วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำไมช่องเคเบิ้ลเพลง(MTV,Channel V) จึงไม่ฮอตฮิต (หมดเสน่ห์) เหมือนในยุคอดีต(ยุค 80’s,90’s,Millennium)


ประการแรกเลยก็คือ ความสดใหม่ มันไม่มีอีกแล้ว เนื่องจากสมัยที่เป็นยุคบุกเบิกวงการเคเบิ้ลเพลงทางทีวี หรือเป็นสถานีเพลง 24 ชั่วโมง ที่เปิดเพลงดังๆ จากหลากหลายศิลปินทั่วโลก พร้อมๆ กับการอุบัติขึ้นของมิวสิควีดีโอ ซึ่งยังเป็นสิ่งใหม่มากในยุคนั้น (MTV ก่อตั้งเมื่อ 1 ส.ค.1981 ที่นิวยอร์ก ส่วน Channel V ก่อตั้งเมื่อ 23 พ.ค.1994 ที่ฮ่องกง ) คนดูในยุคนั้นเขาได้รับการตอบสนองพร้อมๆ กันในหลายประการ คือ ได้ดูมิวสิควีดีโอจากเพลงของศิลปินดังๆ ที่เขาชอบ,การจัดอันดับเพลงไปพร้อมๆ กัน ,มีอาชีพใหม่ๆ ที่เรียกว่า “วีเจ” มาเปิดเพลง แนะนำเพลง ก่อนเข้าเพลงหรือดูมิวสิค คล้ายๆ ดีเจของสถานีวิทยุ ,มีช่องเคเบิ้ลที่เปิดเพลง 24 ชั่วโมง คือเขาสามารถเปิดดูในเวลาใดก็ได้ ซึ่งยังเป็นความบันเทิงที่แตกต่างไปจากการดูช่องภาพยนตร์,ช่องข่าว,ช่องสารคดี,ช่องกีฬา เป็นต้น และอย่าลืมว่ายุคนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ที่จะดึงความสนใจของคนกลุ่มใหญ่ได้ ยุคนั้นประสบการณ์ที่คนฟังได้เสพเพลงจากรายการวิทยุแล้วมีเสียงดีเจคอยเปิดแผ่นให้ความรู้ด้านเพลงและวงการดนตรีเป็นสิ่งที่ประทับใจ พอมีสื่อใหม่อย่างช่องเคเบิ้ลเพลงขึ้นมาจึงกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้เขียนก็เคยคาดหวังไว้มากว่าจะมาแทนวิทยุได้ แต่ก็ผิดหวัง เพราะทุกวันนี้ดูช่องเคเบิ้ลเพลงแฟรนส์ไชส์น้อยลง เพราะเบื่อพวกวีเจมาพล่าม พูดมากในรายการหรือเล่นเกมส์ต่างๆ นานา จนได้ฟังเพลงที่อยากฟังน้อย หรือบางทีก็ไม่ได้เปิดเลย


 


                                             การแสดงสดของ Miley Cyrus ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์


 
 

ตลอดกว่า 30 ปี MTV เป็นที่เผยแพร่และแจ้งเกิดศิลปินผิวสี,มิวสิควีดีโออันล่อแหลม,การร่วมรักอย่างโจ๋งครึ่ม,ความรุนแรง,อาชญากรรม,เซ็กส์,รวมทั้งฉากการเสพยาเสพติด ซึ่งมิวสิควีดีโอหลายตัวไม่ถูกเซ็นเซอร์ ทั้งๆ ที่กลุ่มคนดูเป็นวัยรุ่นหรือเยาวชนจากทั่วโลก


