รอยเตอร์ -
ประชาชนหลายพันออกมาเดินประท้วงบนถนนในเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯเมื่อวานนี้ (8)
เพื่อประณามเหตุตำรวจยิงชายผิวดำ 2 คนเสียชีวิต
ในสัปดาห์นี้ การเดินขบวนหนึ่งวันหลังจากที่มือปืนรายหนึ่งยิงตำรวจ 5 คนเสียชีวิต ขณะกำลังดูแลการชุมนุมลักษณะเดียวกันนี้ในเมืองดัลลัส ผู้ประท้วงปิดกั้นถนนหลายเส้นในเมืองนิวยอร์ก
แอตแลนตา และ ฟิลาเดลเฟีย ขณะที่กิจกรรมในเมืองซานฟรานซิสโก และ ฟินิกส์
ก็ดึงดูดคนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน สื่อไม่ได้รายงานเหตุปะทะรุนแรง
หรือผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนในแอตแลนตา
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด
คลิปวิดีโอที่ถูกโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นพวกเขาตะโกน
และชูป้ายเรียกร้องความยุติธรรม
ภาพจากสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นฝูงชนขนาดใหญ่กำลังเผชิญหน้ากำลังรถตำรวจหลายสิบคันที่จอดอยู่บนทางหลวงระหว่างรัฐ นายกเทศมนตรีเมืองแอตแลนตา คาซิม
รีด ทวีตว่า การชุมนุมโดยรวมเป็นไปอย่างสงบ แม้ว่าจะมีคน 10 คนถูกจับกุมก็ตาม วันศุกร์ (8) เป็นวันที่สองของการประท้วงต่อต้านการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายหลังเหตุยิง
ฟิแลนโด แคสทิล วัย 32 ปี เสียชีวิตใกล้เมืองเซนต์พอล
รัฐมินนิโซตา และ อัลตัน สเตอลิง วัย 37 ปี ในเมืองบาตันโรก
รัฐลุยเซียนา แคสทิล ถูกสังหารโดยตำรวจระหว่างจอดรอสัญญาณไฟเมื่อวันพุธ (6)
และแฟนสาวของเขาโพสต์คลิปวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตเผยให้เห็นฉากนองเลือด
หลังจากนั้นไม่กี่นาที สเตอรร์ลิงถูกสังหารเมื่อวันอังคาร
(5) ในการทะเลาะวิวาทกับตำรวจผิวขาว 2 คน
นอกร้านสะดวกซื้อ คลิปวิดีโอเหตุการณ์นั้น
ก่อให้เกิดกระแสความโกรธเกรี้ยวในสื่อสังคมออนไลน์ เหตุยิงสองครั้งนี้ทวีความตึงเครียดเรื่องการเหยียดผิวที่ปะทุขึ้นหลายครั้งทั่วประเทศนี้ภายหลังเหตุการณ์สังหาร
ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวดำไร้อาวุธ เมื่อปี 2014 โดยน้ำมือตำรวจผิวขาวคนหนึ่งในเมืองเฟอร์กูสัน การประท้วงเมื่อวันพฤหัสบดี (7)
ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ
จนกระทั่งเกิดการยิงกันขึ้นในการชุมนุมในดัลลัสที่กำลังสลายตัว ทางการระบุว่า มิกาห์ จอห์นสัน
วัย 25 ปี ทหารผ่านศึกสงครามอัฟกานิสถานผิวดำที่ระบุว่า
เขาต้องการ “ฆ่าคนผิวขาว” ได้ทำการการลอบยิงสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5 คนเสียชีวิต และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 9 คน ตำรวจสังหารมือปืนรายดังกล่าวด้วยหุ่นยนต์ติดระเบิด
หลังต้อนเขาจนมุมในลานจอดรถแห่งหนึ่ง ยุติสถานการณ์ตึงเครียดนานหลายชั่วโมง
เอพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เกิดเหตุคนร้ายเพศชายก่อเหตุโจมตีสำนักงานใหญ่ของกรมตำรวจดัลลัส (ดีพีดี) ในวันเสาร์ (13 มิ.ย.) ก่อนที่คนร้ายจะถูกพลแม่นปืนของตำรวจยิงเสียชีวิต เดวิด บราวน์ ผู้บัญชาการกรมตำรวจดัลลัสแถลงต่อผู้สื่อข่าวโดยระบุว่า สไนเปอร์ของตำรวจได้ลั่นไกเข้าใส่ชายคนดังกล่าวขณะที่เขานั่งอยู่ภายในรถตู้คันหนึ่งที่อยู่ในบริเวณลานจอดรถของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ย่านชานเมืองฮัตชินส์ โดยก่อนหน้านี้ชายคนดังกล่าวได้บุกไปโจมตีสำนักงานใหญ่ของกรมตำรวจดัลลัสและขับรถตู้คันนี้หลบหนีมา ผู้บัญชาการกรมตำรวจดัลลัสเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงเชื่อว่าคนร้ายซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยตัวตนรายนี้น่าจะก่อเหตุโจมตีโดยใช้ทั้งอาวุธปืนและวัตถุระเบิดต่อสำนักงานใหญ่ของดีพีดีตามลำพัง แม้ทางเจ้าหน้าที่จะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงแรงจูงใจของคนร้าย รวมถึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเขามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายใดหรือไม่ รายงานข่าวในเวลาต่อมามีการยืนยันการเสียชีวิตของคนร้ายเพศชายรายนี้ซึ่งถูกสไนเปอร์ของตำรวจลั่นไกสังหาร โดยที่กระสุนได้พุ่งทะลุผ่านกระจกหน้ารถตู้ที่คนร้ายนั่งอยู่ และว่าการปลิดชีพคนร้ายรายนี้เกิดขึ้นหลังจากความพยายามนานหลายชั่วโมงของทีมเจรจาของตำรวจที่ต้องการให้เขายอมจำนนและมอบตัว เบื้องต้นทีมสืบสวนพบหีบห่อซึ่งบรรจุระเบิดแบบไปป์บอมบ์ไว้ภายใน แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าพบระเบิดซีโฟร์อยู่ภายในรถด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ทีมเก็บกู้วัตถุระเบิดซึ่งมีทั้งหุ่นยนต์และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์สามารถปลดชนวนระเบิดทั้งหมดได้แล้ว ขณะเดียวกัน มีรายงานของสื่อท้องถิ่นว่า คนร้ายเพศชายที่ถูกสังหารในครั้งนี้อาจเป็นนายเจมส์ บูลแวร์ ซึ่งเคยมีประวัติอาชญากรรมในหลายคดี รวมถึงคดีทำร้ายร่างกายสมาชิกในครอบครัว และเพิ่งถูกศาลตัดสินให้เป็นฝ่ายแพ้ในการได้สิทธิ์เลี้ยงดูบุตรเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุโจมตีสำนักงานใหญ่ของกรมตำรวจดัลลัส
รอยเตอร์
- หนึ่งในพลซุ่มยิงที่ลั่นไกสังหารตำรวจ 5 นายและบาดเจ็บ 7 คนในเมืองดัลลัส
ของสหรัฐฯ ระหว่างการชุมนุมประท้วงในค่ำคืนวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.)
