วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โลก 360 องศา - (รวบมือแทงคนพิการตาย 19 ศพที่ญี่ปุ่น,ระเบิดที่อันสบาคเยอรมันและที่คาบูอัฟกานิสถาน,เบาะแสสำคัญใหม่ MH370,สหรัฐยึดเงิน 1พันล้านเหรียญพัวพันกองทุน 1MDB,เหตุกราดยิงในมิวนิค,แผนการรวบอำนาจจากการรัฐประหารจอมปลอมในตุรกี)


เอเจนซีส์ / MGR online - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกราว 20 รายจากเหตุโจมตีโดยมือมีดรายหนึ่งนอกกรุงโตเกียว  รายงานข่าวซึ่งอ้างสื่อท้องถิ่นในแดนปลาดิบระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกราว 20 ราย จากเหตุโจมตีโดยมือมีดรายหนึ่งที่เมืองซางามิฮาระ นอกกรุงโตเกียวเมืองหลวงของประเทศเพียงเล็กน้อย จนถึงขณะนี้สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า จุดที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนี้อยู่ภายในศูนย์ดูแลผู้พิการแห่งหนึ่งในจังหวัดคานางาวะ ไม่ไกลจากกรุงโตเกียว  แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจของญี่ปุ่นนายหนึ่งออกมาเปิดเผยว่า มือมีดที่ลงมือก่อเหตุสยองไล่แทงผู้คนในครั้งนี้เป็น เพศชายซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยชื่อต่อสาธารณชน และว่าคนร้ายรายนี้ได้เดินทางเข้ามามอบตัวต่อตำรวจแล้ว และถูกควบคุมตัวไปสอบสวนถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุในครั้งนี้ ด้านสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า พนักงานรายหนึ่งของศูนย์คนพิการแห่งดังกล่าวเป็นผู้ที่ติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์สายด่วนฉุกเฉิน เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร (26 ก.ค.)
รอยเตอร์/เอเอฟพี - ผู้ขอลี้ภัยชาวซีเรียซึ่งระเบิดตัวเองด้านนอกเทศกาลดนตรีในเยอรมนี เป็นทหารของรัฐอิสลาม (ไอเอส) จากรายงานในวันจันทร์ (25 ก.ค.) ของสำนักข่าวอามัก สอดคล้องกับข้อมูลจากรัฐมนตรีมหาดไทยรัฐบาวาเรีย ที่ระบุวิดีโอหนึ่งที่พบในโทรศัพท์มือถือของเขาเป็นภาพการประกาศสวามิภักดิ์ต่อนักรบกลุ่มนี้  สำนักข่าวอามักสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับพวกญิฮัดอ้างแหล่งข่าววงในระบุว่า มือโจมตีเมื่อวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) ในเมืองอันสบาค ทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน เป็น ทหารของไอเอสซึ่งลงมือตอบสนองต่อคำเรียกร้องให้โจมตีเป้าหมายในประเทศต่างๆ ที่เป็นหนึ่งในพันธมิตรนานาชาติต่อต้านไอเอส  คำกล่าวอ้างของสำนักข่าวอามักมีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่นายโจอาชิม เฮอร์มันน์ รัฐมนตรีมหาดไทยรัฐบาวาเรีย เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวว่าชายที่ระเบิดตัวเอง ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอสในวิดีโอที่พบในโทรศัพท์มือถือของเขา  จากการแปลเบื้องต้นโดยล่ามรายหนึ่ง พบว่าเขาประกาศอย่างชัดเจนในนามของพระอัลเลาะห์ และขอพระองค์ทรงเป็นสักขีพยานในการสวามิภักดิ์ต่อนายอาบู บาการ์ อัล-บักดาดี (ผู้นำไอเอส) และประกาศลงมือแก้แค้นต่อชาวเยอรมัน เพราะพวกเขากำลังขวางทางอิสลามเฮอร์มันน์กล่าว ผมคิดว่าหลังจากวิดีโอนี้ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่ามันเป็นการโจมตีก่อการร้ายที่มีภูมิหลังอิสลามิสต์ เหตุโจมตีด้านนอกของเทศกาลดนตรีในเมืองอันสบาค เมืองที่มีประชากรราว 40,000 คน และตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ นับเป็นเหตุความรุนแรงโดยชายเชื้อสายตะวันออกกลางหรือเอเชียในเยอรมนี ครั้งที่ 4 ในรอบ 1 สัปดาห์  โฆษกกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลกลางระบุว่า ชายวัย 27 ปีรายนี้เดินทางเข้ามายังเยอรมนีเมื่อ 2 ปีก่อนและยื่นขอลี้ภัย แต่เขามีปัญหากับตำรวจหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสพยาหรือกระทำผิดอื่นๆ และเผชิญการถูกเนรเทศไปยังบัลแกเรีย  ก่อนหน้านี้เยอรมนีเพิ่งจะเผชิญเหตุโจมตีนองเลือดติดๆ กันถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 10 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน โดยเหตุการณ์เหล่านี้กระพือเสียงคร่ำครวญของประชาชนหนักหน่วงขึ้นต่อนโยบายเปิดประตูอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล โดยผู้ลี้ภัยที่ส่วนมากหลบหนีภัยสงครามในอัฟกานิสถาน ซีเรีย และอิรัก ไหลบ่าเข้ามาเยอรมนีมากกว่า 1 ล้านคนในปีที่ผ่านมา โทมัส เดอ เมซิแอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนีระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนกฎระเบียบการลี้ภัยหรืออพยพ จนกว่าการสืบสวนเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้จะแล้วเสร็จ  มือระเบิดฆ่าตัวตายถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปบริเวณภายในเทศกาลดนตรีกลางแจ้งอันสบาค ก่อนจุดชนวนระเบิดด้านนอกร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะที่ตำรวจเผยว่ามีประชาชนมากกว่า 2,000 คนได้รับการอพยพออกจากเทศกาลดนตรีหลังจากเกิดระเบิด รัฐมนตรีมหาดไทยรัฐบาวาเรียบอกกับรอยเตอร์ว่า เหตุโจมตีเมื่อเร็วๆ นี้ก่อคำถามหนักหน่วงต่อกฎหมายลี้ภัยของเยอรมนีและความปลอดภัยทั่วประเทศ โดยเขามีแผนนำเสนอมาตรการใหม่ต่อที่ประชุมรัฐบาลอนุรักษนิยมของรัฐในวันอังคาร (26 ก.ค.) เพื่อเสริมความเข้มแข็งแก่กองกำลังตำรวจ ในนั้นรวมถึงรับประกันว่าพวกเขาจะมีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเพียงพอ เหตุการณ์นี้นับเป็นความรุนแรงหนที่ 2 ในเยอรมนีในวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) และเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 1 สัปดาห์ ในนั้นรวมถึงกรณีมือปืนชาวเยอรมันเชื้อสายอิหร่านวัย 18 ปี กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองมิวนิก ในรัฐบาวาเรียเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) ผู้อพยพชาวซีเรียวัย 21 ปีถูกจับกุม หลังใช้มีดสังหารหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งและแทงคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ในเมืองรอทลิงเกน ใกล้กับสตุทการ์ต ส่วนเมื่อสัปดาห์ก่อนผู้ลี้ภัยวัย 17 ปีรายหนึ่งใช้ขวานอาละวาดทำร้ายผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 5 คนบนรถไฟขบวนหนึ่งที่เมืองเวิร์ซบูร์ก ในรัฐบาวาเรียเช่นกัน เบื้องต้นคิดว่าเขาเป็นชาวอัฟกัน แต่ต่อมา เดอ เมซิแอร์ บอกว่าบางทีเขาอาจมาจากปากีสถาน  ตำรวจบอกว่าไม่พบว่าเหตุโจมตีด้วยมีดในวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) และเหตุกราดยิงในมิวนิกเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) มีลักษณะความเกี่ยวข้องใดๆ กับพวกไอเอสหรือกลุ่มนักรบอื่นๆ อย่างไรก็ตาม พวกไอเอสได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบเหตุโจมตีที่เวิร์ซบูร์ก เช่นเดียวกับเหตุคนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชนในวันชาติฝรั่งเศส ที่เมืองนีซ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม คร่าชีวิต 84 ศพ

เอเอฟพี / รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online – กระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถานยืนยัน ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิด 2 ครั้งในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างน้อย 80 ราย ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีไม่ต่ำกว่า 231 ราย รายงานข่าวล่าสุดซึ่งอ้างคำแถลงของกระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถาน ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิด 2 ครั้งบริเวณจัตุรัสเดห์ มาซางในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างน้อย 80 ราย ขณะที่จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีไม่ต่ำกว่า 231 ราย กลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในอัฟกานิสถานด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากในอิรักและซีเรีย ออกมาอ้างตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อนกลางเมืองหลวงของอัฟกานิสถานในครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีการเดินขบวนประท้วงของสมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมชีอะห์เผ่าฮาซารา จำนวนหลายพันคนต่อโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐบาลอัฟกัน  ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอัฟกันระบุว่าคนร้ายจำนวน 2 รายสามารถจุดชนวนระเบิดที่ผูกติดไว้กับตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียนองเลือดดังกล่าว ส่วนมือระเบิดฆ่าตัวตายรายที่ 3 ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ก่อนที่เขาจะจุดระเบิดที่ผูกติดไว้กับตัว หลังเกิดเหตุ ประธานาธิบดีอัชราฟ กานี ผู้นำอัฟกานิสถานอกโรงประณามเหตุโจมตีโดยมือระเบิดฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า การเดินขบวนประท้วงอย่างสันติของชนเผ่าฮาซาราในครั้งนี้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพลเมืองอัฟกันทุกราย  ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง ทางกระทรวงสาธารณสุขของอัฟกานิสถาน แถลงยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดมีไม่ต่ำกว่า 61 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 160 ราย  รอยเตอร์รายงานในวันเสาร์ (23 ก.ค) ว่า การประท้วงของชนกลุ่มน้อย ฮาซาราในอัฟกานิสถาน มีเป้าประสงค์หลักเพื่อต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลอัฟกานิสถานเปลี่ยนเส้นทาง ของโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงแบบ 500 กิโลโวลต์มูลค่ามหาศาลให้ผ่านเข้าไปยังพื้นที่ 2 จังหวัด ที่มีชนเผ่าฮาซาราอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น  อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงนี้ที่มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในปี ค.ศ.2018 นั้น ทางคาบูลต้องการลากสายผ่าน ตั้งแต่เติร์กเมนิสถานในเอเชียกลางตรงมายังกรุงคาบูล และหากต้องมีการเปลี่ยนเส้นทางจริงทางรัฐบาลอัฟกานิสถานชี้ว่า จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และยังส่งผลให้ชาวอัฟกันจะได้ใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ล่าช้าออกไปอีก  ทั้งนี้ ชนกลุ่มน้อยชาวฮาซารามีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนราว 9 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรชาวอัฟกันทั้งประเทศ และข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าโปรเจกต์พัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับ 10 จังหวัดในอัฟกานิสถาน ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(Asia Development Bank : ADB ) ซึ่งมีเป้าหมายต้องการเชื่อมประเทศร่ำรวยด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียกลาง เข้ากับ อัฟกานิสถานและปากีสถาน
รอยเตอร์ - คณะนักวิจัยจากบริษัทสัญชาติดัตช์ซึ่งทำการสำรวจพื้นทะเลในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้เพื่อต้นหาซากเครื่องบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเครื่องบินอาจถูกบังคับให้ ร่อนลงอย่างช้าๆ (glide down) และไม่ได้พุ่งดิ่งลงน้ำในนาทีสุดท้ายอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งหากเป็นจริง พวกเขาอาจทำการค้นหา ผิดที่มาตลอด 2 ปี เที่ยวบิน MH370 นำผู้โดยสาร 227 คน และลูกเรือ 12 คนเดินทางออกจากเมืองหลวงมาเลเซียในเวลา 00.21 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันเสาร์ที่ 8 มี.ค. ปี 2014 และมีกำหนดเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในเวลา 06.30 น.ก่อนที่เครื่องจะสูญหายไปจากจอเรดาร์เมื่อเวลาประมาณ 02.40 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 2 ชั่วโมง หลังออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยที่นักบินไม่ได้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งสภาพอากาศก็แจ่มใสปลอดโปร่ง  ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมค้นหาซึ่งนำโดยบริษัทวิศวกรรมฟูโกร (Fugro) ได้สำรวจพื้นทะเลใต้มหาสมุทรอินเดียคิดเป็นพื้นที่พอๆ กับประเทศกรีซ เพื่อค้นหาจุดตกของเครื่องบินลำนี้ ปฏิบัติการค้นหาซึ่งกินพื้นที่ 120,000 ตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้อาจต้องยุติลงหลังการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่มาเลเซีย จีน และออสเตรเลียในวันศุกร์ (22 ก.