ประการที่ 2 สิ่งแปลกใหม่หรือกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมซึ่งเป็นฐานคนดูกับตัวธุรกิจหรือช่องสถานี เพลงนั้น ๆ ได้ถูกทดลองทำมาหมดแล้ว สมัยแรกๆ มีการแข่งขันกันด้าน วีเจ ว่าของช่องใดจะมีตัวที่ ดี เด่น ดัง มากกว่ากัน มีการไปแย่งดึงตัวเอาเซเลป ดารา นางแบบ นายแบบ พิธีกรวัยรุ่น ที่เป็นทีนไอดอลของยุคนั้นมาอยู่ช่องของตน เช่น ตอนเปิดตัว Channel V ใหม่ๆ ก็ใช้วิธีนี้ เพื่อไม่ให้แพ้ MTV ,หลังๆ ก็มีการจัดหาด้วยวิธีการรับสมัครวีเจหน้าใหม่ในโครงการวีเจเซิร์จบ้าง หรือปั้นวีเจขึ้นมาเอง, การสร้างกิจกรรมระหว่างวีเจ กับฐานแฟนคลับหรือคนดู เช่น จัด คอนเสิร์ตไลฟ์ เซสชั่น ในสตูดิโอ โดยดึงศิลปินชื่อดังมาเล่นสดในรายการ,การรับสายขอเพลงสดๆ ในรายการ,การร่วมกันจัดอันดับเพลง,การเล่นเกมแจกของรางวัล,การสัมภาษณ์ศิลปินที่มีผลงานโปรโมตใหม่ๆ ในรายการ, การจัดคอนเสิร์ตโดยเชิญศิลปินหลากหลายศิลปินจากหลายค่ายมาแจมกันบนเวที โดยมีสถานีเพลงเป็นเจ้าภาพหรือสปอนเซอร์หลัก พร้อมด้วยสปอนเซอร์สนับสนุนอื่นๆ ,การจัดการประกาศผลรางวัลทางด้านดนตรีโดยสถานีเพลงเป็นเจ้าของรางวัล,การจัดแฟนมีทติ้งระหว่างวีเจชื่อดังกับแฟนคลับ โดยมีศิลปินดังๆ ร่วมด้วย จนไปถึงการทำสารคดีพิเศษที่เกี่ยวกับตัวศิลปินบ้าง หรือกิจกรรมทางสังคมบ้าง การจัดทำภาพยนตร์หรือซีรี่ย์ก็เคยมีมาแล้ว เช่น Awkward กับ Teenwolf ของทาง MTV หรือเกมเรียลลิตี้ เป็นต้น

ประการที่ 3 การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย อย่าง youtube เป็นต้นตอหลักที่มาฆ่าธุรกิจช่องเคเบิ้ลเพลง ในดอกแรกนี้เลย เพราะว่า จุดสนใจหรือข้อดีของ youtube นั้นกลับกลายเป็นจุดแข็งที่มาเติมเต็มหรือหรือทำลายข้อด้อยของพวกช่องเคเบิ้ลเพลงได้อย่างชะงัดเลย อันแรกก็คือเกิดการแชร์ อัพโหลดคลิปจากคนทั่วโลก ซึ่งมีสารพัด ไม่เพียงแต่เรื่องของเพลงเท่านั้น มันจึงมีความน่าสนใจใคร่รู้ของคนจำนวนมาก ที่โมเม้นต์ของคนไม่ได้ไปจดจ่ออยู่ที่เพลงอีกต่อไปแล้ว รวมถึงไปฆ่าธุรกิจภาพยนตร์ เพราะการดูมิวสิควีดีโอมันไม่ใช่ของสดแบบเรียลไทม์ (ข่าว,กีฬา,ละคร youtube เป็นตัวเสริมให้ดูย้อนหลังได้) ชนิดที่ต้องดูเดี๋ยวนั้น ขณะนั้น คนดูสามารถหันไปดูทาง youtube ได้ ดูซ้ำกี่รอบก็ได้ ซึ่งการดูในช่องเคเบิ้ลเพลงไม่สามารถทำได้ ยกเว้นว่าเขาฉายวนแบบรีรัน แบบถี่ๆ ซึ่งช่องเพลงไม่เหมือนช่องหนัง จึงไม่นิยมทำ การดูมิวสิควีดีโอผ่าน youtube ยังสามารถเลือกฟังเฉพาะศิลปินที่เราชื่นชอบ อยากจะฟังจริงๆ เดี๋ยวนั้น ขณะนั้น โดยไม่ต้องรอ หรือโทร.เข้าไปขอกับช่องเคเบิ้ลเพลง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ฟังได้ดูเมื่อไร อีกทั้งข้อจำกัดของมิวสิควีดีโอที่นำมาเปิดในช่องเคเบิ้ลเพลงมักเป็นเพลงที่ตัดโปรโมทและต้องเป็นเพลงที่จัดทำในรูปมิวสิควีดีโอ หรือแสดงสดเท่านั้น จึงออกอากาศได้หรือคนดูจะได้ดูได้ฟัง หากเป็นเพลงที่ไม่ได้ทำมิวสิค หรือตัดโปรโมท ก็แทบหาฟังทางช่องเคเบิ้ลเพลงไม่ได้เลย ซึ่งต่างจากเพลงที่ฟังทางวิทยุ หรือทาง youtube ที่บางเพลงจัดทำในรูป file mp3 จึงฟังหรือดูทาง youtube ได้หลากหลายกว่า ส่วนการฟังโดยการ download ถูกกฎหมายของลิขสิทธิ์นั้นทำได้อยู่แล้ว

