วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

เวิ้งนครเขษม กำลังกลายเป็นเพียงชื่อและตำนาน



สืบเนื่องจากที่ดินบริเวณเวิ้งนครเขษม ย่านจักรวรรดิ์ จำนวน 14 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินตกทอดมรดกผืนงามผืนสุดท้ายที่เก่าแก่ที่สุด และผืนใหญ่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ตกลงว่าในเครือญาติของราชนิกูลบริพัตร มีประสงค์ที่อยากจะขายออกไปให้ใครก็ตามที่สามารถจ่ายได้ในราคาที่ต้องการคือราว 5 พันล้านบาท พลันที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็เป็นที่สนใจของนายทุนใหญ่ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือนายหน้าค้าที่ดินระดับประเทศ จ้องตาเป็นมันที่หวังอยากจะได้ เพราะที่ดินผืนงามและอยู่ใจกลางมหานครเช่นนี้ หายากเต็มทีแล้วในยุคปัจจุบัน การประมูลซื้อที่ดินมูลค่าแพงที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ คือบริเวณส่วนหน้าของสถานฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย บริเวณย่านเพลินจิต นั้น ผู้ที่ซื้อไปได้คือกลุ่มเซ็นทรัล ในมูลค่าแพงที่สุดแล้ว คือตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่หากการประมูลซื้อที่ดินบริเวณเวิ้งแห่งนี้สำเร็จตามราคาที่ตั้งไว้ ก็อาจทุบสถิติกลายเป็นที่ดินที่มีมูลค่าซื้อขายแพงที่สุดในประเทศไทย สถิติใหม่เป็นแน่แท้

ไม่แปลกใจที่เจ้าของที่ดินอยากจะขาย ในภาวะที่การจัดสรรมรดกย่อมเกิดขึ้นไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่งหรือเมื่อเวลาที่เหมาะสมหรือจำเป็น หากแต่ยามนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสามารถขายที่ดินได้ในราคาที่ดีที่สุดแล้ว ในภาวะที่การจัดหาพื้นที่แปลงใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ มาพัฒนาเป็นศูนย์การค้า เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อันมหาศาลนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะถ้าเป็นพื้นที่ที่ดีอยู่ในย่าน prime area นั้นย่อมเป็นที่ดินส่วนใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินของการรถไฟ หรือที่ดินของส่วนราชการ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถทำการซื้อขายขาดเปลี่ยนมือกันได้ นอกจากทำสัญญาเช่าทำประโยชน์กันได้เท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ผู้พัฒนาที่ดินจะหาที่ดินพื้นใหม่ ทำเลทอง และมีเนื้อที่ที่มากพอ จัดทำ Mega Project ขนาดใหญ่ได้ ที่ผ่านมาคงเป็นการเช่าทำประโยชน์เสียมากกว่า อาทิ เช่น บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว มาบุญครอง ห้างทุกห้างแถบสยามสแควร์ทั้งหมด

