วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (6) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 6

เรื่องที่ 6  เส้นขนานที่ 38 ที่มาของการแบ่งแยกดินแดนเป็นเกาหลีเหนือ-ใต้

เส้นขนานที่ 38 คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
บริเวณเส้นขนานที่ 38 นี้ ถูกกั้นให้เป็นเขตกันชนระหว่างสองประเทศ ขนาดกว้าง 4 กิโลเมตร และยาว 248 กิโลเมตร ไปจนตลอดเส้นแบ่งเขตแดน โดยถือว่าเป็นเขตปลอดทหารเกาหลี หรือที่เรียกว่า DMZ (Demilitarized Zone)  แต่นอกจาก DMZ จะเป็นเขตชายแดนและเขตปลอดทหารแล้ว ที่นี่ก็ยังถือเป็นเขตท่องเที่ยวพิเศษของเกาหลีใต้ โดยนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถเยี่ยมชมจุดต่างๆ ได้ตามที่กำหนดไว้ แต่ต้องทำการซื้อทัวร์จากบริษัททัวร์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลเกาหลีใต้แล้วเท่านั้น ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเขต DMZ ด้วยตัวเองได้ ส่วนพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับเกาหลีเหนือได้ใกล้ชิดมากที่สุด (ผ่านเขตแดนของเกาหลีใต้) เรียกว่า JSA (Joint Security Area) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขต DMZ และอยู่ภายใต้การควบคุมของเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหประชาชาติ (UN) และชาติเป็นกลางอื่นๆ ถือเป็นพื้นที่ตรงกลางที่มีไว้เพื่อการเจรจา และจุดสำคัญที่สุดก็คือบริเวณ Panmunjeom (พันมุนจอม) หรืออนุสาวรีย์รำลึกถึงสงครามเกาหลี ถึงแม้จะมีชื่อว่า เกาหลีเหมือนๆ กัน แต่ เกาหลีเหนือ” (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) และ เกาหลีใต้” (สาธารณรัฐเกาหลี) กลับถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยความแตกต่างด้านแนวความคิดทางการเมือง โดยมีเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ หรือ เส้นขนานที่ 38” เป็นเส้นแบ่งเขตแดนของทั้งสองประเทศ

สงครามเกาหลี เป็นสงครามระหว่างประเทศเกาหลีเหนือกับประเทศเกาหลีใต้ เหตุการณ์อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 1950 ถึง 27 กรกฏาคม 1953 นักประวัติศาสตร์ของโลกขนานนามสงครามเกาหลี ว่าเป็นสงครามตัวแทนของประเทศมหาอำนาจ 2 ขั้ว (ระหว่างสหรัฐกับจีนบวกรัสเซีย) ในช่วงยุคสงครามเย็น จนกลายเป็นโมเดลต้นแบบของสงครามตัวแทน มาจนถึงยุคปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของสงครามเกาหลี เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลายศตวรรษที่ผ่านมา เกาหลีเป็นประเทศที่ถูกรุกรานจากจีนและญี่ปุ่นหลายครั้ง  จีนมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อเกาหลีเป็นอันมาก หลังจากที่ญี่ปุ่นชนะจีนในสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ในช่วงปี 1894-1895 ญี่ปุ่นก็คงกองกำลังทหารเอาไว้ในเกาหลีและยึดครองพื้นที่ส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศเกาหลีเอาไว้ อีก 10 ต่อมา เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ญี่ปุ่น ช่วงปี 1904-1905 ญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะในสงครามทางเรือต่อรัสเซีย ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมใหม่ในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่นยังคงยึดครองเกาหลีต่อไปและขยายการควบคุมดินแดนต่างๆ ของประเทศเกาหลีโดยใช้กำลังทหาร และในที่สุด ญี่ปุ่นก็ผนวกเกาหลีเข้าเป็นดินแดนของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ปี 1910 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แบ่งแยกดินแดนของเกาหลีออกเป็นสองส่วน โดยส่วนทางเหนือยกให้สหภาพโซเวียตเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ขณะที่ส่วนใต้ก็ให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปดำเนินการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น โดยมีเส้นแบ่งระหว่างดินแดนทั้งสองส่วนอยู่ที่เส้นรุ้ง ละติจูดที่ 38 องศาเหนือ ตามแผนที่โลก (รูปภาพประกอบ)
 

