วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

สงครามค้าปลีก (ความเคลื่อนไหวของ 4 (ตระกูล) เครือข่ายซัพพลายเออร์ใหญ่ของไทย)

เบอร์ลี่ยุคเกอร์ผนวกไทยเบฟ  ขยายแขนขาในไทยก่อนรุกทั่วอาเซียน


อาณาจักรธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังรุกขยายตัวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการบุกเข้าสู่สมรภูมิตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เปิดตัวธุรกิจดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่น “โอเกนกิ” (OGENKI) และเร่งปูทางลุยคอนวีเนียนสโตร์ “บีเจซีสมาร์ท” (BJC SMART) หลังจากยึดเครือข่าย ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างกลุ่มพันธ์ทิพย์พลาซ่า ดิจิตอลเกตเวย์ เกตเวย์เอกมัย และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ คอมมูนิตี้มอลล์ริมคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่ใหญ่ที่สุด

แม้ทิศทางของ “โอเกนกิ” ภายใต้การบริหารของบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือทีซีซีกรุ๊ป ยังเป็นการซุ่มขยายสาขา เนื่องจากอยู่ในช่วงทดลองตลาด เพื่อสรุปจุดเหมาะสมที่สุด ทั้งรูปแบบและขนาดร้าน ทำเล กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สินค้า และกลยุทธ์ต่างๆ แต่ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีคู่แข่งรายใหญ่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นสองยักษ์เจ้าเก่า “บู๊ทส์และวัตสัน” ร้านเพรียวของกลุ่มบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ โปรเจ็กต์เอ็กซ์ตร้าของกลุ่มซีพีออลล์ ที่ปูพรมไปตามร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และล่าสุด ร้านซูรูฮะของเครือสหพัฒน์ ซึ่งถือเป็นคู่แข่งโดยตรง เพราะชูจุดขายดรักสโตร์สไตล์ญี่ปุ่นเหมือนกัน

ร้านโอเกนกิสาขาแรกในย่านอโศกอยู่ห่างจากร้านซูรูฮะไม่กี่เมตร การจัดวางสินค้าเน้นกลุ่มสุขภาพและความงาม มีเภสัชกรและมุมตรวจสุขภาพ รวมทั้งเน้นบริการแบบ “One Stop Service” ไม่แตกต่างกัน นั่นจึงกลายเป็น “โจทย์” ข้อสำคัญที่ทีมผู้บริหาร โดยเฉพาะอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ยังต้องการเวลาก่อนเปิดตัวออกสื่ออย่างเป็นทางการและบุกเต็มรูปแบบในปีหน้า อย่างน้อย 20 สาขา

สำหรับปีนี้ อัศวินตั้งเป้าขยายสาขาร้านโอเกนกิ 6 สาขา ล่าสุดเปิดแล้ว 2 สาขา คือ สาขาอโศกทาวเวอร์และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต โดยจัดตั้งบริษัท เจอร์เนิล โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ และจับมือกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น จัดหาสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่หาซื้อได้เฉพาะในร้านโอเกนกิ รวมถึงสินค้าด้านสุขภาพและความงามแบรนด์ทั่วไป ประมาณ 1,000 รายการ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับ A-B

แหล่งข่าวจากบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทยังต้องรอดูผลตอบรับของโอเกนกิก่อน ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า โดยระยะแรกต้องเร่งสร้างความรับรู้ตัวแบรนด์ การเป็นร้านเพื่อสุขภาพและความงามแบบ “Japanese Modern” เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ สีส้มสะดุดตา แต่อาจไม่เน้นบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นมากเหมือนซูรูฮะ ส่วนขนาดพื้นที่ในเบื้องต้นยังไม่เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ เฉลี่ยขนาด 60-100 ตารางเมตรต่อสาขา เงินลงทุนสาขาละ 3-5 ล้านบาท

