วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

ย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์อเมริกัน ตอนที่ 2



ขอเริ่มที่ประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของวงการภาพยนตร์อเมริกัน แต่เดิมนั้นจุดเริ่มต้นนั้นเกิดจากการรวมกลุ่มกันของบริษัทยักษ์ใหญ่ 9 บริษัท ร่วมกันผูกขาดกิจการโรงภาพยนตร์และโรงถ่ายทำภาพยนตร์ต่างๆในนามบริษัทโมชัน พิกเจอร์ พาเทนต์ คัมปานี (Motion Picture Patents Company) ซึ่งอยู่กันที่มหานครนิวยอร์กและมลรัฐชิคาโก ทำให้เกิดการผูกขาดธุรกิจด้านนี้ไปโดยปริยาย อุตสาหกรรมไม่ได้โตขึ้นมากนัก บริษัทผู้สร้างเล็กๆ ล้มหายตายจากกันไป ต้องหนีตายกันออกมาบ้าง เหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงยุคปี ค.ศ.1910 หรือ พ.ศ.2452 ส่วนกลุ่มที่หนีตายมาได้ก็มาตั้งรกรากกันที่แคลิฟอร์เนีย เพราะมองเห็นถึงสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่ดีกว่า มีภูเขา มีทะเล บางส่วนเป็นทะเลทราย มีเรือกสวนไร่นา แสงแดดดี ซึ่งเหมาะต่อการเป็นโลเกชั่นการถ่ายทำ อีกทั้งอัตราภาษีในการจัดเก็บนั้นต่ำกว่านิวยอร์กและชิคาโกมาก ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการทำอุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนียประกอบไปด้วยเมืองหลัก ๆ 3 เมืองด้วยกัน ก็คือด้านทิศเหนือเป็นเมืองซาคราแมนโต ถัดลงมาเป็นเมืองซานฟรานซิสโก และทิศใต้เป็นเมืองลอสแอนเจลิส ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเลแทบทั้งสิ้น แถวชานเมืองลอสแอนเจลิสมีนักสร้างภาพยนตร์รายแรกๆ มาก่อสร้างโรงถ่ายทำภาพยนตร์และสำนักงานในช่วงปี 1910-1915 โดยเรียกชื่อย่านนั้นว่า “ฮอลลีวู้ด” (เป็นชื่อที่นางวิลค็อกซ์ตั้งเอาไว้เมื่อปี 1886) สันนิษฐานว่า เดิมถิ่นนี้มีต้นฮอลลีไม้มงคลที่ฝรั่งนิยมมาประดับบ้านเรือนช่วงเทศกาลคริสต์มาสอยู่จำนวนมาก โรงถ่ายทำภาพยนตร์แห่งแรกของฮอลลีวู้ดชื่อว่า “คีย์สโตน” (Keystone) ก่อสร้างโดย แมค เชนเนตต์ (Mack Sennett) สามารถผลิตภาพยนตร์ตลกในช่วงต้นๆ ได้มากถึง 140 เรื่อง ,โรงถ่ายที่ 2 ตั้งอยู่ใกล้กับ “อินซ์วิลล์” (Inceville) ก่อสร้างโดย โทมัส ฮาร์เพอร์ อินซ์ (Thomas Harper Ince) เป็นโรงถ่ายที่อยู่ใกล้แหล่งสภาพเหมาะสมที่จะสร้างภาพยนตร์แนวคาวบอย ,โรงถ่ายที่ 3 มีชื่อว่า “มามาโรเนก” (Mamaronek) บริหารงานโดยเดวิด วาร์ก กริฟฟิธ (David Wark Griffith) นักสร้างภาพยนตร์แนวรูปแบบศิลปะ เป็นโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เชื่อมโยงกับโรงถ่ายคีย์สโตนเข้ากับโรงถ่ายอินซ์วิลล์ โรงถ่ายภาพยนตร์ทั้ง 3แห่ง ได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นบริษัทที่ชื่อว่า “ไทรแองเกิล คัมปานี” (Triangle Company)