ค.) หากยังไม่พบร่องรอยใดๆ เพิ่มเติม  ถ้ามันไม่อยู่ในบริเวณนี้ ก็แปลว่าต้องไปตกที่อื่น พอล เคนเนดี ผู้อำนวยการโครงการค้นหา MH370 ของบริษัทฟูโกร ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์  แม้ เคนเนดี จะไม่ตัดความเป็นไปได้แบบสุดขั้วที่อาจส่งผลให้หาซากเครื่องบินไม่พบ แต่ทีมของเขาก็เชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ MH370 จะค่อยๆ ร่อนลงสู่มหาสมุทร หรือพูดง่ายๆ ว่าเครื่องบินลำนี้ยังถูก ควบคุมจนนาทีสุดท้าย กระทั่งไปพบจุดจบนอกพื้นที่ค้นหาซึ่งทีมสืบสวนได้คำนวณคร่าวๆ จากภาพถ่ายดาวเทียม  ถ้าเครื่องบินยังมีคนควบคุมอยู่ มันอาจจะร่อนต่อไปได้อีกไกลพอสมควร เคนเนดี กล่าว  คุณอาจบังคับเครื่องบินให้ร่อนออกไปไกลกว่าพื้นที่ที่เราค้นหาอยู่ก็ได้ ฉะนั้นผมเชื่อว่าข้อสรุปนี้พอมีเหตุผล และอาจจะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ข้อกังขาที่ว่าทีมค้นหาจะสำรวจถูกจุดหรือไม่นั้น อาจก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อให้นักวิชาการและ บริษัทคู่แข่งของ ฟูโกร ได้ร่วมเสนอทางออก ซึ่งอาจจะช่วยคลายปมปริศนาครั้งใหญ่ที่สุดของแวดวงการบินในขณะนี้  ข้อสันนิษฐานเรื่องการ ร่อนตกของ ฟูโกร ยังถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับงานค้นหา MH370 ได้ออกมาสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าเครื่องบินถูกควบคุมจนถึงวินาทีสุดท้าย ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแนวคิดที่ถูกคัดค้านมาตลอด  ตั้งแต่ MH370 สูญหายไปใหม่ๆ ได้มีผู้เสนอทฤษฎีต่างๆ นานาเพื่ออธิบายชะตากรรมของโบอิ้ง 777 ลำนี้ ทั้งเรื่องที่ว่าเครื่องบินตกขณะที่กัปตันและนักบินผู้ช่วยอยู่ครบทั้งสองคน หรืออยู่เพียงคนเดียว หรือไม่มีใครควบคุมเลย? บ้างก็เสนอว่าอาจเป็นการจี้เครื่องบิน และบ้างก็ถกเถียงว่าผู้โดยสารจะเสียชีวิตทั้งหมดหรือไม่? และเครื่องบินได้ร่วงลงสู่ทะเลโดยไม่มีคนควบคุมเลยกระนั้นหรือ?  เรื่องราวยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก เมื่อพนักงานสอบสวนเชื่อว่าอาจจะมีใครบางคนจงใจปิดระบบติดตามเครื่องบิน transponder ก่อนจะบังคับเครื่องให้ออกนอกเส้นทางไปหลายพันไมล์  อย่างไรก็ตาม บริษัทการบินและหน่วยงานสืบสวนหลายแห่งได้ออกมาคัดค้านทฤษฎีการร่อนตกของ MH370 ในจำนวนนี้ได้แก่ โบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน, ทาเลส เอสเอ ของฝรั่งเศส, คณะกรรมการความปลอดภัยขนส่งแห่งชาติสหรัฐฯ, บริษัทดาวเทียม อินมาร์แซ็ต พีแอลซี ของอังกฤษ, สำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของอังกฤษ และองค์การวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศแห่งออสเตรเลีย ในวันพรุ่งนี้ (22) เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน ออสเตรเลีย และมาเลเซีย จะร่วมกันตัดสินใจว่าจะเดินหน้าค้นหา MH370 ต่อไปอีกหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ชาติได้ตกลงกันไว้ว่า หากยังไม่พบร่องรอยที่เชื่อถือได้ ก็จะไม่ขยายเวลาค้นหาอีก แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากญาติผู้โดยสารก็ตาม  การติดตามเที่ยวบิน MH370 ใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการค้นหาเครื่องบินที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุดในประวัติศาสตร์การบินโลก  ขณะที่เริ่มต้นค้นหาเมื่อปี 2014 ทางการได้ตั้งสมมติฐานว่า เครื่องบินไม่ได้ถูกควบคุมโดยมนุษย์ขณะที่ตก ซึ่งหมายความว่าเวลานั้นไม่มีนักบินอยู่ในค็อกพิต หรือนักบินอยู่ในสภาพหมดสติสัมปชัญญะแล้ว เจ้าหน้าที่เชื่อว่า MH370 น่าจะถูกควบคุมด้วยระบบบินอัตโนมัติ (auto-pilot) และร่วงดิ่งลงสู่มหาสมุทรทันทีที่เชื้อเพลิงหมดเกลี้ยง  อย่างไรก็ตาม เคนเนดี ชี้ว่านักบินที่มีประสบการณ์สูงอาจสามารถบังคับเครื่องให้ร่อนต่อไปได้อีกเป็นระยะทางถึง 120 ไมล์ (เกือบ 200 กิโลเมตร) หลังจากที่เชื้อเพลิงหมดเกลี้ยงในระดับความสูงคงที่ (cruising altitude) กัปตันโบอิ้ง 777 คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ในกรณีดังกล่าวเครื่องบินอาจไปต่อได้ไม่ถึง 120 ไมล์ ระหว่างนั้นนักบินจะต้องพยายามควบคุมความเร็ว และบังคับเครื่องให้ร่อนลง  ถ้าพลังงานทุกส่วนหมดลง ระบบบินอัตโนมัติจะถูกปิด และถ้าไม่มีนักบินคอยควบคุมอยู่ด้วย เครื่องบินก็จะร่วงลงจากฟ้าทันทีนักบินผู้นี้เผย

เอเอฟพี - กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เผยในวันพุธ (20 ก.ค.) กำลังดำเนินการอายัดสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่เชื่อมโยงกับ 1MDB กองทุนรัฐอันอื้อฉาวของมาเลเซีย คำแถลงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่าสินทรัพย์เหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับการสมคบคิดระดับนานาชาติฟอกเงินที่ยักยอกจากกองทุนเพื่อการพัฒนาแห่งมาเลเซีย (1MDB) ซึ่งก่อตั้งโดยนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจ  เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการยักยอกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปจากกองทุนแห่งนี้ได้สั่นคลอนรัฐบาลของนายนาจิบ  เจ้าหน้าที่จากหลายประเทศ ไล่ตั้งแต่สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงสหรัฐฯ ร่วมมือกันแกะรอยเงินที่สูญหายไปจากกองทุน 1MDB ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังมาเลเซียและนายกรัฐมนตรีราซัค เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา จนกระทั่งบอร์ดถูกยุบไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ ได้อายัดทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ฐานต้องสงสัยเกี่ยวกับการยักยอกและฟอกเงินจากกองทุน 1MDB แต่จนถึงตอนนี้นังไม่มีบุคคลสำคัญๆถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ในเดือนกรกฏาคม 2015 หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เปิดโปงว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายนาจิบยอดรวม 681 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 และรายงานในเวลาต่อมาว่าเงินดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากกองทุน 1MDB ซึ่งยอดที่แท้จริงอาจเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ แต่ทาง 1MDB ปฏิเสธต่อมาทางรัฐบาลยอมรับว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีจริง แต่อ้างว่ามันเป็นเงินบริจาคส่วนพระองค์จากพระบรมวงศานุวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
