วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ย้อนตำนานความทรงจำ ถนน Abbey Road (1)ต้นกำเนิดศิลปินผู้ยิ่งใหญ่นาม The Beatles (ตอนที่ 1)





จอห์น เลนนอน หนุ่มน้อยชาวเมืองลิเวอร์พูลแห่งเกาะอังกฤษในวัย 16 ปี จากชายหนุ่มธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขาไม่เคยคิดมาก่อน ว่าจะเป็นผู้ที่สร้างตำนานหน้าหนึ่งให้กับโลกใบนี้ได้ ในปี ค.ศ. 1956 เขายังเป็นเด็กเนิร์ดสายตาสั้น และยังเป็นนักศึกษา เขารวมตัวกับเพื่อนในวัยเดียวกันในวิทยาลัย ที่ชอบดนตรีเหมือนๆ กัน ฝึกหัดเล่นดนตรี ซ้อมวง เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข ในขณะนั้นพวกเขายังเพิ่งหัดเล่นดนตรี และหัดเล่นดนตรีตามแบบจากบทเพลงของศิลปินต้นแบบที่พวกเขาชื่นชอบ พวกเขาใช้ชื่อวง “เดอะควอรี่เมน” (The Quarry Men) ซึ่งเป็นชื่อที่อ้างอิงมาจากชื่อโรงเรียนของพวกเขาคือ Quarry Bank High School ซึ่งพวกเขาร่ำเรียนมาตั้งแต่เมื่อตอนอายุ 12 ปี เมื่อเรียนจบจากโรงเรียน เดอะควอรี่เมนไฮสคูล แล้ว จอห์นก็ได้เข้าเรียนต่อที่ Liverpool Art College และที่นี่เองที่ทำให้เขามีโอกาสได้เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ ร่วมสถาบันแห่งใหม่ แต่ก็ยังพอใจจะใช้ชือวงดนตรีตามชื่อโรงเรียนเก่า ซึ่งก็คือ เดอะควอรีเมน ต่อไป

เพลงโปรดที่จอห์นมักจะหยิบยกมาเล่นนั้นวนเวียนอยู่กับงานเพลงของศิลปินมากมายจากฟากอเมริกา และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เพลงของเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งกำลังโด่งดังสุดขีดในช่วงปีที่เขาเริ่มฟอร์มวงดนตรีแบบเด็กๆ วัยรุ่นขึ้นมา จอห์นกับเพื่อนอีก 3 คนก็คือ พีท ชอตตัน (Pete Shotton) ไนเจล แวลลี (Nigel Whalley) และไอวาน วอห์น (Ivan Vaughan) ต่างก็ออกเล่นดนตรีโชว์ตัวกันตามงานต่างๆ มากมาย โดยเลือกเล่นกันในแนวร็อค แอนด์โรล และเพลงป็อปร็อคในสมัยนั้นอย่างเชี่ยวชาญ

วงควอรี่แมนมีโอกาสได้สำแดงฝีมือเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็มีสมาชิกวงที่ผลัดเปลี่ยน ผลัดใบ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าและออก อยู่เป็นประจำด้วยเช่นกัน ในจำนวนสมาชิกที่เข้ามาใหม่นั้นมีพอล แม็คคาร์ทนีย์ ซึ่งได้รับการแนะนำจาก ไอวาน วอห์น ให้รู้จักกับจอห์น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1957 ด้วย พอลได้สร้างความประทับใจให้กับจอห์นเป็นอย่างมาก เพราะพอลได้แนะนำวิธีการเล่นดนตรีแปลกๆ ให้กับจอห์น รวมทั้งได้เล่นเพลงโชว์ ตลอดจนช่วยเขียนเนื้อเพลง Be Bob A Lila ให้จอห์นด้วย ทั้งสองคนต่างประทับใจในฝีมือการเล่นดนตรีและความสามารถในการเขียนเพลง แต่งเพลง ของกันและกัน  จนทำให้ในที่สุดพอลก็ได้กลายมาเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของ เดอะ ควอรีเมน  พอลกับจอห์นนั้นเรียนอยู่ที่เดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ยากที่หนุ่มน้อยวัย 17 ปี อย่างจอห์น กับหนุ่มน้อยวัย 15 ปีอย่างพอล จะมีเวลาคุยกันเรื่องดนตรี (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกคู่จิ้น) และร่วมพัฒนาฝีมือกันได้บ่อยๆ  ในช่วงที่มีเวลาเบรกจากการเรียนเป็นช่วงๆ  เวลาต่อมาพวกเขามีโอกาสได้แสดงฝีมือในการเล่นดนตรีในคลับบางแห่ง และนั่นยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับพวกเขามากยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี ค.ศ.1958 พอลได้แนะนำ จอร์จ แฮริสัน ซึ่งเป็นเพื่อนกับน้องชายของเขา (น้องชายของพอล) ให้จอห์น เลนนอน ได้พิจารณา น่าแปลกที่จอห์นนั้นก็เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกับปีเตอร์ พี่ชายของจอร์จมาก่อน แต่ไม่เคยได้สนิทสนม สุงสิงกัน และก็ไม่รู้จักกับจอร์จ ซึ่งอายุน้อยกว่าเขา 3 ปีด้วย ความประจวบเหมาะที่จอร์จ แฮริสัน เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับไมเคิล น้องชายของพอล แม็คคาร์ทนีย์ นี่เองที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนคุ้นเคยในแวดวงเพือนๆ พี่ๆ  น้องๆ ของกันและกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่ได้สนิทกัน พอมีการแนะนำตัวให้รู้จักกัน ก็เลยกลายเป็นคนคุ้นเคย ความรู้สึกที่ได้พบได้คุยทำให้เริ่มรู้นิสัยใจคอกันมากขึ้น จอห์นนั้นไม่ได้ยอมรับจอร์จในตอนแรก กระทั่งเมือจอร์จได้แสดงฝีมือการเล่นดนตรีให้จอห์นเห็นประจักษ์ชัดเจนว่าเขามีความสามารถพอๆ กับสมาชิกวงอีกคนหนึ่งที่ชื่อ Eddie Clayton นั่นแหละ จึงทำให้จอห์นยอมรับจอร์จเข้าเป็นสมาชิกวง เดอะควอรี่เมน  จากวันนั้นเป็นต้นมา....พวกเขาซึ่งก็คือ จอห์น เลนนอน พอล แม็คคาร์ทนีย์ และจอร์จ แฮริสัน จึงเริ่มสนิทสนมกัน และในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเงาตัวจริงของวงเดอะ บีทเทิลส์ ซึ่งโด่งดังไป 7 คาบสมุทรในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า

