ทันทีที่รัฐบาลคุณปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแถลงนโนบายต่อรัฐสภาเสร็จก็ไม่มีเวลาได้หายใจหายคอ หรือมีช่วงเวลาสำหรับการฮันนีมูนใดๆ เหมือนรัฐบาลอื่นๆ ต้องทำงานแก้ปัญหาให้กับประชาชนทันที ซึ่งก็ไม่เป็นสิ่งที่เกินจากความคาดหมายเอาไว้ เพราะรัฐบาลนี้ได้หาเสียงหรือไปสัญญากับประชาชนไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะกับฐานเสียงคนรากหญ้าหรือคนชนบทเอาไว้เยอะ และพอเมื่อได้เข้ามาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลและมีการฟอร์มทีมพรรคร่วมรัฐบาล แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงต้องรีบเร่งทำงานทันที ทั้งนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ก่อนหน้าเลือกตั้ง หรือที่ไม่เคยหาเสียงเอาไว้ก็ถูกนำมาร่างเป็นนโยบาย ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนต้องทำทันที และนโยบายประเภทค่อยศึกษาและค่อยทำกันไปก็มี หรือนโยบายที่ทำให้เสร็จในช่วงรัฐบาล 4 ปี แต่มี schedule หรือกรอบระยะเวลาชัดเจนที่จะทำตามแผนงานที่วางเอาไว้
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ในช่วง 1 เดือนแรกของการเริ่มปฏิบัติงานหรือหลังจากแถลงนโนบายต่อรัฐสภาผ่านพ้นไปนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและที่ไม่ใช่ฐานเสียงหรือบรรดาคนที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทย ต่างก็ให้กำลังใจรัฐบาลของคุณปู ยิ่งลักษณ์ ในการทำงาน เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นปฏิบัติงาน ยังไม่เข้าที่เข้าทางและมีรัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังใหม่ต่อการเข้ามาทำงานการเมืองมากในตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะสำหรับคุณปู ยิ่งลักษณ์ เป็น ส.ส.สมัยแรก และเป็นนายกที่อายุน้อยที่สุด เป็นนายกหญิงคนแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นนักการเมืองที่มีอายุการทำงานน้อยที่สุด คือเข้าสู่แวดวงการเมืองในช่วง 40 กว่าวันในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและก็ก้าวเข้าสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีเลย ซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกชนิดนึงเลยทีเดียว ยิ่งกว่ากินเนสส์ บุ้คเวิล์ดเรคคอร์ด ยิ่งกว่าไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ ซึ่งก็ทำให้คุณปู ยิ่งลักษณ์หน้าบานมากเวลาให้สัมภาษณ์ออกสื่อทีวีในช่วงแรกๆ พอต่อมาเมื่อรัฐบาลมีการล้อนช์มาตรการ นโยบายเร่งด่วนบ้าง ไม่เร่งด่วนบ้าง ออกมา เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง คัดค้านบ้าง จากสื่อมวลชน นักวิชาการ นักธุรกิจต่างๆ ทำให้ความเครียดเริ่มมาเยือนคุณปู ยิ่งลักษณ์ ถึงกับทำให้คุณปู ยิ่งลักษณ์ หน้าถอดสีไปบ้าง เมื่อเจอกับคำถามรุกไล่ ของบรรดาสื่อมวลชนต่างๆ ที่คอยตามเกาะติดการทำงานของท่าน โดยเฉพาะนักข่าวสายทำเนียบ และสายการเมืองจากสำนักข่าวต่างๆ จนทำให้กุนซือของคุณปู ยิ่งลักษณ์ต้องกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์การให้สัมภาษณ์ชองคุณปู ยิ่งลักษณ์เสียใหม่ และเมื่อใดถ้าคำถามที่ทำให้คุณปูไม่สามารถตอบได้ก็จะเลี่ยงไปให้รัฐมนตรีผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ มาตอบแทน หรือคำถามใดที่ทำให้คุณปู ยิ่งลักษณ์ถึงขนาดให้ความเห็นได้หรือไปไม่เป็นแล้วหล่ะก็ จะใช้วิธียิ้ม นิ่งเงียบและเดินหนีไปอย่างหน้าตาเฉย นี่คือวิธีเอาตัวรอดของนายกหญิงผู้น่ารักของไทย
