วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

พิภพราชา ภาคขยาย ตอนที่ 6 (ตัวละครร้ายในจักรวาลของพิภพราชา)


เก็บตกไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องราวภาค 2 ปริศนาผู้เสวยราชย์ กับ 2 ตัวละครที่เหลือที่ยังไม่ได้กล่าวถึง นั่นก็คือ

4.นาคามิน กลายเป็นแพะรับบาป  จะว่าไปนาคามินเป็นอีกตัวละครนึงที่มีชาติกำเนิดคลุมเครือ และรอการเฉลย ซึ่งในฉบับนิยาย จะไปเฉลยกันในภาคสุดท้ายคือ ภาคที่ 4 นู่นเลย อันเป็นผลแห่งพินัยกรรมของกรุงโลกาบรรณพิภพ ซี่งไว้ค่อยกล่าวถึงในประเด็นนี้เมื่อเข้าสู่เนื้อภาคที่ 4 แล้ว กลับมาที่นาคามิน ตัวละครที่ไปสร้างวีรกรรมเอาไว้ในภาคที่ 1 ตามคำสั่งของพระอาจารย์ปู่ฤษีเขื่อนขันธ์ นั่นก็คือปฏิบัติการลับ 2 ผอบ  ผอบแรกคือไปวางเพลิงเผาป่าใกล้พระราชวังปราสาททองของนครรัฐจามปา กับผอบสอง คือเอาเชื้ออหิวาต์ไปแพร่ในราชสำนักของขอม ซึ่งทั้ง 2กรณี ทำเอาป่วนราชสำนักของจามและขอม จนเรียกว่าทำเอาดิ้นพล่านไปทั้งราชสำนัก ไม่มีกะจิตกะใจ จะเสพสุขสำราญกันได้เลย สำหรับพระราชาของ 2 นครรัฐแห่งนั้น ซึ่งการทำเช่นนี้ ก็เพื่อตัดไม้ข่มนาม และต้องการชี้ให้เห็นว่า การที่ท่านส่งกองกำลังไปรุกรานแผ่นดินอื่น ในขณะที่แผ่นดินของท่านก็กำลังประสบทุกขพิษ เภทภัย ย่อมไม่เป็นการสมควร สุดท้าย ทั้ง 2 นครรัฐนั้นก็เลยต้องยอมถอนกำลังทัพกลับ ทั้งๆ ที่บุกยึดกรุงโลกาสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ภายหลังเจ้าชายอัทธิ์ถิรวาร หรือวูเฟอั๊กเทีย แห่งจามปา ล่วงรู้ถึงแผนการร้ายนี้ ที่ทำให้ตนเองต้องยอมถอนทัพ ในศึกกรุงโลกาครั้งที่ 1 ก็โกรธแค้น และมุ่งเป้าไปที่นาคามิน ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นสปายสายลับของกรุงโลกา ที่ถูกส่งมาบ่อนทำลายนครรัฐของตน จึงต้องการแก้แค้น ตอบโต้ พอสืบทราบว่า นาคามิน ทำงานเป็นองครักษ์ประจำตัวพระเจ้าเอกสิทธาธิราช แห่งนพธารานคร จึงส่งกองกำลังไปโจมตีเกาะนพธารา เพื่อหวังให้พระเจ้าเอกสิทธา ส่งตัวนาคามินออกมาให้ตนนำไปสำเร็จโทษ แต่ในขณะนั้นนาคามิน ไม่อยู่ในนพธารานคร ยังอยู่ในช่วงเดินทางกลับจากไปศึกษาเล่าเรียนที่เนราญนารายณ์ ดังนั้นพระเจ้าเอกสิทธาจึงออกอุบาย ยอมให้ตนเองเป็นองค์ประกัน ให้ฝ่ายจามจับตัวควบคุมตัวไป เพื่อแลกกับการที่จามปาจะไม่โจมตีนพธารานคร ให้เกิดความสูญเสียไปมากกว่านี้ จากนั้นแผนปฏิบัติการชิงตัวองค์ประกันก็ตามมา โดยบริวารคนสำคัญของนพธารานคร หลายคน รวมถึงนาคามินด้วย แต่นั่นก็เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างจามกับนพธารานคร ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าเอกสิทธาธิราช ถูกลอบทำร้ายจนภายหลังสิ้นพระชนม์ แล้วบรรดาข้าราชบริพารทั้งหลาย ต้องไปกราบทูลขอให้เจ้าชายอนุเชษฐ์ เสด็จขึ้นครองราชย์บัลลังก์ต่อ เพื่อฟื้นฟูนพธารานครกลับคืนมา




