วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

เสียงแซกโซโฟนที่แผดดังกังวานไกล กับระบบการศึกษาไทยที่ล้มเหลว

เมื่อตอนหัวค่ำนี้เอง (2 ก.ย.) ผมได้ดูรายการคนเคาะข่าวทางช่องเคเบิล astv news1 ซึ่งพูดถึงประเด็นข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับอาจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประกาศลาออกจากคณบดีคณะดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีที่ สกอ.ไม่รับรอง 2 หลักสูตรปริญญาตรีดุริยางคศิลป์ และเปลี่ยนให้ไปใช้เป็นศิลปศาสตร์แทน ซึ่งตัวแทนนักศึกษาและคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้องในนาม ก็ได้ไปประท้วงที่หน้า สกอ.เพื่อให้ทบทวน ซึ่งตัวอาจารย์เองก็มาเป็นแขกรับเชิญในรายการคนเคาะข่าว และได้มาเปิดใจหมดเปลือกถึงสาเหตุการลาออกจากคณะบดี และการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอย่างแรกเลยที่ผู้เขียนฟังและได้ติดตามข่าวคราวมาก่อนหน้านี้ประกอบการรับฟังการเปิดใจถึงสาเหตุที่มาที่ไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ทำให้รู้สึกเสียใจต่อทั้งตัวอาจารย์และตัวนิสิตนักศึกษาในโครงการหลักสูตรเหล่านั้นที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์นี้ แล้วยังรู้สึกเศร้าใจต่อการศึกษาบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง แล้วผมก็ได้รู้คำตอบหรือคำเฉลยเกี่ยวกับความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ไม่เคยเข้าใจมันอย่างถ่องแท้เสียที ก็ได้ตาสว่างและเข้าใจก็ในค่ำคืนนี้ นี่เอง ก่อนหน้านั้นผมไม่เก็ทกับมุกควรยุบกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยทิ้งเสีย ซึ่งตอนนั้นได้ฟังความคิดเห็นจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ก็ยังรู้สึกไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณสนธิ เสนอแนะมากนัก แต่ต่อกรณีที่เกิดเรื่องที่คณะดุริยางคศิลป์ และกับตัวอาจารย์ ดร.สุกรี ทำให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ผมฟังไปแล้วผมก็รู้สึกเสียใจ น้ำตาไหลออกมา กับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ที่ดูแลหรือกำหนดนโยบายทิศทางการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก ผมอยากจะถามว่า พวกคุณกำลังทำอะไรกันอยู่ คุณกำลังจะรังแกเด็กซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ คุณกำลังทำลายอนาคตของเด็กเยาวชนของชาติอยู่หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นผมถือว่าเป็นข่าวที่สะเทือนใจผมมากเรื่องนึงทีเดียว มากกว่าข่าวการเมืองเศรษฐกิจบ้าๆ บอๆ ของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งไม่ขอพูดถึงในบทความนี้ (แต่จะไปกล่าวถึงในบทความถัดๆ ไป)


ผมไม่คิดว่าคนอย่างท่านอาจารย์ ดร.สุกรี จะมีเจตนาร้ายต่อเด็กนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นอยู่แล้ว เพราะเป็นลูกศิษย์ที่ปั้นมากับมือ และเป็นผลผลิตหรือเมล็ดพันธุ์ ที่ตัวอาจารย์สร้างมากับมือ หากใครๆ ที่ติดตามประวัติของท่านก็จะทราบว่า ที่มาที่ไปของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นเป็นไอเดียต้นคิดของท่านอาจารย์เอง ท่านมีเจตนารมย์อันบริสุทธิ์ ที่อยากจะยกระดับ หรือสร้างสถาบันการศึกษาดีๆ ด้านดนตรีให้กับเมืองไทย และผ่านการศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรให้สอดคล้องต่อผู้เรียนและถูกจริตกับพฤติกรรมของคนไทย หรือสังคมไทย ซึ่งการร่างหลักสูตร ตลอดจนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งทั้งโครงสร้างหลักสูตร ตัวสถานที่ หรืองบประมาณ ตลอดจนผู้สอนและผู้เรียนนั้น ผ่านการต่อสู้ เคี่ยวกรำมาอย่างยาวนาน และเป็นไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจขนาดไหนนั้น ผมว่าลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์คงจะตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่คนวงนอกอย่างผู้เขียนเองที่ไม่ได้เป็นลูกศิษย์หรือจบจากสถาบันแห่งนี้ ไม่ได้ศึกษามาด้านนี้ ก็ยังมีความสนใจ ติดตามผลงานของอาจารย์อยู่ และเรื่องราวของอาจารย์ได้ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง season change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือ การยอมรับจากนักดนตรีทั่วโลก รวมถึงคณาจารย์ชาวต่างประเทศ นักศึกษาต่างประเทศจำนวนมาก ก็ยังให้การยอมรับในวิธีคิดและผลงานจากมันสมองของอาจารย์เลย