นโยบายที่ถูกโยนออกมาในช่วงแรกนั้น ล้วนเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ใช้หาเสียงไว้ตอนช่วงเลือกตั้ง อาทิ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ,ปรับฐานเงินเดือนเป็น 15,000 บาทต่อเดือน ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ,ลดเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมัน บัตรเครดิตชาวนา แจกแท็บเล็ตพีซี ตลอดมาจนถึงล่าสุดก็คือโครงการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก และลดหย่อนภาษีรถยนต์คันแรก ฯลฯ ยังคงมีตามมาอีกเพียบ แต่นโยบายที่ไม่เคยหาเสียงเอาไว้ก็มี แต่ถูกโยนออกมาหยั่งกระแส อาทิ กองทุนความมั่งคั่ง เพื่อลงทุนด้านพลังงาน การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 ใหม่หมด และนำส่วนที่ดีของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ โดยอาจใช้วิธีตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างแทนหรือ สสร.3 โดยใช้วิธีแก้ไขมาตรา 291 และรวมไปถึงดำเนินการควบคู่กันไปในส่วนของการเข้าชื่อเพื่อขอประทานอภัยโทษให้กับคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี/นักโทษหนีคดี ต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงความต้องการของฝ่ายการเมืองที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 8 ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชอำนาจและอาจต้องเผชิญแรงต้านจากประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอีกมาก
แรกเริ่มเดิมที คุณปู ยิ่งลักษณ์เคยกล่าวไว้ว่า “รัฐบาลนี้จะเข้ามาแก้ไข ไม่ใช่แก้แค้น” คือจะเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน และต้องการให้เกิดกระบวนการปรองดองเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ และองค์กรอิสระอยาง กกต. กรมดีเอสไอ ต่างก็ช่วยกันให้มีการประกันตัวแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงให้ออกมาหาเสียง และลงเลือกตั้งได้ และอาจใช้คณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีอาจารย์ ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์ปรองดอง โดยเป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายและเสื้อแดงพอจะยอมรับได้ มาช่วยประสานงานเป็นกาวใจ เดินสายปรองดองกับทุกฝาย
แต่ยังไม่ทันที่กระบวนการปรองดองจะเดินหน้าคืบหน้าไปได้ไกลแค่ไหน เค้าลางของการขัดแย้งก็เริ่มก่อตัวขึ้น เริ่มจากการโยกย้ายข้าราชการต่างๆ ในกระทรวงหลักๆ ที่ไม่ใช่คนของรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่ตอบสนองต่อการทำงานของพรรคเพื่อไทย หรือเป็นคนที่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายมาในช่วงรัฐบาล(อภิสิทธิ์)ชุดที่แล้ว ที่สำคัญก็อย่างตำแหน่งอย่าง ผบ.สนง.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องการดัน พตอ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ มานั่งเป็น ผบ.สนง.ตำรวจแห่งชาติ เพราะความอาวุโสสูงสุดและเคยเป็นแคนดิเดทมาตลอด แต่ถูกเด้งออกจากวงโคจร ในทุกรัฐบาลที่ไม่ใช่เพื่อไทย มาครั้งนี้จึงเป็นวาระแห่งชาติของพรรคเพื่อไทยที่จะต้องผลักดันให้ได้ ซึ่ง พตอ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.แห่งชาติคนปัจจุบันก็ไม่ขัดข้อง ขอถอยตัวเองไปนั่งเป็นเลขา สมช.แทน แต่ก็ติดที่ตรงเลขา.สมช.