5.ตัวละครที่เพิ่มขึ้นมาในภาคนี้ก็คือ พราหมณ์น้อย (เจ้าชายอนุเชษฐ์) พระโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าเอกสิทธาธิราช เนื่องด้วยวัยเด็กสูญเสียพระมารดาไปอย่างน่าเวทนา ทำให้พระองค์ปวารณาตัวว่าอยากจะขอบวชพราหมณ์ถือศีล และขอสละราชบัลลังก์ ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับทางราชสำนักอีก ต้องการเดินในสายผู้ถือศีลบวช จนเมื่อเติบโตขึ้น ได้ออกเผชิญโลกกว้าง ได้ไปประสบพบเจอผู้คน และมองเห็นปัญหาความทุกข์ยากของราษฏร บวกกับพระราชบิดาได้มาสิ้นพระชนม์ในช่วงที่เกิดภัยสงครามและความมั่นคงต่อราชอาณาจักร ทำให้สุดท้ายแล้วจึงทรงตัดสินใจลาผนวช แล้วยอมทำตามข้าราชบริพารที่มาร้องขอ ให้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัริย์ เพื่อจะได้ปกครองนพธารานคร เพื่อสร้างความผาสุกให้กับราษฏร์ ซึ่งจะทำประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นนักบวช จึงทำให้พระองค์ทรงยอมละทิ้งอุดมการณ์ส่วนตัวว่าจะถือศีลบวชตลอดชีวิตลงได้ แต่จุดเปลี่ยนอีกอย่างก็คือ การที่มีผู้หญิงมาพัวพันพระองค์แล้วทรงสลัดไม่หลุด ในขณะที่ตอนนั้นยังทรงเป็นพราหมณ์หนุ่มน้อยรูปงามอยู่ ผู้หญงคนนั้นมาทำให้จิตใจของพระองค์หวั่นไหว หรือเสียพรหมจรรย์ (ตบะแตก) นั่นเอง ผู้หญิงคนนั้นก็คือ เจ้าหญิงเฟยาเลียแห่งจามปา แรกๆ ก็คือ เฟยาเลียมองเห็นพราหมณ์อนุเชษฐ์ เป็นชายรูปงามตนหนึ่ง จึงเกิดความลุ่มหลงชมชอบ และอยากได้เป็นสามี โดยไม่ได้สนใจว่าอนุเชษฐ์จะเป็นนักบวชหรือมียศถาบรรดาศักดิ์อะไร เธอเพียงแต่ทำไปตามหัวใจปรารถนา ยอมทำผิดศีลธรรม ด้วยการล่อลวงอนุเชษฐ์มาหลับนอน ด้วยการใส่ยาเลิฟ หรือยาเสียหนุ่ม (ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับยาเสียสาว ก็คือประเภทเดียวกับยาปลุกกำหนัด) เพียงเพราะคำว่ารัก ลุ่มหลง ชมชอบแค่นั้น ไม่ได้คำนึงถึงว่าสิ่งที่เธอทำนั้นได้ทำให้คนๆ หนึ่งต้องสูญสิ้นความศรัทธาในตัวเอง และต้องเสียพรหมจรรย์ ไม่เพียงพรหมจรรย์ในทางกาย แต่ยังเป็นการเสียพรหมจรรย์ในฐานะนักบวชด้วย ซึ่งเธอเป็นต้นตอที่ทำให้อนุเชษฐ์ตัดสินใจที่จะต้องยอมสึกจากผนวช เพื่อมาเป็นฆราวาส และเมื่อภายหลังยิ่งรู้ว่าอนุเชษฐ์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่นักบวชเท่านั้น เขายังเป็นถึงองค์รัชทายาทคนสำคัญที่ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเอกสิทธาธิราช ราชสำนักนพธารานคร ซึ่งเป็นอริราชศัตรูกับพระราชบิดา