วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

โลก 360 องศา - (วิกฤติตัวประกันที่ฟิลิปปินส์,แอร์บัสการบินไทยไถลบนรันเวย์,ผลจัดอันดับขีดความสามารถของไทย,ประชุมจี 20 ที่รัสเซีย)

วิกฤติตัวประกันที่ฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร
หน่วยตำรวจคอมมานโดฟิลิปปินส์ปิดล้อมพื้นที่ในเมืองซัมบวงกาบนเกาะมินดาเนา ภายหลังกลุ่มติดอาวุธในเครือแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร จับพลเรือนไปเป็นตัวประกัน 30 คน และพยายามบุกเข้าไปที่ศาลากลางเมืองซัมบวงกาเพื่อชูธงฝ่ายกบฏ  อย่างไรก็ตาม ผู้บังคับหน่วยฯ ประกาศทางสถานีวิทยุท้องถิ่นว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้ฝ่ายกบฏเด็ดขาด หลังกลุ่มติดอาวุธหลายสิบคนมาทางเรือขึ้นฝั่งที่หมู่บ้านชายทะเล 2 แห่ง เมื่อช่วงเช้าตรู่ และปะทะกับกองกำลังรักษาความมั่นคง จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บอีก 10 คนขณะฝ่ายกบฏผลักดันจะรุกเข้าใจกลางเมืองให้ได้

โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ แถลงประณามการโจมตีที่เมืองซัมบวงกาอย่างรุนแรง และว่ารายงานที่มีการใช้อาวุธและใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์สร้างความวิตกเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มมือปืนดังกล่าวอยู่ในเครือกลุ่มกบฏมุสลิมที่เข้าร่วมข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเมื่อปี 2539 และได้แบ่งเขตปกครองตนเอง แต่จากนั้นอีก 5 ปี กลุ่มมุสลิมจับอาวุธอีกครั้งโดยอ้างว่ารัฐบาลไม่ได้ทำตามข้อตกลงสันติภาพทั้งหมด

มีรายงานว่า กบฏยิงต่อสู้กับทหารทำให้ทหารเสียชีวิต 1 นายและบาดเจ็บอีก 6 นาย นอกจากนี้มีพลเรือนเสียชีวิตอีก 2 คนและบาดเจ็บ 4 คนด้วย ขณะที่บางรายงานระบุว่ามีผู้บาดเจ็บ 17 คน จากการยิงต่อสู้ในช้าวันนี้ในอย่างน้อย 6 หมู่บ้าน และนายกเทศมนตรีได้ส่งทหารและตำรวจเฝ้าอารักขา โรงพยาบาล สำนักงานสื่อ ระบบประปา และธุรกิจต่างๆ

ผลสอบพบ"แอร์บัส-บินไทย"ฐานยึดล้อหักไถลหลุดรันเวย์ไฟลุก ‘วีรภาพ’พระเอกช่อง7 เผยนาทีหนีตาย

