วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ย้อนตำนานความทรงจำ ถนน Abbey Road (2)ต้นกำเนิดศิลปินผู้ยิ่งใหญ่นาม The Beatles (ตอนที่ 2)


นับจากวินาทีที่ เดอะ บีทเทิลส์ กลายเป็นคนดังระดับโลกไปแล้ว ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไปด้วย เรื่องราวของบีทเทิลส์ในทุกแง่มุมนั้นกลายเป็นอาหารอันโอชะสำหรับผู้คนที่ทั้งรักและเกลียดพวกเขาไปพร้อมๆ กัน แต่คนเราลงว่ามันจะดังซะอย่าง เอาอะไรมาฉุดมารั้งไว้ก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ยิ่งประกอบกับการที่สมาชิกของวงนี้สามารถแต่งเพลงเองได้ เรียบเรียงเสียงประสานเอง และเขียนเนื้อร้องได้อย่างแคล่วคล่องราวกับเสกเพลงเพราะๆ ออกมาได้ง่ายๆ เข้าไปด้วยแล้ว ผลงานแต่ละชิ้นของพวกเขาจึงกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจของตลาดเพลงแทบทั้งหมด

อย่างไรก็ตามมีเพลงจำนวนไม่น้อยที่แม้พวกเขาจะแต่งกันขึ้นมาเอง รวมไปถึงลองนำไปอัดเสียงเพื่อตัดเป็นซิงเกิลตามสมัยนิยมในขณะนั้น แต่จนแล้วจนรอด พวกเขาก็ยังรู้สึกว่าเพลงบางเพลงในมือของพวกเขาอยู่ในข่าย “ไม่เข้าท่า” หรือ “เข็นไม่ขึ้น” ก็มี  จึงไม่ต้องแปลกใจที่เพลงจำนวนหนึ่งของบีทเทิลส์กลับไม่ได้รับการนำไปทำเป็นซิงเกิลขาย หากแต่เอาไปให้นักร้องคนอื่นนำไปร้องแทน แต่ผลที่ได้ก็คือ...บางเพลงนั้นดังระเบิดเถิดเทิงและก็มีบางเพลงที่ย่ำแย่ขุนไม่ขึ้นเหมือนกัน บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า บีทเทิลส์เองนั้นก็ไม่ใช่เทวดา และบางเพลงที่พวกเขาแต่งขึ้นมาก็เข้าข่าย “มุกแป้ก”  หรือ “ไม่เวิร์ค”  ได้เหมือนกัน ไม่ต่างจากศิลปินคนอื่นๆ

แต่กระนั้นก็ตาม....เพลงส่วนใหญ่ของพวกเขานั้นติดอยู่ในกลุ่ม “ขายได้”  และหลายเพลงกลายเป็นเพลง  “อมตะ” ตราบจนถึงทุกวันนี้ ถูกนำไปร้องไป cover มากมาย เรียกได้ว่าสี่เต่าทองนั้น “ทำเพลงขึ้น” จริงๆ น่าจะเหมาะกว่า