รอยเตอร์ - ตำรวจยืนยันมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายจากเหตุกลุ่มมือปืนกราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าที่พลุกพล่านในเมืองมิวนิคของเยอรมนีในช่วงค่ำวันศุกร์(22ก.ค.) เหตุระทึกขวัญที่ทำเอาเหล่านักช็อปปิ้งแตกตื่นหนีตายเอาชีวิตรอดและเจ้าหน้าที่เรียกมันว่า "การโจมตีก่อการร้าย" ขณะเดียวกันก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเมืองแห่งนี้ เพื่อไล่ล่าพวกคนร้ายที่กำลังหลบหนีอยู่  เจ้าหน้าที่บอกให้ประชาชนออกไปจากท้องถนนในขณะที่เมืองใหญ่สุดอันดับ 3 ของเยอรมนีแห่งนี้ ตกอยู่ในสภาพถูกปิดตายด้วยระบบขนส่งถูกระงับและถนนหลวงสายต่างๆถูกปิด โฆษกตำรวจเผยว่ามีมือปืน 3 คนกำลังหลบหนีอยู่ หลังจากลงมือก่อเหตุ และเมืองแห่งนี้อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระหว่างที่ตำรวจเดินหน้าไล่ล่าพวกเขา "เราบอกกับผู้คนของเมืองมิวนิค ว่ามีมือปืนกำลังหลบหนีอยู่และพวกเขาอันตราย" เขากล่าว "เราร้องขอให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัย"  ในเวลาต่อมาตำรวจเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 รายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่พบศพรายที่ 9 แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามันหนึ่งในมือปืนหรือไม่ ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานว่าหนึ่งในมือปืนเสียชีวิตจากการยิงปลิดชีพตนเองบริเวณศีรษะ แต่รอยเตอร์ไม่ยืนยันข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นจริงหรือไม่  เจ้าหน้าที่ได้อพยพผู้คนออกจากห้างสรพสินค้าโอลิมเปีย หลังจากเบื้องต้นมีลูกค้าและพนักงานจำนวนมากที่หลบซ่อนตัวอยู่ภายใน "มีการยิงหลายนัด ฉันไม่เห็นว่ามากแค่ไหน รู้แต่ว่าหลายนัด ฉันเห็นคนๆหนึ่งนอนอยู่กับพื้นและเหมือนจะได้รับบาดเจ็บร้ายแรง ดูท่าจะไม่รอด เราไม่มีข้อมูลมากกว่านี้ เราหลบอยู่ด้านหลังของห้องเก็บสินค้า ตำรวจยังเข้ามาไม่ถึงจุดที่เราอยู่ เรากำลังรอให้ตำรวจเข้ามาช่วย" พนักงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ก่อนหน้านี้ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าพบเห็นการกราดยิงทั้งภายในห้างสรรพสินค้าและบนถนนสายหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน  เหตุมือปืนกราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าที่พลุกพล่านในวันศุกร์(22ก.ค.) นับเป็นเหตุความรุนแรงต่อพลเมืองในยุโรปตะวันตกครั้งที่ 3 ในระยะเวลาห่างกันเพียง 8 วัน โดย 2 หนก่อนหน้านี้ในฝรั่งเศสและเยอรมนี อ้างความรับผิดชอบโดยพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส)  แม้นายฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ระบุว่าแรงจูงใจของเหตุโจมตีนองเลือดครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน ขณะที่โฆษกตำรวจก็บอกเช่นกันว่ายังไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ามันเป็นการโจมตีของพวกอิสลามิสต์ แต่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติกับเหตุการณ์นี้ในฐานะ "ก่อการร้าย" ขณะเดียวกันแม้ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่เหล่าผู้สนับสนุนของพวกรัฐอิสลาม(ไอเอส) ได้ออกมาเฉลิมฉลองบนสื่อสังคมออนไลน์ "รัฐอิสลามกำลังแผ่ขยายในยุโรป" ข้อความหนึ่งในทวิตเตอร์ระบุ  มีการอพยพที่สถานีรถไฟหลักของเมืองมิวนิค ส่วนเจ้าหน้าที่ขนส่งเมืองมิวนิคเผยว่าได้ระงับบริการรถบัส รถไฟและรถราง ด้านสถานีโทรทัศน์บีอาร์ ระบุว่าตำรวจปิดถนนหลวงหลายสายทางเหนือของมิวนิคและแจ้งเตือนประชาชนให้ออกจากถนนเหล่านั้น  ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับสนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดี้ยม ที่เคยเป็นสถานที่เกิดเหตุ "แบล็ค เซพเท็มเบอร์" กลุ่มนักรบปาเลสไตน์จับนักกีฬาอิสราเอล 11 คนเป็นตัวประกันและท้ายที่สุดก็ลงมือสังหารพวกเขาระหว่างโอลิมปิกเกมส์ในปี 1972 เหตุโจมตีในวันศุกร์(22ก.ค.) มีขึ้น 1 สัปดาห์ หลังจากผู้ลี้ภัยวัย 17 ปีรายหนึ่งใช้ขวานอาละวาดทำร้ายผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บหลายคนบนรถไฟขบวนหนึ่งในเยอรมนี เหตุโจมตีที่อ้างความรับผิดชอบโดยรัฐอิสลาม(ไอเอส) ทั้งนี้เขาถูกวิสามัญฆาตรรมหลังทำร้ายนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงบนรถไฟได้รับบาดเจ็บ 4 คนและชาวบ้านอีกคนถูกเขาทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บระหว่างที่เขาหลบหนี  ทั้ง 2 เหตุการณ์ในเยอรมนี มีขึ้นตามหลังเหตุโจมตีในวันชาติฝรั่งเศสที่เมืองนีซ โดยชายชาวตูนิเซียขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชน คร่าชีวิต 84 ศพและพวกไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบ นางอังเกลา แมร์เคิล นกยกรัฐมนตรีเรียกประชุมฉุกเฉินสภาความมั่นคงในวันเสาร์(23ก.ค.) เพื่อจัดการกับเหตุกราดยิงนองเลือดในมิวนิค ส่วนประธานาธิบดีโยอาคิม เกาค์ ระบุในวันศุกร์(22ก.ค.) ว่าเขาสยดสยองต่อเหตุโจมตีเข่นฆ่าผู้คนในห้างสรรพสินค้ามิวนิคและขอแสดงความเสียใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งขอเป็นหนึ่งเดียวกับบุคลากรหน่วยฉุกเฉินพที่พยายามปกป้องชีวิตผู้คน ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯให้คำมั่นสนับสนุนเยอรมนี "เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเกิดขึ้นที่นั่น แต่แน่นอนว่าหัวใจของเรามุ่งตรงไปที่นั่นเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ" ส่วนทำเนียบขาวประณามการโจมตีที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุก่อการร้ายด้วยถ้วยคำรุนแรง โดยระบุ "เรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่เรารู้ว่าพฤติกรรมที่ชั่วช้านี้ได้ฆ่าชีวิตและทำให้ผู้คนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในย่านกลางเมืองของหนึ่งในเมืองที่มีชีวิตชีวามากที่สุดในยุโรป" จอช เออร์เนสต์ โฆษกระบุ พร้อมเสนอมอบทรัพยากรใดๆที่อาจช่วยเหลือการสืบสวน