เมื่อมามองถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์พื้นที่บริเวณนั้นเป็นย่านการค้าเก่าที่ควรจะอนุรักษ์ไว้นั้น คงจะยากแล้ว ในเมื่อเจ้าของที่ดินตัวจริงเขาไม่ต้องการที่จะคงไว้เช่นนั้นและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก็คงจะได้น้อย ไม่คุ้มค่า สู้การขายขาดไป เพื่อนำเงินไปลงทุน หรือเก็บเป็นเงินสดขึ้นมาในภาวะที่เศรษฐกิจในอนาคตไม่มีความแน่นอนอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรืออาจมีสาเหตุอื่น ซึ่งผู้เขียนคงมิอาจจะไปวิเคราะห์หรือคาดเดาอะไรได้ ที่เขียนมาเป็นเพียงทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียนเอง แต่ถ้าถามใจของผู้เขียนแล้ว อยากจะให้พื้นที่นี้คงไว้เป็นย่านการค้าแบบเก่า เพียงแต่อยากให้มีการปรับปรุงทัศนียภาพ มีการออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นก็ได้ และวันเสาร์อาทิตย์ จัดให้มีการปิดถนนจัดเป็นถนนคนเดิน เหมือนที่เมืองนอกเขาทำกัน แต่อาจมีเสียงสะท้อนว่า ก็บริเวณใกล้เคียงกันก็มีสภาพเป็นตลาดถนนคนเดินวันสุดสัปดาห์อยู่แล้ว เช่น คลองถม บ้านหม้อ ราชวงศ์ สำเพ็ง เยาวราช ซึ่งการมีย่านการค้าแบบเก่าหลายที่กระจัดกระจายกันไป ก็น่าจะเป็นผลดี หลายอย่าง เป็นทางเลือกของคนกรุง กระจายคนไปในหลายๆที่ ไม่แออัด แต่ก็จะทำให้การจราจรติดขัดไปทั่วพระนคร เพราะมีแหล่งการค้าแบบนี้กระจายอยู่หลายที่ อีกทั้งขาดการจัดการที่ดี ไม่มีระเบียบ ไม่มีผู้คุมพื้นที่ ทางเท้าถูกแก่งแย่งชิงพื้นที่ทำเป็นแผงลอยวางขายสินค้าระเกะระกะเต็มไปหมด พลอยทำให้บ้านเมืองขาดเสน่ห์เท่าที่มันควรจะเป็นไป ผมยังหวังว่าโครงการที่เคยมีผู้คิดทำบริเวณถนนราชดำเนินกลางเป็นถนนคนเดินวันหยุดสุดสัปดาห์ เหมือนถนนฌองอารีเซ่ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วอนผู้ว่ากรุงเทพฯ น่าจะนำโครงการนี้มาพิจารณาปัดฝุ่น ไปพร้อมๆ กับการปรับปรุงภูมิทัศน์ ภูมิสถาปัตย์ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ให้มีการค้าบนทางเท้า เหมือนอารยประเทศอื่นๆ เขาทำกัน

ต่อประเด็นหรือกรณีของชุมชนที่เคยอยู่บริเวณเวิ้ง จะทำอย่างไร ผมคิดว่าก็คงต้องรับสภาพ และยอมปรับตัว ผมว่าคนในชุมชนย่อมรู้ความเป็นไปของเวิ้ง สถานภาพของตนเองในฐานะผู้อาศัยได้เป็นอย่างดี หากเป็นผมก็คงต้องมองหาที่ทางการค้าอื่นๆ สำรองไว้ เพื่อขยับขยายต่อไป หรือหากมีโอกาสจะปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้เช่าในโครงการของศูนย์การค้าที่มีผู้ที่จะมาพัฒนาโครงการใหม่ก็น่าจะเป็นการดี แต่คงต้องมีต้นทุนค่าเซ้งแผง ค่าเช่า ค่าสาธารณะประโยชน์อื่นๆ อีกมากที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการย้ายไปอยู่ที่อื่นเลยจะดีกว่า เราคงจะไม่สามารถทานกระแสของโลกทุนนิยมนี้ได้หรอก และคงจะไม่สามารถติดยึดกับความสำเร็จในอดีต และทำเลที่ตั้งแบบเก่า อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของทั้งตัวภูมิศาสตร์ ผังเมือง ย่านการค้าที่เปลี่ยนไป ย่านการค้าใหม่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ย่านการค้าเก่าๆ ที่ทรุดโทรมและรอวันโรยราลงมา แน่นอนว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นการดีสำหรับคนที่ยังมีความหลัง ความทรงจำที่ดีกับย่านการค้าที่เคยเฟื่องฟูแห่งนี้ แต่หากเรายังคงติดยึดแต่สิ่งเดิมๆ ไม่คิดยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรแล้วหล่ะก็ เราก็เปรียบเหมือนต้นบอระเพ็ดในไร่ทานตะวันนั่นแหละ หรือก็คือเวิ้ง(ว้าง) กลางนครเขมร นั่นแหละ

ข่าวอันเป็นที่มาของประเด็นเนื้อหาในบทความนี้

ราชนิกุล"บริพัตร"เล็งขายที่ดินเวิ้งนครเกษม 14 ไร่ คาดได้ราคาดี เพราะที่มีศักยภาพสูง เหมาะพัฒนา ใกล้รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน แต่อาจติดกฎหมายอนุรักษ์ เพราะเป็นย่านเมืองเก่า แถมเจอปัญหาผู้เช่า 600 รายคัดค้าน ถึงขั้นรวมตัวลงขันขอซื้อแข่ง เผยกลุ่มโบ๊เบ๊สนประมูลซื้อ

