การปะทุของสงครามเกาหลีในเดือนมิถุนายนปีนั้น ชวนให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าสงครามในอินโดจีนเป็นตัวอย่างลัทธิการขยายอิทธิพล (expansionism) คอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตชี้นำ ที่ปรึกษาทางทหารจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มให้การสนับสนุนเวียดมินห์ในเดือนกรกฎาคม 1950 อาวุธ ความรู้ความชำนาญและจับกังของจีนเปลี่ยนเวียดมินห์เปลี่ยนเวียดมินห์จากกำลังกองโจรเป็นกองทัพตามแบบ ในเดือนกันยายนปีนั้น สหรัฐอเมริกาตั้งคณะที่ปรึกษาช่วยเหลือทางทหาร (Military Assistance and Advisory Group, ย่อ: MAAG) เพื่อคัดกรองคำขอความช่ยเหลือ คำแนะนำทางยุทธศาสตร์และการฝึกทหารเวียดนามของฝรั่งเศส จนถึงปี 1954 สหรัฐอเมริกาจัดหาอาวุธเบา 300,000 ชิ้นและใช้เงิน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐสนับสนุนความพยายามทางทหารของฝรั่งเศส คิดเป็น 80% ของมูลค่าสงคราม นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาระหว่างฝรั่งเศสและสหรัฐซึ่งพิจารณาความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีสามลูก ทว่า รายงานความจริงจังของการพิจารณานี้และผู้พิจารณายังคลุมเครือและขัดแย้งกันแม้จนปัจจุบัน แผนฉบับหนึ่งสำหรับปฏิบัติการแร้ง (Operation Vulture) ที่เสนอไว้กล่าวถึงการส่งเครื่องบินบี-29 จากฐานทัพสหรัฐในภูมิภาค 60 ลำ โดยมีเครื่องบินขับไล่ที่อาจมากถึง 150 ลำที่ปล่อยจากเรือบรรทุกเครื่องบินกองเรือสหรัฐที่เจ็ดสนับสนุน ทิ้งระเบิดที่ตั้งของหวอ เงวียน ซ้าป ผู้บัญชาการเวียดมินห์ แผนดังกล่าวรวมทางเลือกการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากถึงสามลูกต่อที่ตั้งของเวียดมินห์ พลเรือเอก อาเธอร์ ดับเบิลยู. แรดฟอร์ด (Arthur W. Radford) ประธานคณะเสนาธิการทหารสหรัฐ สนับสนุนทางเลือกนิวเคลียร์นี้ เครื่องบินบี-29 บี-36 และบี-47 สามารถโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ เช่นเดียวกับอากาศยานประจำเรือจากกองเรือที่เจ็ด เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐแล่นไปยังอ่าวตังเกี๋ย และมีเที่ยวบินลาดตระเวนเหนือเดียนเบียนหูระหว่างการเจรจา ตามรองประธานาธิบดีสหรัฐ ริชาร์ด นิกสัน แผนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคณะเสนาธิการทหารที่ร่างแผนใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุทธวิธีขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนฝรั่งเศส นิกสันเสนอว่าสหรัฐอเมริกาอาจต้อง "ส่งทหารอเมริกาเข้าไป" ประธานาธิบดีสหรัฐ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ตั้งเงื่อนไขการมีส่วนเกี่ยวข้องของสหรัฐกับการสนับสนุนของอังกฤษ แต่คัดค้านการเสี่ยงขนาดนั้น ในท้ายที่สุด ไอเซนฮาวร์ตัดสินใจไม่แทรกแซง เพราะเชื่อว่าความเสี่ยงทางการเมืองมีมากกว่าประโยชน์ที่เป็นไปได้ ไอเซนฮาวร์เป็นพลเอกห้าดาว เขารอบคอบกับการดึงสหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนในสงครามภาคพื้นดินในทวีปเอเชีย เวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนสำคัญจากสหภาพโซเวีตยและจีน การสนับสนุนของจีนในสงครามชายแดนปี 1950 ทำให้การส่งกำลังจากจีนเข้ามายังเวียดนามได้ ตลอดความขัดแย้ง การประมาณของข่าวกรองสหรัฐยังข้องใจกับโอกาสสำเร็จของฝรั่งเศส ยุทธการที่เดียนเบียนฟูเป็นการสิ้นสุดการมีส่วนเกี่ยวข้องของฝรั่งเศสในอินโดจีน กำลังเวียดมินห์ของซ้าปได้มอบความปราชัยทางทหารอันน่าพิศวงให้แก่ฝรั่งเศส และในวันที่ 7 พฤษภาคม 1954 ทหารที่ตั้งของสหภาพฝรั่งเศสยอมจำนน ในจำนวนเชลยศึกชาวฝรั่งเศส 12,000 คนที่เวียดมินห์จับได้ มีผู้รอดชีวิตเพียง 3,000 คนเท่านั้น ที่การประชุมเจนีวา ฝรั่งเศสเข้าร่วมเจรจาความตกลงในการหยุดยิงกับเวียดมินห์ และฝรั่งเศสให้เอกราชแก่กัมพูชา ลาวและเวียดนาม