และนี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์คือต้นแบบของสถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาคด้านดนตรี หรืออาจติดอันดับโลกเลยด้วยซ้ำ และสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจากการคิดนอกกรอบของอาจารย์ที่ไม่เดินตามกรอบความคิดเดิมหรือวิธีคิดแบบระบบราชการไทยที่ล้าหลังและไม่เคยพัฒนาปรับปรุงให้ทันกระแสของโลกเลย เวลานี้โลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์แล้วซึ่งต้องมีการแข่งขันกันทั้งด้านความเป็นเลิศด้านวิชาการ ผลงานที่ออกสู่สาธารณะ วิธีการสร้างคน พัฒนาคนเพื่อไปป้อนสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งจริงๆก็ตรงกับปรัชญาแนวความคิดของกระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการอุดมศึกษาเองก็อยากให้เป็นผลอย่างนั้นไม่ใช่หรือ แต่วิธีปฏิบัติกลับนำเอากรอบ กฎเกณฑ์ กฎระเบียบ มาตรฐานทางวิชาการเดิมๆ ซึ่งก้าวไม่ทันมาตรฐานของโลก ครั้งนึงเราเคยพูดว่าการศึกษาที่ดีควรยึดครู อาจารย์เป็นศูนย์กลาง พอโลกก้าวพ้นมาสู่ยุค 2000 เรากลับบอกว่าไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเป็นยึดตัวนักเรียน นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง แล้วทุกวันนี้เด็กยุคปัจจุบันมีวุฒิภาวะมากพอที่จะเป็นต้นทางของการศึกษาหรือไม่ ในเมื่อ input หรือเมล็ดพันธุ์เราไม่ดี ต้องยอมรับกันว่าเด็กยุคปัจจุบันคุณภาพไม่เท่ายุคตัวผู้เขียนหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ ในเรื่องความผูกพันใกล้ชิดนะครับ ทุกวันนี้ ผู้ปกครองจำนวนมากเลี้ยงลูกด้วยเงิน มากกว่าที่จะให้เวลาใกล้ชิด เอาใจใส่ดูแล พ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกเปิดคอมพ์เพื่อดูอะไร อาจจะเล่นเกมส์ หรือดูเว็บโป๊หรือเปล่า หากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ร่วมศึกษาหรือดูไปกับเด็กด้วย ผู้ปกครองรู้หรือไม่ว่าเวลาลูกของท่านอยู่ในกลุ่มเพื่อนด้วยกัน เขาคุยอะไรกัน คำพูดหยาบคาย 2 แง่ 2 ง่าม หรือแม้แต่เรื่องเพศสัมพันธ์ที่มาก่อนวัยอันควร รวมถึงศัพท์แสลงในกลุ่มวัยรุ่นมากมาย ท่านตามเด็กยุคนี้ทันหรือไม่ (แนะนำให้คุณผู้ปกครองไปดู ภ.เรื่องรักจัดหนัก จะได้เข้าใจภาพสะท้อนจริงของเด็กวัยรุ่นยุคนี้) นี่คือสาเหตุนึงที่ทำให้มีการทบทวนไม่ใช้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยนำวิธีการใช้อาจารย์มาเป็นศูนย์กลางของการศึกษาเหมือนเดิมแล้ว เพราะครูคือผู้ควบคุมทั้งหมดของสายพานการผลิตทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ input process จนออกมาเป็น output รวมถึงปัจจัยการผลิตอย่างอื่นด้วย ต่อข้อคำถามที่ว่าแล้วถ้าหากตัวอาจารย์ไม่มีคุณภาพหล่ะจะทำอย่างไร ท่านก็ต้องเลือกเฟ้นหาคณาจารย์ที่มีคุณภาพ ของสถาบันการศึกษาที่จะส่งลูกหลานของท่านไปเรียน จะสังเกตว่าถ้าสถาบันการศึกษาใดมีบุคลากร ครูอาจารย์ที่มีคุณภาพ เด็กที่จบมาก็ย่อมมีคุณภาพ และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวสถาบันด้วย เรื่องพรรณ์นี้ผู้ปกครองเขาทราบดี ท่านไม่ต้องเป็นห่วงหรอก แต่นี้พี่ไทยกลับกัน เมืองนอกเขาหันมาใช้ครูเป็นศูนย์กลางกันแล้ว แต่บ้านเราดันจะใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยจะแจกแท็บเล็ตพีซีให้คนละเครื่องซึ่งจะไม่ช่วยยกระดับการศึกษาของเด็กไทยอย่างแน่นอน เพราะสิ่งนั้นเป็นเพียงแค่เปลือกไม่ใช่กระพี้ จึงเป็นนโยบายที่ตกกระแสโลกจริงๆ


หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเร่งพัฒนาบุคลากรครู อาจารย์ ต้องส่งเสริมให้ครูหรืออาจารย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการพัฒนาศํกยภาพในด้านการสอนอย่างเต็มที่ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบเป็น เหมือนอย่างท่านอาจารย์ ดร.สุกรี นั่นแหละที่ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว

ผมไม่อยากจะเชื่อว่ากรณีของอาจารย์ ดร.สุกรี ที่ท่านต้องประกาศลาออก เป็นผลพวงของการยึดมั่นถือมั่น ความฐิฑิมานะของผู้หลักผู้ใหญ่บางคนในกระทรวง ที่ไม่มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาเลย เพียงเพื่อที่จะเอาชนะคะคานต่อตัว ดร.สุกรี ผมว่ามันไร้สาระ และเป็นกบในกะลา การทำเช่นนั้นไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำลายอนาคตเด็ก เป็นการทำให้ตัวผู้เขียนเข้าใจคำตอบของคำว่าการศึกษาไทยไม่พัฒนา และย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังเข้าคลองมันเป็นยังไง เพียงเพราะประเทศนี้มีผู้ใหญ่ในกระทรวงหรือใน คณะกรรรการการอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่มีวุฒิภาวะต่ำเหมือนเด็ก ไม่เข้าใจการศึกษาของโลก ที่ประเทศอื่นเขาก้าวไปถึงไหนๆ กันแล้ว นอกจากที่คุณไม่เคยช่วยส่งเสริมการศึกษาของไทยแล้วยังมาทำลาย อยากจะบอกว่าถ้าท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ อยากให้ปัญหาเรื่องนี้มันจบ ไม่บานปลายไปทำให้ขวัญกำลังใจของครูอาจารย์นักเรียน ผู้ปกครองต้องตกต่ำลงไป หล่ะก็ วิธีง่ายๆ ก็คือท่านต้องหันหน้าเข้าหากัน และพูดคุยถึงหนทางเยียวยา หรือแก้ไข หรือหาทางออกให้กับเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะคนเราเวลาจบมาก็ต้องการนำวุฒิบัตรไปสมัครทำงานหรือไปศึกษาต่อ เพราะมันคืออนาคตของเขา ผู้หลักผู้ใหญ่จะมามัวซื้อเวลาเล่นเกมการเมืองกันอยู่ บนความเสียหายของเยาวชน ผมว่ามันน่าละอายมาก คุณมีความจริงใจที่จะส่งเสริมการศึกษาไทยจริงหรือไม่นี่คือคำถาม และวิธีง่ายๆ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ควรเสียสละเสียบ้าง ก็คือเปิดโอกาส เปิดอก เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเสียบ้าง ไม่ใช่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง กระดิกเท้าแล้วก็สั่ง เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะประเทศนี้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน พวกคุณกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน เพียงแค่พวกคุณเปลี่ยนแปลงทัศนคติอันโบราณคร่ำครึเสีย ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น มีทางออกให้กับเยาวชน หรือก็คือประชาชนมากขึ้น ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำลงไปจะทำให้ใครเป็นผู้ชนะและอีกฝ่ายเป็นผู้พ่ายแพ้แล้วหล่ะก็ ผมก็คงรู้สึกสงสารประเทศไทยเสียจริงๆ เลย และคงต้องขอวางพวงหรีดให้กับกระทรวงศึกษาธิการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ กับกรณีนี้

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข  (ข้อมูลจาก วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หรือ ดร.แซ็ก (เกิด พ.ศ. 2495 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้อำนวยการ และคณบดีของ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีคลาสสิกเยาวชน ดร.แซ็ก เชมเบอร์ ออร์เคสตรา

ประวัติ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เกิดที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดามีอาชีพครู และเป็นนักร้องเพลงบอก ดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ จึงมีความคุ้นเคยกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ท่านได้เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา ในอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มเล่นดนตรีกับวงโยธวาทิตของโรงเรียนจนได้เป็นหัวหน้าวง ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) จบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2518 รับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูจันทรเกษม และรับงานเสริมโดยการเล่นดนตรีตามร้านอาหารย่านพัฒนพงศ์และพัทยา ชื่นชอบการเล่นแซกโซโฟนเป็นพิเศษ

ในปีพ.ศ. 2521 รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุขเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด โคโลราโด จบปริญญาเอกสาขาการเล่นและสอนแซกโซโฟน เมื่อปีพ.ศ. 2528 และได้บรรจุเป็นอาจารย์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุขเคยทำนิตยสารเกี่ยวกับดนตรี ชื่อ ถนนดนตรี เคยจัด รายการดนตรีคลาสสิก ทาง สถานีวิทยุจุฬาฯ F.M.101.5 MHz เปิดร้านซ่อมเครื่องดนตรี และ โรงเรียนสอนดนตรี ชื่อ Dr. Sax ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสอนดนตรีเอื้อมอารีย์


ข่าวเกี่ยวกับประเด็นการลาออกของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข และการไม่รับรอง2หลักสูตรปริญญาดุริยางคศิลป์


"สุกรี เจริญสุข" คณบดีดุริยางคศิลป์ "ลาออก" เซ่นระบบการศึกษาไทย หลัง "สกอ." ไม่รับรอง 2 หลักสูตรดุริยางคศาสตร์ ชาวโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้กำลังใจผ่านเฟซบุ๊กล้นหลาม นักศึกษานัดประท้วงหน้าสภามหาวิทยาลัย 31 ส.ค. และสกอ. 1 ก.ย.นี้


กระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการศึกษาไทยด้านดนตรีเป็นอย่างมาก ขณะที่นักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เตรียมนัดรวมตัวสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชี้แจง 31 สิงหาคม ก่อนจะเคลื่อนพลไปสอบถามข้อเท็จจริงที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในวันที่ 1 กันยายนนี้

รศ.ดร.สุกรี เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งคณบดีแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา จะมีผลในวันที่ 30 กันยายนนี้ การลาออกครั้งนี้เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และไม่ต้องการเอาชีวิตเด็กเป็นตัวประกัน กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่รับรอง 2 ใน 7 หลักสูตรคือ หลักสูตรเทคโนโลยีดนตรีและธุรกิจดนตรี ซึ่งมีนักศึกษาจบไปแล้ว 3 รุ่น 332 คน โดย สกอ. ระบุว่า หลักสูตรไม่เข้มแข็งด้านวิชาการ ไม่มีอาจารย์สอนที่เหมาะสม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่สามารถประเมินค่าของปริญญาได้ ส่งผลให้บัณฑิตทั้งหมดไม่สามารถรับราชการได้

คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กล่าวอีกว่า หลักสูตรดังกล่าวเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรแล้ว และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาโดยตลอด และมีการท้วงติงและส่งเรื่องมาหาให้พิจารณาระหว่าง สกอ.และมหาวิทยาลัย มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

"นายกสภา ม.มหิดล ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นคนคนเดียวกับ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่ทำไมไม่ผ่านหลักสูตร มันติดอะไรตรงไหน มันต้องเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ในเมื่อไม่มีคนรับผิดชอบ ผมก็ต้องรับผิดชอบลูกศิษย์ผม 332 คน สกอ.ไม่ผ่านหลักสูตร ก.พ.ไม่ตีราคาเงินเดือน เด็กทั้งหมดรับราชการไม่ได้ สังคม สื่อ ต้องมาช่วยกันพิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมนี้ในเมื่อบัณฑิตที่จบในหลายที่ก็ให้การยอมรับ ประเทศไทยควรทบทวนตัวเอง การศึกษาไทยก็ต้องทบทวนตัวเองด้วย เพราะทำให้การศึกษาไทยล้มเป็นระบบ หลังจากนี้ แล้วผมคงอยู่บ้านปลูกต้นไม้และเล่นแซกโซโฟน” รศ.ดร.สุกรี กล่าว