กล่าวคือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร อยู่ฝ่ายเดียวกัน แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน แต่ก็ยังเป็นพวกเดียวกันอยู่ และต่อสู้ สู้รบอยู่กับฝ่ายอักษะที่มีเยอรมัน ญี่ปุ่นเป็นแกนนำ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด เยอรมันและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรที่เป็นผู้ชนะจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้าไปดำเนินการ จัดแบ่งผลประโยชน์ในฐานะผู้ชนะสงครามในส่วนต่างๆ ของโลก เกาหลีในตอนนั้นตกเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นจึงถูกฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าไปดูแลความเรียบร้อย ส่วนสาเหตุที่ต้องแบ่งออกเป็นสองส่วนนั้นก็เพราะว่า เกาหลีตอนเหนือนั้นติดอยู่กับจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ สหรัฐเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน จึงยินยอมให้รัสเซียเข้าไปดำเนินการ ส่วนดินแดนตอนล่างเป็นคาบสมุทรติดทะเล สหรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยมจึงเข้าไปจัดการเอง โดยตกลงกันว่าจะแบ่งเขตการดูแลเป็นสองส่วน บริเวณเส้นขนานที่ 38 เป็นตัวแบ่ง เกาหลีจึงถูกปกครองโดยประเทศมหาอำนาจสองฝ่ายนับแต่นั้นมา โดยไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ และแม้แต่เสียงที่จะคัดค้านได้ การที่สหภาพโซเวียตยินยอมที่จะรับเงื่อนไขข้อตกลงแบ่งเกาหลีเป็นสองส่วน แทนที่จะขอเข้าไปแก่งแย่ง แข่งกับสหรัฐยึดครองดินแดนเกาหลีทั้งหมด ก็เพราะมองเห็นว่าการได้ดินแดนบางส่วนในเกาหลี ดีกว่าต้องไปเจรจาแบ่งเขตยึดครองกับฝ่ายเสรีนิยมในยุโรปตะวันออก จากนั้นกองทัพของสหภาพโซเวียตได้ปลดปล่อยเกาหลีจากจักรวรรดิญี่ปุ่นทางด้านเหนือ 1 สัปดาห์ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะเข้าไปทางด้านใต้ จากข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมไว้ กองทัพของโซเวียตจึงหยุดกองทัพอยู่แค่เส้นขนานที่ 38

ลำดับเหตุการณ์ และความเป็นมาที่ก่อให้เกิดสงครามเกาหลี และการแบ่งแยกดินแดนเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ มีที่มาอย่างไร

เกาหลีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาไม่น้อยกว่า 5,000 ปี และตลอดระยะเวลาที่ยาวนานนั้นเกาหลีเต็มไปด้วยสงครามตลอดมา เพราะที่ตั้งของประเทศเกาหลีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างญี่ปุ่น จีน และอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้จีนและญี่ปุ่นต่างต้องการที่จะเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเกาหลี ทำให้ประเทศทั้งสองเข้ารุกรานเกาหลีตลอดมา ในช่วงต้นและกลางศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1910 1945) ญี่ปุ่นได้เข้าครอบครองเกาหลีไว้ทั้งประเทศแล้วเปลี่ยนชื่อประเทศเกากลีเป็น ประเทศโซเซน” (Chosen) เมื่อญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีจึงได้รับเอกราชตามคำประกาศแห่งไคโรของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งการได้รับเอกราชของเกาหลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทำให้เกาหลีถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 เขตการยึดครอง คือ เขตยึดครองของโซเวียตและเขตยึดครองของสหรัฐ (ตั้งแต่บริเวณใต้เส้นขนานที่ 38) ซึ่งต่อมาเขตยึดครองของมหาอำนาจทั้งสองกลายมาเป็นประเทศเกาหลี 2 ประเทศในปัจจุบัน คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สงครามเกาหลี เป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น ซึ่งเริ่มต้นสู้รบกันอย่างเต็มรูปแบบในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลีในวันที่ 25 มิถุนายน 1950 จนกระทั่งมีการทำสัญญาสงบศึกกันในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 มีผลให้เกิดการจัดตั้งเขตปลอดทหาร ดินแดนถูกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามเส้นขนานที่ 38 เมื่อมองในมุมแคบๆสงครามเกาหลีเป็นการยกระดับสงครามกลางเมืองเกาหลีที่ทำการต่อสู้ระหว่าง 2 ระบอบที่มีมหาอำนาจให้การสนับสนุน ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามที่จะโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามโดยผ่านกรรมวิธีทางการเมืองและยุทธวิธีกองโจร แต่ถ้ามองในมุมกว้างก็จะพบว่า ความขัดแย้งได้ถูกขยายให้รุนแรงขึ้นโดยการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าสงครามเกาหลี นั่นคือ สงครามเย็น (25 มิ.ย. 1950 27 ก.ค. 1953) ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เกาหลีถูกรุกรานจากจีนและญี่ปุ่นหลายครั้ง หลังจากที่ญี่ปุ่นชนะจีนในสงครามจีนกับญี่ปุ่น (Sino – Japanese War 1894 1895) แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงกำลังทหารไว้ในเกาหลีและยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางยุทธศาสตร์ของประเทศเกาหลีไว้ และอีก 10 ปีต่อมา ญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะในสงครามทางเรือต่อรัสเซีย ญี่ปุ่น (Russo – Japanese War 1904 1905) ทำให้ญี่ปุ่นมาเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ญี่ปุ่นจึงยังยึดครองเกาหลีต่อไปและขยายการยึดครองไปยังดินแดนต่างๆ ของประเทศเกาหลีโดยใช้กำลังทหาร จนในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้ผนวกเกาหลีเป็นดินแดนของญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม 1910 

เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเกาหลี ญี่ปุ่นจัดการฟื้นฟูประเทศเกาหลีให้มีความก้าวหน้าตามนโยบายจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่น เช่น ผลักดันให้เกาหลีมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่ประชากรชาวเกาหลีกลับได้ผลประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังกดขี่เกาหลีทางด้านวัฒนธรรมด้วย เช่น ห้ามใช้ภาษาเกาหลี และเมื่อชาวเกาหลีกลุ่มใดเรียกร้องเสรีภาพ ญี่ปุ่นจะให้ตำรวจเข้าทำการปราบปราม จึงทำให้ชาวเกาหลีดิ้นรนแสวงหาอิสรภาพอย่างเต็มที่ ในที่สุดได้เกิด ขบวนการซามิวหรือ ขบวนการ 1 มีนาคมขึ้นในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งขบวนการซามิวนี้ประกอบด้วยฝูงชนที่ปราศจากอาวุธจำนวนมาก พากันเดินขบวนเรียกร้องให้ชาวโลกช่วยเกาหลีให้หลุดพ้นจากความเป็นทาสของญี่ปุ่น แต่การปฏิบัติการของขบวนการซามิวไม่สำเร็จผล บรรดาผู้นำในการกอบกู้เอกราชของเกาหลีจึงได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในประเทศจีน โดยตั้งให้นายซิงมัน รี เป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัฐบาลเกาหลี แต่ต่อมาไม่นานรัฐบาลพลัดถิ่นดังกล่าวเกิดการแตกแยกเป็นหลายฝ่าย ในที่สุดกลุ่มที่นิยมโซเวียตก่อตัวเป็นกองโจรแล้วต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตามบริเวณพรมแดนที่ติดต่อระหว่างเกาหลีกับแมนจูเรีย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นปรปักษ์ต่อคอมมิวนิสต์ซึ่งทำการต่อต้านอย่างดุเดือดเช่นเดียวกับกลุ่มนิยมโซเวียต และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อคอมมิวนิสต์ได้เข้าร่วมกับกองทัพจีน ส่วนนายซิงมัน รี เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อหาทางกอบกู้เอกราชให้เกาหลีโดยวิถีทางการทูตและการเมือง แต่ความแตกแยกทางความคิดของรัฐบาลพลัดถิ่นของเกาหลีในจีนก็ยังคงมีอยู่