ต่อมาเหตุการณ์ที่เรียกว่า “สงครามเวียดนาม”  ก็อุบัติขึ้นตามมา

สงครามเวียดนาม หรือ สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง หรือที่ชาวเวียดนามรู้จักกันในชื่อ สงครามอเมริกา เป็นสงครามตัวแทนสมัยสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม ลาวและกัมพูชาตั้งแต่เดือนธันวาคม 1955 กระทั่งกรุงไซ่ง่อนแตกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 สงครามเวียดนามนี้เกิดขึ้นหลังสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง และมีเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีน สหภาพโซเวียตและพันธมิตรคอมมิวนิสต์อื่นเป็นคู่สงครามฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลเวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อื่นเป็นคู่สงครามอีกฝ่ายหนึ่ง เวียดกง (หรือ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ) เป็นแนวร่วมประชาชนคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้ที่ติดอาวุธเบาซึ่งมีเวียดนามเหนือสั่งการ สู้รบในสงครามกองโจรต่อกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค กองทัพประชาชนเวียดนาม (กองทัพเวียดนามเหนือ) ต่อสู้ในสงครามตามแบบมากกว่า และบางครั้งส่งหน่วยขนาดใหญ่เข้าสู่ยุทธการ เมื่อสงครามดำเนินไป ส่วนการต่อสู้ของเวียดกงลดลงขณะที่บทบาทของกองทัพประชาชนเวียดนามเพิ่มขึ้น กำลังสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้อาศัยความเป็นเจ้าเวหาและอำนาจการยิงที่เหนือกว่าเพื่อดำเนินปฏิบัติการค้นหาและทำลาย ซึ่งรวมถึงกำลังภาคพื้นดิน ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศ ตลอดห้วงสงคราม สหรัฐดำเนินการทัพทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขนานใหญ่ต่อเวียดนามเหนือ และต่อมาน่านฟ้าเวียดนามเหนือกลายเป็นน่านฟ้าที่มีการป้องกันหนาแน่นที่สุดในโลก รัฐบาลสหรัฐมองว่าการเข้ามามีส่วนในสงครามของตนเป็นหนทางป้องกันการยึดเวียดนามใต้ของคอมมิวนิสต์อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การจำกัดการขยายตัวของลัทธิที่ไม่พึงปรารถนาที่ใหญ่กว่า โดยมีเป้าหมายที่แถลงไว้เพื่อหยุดการแพร่ของคอมมิวนิสต์ ตามทฤษฎีโดมิโนของสหรัฐ หากรัฐหนึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐอื่นในภูมิภาคก็จะเป็นไปด้วย ฉะนั้น นโยบายของสหรัฐจึงถือว่าการผ่อนปรนการแพร่ของคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศเวียดนามนั้นยอมรับไม่ได้ รัฐบาลเวียดนามเหนือและเวียดกงต่อสู้เพื่อรวมเวียดนามอยู่ในการปกครองคอมมิวนิสต์ ทั้งสองมองข้อพิพาทนี้เป็นสงครามอาณานิคม ซึ่งเริ่มแรกสู้กับฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ แล้วต่อมาสู้กับเวียดนามใต้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐหุ่นเชิดของสหรัฐ ที่ปรึกษาทางทหารชาวอเมริกันมาถึงอินโดจีนขณะนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 1950 การเข้ามามีส่วนของสหรัฐเพิ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 โดยมีระดับทหารเพิ่มเป็นสามเท่าในปี 1951 และเพิ่มอีกสามเท่าในปีต่อมา การเข้ามามีส่วนของสหรัฐทวีขึ้นอีกหลังเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย ปี 1964 ซึ่งเรือพิฆาตของสหรัฐปะทะกับเรือโจมตีเร็วของเวียดนามเหนือ ซึ่งตามติดด้วยข้อมติอ่าวตังเกี๋ยซึ่งอนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐเพิ่มทหารในพื้นที่ หน่วยรบปกติของสหรัฐถูกจัดวางเริ่มตั้งแต่ปี 1955 ปฏิบัติการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชาถูกกองทัพสหรัฐทิ้งระเบิดอย่างหนักขณะที่การเข้ามามีส่วนในสงครามของสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 1968 ปีเดียวกัน ฝ่ายคอมมิวนิสต์เปิดฉากการรุกตรุษญวน การรุกตรุษญวนไม่สัมฤทธิ์ผลในการโค่นรัฐบาลเวียดนามใต้ แต่ได้กลายเป็นจุดพลิกผันของสงคราม เพราะได้แสดงว่าเวียดนามได้ไม่อาจป้องกันตัวเองจากเวียดนามเหนือได้ แม้สหรัฐจะทุ่มความช่วยเหลือทางทหารอย่างมหาศาลหลายปี ด้วยจุดชัยชนะของสหรัฐนั้นไม่ชัดเจน จึงค่อย ๆ มีการถอนกำลังภาคพื้นดินของสหรัฐโดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเรียก การแผลงเป็นเวียดนาม (Vietnamization) ซึ่งมุ่งยุติการเข้ามามีส่วนในสงครามของสหรัฐขณะที่โอนภารกิจต่อสู้กับคอมิวนิสต์ให้เวียดนามใต้เอง แม้ภาคีทุกฝ่ายลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือนมกราคม 1973 แล้วก็ตาม แต่การสู้รบยังดำเนินต่อไป ในสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตก มีการพัฒนาขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามขนาดใหญ่ขึ้น ขบวนการนี้ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้าน (Counterculture) แห่งคริสต์ทศวรรษ 1960 และเป็นปัจจัยหนึ่งของมัน การมีส่วนร่วมทางทหารของสหรัฐยุติลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1973 อันเป็นผลมาจากคำแปรญัตติเคสเชิร์ช (Case–Church Amendment) ที่รัฐสภาสหรัฐผ่าน  การยึดกรุงไซ่ง่อนโดยกองทัพประชาชนเวียดนามในเดือนเมษายนปี 1975 เป็นจุดสิ้นสุดของสงคราม และมีการรวมชาติเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ในปีต่อมา สงครามนี้คร่าชีวิตมนุษย์ไปมหาศาล ประเมินตัวเลขทหารและพลเรือนชาวเวียดนามที่ถูกสังหารมีตั้งแต่น้อยกว่า 1 ล้านคนเล็กน้อย ไปถึงกว่า 3 ล้านคน ชาวกัมพูชาเสียชีวิตราว 2-3 แสนคน ชาวลาวเสียชีวิต 20,000-200,000 คน และทหารชาวอเมริกันเสียชีวิตในข้อพิพาทนี้ 58,220 นาย ทหารไทยเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ 11,000 นาย และเสียชีวิตไปทั้งสิ้นประมาณ 300 นาย (คัดลอกจากหน้าเพจสงครามเวียดนาม วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)