“ฮอลลีวู้ด” นั้นกลายเป็นเมืองหลวงแห่งโลกมายา ที่ตั้งนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองลอสแอนเจลิส ในระยะแรกๆ นั้น ดาราที่มาแสดงในยุคแรกๆ นั้นจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมาก่อน เช่น ฟลอเรนซ์ ลอว์เรนซ์ หรือ แมรี่ พิกฟอร์ด แม้กระทั่ง ชาร์ลี แชปลิน เป็นต้น ในระยะต่อมาทางบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ก็เริ่มเสาะหานักแสดงหน้าใหม่ๆ ที่ยังไม่มีชื่อเสียงมาเป็นนักแสดงในสังกัด โดยใช้วิธีทำสัญญาผูกมัดระยะยาวในอัตราค่าจ้างที่ไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งยังใช้วิธีการตั้งชื่อนักแสดงขึ้นมาใหม่จากชื่อเดิม ให้เป็นที่จดจำหรือดึงดูดความสนใจของผู้ชม เช่น นอร์มา ยีน ดักเฮอร์ตี (Norma Jean Dougherty) ไม่มีทางที่ผู้คนจะจดจำได้ จึงเปลี่ยนมาเป็น มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ภายหลังเธอก็กลายเป็นดาราผู้โด่งดังเป็นพลุแตก กลายเป็น “Sex Symbol” ที่โด่งดังเป็นอมตะไปทั่วโลก ส่วนเรื่องรายได้นั้นก็มหัศจรรย์เอามากๆ ในปี ค.ศ.1910 ดาราภาพยนตร์อเมริกันจะมีรายได้กันอยู่ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์ แต่พอผ่านมาได้ 4ปี พวกเขามีรายได้สูงถึง 2,000 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์และเมื่อถึงปี ค.ศ.1917 ดาราผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอย่าง ชาร์ลี แชปลิน และแมรี พิกฟอร์ด มีรายได้เกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ในช่วงยุคปี ค.ศ.1950-1960 เป็นยุคที่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเริ่มเสื่อมความนิยมลง อันเนื่องมาจาก “ดาวค้างฟ้า” นั้นล้มหายตายจากกันไปจำนวนมาก อาทิ ฮัมฟรีย์ โบการ์ด, แกรี คูเปอร์, เจมส์ ดีน ,คลาร์ก เกเบิล ,มาริลิน มอนโร,อลัน แลดด์ และสเปนเซอร์ เทรซี ต่างทยอยสิ้นชีวิตตามกันไป ดาราที่เกิดใหม่ยังไม่ค่อยมีผู้ที่ฉายแสงเจิดจรัส อีกทั้งดาราหน้าใหม่เลือกที่จะไม่สังกัดสตูดิโอ ขอเลือกที่จะเซ็นสัญญาเป็นเรื่องๆ ไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ช่วงปี 1960-1970 บริษัทสตูดิโอผู้สร้างหนังหลายแห่งต้องปิดตัวเองไป หรือบางแห่งก็ขายกิจการให้แก่บริษัทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ในช่วงนั้นก็ได้อาศัยภาพยนตร์ของสตูดิโอที่ตนซื้อมา มาฉายออกทางทีวีให้ผู้ชมทางบ้านได้ดู บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์หรือโรงถ่ายภาพยนตร์หลายแห่งในยุคนั้น จำต้องขายกิจการหรือเลิกกิจการ บางแห่งก็หันไปประกอบธุรกิจขุดเจาะน้ำมันดิบ (เมื่อมีการค้นพบว่ามีน้ำมันอยู่ใต้บริเวณโรงถ่าย) เพื่อออกขายแทน บางรายมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารงานใหม่และยังทำธุรกิจอยู่ได้ บางแห่งก็โดนเทคโอเวอร์โดยชาวต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เป็นต้น

พัฒนาการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด โดยสังเขป มีดังนี้

1.ด้านนักแสดง เปลี่ยนจากการขายภาพดารา (Star Poster) มาเป็นการเน้นที่ชื่อเสียงของดารามากขึ้น

2.ด้านเทคนิคภาพ เปลี่ยนจากสีขาว-ดำ มาเป็นภาพยนตร์สี (2 สี ในปี ค.ศ.1922) แล้วมาเป็น (3 สีในปี ค.ศ.1932) ระบบ full colour ตามระบบในปัจจุบัน