ความเก่งกาจของ เดอะ บีทเทิลส์ นั้นส่งผลให้พวกเขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1964 นั้นมีผลงานเพลงเด่นๆ หลายเพลง วงดนตรีหนุ่มๆจากลิเวอร์พูลกลุ่มนี้สามารถพาตัวเองขึ้นไปสู่อันดับ 1 ใน 5 ของชาร์ตบิลบอร์ดฮ็อต 100 (Billboard’s Hot 100) ซึ่งถือเป็นสถิติที่แสนจะงดงามมากสำหรับวงดนตรีที่เพิ่งจะออกซิงเกิลมาได้ไม่ถึง 3 ปี , ถัดมาในปี ค.ศ. 1965 ต้องถือเป็น “ปีทอง” สุดๆ สำหรับพวกเขา เป็นปีที่ เดอะ บีทเทิลส์ ได้สร้างผลงานเพลงที่ถือเป็นอมตะ เป็นเอกลักษณ์พิเศษขึ้นมาได้หลายเพลง และแต่ละเพลงนั้นก็สะท้อนความเป็นตัวตนของสมาชิกในวงได้ไม่ใช่น้อย ตัวอย่างเช่นเพลง  Yesterday”  ซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของพอล แม็คคาร์ทนีย์ได้ดีเยี่ยม และเพลง “Help!”  ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ รวมไปถึง  Ticket to Ride” ก็สร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลงได้อย่างน่าทึ่ง  ปี 1965 จึงเป็นปีที่คนอังกฤษโดยทั่วไป รู้สึกภาคภูมิใจกับวงป็อปร็อกอังกฤษวงนี้มาก แทบจะเรียกได้ว่า เดอะ บีทเทิลส์ เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคนอังกฤษในอีกรูปแบบหนึ่ง (ทั้งๆ ที่จอห์น เลนนอน และพอล แม็คคาร์ทนีย์ มีเชื้อสายมาจากชาวไอริชเต็มตัว ไม่ใช่บริทิชแท้) ที่สามารถสร้างโลกให้คลั่งไคล้อังกฤษได้ในรูปแบบที่แปลกแยกออกไป ช่วงเวลานั้น โลกทั้งโลก หายใจเข้าออกมีเพียง เดอะ บีทเทิลส์มากกว่าวงดนตรีใดๆ เท่านั้นเอง ! 

 
 
 

ความนิยมชมชื่นในสี่เต่าทองนั้นทำให้พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานตำแหน่ง MBE หรือ Member of the Order of the British Empire ให้กับสมาชิกวงสี่เต่าทองทั้งสี่คน นำความปลาบปลื้มมาสู่พวกเขาทุกคน รวมถึงแฟนๆ เพลงทั่วโลกอีกด้วย ทุกคนต่างลงความเห็นกันว่า สี่เต่าทองสมควรได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้นเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่อีกราว 3 ปีให้หลัง  จอห์น เลนนอน ซึ่งเป็นสมาชิกและหัวหน้าของวงได้  “คืนตำแหน่ง MBE” ที่เขาได้รับมาจากควีนอลิซาเบธ คืนไป (จอห์นให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการ “ต่อต้าน”  การที่อังกฤษยื่นมือเข้าไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองของไนจีเรีย (ไนจีเรีย-ไบอัฟรา)  นอกจากนั้นยังมุ่งที่จะต่อต้านสงครามเวียดนามที่อเมริกากำลังลุยเข้าไปถล่มอย่างรุนแรงอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วย)

แม้กระแสคลั่งไคล้ เดอะ บีทเทิลส์และผลงานเพลงของพวกเขาจะสยบโลกไว้ได้ในด้านดีมากมายเพียงใดก็ตาม แต่กระแสบางอย่างที่คืบคลานมาเป็นเงา “ด้านมืด” ของเดอะ บีทเทิลส์ ก็คอยเล่นงานพวกเขาอย่างไม่ลดละเช่นกัน และบีทเทิลส์ก็ไม่ใช่วงดนตรีวงเดียวที่ประสบกับด้านมืดอันน่าสะพรึงกลัวนั้น ที่จริงแล้วเพื่อนพ้องนักดนตรีร่วมสมัยต่างๆ ต่างก็เจอภัยด้านมืดกันอย่างงอมแงมด้วยเช่นกัน ภัย “ด้านมืด” ที่ว่านั้นก็คือ...ยาเสพติดและอาการติดยาอย่างหนัก

เวลานั้นเป็นที่รู้กันว่าเป็นยุคที่มีการต่อต้านสงครามกันอย่างรุนแรง และเป็นยุคที่ฮิปปี้หรือบุปผาชนกำลังมีอิทธิพล เป็นกระแสใหม่ที่ขจรขจายไปทั่วโลก การเสพยา คู่กับการไว้ผมยาว แฟชั่นกางเกงยีนส์ขาบาน พวกเขามีแนวความคิดเดียวกันคือเป็นขบถ ต่อต้านทุกอย่างที่พวกเขาเชื่อว่าจะมาระรานความสงบสุขของโลก จวบจนกระทั่ง การเสาะหา แสวงหาความสุขของชีวิตด้วยการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใข้ยาเสพติด ( LSD ไปจนกระทั่ง โคเคน หรือเฮโรอีน)  หรือการตั้งลัทธิ นิกายประหลาดๆ ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสความคิดของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น  วงดนตรีจำนวนมากก็หันมาใช้ยาเสพติดกันอย่างงอมแงม บีทเทิลส์เองก็ไม่อาจฝืนกระแสนั้น รวมไปถึงการอยากลองค้นหารูปแบบชีวิตหรือรูปแบบของเพลงตามความคิดของสมาชิกบางคน ทำให้พวกเขาอยากลองสิ่งท้าทายนั้นด้วย