ด้าน ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหารุนแรงและกำลังช่วยกันแก้ไข โดยสิ่งที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการคือปรับความเข้าใจให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สกอ.ได้เข้าใจตรงกัน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือเชิญให้มาดูการเรียนการสอนแล้วกำลังรอคำตอบ มั่นใจว่าถ้าเห็นภาพจริงก่อนเข้าเรียนนักศึกษามีประสบการณ์อะไรมาแล้วจะเข้าใจและอนุมัติให้ผ่านได้ เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มีมาตรฐานดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

“ใจเย็นๆ ผมก็ทำเต็มที่ เพราะอาจารย์สุกรี เป็นบุคคลที่มีค่าที่สุดคนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ของสังคมและประเทศนี้ ผมได้เขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์ส่งให้อาจารย์สุกรี ว่ามหาวิทยาลัยไม่พร้อมจะเสียอาจารย์ไป ขอให้ใจเย็น หนังสือที่เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาดูการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการก็ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์” อธิการบดี ม.มหิดล กล่าว

รายงานแจ้งว่าในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ นักศึกษาและคณาจารย์ จะไปรวมตัวเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สภามหาวิทยาลัย ในเวลา 09.00 น. และในวันที่ 1 กันยายน จะไปสอบถามเหตุผลที่ไม่ผ่านหลักสูตรที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาด้วย

ด้านสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีผู้เข้ามากด "ถูกใจ" บันทึกในเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยเรื่อง "วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในวันที่ไม่มีสุกรี เจริญสุข" นับร้อยคน และมีผู้โพสต์ให้กำลังใจ อ.สุกรี เป็นจำนวนมาก

อาทิ "เสียดายบุคลากรที่ทุ่มเทเพื่อศิลปะการดนตรีที่แท้จริงอย่างอาจารย์" "ทุกคนที่ยังอยู่ ยังมีหน้าที่ ต้องก้าวเดินต่อไป อย่าให้ความพยายามของท่านต้องศูนย์เปล่า" "นับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ เราต่างก็ได้เห็นสิ่งที่อาจารย์สู้และทำมาตลอด ตั้งแต่ไม่มีตึกเรียน จนกระทั่งมีตึกที่เพียบพร้อมที่สุด" และ "รู้สึกว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพสูงสุดท่านหนึ่ง ผมมองไม่ออกว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะเป็นอย่างไรเมื่อไม่มีอาจารย์" เป็นต้น

สุกรี เจริญสุข ไขก๊อก คณบดีดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล หลัง สกอ. ไม่รับรอง 2 หลักสูตร นักศึกษาจบไปแล้วกว่า 3 ร้อยคน

กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงการศึกษา เมื่อข่าวการยื่นหนังสือลาออกของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกนำเสนออกไป โดยการลาออกดังกล่าวเพื่อแสดงความรับผิดชอบจากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่รับรอง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีดนตรี และธุรกิจดนตรี ซึ่งมีนักศึกษาจบไปแล้ว 3 รุ่น จำนวน 332 คน

ทั้งนี้ สกอ.ระบุว่า ที่ไม่รับรองหลักสูตรดังกล่าวนั้น เพราะเป็นหลักสูตรที่ไม่เข้มแข็งด้านวิชาการ และไม่มีอาจารย์ที่เหมาะสม จึงไม่ให้ชื่อ "ดุริยางคศาสตร์บัณฑิต" แต่ให้ "ศิลปศาสตร์บัณฑิต" แทน ทำให้นักศึกษาไม่สามารถเรียนต่อต่างประเทศในด้านดนตรีโดยตรงได้

ขณะที่ รศ.ดร.สุกรี เผยว่า ทั้งสองหลักสูตรถูกยื่นไปที่ สกอ. ตั้งแต่ปี 2548 มาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งเป็นที่น่ากังขาว่าในเมื่อมหาวิทยาลัยแยกออกมาเป็นอิสระ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถออกแบบหลักสูตรเองได้ทำไมจึงต้องรอให้ สกอ.เป็นผู้อนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอน ส่วนกรณีที่ตนลาออกครั้งนี้ ตนเจ็บปวดและรอคอยเรื่องนี้มานานแล้ว ดังนั้นจึงจะไม่ทบทวนอีก และอยากให้วงการการศึกษาไทย ทบทวนตัวเองด้วย เพราะทำให้การศึกษาไทยล้มเป็นระบบ  นอกจากนี้ รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า นักศึกษาจะนัดรวมตัวกันประท้วงที่หน้า สกอ.ในวันที่ 1 กันยายนนี้ด้วย