ประการที่ 4 ค่ายเพลงหลักๆ เปิดสถานีช่องเพลงเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งพาช่องเคเบิ้ลเพลงแฟรนไชส์อย่าง MTV,Channel V แล้ว เรียกได้ว่าใช้สูตรเดียวกับช่องเคเบิ้ลเพลงเคยทำมานั่นแหละ อันนี้ถือเป็นดอกที่ 2 แต่สิ่งที่ค่ายเพลงหันมาทำสถานีช่องเพลงเป็นของตนเองนั้น ตอบโจทย์และสร้างผลประโยชน์ให้กับเขาได้คุ้มค่ากว่า โดยไม่ต้องไปยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ เหมือนกับที่เขามีช่องสถานีวิทยุเป็นของตนเองนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นข้อดีด้าน เม็ดเงินโฆษณา เม็ดเงิน sms ก็เข้าสถานีของเขาเอง อาศัยช่องสถานีของตน โปรโมตซิงเกิ้ลเพลงของศิลปินทุกคนในค่ายได้,โปรโมตผลงานมิวสิควีดีโอของศิลปินทั้งใหม่และเก่า ,เวลาศิลปินมีผลงานใหม่ๆ ก็ใช้เป็นที่โปรโมต สัมภาษณ์ แสดงสดในช่องสถานีตนเองได้ ,จัดแฟนคลับมีทติ้งร่วมกับสถานีหรือรายการในช่องสถานีตนเอง, สร้างกิจกรรม CSR ระหว่างตัวศิลปินกับฐานแฟนคลับ และกิจกรรมทางสังคมโดยร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานข้างนอกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ,เวลาศิลปินมีข่าว ไปออกงานอีเว้นท์ หรือจะมีจัดคอนเสิร์ต ก็ใช้เป็นที่โปรโมตกิจกรรมทุกรูปแบบ, เวลามีซิงเกิ้ลใหม่,มิวสิควีดีโอตัวใหม่ ก็ใช้สถานีตัวเองเป็นที่แรกในการเปิดโปรโมต หรือพรีเมียร์ โดยลำดับความสำคัญเป็นที่แรก ที่อื่นเป็นลำดับรองลงไป อย่างเช่น ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่มีช่องเพลงเป็นของตนเองถึง 6 ช่อง เช่น Green,Bang, Acts,FanTV,Gmm Music, Gmm ONE ด้วยความที่เป็นค่ายใหญ่มีศิลปินเยอะที่สุด เพลงฮิตเยอะสุด ฐานแฟนคลับเยอะสุด จึงสามารถจัดรายการประเภทจัดอันดับเพลงเป็นของตนเองได้ ซึ่งค่ายอื่นไม่สามารถทำได้ ส่วนค่าย RS มีช่อง You ,สบายดี ,Yaak ส่วนทางโซนี่บีอีซีเทโร ก็มีช่อง POP , You 2 Play ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า กลุ่มแฟนคลับซึ่งเป็นฐานแฟนคลับของศิลปินตามค่ายเพลงต่างๆ เหล่านี้ จะหันไปเสพหรือดูศิลปินของเขาผ่านช่องเคเบิ้ลของค่ายเพลงเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะข่าวสาร ข้อมูล รวมถึงกิจกรรมก็จะ exclusive กว่าช่องเพลงแฟรนไชส์อย่าง MTV,Channel V เป็นแน่

รูปแบบรายการประเภทจัดอันดับเพลงไทยของช่องเพลงแฟรนไชส์


รูปแบบการแสดงสดของศิลปินที่มาออกรายการทางช่อง MTV


รายการ Asian Hero ที่นำเสนอศิลปินจากฝั่งเอเชีย และที่มาแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทย


