วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

พิภพราชา ภาคขยาย ตอนที่ 1 (การเลือกองค์รัชทายาท มูลเหตุของความขัดแย้ง)



-มนุษย์ตัวน้อย ในวัยเยาว์ย่อมทำไปตามผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครอง อาจมีดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังบ้าง แต่ก็ถือว่าส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะเชื่อฟังผู้ใหญ่มากกว่า  เพราะยังไม่มีความคิดเป็นของตนเอง
-ต่อเมื่อเติบโตขึ้น ย่อมเรียนรู้จากการอบรมสั่งสอน ความผิดพลาดเป็นบทเรียน และ -ประสบการณ์ จะหล่อหลอมเขา ให้กลายเป็นผู้ใหญ่แบบไหน หรืออย่างไร

คนเราพัฒนาตนเองไปเป็นคนดีหรือคนชั่วได้จาก 1.การเรียนรู้ การอบรมสั่งสอน และจดจำในเรื่องที่ตนเองสนใจ อยากรู้ อยากลอง   2.ประสบการณ์ การลองผิด ลองถูก และผลลัพธ์ นำไปเป็นบทเรียน และ 3.ทัศนคติ ความเชื่อ การมองโลกในแง่มุมบวกหรือลบ   


ช่วงนี้ผู้เขียนกำลังอินกับการดูซีรีส์จีนกำลังภายใน หรืออ่านนวนิยายจีนกำลังภายใน ประกอบกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่อยู่ระหว่างการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาล ทำให้หยิบโยงเหตุการณ์จากหนังจีนกำลังภายในมาอธิบายปรากฏการณ์เหตุการณ์บ้านเมือง หรือเอาเหตุการณ์บ้านเมืองมาจินตนาการเป็นเรื่องราวในยุทธภพอย่างสนุกสนาน เลยทำให้หวนคิดได้ว่า ตัวเราเคยเขียนนวนิยายเรื่องนึงก็คือ “พิภพราชา” เป็นนวนิยายไทยที่มีกลิ่นไอของยุทธภพแบบจีนหรืออิงการเมือง การแก่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองเหมือนกัน

จึงมีไอเดียว่า จะนำเอา บริบทของนวนิยาย “พิภพราชา” มาชำแหละในมิติต่างๆ ให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เผื่อจะได้รับอรรถรสไปอีกแบบนึง

ขออนุญาตเขียนเป็นตอนๆ โดยใช้เหตุการณ์จากเรื่อง พิภพราชา เป็นสารตั้งต้น ในการอธิบาย หรือวิเคราะห์เจาะลึกไปทีละตอน (ซึ่งไม่รู้จะมีกี่ตอนจบ แล้วแต่อารมณ์ผู้เขียนจะพาไปก็แล้วกัน) ขอบคุณท่านผู้อ่านล่วงหน้าที่เข้ามาลองอ่านดู

"ที่ใด มีความเห็นต่างเป็น 2 ขั้วชัดเจน ที่นั่นย่อมมีความเห็นต่างหรือขัดแย้ง และที่ใดมีความขัดแย้ง ที่นั่นย่อมมีการช่วงชิงการนำ หรือแย่งชิงอำนาจ"