กลุ่มสินค้านอกจากสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นจุดขายของโอเกนกิ สินค้าแบรนด์ทั่วไป ยังมีสินค้าในเครือเบอร์ลี่ยุคเกอร์ ซึ่งมีทั้งธุรกิจยาและเครื่องมือทางการแพทย์ด้วย เพียงแต่ต้องดูความเหมาะสมอีกระยะหนึ่งก่อน

แน่นอนว่า “โอเกนกิ” ถือเป็นธุรกิจค้าปลีกตัวใหม่ ด้านหนึ่งเป็นการขยายไลน์ธุรกิจที่กำลังเติบโตต่อเนื่องและมีอนาคต อีกด้านเป็นการสร้างหน้าร้านปล่อยสินค้า ซึ่งเบอร์ลี่ยุคเกอร์หรือ “บีเจซี” ไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างมันฝรั่งเทสโต สบู่นกแก้ว หรือกระดาษทิชชูเซลล็อกซ์เท่านั้น แต่ยังมีสินค้าที่รับจัดจำหน่ายอีกหลายรายการ สินค้าในกลุ่มเวชภัณฑ์ สินค้าในกลุ่มเครื่องเขียน ไลฟ์สไตล์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา

ความพยายามขยายเครือข่ายค้าปลีกของเบอร์ลี่ยุคเกอร์หรือเจริญ สิริวัฒนภักดี แท้ที่จริงอาจไม่ได้แตกต่างจากเครือสหพัฒน์ที่ต้องการหาช่องทางกระจายสินค้าให้กว้างขวางที่สุด ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแก้เงื่อนไขและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในอัตราสูงลิบลิ่วของยักษ์ค้าปลีกที่เหลือเพียงไม่กี่เจ้า

ภาพสะท้อนจากความพยายามเสนอตัวเข้าแข่งขันซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท หรือล่าสุดห้างแม็คโคร ย่อมบ่งบอกเป้าหมายให้เห็นถึงยุทธศาสตร์สำคัญดังกล่าว

แนวคิดของเจริญจึงกลายเป็นภาระหนักของอัศวิน เขยเล็กของตระกูลสิริวัฒนภักดี ซึ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บีเจซีเมื่อปี 2551

ในวันครบรอบ 130 ปี ของเบอร์ลี่ยุคเกอร์เมื่อปลายปี 2555 อัศวินในช่วงจังหวะนั้นขายแนวคิดร้านสะดวกซื้อยุคดิจิตอลรูปแบบใหม่ “BJC Smart” โดยวางแผนให้เป็นร้านค้าปลีกในลักษณะเสมือนจริง (เวอร์ชวล) มีการติดตั้งคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ตามจุดหลักที่มีคนเดินทางมากๆ เพื่อให้ผู้ต้องการสินค้าใช้มือถือสแกนคิวอาร์ โค้ด สั่งซื้อสินค้า และบริการส่งถึงบ้านในเขตกรุงเทพฯ อัตราการสั่งขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อใบเสร็จ นอกจากนี้ จะมีการลงทุนเปิดร้าน ทั้งลงทุนเอง และขายแฟรนไชส์ เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจของบีเจซีให้ครบวงจร ในฐานะผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ ไปสู่ธุรกิจปลายน้ำ หรือมีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกของตัวเอง

ขณะเดียวกัน บีเจซีใช้กลยุทธ์ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกเข้าไปในเวียดนาม เจาะตลาดอาเซียน กลุ่ม CLMV รองรับการขยายการเติบโตทั้งเบอร์ลี่ยุคเกอร์และไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งมีสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม ทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์อีกจำนวนมาก

ระยะเวลา1-2 ปี บีเจซีเจรจาซื้อกิจการตั้งบริษัท ไทยคอร์ป อินเตอร์เนชั่นแนล (เวียดนาม) และบริษัท ไทอัน เวียดนาม จอยส์สต็อก บริษัทกระจายสินค้าขนาดใหญ่ในเวียดนามเหนือและเวียดนามกลาง รวมทั้งจับมือกับบริษัท ภูไทกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้ารายใหญ่ในเวียดนาม มีเครือข่ายร้านโชวห่วยมากกว่า 1 แสนราย ซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทในเวียดนาม โดยวางแผนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บีสมาร์ท” (B’s mart)