จอห์น เลนนอน และจอร์จ แฮริสัน คือสมาชิกของวง 2 คนแรกที่ได้ลองเสพ LSD  ในปี ค.ศ. 1965  และต่อมาอีก 1 ปีให้หลัง พอล แม็คคาร์ทนีย์ ก็หันมาลองลิ้มชิมรสของ LSD ดูบ้าง  อันว่า LSD ก็คือ “ยากล่อมประสาท”  ชนิดรุนแรงชนิดหนึ่ง และก็อย่างที่บอก นั่นก็คือ มันเป็นที่แพร่หลายกันในหมู่นักดนตรีหรือศิลปินร่วมสมัย ที่อยากได้ไอเดียในการเขียนเพลงหรืออยากลืมเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาเศร้าใจไปชั่วขณะได้ แต่ในขณะเดียวกัน LSD ก็เป็นตัวทำลายชื่อเสียง ทำลายชีวิตของใครต่อใครได้เท่าๆ กับพลานุภาพของมันที่สามารถสร้างภาพหลอนขึ้นมาได้ในสมอง ตราบเท่าที่ฤทธิ์ของยายังมีอิทธิพลอยู่ในหมู่นักดนตรีเหล่านั้น  ข่าวเรื่องการติด LSD นั้นสั่นคลอนภาพลักษณ์ของสี่เต่าทองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แฟนเพลงบางคนเริ่มมอง เดอะ บีทเทิลส์ ด้วยสายตาที่แตกต่างจากในอดีต  แต่ก็มีแฟนเพลงไม่น้อยที่ไม่แคร์เรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะจะว่าไปแล้ว เจ้า LSD ก็เป็นสิ่งที่วัยรุ่นและนักดนตรีระดับโลกหลายวงเสพมันพอๆ กับการหันไปหากัญชา เหล้าแห้ง หรืออะไรต่อมิอะไร ที่เข้าข่ายยาเสพติดอื่นๆ พวกเขารู้สึกว่าข่าวแบบนี้เป็นเพียงข่าวที่คล้ายคลึงกับที่ได้รับมาจากวงดนตรีโดยทั่วไป