บอกก่อนถูกระเบิดปลิดชีพว่าเขาต้องการฆ่าคนขาว โดยเฉพาะพวกเจ้าหน้าที่
เพราะแค้นที่ตำรวจยิงคนดำเสียชีวิต 2 รายซ้อนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ การซุ่มยิงครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงเหตุตำรวจยิงคนดำเสียชีวิตไป
2 รายในสัปดาห์นี้
ขณะที่จุดเกิดเหตุเป็นหนึ่งในหลายๆ เมืองที่มีการชุมนุมทั่วสหรัฐฯ
ต่อเหตุสังหารคนดำระลอกล่าสุดที่กระพือขบวนการเคลื่อนไหว “ชีวิตคนดำมีความสำคัญ
(Black Lives Matter)” ให้ลุกฮือขึ้นมาอีก ตำรวจบรรยายสถานการณ์เหตุซุ่มโจมตีในช่วงค่ำคืนวันพฤหัสบดี
(7 ก.ค.) ว่าเป็นการวางแผนมาอย่างระมัดระวัง
และแต่ละนัดถูกยิงมาจากจุดต่างๆของดาดฟ้า พร้อมเผยว่าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 3
ราย ก่อนลงมือสังหารรายที่ 4 หลังเผชิญหน้ากันบริเวณอู่รถแห่งหนึ่งย่านกลางเมืองเป็นเวลานาน “เราดวลปืนกับผู้ต้องสงสัย
เราไม่มีทางเลือกยกเว้นแต่ใช้ระเบิดหุ่นยนต์” เดวิด บราวน์
ผู้บัญชาการตำรวจดัลลัสบอกกับผู้สื่อข่าวที่ศาลากลางเมือง “ผู้ต้องสงสัยบอกว่าเขาไม่พอใจประเด็นชีวิตคนดำมีความสำคัญ
เขาบอกว่าไม่พอใจต่อเหตุคนดำถูกตำรวจยิงตายเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ต้องสงสัยบอกว่าเขาไม่พอใจตำรวจขาวและย้ำว่าเขาต้องการฆ่าคนขาว
โดยเฉพาะตำรวจขาว” บราวน์เผยว่า
ระหว่างพูดคุยกับหน่วยเจรจาของตำรวจ
ผู้ต้องสงสัยอ้างว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มไหนๆและลงมือเพียงลำพัง สื่อมวลชนสหรัฐฯ
ทั้งซีบีเอส และเอ็นบีซีนิวส์ รายงานว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้ได้แก่นาย ไมคาห์
จอห์นสัน ชาวเทกซัสวัย 25 ปี
โดยเขาไม่มีประวัติทางอาญาและไม่เคยมีความเกี่ยวข้องกับพวกหัวรุนแรง เอบีซีนิวส์รายงานว่านายจอห์นสัน
เคยเป็นกองกำลังสำรองของกองทัพสหรัฐฯจนถึงปี 2015 โดยได้รับการฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านช่างไม้และก่อสร้าง เหตุโจมตีคราวนี้มีขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่ชายผิวดำ
2 คนถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในบาตอง รูช ลุยเซียนา
และรอบนอกมินนิอาโปลิส โดยทั้ง 2 คดีซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนของเจ้าหน้าที่
ได้กระพือความตึงเครียดทางผิวสีและกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐฯ ในบัญชีทวิตเตอร์ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของขบวนการชีวิตคนดำมีความสำคัญ
ระบุว่า “Black Lives Matter สนับสนุนความมีศักดิ์ศรี
ความยุติธรรมและเสรีภาพ ไม่ใช่ฆาตกร” ปฏิบัติการซุ่มยิงเกิดขึ้นตอนที่ผู้ประท้วงในดัลลัสกำลังจะสลายตัว
ส่งผลให้ผู้ชุมนุมกรีดร้องและวิ่งหนีด้วยความแตกตื่นไปตามถนนสายต่างๆ ของเมือง
ขณะที่เหตุการณ์นี้กลายเป็นเหตุนองเลือดที่สุดของตำรวจในสหรัฐฯนับตั้งแต่ก่อการร้ายโจมตีนิวยอร์กและวอชิงตัน
ในวินาศกรรม 11 กันยายน 2011 บราวน์บอกว่าพวกมือปืนที่บางคนอยู่ในตำแหน่งสูง
ใช้ปืนไรเฟิลยิงใส่เจ้าหน้าที่ในปฏิบัติการที่เชื่อว่าเป็นการลงมือโจมตีอย่างพร้อมเพรียง
แต่ปฏิเสธเจาะจงว่ามีคนร้ายจำนวนเท่าใดในเหตุโจมตี ไมค์ รอว์ลิงส์
นายกเทศมนตรีดัลลัส ระบุว่ารวมแล้วมีตำรวจ 12 นายและพลเรือน 2
คนถูกยิงระหว่างการโจมตี โดยในบรรดาตำรวจที่ถูกยิงนั้น
เป็นตำรวจหญิง 3 นาย
นายกเทศมนตรีดัลลัสเผยว่า พวกผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว
ซึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง 1 คน
ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับทีมสืบสวนของตำรวจ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือของสไนเปอร์ที่เสียชีวิตและกำลังตรวจสอบตัวตนของเขากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนโปแลนด์ กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ในนามของประชาชนชาวอเมริกัน
"ผมเชื่อว่าตอนที่ผมพูดว่าเราตกตะลึงต่อเหตุการณ์ต่างเหล่านี้