เนื่องจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นมีเงื่อนไขว่าการซื้อกิจการดังกล่าว บีเจซีจะไม่สามารถใช้แบรนด์แฟมิลี่มาร์ทในการขยายสาขาไป 17 ประเทศ ที่อิโตชู คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินกิจการอยู่ได้

เวียดนามจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเจริญในการขยายตลาดค้าปลีกในอาเซียน นอกเหนือจากการจับมือกับกลุ่มเอฟแอนด์เอ็นเจาะกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งตามแผนเบื้องต้นจะปูพรมร้านบีสมาร์ทครบ 300 สาขา ภายในปี 2558 และตั้งเป้าเป็นเชนคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ในเวียดนาม รวมถึงตลาดอาเซียนและกลับเข้ามาบุกตลาดไทยในอนาคต

ทั้งหมดเป็นย่างก้าวที่น่าจับตานอกเหนือจากเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกในมือที่มีอยู่เดิมของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ไม่ว่าจะเป็นพันธ์ทิพย์พลาซ่า ซึ่งเปิดดำเนินการ 4 สาขา ได้แก่ ประตูน้ำ งามวงศ์วาน บางกะปิ และเชียงใหม่ ศูนย์การค้าดิจิตอลเกตเวย์ ซึ่งเน้นความเป็นศูนย์ไอทีครบวงจร ส่วนเกตเวย์เอกมัยเน้นความเป็นศูนย์การค้าสไตล์ญี่ปุ่น และเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์

ล่าสุด เจริญเพิ่งเผยแผนขยายธุรกิจศูนย์การค้ากลางแจ้งภายใต้แบรนด์ “เอเชียทีค” โครงการ 2 บนที่ดิน 22 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดถนนเจริญนคร ฝั่งตรงข้ามกับโครงการเอเชียทีคปัจจุบัน รูปแบบโครงการเบื้องต้นเน้นแนวคิดเดิม คือ โอเพ่นมอลล์อิงวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่อาจลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติม และมีจุดเชื่อมต่อระหว่าง 2 โครงการ 2 ฝั่ง ซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญ คือ การก่อสร้างกระเช้าเคเบิลลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ต้องรอผลการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน

ยุทธศาสตร์ในสมรภูมิค้าปลีกของเจริญ ไม่ใช่แค่แผนขยายธุรกิจแบบ 360 องศา แต่กำลังจุดชนวนสร้างสงครามคุกรุ่นอีกหลายรอบ


CPN ปักธงในอาเซียน ทุ่ม 1.2 แสนล้าน  ผุด 30 เซ็นทรัลมอลล์ปูพรมอาเซียน

การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ภูมิภาคนี้มีศักยภาพสูงทั้งด้านจำนวนประชากร การหมุนเวียนของเศรษฐกิจ และกำลังซื้อมหาศาล เอื้อต่อการขยายธุรกิจค้าปลีก ซึ่งแต่ละประเทศอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากค้าปลีกดั้งเดิมสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นความได้เปรียบของ "ทุนค้าปลีกไทย" ที่วันนี้พรักพร้อมทั้งทุน โมเดลธุรกิจ และมีความได้เปรียบทางพื้นที่ยุทธศาสตร์โดยเฉพาะประเทศตะเข็บชายแดน ในการเร่งปักธงชิงโอกาสทางการตลาดก่อนคู่แข่งทั่วโลกที่ต่างมุ่งหน้าสู่อาเซียนเช่นกัน