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือแอเรีย เปิดเผยว่า ในขณะนี้มีการเปิดประมูลที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน และ 91 ตารางวา บริเวณเวิ้งนาครเขษม หรือเวิ้งนครเกษม คาดว่าราคาที่ดินดังกล่าวน่าจะไม่ต่ำกว่า 5-8 แสนบาทต่อตารางวา เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงใหญ่ แต่จะมีคนเข้ามาประมูลมากแค่ไหนไม่สามารถบอกได้ แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีศักยภาพสูง เพราะอยู่ใกล้กับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ใกล้หัวลำโพงและเยาวราช

หากดูตามศักยภาพตามที่ที่ดินตั้งอยู่แล้วสามารถนำมาพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ได้ แต่เรื่องดังกล่าวไม่สามารถดูตามกฎหมายผังเมืองได้เพียงอย่างเดียว เนื่องจากเวิ้งนครเกษมอยู่ในย่านชุมชนเก่าแก่ ดังนั้น การพัฒนาจะต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ด้วยว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และเท่าที่ทราบผู้เช่าพื้นที่เดิมซึ่งมีอยู่ประมาณ 600 กว่ารายก็คัดค้าน แต่สัญญาเช่าจะหมดลงในเดือนกันยายน 2555 ล่าสุดทราบว่ามีการรวบรวมเงินเพื่อที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวด้วย

นายมานพ พงศทัต อาจารย์ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางผังเมือง กทม.กำลังดูรายละเอียดอยู่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากอยู่ใกล้กับเยาวราช และใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณูปโภคหรือบริการของรัฐดีขึ้น ซึ่งโดยหลักการของผังเมืองใหม่นั้นจะให้สิทธิเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินติดสถานีพัฒนาได้มากขึ้นคือเอฟเออาร์ (อัตราส่วนการใช้พื้นที่อาคารต่อที่ดิน) 15/1 แต่ทั้งนี้จะต้องมีการจัดทำพื้นที่สำหรับบริการสาธารณะด้วย เช่น พื้นที่จอดรถ เป็นต้น ส่วนพื้นที่รัศมี 500 เมตรรอบสถานีนั้นก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินมากขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งหากติดก็อาจพัฒนาเป็นตึกสูงไม่ได้

ยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวค่อนข้างเปลี่ยนแปลงยาก เพราะมีการอยู่อาศัยมา 3 ชั่วอายุคน อีกทั้ง กทม.เองก็พยายามปรับปรุงบริเวณเยาวราชให้ดีขึ้น ให้เป็นเขตเมืองที่คนจีนอาศัยอยู่แหล่งใหญ่ของโลก ดังนั้น เชื่อว่าบริเวณนี้ไม่น่าจะมีการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในอนาคต แต่จะมีการปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มค่าเช่า และยกระดับการอยู่อาศัยมากขึ้นเท่านั้นŽ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูลบริพัตร มีแผนที่จะนำที่ดินออกมาประมูล ซึ่งมีกระแสข่าวว่ามีผู้สนใจยื่นซอง 4 ราย หนึ่งในนั้น คือ บริษัท พรหมมหาราช เจ้าของโบ๊เบ๊ทาวเวอร์

(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับ 28 ก.ค.2554)

แกะรอยที่ดินเวิ้งนาครเขษม 14 ไร่ของราชสกุล "บริพัตร" ผังเมือง กทม. ระบุเป็นพื้นที่ สีแดง "พ.3" มีอัตราส่วนพัฒนาที่ดินได้สูงถึง 7 เท่า ฟันธงว่ามีศักยภาพสูง ส่วน"ธนารักษ์" แบราคาประเมิน คำนวณยกแปลง 14 ไร่ 2.4 พันล้านบาท เทียบราคาประกาศขาย 5.5 พันล้านบาท สูงกว่า 1 เท่าตัว

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ขณะนี้กำลังเป็นที่จับตาว่าใครจะเป็นผู้คว้าที่ดินทำเลทองใจกลางเมืองของราชตระกูลบริพัตร ขนาด 14 ไร่ บริเวณเวิ้งนาครเขษม ริมถนนเจริญกรุง อยู่ระหว่างซอย 8 และซอย 10 ไปครอง หลังจากที่สำนักงานบริพัตรในฐานะผู้จัดการผลประโยชน์ได้เปิดประมูลขายที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยมีกลุ่มทุนรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจเข้าร่วมยื่นประมูล เช่น กลุ่มแพลทินัม ประตูน้ำ, กลุ่มสยามแก๊ส, กลุ่มอักษรา หนึ่งในผู้เช่าในเวิ้งนาครเขษม, กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมถึงกลุ่มของนายประชา มาลีนนท์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าใครจะเป็นผู้ชนะประมูล ล่าสุดที่ดินแปลงนี้ได้มีการตั้งราคาไว้สูงถึง 5,500 ล้านบาท และกำลังเป็นที่วิพากษ์ว่าราคานี้สูงเกินจริงไปหรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกับสำนักผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน กำหนดเป็นพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) ประเภท "พ.3" หมายถึงเป็นบริเวณที่ให้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนรองและพาณิชยกรรมเมือง เพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจการค้าและบริการ รวมทั้งการค้าและการบริการเฉพาะประเภทที่ให้บริการ แก่ประชาชนโดยทั่วไป

