วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (5) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 5



 
เรื่องที่  5  บาดแผลแห่งฮิโรชิมา และนางาซากิ



เหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโระชิมะและนะงะซะกิ เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ 67 เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐอเมริกาจึงได้ทิ้ง "ระเบิดปรมาณู" หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเล่นเรียกว่า "เด็กน้อย" หรือ "ลิตเติลบอย" ใส่เมืองฮิโระชิมะในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 1945 ตามด้วย "ชายอ้วน" หรือ "แฟตแมน" ลูกที่สองใส่เมืองนะงะซะกิโดยให้จุดระเบิดที่ระดับสูงเหนือเมืองเล็กน้อย นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม การระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ฮิโระชิมะ 140,000 คนและที่นะงะซะกิ 80,000 คนโดยนับถึงปลายปี ค.ศ.1945 จำนวนคนที่เสียชีวิตทันทีในวันที่ระเบิดลงมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่กล่าวนี้ และในระยะต่อมาก็ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บหรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดในทั้ง 2 เมืองเป็นพลเรือน หลังการทิ้งระเบิดลูกที่สองเป็นเวลา 6 วัน ญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกที่นับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (นาซีเยอรมนีลงนามตราสารประกาศยอมแพ้และยุติสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1945) การทิ้งระเบิดทั้งสองลูกดังกล่าวมีส่วนทำให้ประเทศญี่ปุ่นต้องยอมรับหลักการ 3 ข้อว่าด้วยการห้ามมีอาวุธนิวเคลียร์

แท้ที่จริงแล้วมีเบื้องลึกเบื้องหลังก็คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษและแคนาดา ได้ร่วมมือกันตั้งโครงการลับ "ทูบอัลลอยด์" และ "สถานีวิจัยคลาค รีเวอร์" เพื่อออกแบบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลูกแรก ภายใต้โครงการที่เรียกว่า "โครงการแมนฮัตทัน" ภายใต้การค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ และนักฟิสิกส์อเมริกัน นาม เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์  ระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่มเมืองฮิโระชิมะของญี่ปุ่น ที่ชื่อ "ลิตเติลบอย" นั้น ได้ใช้ ยูเรเนียม - 235, ลูกระเบิดลูกแรกถูกทดสอบที่ ทรีนิตี้, นิวเม็กซิโก ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 ส่วนระเบิดที่ใช้ถล่มนะงะซะกินั้นใช้ พลูโตเนียม – 239 ในวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ได้มีการคัดเลือกเป้าหมายที่ Los Alamos นำโดยเจ. โรเบิร์ต นักฟิสิกส์ ใน "โครงการแมนฮัตทัน" ได้แนะนำ เป้าหมายสำหรับระเบิดลูกแรก คือ เมืองเกียวโต, ฮิโระชิมะ, โยโกฮามา โดยใช้เงื่อนไขที่ว่า: เป้าหมายต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ไมล์และเป็นเขตชุมชุนที่สำคัญขนาดใหญ่  ,ระเบิดต้องสามารถทำลายล้างและสร้างความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ,เป้าหมายมียุทโธปกรณ์และที่ตั้งของทหารต้องได้รับการระบุที่ตั้งแน่นอน เพื่อป้องกันหากการทิ้งระเบิดเกิดข้อผิดพลาด

มาทำความรู้จักผู้คิดค้น หรือผลิตระเบิดนิวเคลียร์มหาวิบัติชนิดนี้ ที่ถูกนำไปหย่อนทิ้งยังเมืองฮิโรชิม่า,นางาซากิ ที่คร่าชีวิตผู้คนญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำลายทรัพย์สินเสียหายมากมายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เรามาดูกันว่าเขาคือใคร