นั่นคือผมพูดแทนชาวอเมริกันทุกคน
และเราขอเป็นอันหนึ่งเดียวกับผู้คนและกรมตำรวจในดัลลัส" โอบามาเผยว่า
เอฟบีไอกำลังประสานงานกับตำรวจดัลลัส และรัฐบาลกลางจะมอบความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
“เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด
สิ่งที่รู้ตอนนี้คือมันเป็นการโจมตีที่ชั่วช้าต่อเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี” เหตุยิงนี้เกิดขึ้นตอนประมาณ 21.00
น.ตามเวลาท้องถิ่น(ตรงกับเมืองไทย 08.00 น.)
ใกล้กับแหล่งพลุกพล่านย่านกลางเมืองดัลลัส ที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร
โรงแรมและอาคารราชการ ขณะที่ รอว์ลิงส์ แนะประชาชนในตอนเช้าวันศุกร์ (8 ก.ค.) ให้อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ เนื่องจากตำรวจต้องเข้าตรวจค้นพื้นที่ทุกซอกทุกมุมอย่างละเอียด
ส่งผลให้การสัญจรหยุดชะงักและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสั่งห้ามจราจรทางอากาศเหนือพื้นที่
ด้วยมีเฮลิคอปเตอร์ตำรวจคอยบินวนอยู่ด้านบน การซุ่มยิงนองเลือดในดัลลัสเกิดขึ้นในขณะที่มีการชุมนุมอย่างสันติตามเมืองต่างๆทั่วสหรัฐฯ
หลังตำรวจยิงรายฟิลันโด คาสติล ชายผิวดำวัย 32 ปีเสียชีวิตในวันพุธ
(6 ก.ค.) หลังเรียกให้จอดรถใกล้กับเมืองเซนต์ปอล มินนิโซตา
ขณะที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังจากตำรวจในบาตอง
รูช ยิงนายอัลตัน สเตอร์ลิง วัย 37 ปี เสียชีวิต จากคำกล่าวอ้างว่าเขาคุกคามในบางคนด้วยอาวุธปืน การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันตามเมืองต่างๆ
ไล่ตั้งแต่ เมืองเฟอร์กูสัน ในมิสซูรี ไปจนถึงบัลติมอร์และนิวยอร์ก
จุดชนวนการประท้วงรุนแรงประปรายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และกระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหว “ชีวิตคนดำมีความสำคัญ (Black
Lives Matter)” ขณะที่ความโกรธแค้นทวีความหนักหน่วงขึ้น
เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เหล่านั้นมักถูกชำระคดีหรือแม้กระทั่งไม่มีการตั้งข้อหาเลย
เอเจนซีส์ - กลุ่มมือปืนสไนเปอร์เปิดฉากซุ่มยิงตำรวจเสียชีวิต 4
นาย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยล่าสุด 7 คนในการประท้วงต่อต้านตำรวจอเมริกาใช้อาวุธยิงประชาชนแอฟริกัน-อเมริกัน
กลางย่านดาวน์ทาวน์ดัลลัส รัฐเทกซัส เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.)
ตามเวลาท้องถิ่น ล่าสุดยังอยู่ในการเจรจา เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ
รายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ซุ่มจู่โจมโดยกลุ่มมือปืนสไนเปอร์เกิดขึ้นระหว่างการประท้วงแสดงความไม่พอใจในสองเหตุการณ์ที่ประชาชนชาวอเมริกันผิวสีถูกตำรวจสหรัฐฯ
ใช้ปืนยิงเสียชีวิตในสัปดาห์นี้ โดยพบว่าเสียงปืนดังขึ้นครั้งแรกในเวลา 20.45 น.ของวันพฤหัสบดี
กลางย่านดาวน์ทาวน์ดัลลัส รัฐเทกซัส
หัวหน้าตำรวจดัลลัส เดวิด บราวน์ (David Brown) แถลงว่า “มีมือปืนสไนเปอร์อย่างน้อย 2 คนก่อเหตุซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจจากบริเวณลิฟต์” ดูเหมือนว่ากลุ่มมือปืนจะอยู่บริเวณลานจอดรถของตัวตึก
“คนร้ายมีแผนที่จะฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้มากที่สุด” ในการแถลงข่าว
บราวน์เชื่อว่าเป็นการโจมตีแบบลงมือพร้อมกัน กลุ่มปฏิบัติการมีอย่างน้อย 4 คน โดย 3 คนได้ถูกควบคุมตัวไว้แล้ว และอีก 1 คนที่เหลือยังเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจา
โดยสื่ออังกฤษชี้ว่าจุดลานจอดรถนี้ได้ถูกปิดลง
และเชื่อว่ามือสไนเปอร์ได้วางระเบิดไว้บริเวณลานจอดนี้ด้วย ยอดตัวเลขเสียชีวิตล่าสุด ตำรวจ 4
นายเสียชีวิต มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 คน
รอยเตอร์
- เหตุตำรวจยิงชายผิวดำเสียชีวิต 2
รายติดใน 2 วัน
ได้โหมกระพือเสียงเจ็บแค้นในสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.)