คนปัจจุบันคือคุณถวิล เปลี่ยนศรี แกไม่ยอม และก็ถึงขึ้นไปฟ้องศาลปกครอง ถึงความไม่เป็นธรรมที่ถูกกลั่นแกล้งโยกย้าย ซึ่งก็ทำให้กระแสการต่อต้านการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมนี้สั่นคลอนภาพลักษณ์รัฐบาลคุณปู ยิงลักษณ์อยู่ช่วงนึง ไม่แค่นั้นการขัดแย้งได้ลุกลามไปถึงองค์กรอื่นๆ อาทิ สื่อมวลชนด้วย โดยเฉพาะกรณีการถูกคุกคามสิทธิ เสรีภาพของสื่อมวลชนหญิง สังกัดช่อง 7 ถึงขนาดกลุ่มคนเสื้อแดงจะบุกไปถึงช่อง 7 เพื่อกดดันให้ไล่นักข่าวช่อง 7 นั้นออกจากงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและใช้หลักกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ยังไม่รวมกรณีผลสอบของสภาการนักหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ที่มีต่อกรณีของสื่อค่ายมติชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับสินบนจากนักการเมือง (วิม รุ่งวัฒนจินดา ซึ่งปัจจุบันมาเป็นทีมงานโฆษกรัฐบาลและดูแลสื่อประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าข่ายการขัดกันของผลประโยชน์หรือ conflict of interest ด้วย) อีกทั้งการที่รัฐบาลโดยรัฐมนตรีผู้ดูแลสื่อของรัฐ สั่งให้มีการถอดถอนรายการวิเคราะห์ข่าว ที่ไม่ฝักใฝ่รัฐบาล ให้ออกจากผังรายการของทางช่อง 11 NBT เช่น รายการคลายปม ของ ดร.เจิมศักดิ์ รายการข่าวเด่นประเด็นร้อน ของคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หรือสำนักข่าว T-news ซึ่งก็นำสัญญาเช่าและเรื่องไปฟ้องศาล จนได้รับการคุ้มครองรายการ ยังไม่ถูกถอดออกจากผังช่อง 11) กรณีการโยกย้าย โผทหารและโดยเฉพาะ ผอ.กอ.รมน.และผู้ที่จะมาเป็นที่ปรึกษา รมต.กลาโหม ดูแลงานด้านความมั่นคงโดยเฉพาะภาคใต้ ซึ่งแต่งตั้งท่าน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี มานั่งดูแล 3 จว.ภาคใต้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ถึงความเหมาะสมด้วย ซึ่งบาดแผลและภาพลักษณ์ของท่านมีส่วนที่จะทำให้สถานการณ์ภาคใต้คลี่คลายขึ้นได้หรือไม่
เค้าลางความขัดแย้งประการต่อมา ในกรณีการตั้งกองทุนความมั่งคั่งของท่าน รมต.พลังงาน คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ริ่เริ่มอยากจะตั้งกองทุนความมั่งคั่งขึ้นมาเพื่อนำไปลงทุนในด้านพลังงานโดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทย ซึ่งยังเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา กรณีการลากเส้น 4.6 ตร.กม.จากประสาทเขาพระวิหารยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งกล่มคนไทยหัวใจรักชาติ กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคยออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้มาแล้ว แต่การจะนำเงินจากทุนสำรองในส่วนที่กันไว้ในแบ็งค์ชาติมาเพื่อนำไปลงทุนนั้นได้ทำให้บรรดาสานุศิษย์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ดาหน้ากันออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะกลุ่มศิษย์ใกล้ชิดของหลวงตา มีความเป็นห่วงถึงวัตถุประสงค์ในการนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน และจะได้ไม่คุ้มเสีย หากเกิดมีความเสียงเสียหายขึ้นมา ซึ่งเงินส่วนนี้ได้รับมาจากการบริจาคของประชาชนจำนวนมาก ตอนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ทำให้สานุศิษย์ได้พากันไปสอบถามผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯแบ็งค์ชาติ ว่าจะเห็นสมควรด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ทำให้ท่าทีของทั้ง รมต.คลัง คุณธีระชัย ภูวนารถนรานุบาลกับ รมต.พลังงาน คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ ต้องออกมาชี้แจงอยู่หลายครา และสุดท้ายเริ่มเปลี่ยนท่าทีหรือแนวคิดเสียใหม่ เมื่อรู้ว่ากลุ่มต่อต้านมีอยู่อักโข โดยเฉพาะนอกจากกลุ่มลูกศิษย์หลวงตาแล้วยังมีกลุ่มพันธมิตรอีกด้วย
เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นถูกต่อต้านจากฝ่ายนายจ้างแทบจะทุกวงการ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม และนักวิชาการ นักธุรกิจ sme ขนาดกลางและเล็ก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้แรงงาน ถึงสภาพความไม่พร้อมและควรจะให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และให้เป็นบางพื้นที่ ไม่ใช่ทั่วประเทศพร้อมกัน อีกทั้งควรมีการพัฒนาในส่วนทักษะผีมือควบคู่กันไป หรือผ่านเกณฑ์การทดสอบฝีมือก่อน และบางอุตสาหกรรมก็ร้องโอดครวญหากต้องมีการบังคับให้ปรับทันที เพราะเป็นต้นทุนหลัก อาทิ ในอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น
เรื่องการปรับลดเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมัน ถูกคัดค้านโดยบริษัท ปตท. นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากจะทำให้เป็นภาระกองทุนที่จะต้องแบกรับภาระหนี้สิน เพราะทุกวันนี้กองทุนถูกนำไปอุ้มต้นทุนแก๊สหุงต้มอยู่ ซึ่งก็กระทบภาระต้นทุนของบริษัท ปตท.และอาจทำให้ต้องมีการปรับราคาลอยตัวแก๊สหุงต้ม และ LPG ขึ้นไปในอีกไม่ช้า
เรื่องโครงการรับจำนำข้าว ถูกต่อต้านโดยสมาคมโรงสีข้าว นักเศรษฐศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ ตลอดจนบริษัทผู้ส่งออกข้าว เพราะการใช้กลไกแทรกแซงราคาผ่านการรับจำนำข้าวนั้น รังแต่จะทำให้เป็นภาระการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะยาว การไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดโลกได้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ทำให้เกิดการพัฒนา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวต่อเกษตรกรชาวนา และเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า ข้าวไทยอาจสู้เวียดนาม พม่าไมได้ และคอยเป็นภาระให้รัฐบาลไทยตามแก้ตลอดทุกชาติไป เป็นนโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำอีกโครงการนึงของรัฐบาล
เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกต่อต้านโดยพรรคประชาธิปัตย์ สว.สายสรรหากลุ่ม 40 สว. กลุ่มพันธมิตร อดีต สสร.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์จากหลายสถาบัน นักกฎหมาย กลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น เสื้อหลากสี เพราะที่มาที่ไปของการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น เป็นเพราะไปขัดผลประโยชน์นักการเมืองซีกรัฐบาลปัจจุบัน หรือมีวาระแอบแฝงที่ต้องการจะฟอกความผิดให้กับนักการเมืองบางคน การออกมาพูดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะจัดตั้ง สสร. การลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อผู้ต้องหาทางการเมืองในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การออกแถลงการณ์โดยกลุ่มคณาจารย์ธรรมศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า “นิติราษฏร์” เพื่อเรียกร้องให้มีการลบล้างผลการกระทำที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2549 การแต่งตั้ง ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน มาเป็นประธานสภาที่ปรึกษาดูแลด้านหลักนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้ล้วนถูกกำหนดขึ้นเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการตั้งสภา สสร.และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในหลายๆ มาตรา หรืออาจจะทั้งฉบับ ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป ในส่วนของนิติราษฏร์ นั้นผู้เขียนคิดเห็นว่าท่านมาในจังหวะที่ไม่เนียน การกล่าวอ้างว่าต่อต้านการปฏิวัติ รัฐประหาร และเผด็จการทหารนั้น ถ้าท่านเป็นนักวิชาการที่บริสุทธิ์ จริงใจต่อประเทศจริงๆ ท่านต้องแถลงท่าทีนี้ตั้งแต่สมัยการรัฐประหารใหม่ๆ ในช่วงแรกแล้ว ไม่ใช่มารอจนเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาถึง 4-5 รัฐบาลแล้วค่อยมาพูด หรือ คมช.