แหล่งข่าวจากสำนักผังเมือง กทม. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พื้นที่ "พ.3" ตามข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวม สามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้เต็มที่ ทั้งนี้ กฎหมายผังเมืองยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ในการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ตั้งอยู่ในเขตผังเมือง พ.3 แต่บริเวณโดยรอบมีถนนสาธารณะตัดผ่าน จะต้องประเมินด้วยว่าเป็นถนนสายหลัก สายรอง หรือถนนซอย เพราะจะมีผลต่อการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างบนแปลงที่ดินโดยตรง เช่น ที่ดินทำเลเดียวกันแต่จะสามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่ 100 ตารางเมตร หรือมากกว่า 100 ตารางเมตร เป็นต้น

สำหรับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่ "พ.3" ได้แก่
1.ประเภทที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว ห้องแถว ตึกแถว อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารขนาดใหญ่ (ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร) อาคารสูง (23 เมตรขึ้นไป) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร)
2.ประเภทพาณิชยกรรม พัฒนาพื้นที่ได้ไม่เกิน 100-300 ตารางเมตร และเกิน 300 ตารางเมตร
3.ประเภทห้องแถว ตึกแถว อาคารขนาดใหญ่ (ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร) อาคารสูง (23 เมตรขึ้นไป) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร)
4.ประเภทตลาด สร้างได้ตั้งแต่มีพื้นที่เกิน 300 ตารางเมตร พื้นที่ไม่เกิน 400 ตารางเมตร และพื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร ซึ่งเป็นตลาดประเภทอาคารขนาดใหญ่
5.ประเภทสำนักงาน สร้างได้มีพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร, เกิน 100-300 ตารางเมตร, เกิน 300 ตารางเมตร
6.ประเภทห้องแถว ตึกแถว อาคารขนาดใหญ่ (ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร) อาคารสูง (เกิน 23 เมตร) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร) แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะที่สัดส่วน "FAR" หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน อยู่ที่ 1 : 7 หรือสามารถพัฒนาได้ถึง 7 เท่า แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดที่ดินด้วย ส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวมหรือ OSR อยู่ที่ร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ยังได้โบนัสพิเศษให้สามารถพัฒนาได้เพิ่มอีก 20% เนื่องจากอยู่ในรัศมีสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และในร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่กำลังปรับปรุง พื้นที่บริเวณนี้ยังคงเป็น "พ.3"เหมือนเดิม
"สาเหตุที่ทำให้ราคาประมูลสูง อาจจะเป็นเพราะที่ดินแปลงนี้สามารถพัฒนาได้เต็มที่ จึงทำให้เจ้าของที่ดินตั้งราคาไว้สูง"

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ราคาที่ดินบริเวณเวิ้งนาครเขษม ตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ในบัญชีปัจจุบัน (2551-2554) อยู่ที่ 295,000 บาท/ตารางวา หากคิดเป็นมูลค่าที่ดินทั้งแปลงขนาด 14 ไร่ ราคาประเมินอยู่ที่ประมาณ 1,652 ล้านบาท

ส่วนราคาประเมินที่จะปรับใหม่และประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ราคาได้มีการปรับขึ้นเฉลี่ย 45% อยู่ที่ 430,000 บาท/ตารางวา ดังนั้นถ้าแปลงขนาด 14 ไร่ ราคาประเมินอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านบาท
"ราคาประเมินปรับขึ้น เพราะปัจจุบันถนนเจริญกรุงอยู่ในแนวรถไฟฟ้าพาดผ่าน และได้รับอานิสงส์การขยายการเติบโตจากถนนเยาวราชที่แน่น และปัจจุบันเริ่มขยายมายังย่านนี้มากขึ้น จึงทำให้ราคาซื้อขายที่ดินแพงขึ้นตาม ไปด้วย"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ราคาตั้งที่ 5,500 ล้านบาท จะถูกหรือแพงนั้น ตอบไม่ได้เต็มปากมากนัก เนื่องจากต้องดูด้วยว่าราคานี้เป็นเฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียวหรือรวมสิ่งปลูกสร้าง และรวมการรื้อย้ายด้วยหรือไม่ แต่หากเป็นเฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียว ถือว่าสูงกว่าราคาประเมินอยู่มากเกือบ 100%