3.ด้านเสียง พัฒนาจากหนังเงียบ (ค.ศ.1910-1925)ที่ไร้บทพูดมาเป็น ภาพยนตร์ที่มีเสียงดนตรีประกอบ (คาบเกี่ยวช่วงปี ค.ศ.1910-1927) บริษัทวอร์เนอร์บราเธอร์ส เป็นบริษัทแรกที่สร้างภาพยนตร์เสียงขึ้น คือเรื่อง “นักร้องเพลงแจ๊สซ์” (Jazz Singer) นำแสดงโดย อัล โจลสัน (Al Jolson) ซึ่งประสบความสำเร็จและทำกำไรให้แก่บริษัทผู้สร้างอย่างงดงาม

4.ด้านระบบการฉายและจอภาพ ยุคแรกจนถึงปี ค.ศ.1951 เป็นการฉายภาพยนตร์ในระบบจอธรรมดาตลอดมา จนถึงปี 1952 ฮอลลีวู้ดได้คิดระบบการฉายที่เรียกว่า “ซีเนรามา” (Cinerama) คือจอผืนผ้าขนาดใหญ่มาก โดยใช้เลนส์ 3 ตัว และฟิล์ม 3 ม้วน ในขณะที่ถ่ายทำเพื่อให้ได้ภาพออกมาเป็น 3 ส่วนคือส่วนกลางและส่วนริมอีก2 ข้าง เวลาฉายก็ต้องตั้งเครื่องฉายพร้อมกัน 3 เครื่อง แต่ละเครื่องจะแสดงแต่ละส่วนของภาพทั้งหมด ภาพที่ปรากฏบนจอจึงมีขนาดใหญ่และกว้าง จอภาพต้องโค้ง เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความลึก ทำให้ผู้ชมดูได้อย่างสบายตา แต่ระบบนี้ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก เพราะยังต้องใช้ระบบเสียงสเตริโอโฟนิกที่ใช้ลำโพงถึง 5 เครื่องประกอบ ผู้ผลิตภาพยนตร์จึงต้องคิดค้นและพัฒนาต่ออีกทั้งระบบภาพ 3 มิติ (3-D หรือ 3 Dimensions) ก็เริ่มคิดค้นมาในยุคนี้แต่ยังต้องใส่แว่นตาแบบพิเศษที่ยังได้ฉาพไม่ละเอียดคมชัด อีกทั้งมีความยุ่งยาก จึงทำให้ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก พอมาในยุคปี 1953 มีการนำเอาระบบ “ซีนีมาสโคป” (Cinemascope) ยังคงใช้จอภาพกว้างใหญ่เหมือนระบบซีเนรามา มาใช้ แต่เปลี่ยนระบบฉายมาเป็นใช้เลนส์เพียงตัวเดียวและฟิล์มม้วนเดียว ระบบเสียงยังเหมือนเดิม แต่ใช้ลำโพงน้อยลง จึงทำให้ลดต้นทุนได้มากกว่าระบบการฉายแบบซีเนรามา ภาพยนตร์ที่ฉายในระบบซีเนมาสโคป เรื่องแรกก็คือเรื่อง “เสื้อคลุม” (The Robe)



5.ผลของการพัฒนาและความก้าวหน้าในการสร้างภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดส่งผลให้อเมริกากลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงปี 1930-1940 มีการสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด จำนวนกว่า 17,000 เรืองโดยประมาณ ในขณะที่อิตาลีเป็นผู้สร้างใหญ่ในแถบยุโรป ยังสร้างได้เพียง 6,000 กว่าเรื่องเท่านั้น

(ถอดความบางส่วนจากบทความ “ฮอลลีวู้ดกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์” จากหนังสือ “ย้อนรอยหนังฝรั่ง”โดยไพบูลย์ แพงเงิน ,สำนักพิมพ์วสีครีเอชั่น)

ลำดับของภาพยนตร์แนวต่างๆ หรือวิวัฒนาการภาพยนตร์ประเภทต่างๆ ของฮอลลีวู้ด

1.ภาพยนตร์เงียบ,หนังสารคดีขนาดสั้น,หนังขาว-ดำ ภาพยนตร์ในยุคนี้ ได้แก่ The Great Train Robbery,The Last Days of Pompeit , Rescued for the Eagle’s Nest, Enock Arden etc.