คณะดนตรี เดอะควอรี่เมน ซึ่งสมาชิกของวงแต่ละคนอายุเฉลี่ย 20 ปี นั้นเริ่มสะสมความชำนาญในการเล่นดนตรีและแต่งเพลงมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเล่นเพลงแนวร็อคแอนด์โรล โดยนำเพลงของศิลปินดังๆ ในยุคนั้นมาเล่นกันอย่างเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นเพลงของ ดิ เอฟเวอรีบราเธอร์ส , เดอะ โคสเตอร์ส ,อาร์เธอร์ อเล็กซานเดอร์ส , จีน วินเซนต์ , แฟท โดมิโน่ , เจอรี ลี ลิวอิส , บัดดี ฮอลลี , คาร์ล เพอร์กินส์ , ลิตเทิล ริชาร์ด , เรย์ ชาร์ลส์ , ลารี วิลเลียมส์ , รอย ออบิสัน  และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งถือเป็นศิลปินคนโปรด ที่ถูกนำมาเล่นเป็นเพลงหลักๆ ในทุกโชว์บนเวที

ต่อมาวง เดอะ ควอรีเมน มีการเปลียนแปลงชื่อวงเป็น Johnny and The Moondogs และเปลี่ยนเป็น The Silver Beatles ก่อนที่จะตัดทอนให้เหลือสั้นลงเพียงแค่ The Beatles ในท้ายที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ผู้จัดการวงกีมีการสับเปลี่ยนกันด้วย โดยที่ผู้จัดการวงคนแรกคือ อลัน วิลเลียมส์ นั้นได้ทำหน้าที่ดูแลวง เดอะบีทเทิลส์ จนถึงปี ค.ศ. 1962 จากนั้นทางวงจึงได้ ผู้จัดการวงคนใหม่ชื่อ ไบรอัน เอปสไตน์ ซึ่งมาเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลวงจนถึงปี ค.ศ.1967 ในช่วงต้นๆ แห่งการเปลียนแปลง อะไรหลายๆ อย่างนั้น  สมาชิกของวงก็มีการสับเปลี่ยนกันด้วย นันก็คือ พอล แม็คคาร์ทนีย์ ต้องไปเล่นเบสแทนที่สจ๊วต ชัทคลิฟฟ์ ซึ่งร่วมเล่นกับวงระหว่างปี ค.ศ.1960-1961 และหลังจากนั้น พอลก็ทำหน้าที่เล่นเบสเป็นหลัก ในขณะที่สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชิ้นในวงด้วย