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการก่อสร้าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก เปิดเผยถึงนโยบายและทิศทางธุรกิจในระยะยาวว่า จะมุ่งขยายเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้าในภูมิภาคอาเซียน เจาะตลาดหลัก 3 ประเทศในเบื้องต้น ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพในการเติบโตสูง คาดว่าในแต่ละประเทศจะเปิดบริการศูนย์การค้าได้ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า หรือจะมีเครือข่ายศูนย์การค้า "เซ็นทรัล" ให้บริการถึง 30 แห่ง ภายใต้งบลงทุนเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้านบาทต่อแห่ง คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ตลาดอาเซียนมีการลงทุนอย่างคึกคักในภาคค้าปลีก โดยเฉพาะ "มาเลเซีย" เป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทุกด้าน มีเศรษฐกิจที่ดีจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งประชากรมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าไทย 2 เท่า ขณะที่ยอดการค้าปลีกต่อประชากรของมาเลเซียสูงกว่าไทย 4 เท่า สะท้อนถึงอำนาจซื้อที่ดี แต่กลับมีสัดส่วนของโมเดิร์นเทรด หรือค้าปลีกสมัยใหม่ต่อประชากรน้อยกว่าไทยและสิงคโปร์อยู่มาก ประการสำคัญพฤติกรรมผู้บริโภคชาวมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาอาศัยและทำงานในเมืองมากขึ้น มีชีวิตเร่งรีบ นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ซื้อสินค้าในศูนย์การค้า สินค้าในกลุ่มที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต แฟชั่น แบรนด์เนม เฟอร์นิเจอร์ มีแนวโน้มเติบโตสูง

"ตลาดค้าปลีกในอาเซียนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ เช่นเดียวกับไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทั้งมาเลเซีย อินโดฯ และมาเลเซีย เป็นตลาดค้าปลีกดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ เต็มไปด้วยผู้เล่นท้องถิ่น มีชอปปิงมอลล์เปิดบริการไม่น้อยแต่แข็งแรงไม่มาก และไม่ครบถ้วนในสินค้าและบริการนับเป็นก้าวสำคัญและความท้าทายของซีพีเอ็น ซึ่งการไปแต่ละประเทศของซีพีเอ็นมองระยะยาว ต้องสร้างสเกล หรือเครือข่ายธุรกิจ ไปโครงการเดียวไม่คุ้มลงทุน"

ซีพีเอ็นวางเป้าหมายระยะยาวก้าวสู่ผู้นำตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากเทียบเชิงปริมาณของเครือข่ายชอปปิงมอลล์ในปัจจุบันซีพีเอ็นอยู่ในลำดับ 3 ของตลาดรองจากกลุ่มแคปปิตอลมอลล์ ของสิงคโปร์ และเอสเอ็มไพร์มของฟิลิปปินส์ ที่รุกขยายตลาดในอาเซียนและประเทศจีน ปัจจุบันซีพีเอ็นมีเครือข่ายศูนย์การค้ารวม 21 แห่ง เพิ่มเป็น 23 แห่งในสิ้นปีนี้ และ 26 แห่งในสิ้นปีหน้า มั่นใจว่าจะก้าวเป็นผู้นำตลาดได้ภายในปี 2563

ผนึกจุดแข็งพันธมิตรท้องถิ่นบุกตลาด

การขยายตลาดในต่างประเทศของซีพีเอ็น จะใช้ทั้งลักษณะ "การร่วมทุน" และ "ซื้อกิจการ" โดยเฉพาะการสรรหาพันธมิตรร่วมทุนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเข้าใจตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และกฎหมายท้องถิ่น เป็นการผนวกจุดแข็งของประสบการณ์ธุรกิจ 32 ปี มีโมเดลธุรกิจหลากหลายพร้อมลงทุนสอดคล้องทำเลหรือตลาดประเทศนั้นๆ ขณะที่พันธมิตรท้องถิ่นจะดูแลในเรื่องของกฎหมาย การติดต่อหน่วยงานราชการ การขอใบอนุญาตต่างๆ เป็นต้น