รอยเตอร์/เอเอฟพี - กลุ่มมือปืนกราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ทางภาคใต้ของเยอรมนีในวันศุกร์(22ก.ค.) คร่าชีวิตผู้คนหลายศพ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนลงมือ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากวัยรุ่นคนหนึ่งอาละวาดบนรถไฟเยอรมนี ที่พวกไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบ  มุนช์เนอร์ อาเบนด์ไซตุ้ง สื่อของเยอรมนีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 10 คนในเหตุยิงกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค  ภาพข่าวทางสถานีโทรทัศน์พบเห็นรถฉุกเฉินหลายคันจอดอยู่ด้านนอกห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดี้ยม ที่เคยเป็นสถานที่เกิดเหตุ "แบล็ค เซพเท็มเบอร์" กลุ่มนักรบปาเลสไตน์จับนักกีฬาอิสราเอล 11 คนเป็นตัวประกันและท้ายที่สุดก็ลงมือสังหารพวกเขาระหว่างโอลิมปิกเกมส์ในปี 1972  เจ้าหน้าที่กำลังอพยพผู้คนออกจากห้างสรพสินค้าโอลิมเปีย แต่ก็ยังมีจำนวนมากที่หลบซ่อนตัวอยู่ภายใน ขณะที่ตำรวจบอกว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายคน "เราเชื่อว่าเรากำลังจัดการกับสถานการณ์เหตุกราดยิง" โฆษกตำรวจมิวนิคกล่าว และเชื่อว่ามีมือปืนมากกว่า 1 คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ แต่ตอนนี้ยังจับกุมใครไม่ได้ สถานีโทรทัศน์เอ็นทีวี รายงานว่ากองกำลังพิเศษตำรวจเยอรมนีเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุแล้ว ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครเป็นคนลงมือ แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากวัยรุ่นคนหนึ่งอาละวาดบนรถไฟเยอรมนี ที่พวกไอเอสอ้างว่าอยู่เบื้องหลัง พนักงานคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่าพวกพนักงานยังคงหลบซ่อนอยู่ภายใน "มีการยิงหลายนัด ฉันไม่เห็นว่ามากแค่ไหน รู้แต่ว่าหลายนัด ผู้คนจากข้างนอกไหลบ่าเข้ามาในห้าง ฉันเห็นคนๆหนึ่งนอนอยู่กับพื้นและเหมือนจะได้รับบาดเจ็บร้ายแรง ดูท่าจะไม่รอด เราไม่มีข้อมูลมากกว่านี้ เราหลบอยู่ด้านหลังของห้องเก็บสินค้า ตำรวจยังเข้ามาไม่ถึงจุดที่เราอยู่"  เจ้าหน้าที่ขนส่งเมืองมิวนิคเผยว่าได้ระงับบริการรถบัส เดินรถไฟและรถรางแล้ว พร้อมกันนั้นได้มีการอพยพที่สถานีรถไฟหลักด้วย  หนังสือพิมพ์บิลด์รายงานว่ามือปืนคนหนึ่งวิ่งเข้าไปในห้างสรรพสินค้า กราดยิงเข้าใส่หลายคน ก่อนหลบหนีเข้าไปทางใกล้ๆสถานีรถไฟใต้ดิน ส่วนสำนักข่าวดีพีเอ อ้างโฆษกตำรวจระบุมีผู้เสียชีวิตหลายคนและห้างสรรพสินถูกปิดล้อมโดยตำรวจ ที่กำลังไล่ล่ามือโจมตี "ตำรวจกำลังปฏิบัติการครั้งใหญ่ในห้างสรรพสินค้า" ตำรวจเมืองมิวนิคระบุในทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว "กรุณาหลีกเลี่ยงย่านใกล้เคียงรอบๆห้างโอลิมเปีย จงอยู่แต่ในบ้าน ออกจากท้องถนน"  เหตุโจมตีในวันศุกร์(22ก.ค.) มีขึ้น 1 สัปดาห์ หลังจากผู้ลี้ภัยวัย 17 ปีรายหนึ่งใช้ขวานอาละวาดทำร้ายผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บหลายคนบนรถไฟขบวนหนึ่งในเยอรมนี เหตุโจมตีที่อ้างความรับผิดชอบโดยรัฐอิสลาม(ไอเอส) ทั้งนี้เขาถูกวิสามัญฆาตรรมหลังทำร้ายนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงบนรถไฟได้รับบาดเจ็บ 4 คนและชาวบ้านอีกคนถูกเขาทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บระหว่างที่เขาหลบหนี ไฮโค มาสส์ รัฐมนตรียุติธรรมเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บิลด์ฉบับวันศุกร์(22ก.ค.) ว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องตื่นตระหนก แต่ชัดเจนว่าเป็นที่ไปได้เยอรมนียังคงเป็นเป้าหมาย  ทั้ง 2 เหตุการณ์ในเยอรมนี มีขึ้นตามหลังเหตุโจมตีในวันชาติฝรั่งเศสที่เมืองนีซ โดยชายชาวตูนิเซียขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชน คร่าชีวิต 84 ศพและพวกไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบ

เอเจนซีส์ ตำรวจเมืองเบียร์เผยมือปืนวัย 18 ปีที่กราดยิงสังหารเหยื่อ 9 คนในห้างสรรพสินค้าที่มิวนิก เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเด็กที่ถูกรังแกและไม่มีเพื่อนคบที่โรงเรียน หมกมุ่นกับการสังหารหมู่ และมีหนังสือเกี่ยวกับการกราดยิงในโรงเรียนอเมริกันอยู่ในห้องนอน รวมทั้งยังชอบเล่นเกมยิงปืนในคอมพิวเตอร์  เหยื่อในเหตุกราดยิงที่มิวนิก เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22) ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น โดย 5 คนอายุต่ำกว่า 16 ปี การสูญเสียเยาวชนจำนวนมากนี้ทำให้เยอรมนีเศร้าสลดอย่างมาก ขณะที่หลายคนกำลังพยายามทำความเข้าใจว่า เหตุใดนักเรียนขี้อายจึงลุกขึ้นมาซื้อปืนและกระสุน แล้วกราดยิงเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเลือดเย็น  มือปืนในเหตุการณ์นี้คือ อาลี ซันโบลี บุตรชายของผู้อพยพชาวอิหร่านที่เดินทางถึงเยอรมนีในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อนบ้านต่างบอกว่า ซันโบลีขี้อาย ไม่สุงสิงกับใคร และไม่มีวี่แววความรุนแรงที่ดูเหมือนครอบงำเขามานานก่อนก่อเหตุสะเทือนขวัญ  จากการค้นบ้านอันเป็นส่วนหนึ่งของอาคารการเคหะของรัฐ ในแมกซ์วอร์สตัดต์ ซึ่งเป็นเขตผู้มีอันจะกิน ตำรวจพบข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์และหนังสือ ที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ ซึ่งรวมถึงหนังสือที่มีชื่อว่า "ทำไมเด็กถึงฆ่าคน : สิ่งที่อยู่ภายในใจของมือปืนในโรงเรียน" (Why Kids Kill: Inside the Minds of School Shooters.) ฮูเบอร์ตัส แอนเดร ผู้บังคับการตำรวจมิวนิก เผยว่า ซันโบลีหมกหมุ่นกับเรื่องกราดยิง และดูเหมือนสนใจผู้ก่อการร้ายขวาจัด "แอนเดอร์ส เบรวิก" ที่สังหารหมู่เหยื่อ 77 คน ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ในเหตุกราดยิงต่อเนื่องที่ออสโลและแคมป์เยาวชนบนเกาะอูเตอยา