สงครามเวียดนาม บนความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1965 เมื่อสหรัฐได้เปลี่ยนลักษณะของความขัดแย้งนี้โดยใช้วิธีการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออย่างต่อเนื่องจนถึงการลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1973 สงครามนี้ได้เห็นถึงการเข้ามาเกี่ยวข้องของทุกมหาอำนาจในยุคสงครามเย็นซึ่งทำให้ความขัดแย้งนี้ยิ่งทวีความซับซ้อน รุนแรง และยืดเยื้อยาวนาน ประเทศไทยก็ได้มีบทบาทสำคัญในสงครามนี้ โดยการเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งขันและเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในสมรภูมิรบเวียดนาม สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเวียดนามตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามนโยบายสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ความมุ่งมั่นของสหรัฐที่จะต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเวียดนามเพราะเห็นว่าถ้าไม่รบในเวียดนาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดจะตกอยู่ใต้อิทธิพลจีนซึ่งหมายถึงว่าเอเชียทั้งหมดจะพ่ายแก่คอมมิวนิสต์ด้วย ส่วนการต่อสู้ของเวียดนามเหนือก็ได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและโดยเฉพาะจากจีน ความช่วยเหลือของจีนเกิดจากความเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์และที่สำคัญยิ่งกว่าคือผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนที่ต้องการให้พรมแดนจีน - เวียดนามมีความปลอดภัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนต้องการขจัดอิทธิพลสหรัฐจากเอเชีย ดังนั้น ความกังวลด้านความมั่นคงของจีนนอกเหนือจากไต้หวันแล้วก็คืออินโดจีน  รัฐบาลไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 ได้สนับสนุนให้สหรัฐเข้ามาป้องกันคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนเพราะต้องการป้องกันพรมแดนด้านตะวันออกให้ปลอดจากคอมมิวนิสต์ ผู้นำรัฐบาลทหารไทยยังเชื่อด้วยว่าเวียดนามเหนือต้องการขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์เข้ามาไทยโดยได้รับการสนับสนุนจากจีน ในกลางทศวรรษ 1950 ภัยคุกคามจากเวียดนามเหนือที่ผู้นำทหารมักอ้างถึง คือการรุกเข้าไปในดินแดนลาวของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามและการเผยแพร่อิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่ชาวเวียดนามในภาคอีสาน  อย่างไรก็ตาม เหตุผลอื่นที่สำคัญเท่าเทียมกัน คือ ผู้นำทหารไทยคาดหวังความช่วยเหลือด้านการทหารและอื่นๆ จากสหรัฐ  การรบระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามกับเวียดนามใต้ที่มีสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนได้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญหลังเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยในเดือนสิงหาคม 1964 ที่สหรัฐกล่าวหาว่าเรือตอร์ปิโดของเวียดนามเหนือยิงเรือรบอเมริกัน สหรัฐตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือและในต้นปีต่อมา การทิ้งระเบิดได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกันนั้น สหรัฐก็ส่งทหารมาภาคใต้เพื่อทำลายกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในเดือนมกราคม 1969 ทหารเหล่านี้มีจำนวนมากกว่าครึ่งล้านคน การส่งทหารอเมริกันมารบในเวียดนามทำให้สหรัฐเห็นคุณค่าทางยุทธศาสตร์ของไทย คือ การตั้งอยู่ใกล้สมรภูมิซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการทหาร ไทยจึงได้รับบทบาทการเป็นผู้ให้บริการสหรัฐใน 3 ด้าน คือ การให้ที่ตั้งฐานทัพ, ที่ตั้งอุปกรณ์สืบราชการลับ และศูนย์พักผ่อนและพักฟื้นของทหารอเมริกัน จำนวนทหารอเมริกันภาคพื้นดินสูงสุดในปี 1968 คือ 11,494 