และพระเชษฐาของตนเอง ยิ่งทำให้เฟยาเลียตกอยู่ในที่นั่งลำบาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้จะเข้าข้างฝ่ายใด ด้านหนึ่งก็หลงรักในตัวอนุเชษฐ์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ต้องเชื่อฟังพระราชบิดาและองค์พระเชษฐา ที่กีดกันมิให้ความรักของคนทั้งคู่ก้าวเข้าสู่ประตูสวรรค์ได้ ภายหลังจึงเกิดแผนการร้าย กุศโลบายที่ต้องการกีดกันเฟยาเลียออกจากอนุเชษฐ์ ด้วยการบังคับให้เฟยาเลียต้องอภิเษกสมรสกับเจ้าชายนัชปาลแห่งนครรัฐกลิงคะ โดยอ้างเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง การทหาร และการค้า ที่มีต่อกันระหว่าง 2 นครรัฐ ทำให้เฟยาเลีย จำต้องผิดหวังในชีวิต จนแทบอยากฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายชะตากรรมก็เล่นงานเฟยาเลีย ให้ไม่สมหวังในชีวิตแต่งงาน ด้วยเคราะห์กรรมที่เธอทำให้อนุเชษฐ์ต้องกลายเป็นบุรุษที่เสียพรหมจรรย์ ภายหลังอนุเชษฐ์ได้พบรักกับหญิงสาวที่เพียงพร้อมกว่าเฟยาเลีย และกลายเป็นรักแท้ของอนุเชษฐ์อย่างแท้จริง ซึ่งเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในภาคที่ 3
ได้สาธยายตัวละครเอกสำคัญ ฝ่ายพระเอก ครบทั้ง 5 คนแล้ว ทีนี้มาว่าถึงตัวละครฝ่ายผู้ร้ายกันบ้าง ว่ามีตัวละคร อะไรบ้าง



1.เจ้าชาย/พระราชามนัสกษัตร ตัวนี้มีบุคลิกลักษณะ คาแร็กเตอร์ เป็นไปตามแบบผู้ร้ายในอุดมคติ ก็คือครบตามคุณสมบัติที่ผุ้ร้ายพึงจะมีทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น เป็นคนโลภโมโทสันต์ เอาแต่ใจตนเอง บ้าอำนาจ บ้าเรื่องเซ็กส์ กิจกรรมทางเพศ (ได้ทั้งชาย-หญิง) ใช้อำนาจแบบเผด็จการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ของตนเอง โดยบางครั้งไม่ฟังเหตุผลอะไร ชอบคบแต่คนพาล คือไม่นิยมคบบัณฑิต สั่งฆ่าผู้รู้ นักปราชญ์ ที่ไม่สามารถสนองตอบด้านจิตใจหรืออารมณ์ของพระองค์เองได้ เปลี่ยนคู่ไปตามอารมณ์ปรารถนา ไม่เคยรักใครจริงจัง ชอบคนประจบสอพลอ และพูดจาสรรเสริญให้รู้สึกว่าตนเองดี ตนเองเก่ง อยากได้อยากมี ถ้ารู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น ก็จะพยายามไปแก่งแย่ง เอาสิ่งที่ผู้อื่นมีมาเป็นของตัวเอง ถามว่าแล้วเขามีส่วนดีบ้างมั๊ย คนๆ นี้ ก็ขอบอกเลยว่า คนๆ นี้ ถ้าใครทำดีต่อเขา แบบถวายหัว หรือจงรักภักดี ยอมพลีชีพให้ได้ เขาจะตบรางวัลให้อย่างสาสม และไม่เคยลืมที่จะให้หรือตอบแทนคุณลูกน้องอย่างเต็มกำลังหรือเท่าที่ลูกน้องอยากได้ ฟังดูแล้วเหมือนนักการเมืองคนดังของสาระขัณฑ์บางคนเหมือนกันนะ  บอกเลยคนแบบนี้มีจริงอยู่ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกในนิยาย เพราะมันผ่านการพิสูจน์หรือบันทึกทางประวัติศาสตร์มาช้านานแล้วว่า ทรราชย์ก็คือเจ้านายที่ดีของข้ารับใช้ที่จงรักภักดี แต่ก็เป็นนายที่เลวของข้าที่คิดคดทรยศหรือทหารเลวเสมอ