หมดอำนาจไปแล้วจึงมาพูด อีกทั้งการต่อต้านการรัฐประหารก็ควรจะเป็นทุกรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ปี 2549 แล้วเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2534 ยุค รสช.ทำไมไม่พูดถึง อีกทั้งเหตุการณ์ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2549 ประเทศไทยก็อยู่ในยุคเผด็จการรัฐสภา โดยการบริหารประเทศของคุณทักษิณ ชินวัตร ได้มีการควบรวมพรรคต่างๆ เข้ามาอยู่ในพรรคไทยรักไทย ทำการแทรกแซงองค์กรอิสระมากมาย อาทิ ประธานสว.มาจากคนของตนอย่าง สุชน ชาลีเครือ การซื้อตัว 5 เสือ กกต.มาเป็นพวกที่เรียกว่า 3 หนา 5 ห่วง การซื้อตัวหรือจ่ายสินบนศาลในยุคทักษิณก็มีมาแล้ว ในกรุณีคดีซุกหุ้นภาค 1 หรือการแทรกแซงสื่อ อย่างการสั่งปลดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทางช่อง 9 อย่างไม่มีเหตุผล การตอบกระทู้ในรัฐสภา ทักษิณไม่เคยมาตอบกระทู้หรือเข้าประชุมรับฟังการอภิปรายในรัฐสภาเลย เหล่านี้รวมๆ เรียกว่าเผด็จการรัฐสภาและเมื่อมีการโจมตีจากสื่อในข้อหาการคอรัปชั่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การบริหารงานไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อนในหลายๆ เรื่อง คุณทักษิณก็ไม่เคยชี้แจงต่อสื่อ จนเป็นที่มาของการยุบสภาหนีปัญหา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตอนต้นปี 2549 และมีการบอยคอตจากทุกพรรคการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จนเป็นที่มาของการตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง จนทหารต้องออกมารัฐประหาร นี่คือที่มาของการรัฐประหาร ซึ่งข้ออ้างก็ฟังขึ้น ไม่งั้นช่วงแรกประชาชนจะตอบรับหรือ มีการนำดอกไม้ไปยื่นให้ทหารที่ขับรถถังเข้ามาหน้ารัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล ดังนั้น กลุ่มนิติราษฏร์ หากคุณจะเกลียดเผด็จการทหารที่ทำรัฐประหารแล้ว คุณไม่เกลียดเผด็จการรัฐสภา และไม่กล่าวถึงความชั่วช้าของระบอบทักษิณ ได้อย่างไร ไม่กล่าวถึงเลย ทั้งๆที่การบริหารงานของคุณทักษิณนั่นแหละเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับประเทศตลอดมา ไม่วาจะเป็นการลุแก่อำนาจ การไม่มีธรรมาภิบาล การชอบแทรกแซงทั้งสื่อและองค์กรอิสระ ใช้ทุนของตัวเองเข้าไปเทคโอเวอร์นักการเมือง พรรคการเมือง ความโลภโมโทสันต์อยากจะได้ธุรกิจพลังงาน พลอยทำให้ฉ้อฉลในกิจการพลังงาน ผ่านการนำ ปตท.ไปแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน แล้วนำคนของตัวเองเข้าไปบริหาร และเข้าไปถือหุ้นของกิจการผ่านนอมินี (ซึ่งในกรณีนี้ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ทำเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อทวงคืน ปตท.กลับมาเป็นของประชาชน) การทุจริตมากมายในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ การขายหุ้นสัมปทานในเครือของตนเองชินคอร์ป ออกไปให้เทมาเส็ก (ซึ่งก็เป็นนิติกรรมอำพรางด้วย) โดยไม่ยอมจ่ายเสียภาษี เอาแค่เบาะๆ แค่นี้ก็มากมายพอที่จะบอกว่า รัฐบาลอย่างทักษิณเลวกว่ารัฐบาลทหารที่รัฐประหารมาเสียอีก เพราะสร้างความชิบหาย ทำลายประเทศต่างกันมากมาย นักวิชาการนิติราษฏร์กลุ่มนี้คงไม่อินโนเซ้นท์หรอก แต่อย่ามามือถือสากปากถือศีล สร้างภาพว่าเป็นนักประชาธิปไตย แต่กลับบูชาเผด็จการรัฐสภา และทุนนิยมสามานย์เช่นนี้ ฟังไม่ขึ้นและไม่เนียน จะอ้วกเอา ทีหลังอย่ามาใช้ฉากหลังคือสถาบันอันเป็นที่รักของผู้เขียนอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นแบ็คในการออกมาเป็นทัพหน้าให้กับคุณทักษิณเลย ดูยังไงก็ไม่มีเครดิตทางวิชาการหลงเหลืออยู่แล้ว