คน และทหารอากาศสูงสุดในปี 1969 คือ 33,500 จำนวนเครื่องบินอเมริกันในปี 1969 มีประมาณ 600 เครื่อง สหรัฐได้สิทธิใช้ฐานทัพในไทย 7 แห่ง คือ ดอนเมือง โคราช นครพนม ตาคลี อุบลราชธานี และอุดรธานี มีการประมาณการว่าโดยรวมแล้วประมาณ 80% ของการทิ้งระเบิดของสหรัฐในเวียดนามไปจากฐานทัพในไทย รัฐบาลไทยยังส่งทหารร่วมรบกับสหรัฐในเวียดนามด้วยซึ่งเริ่มจากจำนวน 2,207 คน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1967 และสูงสุดในต้นปี 1969 คือมากกว่า 11,000 คน ความร่วมมือกับสหรัฐในสงครามเวียดนามซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องอธิปไตย ความมั่นคง และเกียรติภูมิแห่งชาติเกิดจากการกำหนดนโยบายในวงแคบที่สุดและมีลักษณะไม่เป็นทางการ ในช่วงเวลานี้ รัฐบาลทหารยังคุมอำนาจภายในได้มั่นคง นโยบายด้านความมั่นคงก็ถูกจำกัดในกลุ่มทหาร การตัดสินใจเรื่องเวียดนาม รวมทั้งการให้สหรัฐใช้สิ่งเกื้อหนุนการทำสงครามในประเทศไทยเกิดในกลุ่มผู้นำทหารและโดยเฉพาะผู้นำสูงสุด 3 คน คือ จอมพลถนอม กิตติขจร (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด), จอมพลประภาส จารุเสถียร (รองนายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีมหาดไทย) และ พล.อ. ทวี จุลทรัพย์ (รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย) การเจรจาทำข้อตกลงต่างๆ แทบทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างผู้นำทหารและสถานทูตสหรัฐในประเทศไทย ข้อตกลงสำคัญโดยเฉพาะการใช้ฐานทัพส่วนใหญ่ไม่มีลายลักษณ์อักษรและไม่เปิดเผยในเวลานั้น[5] เป็นไปได้ว่า การตัดสินใจนี้ในแง่หนึ่ง บุคคลเหล่านี้มีความเชื่ออย่างลึกซึ้งต่อภัยจากจีนและเวียดนามเหนือ และการส่งทหารไปรบในเวียดนามถูกอธิบายว่าเป็นการป้องกันคอมมิวนิสต์ให้ห่างไกลจากดินแดนไทยให้มากที่สุด ในอีกแง่หนึ่ง การสนับสนุนสหรัฐในเวียดนามช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแก่รัฐบาลทหารเพราะความช่วยเหลือจากสหรัฐมุ่งเป้าที่ความมั่นคงและโดยเฉพาะการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ทหารไทย ยิ่งกว่านั้น การลงทุนมหาศาลในไทยในด้านอุปกรณ์เกื้อหนุนสงครามทำให้สหรัฐต้องช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศกับรัฐบาลไปด้วย เมื่อนโยบายเวียดนามถูกกำหนดจากทัศนะและผลประโยชน์ของทหารเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ประเทศไทยแทบไม่ได้ปรับตัวเลยเมื่อสหรัฐส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายการทำสงครามซึ่งเห็นชัดตั้งแต่ปี 2512 แต่ผู้นำทหารไทยยังเรียกร้องต่อไปให้สหรัฐใช้นโยบายแข็งกร้าวในสงคราม อย่างไรก็ตาม สงครามเวียดนามได้ก่อกระแสการคัดค้านและต่อต้านในกลุ่มนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งซึ่งจะขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของสงคราม ในทัศนะคนเหล่านี้ รัฐบาลทหารร่วมมือกับสหรัฐทำสงครามที่ไร้ความชอบธรรมและไร้ศีลธรรม การต่อสู้ของชาวเวียดนามและอินโดจีนเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราชช ยิ่งกว่านั้น ฐานทัพและทหารอเมริกันในไทยได้ทำให้ไทยเสียเอกราชและอธิปไตย อีกทั้งสร้างความเสื่อมโทรมในสังคมด้วย สงครามเวียดนามยุติตามข้อตกลงปารีสในเดือนมกราคม 1973 และสหรัฐถอนทหารจากไทยในเวลาต่อมานั้น ประเทศไทยได้รับผลสะเทือนมากที่สุด