ประเทศมหาอำนาจเข้ามามี่ส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาท อำนาจกับประเทศเกาหลีได้อย่างไร

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากพันธมิตรจะประกาศให้เกาหลีเป็นเอกราชแล้ว สหรัฐอเมริกากับอดีตสหภาพโซเวียตยังตกลงกันว่า เมื่อชนะสงครามแล้วจะใช้เส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งเขต สำหรับควบคุมกองทหารญี่ปุ่นของแต่ละฝ่าย และเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1945 กองทัพสหรัฐอเมริกาเคลื่อนกำลังไปในดินแดนเกาหลีตั้งแต่ใต้เส้นขนานที่ 38 ลงมา ส่วนสหภาพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้าไปในเกาหลีตั้งแต่บริเวณเหนือเส้นขนานที่ 38 ขึ้นไป และแต่ละฝ่ายจัดตั้งการปกครองในเกาหลีทั้ง 2 เขตตั้งแต่นั้นมา จึงก่อให้เกิดการแบ่งแยกประเทศเกาหลีออกเป็น 2 ประเทศ แต่สหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดังกล่าวจึงขัดขวางโดยเสนอให้รวมเกาหลีทั้ง 2 เป็นประเทศเดียวกัน ซึ่งทางสหภาพโซเวียตเห็นด้วยแต่มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลที่จะปกครองเกาหลีต้องเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นตามเงื่อนไขของสหภาพโซเวียตเท่านั้น สหรัฐอเมริกาจึงนำปัญหานี้เสนอต่อองค์การสหประชาชาติพิจารณาเมื่อกันยายน ค.ศ. 1947 ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติให้เลือกตั้งทั่วไปในเกาหลีและให้อยู่ในความควบคุมของสหประชาชาติ แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธความร่วมมือ และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 จึงมีการเลือกตั้งทั่วไปในเกาหลีเฉพาะเขตที่อยู่ในการยึดครองของสหรัฐอเมริกาเพียงเขตเดียวเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งสมาชิกประจำสมัชชาแห่งชาติของเกาหลี หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นสมัชชาแห่งชาติเกาหลีได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 และในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1948 สมัชชาแห่งชาติเกาหลีประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเกาหลีขึ้นเป็นทางการ โดยมีนายซิงมัน รี เป็นประธานาธิบดีคนแรก และขณะเดียวกันในช่วงต้นปี ค.ศ. 1946 สหภาพโซเวียตก็ตอบโต้ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาปกครอง ในดินแดนยึดครองของตนเองบ้าง โดยมีนายคิม อิล - ซุง เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ซึ่งเป็นไปในแนวทางคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาวเกาหลีจำนวนมากที่อยู่ในเขตการปกครองนี้หนีลงข้ามเส้นขนานที่ 38 มาอาศัยในเขตที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเกาหลีขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1948 สหภาพโซเวียตจึงจัดตั้งเขต ยึดครองของตนเป็นประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีมีนายคิม อิล ซุง เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล และเมื่อจัดตั้งประเทศเกาหลีเหนือสำเร็จ สหภาพโซเวียตจึงถอยทัพออกไปจากดินแดนเกาหลีเหนือนับแต่นั้นมา เกาหลีจึงกลายเป็น 2 ประเทศ โดยมีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งดินแดน