เมื่อปี 2011 ซึ่งเหตุกราดยิงที่มิวนิกในครั้งนี้เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 5 ปีของการสังหารหมู่ที่นอร์เวย์ดังกล่าว  ทางด้านเพื่อนร่วมชั้นเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์บิลด์ไซตุงว่า ซันโบลีใช้รูปหน้าของเบรวิก เป็นรูปโปรไฟล์บนแอปพลิเคชั่นวอตส์แอปป์  นอกจากนั้นยังเห็นได้ชัดว่า ซันโบลีพยายามหลอกล่อเหยื่อไปยังจุดสังหารโดยประกาศบนหน้าเฟซบุ๊กที่ถูกแฮกว่า จะเลี้ยงอาหารฟรีที่ร้านอาหารดังกล่าวเวลา 16.00 น. ซึ่งตำรวจเชื่อว่า เป็นบริเวณที่มือปืนรู้จักดีและเขาอาจรู้จักเหยื่อบางคน  หนึ่งในคำถามที่เจ้าหน้าที่สงสัยก็คือ ซันโบลีที่ถูกรังแกและไม่มีเพื่อนคบหาที่โรงเรียน เจตนาวางแผนฆ่าวัยรุ่นคนอื่นๆ หรือไม่ โดยในบรรดาผู้เสียชีวิตมีวัยรุ่น 7 คน , หญิงสาวอายุ 20 ปีหนึ่งคน และหญิงวัย 45 ปีอีกคน  เยอรมนีนั้นมีประวัติการโจมตีจากฝีมือวัยรุ่นน้อยมาก ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุวัยรุ่นสังหารหมู่ในโรงเรียนเพียงสองครั้ง ในปี 2002 และ 2009   สำนักข่าวดีพีเอยังรายงานว่า พบหลักฐานว่า ซันโบลีชื่นชม "ทิม เครตชเมอร์" ที่สังหารเหยื่อ 15 คนในเมืองวินเนนเดน เยอรมนี เมื่อปี 2009 โดยเครตชเมอร์ที่ขณะนั้นอายุ 17 ปี กลับไปโรงเรียนเก่าและกราดยิงคน ก่อนฆ่าตัวตายระหว่างพยายามหลบหนี  ส่วนเหตุการณ์ในปี 2002 เกิดขึ้นที่เมืองเออร์เฟิร์ต เมื่อวัยรุ่นอายุ 19 ปีบุกไปยังโรงเรียนเก่าและสังหารครู 11 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ 2 คน, นักเรียน 2 คน และตำรวจ 1 คน โดยกองกำลังความมั่นคงในขณะนั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า รับมือเหตุการณ์ล่าช้า  ปีเตอร์ เบค โฆษกสำนักงานตำรวจแถลงว่า ยังไม่รู้สาเหตุที่นำไปสู่การโจมตีในมิวนิก แต่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่ชัดเจน รวมทั้งไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้าย และไม่มีแนวโน้มว่าการโจมตีถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง  นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนี ประกาศว่า เจ้าหน้าที่จะสืบสาวให้รู้ว่า เหตุใดมือปืนวัย 18 ปีผู้นี้จึงลงมือก่อเหตุ พร้อมบอกว่า เยอรมนีเศร้าโศกอย่างลึกซึ้งต่อผู้เสียชีวิต ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กตุรกี 3 คน , ชาวอัลบาเนีย 3 คน และวัยรุ่นกรีซอย่างน้อย 1 คน เยอรมนีสั่งลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศ และทั่วยุโรปส่งข้อความแสดงความเสียใจกับเบอร์ลิน  ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงพยายามแกะรอยปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ "กล็อก" ที่ซันโบลีใช้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาอาจซื้อจากตลาดมืด เนื่องจากปืนดังกล่าวไม่มีใบอนุญาต รายงานเบื้องต้นระบุว่า ปืนมีหมายเลขซีเรียลที่ถูกลบออก และอาจเคยถูกยกเลิกไปแล้วครั้งหนึ่ง  โทมัส เดอ เมซิแอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์แถลงว่า มือปืนวัยรุ่นผู้นี้ไม่เคยอยู่ในความสนใจของกองกำลังความมั่นคงและหน่วยข่าวกรอง เนื่องจากไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม
ความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง และอาจเป็นรัฐประหารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการเมืองของตุรกีได้มากกว่าทุกครั้งในรอบ 40 ปี เพราะความปราชัยของทหารกบฏคราวนี้ยิ่งทำให้ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ผู้มีแนวคิดอิสลามเคร่งจารีต ได้รับอาณัติจากประชาชนในการที่จะรวบอำนาจ กวาดล้างบรรดาศัตรูที่แฝงตัวอยู่ในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพซึ่งถืออุดมการณ์ปกป้องประชาธิปไตยและความเป็นรัฐทางโลกของตุรกี  การก่อรัฐประหารเริ่มขึ้นระหว่างที่ แอร์โดอัน เดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่เมืองมาร์มาริส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี โดยมีฝูงเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์บินว่อนอยู่เหนือกรุงอังการา ขณะที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนพลเข้าไปปิดกั้นสะพานข้ามช่องแคบบอสพอรัสที่เชื่อมนครอิสตันบูลฝั่งยุโรปกับเอเชีย จากนั้นได้มีการปิดสนามบินหลายแห่ง และการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็ถูกตัดขาด  สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐทีอาร์ทีแถลงคำประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยผู้ประกาศข่าวรายหนึ่งอ่านคำสั่งของทหารที่กล่าวหารัฐบาลว่าบั่นทอนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม พร้อมระบุว่าประเทศจะถูกบริหารโดย "สภาสันติภาพ" ที่จะรับประกันความปลอดภัยของประชาชน  หนังสือพิมพ์ Hurriyet ของตุรกีรายงานว่า แอร์โดอัน ได้รับการแจ้งเตือนก่อนที่การรัฐประหารจะเริ่มเพียงราวๆ 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้เขาสามารถหลบหนีออกจากที่พักได้ทัน และอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา พวกกบฏได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำพร้อมทหารเข้าไปในโรงแรมที่ แอร์โดอัน พักอยู่ เพื่อหมายจับกุมหรือสังหารประธานาธิบดี ซึ่งระหว่างนั้น แอร์โดอัน ได้มุ่งหน้ากลับไปที่นครอิสตันบูลแล้ว  สัญญาณความล้มเหลวของการก่อรัฐประหารเริ่มเด่นชัด เมื่อ แอร์โดอัน ได้ปรากฏตัวผ่านเฟซไทม์สซึ่งถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเติร์ก และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐประหาร หลังจากนั้นชาวตุรกีจำนวนมากก็ได้ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวของคณะปฏิวัติ และออกมาชุมนุมตามจัตุรัสใหญ่ๆ ทั้งที่กรุงอังการาและนครอิสตันบูล พร้อมโบกสะบัดธงชาติและป่าวร้องสโลแกนสนับสนุนรัฐบาล รัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นของขวัญจากพระเจ้า แอร์โดอัน กล่าวระหว่างปรากฏตัวต่อหน้าผู้สนับสนุนที่สนามบินอตาเติร์กในนครอิสตันบูลเมื่อเช้ามืดวันเสาร์ (16) “นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ชำระล้างกองทัพให้สะอาดเสียที”  จากภาษาที่ แอร์โดอัน ใช้เป็นที่เข้าใจชัดเจนว่า ความพ่ายแพ้ของคณะปฏิวัติถือเป็นชัยชนะสำหรับการเมืองแบบอิสลาม (Political Islam) ในทัศนะของเขา และยังเป็นใบเบิกทางให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปกองทัพซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการเชิดชูสูงสุดในตุรกี  เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 200 คน ขณะที่ แอร์โดอัน ได้สั่งควบคุมตัวตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ และทหารเกือบ 20,000 คนที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจกับการก่อรัฐประหาร จนบรรดาผู้นำชาติตะวันตกถึงกับออกมาเตือนให้ผู้นำตุรกี เคารพหลักนิติธรรม  แอร์โดอัน ออกมาแถลงในวันพุธ (20 ก.