"เรามองพันธมิตรหลายรูปแบบที่เหมาะกับประเทศนั้นๆ แต่ละประเทศคุยหลายราย เปิดกว้างการลงทุน ใช้จุดแข็งของพันธมิตรผนวกกับความแข็งแกร่งของซีพีเอ็นขยายตลาดด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่าง เราไม่ต้องการเป็นผู้เล่นในตลาดระดับล่าง มุ่งเจาะตลาดระดับกลางและระดับบน ซึ่งมีช่องว่างและโอกาสสูง"

นางสาววัลยา กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างในมาเลเซีย มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ของอิออนมอลล์ แต่จับลูกค้าระดับกลางและระดับล่าง ขณะที่ซีพีเอ็นเป็นศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์มอลล์ที่ผสมผสานการตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่เป็นเทรนด์แห่งอนาคต

ปัจจุบัน ซีพีเอ็น อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรธุรกิจทั้งใน อินโดฯ และ เวียดนาม เพื่อเข้าลงทุนเป็นลำดับต่อไป ขณะที่ "พม่า" ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย ไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก เช่นเดียวกับ "ลาว" ที่มีตลาดเล็กมาก

เล็งตั้งสำนักงานมาเลเซีย

พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศมาเลเซียในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโครงการเซ็นทรัล พลาซา ไอ-ซิตี้ (Central Plaza i-City) บนพื้นที่ 28 ไร่ พื้นที่โครงการ 2.7 แสน ตร.ม. พื้นที่ขาย 8.9 หมื่น ตร.ม. นับเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของซีพีเอ็นที่มาเลเซีย ในรูปแบบ "รีจินัล มอลล์" มูลค่า 580 ล้านริงกิต หรือ 5,800 ล้านบาท ในโครงการไอ-ซิตี้ เมืองเทคโนโลยีแห่งใหม่ของมาเลเซียในเมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์ เป็นการร่วมทุนระหว่างซีพีเอ็น ถือหุ้นสัดส่วน 60% และ 40% เป็นของไอซีพี (ICP) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือ ไอ-เบอร์ฮัด (I-Berhad) ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของมาเลเซีย ผู้พัฒนาโครงการไอ-ซิตี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่ครบวงจร เป็นทั้งย่านธุรกิจหลักของเมือง แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีความบันเทิงครบสมบูรณ์แบบ ด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงานไซเบอร์ เซ็นเตอร์ สำนักงานของบริษัทชั้นนำ โรงแรม อาคารที่พักอาศัย พื้นที่ค้าปลีก สโนว์โดม และ เฟอร์ริส วีล และมีแผนที่จะพัฒนาเพอร์ฟอร์มมิ่ง อาร์ต เซ็นเตอร์ รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตด้วย

กลุ่มเป้าหมายของเซ็นทรัลพลาซา ไอ-ซิตี้ เป็นกลุ่มระดับกลางและระดับบน มีอำนาจการซื้อสูงในเมืองชาห์อลัม เมืองหลวงของรัฐสลังงอร์ มีประชากรมากกว่า 6 แสนคน มีการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงอย่างรวดเร็ว รวมถึงประชากรในรัฐสลังงอร์ที่มีมากกว่า 5 ล้านคน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายในเมืองใกล้เคียง กำหนดเปิดบริการในปี 2559

สยายปีกในประเทศ 3 สาขาต่อปี

สำหรับการลงทุนในประเทศมีแผนขยายสาขา 3 แห่งต่อปี ภายใต้งบลงทุน 1.2-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายในสิ้นปีนี้จะเปิดบริการอีก 2 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ และ หาดใหญ่ ในปี 2557 มีแผนจะเปิดบริการสาขาสมุย สาขาศาลายา และสาขาระยอง โดยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวขณะนี้ไม่กระทบต่อแผนการลงทุนของซีพีเอ็น ที่มองโอกาสธุรกิจระยะยาว