Robert Oppenheimer เขาเกิดเมื่อ 22 เมษายน ปี 1904 ที่นิวยอร์ก ในครอบครัวที่มีฐานะดี ,Julius ผู้เป็นพ่อเป็นชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่อเมริกา พื้นเพทำธุรกิจเสื้อผ้า ในวัยเด็กนั้น Oppenheimer เป็นเด็กขี้อาย จึงมักถูกเพื่อนๆ รังแก ทำให้เป็นคนที่ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว และชอบอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ปลีกตัวอยู่ตามลำพัง เมื่ออายุ 21 ปี เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก Harvard (อาจารย์ที่ปรึกษาของเขาคือ Percy Bridgman : นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปี 1946) ในอีก 2 ปีต่อมาเขาก็สำเร็จปริญญาดุษฏีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Gottinggen ในเยอรมัน, อีก 2 ปีต่อมาเขาได้เป็นศาสตราจารย์สอนฟิสิกส์ ในมหาวิทยาลัยที่ Berkleey และที่ California Institute of Technology แห่งละ 6 เดือน ตลอดชีวิตการศึกษาและทำงานของเขา ได้ทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากมายหลายคน อาทิ Bridgman, M.Born เคยทำผลงานวิจัยร่วมกับ P.Ehrenfest, H.Kramers, W.Puali, และ R.Millikan ด้วย แต่เมื่อ Oppenheimer สมัครไปเรียนปริญญาเอกที่ Cambridge กับ E. Rutherford เขากับถูกปฏิเสธ จึงตัดสินใจที่จะวิจัยทฤษฏีฟิสิกส์แทน โดยเน้นการใช้กลศาสตร์ควอนทัม ศึกษาธรรมชาติของนิวเคลียสในระดับอะตอม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ช่วงปี ค.ศ.1943-1945) Oppenheimer ได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยมาเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงคราม ในโครงการ “Manhattan(โครงการลับสุดยอดของรัฐบาลอเมริกัน) ที่ Los Alamos ในมลรัฐ New Mexico และเมื่อสงครามสงบในปี 1947 เขาก็ได้งานใหม่เป็นอธิการบดีของ Institute for Advanced Study ที่ Princeton ซึ่งมี A.Einstein (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์) เป็นพนักงานประจำและเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติ (Atomic Energy Commission ; AEC)แต่เมื่อถึงเดือน เมษายน ปี 1954 เขาถูกสั่งให้ออกจากงานด้วยข้อกล่าวหาจาก AEC ว่าเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และต่อมาคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ท่าน ได้ลงมติ 5:1 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1954 ว่า Oppenheimer เป็นบุคคลอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ เพราะคบหาสมาคมกับคอมมิวนิสต์ และมีพฤติกรรมที่ชวนให้สงสัยหลายเรื่อง เป็นคำตัดสินของรัฐบาลอเมริกาในขณะนั้นให้แก่บุคคลผู้มีส่วนทำให้เกิดอาวุธขีปนาวุธนิวเคลียร์ และใช้อาวุธนี้พิชิตชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อญี่ปุ่น ไม่ต่างจากสุภาษิตที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”  ก็มิปาน  

เมื่อเอ่ยถึง Oppenheimer ทุกคนจะนึกถึงบุรุษวัย 38 ปี ผู้เป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Manhattan ที่ซึ่งได้รวบรวมนักฟิสิกส์ นักเคมี วิศวกรระดับหัวกะทิ จำนวนกว่า 6,000 คนในภารกิจสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำงานที่ Los Alamos รัฐ New Mexico เป็นโครงการลับสุดยอดที่ไม่ยอมให้ฝ่ายเยอรมันล่วงรู้อย่างเด็ดขาด ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมสร้างระเบิดมหาประลัย และให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกับกองทัพทหารอย่างใกล้ชิด อย่างหนักและรวดเร็ว ทุกคนต่างประจักษ์ว่า Oppenheimer คือบุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถประคับประคองและประสานความแตกต่างระหว่างความคิดเห็นอย่างเสรีของบรรดานักการเมืองและนักวิชาการกับความลับของทางทหารได้  Oppenheimer เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์และรัสเซียก็เคยส่งสายลับมาหาเขา ซึ่งขณะนั้นเขายังทำงานอยู่ในโครงการ Manhattan แต่เขาก็ไม่เคยบอกแก่ทางการสหรัฐเลยว่าเขาได้พูดคุยกับสายลับของรัสเซีย และเมื่อเขาถูกคาดคั้นโดยนายพล Leslie Groves ว่าให้บอกชื่อสายลับผู้นั้น หากไม่บอกจะต้องออกจากการเป็นผู้อำนวยการโครงการ เมื่อถูกรุกฆาต เขาจึงจำต้องบอกชื่อสายลับคนที่มาหาเขาว่าชื่อ Haakon Chevalier ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษที่ California อยู่ที่ Berkeley ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่ปี 1938 การเปิดเผยครั้งนี้ทำให้ Chevalier ต้องถูกรวบตัวสอบสวน และต้องตกงาน แต่ตัวเขายังคงได้ทำงานต่อ ในปี 1949 รัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูเป็นของตนเอง โลกเข้าสู่ยุคภาวะสงครามเย็น บรรดานักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์อเมริกาหลายคนจึงเห็นพ้องต้องกันว่าต้องสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังการทำลายสูงกว่าระเบิดปรมาณูหลายพันเท่า ซึ่ง Oppenheimer ไม่เห็นด้วย เขาจึงมีศัตรูและขัดแย้งกับกับบุคคลสำคัญหลายคน ท้ายที่สุดเขาจึงถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยอ้างอิงจากน้องชายของเขา Frank Friedman Oppenheimer และภรรยาที่ชื่อ Kitty Puenina ก็เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ Oppenheimer ยังเคยถูกดักฟังทางโทรศัพท์ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดย FBI และ CIA ด้วย, เมื่อมีประวัติด่างพร้อยเช่นนี้ และมีศัตรูทั้งที่เป็นทหารและนักวิชาการที่ทรงพลัง ในปี 1954 เขาก็ถูกปลดออกจากงานในข้อหาบุคคลผู้เป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เหมาะสมเป็นข้าราชการที่จะทำงานด้านป้องกันประเทศได้อีกต่อไป คำสั่งโดยประธานาธิบดี D.Eisenhower เขาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่ St.John  เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1967 Oppenheimer ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ เพราะสูบบุหรี่จัด และเสียชีวิตลงขณะอายุได้ 63 ปี เขาได้กล่าวก่อนสิ้นใจว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่ทำให้โลกมีระเบิดปรมาณู แต่ไม่เสียใจ"  (ถอดความบางส่วนจากบทความ J. Robert Oppenheimer หน้าเพจนักวิทยาศาสตร์ของโลก เว็บไซต์ MyFirstBrain.com)

เมื่อ Robert Serber เริ่มต้นบรรยายที่ห้องปฏิบัติการ Los Alamos ในรัฐ New Mexico ของสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายน ปี 1943 เขากล่าวว่า จุดประสงค์ของทุกคนในห้องประชุมนี้คือจะสร้างระเบิดเพื่อใช้ในสงครามโลก โดยอาศัยปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะเกิดเวลาอนุภาคนิวตรอนพุ่งชนนิวเคลียสของยูเรเนียม-235 ในห้องบรรยายนั้นมีนักฟิสิกส์ระดับสุดยอดของโลกนั่งฟังหลายคน เช่น Hans Bethe (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1967) Edward Teller (บิดาของระเบิดไฮโดรเจน) Richard Tolman (ศาสตราจารย์ฟิสิกส์แห่ง Cal Tech), Emil Konopinski (ศาสตราจารย์ฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัย Indiana), Felix Bloch (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1952) William Penney (บิดาระเบิดปรมาณูของอังกฤษ) ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ได้ถูกนำตัวมาอยู่ที่เดียวกันเพื่อระดมสมองสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก โครงการนี้มี Robert Oppenheimer เป็นผู้อำนวยการและมี Robert Serber เป็นมือขวา แม้คนที่นั่งฟังการบรรยายในครั้งนั้นเป็นบุคคลต่างๆ หลายอาชีพ เช่น นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักเคมี วิศวกร ทหาร ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตนถนัด แต่แทบไม่มีความรู้ในสาขาอื่นเลย กระนั้นทุกคนก็มีจุดประสงค์ร่วมกันคือ ต่อต้านลัทธินาซีของ Hitler และเพื่อให้โครงการบรรลุความมุ่งหมาย Oppenheimer ได้เลือก Serber มาเป็นรองผู้อำนวยการในโครงการ Manhattan เพื่อสร้างระเบิดปรมาณู และ Oppenheimer ได้มอบให้ Serber เป็นผู้อธิบายความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานเรื่องปฏิกริยา fission ที่จำเป็นในการจะสร้างระเบิดปรมาณูแก่ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ เพราะ Serber รู้ฟิสิกส์ของระเบิดมากกว่าใครทั้งหมด Serber นั้นได้รู้จักกับ Oppenheimer มาเป็นเวลานานก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติ ทั้งสองได้เคยพบกันมาก่อนที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเดียวกัน และสนิทสนมกันมากถึงระดับที่ Serber รู้ว่า Oppenheimer แอบมีความสัมพันธ์ลับกับ Jean Tatlock ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งรัสเซีย และเธอคนนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุแห่งการทำลายชื่อเสียงของ Oppenheimer จนย่อยยับในเวลาต่อมา  เมื่อ Serber เดินทางถึง Los Alamos ในเดือนเมษายน ค.ศ.1943 ในขณะนั้นห้องทดลองต่างๆ ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อม และเพื่อไม่ให้สายลับที่จะมาสอดแนมล่วงรู้อะไรๆ เกี่ยวกับความพยายามของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะสร้างระเบิดปรมาณู Oppenheimer ได้ออกคำสั่งไม่ให้ทุกคนใช้คำว่า ระเบิด แต่ให้ใช้คำว่า gadget (อุปกรณ์ขนาดเล็ก) แทน ส่วนเหตุผลหลักที่สหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจากฝ่ายสัมพันธมิตรให้เป็นผู้สร้างระเบิดปรมาณู เพราะอเมริกามีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร และงบประมาณ ในขณะที่อังกฤษรู้เพียงวิธีสร้าง แต่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่จะสร้างระเบิดได้จริง ลุถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1945 อเมริกาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรก และได้ทดลองให้ระเบิดที่สถานีทดลอง Trinity ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Los Alamos นัก Serber เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เห็นความสำเร็จครั้งนั้น จากนั้นไม่นานเขาก็บินไปที่เกาะ Tinian ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะ Mariana กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อช่วยในการประกอบลูกระเบิดที่จะใช้ถล่ม Hiroshima ทันที ถึงวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 Serber ได้บอกพลเอก Tibbets ผู้เป็นนักบินประจำเครื่องบินชื่อ Enola Gay ที่จะนำระเบิด (ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Little Boy) ไปทิ้ง ว่าไม่ต้องห่วงเรื่องภัยอันตรายจากการระเบิด เพราะเครื่องบินของท่านพลเอกมีเวลาหันหัวกลับทัน และ Serber ก็รู้สึกยินดีมากเมื่อได้ทราบว่า ระเบิดลงตรงเป้า และนักบินผู้ทิ้งระเบิดบินกลับถึงฐานทัพอย่างปลอดภัย สำหรับการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง (ชื่อเล่นว่า Fat Man) ที่ Nagasaki นั้น Serber ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้ถ่ายภาพการระเบิด