ผู้ประกอบการเวิ้งนาครเขษมดิ้นสู้ หลังสำนักงานบริพัตรตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ด้านแกนนำกลุ่มเล็งหาทำเลย่านการค้าแห่งใหม่ รายย่อยปรับตัวเปิดเว็บไซต์สร้างตลาด

จากกรณีสำนักงานบริพัตร ผู้ดูแลผลประโยชน์เวิ้งนาครเขษม จะไม่ต่อสัญญาเช่าที่จะหมดลงในเดือนกันยายน 2555 กับผู้เช่าจำนวน 440 ราย ในกลุ่มดังกล่าวมีผู้ประกอบการรายย่อยราว 187 รายที่ได้รับผลกระทบหากมีการประมูลขายที่ดินเวิ้งนาครเขษม

นายวิศิษฐ์ เตชะเกษม ผู้จัดตั้งบริษัท เวิ้งนาครเขษม จำกัด แกนนำผู้เช่าเวิ้งฯ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการที่ค้าขายอยู่ในเวิ้งนาครเขษมกำลังได้ความเดือดร้อน อย่างมาก เพราะหากมีการขายที่ดิน 14 ไร่เศษออกไป ผู้ประกอบการรายย่อย 187 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านขายเครื่องดนตรีสากล เครื่องมือประกอบอุตสาห กรรมอาหาร เครื่องมืออุตสาหกรรมโรงงาน ร้านหนังสือโหราศาสตร์ ฯลฯ จะไม่มีที่ค้าขาย เวิ้งนาครเขษมย่านการค้าเก่าแก่จะหมดไป  ตอนนี้ผู้ประกอบการบางส่วนจึงได้เตรียมหาแหล่งทำกินใหม่ ซึ่งอาจมีการรวมกลุ่มกันไปซื้อที่ดินและพัฒนาให้เป็นย่านการค้าแห่งใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาพื้นที่ แต่ยังตั้งความหวังว่าจะได้ค้าขายในเวิ้งนาครเขษมต่อไปอีก

นายวิชิต เตชะเกษม ผู้จัดการร้านเขษมบรรณกิจและสำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ ตัวแทนจำหน่ายหนังสือโหราศาสตร์ กล่าวว่า ตนพยายามหาช่องทางการค้าใหม่ ไม่ได้ขายปลีกเฉพาะหน้าร้าน แต่นำช่องทางอื่นมาช่วย เช่น จำหน่ายผ่านตัวแทนร้านหนังสือพันธมิตรทั่วประเทศ ส่วนการจำหน่ายปลีกลูกค้าสามารถสั่งซื้อทางโทรศัพท์ และเปิด เว็บไซต์ www.horawej.com ให้สั่งซื้อทางออนไลน์  ด้านนายชิตไชย อัศวเบ็ญจาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ช. กิจถาวรพาณิชย์ จำกัด ร้านจำหน่ายเครื่องมืออุตสาหกรรมทั้งปลีกและส่ง กล่าวว่า ถ้าหมดสัญญาก็ต้องย้ายออก คงทำอะไรไม่ได้ ส่วนการหาทำเลใหม่ตนประเมินว่าคงยาก หากต้องย้ายออกจริงคงปรับตัวขายส่งอย่างเดียวไปก่อน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนยอดขายลดลงครึ่งต่อครึ่ง   เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากร้าน เครื่องดนตรีรายใหญ่ที่ระบุว่า ตอนนี้ยากจะประเมินได้ว่าธุรกิจจะไปรอด หรือไม่ เพราะทำเลดี ๆ ในเมืองถูกจับจองหมดแล้ว แต่ตนอยู่ระหว่างหาทำเลที่เหมาะสม กลายเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยไปทันที หลังจากที่มีการประเมินราคาที่ดินเวิ้งนาครเขษมขายให้กับเอกชน เพื่อนำไปสร้างเป็นศูนย์การค้าขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้าน อ.วิศิษฐ์ เตชะเกษม ซินแสชื่อดัง และชาวเวิ้งนาครเขษม สู้ราคาหวังซื้อตัดหน้าก่อนนายทุน เพื่อรักษาและพัฒนาเวิ้งให้เหมือนเดิม ก่อนถูกรื้อจนไม่เหลือประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี  เกือบ 100 ปีที่พื้นที่เวิ้งนาครเกษมนั้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของความเจริญ ความบันเทิง การค้าขายในยุคที่เมืองไทยกำลังรับความศิวิไลซ์เข้ามาในประเทศช่วงแรก เวิ้งนาครเขษมจึงเปรียบเสมือนพื้นที่ประวัติศาสตร์อีก 1 แห่ง ที่สามารถบอกเล่าอดีตของชุมชน เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี แต่บทบาทของเวิ้งนาครเขษมที่เคยเป็น กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นศูนย์การค้าขายส่งขนาดใหญ่ เฉกเช่นคลองถม ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน มาซื้อขายของละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมาย ซึ่งเหมือนเป็นการทำลายประวัติศาสตร์อย่างไม่มีชิ้นดี
ซินแสชื่อดัง อ.วิศิษฐ์ เตชะเกษมได้กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่าน ไทยรัฐออนไลน์ ว่า เป็นการทำลายพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะกว่าจะเป็นเวิ้งนาครเขษมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ที่ดินตรงนี้มีเรื่องราวที่มีคุณค่าทางจิตใจของชาวเวิ้ง และคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก

วังเก่า : ตลาดโจร :โรงหนังในห้างแห่งแรกของไทย

"ก่อนจะมาเป็นเวิ้งนาครเขษม ที่ดินตรงนี้เคยเป็นวังมาก่อน ชื่อวังน้ำทิพย์ ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นมีการขุดสระขนาดใหญ่ และทำเป็นสวนสาธารณะให้คนในวังบูรพามาเล่น สวนสนาน พักผ่อนกัน จนกระทั่งมีการล้มเลิกระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกข้าราชบริพารไม่ได้ทำงานในวังกันแล้ว ก็เลยออกมากันหมด พร้อมกับทรัพย์สินที่เจ้านายให้ติดตัวมา บางทีก็มีขโมยมาด้วย ซึ่งก็ข้ามคลองมาขายของแถวนี้ ตอนนั้นพื้นที่นี้เลยเป็นที่ขายของเก่า สมัยนั้นเขาก็เรียกกันว่าตลาดโจร กระทั่งทูลกระหม่อมบริพัตร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ท่านทรงเห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้นที่นี่แล้ว จึงปรับเปลี่ยนที่ดินตรงนี้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย เหมือนกับทางฝั่งตะวันตก ที่วังน้ำทิพย์เลยถูกถมที่ใหม่ทั้งหมด จนกลายเป็นเนินกว้างใหญ่เป็นเวิ้ง ท่านเลยประทานชื่อใหม่ว่า "เวิ้งนาครเขษม" และสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมขึ้นมา อีกทั้งในการสร้างศูนย์การค้าครั้งแรกนั้นมีการสร้างโรงภาพยนต์นาครเขษมขึ้นมาด้วย เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่มีโรงภาพยนต์ขึ้น และเลื่องชื่อมาก ด้านวังบูรพาก็ไม่มีคนประทับแล้ว เลยทำให้เช่าเป็นโรงเรียนสตรี วิทยาลัยพาณิชย์ แต่รายได้ไม่ดี เลยรื้อ และสร้างเป็นศูนย์การค้าอีกแห่ง ชื่อศูนย์การค้าวังบูรพา ซึ่งก็เจริญมาควบคู่กัน"