2.ภาพยนตร์ยุคชาร์ลี แชปลิน,หนังคู่หูตลกอ้วน-ผอม เริ่มมีเสียงดนตรีประกอบ ภาพยนตร์ในยุคนี้ ได้แก่ The Champion, Modern Times ,Duck Soup , The Jazz Singer etc.

3.ภาพยนตร์การ์ตูน,หนังนิทานสอนใจ,วอลท์ ดิสนี่ย์ เริ่มมีบทพูด และดนตรีประกอบ ภาพยนตร์ในยุคนี้ได้แก่ Mickey Mouse, Donald Duck, Pluto,Goofy, Pop-eye,Tom & Jerry, Lady&The Tramp etc.

4.ภาพยนตร์ผจญภัย,หนังฮีโร่ที่สร้างจากนิยาย-การ์ตูน,หนังที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ภาพยนตร์ในยุคนี้ ได้แก่  Tarzan, Creature from the Black Lagoon,Lassie etc.




5.ภาพยนตร์เพลง,มิวสิคัล ภาพยนตร์ในยุคนี้ ได้แก่ The Sound of Music, Seven Brides for Seven Brothers etc.

6.ภาพยนตร์คาวบอย-โคบาลตะวันตก,หนังสงคราม,หนังแอ็คชั่น (รายละเอียดได้กล่าวไว้ในย้อนตำนานยุครุ่งเรืองภาพยนตร์อเมริกัน ตอนที่ 1)

7.ภาพยนตร์แนว “วรรณกรรมฝนตก” หรือจะเรียกในภาษาชาวบ้านว่า หนังเรท R ภาพยนตร์ในแนวๆ นี้ได้แก่ The Postman always Rings Twice, The Blue Velvet etc.

8.ภาพยนตร์แนวอีพิค (Epic) อิงประวัติศาสตร์มหากาพย์ (History) ย้อนยุค ภาพยนตร์ในยุคนี้ได้แก่ El Cid, Ben-Hur, Gone with the Wind etc.


9.ภาพยนตร์ยุคใหม่ ที่ประกอบด้วย แนวไซไฟ,แนวทริลเลอร์,แนวดราม่า,แนวโรแมนติกคอมเมดี้,แนวซุปเปอร์ฮีโร่,แนวแอนิเมชั่น ที่เห็นๆ กันในยุคปัจจุบัน เป็นต้น

10.มีการจัดตั้งรางวัลจากสมาคม,สถาบันต่างๆ ที่สอนเกี่ยวกับศิลปะภาพยนตร์,หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการสร้างภาพยนตร์ต่างๆ ได้แก่ สถาบันศิลปะและวิทยาการด้านภาพยนตร์ (AMPAS) ,สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์บนสื่อวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ (BFCA) , สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวู้ด (HFPA), สมาคมผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา (PGA), สมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา (WGA) ,สมาคมนักแสดงแห่งอเมริกา (SAG) , สมาคมผู้กำกับการแสดง (DGA) ,คณะกรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (NBR) นอกจากนี้ยังมีสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่แยกตามหัวเมืองหลักๆ ของอเมริกาอีกด้วย เช่น แห่งนครนิวยอร์ก,ซานฟรานซิสโก,นครบอสตัน,นครชิคาโก ส่วนรางวัลที่ผู้สร้างภาพยนตร์และนักแสดงที่มีชื่อเสียงต่างให้ความสำคัญยังมีอีก 2 รางวัล และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก นั่นคือ “รางวัลตุ๊กตาทอง” หรือรางวัล “ออสการ์” (Academy Award) ,และรางวัล “ลูกโลกทองคำ” (The Golden Globe Award) รางวัลออสการ์ นั้นจัดทำขึ้นโดย สถาบันศิลปะและวิทยาการด้านภาพยนตร์ (AMPAS) ส่วน รางวัลลูกโลกทองคำ จัดทำขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งฮอลลีวู้ด (HFPA) เพื่อมอบให้แก่บุคคลในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเป็นเกียรติยศแก่ผู้มีผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆในแต่ละปี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น