เหตุการณ์ที่เกิดกับเกาหลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มหาอำนาจผู้ชนะสงครามได้วางแผนให้สู้รบกันเอง เพราะการแบ่งแยกประเทศและการแบ่งแยกแนวความคิดทางการเมือง และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้วชาวเกาหลียังต้องจับอาวุธรบกันเองครั้งยิ่งใหญ่ เพราะเหตุที่มหาอำนาจ ยัดเยียดหรือ ส่งเสริมแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กับชาวเกาหลีนั่นเอง ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีเหนือเคลื่อนผ่านเส้นขนานที่ 38 มายังเกาหลีใต้ ดินแดนเกาหลีต้องประสบกับภาวะสงครามครั้งยิ่งใหญ่นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สงครามครั้งนี้เรียกกันว่า สงครามเกาหลีเป็นสงครามที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานถึง 4 ปี (ค.ศ. 1950 1953) เกาหลีเหนืออ้างว่ากองทัพสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้โดยการนำของ ซิงมัน รี ผู้ขายชาติ ได้บุกรุกข้ามชายแดนมาก่อน และซิงมัน รี จะต้องถูกจับกุมตัวและประหารชีวิต ในสงครามครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วเกาหลีเหนือมียุทโธปกรณ์และกองกำลังที่เหนือชั้นกว่าเกาหลีใต้อยู่มาก ทำให้กองทัพเกาหลีเหนือเข้าจู่โจมและได้รับผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้กองทัพเกาหลีเหนือยึดกรุงโซลได้ในบ่ายวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1950 แต่อย่างไรก็ตาม ความหวังของเกาหลีเหนือที่จะได้รับการยอมแพ้จากรัฐบาลของ ซิงมัน รี และทำการรวมชาติได้อย่างรวดเร็วก็ได้สลายไปเมื่อสหรัฐอเมริกาและชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้าแทรกแซงและขยายสงครามกลางเมืองเป็นความขัดแย้งนานาชาติ

สหรัฐอเมริกาคือตัวการสำคัญที่ทำให้การรวมประเทศเกาหลีเกิดอุปสรรค และคงสถานะ 2 ประเทศจนถึงทุกวันนี้

ประธานาธิบดี ทรูแมน ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้เดินทางไปที่สหประชาชาติเพื่อขอคำอนุมัติ ในการนำกำลังสหประชาชาติเข้าทำการยุติสงครามและเกาหลีเหนือต้องถอนกำลังไปที่เส้นขนานที่ 38 จัดตั้งคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์และให้ระงับการช่วยเหลือรัฐบาลเกาหลีเหนือ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทรูแมน กระทำโดยไม่ได้มีการเสนอให้ที่ประชุมสภาของสหรัฐอเมริการ่วมพิจารณาด้วย แต่คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติก็ได้ผ่านมติดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยปราศจากผู้แทนของสหภาพโซเวียตเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ สหประชาชาติจึงลงคะแนนเสียงให้ช่วยเหลือเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาจึงได้ประกอบกำลังทหารและส่งกำลังบำรุงจากชาติสมาชิก คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ เตอร์กี ไทย กรีก เนเธอร์แลนด์ เอธิโอเปีย โคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ เบลเยี่ยม และลักแซมเบิร์ก เข้าร่วม นอกจากนั้น นายทรูแมนยังได้สั่งการให้นายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของฝ่ายพันธมิตร ซึ่งยึดครองญี่ปุ่นอยู่ในขณะนั้น ส่งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ สนับสนุนให้กับกองทัพเกาหลีใต้ และสั่งให้กองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมายังช่องแคบไต้หวันเพื่อป้องกันจีนคอมมิวนิสต์บุกเข้ายึดเกาะไต้หวันและขณะเดียวกันป้องกันไม่ให้จีนคณะชาติที่ไต้หวันบุกยึดพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของจีน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สงครามแผ่ขยายไปยังเอเชียตะวันออก เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้และกองทัพบกของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบังคับบัญชาของ พลเอก วอลตัน วอคเคอร์ ถูโจมตีถอยร่นมายังปูซาน ขณะที่กองทัพเกาหลีเหนือบุกมานั้นได้ไล่สังหารชาวเมืองที่เคยช่วยพวกเขาในการต่อต้าน ซิงมัน รี ในสงครามครั้งนี้อย่างโหดร้าย และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน กองกำลังพันธมิตรชั่วคราวยังยึดพื้นที่รอบเมืองปูซานไว้ได้ ซึ่งเป็นเพียง 10 % ของคาบสมุทรเกาหลี ในการเผชิญหน้ากับการโจมตีอย่างดุเดือดของเกาหลีเหนือ การตั้งรับของฝ่ายพันธมิตรกลายเป็นการสู้รบแบบเข้าตาจนที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเรียกว่า สงครามวงรอบปูซาน” (Battle of Pusan Perimeter) อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือไม่สามารถตีเมืองปูซานแตกได้ ซึ่งขณะนั้นทั่วทั้งเกาหลีเต็มไปด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด สหรัฐได้โจมตีแหล่งส่งกำลังหลักต่างๆ ของเกาหลีเหนือ เพื่อให้กองทัพเกาหลีเหนือขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการทำสงคราม ซึ่งการทำลายของเครื่องบินทิ้งระเบิดครั้งนี้ทำให้การส่งยุทโธปกรณ์ไม่สามารถไปถึงกองทัพเกาหลีเหนือ ที่ปฏิบัติการรบอยู่ทางใต้ได้ ในขณะเดียวกันฐานส่งกำลังในญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกาได้ทำการส่งอาวุธและกำลังทหารมายังเมืองปูซานอย่างมากมาย ทำให้เกาหลีใต้มีความแข็งแกร่งและมีกำลังทหารมากกว่ากองทัพเกาหลีเหนือ อยู่กว่าเกือบแสน และในเวลานี้เองกองทัพสหประชาชาติและเกาหลีใต้ก็ได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ กองทัพสหประชาชาติได้ขับไล่กองทัพเกาหลีเหนือผ่านเส้นขนานที่ 38 จุดหมายปลายทางในการที่จะปกป้องรักษารัฐบาลเกาหลีใต้บรรลุแล้ว กองทัพสหประชาชาติได้ข้ามแดนเข้าไปในเกาหลีเหนือเมื่อต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1950 ทำให้กองทัพเกาหลีเหนือแตกกระจายและถูกจับเป็นเชลยถึง 135,000 คน และการรุกของกองสหประชาชาติ ครั้งนี้สร้างความกังวลให้จีนมาก เพราะเป็นห่วงว่าสหประชาชาติจะไม่หยุดอยู่เพียงแม่น้ำยาลูซึ่งเป็นชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและจีน และจะดำเนินนโยบายให้จีนกลับสู่อำนาจเก่าคือ เจียงไคเช็ค หลายคนในชาติตะวันตกรวมทั้งนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ คิดว่ามีความจำเป็นต้องขยายสงครามไปสู่จีน แต่ทรูแมนและผู้นำคนอื่นๆ ไม่เห็นด้วย นายพล ดักลาส แมคอาเธอร์จึงถูกกล่าวเตือนในเรื่องดังกล่าว แต่นายพลฯ ก็ไม่ใส่ใจการเตือนนั้น โดยเขาแย้งว่าเนื่องจากกองทัพเกาหลีเหนือได้รับการส่งกำลังจากฐานในเขตแดนจีน คลังส่งกำลังเหล่านั้นจึงควรถูกทำลายด้วย 