เวิ้งแห่งเสียงเพลง ขวัญใจคนบรรเลงดนตรี

"หลังจากนั้นในยุคเบบี้บูม ช่วงปี 2488 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิทางตะวันตกเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น กระแสดนตรีต่างชาติก็เข้ามาด้วย คนไทยก็อยากได้มาเล่น ที่นี่ก็มีการนำเข้าเครื่องดนตรีมาขายเป็นแห่งแรก ทั้งที่แต่ก่อนไม่มีเลย รู้สึกเจ้าแรกที่นำมาก็ร้าน แต้เซ่งเฮง ย่งเสง จนทุกวันนี้มีร้านแตกแขนงออกมาในเวิ้งอย่างที่เห็น นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือเก่าหายากอีกด้วย" เวิ้งนาครเขษม นอกจากจะมีความผูกพันต่อชาวเวิ้งมาหลายรุ่น เป็นที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้คนในชุมชนจนมีหลักปักฐานถึงทุกวันนี้ได้แล้ว ก็ยังมีเรื่องราว เรื่องเล่า มีคุณค่าทางจิตใจ แต่ตอนนี้เวิ้งนาครเกษมกำลังถูกนำไปตีราคาเพื่อขายให้กับนายทุน เพืื่อรื้อถอนอาคารในพื้นที่เวิ้งนาครเกษมให้กลายเป็นศูนย์ขายส่งแห่งใหม่เหมือนกับคลองถม โดยตีราคาขั้นต้นของเวิ้งที่ 4,700 ล้านบาท การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวเวิ้งกว่า 440 หลังคาเรือนออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน เพื่อรักษาสภาพของพื้นที่นี้ให้เป็นเหมือนเดิม โดยรวมตัวกันยื่นเสนอราคาประเมินพื้นที่ถึง 4,800 ล้านบาท เพื่อรักษาเวิ้งนาครเขษมไว้เหมือนเดิม
"ตอนแรกเลยคือทางสำนักงานบริพัตรเขาจะเสนอขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเอกชนเข้ามาประมูล โดยตั้งราคาเริ่มต้นที่ 4,700 ล้านบาท ซึ่งก็มีเอกชนหลายแห่ง ที่มีเงินทุนจากประเทศจีนเข้ามาเสนอราคา และมีแนวโน้มว่าเขาจะรื้อเวิ้งออกหมด เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า แผงให้เช่าแบบคลองถม ชาวเวิ้งเลยเห็นว่าถ้าเป็นแบบนั้น ก็อยากจะซื้อมาไว้เองดีกว่า ตอนนี้ก็รวบรวมกันซื้อประมาณ 97% แล้ว เราก็จะไปยื่นเอกสารที่สำนักงานบริพัตร เพื่อยื่นเสนอเงื่อนไขการชำระเงินจำนวน 4,800 ล้านบาท มากกว่าราคาที่ทางสำนักงานตั้งไว้ตอนแรก" มูลค่าซื้อคุณค่า ตีค่าเวิ้งทำเลทอง กอบโกยผลประโยชน์มหาศาล
"ตอนนี้ทางชาวเวิ้งเสนอราคาที่มากกว่าไปแล้ว แต่ทางบริพัตรขอยืดเวลาต่อไปก่อน ซึ่งทุกครั้งที่ยืดเวลา ราคาที่ดินก็ขึ้นเดือนละ 500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าของเวิ้งเป็น 5,500 ล้านบาทแล้ว และอาจมีเอกชนปั่นราคาสูงมากกว่านั้นถึง 6,000 ล้านบาท เพราะมีเงินทุนหนาจากประเทศจีน ซึ่งเขาต้องการที่นี้อยู่แล้ว ตอนนี้ถือว่าเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยแล้วขณะนี้ เพราะมันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก อยู่ในเขตไชน่าทาวน์ อีกทั้งยังมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในย่านนั้น สามารถสร้างศูนย์การค้าขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ ในส่วนของชาวเวิ้งเอง ถ้าสามารถซื้อกลับคืนมาได้ในราคา 4,800 ล้านบาทตามที่เสนอไป เราก็จะปรับปรุงเวิ้งให้ดีกว่าเดิม ทั้งเรื่องทัศนียภาพ สายลงดิน ทำโครงสร้างให้แข็งแรงมีหลังคาคลุมให้คนที่มาเดินสบายขึ้น รวมถึงการสร้างอาคารจอดรถรวม เพราะตอนนี้เวิ้งไม่มีที่จอดรถ ต่อมาก็จะพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย เพราะที่นี่มันเป็นประวัติศาสตร์ ลูกหลานชาวเวิ้งทุกคนเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากที่นี่มาทั้งนั้น แต่ก่อนหน้าที่เราไม่ได้พัฒนาก็เพราะเราเหลือสัญญาเช่าแค่ปีเดียว เลยไม่กล้าทำอะไร แต่ถ้าซื้อได้มาเป็นของเราเองก็จะทำอย่างที่บอก ซึ่งถ้ามองในหลักทางเศรษฐศาสตร์ ที่นี่สร้างอาคารได้ 178,000 ตารางเมตร ทำให้มีมูลค่าทางอาคาร 16,000-20,000 ล้านขึ้นไป ยังไงถ้าเขาทำจริงๆ 4-5 ปีก็มีกำไรแล้ว แต่เขาทำได้ก็ไม่ได้ดูแลรักษาอะไร ได้กำไรเขาก็ไป และขายทิ้งต่ออีก มีนายทุนคนใหม่ เขาไม่สามารถรักษาจิตวิญญาณที่มีอยู่เดิมได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเงินทุนที่จะเข้ามาซื้อเป็นของต่างชาติ ส่วนถ้าได้ไปจะเป็นชื่อของใครก็ต้องดูที่ผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบก็คือของจีน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการถูกรื้อจนประวัติศาสตร์หายไปหมด" ความคุ้มค่าในเรื่องของผลกำไรที่ได้มาอย่างมหาศาล หากเทียบกับสิ่งที่ต้องเสียไป คือ ระยะเวลาที่เวิ้งนาครเขษมสะสมมาเกือบ 100 ปี คงไม่สามารเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งทางซินแสชื่อดัง ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้เป็นข้อคิดว่า
"ในเรื่องของประวัติศาสตร์มันเป็นสิ่งที่สร้างมาเป็น 100 ปี ไม่ใช่ 5-6 ปีสร้างได้ ต่างประเทศที่เจริญมาทีหลังเราอย่างสิงคโปร์เขาอายุน้อยกว่าเรา 40-50 ปี ยังสร้างเป็นสถานที่ให้เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ได้ หรืออย่างประเทศจีนเอง ถือว่าที่มีพื้นที่แผ่นดินแพงที่สุดในโลกแล้วเนี่ย เขายังเก็บพื้นที่เมืองเก่าไว้ ให้เป็นถนนคนเดิน มีนักท่องเที่ยวชมประวัติศาสตร์รายได้ก็ไม่น้อยด้วย แต่ที่สำคัญวิญญาณทางประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ ไม่งั้นเขาคงไปรื้อสร้างเมืองใหม่ แต่นี่เขาไม่รื้อเมืองเก่าเลย บริเวณไหนทรุดโทรม ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เขาถึงจะรื้อสร้างอาคารสูง แต่ประเทศไทยเราเองมีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอยู่ กลับไม่รักษาไว้ เห็นเงินเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ประเทศอื่นเขามีประวัติศาสตร์น้อยกว่าเรา ยังพยายามจะสร้างและรักษาไว้ ถ้าคนไทยเห็นคุณค่าของเงินที่มีมากกว่า วันหนึ่งเราก็เป็นทาสเงิน และทุนนิยมก็มาครอบครอง ลูกหลานรุ่นต่อไปก็ไม่รู้จะไปดูหรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ที่ไหน คงต้องไปดูของประเทศอื่น ของเราก็คงมีแค่ภาพถ่าย มีชื่อไว้ให้ภาคภูมิใจ แต่ไม่มีสิ่งที่ทำให้ต่างชาติทั่วโลกได้เข้ามาสัมผัสว่าเรามีอารยธรรม มีเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากที่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก"