ค.) ว่าอาจมี ต่างชาติเกี่ยวข้องกับความพยายามยึดอำนาจ ทว่าไม่ขอระบุชื่อประเทศ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อเดินหน้าไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันว่า อะไรคือแรงจูงใจให้ทหารกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาก่อกบฏต่อ แอร์โดอัน แต่ผลที่เห็นชัดเจนก็คือ รัฐประหารครั้งนี้กลับทำให้ฐานอำนาจของผู้นำตุรกีแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ท่ามกลางภัยคุกคามสารพัดอย่างที่ตุรกีกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เหตุความไม่สงบฝีมือชาวเคิร์ด และเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง  เหตุการณ์นี้ยังก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงภายในตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ และยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศอินซีร์ลิก (Incirlik) ที่วอชิงตันใช้เป็นฐานในการโจมตีกลุ่มไอเอส รวมถึงมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาอยู่เป็นจำนวนมากด้วย  แอร์โดอัน ได้ดำเนินการปฏิรูปที่สวนทางกับความเป็นรัฐทางโลกทีละเล็กทีละน้อยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่หลังจากนี้เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึก และเร็วยิ่งขึ้นมาร์ก เพียรินี อดีตเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำตุรกี ให้สัมภาษณ์  นี่คือเฟสใหม่สำหรับการเป็นผู้นำประเทศของแอร์โดอัน แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนักสำหรับระบอบประชาธิปไตยในตุรกี  รัฐบาลอังการากล่าวโทษพวกสานุศิษย์ของ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยไปสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1999 ว่าเป็นผู้ก่อการยึดอำนาจที่ล้มเหลวคราวนี้ ขณะที่เจ้าตัวก็ออกมาแถลงตอบโต้ว่าข้อครหาดังกล่าวเป็นสิ่งน่าขำ และตนไม่ได้รู้เห็นอะไรเลยกับการก่อรัฐประหารในตุรกี  กูเลน วัย 75 ปี เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการฮิซเม็ต (Hizmet) ซึ่งส่งเสริมค่านิยมอิสลามสายกลาง และมีสาขาอยู่ในหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่กลับถูกรัฐบาลแอร์โดอันตราหน้าว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย  การจับกุมพลเมืองไม่น้อยกว่า 6,000 คนในเวลาอันรวดเร็ว โดยกว่าครึ่งเป็นทหารและผู้พิพากษา ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า แอร์โดอัน คงจะถือโอกาสนี้ ล้างบางพวกสาวกของ กูเลน ไปเสียเลยทีเดียว  แอร์โดอัน พยายามมานานแล้วที่จะขอให้วอชิงตันส่งตัว กูเลน กลับมายังตุรกีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และการก่อรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ก็ยิ่งทำให้อังการาเรียกร้องกดดันสหรัฐฯ มากขึ้นในเรื่องนี้  ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายตุรกียังระแวงสงสัยมานานแล้วว่า กูเลน อาจจะทำงานให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ  บทความของ เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร ซึ่งเผยแพร่ลงเว็บไซต์เอเชียไทม์ส ได้อ้างถึงหนังสือบันทึกความทรงจำซึ่งเขียนโดย ออสมาน นูริ กุนเดส (Osman Nuri Gundes) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของตุรกี ซึ่งได้กล่าวหาว่าขบวนการอิสลามของ กูเลน ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย และมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก เป็นองค์กรบังหน้าให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียกลางที่เคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตมาก่อน แอร์โดอัน ยังออกมาเผยด้วยว่า เขาเคยแบ่งปันข่าวกรองให้สหรัฐฯ เรื่องที่พวกสานุศิษย์ของ กูเลน อาจกำลังพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กลับแสดงอาการเฉยเมยไม่สนใจ ซึ่งทำให้เป็นที่น่าสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า สหรัฐฯ มีเจตนาอย่างไรกันแน่ จอห์น บาสส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำตุรกี ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าวอชิงตันอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร โดยยืนยันว่าข่าวนี้ ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิงและเตือนว่าการคาดเดาเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อมิตรภาพในกลุ่มนาโต แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีไม่เต็มใจที่จะส่งตัว กูเลน กลับไปตุรกี โดยเรียกร้องให้อังการาหาหลักฐานยืนยันความผิดที่ชัดเจนมาให้ได้เสียก่อน  สื่อหลายสำนักยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน กับ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามของพรรคเดโมเครต และมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับอังการาอาจจะยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น หาก คลินตัน ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  องค์กร Judicial Watch ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบอิสระในสหรัฐฯ ได้อ้างถึงข้อความอีเมลเมื่อปี 2009 ที่ โกข่าน ออซค็อก สาวกคนหนึ่งของ กูเลน ได้ส่งถึง ฮูมา อาเบดิน ผู้ช่วยคนสนิทของคลินตัน