โดยเฉพาะกับกรณีล่าสุุดที่แฟนของเหยื่อโพสต์วิดีโอวินาทีสังหารลงบนอินเทอร์เน็ตไม่กี่นาทีหลังจากนั้น
ขณะที่ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตาโยนเหตุการณ์นี้เข้าสู่ประเด็นถกเถียงทางผิวสี
ระบุว่าถ้าเป็นคนขาวคงไม่ถูกยิงตาย นายฟิลันโด คาสติล
วัย 32 ปี
ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งยิงเสียชีวิต หลังถูกเรียกให้หยุดรถเมื่อช่วงค่ำวันพุธ
(6 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น กระตุ้นให้นายมาร์ค เดย์ตัน
เรียกร้องกระทรวงยุติธรรมเริ่มเข้าสืบสวน
ขณะการสืบสวนของรัฐเองอยู่ระหว่างดำเนินการ “เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นหรือเปล่า
หากว่าคนขับและผู้โดยสารเป็นคนขาว ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นเช่นนั้น” เดย์ตันบอกกับผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) “ดูเหมือนผมกำลังเผชิญหน้ากับรูปแบบของการเหยียดผิวที่มีอยู่จริง
และมันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะประกาศและรับประกันว่าเรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก”
การตายของนายคาสติเล เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากนายอัลตัน
สเตอร์ลิง จากแบตันรูซ ลุยเซียนา ถูกยิงตายระหว่างทะเลาะวิวาทกับตำรวจขาว 2
นาย
ซึ่งคลิปวิดีโอเหตุการณ์นี้กระตุ้นให้เกิดการประท้วงและเสียงโวยวายบนสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน กระทรวงยุติธรรมบอกว่ากำลังประเมินเหตุการณ์ในมินนิโซตา
แต่ไม่เปิดเผยว่าพวกเขาจะเปิดการสืบสวนอย่างเป็นทางการหรือไม่
ขณะที่ทางกระทรวงได้เปิดการสืบสวนอย่างเป็นทางการในเหตุยิงกันที่แบตันรูซไปแล้ว ไดมอนด์ เรย์โนลด์ส
แฟนสาวของคาสติล
บันทึกภาพในไม่กี่นาทีที่แฟนหนุ่มถูกยิงและโพสต์มันลงบนเฟซบุ๊กไลฟ์ ทั้งนี้
คาสติลถูกยิงขณะอยู่กับเรย์โนลด์ส และลูกสาววัย 4 ขวบของเธอในรถยนต์
โดยในภาพพบเห็นคราบเลือดเต็มเสื้อของนายคาสติลที่ดูเหมือนว่าหมดสติไปแล้ว การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจกับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันตามเมืองต่างๆ
ไล่ตั้งแต่ เมืองเฟอร์กูสัน ในมิสซูรี ไปจนถึงบัลติมอร์และนิวยอร์ก
จุดชนวนการประท้วงรุนแรงประปรายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และกระตุ้นให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหว “ชีวิตคนดำมีความสำคัญ (Black
Lives Matter)” ขณะที่ความโกรธแค้นทวีความหนักหน่วงขึ้น
เมื่อพวกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เหล่านั้นมักถูกชำระคดีหรือแม้กระทั่งไม่มีการตั้งข้อหาเลย วิดีโอของเรย์โนลด์สเผยให้เห็นว่าตำรวจนายหนึ่งที่อยู่นอกรถเล็งปืนเข้ามา
และอธิบายให้ฟังว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น บางครั้งก็พูดคุยกับตำรวจนายดังกล่าวอย่างสงบ
แต่บางครั้งก็ส่งเสียงสูงด้วยความหวั่นกลัวว่านายคาสติลกำลังจะตาย เรย์โนลด์สเผยว่า
นายคาสติลถูกยิงหลังจากตำรวจเรียกให้พวกเขาจอดรถ โดยอ้างว่าไฟหลังแตก “เขาไม่ได้แสดงภาษากายใดๆ เลยว่า ฆ่าผมเลย ผมอยากตาย” เรย์โนลด์สเล่าในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) มีผู้ประท้วงหลายสิบคนรวมตัวกันที่สำนักงานผู้ว่าการรัฐในเมืองเซนต์
ปอล ห่างจากจุดเกิดเหตุไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 15 กิโลเมตร
ซึ่งเป็นบริเวณที่ผู้ว่าการรัฐเปิดเผยข่าวร่วมกับเรย์โนลด์สและเหล่านักเคลื่อนไหวสิทธิพลเมือง ในถ้อยแถลงบนเว็บไซต์ของเมืองฟัลคอล
ไฮทส์ สถานที่เกิดเหตุ ระบุว่า ตำรวจหมู่บ้านเซนต์ แอนโธนีย์
ชักปืนขึ้นมาระหว่างเรียกหยุดรถในตอนค่ำวันพุธ (6 ก.ค.)