แต่ปรากฏว่า ก่อนเครื่องบิน B-29 จะออกเดินทางเล็กน้อย ผู้บังคับเครื่องบินได้ตรวจพบว่า Serber ไม่มีร่มชูชีพ เขาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบิน ดังนั้นภาพการระเบิดของระเบิดปรมาณูที่ถล่ม Nagasaki จึงไม่มีให้โลกเห็น อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเดือนกันยายนของปีนั้น Serber กับ William Penney ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกสองคนแรกที่เดินทางไปสำรวจ Nagasaki และ Hiroshima เพื่อประเมินความเสียหาย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่า ที่ Nagasaki มีคนตาย 140,000 คน แต่เมื่อ Serber สัมภาษณ์หน่วยราชการลับของญี่ปุ่น เขาได้ตัวเลขของผู้เสียชีวิต 19,743 คน สูญหาย 1,927 คน และบาดเจ็บ 40,993 คน แม้จะได้เห็น และพบปะผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากมายด้วยตนเอง แต่ Serber ก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกดีใจลิงโลด หรือกล่าวคำขอโทษใดๆ ในจดหมายที่เขาเขียนถึง ภรรยา Charlotte เขากล่าวแต่เพียงสั้นๆ ว่า เมือง Nagasaki ที่เห็น คือ นรกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ในเวลาต่อมา Serber ยังยืนยันการสนับสนุนให้สหรัฐฯ ใช้ระเบิดปรมาณูยุติสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเขาและ Oppenheimer คิดว่าถ้าสหรัฐฯ ยกพลขึ้นบกที่ญี่ปุ่น ทหารอเมริกันอีกประมาณ 500,000 คนจะต้องเสียชีวิต หลังการเยือนญี่ปุ่นครั้งนั้น Serber ได้รายงานความเสียหายที่เกิดจากระเบิด รวมถึงระดับภัยกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
  
Robert Serber เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1909 ที่เมือง Philadelphia ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นบุตรคนหัวปีของ David Serber ซึ่งเป็นนักกฎหมาย กับ Rose ปู่ของ Serber ได้อพยพมาจากรัสเซีย Serber เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในเมือง Philadelphia และศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Lehigh ในเมือง Bethlehem รัฐ Pennsylvania หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Wisconsin แห่งเมือง Madison โดยมี John Van Vleck (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1977) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และได้ตีพิมพ์งานวิจัย 6 ชิ้นก่อนสำเร็จการศึกษา ซึ่งนับว่ามากกว่าคนทั่วไป จน Serber ไม่มั่นใจว่า งานวิจัยชิ้นใดในหกชิ้นเป็นหัวข้อของวิทยานิพนธ์ที่เขาต้องใช้เพื่อสำเร็จการศึกษา หลังสำเร็จปริญญาเอก Serber กับภรรยา Charlotte ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัย Princeton เพราะได้รับทุนวิจัยหลังปริญญาเอกของ National Research Council (NRC) ด้านฟิสิกส์ทฤษฎีเป็นเงิน 1,200 ดอลลาร์ (ซึ่งนับว่ามาก เพราะในสมัยนั้น Serber จ่ายค่าเช่าห้องเดือนละ 25 เหรียญ) ในช่วงที่เดินทางไป Princeton คู่สามีภรรยาได้แวะที่เมือง Ann Arbor เพื่อเข้าโปรแกรมอบรมฟิสิกส์ระดับสูงในช่วงฤดูร้อน และได้พบกับ Robert Oppenheimer เป็นครั้งแรก การรู้จักกันในครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตของ Serber ถึงจุดเปลี่ยน เพราะ Serber ตัดสินใจไม่รับทุนวิจัยของ NRC แต่สมัครไปทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ Berkeley แทน เพราะที่นั่นมี Oppenheimer เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยฟิสิกส์ทฤษฎีเรื่องสนามควอนตัม Serber เข้าทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์กับ Oppenheimer และได้พบว่า