8 ตุลาคม ค.ศ. 1950 หลังจากที่ทหารสหรัฐอเมริกาข้ามเส้นขนานที่ 38 ไปแล้ว ประธานเหมาเจ๋อตุงของจีนได้ออกคำสั่งให้รวบรวมกองทัพอาสาสมัครประชาชนจีนเคลื่อนพลไปยังแม่น้ำยาลู และเตรียมพร้อมที่จะข้ามแม่น้ำ ขณะเดียวกันเหมาเจ๋อตุงมองหาความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต (โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต ในตอนนั้นต้องการจะถอนกองกำลังออกจากสงคราม) และมองว่าการแทรกแซงสงครามเกาหลีครั้งนี้เป็นเพียงการป้องกันตนเอง เขากล่าวกับสตาลินว่า ถ้าเรายินยอมให้สหรัฐอเมริกาครอบครองเกาหลีทั้งหมด เราก็ต้องเตรียมตัวให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับจีนอย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตก็ได้ตัดสินใจให้การช่วยเหลืออย่างจำกัดกับจีน ทำให้จีนโกรธเคืองมาก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็รู้ดีว่าสหภาพโซเวียตได้ส่งกำลังทางอากาศเข้ามาในสงครามเกาหลี แต่ก็นิ่งเฉยเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ และในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1950 นั้นเองที่เป็นวันที่กองทัพอาสาประชาชนจีนเข้าปะทะกับทหารสหรัฐอเมริกา โดยในการปะทะครั้งนี้จีนทำการเคลื่อนพลได้อย่างมีระเบียบวินัยและแยบยลเป็นอย่างยิ่ง ปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1950 กองทัพจีนได้เข้าโจมตีพื้นที่ด้านตะวันตกตามแนวแม่น้ำชองชอน และสามารถเอาชนะกองทัพเกาหลีใต้หลายกองพลและประสบความสำเร็จในการเข้าตีกองทัพสหประชาชาติ ที่เหลืออยู่ จากความพ่ายแพ้ของกองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้ทหารสหรัฐอเมริกาต้องล่าถอยเป็นระยะยาวที่สุดในประวัติศาสตร์