ต้นทศวรรษที่ 60 นั้นมือกลองของวงคือ พีท เบสต์ ต่อมาก็ถูกแทนที่โดย ริงโก สตาร์  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1962 ต่อมานายไบรอัน เอปสไตน์ ผู้จัดการของวงทำหน้าที่ เจรจาติดต่อกับบริษัทแผ่นเสียง เพื่อหาทางทำให้ เดอะ บีทเทิลส์ ได้อัดเสียงกันอย่างสุดฤทธิ์ สุดเดช  หลังจากที่โดนปฏิเสธกันอยู่บ้าง ในที่สุดก็ได้โอกาสอัดเสียงเป็นครั้งแรกกับ Partophone ซึ่งเป็นสังกัดของ EMI ที่ตั้งอยู่ที่ถนนแอ็บบี้ในลอนดอน หนุ่มๆ เดอะบีทเทิลส์ เดินทางมาอัดเสียงอย่างจริงจังในวันที่ 4 ก.ย.1962 และอัดเสียงแก้ไขกันอีกครั้งเมื่อ 11 ก.ย. 1962 นั้นถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ เดอะบีทเทิลส์ ในอนาคตได้อย่างฉมังนัก เพราะพวกเขาได้แสดงฝีมือให้เจ้าหน้าที่ห้องอัดเสียงได้รับรู้ว่าพวกเขาก็คือศิลปินเพลงหน้าใหม่ที่กำลังจะกุมชะตากรรมเพลงในอนาคตไว้ได้แล้ว ด้วยลีลาเพลงที่แปลกหูและสดใส แตกต่างจากที่เคยได้ยินมา ดังนั้นเมื่อเพลง “Love Me Do”  ซึ่งเป็นซิงเกิลแรกสุดของเดอะบีทเทิลส์ ออกวางตลาดในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 1962 มันจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลง และสามารถไต่ขึ้นไป ได้ถึงอันดับที่ 17 ของชาร์ตเพลงยอดนิยมในอังกฤษ!  เวลานั้นต้องถือว่า เดอะบีทเทิลส์ได้แจ้งเกิดแล้วจริงๆ
 
 

แม้จะมีเสียงกระแนะกระแหนว่า การที่แผ่นเสียงของบีทเทิลส์สามารถทำยอดขายได้ดียอดเยี่ยมตั้งแต่เริ่มออกสตาร์ท เพราะไม่เพียงแต่แฟนเพลงเท่านั้น ที่แห่กันไปซื้อซิงเกิลของพวกเขา แต่ยังมี “ยอดซื้อพิเศษ” จากไบรอัน เอปสไตน์ ผู้จัดการวงที่ควักกระเป๋า ทุ่มทุนซื้อแผ่นของเดอะบีทเทิลส์ถึง 10,000 แผ่นก็ตามที กระนั้นก็ตามบีทเทิลส์ก็ดังติดลมบนและติดชาร์ตเพลงในเมืองผู้ดีไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม...สิ่งที่ช่วยยืนยันความดังจริงๆ ของเดอะบีทเทิลส์ ก็คือการที่วงดนตรีหน้าใหม่ที่มีสมาชิกแต่ละคนแต่งตัวใส่สูทผูกให้เรียบร้อย ทั้งยังตัดผมทรงปรกหน้าผากไปแสดงผลงานที่ลอนดอนพัลลาเดียม เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 1963 นั้น  เป็นผลดีที่ทำให้คนทั้งเกาะอังกฤษเกิดความนิยมชมชอบในเพลงของพวกเขาอย่างหนัก  หนุ่มสาวทั้งหลายเกิดอาการคลั่งไคล้ เดอะบีทเทิลส์ กันทุกหย่อมหญ้า เพลงทุกเพลงของบีทเทิลส์ที่ออกมาก่อนหน้าวันเปิดแสดงที่พัลลาเดียมนั้น ถูกแฟนเพลงแห่ซื้อกันอย่างถล่มทลายราวกับปรากฏการณ์ประหลาดบุกเกาะอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิลดังอย่าง “Love Me Do, “From Me To You” ,  “ I Want to Hold Your Hand” , “Please Please Me”  , และอีกหลายต่อหลายเพลง ต่างไต่อันดับขึ้นชาร์ตเพลง และทำยอดขายได้ดีมาก  อาการ “คลั่งไคล้วงเดอะบีทเทิลส์”  หรือ “Beatlemania”  กลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นในเกาะอังกฤษทั่วทั้งเกาะเสียแล้วในเวลานั้น
 
 
 

และเมื่อบีทเทิลส์ได้รับเชิญไปอเมริกา รวมทั้งได้ไปออกรายการทีวี The Ed Sullivan Show เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1964 และในวันที่ 16 และ 23 เดือนเดียวกัน กระแสความนิยมคลั่งไคล้วง เดอะบีทเทิลส์ก็กระหึ่มไปทั่วอเมริกาไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ หนุ่มสาวอเมริกันพากันนิยมชมชื่น เดอะบีทเทิลส์อย่างหนัก (กรี๊ดกร๊าดหนักมาก)  ก่อนที่จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลกในเวลาต่อมา คราวนี้เดอะบีทเทิลส์ กลายเป็นต้นแบบของความดังขีดสุดเท่าที่ศิลปินเพลงป็อปกลุ่มหนึ่งจะสร้างปรากฏการณ์ประหลาดมหัศจรรย์ให้กับโลกใบนี้ได้ เวลานั้นเดอะบีทเทิลส์ไม่ได้เป็นเพียงเดอะบีทเทิลส์ของชาวโลกเท่านั้น แต่ยังเป็น “สี่เต่าทอง” สำหรับคนไทยด้วย  และแฟนเพลงชาวไทยมักจะเรียกพวกเขาว่า “สี่เต่าทอง” สลับกับ “เดอะบีทเทิลส์”  อย่างงงๆ ว่าใช้ชื่ออะไรกันแน่ กลายเป็นคำเรียกล่าวที่ฮิตในสมัยนั้น อย่างสนุกสนานครื้นเครง
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น