ในปฏิกริยานิวเคลียร์ใดๆ ปริมาณ isospin ของระบบจะมีค่าคงตัว นอกจากจะได้พบแรง Serber ที่เกิดระหว่างคู่นิวคลีออนที่มีโมเมนตัมเชิงมุมเป็นจำนวนเต็มคู่แล้ว Serber ยังได้ศึกษาทฤษฎีของกำเนิดรังสีคอสมิก และองค์ประกอบของดาวฤกษ์ด้วย สำหรับความเห็นส่วนตัวของ Serber ที่มีต่อ Oppenheimer นั้น Serber คิดว่า Oppenheimer รู้ฟิสิกส์ดีระดับสุดยอด แต่ทำงานคณิตศาสตร์ไม่รอบคอบ แม้ Serber จะชอบบรรยากาศที่ Berkeley มาก แต่เขาก็ไม่เป็นที่ชื่นชมในบรรดาอาจารย์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อได้รับการทาบทามจากมหาวิทยาลัย Illinois ที่ Urbana ให้เป็นอาจารย์ Serber จึงตัดสินใจลาออกจาก Berkeley แต่ก็ยังเขียนจดหมายติดต่อกับ Oppemheimer อย่างสม่ำเสมอ จนถึงคริสตมาสของปี 1941 หลังจากที่ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดที่ Pearl Harbor เล็กน้อย Serber ก็ได้รับโทรศัพท์จาก Oppenheimer ว่า จะเดินทางมาหาที่ Urbana เพื่อปรึกษาเรื่องสำคัญ ขณะทั้งสองเดินสนทนากันที่ไร่ข้าวโพด Oppenheimer ได้บอก Serber ว่า ตนได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าโครงการสร้างระเบิดปรมาณู และได้ขอให้ Serber เป็นผู้ช่วย ซึ่ง Serber ก็ตอบตกลง หลังจากที่สงครามโลกยุติ Serber ได้ไปทำงานกับ Ernest Lawrence (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1939) ที่ Radiation Laboratory ที่ Berkeley และ Lawrence ได้ส่ง Serber ไป Washington ในเดือนตุลาคม 1949 เพื่อเข้าร่วมอภิปรายกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เรื่องการสร้างระเบิดไฮโดรเจนของอเมริกา Serber รู้สึกประหลาดใจมากที่ Oppenheimer ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างระเบิดไฮโดรเจน การขัดขวางเรื่องนี้ทำให้ Oppenheimer ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ และถูกหน่วยสอบสวนราชการลับ (FBI) สอบสวนหนัก ด้าน Serber เองถูกทนายของ Oppenheimer สั่งห้ามไม่ให้ติดต่อกับ Oppenheimer อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ Oppenheimer เสื่อมเสียที่ภรรยาของ Serber เคยข้องแวะและติดต่อกับเพื่อนชาวรัสเซีย การนิ่งเงียบของ Serber ทำให้ Oppenheimer รู้สึกเจ็บปวดมาก หลังจากที่ทุกคน ฆ่า” Oppenheimer แล้ว Serber จึงรู้ความจริงในภายหลังว่า ทนายตัวแสบได้แอบอ้างคำสั่งของ Oppenheimer โดยพลการ ในปี 1951 Serber ขอลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่ Berkeley เพื่อไปทำงานที่มหาวิทยาลัย Columbia เพราะรู้สึกไม่พอใจ Lawrence ที่มีนโยบายอนุรักษ์นิยมให้อาจารย์ทุกคนของมหาวิทยาลัยสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ต่อประเทศชาติ ในปี 1967 เมื่อภรรยา Charlotte ของ Serber เสียชีวิตด้วยโรคพาร์กินสัน และ Oppenheimer ก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา Serber กับ Kitty ภรรยาหม้ายของ Oppenheimer ได้ตกลงวางแผนจะวิวาห์กัน แต่ Kitty ได้เสียชีวิตขณะทั้งสองเดินทางไป Panama  Serber จึงจัดการลอยเถ้าอังคารของ Kitty กับ Oppenheimer ร่วมกันที่ Virgin Islands ตั้งแต่ปี 1975-1978 Serber ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Columbia และได้แต่งงานใหม่กับ Fiona St. Clair  ในปี 1983 Serber นำจดหมายที่มีลายเซ็นของนักฟิสิกส์ 10,000 คน ไปให้เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งจดหมายนั้นมีเนื้อหาขอให้ทุกชาติที่มีระเบิดนิวเคลียร์ยุติการทดลองและสร้างระเบิดมหาประลัยนี้ ในปี 1997 Serber เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1997 ที่ New York City