และต่อมาคนขับไม่ทราบชื่อไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเฮนเนพิน เคาน์ตี
ผลจากอาการบาดเจ็บ บนเว็บไซต์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถูกสั่งพักงานชั่วคราวตามมาตรฐานของฟัลคอล
ไฮทส์ ทั้งนี้ทางเว็บไซต์ไม่ได้ระบุว่าตำรวจรายดังกล่าวเป็นคนเชื้อสายใด
แต่ชี้แจงว่าตำรวจฟัลคอล ไฮทส์ กำลังดำเนินการสืบสวนภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคดีอาญาของมินนิโซตาและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ นางวาเลรี คาสติเล แม่ของเหยื่อ
บอกว่า ลูกชายเป็นคนสบายๆ แต่มีความขยันหมั่นเพียร
มีอาชีพเป็นผู้ตรวจโรงอาหารของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ชอบเล่นวิดีโอเกม
และมีใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เรย์โนลด์สเล่าว่าตำรวจไม่พยายามตรวจว่าแฟนของเธอเสียชีวิตไปแล้วหรือไม่ด้วยซ้ำ
หลังจากยิงเขา และใช้เวลานานถึง 15 นาทีกว่าทีมแพทย์จะเดินทางมาถึง
“มันไม่ใช่แค่นัดเดียว ไม่ใช่แค่ 2 นัด
3 นัด แต่มันคือ 5 นัด” เธอกล่าวระหว่างแถลงข่าว “พวกเขาไม่เช็กชีพจร ณ
จุดเกิดเหตุ” ในวิดีโอที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กหลังจากแฟนหนุ่มถูกยิง
เรย์โนลด์สเล่าว่าแฟนของเธอเพิ่งจอดรถและอธิบายว่าเขามีปืนที่มีใบอนุญาต “เขาพยายามดึงบัตรประจำตัวออกมาจากกระเป๋า เขาบอกให้ตำรวจรู้ว่าเขามีปืน
พอเขากำลังล้วงเข้าไปในกระเป๋า ตำรวจก็ยิงเข้าที่แขน” หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ระบุว่า
นายคาสติลเป็นบุคคลอย่างน้อยรายที่ 506 และชาวอเมริกันผิวดำรายที่
123 ที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในปี 2016 โดยในผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวอเมริกันผิวดำ
มีราว 10 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีอาวุธ
เอเอฟพี - กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงยืนยันเมื่อวันพุธ (6 ก.ค.) ว่าจะไม่มีการดำเนินคดีอาญาต่อ ฮิลลารี คลินตัน กรณีใช้อีเมลส่วนตัวรับส่งข้อมูลลับระหว่างเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งทำให้มหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาโวยวายทันทีว่าข้อสรุปของสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และกระทรวงยุติธรรมชี้ชัดว่ามีการ “เล่นไม่ซื่อ” เพื่อล้างผิดให้แก่คลินตัน คำแถลงจาก ลอเร็ตตา ลีนช์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่เธอได้ร่วมหารือกับ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ รวมถึงคณะอัยการและเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบคดีอีเมลฉาว ซึ่งสร้างความมัวหมองอย่างหนักต่อคลินตัน ในฐานะผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต “ดิฉันได้รับและยอมรับคำแนะนำที่เป็นเอกฉันท์จากเอฟบีไอ ซึ่งขอให้ยุติกระบวนการสอบสวนที่ใช้เวลานานถึง 1 ปี และจะไม่มีการฟ้องร้องผู้ใดซึ่งอยู่ในขอบเขตของการสืบสวนคดีนี้” คำแถลงจากลีนช์ระบุ ลีนช์ประกาศยืนยันว่าจะเคารพคำวินิจฉัยของเอฟบีไอ และอัยการ ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปใด หลังเกิดกระแสโจมตีอย่างหนักเรื่องที่เธอได้พบและพูดคุยกับอดีตประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ที่สนามบินรัฐแอริโซนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยพรรครีพับลิกันกล่าวหาว่ารัฐบาลอาจกำลังแทรกแซงการสอบสวนคดีของคลินตัน คำแถลงของ ผอ.เอฟบีไอเมื่อวันอังคาร (5) ระบุว่า ไม่ควรมีการตั้งข้อหาเอาผิดกับคลินตัน เนื่องจากไม่พบหลักฐานที่เพียงพอต่อการส่งฟ้องคดีอาญา “คำวินิจฉัยของเราก็คือ อัยการผู้มีความรับผิดชอบไม่สมควรสั่งฟ้องคดีนี้” เขากล่าว อย่างไรก็ตาม เอฟบีไอยอมรับว่าการที่ คลินตันใช้บัญชีอีเมลหรือเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวติดต่อเรื่องงานซึ่งเป็นความลับของรัฐบาล นับว่า “สะเพร่าอย่างรุนแรง” โดนัลด์ ทรัมป์ และสมาชิกพรรครีพับลิกัน ได้ออกมาวิจารณ์ข้อสรุปของเอฟบีไอว่าเป็นการตอกย้ำถึงความเลวร้ายของระบบการเมือง พร้อมตราหน้าคลินตันว่าเป็น “คนโกหก” “เธอพูดจาโกหกสารพัด” ทรัมป์กล่าวระหว่างปราศรัยหาเสียงที่เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ เมื่อเย็นวันพุธ (6) “เธอจะถูกไต่สวนโดยสภาคองเกรสหรือไม่? จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้บ้างหรือเปล่า? นี่เป็นเรื่องน่าละอายจริงๆ” “ฮิลลารีเป็นคนไม่ซื่อ นี่คือสิ่งที่พวกคุณควรจะรู้ไว้” ทรัมป์ ซึ่งจะลงชิงดำกับคลินตันในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ กล่าว โคมีย์ระบุว่า จากการตรวจสอบอีเมลของคลินตันราว 30,000 ฉบับ มีอยู่เพียง 110 ฉบับที่พูดถึงความลับของรัฐบาล ส่วนอีกราว 2,000 ฉบับมีเนื้อหาซึ่งถูก “ยกขึ้นชั้นความลับในภายหลัง” และเป็นไปได้ที่อีเมลของอดีตรัฐมนตรีหญิงผู้นี้จะถูกแฮก คลินตันยืนยันขณะที่ส่งอีเมลให้เอฟบีไอตรวจสอบว่า “ไม่มีการคุยความลับ” อย่างแน่นอน พนักงานสอบสวนยังสามารถเข้าถึงเมลอีกหลายพันฉบับที่ทนายของคลินตันไม่ได้ส่งมอบให้ทางการ แต่ถึงกระนั้นก็ “ไม่พบหลักฐาน” ว่าคลินตันจงใจลบถ้อยคำบางอย่างออกไปเพื่อปิดบังเนื้อหา ผอ.