ตอนต้นเรื่องของพิภพราชา ผู้เขียนได้พาให้ผู้อ่านไปพบเจอบรรยากาศภายในของนครรัฐ มหิทธินาศรังสรรค์นคร นครรัฐที่ยิ่งใหญ่มากในแดนเหนือ (แคว้นมหิทธิ์ เป็นแคว้นสมมติ ที่ผู้เขียนอ้างอิงโดยสมมติเอาจากแคว้นหิรัญเงินยางเป็นตัวแบบ เป็นแคว้นทางเหนือ ตัวที่ตั้งอยู่ในดินแดนเชียงแสน จ.เชียงราย ในปัจจุบัน)   โรจนาถราชา นั้นมีพระมเหสี 2 พระองค์ โดยพระมเหสีเอกชื่อว่า สรวงสุดาเทวี มีพระโอรสนามว่า ปรมินทรอัศวเทพ  ส่วนพระมแหสีรอง มีนามว่า เพ็ญพิมาศ มีพระโอรสนามว่า ปรเมศฤทธี   ซึ่งพระโอรส 2 พระองค์ถือว่าอายุอานามใกล้เคียงกันเลย แต่ปัญหามีอยู่ว่า การแต่งตั้งองค์รัชทายาท มีเพียงตำแหน่งเดียว ดังนั้น  โรจนาถราชา จำต้องเลือกว่า จะเลือกใครเป็นองค์รัชทายาท ที่จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์  ถ้าโดยตำแหน่ง มเหสีเอกและโอรสของมเหสีเอก ย่อมได้รับการรับรองตามกฎมณเฑียรบาล หรือมีความชอบธรรมที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาท แต่ปัญหาเกิดจากว่า ตั้งแต่วัยเด็ก พระโอรสของมเหสีรอง ฉายแววความฉลาด และอัจฉริยภาพ ให้เห็นเด่นชัดกว่า แต่การที่พระราชา ทรงเกรงพระทัยต่อมเหสีเอกคือสรวงสุดาเทวี จึงจำต้องยึดเอากฏมณเฑียรบาล เลือกที่จะแต่งตั้ง เจ้าชายปรมินทรอัศวเทพเป็นองค์รัชทายาท ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความชอบธรรมปกติ ที่ควรจะถือปฏิบัติ และข้าราชบริพารกับประชาชนเองก็ยอมรับตามนั้น แต่ถ้าเรื่องจบลงตรงนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองในมหิทธินาศรังสรรค์ก็คงสงบ  แต่เหตุการณ์บ้านเมืองที่มันวุ่นวายขัดแย้ง ก็เกิดจาก พระมเหสีรอง เพ็ญพิมาศ กับอำมาตย์ราชสิงห์ ไม่ยินยอม (คู่นี้เป็นชุ้รักกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุ่มสาว ตั้งแต่เพ็ญพิมาศยังไม่ได้เข้าวังมาเป็นมเหสี)  จึงเกิดการวางแผนที่จะทำรัฐประหาร หรือยึดอำนาจจากโรจนาถราชา และผลักดัน เจ้าชายปรเมศฤทธี ขึ้นครองราชย์ เป็นพระราชาน้อย แทน  คำถามคือ แล้วฝั่งมเหสีรองกับอำมาตย์ราชสิงห์ ทำการณ์สำเร็จได้อย่างไร ในเมื่อดุลอำนาจฝ่ายโรจนาถราชายังคงมีอยู่ในราชสำนัก กล่าวคือ ณ ตอนนั้น โรจนาถราชากำลังประชวร ล้มหมอนนอนเสื่อ จากการถูกวางยาโดยมเหสีเพ็ญพิมาศ อีกทั้งอำมาตย์ราชสิงห์มั่นใจว่าด้วยกองกำลังทหารที่ตนเองกุมอำนาจอยู่ในราชสำนัก ผนวกรวมกับกองกำลังจากนครรัฐนวเกศเศรษฐี ที่ตนเองผูกไมตรีกับพระวิเศษศาสตรา สหายสนิท ซึ่งกินตำแหน่งเป็นโหรของนครรัฐนวเกศเศรษฐี อีกทั้งพระมเหสีเพ็ญพิมาศ ยังเป็นบุตรีของเจ้านฤทธิ์นรเดช เจ้าเมืองเว้  ทำให้อำมาตย์ราชสิงห์คิดว่ากองกำลังฝ่ายของตนเหนือกว่า จึงตัดสินใจทำรัฐประหารยึดอำนาจจากโรจนาถราชา และปลอมพระราชโองการ แต่งตั้งเจ้าชายปรเมศฤทธี เป็นพระราชาน้อย  ส่วนด้านขุนนางที่จงรักภักดีฝ่ายมเหสีสรวงสุดาเทวี ที่ชื่อ พระลิขิตเมธี เป็นโหรประจำราชสำนักมหิทธินาศรังสรรค์ ได้สืบทราบ ระแคะระคายมาซักระยะแล้วว่า ฝ่ายเพ็ญพิมาศกับอำมาตย์ราชสิงห์วางแผนการร้าย ยึดอำนาจ จึงออกกุศโลบายให้โรจนาถราชา ขับพระมเหสีสรวงสุดาเทวีกับโอรส เจ้าชายน้อย ปรมินทรอัศวเทพ ออกจากวัง โดยมีขุนไกรสิทธิเดช นักรบมือขวาของโรจนาถราชา เป็นผู้คุ้มกันขบวนสืบราชบัลลังก์หลบหนีออกจากวังไป เพื่อรักษาชีวิตและความปลอดภัยของเจ้าชายน้อย ที่เป็นองค์รัชทายาทที่แท้จริง   การชิงไหวชิงพริบ ของขุนนาง 2 ฝ่ายในราชสำนักนั้น ทันกัน และผลัดกันชิงเหลี่ยม เปิดเกมรุกเข้าหากัน โดยเส้นเรื่อง การแย่งชิงอำนาจในนครรัฐนี้ เป็นทั้งสีสัน และหัวใจของเรื่องพิภพราชาไปจนถึงตอนจบเลยทีเดียว  โดยมีนครรัฐนวเกศเศรษฐี เป็นนครรัฐพี่น้องกันกับนครรัฐมหิทธินาศรังสรรค์ เป็นนครรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือฝ่ายมเหสีเพ็ญพิมาศกับอำมาตย์ราชสิงห์ เข้ามามีบทบาทแทรกแซงหรือร่วมในการทำให้ปัญหาของมหิทธินาศรังสรรค์เลวร้ายและทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก

"ในร้ายมีดี ในดีมีร้าย"  วลีนี้มาจากหนังจีนของกิมย้ง ปรมาจารย์นิยายจีนกำลังภายใน

ตรรกะข้อนี้  ใช้ได้กับเรื่องพิภพราชาเช่นกัน  ในกรณีเหตุการณ์ในนครรัฐมหิทธินาศรังสรรค์ มีขุนนางที่เป็นกังฉินซุกซ่อนอยู่ก็คือ อำมาตย์ราชสิงห์ ที่คิดการณ์ใหญ่ล้มล้างพระราชอำนาจ ตั้งตนเป็นใหญ่ โดยแต่เดิมตั้งใจว่าจะผลักดัน เจ้าชายปรเมศฤทธีเป็นพระราชาน้อย เป็นหุ่นเชิด ส่วนตนกับมเหสีเพ็ญพิมาศ คือผู้มีอำนาจตัวจริงที่คอยกุมอำนาจอยู่เบื้องหลัง โดยมีพันธมิตรใหญ่ก็คือนครรัฐนวเกศเศรษฐี กับเมืองเว้   ด้านนครรัฐนวเกศเศรษฐี ที่ไปร่วมเป็นพันธมิตรอสูรร่วมกับฝ่ายอำมาตราชสิงห์/มเหสีเพ็ญพิมาศ  ในตอนนั้น ก็มีเหตุการณ์รัฐประหารเงียบเช่นกัน โดยเจ้าชายมนัสกษัตร พระโอรสของพระเจ้าปัณณฑัต พระราชา ทำรัฐประหารเงียบร่วมกับพระวิเศษศาสตรา ในขณะที่ปัณณฑัตทรงประชวรเป็นอัมพฤกษ์ แต่เคราะห์ดี ในราชสำนักของนวเกศเศรษฐี เกิดมีขุนนางที่ดีอย่าง นายทหารสุกรี และราชครูศรีอาท(พระยาศรีอาท)  ซึ่งภายหลังมีส่วนในการกอบกู้ราชบัลลังก์ของนวเกศเศรษฐีกลับคืนมาจากมนัสกษัตร และเอาอำนาจคืนให้แก่ปัณณฑัต

ตอนที่ 1-6  ของนิยาย พิภพราชา จึงเป็นไทม์ไลน์ เกมไล่ล่า องค์รัชทายาทน้อย เจ้าชายปรมินทรอัศวเทพ ของฝ่ายอำมาตย์ราชสิงห์/มเหสีเพ็ญพิมาศ กับมนัสกษัตร/พระวิเศษศาสตรา ที่ต้องการจับกุมตัวองค์รัชทายาทกับพวกมาสำเร็จโทษ แล้วสถาปนาอำนาจให้พระราชาน้อยอย่าง เจ้าชายปรเมศฤทธี ขึ้นครองราชย์เป็นหุ่นเชิด เป้าหมายคือการยึดกุมอำนาจของฝ่ายมเหสีเพ็ญพิมาศ อำมาตย์ราชสิงห์ในมหิทธินาศรังสรรค์ และเจ้าชายมนัสกษัตรในนวเกศเศรษฐี  ในส่วนของนวเกศเศรษฐี ที่มีการทำรัฐประหารได้โดยง่าย เพราะไม่มีขุนนางฝ่ายดีถือดุลอำนาจทัดเทียม หรือในตอนนั้นยังไม่มีขุนนางฝ่ายดีอยู่ในราชสำนักเลย การยึดกุมอำนาจของเจ้าชายมนัสกษัตรจึงง่ายดายมาก  

แต่การจับกุมองค์รัชทายาท เจ้าชายน้อย ปรมินทรอัศวเทพ  ไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามแผน อาจเ ป็นเพราะโชคช่วย หรือโชคชะตาฟ้าลิขิตก็เป็นได้   เจ้าชายน้อยอัศวเทพ ตัดสินใจกระโดดหน้าผาสูง ตามมหาดเล็กทื่ชื่อพัดเศวกลงไป โดยไม่ทราบชะตากรรม ส่วนมเหสีสรวงสุดาเทวี ได้รับการช่วยเหลือจากภูตผีเสื้อ รอดเงื้อมมือฝ่ายราชสำนักได้สำเร็จ ส่วนขุนไกรสิทธิเดช ถูกจับกุมตัวกลับไปลงทัณฑ์ 

เดี๋ยวตอนหน้าจะมาอรรถาธิบาย บุคลิกตัวละครที่สำคัญแต่ละตัว และไทม์ไลน์หลังจากนี้เป็นอย่างไรกันต่อ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น