สิริอายุ 88 ปี ลูกศิษย์ระดับปริญญาเอกของ Serber ชื่อ Leon Cooper ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1957 (อ้างอิงข้อมูลจาก Peace and War: Renaissances of a Life on the Frontiers of Science โดย Robert Serber และ Robert P. Crease จัดพิมพ์โดย Columbia University Press ปี 1998 แปลและเรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์สุทัศน์ ยกส้าน,บทความชื่อRobert Serber มือขวาผู้สร้างระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา,ผู้จัดการออนไลน์ ,4 กรกฏาคม 2557)


แม้กาลเวลาจะผ่านมาครบ 70 ปีแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าบาดแผลและความปาวร้าวของคนญีปุ่นจากระเบิดปรมาณูที่อเมริกาถล่มฮิโรชิม่ากับนางาซากิจะยังอยู่ในความทรงจำไปชั่วกาลนาน วันที่  9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เป็นวันที่ลุงแซมโจมตีเมืองนางาซากิ ด้วยการนำระเบิดปรมาณูในชื่อไอ้อ้วน หรือ Fat Man ไปหย่อนใส่เป็นการสั่งสอนและล้างแค้นโทษฐานที่พี่ยุ่นลักลอบไปถล่มเพิร์ลฮาเบอร์แบบอหังการ์ก่อนหน้านั้น การบินไปถล่มเพิร์ลฮาเบอร์เท่ากับว่าเป็นการฟาดกะบาลลุงแซมอย่างจัง เพราะผลจากการทิ้งระเบิดหนนั้นทำให้ผู้คนตายเป็นเบือโดยเฉพาะทหารอเมริกัน จนคนอเมริกันเคียดแค้นแสนสาหัสพาลเกลียดคนญี่ปุ่นอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู สื่อมวลชนป้ายสีให้ผู้นำฝ่ายอักษะดูน่าเกลียดน่ากลัวผิดมนุษย์เป็นการโฆษณาชวนเชื่อแทบทุกวัน ก่อนหน้าที่ลุงแซมจะถล่มทั้ง ฮีโรชิม่า และ นางาซากิ ก็ปูพรมทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ 67 เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือนจนแทบไม่เหลือดี ต่อมาลุงแซมถือโอกาสทดลองทางการทหารแบบจัดหนัก  จึงงัดระเบิดนิวเคลียร์ที่มีชื่อเล่นเรียกว่า "พ่อหนูน้อย" หรือ "Little Boy" แต่พิษสงแสบทรวงเหลือรับไปถล่มใส่เมืองฮิโรชิม่าในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1945 ตามด้วย "ไอ้อ้วน"หรือ "แฟตแมน" ลูกที่สองใส่เมืองนางาซากิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิม่า 140,000 คนและที่นางาซากิ 80,000 คน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยการบาดเจ็บหรือจากการรับกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิดอีกนับหมื่นคน ที่น่าเศร้าที่สุดคือผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นพลเรือน หลังการทิ้งระเบิดลูกที่สองญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงคราม และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายนปีนั้น


เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมีการจัดงาน 70 ปีที่ลุงแซมทิ้งบอมส์ญี่ปุน แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเป็นเวลา 70 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีคำว่า ขอโทษจากฝ่ายลุงแซมแม้แต่ครั้งเดียว  เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจำเป็นหรือที่จะต้องใช้ระเบิดปรมาณูกับญี่ปุ่น แม้ว่าพี่ยุ่นก็ซ่าสุดฤทธิ์สุดเดชเอาเรื่องไม่ใช่น้อย  แต่ตอนนั้นญี่ปุ่นบอบช้ำมากจนกำลังจะยอมแพ้สงครามอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีระเบิดปรมาณุมาประเคนให้ถึงบ้านก็ตามที ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นบุกนานกิงและกระทำทารุณกรรมกับชาวนานกิงไว้อย่างโหดร้าย ทั้งฆ่าทั้งข่มขืน รวมทั้งเอาชาวจีนมาเป็นเครื่องทดลองอาวุธอย่างทรมาณ พลเมืองนานกิงเสียชีวิตจากการบุกของกองทหารญี่ปุ่นนับแสนคน นอกจากนี้ไทยเราย่อมรู้ลึกซึ้งดีว่า