ประการที่ 5 ช่องเคเบิ้ลเพลงที่เป็นแฟรนไชส์อย่าง MTV,Channel V นั้นต้นกำเนิดหรือรากนั้นมาจากเพลงทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกาอยู่แล้ว จะเน้นเปิดเพลงไทยก็เป็นเพียงสัดส่วนเพียงแค่ 30% ของทั้งหมด แม้ว่าจะมีการเปิดบริษัทสาขาตัวแทนในประเทศไทยแล้วก็ตาม (MTV Thailand,Channel V Thailand)แต่ฐานกลุ่มคนที่ดูช่องเคเบิ้ลเพลงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นฐานคนที่ฟังเพลงสากลเป็นหลัก แต่มีการทำสำรวจวิจัยออกมาแล้วว่าในช่วง 20 ปีหลังมานี้ ตลาดเพลงสากลในบ้านเรานั้นหดเล็กลง ในขณะที่ตลาดเพลงไทยสากลและเพลงเอเชียนกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก สมัยผู้เขียนเป็นเด็กหรือยังวัยรุ่นอยู่ ตลาดเพลงบ้านเรา คนส่วนใหญ่จะฟังเพลงสากล 70 เพลงไทยกับเอเชียนแค่ 30 แต่เดี๋ยวนี้กลับกัน เพลงไทยกับเอเชียน 70-80 เพลงสากล 30-20 จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นยุคนี้ฟังเพลงไทยในประเทศกับเพลงเอเชียน โดยเฉพาะเพลงเกาหลี เป็นตลาดใหญ่ และเพลงไทยกับเพลงเอเชียนนั้นอยู่ในมือของค่ายเพลงไทยก็คือแกรมมี่ กับโซนี่ ,อาร์เอส และทรูมิวสิค ซึ่งแต่ละค่ายเพลงเหล่านี้ก็มีช่องเพลงเป็นของตนเองทั้งสิ้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้กลุ่มฐานคนดูในช่อง MTV,Channel V นั้นลดลง และเป็นที่มาที่ทำให้ผลการดำเนินงานของช่องสถานีเพลงที่เป็นแฟรนส์ไชส์เหล่านี้อยู่ได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน MTV ไทยแลนด์เคยปิดตัวลงไปแล้ว 2 ครั้งและมาเปิดใหม่เมื่อไม่นานมานี้
(เอ็มทีวีไทยแลนด์ออกอากาศครั้งแรกบนช่อง 49 เครือยูบีซี ต่อมาย้ายมาช่องยูบีซี 32 ต่อมา เอ็มทีวีไทยแลนด์ประกาศย้ายการออกอากาศในไทยวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 จากเคเบิลทีวี ช่องทรูวิชั่นส์ไปแพร่ภาพทางทีวีดาวเทียม ดีทีเอช หรือรับชมผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น ขณะนี้เอ็มทีวีไทยแลนด์ ได้ย้ายการออกอากาศจากสไมล์ทีวี เน็ตเวิร์ค โดยได้กลับมาออกอากาศ ทาง ทรูวิชั่นส์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ย้ายมาอยู่ช่อง 85 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ออกอากาศในวันสุดท้ายของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นกลับมาออกอากาศอีกครั้งทางช่องทรูวิชันส์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยถ่ายทอดสัญญาณของเอ็มทีวีเอเชียมา และออกอากาศอย่างเป็นทางการผ่านระบบซีแบนด์ (ที่ได้รับสัมปทานความถี่ช่องดาวเทียมของ อสมท.) และเคยูแบนด์ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ต่อมาในเดือนกันยายน 2556 กลับมาฉายอีกครั้งในรูปแบบเอ็มทีวีไทยแลนด์)
ส่วน Channel V ที่ออกอากาศทางทรูวิชั่นส์นั้นหมดสัญญาพอดีและเพิ่งปิดตัวไป และมีบริษัทฟ็อกซ์มาเทคโอเวอร์กิจการและเปิดดำเนินการธุรกิจต่อ และกำลังไปออกอากาศบนเครือข่าย GmmZ และ CTH แทน

หมายเหตุ  เมื่อก่อนค่ายเพล่งสากลที่จัดจำหน่ายเพลงสากลในบ้านเรามีหลายค่ายมากทั้ง Warners,BMG,Wea Record,Sony,Universal,EMI,Polygram(เพลงเอเชียน),Rock Record เป็นต้น รายการวิทยุที่เปิดเพลงสากลก็มีมากมาย เดี๋ยวนี้เหลือน้อยมาก หลักๆ ก็คือ 105.50,107,104.5 


ทางรอดของช่องเคเบิ้ลเพลงแฟรนไชส์อย่าง MTV,Channel V (Thailand)

1.ขยายฐานคนดูคนฟังรุ่นใหม่ให้หันมาดูมาฟังเพลงสากล ให้มากขึ้น ซึ่งเป็น content หลัก แต่ดั้งเดิมของช่องให้ได้เพิ่มขึ้น โดยจัดกิจกรรมต่างๆ