ในขณะที่แฟนเพลงกลุ่มที่คลั่งไคล้เดอะ บีทเทิลส์จริงๆ จังๆ ก็ยังคงมองที่เรื่อง “ผลงานเพลง” และ “ความสามารถ” ของพวกเขาเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้สนใจเรื่องส่วนตัว  สรุปก็คือ ...บีทเทิลส์ยังคงขายได้ต่อๆ ไป ทั้งๆ ที่มีเรื่องมัวหมองที่เกี่ยวกับ LSD มาเป็นตัวกัดเซาะทำลายวง  ข่าวเรื่อง LSD ว่ารุนแรงระดับหนึ่งแล้ว แต่ต่อมาไม่กี่เดือนให้หลัง ...เกิดเหตการณ์ที่จอห์น เลนนอน ไปพูดพาดพิงถึงความนิยมชมชอบในตัวเขาที่เกี่ยวพันกับเอกลัษณ์ของศาสนาคริสต์ค่อนข้างแรงเข้าไปอีก  ทำให้คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมากหลายส่วนของโลกแอนตี้เดอะ บีทเทิลส์ อย่างทันควัน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน ทำให้จอห์น เลนนอนต้องออกมาแถลงการณ์และเอ่ยปากอธิบายในเรื่องที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดกันไปได้นั้น แต่ท้ายที่สุด เขาก็ต้องกล่าวคำขอโทษออกมา เพื่อไม่ให้เกิดความกินแหนงแคลงใจในหมู่ศาสนิกชนที่นับถือคริสต์ ต่อมาทางสำนักวาติกัน ก็ยอมรับการขออภัยจากจอห์น เลนนอน และนั่นก็ทำให้โลกสงบขึ้นทันที  บีทเทิลส์กลายเป็นกลุ่มนักดนตรีที่กล้ายอมรับผิดและผู้คนก็พร้อมจะให้อภัย ซึ่งทำให้กระแสคลั่งไคล้เดอะ บีทเทิลส์ยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ใครที่เคยเห็นคลิปการต้อนรับของแฟนเพลงทั่วโลกที่มีต่อวงเดอะ บีทเทิลส์ในหนังอัตชีวประวัติของพวกเขา คงพอจะนึกออกและชินตา ที่จะเห็นเหล่าสาวกแฟนเพลง “รุมทึ้ง” พวกเขา จนไม่อาจจะควบคุมอะไรได้เลย เวลาที่พวกเขาไปแสดงดนตรีหรือโชว์ตัวตามสถานที่ต่างๆ ในหลากหลายวาระ  ปรากฏการณ์คลั่งวงบีทเทิลส์นั้นรุนแรงขนาดหนัก บางครั้งถึงขั้นแสดงคอนเสิร์ตไม่ได้เลย เพราะเสียงโห่ร้อง กรี๊ดกร๊าดแสดงความยินดีจากแฟนเพลงนั้นกลบเสียงเพลงและเสียงร้องไปหมดจนแทบจะฟังไม่รู้เรื่อง บางช่วงเวลา พวกเขาก็ถึงขนาดหยุดการเดินสายแสดงดนตรี และเอาเวลาไปพัฒนาเทคนิคการเล่นดนตรี หรือพัฒนางานเพลงใหม่ๆ แทน

 
 
การแสดงคอนเสิร์ตของวงเมื่อวันที่  29 สิงหาคม 1966 นั้นต้องถือว่าเป็นการแสดงคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการครั้งท้ายๆ ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา แฟนเพลงที่อัดแน่นในสวนสาธารณะแคนเดิลสติกพาร์ค ในซานฟรานซิสโกนั้น ทุกคนต่างชื่นชมกับศิลปินยอดเยี่ยมวงนี้กันอย่างจุใจ โดยที่ไม่รู้เลยว่าอีก 4 ปีให้หลังจากนั้น จึงจะมีการแสดงดนตรีแบบนี้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอยที่ยาวนานมาก เหตุผลหลักๆ ก็อย่างที่แจ้งไว้ข้างต้นแล้ว ว่าเป็นเพราะบีทเทิลส์ต้องการทุ่มเทเวลาและการเอาใจใส่กับการสร้างเทคนิคล้ำยุคในห้องอัดเสียง ตามที่พวกเขาสุมหัวกันทดลองอยู่หลายแบบ และอีกประการหนึ่งก็คือกระแสความคลั่งไคล้ของแฟนเพลงนั้นมีมากจนก่อให้เกิดการจราจลอย่างบ่อยครั้ง เสมอๆ

สำหรับการแสดงครั้งสุดท้ายจริงๆ ขอเน้นว่าครั้งสุดท้ายที่มีสมาชิกอยู่ครบทั้งสี่คนจริงๆ ก็คือ การแสดงสดเมื่อเดือนมกราคม 1969 บนหลังคาของอาคารแอ็บบี้สตูดิโอในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาอัดเสียงกันเป็นครั้งแรกและตลอดช่วงชีวิตของ เดอะ บีทเทิลส์ นั่นเอง  การแสดงสดในชุด “Get Back” หรือ  “รวมตัวกัน”  นั้นทางสมาชิกวงได้ร่วมกันเล่นเพลงในอัลบั้ม Let It Be ซึงภาพยนตร์เรื่อง Let It Be ถูกนำออกฉายในปีนั้นและทำรายได้อย่างถล่มทลาย          

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น