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1951 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำการโจมตีอีกครั้งในช่วงที่เรียกว่า Chinese Winter Offensive กองทัพจีนได้ใช้ยุทธวิธีในรูปแบบเดิมอย่างที่เคยทำ สถานการณ์ของกองทัพที่ 8 แย่ลงไปอีกเมื่อพลเอกวอคเคอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ผู้นำคนใหม่คือ พลโท แมททิว ริดจ์เวย์ ซึ่งเขาเริ่มดำเนินการด้วยการกระตุ้นขวัญและกำลังใจของกองทัพที่ 8 ซึ่งตกต่ำจากการถูกโจมตีจนต้องล่าถอยเป็นระยะทางไกล และในปลายเดือนมกราคมนั้น จากการลาดตระเวน ริดจ์เวย์พบว่า แนวรบตรงหน้าเขาปราศจากข้าศึก เขาจึงพัฒนาแผนการรุกแบบเต็มกำลังในยุทธการราวอัพ (Operation Roundup ) ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมากใน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพสหประชาชาติมาถึงแม่น้ำฮันและยึดเมืองวอนจูได้อีกครั้ง จีนทำการโต้ตอบกลับในเดือนกุมภาพันธ์ที่ฮองซองในภาคกลางเข้าตีที่ตั้งกองทัพน้อยที่ 9 รอบเมืองชิบยองนี กองพลทหารราบที่ 2 ของสหรัฐรวมกับกองพันทหารฝรั่งเศสได้ทำการต่อสู้ชนิดเข้าตาจนในช่วงเวลาสั้น แต่ก็สามารถต้านการรุกของจีนได้ และในสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951 กองทัพบกที่ 8 รุกเต็มรูปแบบเพื่อใช้อำนาจการยิงสูงสุดและมุ่งทำลายกองทัพจีนและเกาหลีเหนือมากที่สุดโดยยุทธการคิลเลอร์ กองทัพน้อยที่ 1 จึงได้ยึดครองดินแดนด้านใต้ของฮัน ในขณะที่กองทัพน้อยที่ 9 สามารถยึดครองรองซอนได้

ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1951 ประธานาธิบดีทรูแมนได้ปลดพลเอกแมคอาเธอร์ออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองทัพสหประชาชาติเนื่องจากขัดคำสั่ง ผู้บัญชาการคนใหม่คือพลเอกริดจ์เวย์ ได้จัดการกลุ่มกองทัพสหประชาชาติใหม่ เกิดการโจมตีอย่างเป็นขั้นเป็นตอนขับไล่คอมมิวนิสต์ให้ถอยไปช้าๆ กองทัพสหประชาชาติยังคงรุกคืบจนกระทั่งถึงแนวแคนซัส ซึ่งอยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 หลายไมล์ อย่างไรก็ตาม จีนยังอยู่ไกลจากคำว่าพ่ายแพ้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1951 พวกเขาได้เปิดฉากการรุกในช่วงที่ 5 การโจมตีหลักคือ ตำแหน่งกองทัพน้อยที่ 1 แต่ก็ถูกต้านทานอย่างเหนียวแน่นที่แม่น้ำอิมจินและคาเปียง การรุกของจีนถูกหยุดลงที่ที่แนวตั้งรับเหนือกรุงโซล กองทัพสหประชาชาติตัดสินใจหยุดอยู่แค่แนวแคนซัส ซึ่งอยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 และหยุดนิ่งไม่มีทีท่าที่จะทำการรุกขึ้นไปในเกาหลีเหนือ บ่งชี้ถึงช่วงเวลาที่เกิดมีการยิงกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหลือจนกระทั่งมีการตกลงเพื่อหยุดยิง