กองทัพญี่ปุ่นแผ่ขยายอำนาจเพื่อรุกรานและครอบครองลงมาถึงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย จากนั้นก็จับมือกับมุสโสลินีผู้นำอิตาลีและฮิตเลอร์ร่วมวงไพบูลย์ก่อสงครามโลก และที่สุดของความอหังการ์ไร้ขีดจำกัดของญี่ปุ่นคือ บังอาจกระโดดถีบหน้าลุงแซมซึ่งนั่งกินแฮมเบอร์เกอร์แกล้มโค้กดูสงครามโลกอยู่วงนอก เมื่อเหลียวดูรอบๆ ก็เจอพี่ญี่ปุ่นเท้าสะเอวส่งเสียงล้งเล้งๆ ลุงแซมเองก็สันดานไม่ค่อยน่ารักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเลยวางแฮมเบอร์เกอร์แล้วควักระเบิดขึ้นเครื่องไปถล่มให้หายซ่า พูดง่ายๆว่าโหดต่อโหดมาเจอกันนั่นเอง ผู้ที่ออกคำสั่งให้ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มญี่ปุ่นคือ ประธานาธิบดีทรูแมน มิหนำซ้ำยังยืดอกรับเครดิตในครั้งนั้นว่าระเบิดสองลูกนั้นช่วยปกป้องพลเมืองโลกได้อีกมากมายเพราะญี่ปุ่นยอมแพ้ แต่ไม่ยักออกมาบอกว่าตัวเองเข่นฆ่าพลเรือนญี่ปุ่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปเท่าไหร่ หากสืบสาวประวัติศาสตร์กันจริงๆ ลุงแซมก็โกหกคำโตไว้มากมายในกรณีนี้ เช่น ทรูแมนออกประกาศว่าจะทิ้งระเบิดในเขตทหารเท่านั้น แต่เกิดพลิกผันอย่างไรก็ไม่รู้ ทำให้ระเบิดหล่นไปยังโซนบ้านเรือนประชาชนทั่วไป ซึ่งภาวะนาทีนั้นโหดร้ายมาก คนที่เสียชีวิตจากไปแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะกลายเป็นขี้เถ้าหายวับในพริบตา ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้สมัยเด็กๆ ดูจบแล้วก็หวาดกลัวระเบิดปรมาณูที่สุด ยังจำได้ติดตาว่าร่างคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นหายวับไปเลย ลึกๆ แล้วลุงแซมไม่สนใจหรอกว่าจะทิ้งระเบิดไปโดนหัวใครบ้าง เพราะแค้นฝังหุ่นที่พี่ยุ่นบังอาจกระโดดถีบหน้าคราวเพิร์ลฮาเบอร์ เพราะหากค้นเอกสารเก่าๆ จะเห็นว่าประธานาธิบดีทรูแมนตอแหลได้ใจมาก ปากพูดออกอากาศให้คนอเมริกันฟังอย่างเคลิบเคลิ้มว่า การทิ้งระเบิดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำจริงๆ และอาจจะมีผู้เสียชีวิตบ้าง โดยเน้นว่าทำลงไปเพื่อรักษาชีวิตทหารอเมริกัน ฟังแล้วหวานได้ใจอเมริกันทั้งประเทศ เพราะใครๆ ก็อยากให้ทหารอเมริกัน ซึงเป็นพ่อ ลูกชาย หรือพี่น้องตนเองกลับบ้านด้วยกันทั้งนั้น แต่หลักฐานอีกชิ้นที่บ่งบอกความตอแหลของผู้นำอเมริกาคือ โทรเลขที่ส่งถึงสมาชิกวุฒิสภาริชชาร์ด รัสเซล ของจอร์เจียสั้นๆ ว่า  คงจะทำตามที่คุณบอกมาไม่ได้เพราะญี่ปุ่นนั้นคือสัตว์ร้ายและไม่มีกฎกติกามารยาททางการรบ จึงต้องจัดการให้สาสมในแบบเดียวกัน ทั้งๆที่ผมเองก็เสียใจที่ต้องกำจัดพวกชาวเมืองเหล่านั้น แต่ช่วยไม่ได้เพราะพวกเขามีผู้นำที่โง่เง่า แม้ว่าจะเห็นใจเด็กและสตรีอยู่บ้าง  ก็ลุงแซมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วนี่นะ จะให้เชื่อฟังทุกอย่างเหมือนหมาน้อยกระดิกหางรับก็คงเป็นไมได้ไม่หรอก ยกเว้นคนบางกลุ่มที่ศรัทธาวิถีเสรีภาพของลุงแซมอย่างเหลือล้น เอกสารเหล่านี้มีปรากฎชัดเจนในประวัติศาสตร์  สามารถสืบค้นและหาอ่านได้ไม่ยาก  ความสะเทือนใจที่สุดในเหตุการณ์โลกครั้งนี้คือ ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากระเบิดทั้งสองลูกนับแสนคน รวมทั้งที่ทยอยเสียชีวิตหลังจากถูกกัมมันตรังสีอีกหลายสิบปี ถือเป็นโศกนาฎกรรมครั้วสำคัญไม่ต่างไปจากการที่ชาวยิวถูกสังหารหมู่ในค่ายกักกันนาซี สงครามนั้นเต็มไปด้วยความโหดร้ายและแทบไม่น่าเชื่อว่าเราจะทำลายกันและกันอย่างผิดมนุษย์เพียงเพราะอยากได้ชัยชนะเท่านั้นเอง (คัดลอกจากบทความ บาดแผลแห่งฮิโรชิมา ,คอลัมน์ แก้ผ้าลุงแซม โดย...เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้,แนวหน้าออนไลน์ ,8 กันยายน 2558)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น