เพื่อขอให้ช่วยประสานติดต่อไปยังประธานาธิบดี บารัค โอบามา โดย ออซค็อก ผู้นี้มีส่วนร่วมก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมตุรกีในสหรัฐฯ และมีอิทธิพลอย่างสูงในเครือข่ายธุรกิจและองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เชื่อมโยงกับขบวนการฮิซเม็ตของ กูเลน  ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์เดลีคอลเลอร์ได้รายงานว่า สานุศิษย์ของ กูเลน หลายคนได้บริจาคเงินสนับสนุนแคมเปญหาเสียงและองค์กรการกุศลที่ครอบครัว คลินตัน ก่อตั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ เรเจป ออซกัน ซึ่งได้บริจาคเงินให้มูลนิธิ Clinton Foundation ระหว่าง 500,000- 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นักการศาสนาชาวตุรกีผู้นี้รู้จักมักคุ้นกับ ฮิลลารี และอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน มานานนับสิบปี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งจะออกมาให้สัมภาษณ์เปิดใจกับเว็บไซต์เดอะเดลีบีสต์ว่า ชื่นชอบฮิลลารี คลินตัน เป็นการส่วนตัว และอวยอดีตรัฐมนตรีหญิงว่า เป็นคนสุภาพนอบน้อม และจิตใจดี  ถ้าเธอชนะศึกเลือกตั้ง เธอจะต้องเห็นผลประโยชน์ของประเทศมาเป็นอันดับหนึ่ง เธอจะต้องใส่ใจจุดยืนของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับนานาชาติ และคงไม่เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเราไปเป็นวาระสำคัญ กูเลน กล่าว   อีกประการหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ การก่อรัฐประหารคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นโยบายการต่างประเทศของตุรกีเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปสู่แนวโน้มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศรอมชอมกับรัสเซีย หลังจากที่เคยบาดหมางกันอย่างหนักจากกรณีที่เครื่องบินขับไล่ของแดนหมีขาวถูกตุรกียิงตกเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงความเป็นไปได้ที่ตุรกีจะยุตินโยบายแทรกแซงที่กระทำอยู่ในซีเรีย  เมื่อปลายเดือน มิ.ย. รัฐบาลตุรกีแถลงว่า แอร์โดอัน ได้ส่งจดหมาย ขออภัยรัสเซียกรณีที่กองทัพอังการายิงเครื่องบินหมีขาวตกบริเวณพรมแดนซีเรียเมื่อปลายปีที่แล้ว และยินดีที่จะชดใช้ค่าเสียหายหากมีความจำเป็น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อังการาปฏิเสธมาตลอดที่จะขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และยืนกรานอย่างแข็งขันว่าเครื่องบินรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าก่อน   สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซีย รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ต่อโทรศัพท์ถึง แอร์โดอัน เพื่อแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในตุรกี รวมถึงแสดงความเสียใจที่การก่อรัฐประหารทำให้มีชาวตุรกีเสียชีวิตไปหลายร้อยคน ทั้งนี้ ยังมีข่าวลือเล็ดรอดออกมาอีกว่า ปูติน และ แอร์โดกัน อาจนัดพบปะหารือกันในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้ รัฐบาลหมีขาวนั้นมองว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับตุรกีให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอาจจะส่งผลต่อเนื่องเชิงบวกต่อสถานการณ์ในซีเรีย ขณะที่อังการาก็ส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่าพร้อมที่จะสานสัมพันธ์กับซีเรียขึ้นมาใหม่ พลเมืองตุรกีส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลออกมาปกป้องรัฐบาลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ต่างเห็นด้วยว่า แอร์โดอัน ควรจะมีอำนาจเด็ดขาดและกว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ความปรารถนาของ แอร์โดอัน ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อดึงอำนาจจากรัฐสภากลับสู่สถาบันประธานาธิบดี อาจกลายเป็นจริงได้ในไม่ช้า  ความพยายามของตุรกีที่จะเข้าร่วมกลุ่มอียู 28 ประเทศต้องชะงักงันไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากผู้นำยุโรปยังคงกังวลเกี่ยวกับนโยบายของ แอร์โดอัน ที่โน้มเอียงไปในทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ แม้จะเป็นสมาชิกนาโตและพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของอเมริกา แต่ แอร์โดอัน ก็ไม่สนับสนุนให้ชาวตุรกีคลั่งไคล้ค่านิยมแบบตะวันตก แต่กลับส่งเสริมให้ภาคภูมิใจในความรุ่งเรืองของจักรวรรดิออตโตมันในอดีต และเชิดชูค่านิยมแบบอิสลาม ในทางกลับกัน ชาติตะวันตกก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลตุรกีนำเอาศาสนามาผูกโยงกับการเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ท่าทีของ แอร์โดอัน ที่พยายามดึงตุรกีออกห่างจากความเป็นรัฐทางโลกยังเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องพึ่งตุรกีในการทำสงครามกับไอเอส ขณะที่อียูเองก็ต้องการให้อังการาช่วยรับคลื่นผู้อพยพบางส่วนไปจากกรีซ เพื่อบรรเทาวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดที่ยุโรปต้องเผชิญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เบห์ลุล ออซกัน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการรัฐประหารในตุรกีประจำมหาวิทยาลัยมาร์มาราในนครอิสตันบูล ชี้ว่า การที่ แอร์โดอัน สกัดความพยายามก่อรัฐประหารได้สำเร็จทำให้เขาก้าวมาสู่ทางแยกที่สำคัญบนถนนสายการเมือง หลังจากกวาดล้างสาวกของ กูเลน ซึ่งใช้วิธีนอกกฎหมายเล่นงานรัฐบาลออกไปจนหมดสิ้นแล้ว บางที แอร์โดอัน อาจจะหวนกลับไปสู่แนวทางปกติ ออซกัน ระบุ โดยคาดหมายว่าประธานาธิบดีอาจไม่พยายามผูกขาดอำนาจมากไปกว่านี้ และเปิดทางให้ระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมเบ่งบานในสังคมตุรกีมากขึ้น แต่หากเขาเลือกเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อสร้างระบอบที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวแล้วละก็... เขาจะไม่มีทางทำสำเร็จ และนั่นจะยิ่งผลักให้ตุรกีดำดิ่งลงสู่วิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น”  (เครดิตอ้างอิง :  ข่าวแปล คอลัมน์ข่าวต่างประเทศ , MGR online)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น