ทั้งเพราะได้ร่วมในสงครามและได้ผูกพันความมั่นคงของประเทศไว้กับสหรัฐมายาวนาน และเหนืออื่นใดคือความโกรธแค้นเกลียดชังไทยของชาวอินโดจีน 3 ประเทศ ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย รัฐบาลพลเรือนในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 จึงต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากยิ่งในการปรับตัวให้อยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน  (คัดลอกจากบทความสงครามเวียดนาม ,ผู้เรียบเรียง จุฬาพร เอื้อรักสกุล, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร และ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต หน้าเพจฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า)

ลุงโฮ หรือโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) คือวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติของชาวเวียดนาม เป็นผู้ก่อตั้งกองทัพเวียดมินห์ (Viet Minh) ต่อสู้กับฝรั่งเศส จนได้รับอิสรภาพในปี 1954 ตาม “ข้อตกลงอนุสัญญาเจนีวา”  (Geneva Conventions) นั้น ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อรวมชาติ เวียดนามได้ถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือ เวียดนามเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมีโฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี มีกรุงฮานอยเป็นเมืองหลวง  ส่วนเวียดนามใต้ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมี โงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem) เป็นประธานาธิบดี และมีกรุงไซง่อนเป็นเมืองหลวง (คัดลอกบางส่วนจากบทความ สงครามเวียดนาม (ค.ศ.1955-1975) คอลัมน์เกร็ดประวัติศาสตร์,หน้าเพจ  Myfirstbrain.com)

ตามข้อตกลงเวนีวานั้น จะต้องมีการเจรจากันเพื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และรวมเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเดียวกัน ทว่า โงดินเดียมห์ นายกรัฐมนตรีของเวียดนามใต้ ได้ปฎิเสธการเจรจาโดยมีอเมริกาให้การหนุนหลังอย่างออกหน้า จากนั้นในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น โงดินเดียมห์ก็ขับไล่จักรพรรดิเบาได๋ออกนอกประเทศและตั้งตนเป็นประธานาธิบดีของเวียดนามใต้ พร้อมกันนั้นก็เร่งสร้างกองทัพและสะสมอาวุธ โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวเวียดนามจำนวนมากในเวียดนามใต้ไม่พอใจและทำการคัดค้าน ทว่า โงดินเดียมห์ ได้ปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง มีประชาชนถูกสังหารไปนับหมื่น ซึ่งทางเวียตนามเหนือก็ได้ประท้วงการกระทำของฝ่ายเวียดนามใต้อย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้นประชาชนเวียดนามใต้จึงตั้งแนวร่วมปลดปล่อยประชาชาติเวียดนามขึ้นและจัดตั้งกองทหารเพื่อป้องกันตัวเองจากอำนาจรัฐและดำเนินการต่อสู้กับรัฐบาลของโงดินเดียมห์ ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1960 ซึ่งฝ่ายตะวันตกเรียกแนวร่วมเหล่านี้ว่า