"เศรษฐกิจและการชะลอตัวทางการบริโภคไม่เป็นปัญหากับภาคธุรกิจ ที่เชื่อว่าปรับตัวเก่ง การที่ ซีพีเอ็น มีการลงทุนต่อเนื่อง เป็นส่วนผลักดันทำให้ธุรกิจและผลประกอบการของซีพีเอ็น มีการเติบโตต่อเนื่อง 10-15% ต่อปี มาโดยตลอด"



ซีพีออลล์-แม็คโคร  เร่งจัดทัพลุยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

แผนขับเคลื่อนกิจการ "ค้าปลีก-ค้าส่ง" สยายปีกในภูมิภาคอาเซียนของยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) อยู่ระหว่างจัดทัพ วางโครงข่ายธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมบุกตลาดในทันทีเมื่อ "โอกาส" มาถึง โดยเฉพาะ "ดีลซื้อกิจการ" ศูนย์ค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตัวเอง "แม็คโคร" มูลค่า 1.88 แสนล้านบาท ของ "ซีพีออลล์" เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ธุรกิจในเครือซีพี อยู่ระหว่างรอที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ลงมติอนุมัติในวันที่ 12 มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวระดับสูง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการพัฒนาโมเดลธุรกิจหลากหลายประเภทเป็นความได้เปรียบของการขยายสาขา โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาขอสิทธิ์ประกอบการในประเทศจีน "1 โซน" รวมทั้งสนใจขยายตลาดในแถบประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ซึ่งสามารถขยายกิจการ "คู่ขนาน" ทั้งค้าปลีก และ "ค้าส่ง" ผ่านธุรกิจค้าส่งแม็คโคร เชื่อว่าจะเกื้อหนุนในเชิงยุทธศาสตร์และเปิดตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันร้านอิ่มสะดวกเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทยมีทั้งร้านขนาดใหญ่ กลาง เล็ก รวมทั้งร้านสแตนอะโลนสามารถจอดรถได้ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟ เบเกอรี่ หนังสือ รวมถึงธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่สามารถประยุกต์สอดคล้องกับแต่ละทำเล

"พอร์ตธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของกลุ่มซีพีใหญ่ขึ้นในทันที นับเป็นหนึ่งในรายใหญ่ของเอเชียเลยทีเดียว ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจเปิดตลาดในภูมิภาคเปี่ยมประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยพลังแห่งเครือข่าย"

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ไม่น่าจะมีปัญหาในการลงทุนครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อ "ผู้ถือหุ้นลงมติ" ซีพีออลล์ก็สามารถยื่นประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นแม็คโครอย่างเป็นทางการได้ในทันที เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้

"ฝ่ายวิจัยแนะนำนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นแม็คโคร ให้นำหุ้นมาขายเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ในครั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ให้ราคาพื้นฐานหุ้นแม็คโครแค่ 600 บาท แต่ราคาเทนเดอร์ฯ สูงถึง 787 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาพื้นฐาน ขณะที่ผู้ถือหุ้นซีพีออลล์ แนะนำให้ซื้อสะสม โดยให้ราคาพื้นฐานหลังมีแม็คโครแล้ว เป็น 60 บาท จากราคากระดานหลักอยู่ที่ 40-42 บาท"

แผนธุรกิจซีพีออลล์ตั้งเป้าหมายเบื้องต้นหลังซื้อกิจการแม็คโคร ในปี 2557 แม็คโครจะ "เพิ่มมาร์จิ้น" จากการควบรวมอย่างต่ำ 0.2% ผนวกกับความแข็งแกร่งในการบริหารงานของแม็คโครเองเพิ่มมาร์จิ้นอีก 0.2% ทำให้แม็คโครเพิ่มมาร์จิ้นในปี 2557 อย่างต่ำ 0.4%