เอฟบีไอจะต้องเข้าชี้แจงต่อสภาคองเกรสในวันนี้ (7) เกี่ยวกับผลการสอบสวนคดี รวมถึงข้อเสนอไม่เอาผิดคลินตัน พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า สมาชิกสภาคองเกรสต้องการให้โคมีย์อธิบายว่าเหตุใดเอฟบีไอจึงไม่พบการกระทำผิดกฎหมายของคลินตัน ทั้งๆ ที่ยอมรับว่าเธอ “สะเพร่าอย่างรุนแรง” ไรอันยังเสนอให้รัฐบาลระงับสิทธิ์ของคลินตันในการเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับเพื่อเป็นการลงโทษ
เอพี/เอเจนซีส์ -
ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เจมส์ โคมีย์
แถลงระหว่างถูกรัฐสภาอเมริกันเรียกตัวไปให้ปากคำเมื่อวันพฤหัสบดี (7
ก.ค.) โดยยืนยันการตัดสินใจไม่ยื่นฟ้อง ฮิลลารี คลินตัน
ในกรณีอื้อฉาวจัดตั้งเซิร์ฟเวอร์รับส่งอีเมลส่วนตัวระหว่างที่เธอนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ
และทำให้ข้อมูลข่าวสารลับจำนวนหนึ่งรั่วไหล ทั้งนี้เขาบอกว่าไม่มีหลักฐานใดๆ
แสดงให้เห็นว่าเธอหรือผู้ช่วยคนใดของเธอทราบว่าสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย การปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาล
สภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ ถือเป็นการออกแถลงต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกของเขา
ภายหลังจากที่เอฟบีไอประกาศเมื่อวันอังคาร (5) ที่ผ่านมาว่า
ได้เสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่าไม่สมควรฟ้องร้องคลินตันในความผิดทางอาญา
อันเท่ากับเป็นการลบล้างภัยคุกคามซึ่งทอดเงาทะมึนอยู่เหนือว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตผู้นี้มานาน
แต่ก็กลายเป็นการรื้อฟื้นให้สาธารณชนหวนกลับมาสนใจพิจารณาการดูแลรับผิดชอบกับข้อมูลข่าวสารปิดลับของเธอ “คนของเราสอบสวนเรื่องนี้อย่างไม่สนใจเรื่องการเมืองและทำอย่างเป็นมืออาชีพ”
โคมีย์กล่าวถึงการสอบสวนคดีนี้ของเอฟบีไอที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นแรมปี โคมีย์แจกแจงว่า
เมื่อเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเข้าสืบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา
พวกเขาต้องมองหาข้อพิสูจน์ไม่เพียงเฉพาะแค่ว่าได้มีการประกอบอาชญากรรมหรือไม่
หากแต่ยังต้องพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ
รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นเป็นความผิด
และปรากฏว่าในคดีนี้ไม่มีหลักฐานเลยว่าพวกเขาทราบเขากล่าวอีกว่า
ถึงแม้มีมาตราในกฎหมายที่เปิดทางให้ฟ้องร้องกล่าวหาความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ได้
ในกรณีที่ดูแลรับผิดชอบข้อมูลข่าวสารปิดลับด้วยความผิดพลาดในลักษณะของการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
แต่กฎหมายมาตราดังกล่าวก็เคยถูกใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดระยะเวลา 99 ปีนับตั้งแต่ที่บัญญัติขึ้นมา
และในคดีดังกล่าวนั้นก็เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจารกรรม โคมีย์ให้ปากคำว่า
พวกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอต่างมีความห่วงใยอย่างยิ่งยวดว่า
เป็นการถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือที่จะกล่าวหาฟ้องร้องใครในคดีนี้ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้อำนวยการเอฟบีไอบอกว่า
การฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลข่าวสารปิดลับนั้น
ในอดีตที่ผ่านมาสงวนเอาไว้เฉพาะกรณีที่ตั้งใจหรือจงใจกระทำความผิด, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือแสดงความไม่จงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา
เขายังแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างกรณีไม่ฟ้องร้องคลินตัน
กับการฟ้องร้องดำเนินคดีเอากับอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ เดวิด เพเทรอัส
เมื่อปีที่แล้ว
ซึ่งเพเทรอัสเลือกที่จะสารภาพว่ากระทำผิดจริงในการส่งข้อมูลข่าวสารปิดลับให้แก่นักเขียนที่กำลังเขียนชีวประวัติของเขา
โคมีย์บอกว่า เพเทรอัสได้แอบเก็บข้อมูลข่าวสารปิดลับ “จำนวนมากมาย”
เอาไว้ --โดยซุกซ่อนบางส่วนเอาไว้ใต้แผ่นวัสดุฉนวนความร้อนในห้องใต้หลังคาของเขา—จากนั้นก็โกหกเอฟบีไอเกี่ยวกับเรื่องนี้