ไม่ทราบว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปล่อยคนกลุ่มนี้เอาไว้ได้อย่างไร น่าเศร้าใจมากๆ ช่อง voice tv ใช้คำว่าเป็นหน่วยกล้าตายทางวิชาการ ผู้เขียนอยากจะบอกว่าเป็นหน่วยน่าอายทางวิชาการมากกว่า เป็นกลุ่มอาจารย์ที่มีอคติและใจแคบทางวิชาการมากๆ ผู้เขียนเคยคิดว่าการเรียนกฎหมายสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนและแก้ปัญหาให้กับประเทศมิใช่หรือ แล้วทำไมนักวิชาการกลุ่มนี้ดูมีเจตนาจะทำร้ายทำลายประเทศมากกว่า เพราะจ้องทำลายสถาบันทหารซึ่งก็คือสถาบันหลักที่ค้ำจุนประเทศเอาไว้ เป็นข้ารับใช้พระมหากษัตริย์ทุกยุคสมัยมิใช่หรือ ใครก็ยังคิดได้ แม้แต่หลานผมซึ่งเรียนชั้น ม.4 ยังรู้อะไรถูกผิด รู้กาลเทศะ และรู้เจตนาที่ดีต่อบ้านเมืองเลย การรัฐประหารเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงการปกครองรูปแบบนึงเท่านั้น โดยมากรัฐบาลไหนในโลกนี้ถ้าเข้าไปยึดกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จและมีการคอรัปชั่น โกงกิน ไม่มีความโปร่งใส แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบหรือฝ่ายค้านอ่อนแอไม่สามารถจะตรวจสอบได้แล้ว ประชาชนจะหวังพึ่งใครได้ ถ้าไม่ใช่กองทัพ และวิธีการที่จะล้มอำนาจรัฐของรัฐบาลฉ้อฉลนั้นได้ก็มีเพียงวิธีเดียวคือการทำรัฐประหาร ที่ไหนประเทศไหนในโลกเขาก็ทำกัน ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป ต้องดูที่เจตนาของผู้นำที่ทำการรัฐประหารว่าหวังดีต่อประเทศชาติหรือไม่ และเมื่อทำรัฐประหารแล้ว เขาเหล่านั้นไม่ได้มาสืบทอดอำนาจต่อ สะสางปัญหาได้ และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่และคืนอำนาจไปสู่ประชาชนได้ ก็ย่อมเป็นการรัฐประหารที่ดีและทำเพื่อประเทศชาติ อย่างในกรณีของรัฐประหารปี 2549 นั้นก็อยู่ในข่ายนี้คือผู้ทำการรัฐประหารมีเจตนาที่ดีต่อประเทศชาติ และถ้ามันจะมีความชั่วช้าอยู่บ้างก็ตรงรัฐบาลที่เขาแต่งตั้งมารักษาการนั้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อสะสางปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เลี้ยงไข้เอาไว้ ทำท่าว่าจะมาเสวยสุข และไม่จัดการกับระบอบอำนาจชั่วร้ายของรัฐบาลที่ตนเองรัฐประหารมากับมือ จนวันนี้มันเติบใหญ่และกลับมามีอำนาจอีกครั้งนึง จึงถูกย้อนศรกลับมาเล่นงานในวันนี้นี่ไง
ถ้าจะจัดลำดับความสำคัญของนโยบายก่อนหลังของรัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่ต้องทำก่อนก็คือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้ และควรจะแก้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ควรสร้างฝาย บ่อพักน้ำให้มีทุกตำบล ทุกอำเภอ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งได้อีกด้วย ส่วนระยะยาว น่าจะคิดถึงการสร้างบ้านบนเรือนแพ เพราะมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคต ที่ดินบริเวณประเทศไทยเกือบทั้งหมดจะจมหายไปกับทะเล ดังนั้นเราจึงควรปรับวิถีชีวิต ชินกับการอยู่อาศัยในน้ำเอาไว้ให้ได้ อาจไปศึกษาดูงานที่เนเธอร์แลนด์ก็ได้ เพราะประเทศไทยคงไม่เก่งพอที่จะถมทะเลทำเป็นเกาะเหมือนอย่างบางประเทศหรอก ต้องใช้งบประมาณมหาศาล อีกทั้งต้องเผื่องบกินตามน้ำไปอีกตั้งเท่าไหร่ แม้จะถมเทาไหร่ก็คงไม่พอเป็นแน่
นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลคุณปู ยิ่งลักษณ์นำมาใช้ไม่ต่างจากคุณทักษิณ เพราะเป็นรัฐบาลโคลนนิ่งคุณทักษิณมา ใน พ.ศ.นี้อาจทำแล้วไม่เวิร์คก็เป็นได้ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ของประเทศกับตอนปี 2544 ต่างกันมากนัก ตอนปี 2544 ประเทศอยู่ในภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวภายหลังติดลบซบเซาหลายปีจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และก็เป็นช่วงที่ได้รัฐบาลที่บริหารชาติไปเป็นทาสไอเอ็มเอฟ พอเมื่อคุณทักษิณมาเล่นการเมือง ตั้งพรรคใหม่ นโยบายใหม่ จึงทำให้คนคาดหวัง อยากลองของใหม่ และก็ภาพลักษณ์ดูเป็นมืออาชีพ ก็เลยเลือก นโยบายประชานิยมมาตอนนั้น กลายเป็นสินค้าใหม่ที่น่าลอง และก็ได้ผลเพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวพอดี อีกอย่างก็คือมันเป็นตัวเร่ง GDP ที่ดีด้วย เพราะต้องใช้จ่ายเงินภาครัฐเยอะ แล้วไอ้เจ้าตัว GDP เนี่ยนะ เป็นตัววัดที่สำคัญของประเทศที่อยู่ในระบบทุนนิยมโลกที่ยากจะปฏิเสธ เพราะเขาใช้ตัวนี้วัดผลงานของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย คล้ายๆ KPI’s รัฐบาลไหนบริหารประเทศแล้ว GDP ลดลงทุกปี หรือไม่โตขึ้น ก็เตรียมตัวพับเสื้อผ้า จัดกระเป๋ากลับบ้านไปได้เลย ก็คงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของนักลงทุน นักวิชาการ นักธุรกิจ ตลอดจนประชาชนได้หรอก นี่คือที่มาว่าทำไมเขาถึงเอาประชานิยมมาใช้กัน
รัฐบาลปู ยิ่งลักษณ์นี้ใช้กลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอยู่ 2 ตัวคือการบริโภคภายในประเทศ โดยการเร่งอุปสงค์ภายในผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เช่น ปรับค่าแรง กระตุ้นให้ซื้อรถคันแรก,บ้านหลังแรก ลดอุดหนุนกองทุนน้ำมัน บัตรเครดิตชาวนา จำนำข้าว ลดภาษีนิติบุคคล บ.จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น อีกตัวก็คือการลงทุนใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ๋ เช่น รถไฟฟ้า โครงการจะถมทะเลบริเวณสมุทรปราการ เพื่อสร้าง City Complex แห่งใหม่ ฯลฯ เพราะเศรษฐกิจโลกปีนี้คงย่ำแย่ ทั้งสหรัฐและยุโรป ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ และการ่ส่งออกกับการท่องเที่ยวคงลดลงไปมาก และเมื่อเจอกับภัยธรรมชาติใหญ่ๆ ในปีนี้ เช่น น้ำท่วม ทำให้ต้องมีงบฟื้นฟู ซ่อมแซม สร้างโครงสร้างสาธาณูปโภค กลับมาใหม่ ให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล จะหาแหล่งเงินมาจากไหน ในเมื่อเรามีนโยบายลดภาษี ลดรายได้ของภาครัฐตั้งมากมาย คงต้องกู้ยืมมามากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่ไม่รู้ว่าชั่วโมงนี้ที่เศรษฐกิจโลกกำลังดิ่งเหว อยู่นี้ นโยบายเศรษฐกิจที่เร่งการสร้างอุปสงค์ภายในประเทศ ให้เกิดการใช้จ่ายมากๆ ในตอนนี้ จะสอดคล้องกับภาวการณ์เศรษฐกิจโลกหรือไม่ และจะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากภัยเศรษฐกิจนี้ได้หรือไม่ เพราะความเชื่อมั่น ความกลัว ของนักลงทุน,นักธุรกิจทั่วโลก สนองตอบผ่านการผันผวนในแทบจะทุก sector ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยง ทำให้เกิดความหวาดกลัวที่จะชะลอการลงทุน การใช้จ่าย ในตลาดต่างประเทศ ชั่วโมงนี้ผู้เขียนจึงห่วงว่าทั้งปัจจัยภายในประเทศ ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ปัญหาการเมือง ภัยธรรมชาติอื่นๆ ปัญหา 3 จว.ชายแดนใต้ มาผสมโรงกับปัจจัยภายนอกประเทศ คือ ปัญหาการว่างงานทั่วโลก วิกฤติหนี้สินในยุโรป หนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา จะทำให้รัฐบาลคุณปู ยิ่งลักษณ์ เผชิญความท้าทายหลายด้าน และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา การแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อะไรที่ไม่ใช่นโยบายแต่อยากทำ จะเผชิญแรงต้านมากน้อยขนาดไหน ดูๆ แล้วก็อยากเอาใจช่วย ให้ไปรอดถึงตลอดรอดฝั่ง อยู่จนครบเทอม และนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ประเทศไม่กลับมาวิกฤติเหมือนครั้งปี 40 อีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น