2.พระวิเศษศาสตรา  ตัวละครคนนี้ มีความเป็นมนุษย์มากที่สุดในนิยายเรื่องนี้ คือเขามีทั้งด้านดีและด้านเลวอยู่ในตัว พอๆ กัน เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นคนดีหรือคนเลวแบบ ที่เรามักเคยเจอในโลกนิยายโดยทั่วไป เพียงแต่ในช่วงชีวิตวัยเด็กและวัยหนุ่ม เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของศิษย์เอกของสำนักภิธาน ซึ่งเป็นสำนักนักบวชพราหมณ์ นิกายไวษณะวะ ที่ฝึกวิชาอาคมแก่กล้า แต่มีเหตุให้ก่อนจะจบการศึกษา มีเหตุขัดแย้งกับพระอาจารย์ปุราณะภิธาน เจ้าสำนัก จึงขอลาขาดจากการเป็นศิษย์ของสำนัก ไปตั้งสำนักพราหมณ์เป็นของตนเอง และไปทำหน้าที่เป็นโหรพราหมณ์อยู่ที่นวเกศเศรษฐี รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทของพระเจ้าปัณณฑัต แต่ภายหลังได้เป็นพระราชครู คอยดูแลฝึกสอนเจ้าชายมนัสกษัตร จนเกิดเป็นความสนิทสนม พอพระเจ้ามนัสกษัตรขึ้นครองราชย์ ก็ทำให้พระวิเศษศาสตรา กลายเป็นข้ารับใช้ที่จงรักภักดี ต่อมนัสกษัตร และยอมทำความชั่วเพื่อเอาใจนาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ การรับคำสั่งพระบัญชา หากเป็นคำสั่งที่ผิด หรือไม่มีธรรมาภิบาล ก็จะทัดทานหรือทักท้วงมนัสกษัตรบ้าง แต่ภายหลังก็ยอมเออออทำตามพระบัญชา เพียงเพื่อเอาใจ และยอมเป็นข้ารับใช้ที่จงรักภักดี เพราะเห็นแก่มนัสกษัตรที่ให้โอกาสตนได้ มีตำแหน่งและมีอำนาจ เงินทองอย่างเต็มกำลังอยูในนวเกศเศรษฐี ด้านวิชาอาคมนั้น จัดว่าเป็นสุดยอดฝีมือระดับต้นๆ คนหนี่งของนวนิยายเรื่องนี้เลย ซึ่งสุกรีเคยจะขอเป็นศิษย์ แต่พอเห็นว่าพระวิเศษศาสตรา มาทางสายมนต์ดำ วิชาอาคมสายมืด ทำให้สุกรีฉุกคิด ขอไม่เรียนวิชากับแกดีกว่า และเลือกที่จะฝึกฝนวิชาอาคมกับบิดาตนเองแทน




3.เจ้าชายศิระติกาล หน.กลุ่มกบฏฟ้าทมิฬ บุคคลคนนี้ มีอุปนิสัยคล้ายมนัสกษัตร เพียงแต่ว่า เขาไม่มีวาสนาไปถึงจุดที่เรียกว่าได้เป็นกษัตริย์เหมือนกับคนอื่นๆ ด้วยเป็นคนขี้อิจฉาตาร้อน โลภโมโทสันต์ และหยิ่งผยองในอำนาจ เคยคิดว่าตนเองจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระมหาเทพราชา พระเชษฐาของตนเอง เนื่องจากพระมหาเทพราชาไม่มีโอรส มีแต่ธิดา ส่วนเขาเป็นพระอนุชาที่เกิดจากพระมเหสีเอกเช่นกัน แต่โชคชะตาฟ้าลิขิต พอมหาครุฑทวยเทพ และพญาครุฑสีห์เสด็จลงมายังอมรเมฆาธานี ความฝันของขาก็พังทลายลง เมื่อคำสั่งเสียสุดท้ายของพระเทพราหู ซึ่งเป็นองค์พระปิยเรศ ของทั้งมหาเทพราชา และศิระติกาล ต้องการให้เจ้าชายอธิกบุศย์ได้ขึ้นครองราชย์  