“เขายอมรับว่าเขาทราบว่ามันเป็นความผิดที่กระทำเช่นนั้น”
โคมีย์กล่าว “นั่นเป็นการวาดภาพให้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบถึงคดีประเภทที่จะต้องถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ
และในความคิดของผมแล้ว มันก็วาดภาพให้เห็นว่ามีความแตกต่างอย่างสำคัญกับกรณี
(ของคลินตัน) นี้” ประธานคณะกรรมาธิการ ส.ส.เจสัน แชฟเฟตซ์
แห่งพรรครีพับลิกันจากมลรัฐยูทาห์ บอกกับโคมีย์ว่า
การตัดสินใจของเอฟบีไอคราวนี้เปิดเผยให้เห็นว่า “มีสองมาตรฐาน”
โดยที่ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลจะได้รับการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง
ขณะที่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดากระทำอย่างที่คลินตันกระทำไป เขาก็จะต้องติดคุกแน่ๆ “ถ้านามสกุลของคุณไม่ใช่คลินตัน
ถ้าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจแล้ว
เทพีแห่งความยุติธรรมก็จะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างออกไป” แชฟเฟตซ์กล่าวในคำแถลงเปิดการซักถาม อีกทั้งระบุด้วยว่าเอฟบีไอได้ “สร้างแบบอย่างที่เป็นอันตราย” จากการปล่อยคลินตันรอดพ้นความผิดไปโดยไม่ต้องชดใช้ใดๆ ระหว่างการซักถามได้มี
ส.ส.ถามโคมีย์ว่า
เขาได้ยินหรือไม่เรื่องที่มีเสียงวิจารณ์ว่ามีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในกรณีนี้ “ผมได้ยินเรื่องนี้เยอะแยะเลย”
ผู้อำนวยการเอฟบีไอบอก “มันไม่เป็นความจริง
แต่ผมก็ได้ยินมาเยอะแยะ” “ผมทำสิ่งซึ่งทำให้ผู้คนพากันตั้งคำถามกันอย่างมากมายเหลือเกิน” เขากล่าว และอธิบายว่า เอฟบีไอนั้นมีพันธะที่จะต้องกระทำไปตามกฎหมาย ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรียุติธรรม
ลอเรตตา ลินช์ ออกมาแถลงในวันพุธ (6) ว่า
เธอยอมรับเห็นด้วยกับข้อเสนอและผลการสืบสวนของโคมีย์
และของเหล่าอัยการมืออาชีพในกระทรวงของเธอ และจะไม่ยื่นฟ้องร้องคลินตัน
ตัวลินช์เองน่าที่จะถูกเรียกตัวไปให้ปากคำเกี่ยวกับกรณีนี้เช่นเดียวกัน
โดยเธอน่าจะถูกตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ
คณะกรรมาธิการการยุติธรรมในสัปดาห์หน้า
การตัดสินใจของโคมีย์
และวิธีการที่เขาแถลงการตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวพรรครีพับลิกันซึ่งมีความรู้สึกกันว่า
ระหว่างที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอแถลงเรื่องนี้ผ่านทางทีวีเมื่อวันอังคาร (5) นั้น เขาได้แจกแจงรายละเอียดตลอดจนพูดถึงแง่มุมต่างๆ
ในการพิจารณาตรวจสอบอย่างผิดธรรมดา
ซึ่งก็ถือเป็นพื้นฐานเพียงพอสำหรับการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีได้แล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎร
พอล ไรอัน ซึ่งก็เป็น ส.ส.สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐวิสคอนซิน ออกมาระบุว่า
สิ่งที่ปรากฏอยู่ในตอนนี้ทำให้ “เกิดคำถามเพิ่มมากขึ้นอีก
ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับคำตอบ” และในหนังสือที่ส่งถึง
เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ
ไรอันได้เรียกร้องว่าอย่าได้บรรยายสรุปข่าวสารข้อมูลลับต่างๆ
ให้คลินตันได้ทราบไปตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ
บุคคลที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันให้เป็นตัวแทนของพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว
ก็จะได้รับการบรรยายสรุปเป็นประจำจากพวกหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ
แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า ในกรณีของคลินตันควรที่จะตัดสิทธิเช่นนี้
เพื่อเป็นการลงโทษให้สอดคล้องกับที่เธอจัดการกับอีเมลลับอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างที่นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ทางด้าน โดนัลด์ ทรัมป์
ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน
ก็ถือโอกาสนำเอากรณีนี้มาหาเสียงโจมตีคลินตันว่า
เธอสามารถเล่นไปตามกติกาพิเศษซึ่งแตกต่างจากกติกาของสาธารณชนชาวอเมริกัน “ฮิลลารี คลินตัน ไม่สามารถรักษาอีเมลของเธอให้ปลอดภัยได้ แล้วรู้อะไรไหม
พรรคพวก โคตรๆ แน่ใจได้เลยว่าเธอก็ไม่สามารถรักษาประเทศชาติของเราให้ปลอดภัยได้”
ทรัมป์กล่าวระหว่างการหาเสียงเมื่อไม่นานมานี้ที่เมืองราเลห์,
รัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมกับกล่าวหาว่า การสืบสวนคราวนี้มีการ “ฮั้วกัน” ในทางให้ประโยชน์แก่คลินตัน การเรียกผู้อำนวยการเอฟบีไอมาซักถามคราวนี้
เห็นกันว่าเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อกระตุ้นเพิ่มพลังให้แก่ฐานเสียงอนุรักษนิยมซึ่งอาจจะรู้สึกผิดหวังกับทรัมป์