2.ปรับโหมดของการโฟกัสเพลงไทย ให้เน้นมาที่ค่ายเพลงอินดี้ ค่ายเพลงเล็กๆ เพลงนอกกระแส ที่ไม่มีช่องทางสถานีเพลงเป็นของตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ทิ้งเพลงกระแสหลักของค่ายใหญ่ๆ แต่เปิดน้อยลง และไปโฟกัสที่เพลงของค่ายเพลงน้องใหม่ หรืออันดับ 3,4 เช่น เปิดเพลงจาก smallroom, love is, believe record, spicy disc, iwave, panda record, true music, mono music ให้มากขึ้น เป็นต้น

3.กระแสของเรียลลิตี้ ประเภทประกวดร้องเพลงในบ้านเรา ยังได้รับความนิยมอยู่สูง และเป็นเทรนด์ใหม่ในรอบ 10 ปีมานี้ได้รับความนิยมมาก ทำไมช่อง M, ช่อง V ไม่ดึงเอาการประกวดแบบนี้มาฉายถ่ายทอดสดออกทางช่องตนเองบ้าง แม้ว่า TS,AF มีช่องและค่ายของตนเองแล้ว แต่เวทีใหม่ๆ หรือเก่า ๆ อย่าง KPN Award ,The Voice Thailand สามารถดึงมาออกได้นี่ หรือซื้อลิขสิทธิ์ประเภท X Factor มาออกก็ได้ หรือร่วมกับบริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์ใครก็ได้ มาออกที่ช่อง อย่างน้อยสามารถสร้างจุดสนใจ เรตติ้ง และโมเมนตัมมาที่ช่องได้ส่วนหนึ่ง หรือการจัดงานประกาศผลรางวัลทางด้านดนตรีที่เป็นของช่อง M,ช่อง V เอง แต่เน้นเป็นสาขาประเทศไทย ก็จะเป็นอีกสถาบันรางวัลนึง เพราะที่ผ่านมาอย่าง MTV Music Award ก็จัดแบบรวมทั้งเอเชีย ไม่ได้โฟกัสมาที่ไทยเท่าไหร่ หากติดปัญหาเรื่องนโยบายหรือลิขสิทธิ์ ก็อาจใช้วิธีดึงรางวัลที่จัดอยู่แล้วในไทยมาออกอากาศที่ช่องได้ เช่น สีสันอวอร์ด แล้วเป็นสปอนเซอร์ให้เขาได้ หรือแม้กระทั่งร่วมกับนิตยสาร วารสารด้านเพลง มหาวิทยาลัยชื่อดัง จัดตั้งเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือได้จัดทำชาร์ตบิลบอร์ดของไทย เพื่อเป็นมาตรฐานชาร์ตเพลงไทยระดับชาติที่น่าเชื่อถือได้ ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง ตัววัด ความสำเร็จของวงการเพลงไทย ให้เป็นสถาบันหลัก

4.นำเอาจุดเด่น ข้อดีของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย มาผนวกกับสื่อบรอดแคสท์อย่างช่องเคเบิ้ลเพลง ที่จะสามารถให้คนดูสามารถเลือกเพลงที่อยากฟัง โดยการคลิกโหวตแบบเรียลไทม์เพื่อวัดกระแส แล้วเปิดออนแอร์สดเดี๋ยวนั้น โดยที่วีเจหรือโปรดิวเซอร์รายการ ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการเปิดเพื่อตอบสนองคนดูแบบเรียลไทม์ ซึงอาจทำเป็นบางช่วงของรายการสด หรือบางรายการ บางช่วงเวลาพิเศษ ย่อมทำให้สร้างจุดสนใจ หรือจุดขายใหม่ๆ ได้

5.เปิดมิวสิควีดีโอให้มากขึ้น ลดจำนวนวีเจพูดมากให้น้อยลง ที่ไม่ค่อยได้ให้ความรู้ด้านเพลง หรือวงการเพลงอะไรเลย มัวแต่พล่ามเรื่องราวไร้สาระ อีกทั้งจัดหมวดหมู่ของแนวเพลงในแต่ละชั่วโมงให้ชัด ถ้าเป็นไปได้เน้นเปิดเพลงเป็นยุค ๆ เก่าใหม่ ไม่ว่าแต่ควรจะเป็นโทนเดียวกันทั้งชั่วโมง ไม่ใช่ เปิดสะเปะสะปะ มั่วไปหมด กลุ่มคนดูก็จะอันตรธานหายไปทีละคน จนคนเขาหันไปฟังวิทยุหรือเปิดแผ่นซีดี ดาวน์โหลดใน i-tune ฟังจะดีกว่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น