แม้แต่เจ้าตัว (อธิกบุศย์) ก็ยังไม่ เคยคิดฝันมาก่อน ว่าจะได้เป็นพระราชาของอมรเมฆาธานี  ทำให้ศิระติกาลผูกใจเจ็บ เคียดแค้นอธิกบุศย์ ที่กลายเป็นตาอยู่ มาคว้าพุงปลามันไปกินนั่นเอง ด้านวิชาอาคมของเจ้าชายศิระติกาล ก็เรียกได้ว่าเอกอุในปฐพีเช่นกัน มาทางเดืยวกับพระวิเศษศาสตรา คือมาสายมนต์ดำสายมืดเหมือนกัน ภายหลังกลายเป็นสหายสนิทกับพระวิเศษศาตรา เพราะมีอุดมการณ์ตรงกัน ฟังดูเหมือนพวกฝั่งซ้ายสายฮาร์ดคอร์ แกนนำของการเมืองบางขั้วของประเทศสาระขัณฑ์เหมือนกัน ที่เป็นพวกซ้ายอกหักเหมือนๆ กัน

4.เจ้าชายอัทธิ์ถิรวาร หรือวูเฟอั๊กเทีย แห่งนครรัฐจามปา คนผู้นี้จะว่าไป ระดับความร้ายกาจและมันสมองความฉลาดนั้นอยู่เหนือกว่า มนัสกษัตรและศิระติกาลรวมกันเสียอีก คือ 2 เท่าของพวกนั้น เพราะว่า 2 คนนั้น อย่างมากก็เพียงต้องการอำนาจแค่ในราชบัลลังก์ราชวงศ์ของตนเท่านั้น แต่อัทธิ์ถิรวารต้องการใหญ่กว่านั้น คือต้องการครอบครองทั้งราชอาณาจักร หรือต้องการตีเมืองขึ้น ไปในหลายนครรัฐ โดยต้องการเป็นราชาของราชาอีกที แต่ด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอย่างใดไม่ทราบ ไม่ได้ประเมินศักยภาพตนเองว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ อีกทั้งหยิ่งทะนง หยิ่งผยองในกองทัพที่มีขนาดใหญ่ของตน และทุนทรัพย์ที่มากมายของตนเอง จะทำให้ตนสามารถเสกอภินิหารกองทัพ เข้ายาตราทัพยึดครองกรุงโลกาบรรณพิภพได้อย่างง่ายดาย แม้จะมีการประเมินความเสียง จุดแข็งจุดอ่อน รู้เขารู้เรา วางยุทธศาสตร์การรบมาอย่างดีแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่อัทธิ์ถิรวาร มักพลาดท่าเสียทีนั้น คืออาวุธลับสำคัญที่เขากลับมองข้ามไป หรือไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยก็คือ กรุงโลกาบรรณพิภพ ที่เขาต้องการจะครอบครองนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือ 1 ใน 3 แผ่นดินของอาณาจักรนิมิตนคร  คือถ้าเขาต้องการยึดตัวกรุงโลกา เขาต้องยึดให้ได้ทั้งหมด คือทั้ง 3 นครรัฐนั้น ซึ่งอีก 2 นครรรัฐนั้น นครรัฐนึงเป็นก้อนเมฆอยู่บนฟ้า อีกนครรัฐนึงเป็นเกาะ 9 เกาะอยู่ในทะเล นครรัฐที่อยู่บนฟ้านั้น มีเทพคือครุฑปกครองอยู่ ส่วนอีกนครรัฐนึงเป็นเกาะกลางมหาสมุทรที่มีเทพเป็นพญานาคปกครองอยู่เช่นกัน ลำพังนครรัฐที่เป็นก้อนเมฆมีกองทัพครุฑ เข้าโจมตีนพธารานครที่มีพญานาคปกครองอยู่ ยังไม่สามารถเอาชนะได้เลย นั่นแสดงว่า นพธารานครคือนครรัฐที่เก่งกาจที่สุด ที่ไม่มีใครสามารถทำลายหรือยึดครองได้ เพราะเกาะทั้ง 9 เคลื่อนตัวได้ใช่มั๊ย ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะนพธารานครมีพระอาจารย์ที่ชื่อ ปู่ฤษีเขื่อนขันธ์ เป็นสุดยอดกุนซือของพระราชาอยู่ และมีศิษย์เอกอย่างนาคามิน ที่ฝึกวิชาจนถึงขั้นสุดยอด สามารถกลืนลูกไฟลาวาลงท้องได้ 18 ลูก ยังไม่นับสุดยอดฝีมือของเกาะนี้อีกมาก แล้วยังไม่นับว่า ชัยภูมิของอาณาจักรนิมิตนคร มีทั้งอยู่บนฟ้า บนบก และในน้ำทะเล สามารถโจมตีได้จาก 3 ทาง ยากที่กองทัพได้จะสามารถต่อกรกับอาณาจักรนิมิตนครได้  เพราะได้ถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว จากปฐมกษัตริย์ยอดนักรบของพวกเขา และการที่อัทธิ์ถิรวารพ่ายแพ้ต่อศึกกรุงโลกาทั้ง 2 ครั้ง และศึกชิงตัวองค์ประกันทั้ง 2 ครั้ง ก็มาจากมันสมองของพระอาจารย์ปู่ฤษีเขื่อนขันธ์และบริวารของเขาทั้งสิ้น เรียกได้ว่า เกิดมาเพื่อแพ้ทาง ให้กับนพธารานคร ไม่ว่าจะไปเตะทั้งเหย้าหรือเยือน ก็พ่ายแพ้ย่อยยับกลับมาทุกแมตช์ กล่าวโดยการเปรียบเปรยให้ฟัง





ยังมีตัวละครผุ้ร้ายอีกหลายตัว ที่ไม่ขอลงในรายละเอียด เพราะเนื้อที่ไม่พอ เดี๋ยวจะยาวไป แต่บางคนมีบุคลิกคล้ายกับตัวละครร้ายข้างต้นที่กล่าวมา หรือบางคนมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว แต่ก็มีความคิดและพฤติกรรมที่ร้ายไปคนละแบบเช่นกัน บางตัวมีด้านดีอยู่บ้าง อาทิ พระครูกฤษดาอารยัน (พระครูจากรัฐจาม,ลูกน้องสนิทของอัทธิ์ถิรวาร)  วนัสปตี (พราหมณ์นอกรีต อดีตคนของเผ่าปายะที่ทรยศหักหลังสุกรี โดยจับบุตรของสุกรีแล้วหลบหนีไป)  มังกระยอเปี๊ยะ (น้องชาย หน.แคว้นสวัลญา ที่เป็นปฺฏิปักษ์กับมหิทธินาศรังสรรค์ เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับเจ้าชายฤทธีรา  ,อำมาตย์ราชสิงห์ ,เจ้านฤทธิ์นรเดช , พระมเหสีเพ็ญพิมาศ ,พระนางเจ้ากฤษณาราชาวดี , พระเวฬุวันปุโรหิต ,พระเจ้าวูเฟบันดง , อลิศกาปูร์  เป็นต้น
บางคนเรารู้หน้า พอจะรู้ใจ คือเป็นคนร้ายที่สามารถดูออก เพราะสีหน้า ท่าทางและการแสดงออกไปในทิศทางเดียวกับภายในจิตใจ แต่กลับบางคน เป็นคนร้ายที่ซ่อนอยู่ในภาพลักษณ์ของคนดี คนแบบนี้สิน่ากลัว เพราะเขาแสดงออกเหมือนคนดี ปกติทั่วไป เพียงแต่จิตใจเขา และความคิดของเขา เราไม่สามารถอ่านออก และเขากระทำเลวในที่ลับ อำพราง ที่ไม่ให้เรารู้ เราจึงไม่รู้ว่าเขาเป็นคนไม่ดี กว่าจะรู้ ก็ต่อเมื่อเขาได้จนมุม หรือวาระสุดท้าย ที่จะต้องแสดงออกให้เราเห็นแล้ว หรือเราจับได้ทีหลัง ซึ่งถึงตอนนั้น เราจะไม่สามารถหาทางป้องกัน การกระทำเลวของเขาได้ ต้องเผชิญหน้าต่อสู้กันไป แต่เชื่อเถอะว่า คนเลว สุดท้ายจะแพ้ทางคนทำดีวันยังค่ำ เพราะคนทำชั่ว อย่างไรเสีย ต้องทิ้งร่องรอย ไว้ให้คนดีได้สืบสวน เอาผิดจนได้

ตอนหน้า จะเข้าสู่เนื้อหาของภาคที่ 3 ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น