ช่วงเวลาต่อมาของสงครามมีการเปลี่ยนแปลงดินแดนที่ยึดได้เพียงเล็กน้อย และในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 ที่เคซองได้เริ่มต้นการเจรจาเพื่อสันติภาพกันอย่างยาวนาน แต่การสู้รบก็ยังคงดำเนินต่อไป จุดหมายปลายทางของเกาหลีใต้และพันธมิตรคือการยึดดินแดนเกาหลีใต้คืนมาก่อนที่ข้อตกลงจะบรรลุเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดินแดน จีนและเกาหลีเหนือพยายามทำเช่นเดียวกัน

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 1952 ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ได้พยายามหาทางยุติความขัดแย้งในเกาหลี สหประชาชาติยอมรับข้อเสนอของอินเดียในการสงบศึกเกาหลี และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 ทั้ง 2 ฝ่ายต่างหยุดยิงกัน ซึ่งแนวรบนั้นอยู่ที่ประมาณเส้นขนานที่ 38 ดังนั้นเขตปลอดทหารจึงถูกกำหนดขึ้นที่บริเวณนั้น และต่อมาเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกัน แต่ซิงมัน รี ปฏิเสธที่จะลงนามในสัญญานั้น และจนถึงทุกวันนี้เขตปลอดทหารที่เส้นขนานที่ 38 ยังคงใช้เป็นเส้นแบ่งประเทศ และในเกาหลีใต้ยังคงมีกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์และต่อต้านเกาหลีเหนืออยู่ แต่สำหรับในสหรัฐ สงครามเกาหลีไม่ได้รับความสนใจมากเหมือนกับสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม บางครั้งสงครามนี้ถูกเรียกว่า สงครามที่ถูกลืม  (คัดลอกข้อมูลและอ้างอิงจากบทความ “สงครามเกาหลี”  ,ผู้เรียบเรียง มนันญา ภู่แก้ว, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ นายจเร พันธุ์เปรื่อง ,ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า)

ในที่สุด เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 1953 ทั้งสองฝ่ายก็บรรลุข้อตกลงกันใน “ข้อตกลงสงบศึกเกาหลี”  (Korean Armistice Agreement) ที่หมู่บ้านปันมุนจอม (Panmunjom) ทางตอนเหนือของกรุงโซล ข้อตกลงนี้ทำให้เกิดการหยุดยิง กำหนดเส้นแบ่งพรมแดนความยาว 250 กิโลเมตร ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเส้นรุ้งที่ 38 องศาเหนือ ที่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนแต่เดิมเพียงเล็กน้อย และมีการกำหนด “เขตปลอดทหารเกาหลี”  (Korean Demilitarized Zone : DMZ) ตามแนวเส้นแบ่งพรมแดนใหม่ ที่มีความกว้างประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นแนวกันชน

บทสรุปของสงครามครั้งนี้ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่กลับสร้างความเสียหายขึ้นอย่างใหญ่หลวง มีพลเรือนของทั้งสองชาติต้องบาดเจ็บล้มตายไปกว่า 2.5 ล้านคน ทหารของกองกำลังสหประชาชาติกว่า 1 ล้านนาย ต้องสูญเสียชีวิตและสูญหายกว่า 200,000 นาย ทหารฝ่ายเกาหลีเหนือและจีน จำนวนกว่า 1.6 ล้านนาย ต้องเสียชีวิตไปกว่า 500,000 นาย (คัดลอกข้อมูลและอ้างอิงจากบทความสงครามเกาหลี คอลัมน์เกร็ดประวัติศาสตร์ หน้าเพจ Myfirstbrain.com)

และนี่คือผลพวงของสงครามเกาหลี ที่เจ้าของประเทศถูกปั่น ประชาชนต้องกลายเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ จนทุกวันนี้คนที่มีสายเลือดเดียวกันแท้ๆ ต้องมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน รอวันที่จะกลับมารวมชาติกันให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด  

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น