ในขณะที่รีพับลิกันจำเป็นต้องโหมทำงานหนักเพื่อรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ต่อไป
ทว่าเวลาพูดคุยกันเป็นส่วนตัว
มีชาวรีพับลิกันบางคนตั้งคำถามเอากับการตัดสินใจเลือกที่จะต่อสู้กับโคมีย์
ซึ่งที่จริงก็เป็นชาวรีพับลิกันที่มีชื่อเสียงว่ามีแนวความคิดอิสระ
และเคยทำงานในกระทรวงยุติธรรมในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในวันอังคาร (5) ขณะประเมินโดยใช้ถ้อยคำชวนปวดแสบปวดร้อนเกี่ยวกับวิธีจัดการกับอีเมลของเธอระหว่างเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
โคมีย์ตำหนิคลินตันและพวกผู้ช่วยของเธออย่างรุนแรง ที่ “สะเพร่าเลินเล่ออย่างยิ่ง”
ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารปิดลับ
ทั้งนี้การประเมินเช่นนี้ขัดแย้งกับคำอธิบายและเหตุผลข้อต่อสู้จำนวนมากที่เธอกล่าวอ้างเอาไว้ในตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
กระนั้น โคมีย์ก็กล่าวด้วยว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ
ว่ามีใครจงใจหรือตั้งใจจัดการกับข้อมูลข่าวสารปิดล้อมอย่างผิดพลาดเช่นนั้น
และดังนั้นจึง “ไม่มีอัยการผู้มีเหตุมีผลคนใด” จะติดตามตั้งข้อหาฟ้องร้องในกรณีนี้ โคมีย์
ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยยุติธรรมในคณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2013 ให้เป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ
ที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี
เอเจนซี--ฝนตกหนักกระหน่ำแผ่นดินใหญ่ใน 2-3 วันที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 200
คนแล้ว สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนกว่า 1 ล้านคน
เส้นทางรถไฟถูกตัดขาด เครือข่ายถนนถูกปิด สนามกีฬากลายเป็นสระว่ายน้ำ ข้อมูลสำนักงานใหญ่ควบคุมภัยแล้งและน้ำท่วมที่สรุปเมื่อวานนี้(3
ก.ค.) ระบุยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม เท่ากับ 186 คน และอีก 45 คน สูญหาย ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย
เกิดเหตุโรงงานถล่มพังระหว่างฝนตกหนัก ฝังกลุ่มคนงานอยู่ใต้กำแพง ยอดผู้เสียชีวิต
นับได้ 8 รายแล้วเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ขณะนี้ได้เจ้าหน้าที่ได้โยกย้ายประชาชนประมาณ
1.5 ล้านคน ออกจากพื้นที่ประสบภัย ขณะที่บ้านเรือน 56,000
หลังพังยับ สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจโดยตรง คิดเป็นมูลค่าถึง 50,600
ล้านหยวน หรือราว 280,000 ล้านบาท ฝนตกหนักในจีนครั้งนี้
กระทบอำเภอราว 1,200 อำเภอ ใน 26 มณฑล พื้นที่ประสบอุทกภัยหนักที่สุด
คือ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลอันฮุย มณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนัน นครฉงชิ่ง และกุ้ยโจว เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเตือนภัยน้ำท่วมระดับชาติในระดับที่สาม
โดยระดับหนึ่งเป็นระดับร้ายแรงที่สุด หลายมณฑลรวมทั้ง หูเป่ย
ได้ยกระดับปฏิบัติการรับมือฉุกเฉินเป็นระดับที่สอง การรถไฟอู่ฮั่นได้ระงับการเดินรถในเส้นทาง
17 สาย ถนน 45 สายในเมืองกลายเป็นลำน้ำ
และรถยนต์ไม่สามารถแล่นผ่านได้ อย่างไรก็ตาม
เจ้าหน้าที่ได้เปิดถนนไปยังสนามบินนานาชาติเทียนเหอ หลังจากที่ถูกปิดในวันก่อนหน้า
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟในมณฑลหูเป่ยใกล้กับหม่าเฉิง ถูกน้ำพัดพังในวันเสาร์
ทำให้การเดินรถเลื่อนช้าไป จากเมืองเซินเจิ้นไปยังจี้หนันในมณฑลซันตง ฝนตกหนักยังทำให้เกิดน้ำท่วมที่สนามกีฬาหมิงถังในเอ้อโจวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สร้างเสร็จเมื่อ
3 ปีที่แล้ว ในมณฑลอันฮุย
ก็ได้ปิดแหล่งท่องเที่ยวหลายจุดในอำเภอจินไจ้เนื่องจากดินถล่ม และถนนพัง
รัฐบาลท้องถิ่นได้ส่งรถบัสไปรับนักท่องเที่ยวออกมา กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีฝนตกหนักไปถึงวันพุธในบริเวณตอนกลาง
ตอนล่างของแม่น้ำแยงซีเกียง บริเวณแม่น้ำไหว และเขตต่างๆในภาคใต้และภาคตะวันตก เจียง เหยียนเซิ่ง
ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายวิศวกรสำนักงานควบคุมอุทกภัยมณฑลหูเป่ย
กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้เตรียมการรับมือน้ำท่วมในบริเวณแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำฮั่น “การต่อสู้กับอุทกภัยบริเวณแม่น้ำสายเล็กในสุดสัปดาห์เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
เรายังจะประสบปัญหาที่ใหญ่กว่านี้อีก"” เจียงกล่าว (เครดิตอ้างอิง : คัดลอกจากหน้าข่าวต่างประเทศ,คอลัมน์ข่างต่างประเทศ,MGR online)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น