เมื่อเวลา 23.30 น. วันที่ 8 ก.ย. เกิดเหตุการณ์เครื่องบิน แอร์บัส 330 เที่ยวบินทีจี 679 กวางโจว-สุวรรณภูมิ ออกจากกวางโจวประมาณ 21.00 น. มีผู้โดยสารทั้งหมด 301 ราย เกิดอุบัติเหตุยางแตกขณะร่อนลง จนไถลตกรันเวย์ที่ 19 ฝั่งขวามือ ขณะลงจอดที่สุวรรณภูมิ ปีกด้านขวากระแทก ทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่เครื่องยนต์ที่ 2 เสียหาย เจ้าหน้าที่ต้องเข้าดับเพลิง และเคลื่อนย้ายผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน ล่าสุดรับรายงานมีผู้บาดเจ็บสิบกว่าคน โดยส่วนใหญ่สำลักควัน ตกใจ ช็อก ไม่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่นำผู้โดยสารทั้งหมดส่งบัสเกตที่ 5 รอตรวจสุขภาพทั้งหมด ขณะที่เครื่องบินเสียหายหนัก ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเที่ยวบินดังกล่าวมีบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่นั่งอยู่ในเครื่องดังกล่าว อาทิ วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ พระเอกช่องเจ็ด 7, คณะของนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรม และนายโฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวว่า รับรายงานเบื้องต้นว่า เครื่องกระแทกพื้นทำให้เครื่องเอียง ไฟไหม้เครื่องยนต์ที่ 2 ต้องอพยพผู้โดยสารทั้งหมด 301 คนด้วยแพยาง เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ขณะที่ ‘วี’ วีรภาพ พระเอกชื่อดัง กล่าวถึงนาทีระทึกว่า ได้ซื้อทัวร์ไปเที่ยวเมืองกวางโจวกับกลุ่มเพื่อนกว่า 10 คน ขากลับได้ใช้บริการ ของการบินไทย เที่ยวบิน TG 679 ก่อนเกิดเหตุกำลังนั่งคุยกับสจ๊วตใกล้ประตูฉุกเฉินฝั่งซ้าย แล้วได้ยินเสียงดังตึงและเสียงชนโครมคราม พอมองไปทางขวาเห็นฝรั่งร้องตะโกนว่าไฟไหม้ จากนั้นก็เกิดความชุลมุน เพราะทุกคนต่างพยายามหนีตาย เอาตัวรอด ต้องใช้แพยางสไลด์ออกจากตัวเครื่อง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากแรงกระแทก เหตุการณ์นี้ถือว่าสร้างความระทึกที่สุดให้กับชีวิต แต่ถือว่าฟาดเคราะห์ เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ เพราะวันนี้ (9ก.ย.) เป็นวันเกิดครบรอบ 33 ปี ของตัวเอง  โดยเจ้าตัวได้โพสต์ภาพจากอินสตาแกรม วี วีรภาพ @vee_weraparp ก่อนขึ้นเครื่องดังกล่าวกลับไทย โดยข้อความระบุว่า “ได้กลับไทยแล้วววว เจอกัน 9 กันยา”  ล่าสุด วันที่ 9 ก.ย. นายวรเดช เปิดเผยผลตรวจสอบสาเหตุเครื่องบินแอร์บัส เอ 330- 300 ของบริษัทการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 679 กว่างโจว-กรุงเทพฯ ไถลออกนอกทางวิ่ง ขณะลงจอดว่า สาเหตุเกิดจากฐานยึดล้อหลังด้านขวาหัก ทำให้เครื่องเสียการทรงตัว ไถลออกนอกรันเวย์ และเครื่องยนต์ปีกขวาขูดกับพื้นรันเวย์ จนเกิดประกายไฟลุกไหม้ ลามไปถึงตัวเครื่องด้วย  อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เกิดขึ้นยังต้องตรวจสอบต่อไป โดยกรมการบินพลเรือน จะนำกล่องดำของเครื่องบินลำดังกล่าวมาตรวจสอบอย่างละเอียด

WEF ขี้ความสามารถในการแข่งขันไทยเป็นรองสิงค์โปร์ มาเลเซีย บรูไน เผยจุดอ่อนไทยอยู่ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานด้อยคุณภาพ  WEF ชี้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น ขยับจากอันดับที่ 38 มาเป็นอันดับที่ 37 แต่ถ้าเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 4 รองจากสิงค์โปร์ (2) มาเลเซีย (24) และบรูไน (26) ในขณะที่อินโดนีเซียก็จี้ตามหลังประเทศไทยมาอยู่ในอันดับที่ 38 ส่วนจุดอ่อนในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ที่ความสามารถในด้านนวัตกรรมและความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีของไทยที่ต่ำ กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนและการแข่งขัน ปัจจัยด้านสุขภาพและการศึกษาพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็งในขณะที่ WEF ยังได้สรุปต่อไปอีกว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดสี่ประการสำหรับประเทศไทย คือ อันดับที่ 1 การคอรัปชั่น (20.2%) อันดับที่ 2 ความไม่มั่นคงของรัฐบาล (16.5%) และอันดับที่ 3 นโยบายไม่มีเสถียรภาพ (13.5%) และอันดับที่ 4 ระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ (13.4%)  ในวันที่ 4 กันยายน 2556 World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 148 ประเทศ ครั้งล่าสุด ใน The Global Competitiveness Report 2013-2014 ซึ่งใช้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันรวม (Global Competitiveness Index (GCI)) ในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขัน โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะ Partner หลักของ World Economic Forum ในประเทศไทย ได้วิเคราะห์ผลการจัดอันดับในปี 2013 ไว้ดังนี้