ตั้งแต่ปี 2557-2562 จะผลักดันแม็คโครขยายสาขาเพิ่มเป็น 7-11 แห่งต่อปี รวมถึงสาขาในต่างประเทศด้วย "มากกว่า" ค่าเฉลี่ยเดิม ที่แม็คโครเปิดสาขาใหม่ 4- 5 แห่งต่อปี สนับสนุน "แม็คโคร" เติบโตอย่างโดดเด่นไม่ต่ำกว่า 30% ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป หักล้าง "ภาระดอกเบี้ย" ของซีพีออลล์ จากการเข้าซื้อแม็คโคร และทำให้ "กำไร" ของ ซีพีออลล์ ตั้งแต่ปี 2557 เริ่มเห็น "ผลบวก" โดยเพิ่มขึ้นราว 29% จากงวดเดียวกันของปี 2556

สำหรับโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะ "เวียดนาม" ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมาก ลักษณะการซื้อขายเป็นร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional trade) สอดคล้องกับรูปแบบของแม็คโครมุ่ง "ขายส่ง" ขณะที่กลุ่มซีพี มีฐานธุรกิจที่เข็มแข็งมากในเวียดนาม สามารถผลักดันให้แม็คโครเปิดสาขาได้อย่างมีศักยภาพ คาดว่าจะมีสาขาให้บริการ 2 แห่งในปี 2557


สหพัฒน์ทุ่ม 2พันล้าน ลุยคอนวีเนียนสโตร์และดรักสโตร์ ขอมีส่วนแบ่งบ้าง

“สหพัฒน์” ลั่นไม่หวั่นเศรษฐกิจตกต่ำ ย้ำลงทุนร่วมหอลงโรงกับลอว์สันญี่ปุ่นเพื่ออนาคต สร้างความแข็งแกร่งให้แก่ค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ ลั่น 5 ปีจากนี้เปิดครบ 1,000 แห่ง งบลงทุน 2,000 ล้านบาท ด้านลอว์สันชูไทยเป็นฐานที่มั่นรุกตลาดอาเซียน

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า การที่เครือสหพัฒน์ร่วมลงทุนกับกลุ่มลอว์สัน อิงค์ ญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ขึ้นมาเพื่อรุกตลาดคอนวีเนียนสโตร์ในไทยในนาม ร้านลอว์สัน 108 กับร้าน 108 ชอปนั้นเพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจค้าปลีกคอนวีเนียนสโตร์ของสหพัฒน์ เนื่องจากในตลาดคู่แข่งใหญ่อย่างแบรนด์เซเว่นอีเลฟเว่นก็อยู่ภายใต้กลุ่มซีพีที่แข็งแกร่ง หรือร้านแฟมิลี่มาร์ทที่เป็นญี่ปุ่นเหมือนกับเราก็อยู่ในกลุ่มเซ็นทรัลที่แข็งแกร่งเช่นกัน ดังนั้นหากสหพัฒน์ไม่ปรับตัวก็คงไม่สามารถต่อสู้ได้

“เรามองการลงทุนครั้งนี้เป็นระยะยาว ไม่ได้มองแค่ปัจจุบัน แม้ว่าเวลานี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยจะตกลงและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงแต่ก็เป็นไปทั่วโลกหลายที่ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจก็มีขึ้นมีลงอยู่แล้วเป็นไปตามรอบของมัน ที่ผ่านมา 10 กว่าปีตั้งแต่ไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เราก็ผ่านมาแล้ว ช่วง 2-3 ปีก็จะเจอภาวะแย่ครั้งหนึ่งแล้วก็ดีขึ้น ดังนั้นการร่วมทุนกับลอว์สันเป็นคนละเรื่องกับเศรษฐกิจ แต่เราต้องการจะทำให้ค้าปลีกของเราแข็งแกร่ง และเราก็คุยกับทางลอว์สันมานานแล้ว”
ทั้งนี้ สหพัฒน์มีร้าน 108 ชอป ที่เป็นของตัวเองกับพันธมิตรรวมประมาณ 300 สาขา และมีสาขาอยู่ในพม่าอีกประมาณ 14 สาขา ซึ่งในพม่ามั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนในไทยนั้นได้โอนร้าน 108 ชอปทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทร่วมทุนที่ตั้งใหม่นี้ และที่ผ่านมาร้านลอว์สัน 108 ได้เริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้แล้ว โดยการนำร้านเก่าของ 108 ชอปมาปรับปรุงเปลี่ยนชื่อร้านประมาณ 15 สาขา