เวียดกงจากนั้น สงครามเวียดนาม ก็ระเบิดขึ้น โดยฝ่ายเวียดนามเหนือตัดสินใจใช้กำลังทหารทำสงครามเพื่อรวมประเทศเข้าด้วยกัน ในปี ค.ศ. 1961 เนื่องจากทราบว่า เวียดนามเหนือซึ่งโน้มเอียงไปทางฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับความช่วยเหลือจากจีนและโซเวียต สหรัฐอเมริกาจึงได้เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารให้กับเวียดนามใต้อีกหลายเท่า ทำให้การสู้รบในเวียดนามดุเดือดรุนแรงยิ่งขึ้น ภายใต้การปกครองของโงดินเดียมห์ การฉ้อราษฎรบังหลวงได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีตำรวจลับของรัฐบาลที่คอยคุกคามความปลอดภัยของประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ยากจนไม่อาจทนได้ กาประท้วงอย่างรุนแรงขยายวงไปทั่ว มีผู้ประท้วงโดยการเผาตัวตายหลายต่อหลายคนขณะเดียวกันทางสหรัฐเองก็เริ่มไม่พอใจในการปกครองของ โงดินเดียมห์ ที่นับวันจะไร้ประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลดีต่อการทำสงครามต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1963 ประธานาธิบดี จอห์น เอฟเคนเนดี้ ของสหรัฐจึงให้ฝ่ายทหารของเวียดนามใต้ทำการรัฐประหาร โค่นรัฐบาลโงดินเดียมห์ลง จากนั้นฝ่ายก่อการก็สังหารโงดินเดียมห์เสียในปีเดียวกัน นับแต่นั้นมา อำนาจการปกครองเวียดนามใต้ก็อยู่ในมือของคณะนายทหารภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ พร้อมๆ กับสงครามทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยสหรัฐได้เพิ่มการช่วยเหลือทางทหารให้แก่เวียตนามใต้และส่งกองบินทิ้งระเบิดไปโจมตีเวียดนามเหนือและเขตยึดครองของฝ่ายเวียตกงในเวียดนามใต้ นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังมีมติให้ส่งหน่วยนาวิกโยธินขึ้นบกที่เวียดนามใต้และเข้าร่วมรบโดยตรง จนในที่สุดก็มีกองทหารสหรัฐทำการรบในเวียตนามมากถึง 540,000 คน  ระหว่างที่สงครามดำเนินไปนั้น กองกำลังของเวียดนามเหนือ และเวียดกงบางส่วนได้เข้าไปตั้งมั่นระหว่างพรมแดนเวียดนามกับกัมพูชาและลาว ทำให้สงครามขยายเขตเข้าไปในสองประเทศนี้ด้วย ซึ่งในช่วงปลายของสงครามเวียดนาม กองบินทิ้งระเบิดสหรัฐได้ระดมทิ้งระเบิดในเขตภาคเหนือของลาวและบริเวณพรมแดนเวียดนามกับกัมพูชาอย่างหนัก เพื่อสกัดกั้นเส้นทางลำเลียงของฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่ก็ได้ผลสำเร็จไม่มากนัก ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1968 กองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลัง เวียดกงได้ทำการรุกใหญ่ โดยเข้าโจมตีเมืองต่างๆ ทั่วเวียดนามใต้ รวมทั้งกรุงไซง่อนไปพร้อมๆ กัน ทว่าภายในไม่กี่สัปดาห์ กองทัพฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ถูกผลักดันให้ถอยกลับพร้อมกับสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายเวียดนามเหนือจะพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ทว่าการรุกใหญ่ในปี ค.ศ. 1968 ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามเนื่องจากฝ่ายสหรัฐเริ่มผลักภาระการทำสงครามให้กับกองทัพเวียดนามใต้ ใน ปี.ค.ศ. 1969 ประธานาธิบดี โฮจิมินห์ ผู้นำฝ่ายเวียดนามเหนือได้ถึงแก่อสัญกรรมและเมื่อถึง ปี ค.ศ.1973 กองทหารสหรัฐกลุ่มสุดท้ายก็ถอนกำลังออกจากเวียดนามใต้ ทว่าสงครามเวียดนามยังดำเนินต่อมาอีกสองปี จนกระทั่งกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกงยกพลเข้ายึดกรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ได้ในเดือน เมษายน ปี ค.ศ. 1975 สงครามเวียดนาม ก็สิ้นสุดลง (คัดลอกบางส่วนจากบทความ สงครามเวียดนาม หน้าเพจของ Komkid.com)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น