ในปี 2556 สวิสเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอยู่ในอันดับสูงสุดเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ตามมาด้วย สิงคโปร์ ฟินแลนด์ (คงที่ในลำดับที่ 2 และ 3) ขณะที่เยอรมนีเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 4 (จากอันดับที่ 6) และสหรัฐอเมริกาในอันดับที่ 5 (เลื่อนขึ้นมา 2 อันดับหลังจากที่ตกลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี) โดย WEF ได้สรุปว่าประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูงนั้น เป็นประเทศที่มีนวัตกรรม (Highly innovative) อยู่ในระดับสูง และมีสภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions) ที่เข้มแข็ง

สำหรับประเทศไทย ผลการจัดอันดับในปี 2556 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในลำดับที่ 37 สูงขึ้นจากลำดับที่ 38 ในปี 2555 (เป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน) และเมื่อพิจารณาปัจจัยหลักที่นำมาใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประกอบไปด้วย
1. ปัจจัยพื้นฐาน (Basic requirements) ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 49 (ลดลงจากลำดับที่ 45)
2. ปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency enhancers) อยู่ในลำดับที่ 40 (ดีขึ้นจากเดิมที่ 47)
3. ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ (Innovation and sophistication) อยู่ในลำดับที่ 52 (ดีขึ้นจากเดิมที่ 55)
แต่ถ้าเปรียบเทียบไปในอดีตตั้งแต่ปี 2549 จะเห็นได้ว่าระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยปัจจุบันลดลงถึง 6 ลำดับจากปี 2549

สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ประเทศในกลุ่มส่วนใหญ่ได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากปี 2555 กล่าวคือมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้นจากลำดับที่ 25 เป็น 24 บรูไนจาก 28 เป็น 26 อินโดนีเซียจาก 50 เป็น 38 ฟิลิปปินส์ จาก 65 เป็น 59 เวียดนามจาก 75 เป็น 70 สำหรับอินโดนีเซียนั้นถือได้ว่ามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม G20 คือปรับขึ้น 12 อันดับ ในขณะที่ประเทศที่มีลำดับต่ำลงได้แก่ กัมพูชาลดลงจากลำดับที่ 85 เป็น 88 ส่วนสิงคโปร์ลำดับเท่าเดิม คือ ลำดับที่ 2 นอกจากนี้ลาวและเมียนมาร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นปีแรก โดยอยู่ในลำดับที่ 81 และ 139 ตามลำดับ

โดยปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจนั้นแยกเป็นระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business sophistication) และนวัตกรรม (Innovation) โดยระดับการพัฒนาของธุรกิจของไทยอยู่ในลำดับที่ 40 (4.4 คะแนน) และระดับนวัตกรรมอยู่ในลำดับที่ 66 (3.2 คะแนน) จะเห็นได้ว่าระดับนวัตกรรมของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์และลาว) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ลำดับที่ 9 มาเลเซีย ลำดับที่ 25 อินโดนีเซีย 33 และบรูไน 59)
ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานนั้นประเทศไทยถูกจัดลำดับให้ลดลงจากเดิม 4 ลำดับ (จาก 45 เป็น 49) แม้ว่าคะแนนที่ได้จะคงเดิมอยู่ที่ 4.9 คะแนน ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการรักษาระดับของปัจจัยพื้นฐานนั้นที่ระดับเดิมนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากประเทศอื่นมีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่า โดยปัจจัยพื้นฐานนั้นแยกเป็น 4 ด้าน คือ 1. สภาพแวดล้อมด้านสถาบันหรือปัจจัยด้านกฎหมายต่างๆ (Institutions) 2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 3. สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic environment) 4. สุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน (Health and primary education)  จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมด้านสถาบันและ สุขภาพและการศึกษาพื้นฐานนั้นอยู่ในลำดับที่ 78 และ 81 ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย (เปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ลำดับที่ 3 และ 2 มาเลเซีย ลำดับที่ 29 และ 33 และบรูไน ลำดับที่ 25 และ 23)
ในส่วนของปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพนั้นประเทศไทยถูกจัดลำดับให้สูงขึ้นจากเดิมถึง 7 ลำดับ (จาก 47 เป็น 40) แม้ว่าคะแนนที่ได้นั้นคงเดิมอยู่ที่ 4.4 คะแนน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของประเทศไทย โดยปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพนั้นแยกเป็น 6 ด้าน คือ

1. การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher education and training) 2. ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency) 3. ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor market efficiency) 4. ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development) 5. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological readiness) และ 6. ขนาดของตลาด (Market size) จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านขนาดของตลาด โดยอยู่ในลำดับที่ 22 (เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่อยู่ในลำดับที่ 15) ในทางตรงกันข้ามความพร้อมด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 78 ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ (15) มาเลเซีย (51) บรูไน (71) อินโดนีเซีย (75) และฟิลิปปินส์ (75) จึงสรุปได้ว่าความพร้อมด้านเทคโนโลยีเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย

รายงาน The Global Competitiveness Report 2013-2014 สรุปว่าประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในลำดับที่ 37 เนื่องจากมีการพัฒนาในภาพรวมเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันยังเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างมาก WEF ยังได้สรุปต่อไปอีกว่าปัจจัยที่ก่อปัญหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 การคอรัปชั่น (20.2%) อันดับที่ 2 ความไม่มั่นคงของรัฐบาล (16.5%) และอันดับที่ 3 นโยบายไม่มีเสถียรภาพ (13.5%) และอันดับที่ 4 ระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ (13.4%)

นับตั้งแต่ปี 2548 (2005) World Economic Forum ได้นำเสนอดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระดับมหภาคและจุลภาค โดยนิยาม “ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)” ไว้ว่า เป็นการวัดความมีประสิทธิภาพของสถาบัน นโยบาย และปัจจัยที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของประเทศ ซึ่งความมีประสิทธิภาพของประเทศจะส่งผลถึงความอยู่ดีกินดีของประชากรและการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยดัชนี GCI วิเคราะห์ 12 ปัจจัยหลัก ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย
- สภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions)
- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
- สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic environment)
- สุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน (Health and primary education)
2. กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย
- การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher education and training)
- ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency)
- ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor market efficiency)
- ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development)
- ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological readiness)
- ขนาดของตลาด (Market size)
3. กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย
- ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business sophistication)
- นวัตกรรม (Innovation)
 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวแถลงระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี-20 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันศุกร์ ว่า เขาได้พบปะหารือเกี่ยวกับปัญหาซีเรีย กับ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ ช่วงนอกรอบการประชุม แต่การหารือซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที จบลงโดยไม่อาจตกลงกันได้ เกี่ยวกับจุดยืนของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวกับซีเรีย แม้ว่าการสนทนาโดยรวมจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตร

ผู้นำรัสเซีย เผยอีกว่า เกี่ยวกับแผนการที่สหรัฐจะใช้กำลังทหารโจมตีซีเรีย ดูเหมือนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม จี-20 จะเห็นด้วยกับรัสเซีย ไม่ใช้ 50 : 50 ตามที่เป็นข่าว โดยฝ่ายที่แสดงท่าทีสนับสนุนการโจมตีของสหรัฐ ประกอบด้วย ตุรกี แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย และฝรั่งเศส ทางด้านเยอรมนียัง "ลังเล" ขณะที่อังกฤษ แม้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน จะสนับสนุน แต่เขาไม่ได้เป็นตัวแทน "ความประสงค์" ของประชาชน เนื่องจากรัฐสภาอังกฤษมีมติปฏิเสธการแทรกแซง ส่วนฝ่ายที่คัดค้านการโจมตีซีเรีย นอกจากรัสเซียแล้วยังรวมถึง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ และ อิตาลี.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น