เวิ้งนาครเขษมจะยังคงสภาพเดิมหรือไม่นั้น อีกไม่นานก็คงได้ข้อสรุป ซึ่งถ้าวันนึงต้องถูกรื้อจริงๆ ก็คงน่าเสียดายอย่างมาก เพราะอันที่จริงแล้ว เฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือในย่านที่ใกล้กับเวิ้งนาครเขษม ก็มีทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์ขายสินค้าส่งจากจีนมากจนดูวุ่นวายอยู่แล้ว หากเวิ้งนาครเขษมจะถูกยกเว้นเหลือไว้ให้คนที่ไปเดินย่านนั้น ได้มีพื้นที่หายใจได้สะดวกบ้างก็คงจะดี ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านหนังสือและของเก่า ที่รายเรียงจะได้มีพื้นที่อยู่เหมือนเดิม เพราะนี่แหละคือเสน่ห์ของเว้ิงนาครเขษมที่ฝังรากลึกอยู่ในใจของคนไทย ถ้าถูกขายไป ก็ต้องลองคิดกันดีๆ ว่ากำไรที่เห็นเป็นตัวเงินนั้น จริงๆแล้ว เราอาจขาดทุนย่อยยับทางด้านประวัติศาสตร์อย่างมหาศาล เพราะอดีตที่ใช้เวลาสั่งสมมาเกือบร้อยปีนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปสร้างใหม่ได้อีกแล้ว

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น