“รศ.ดร.สุกรี” ไขก๊อกเก้าอี้คณบดี หลังเจอพิษ สกอ.เชือดไม่รับรอง 2 หลักสูตร ลั่นจะทบทวนการลาออกต่อเมื่อ สกอ.รับรองทุกหลักสูตร ชี้ปัญหาหลักมาจาก สกอ. ไม่เชื่อว่า 2 หลักสูตรมีความเข้มข้นทางวิชาการมากพอและไม่มีอาจารย์ที่ดีพอ ซัดกลับ สกอ.ไร้บอร์ดมีความรู้ด้านดนตรี จวกเละประเทศไทยล้มเหลวด้านระบบการศึกษาทั้งระบบ ปล่อยคนไม่รู้ชี้นำ นักการศึกษาพ้นสมัย ไม่โง่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เป็นความโง่ที่ถาวร

วันนี้ (30 ส.ค.) ภายหลังจากที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประกาศลาออกจากตำแหน่งคณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหล่านักศึกษาและแสดงความไม่เห็นด้วยที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่รับรอง 2 หลักสูตรใน 7 หลักสูตรของวิทยาลัย

“เรามีอยู่ด้วยกัน 7 หลักสูตร สกอ.ผ่านให้เรา 5 หลักสูตร และไม่รับรอง 2 หลักสูตร โดยหลักสูตรที่ไม่รับรอง คือ หลักสูตรธุรกิจดนตรี และหลักสูตรเทคโนโลยีดนตรี โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่เชื่อว่า 2 หลักสูตรนี้จะมีความเข้มข้นทางวิชาการมากพอ และไม่เชื่อว่าจะมีอาจารย์ที่มีศักยภาพมากพอ เรื่องนี้เราต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 แต่ สกอ.ก็ยังคงไม่ผ่าน 2 หลักสูตรนี้ให้เรา เราเชื่อว่าความเป็นเลิศทางวิชาการอยู่ที่ภาควิชา ความเป็นเลิศทางดนตรีอยู่ที่ครู สกอ.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี สกอ.เชื่อผู้เชี่ยวชาญ 2 คนที่ให้ความเห็นว่าหลักสูตรเรายังไม่ควรให้ผ่าน คือ ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ จากจุฬาฯ และรศ.ดร.ปัญญา รุ่งเรืองจากม.เกษตรฯ”

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุกรีได้ตั้งคำถามฝากกลับมายังสังคมว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้สังคมควรทบทวนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ และโดยส่วนตัวแล้วจะไม่ทบทวนเรื่องการลาออก จนกว่า สกอ.จะพิจารณาผ่านหลักสูตรที่เหลือให้

“ผมไม่ใช่คนที่ควรทบทวน แต่ผมว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา และสังคม ควรจะเป็นคนที่ต้องทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ายุคนี้โฉมหน้าการศึกษาไทยมันพ้นสมัยแล้ว และมันล้มเหลวกันอย่างเป็นระบบ เราให้คนไม่รู้ชี้นำมากเกินไป เราขาดคนชี้นำที่เป็นคนมีความรู้ความเข้าใจ เรามีนักการศึกษาที่โง่ แล้วไม่ได้โง่อย่างเฉียบพลัน อันนั้นยังพออภัยได้ แต่เรามีนักการศึกษาที่โง่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่โง่แบบถาวร ทุกวันนี้เราต้องตอบโจทย์สังคม สังคมต้องการบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพ เพื่อออกไปสร้างงานดีๆ ให้สังคม แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษา ทำอย่างนี้กันมากน้อยแค่ไหน สังคมต้องทบทวน”

รศ.ดร.สุกรีกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ได้ยุติบทบาทชีวิตการทำงานในตำแหน่งคณบดีแล้ว โดยส่วนตัวก็มีครอบครัว ก็จะได้มีเวลาอยู่กับภรรยาและลูก และจะใช้เวลาไปกับการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบ



ขอมอบบทเพลงนี้ให้อาจารย์เป็นการให้กำลังใจแก่อาจารย์ด้วย แด่คุณครูด้วยดวงใจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น