ตามเป้าหมายระยะยาวภายใน 5 ปีจากนี้หรือภายในปี 2561 จะต้องมีร้านลอว์สันเปิดในไทยประมาณ 1,000 สาขา ด้วยงบลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านบาท

ล่าสุด สหพัฒน์ก็ได้ดึง ร้าน “ซูรูฮะ” ซึ่งเป็นดรักสโตร์แฟรนไชส์จากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย

หากเทียบกับคู่แข่ง “ซูรูฮะ” ซึ่งเครือสหพัฒน์ร่วมทุนกับกับกลุ่มซูรูฮะ โฮลดิ้งส์ ประเทศญี่ปุ่น ย่อมได้เปรียบกว่า “โอเกนกิ” ที่เบอร์ลี่ยุคเกอร์ต้องปลุกปั้นแบรนด์และสร้างรูปแบบร้านค้า โดยเฉพาะความลงตัวด้านตัวสินค้า ซัปพลายเออร์จากญี่ปุ่น ความเป็น One Stop Service อย่างแท้จริง รูปแบบร้านค้าและบริการตามความเหมาะสมของพื้นที่

ทั้งนี้ ซูรูฮะโฮลดิ้งส์ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ติดอันดับ 3 ในธุรกิจดรักสโตร์ของญี่ปุ่น มีจำนวนร้านค้า 1,000 สาขาทั่วประเทศ โดยมีร้านดรักสโตร์ในเชนทั้งสิ้น 5 แบรนด์ ได้แก่ Sakura Drugs, Kusuri No Fukutaro, Tsuruha Drugs, Wellness และ Tsuruha Catalogs จำหน่ายสินค้ามากกว่า 30,000 รายการ แบ่งเป็นหมวดยาและเวชภัณฑ์, เครื่องสำอาง, ของใช้ภายในบ้าน, ขนมและเครื่องดื่ม และสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ “M’s one” เช่น น้ำแร่ เฟสมาสก์ กระดาษทิชชู สำลี น้ำยาล้างจาน อีกกว่า 1,000 รายการ

ส่วนรูปแบบร้านซูรูฮะในญี่ปุ่นมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบสแตนอะโลน พื้นที่ 900-1,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแนวราบชั้นเดียว ซึ่งรูปแบบนี้มีสินค้าครบและหลากหลาย กึ่งๆซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ไม่มีของสด รวมทั้งมีบริการต่างๆ ที่สนองความต้องการของชุมชน เช่น บริการซ่อมท่อประปา บริการปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอยู่อาศัย อีกรูปแบบเน้นพื้นที่กลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ ทำเลใกล้สนามบินและรถไฟฟ้า ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางเมตร

ปัจจุบันซูรูฮะในไทยมีทั้งหมด 7 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 4 สาขา ได้แก่ สาขาเกตเวย์ เอกมัย, ซีคอนสแควร์, ซีคอนบางแค และอาคารมิดทาวน์อโศก ส่วนต่างจังหวัด 3 สาขา ได้แก่ สาขาหน้าสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ศรีราชา สาขาเจพาร์ค ซึ่งถือเป็นสาขาเต็มรูปแบบเหมือนสาขาต้นแบบที่เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และสาขาพรอมเมนาดา รีสอร์ท มอลล์ เชียงใหม่ โดยวางแผนขยายครบ 20 สาขาภายในปีนี้และ 100 สาขา ภายใน 5 ปี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น