เอเอฟพี
- เหตุระเบิดใหญ่ที่เมืองเทียนจิน
ในเขตท่าเรือและอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เมื่อคืนวันพุธ (12 ส.ค.)
สร้างความเสียหายมโหฬารแก่อุตสาหกรรมหลักหลายแขนง ทั้งการบิน พลังงาน
อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งกิจการท้องถิ่นและกิจการจากต่างแดน เนื่องจากแม้ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากแรงระเบิด
แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการดำเนินการของท่าเรือที่กลายเป็นอัมพาต
หลายบริษัทจึงตัดสินใจระงับการดำเนินการชั่วคราวเพื่อประเมินสถานการณ์
“ปินไห่ นิว แอเรีย” ในภาคเหนือของจีน
ที่เกิดเหตุระเบิดรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนและบาดเจ็บอีกกว่า 500
คนคราวนี้
เป็นฮับลอจิสติกส์ใหญ่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะฮ่องกงถึงสองเท่าตัว เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ประกาศตัวบนเว็บไซต์ว่า
เป็น “ฐานการผลิตและค้นคว้าวิจัยสมัยใหม่” เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ โรงงานประกอบเครื่องบิน โรงกลั่นน้ำมัน
และศูนย์บริการและการผลิตอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วในการคำนวณเป็นอันดับสองของโลก
ซึ่งได้ถูกปิดไปชั่วคราวเพื่อป้องกันไว้ก่อนหลังเหตุระเบิดเมื่อคืนวันพุธ ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน
ซึ่งอิงอิงการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่ใน “ศูนย์กลางซูเปอร์คอมพิวเตอร์แห่งชาติ”
ที่ตั้งอยู่ในปินไห่ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ของจีนที่มีชื่อว่า
เทียนเหอ-1 เอ ยังคงทำงานได้ตามปกติภายหลังเกิดเหตุระเบิด
ทว่าตัวอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหาย
ดังนั้นจึงมีการปิดเครื่องเอาไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย ปินไห่ นิว แอเรีย ยังเป็นจุดขนถ่ายรถยนต์ที่สำคัญมาก
โดยตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉีลู่ อีฟนิง นิวส์ มีรถนำเข้าราว 10,000 คันได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้
ในจำนวนนี้เป็นรถจากค่ายโฟล์กสวาเก้นของเยอรมนี 2,478 คัน
และกว่า 1,000 คันเป็นของเรโนลต์จากฝรั่งเศส เทียนจินนั้นเป็นท่าเรือแห่งสำคัญทางภาคเหนือของจีน
โดยได้ดำเนินการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต
เป็นจำนวนมากกว่า 14ล้านตู้เมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ปินไห่ ขณะที่ไชน่า ซีเคียวริตี้ส์
เจอร์นัลของทางการจีนรายงานว่า การดำเนินงานของท่าเรือเทียนจิน “เป็นอัมพาตโดยพื้นฐาน” จากการระเบิด บีเอชพี บิลลิตัน
บริษัทด้านทรัพยากรยักษ์ใหญ่ที่มีจีนเป็นตลาดสำคัญ
แถลงว่าแท่นขนถ่ายแร่เหล็กของบริษัทไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
โดยแท่นที่อยู่ใกล้ที่สุดห่างจากสถานที่เกิดเหตุ 20 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากการขนส่งและการดำเนินงานของท่าเรือหยุดชะงัก
ทำให้บริษัทต้องหารือกับลูกค้าเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด ทางด้านแอร์บัสของยุโรประบุเช่นเดียวกันว่า
กำลังประเมินผลกระทบจากการดำเนินงานในท่าเรือชะงักงัน ทั้งนี้แอร์บัสมีสายการประกอบเครื่องบินเอ320
ในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ในวันพฤหัสบดี (13) บริษัทแถลงว่า
โรงงานประกอบแห่งนี้ของตนอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุและไม่มีความเสียหายเฉพาะหน้าแต่อย่างใด
ทั้งตัวโรงงานและพนักงาน ในส่วนโตโยต้า ค่ายรถอันดับ 1 ของญี่ปุ่น
ก็เผยว่า มีโรงงานร่วมทุนผลิตรถยนต์ในปินไห่ แต่ขณะนี้
โรงงานอยู่ในช่วงวันหยุดพักร้อนและไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ระบุว่า
ปินไห่ นิว แอเรีย ครอบคลุมพื้นที่ 2,270 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ติดแนวชายฝั่งเป็นระยะทาง
153 กิโลเมตร โดยเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลัก 8 แขนง อาทิ การบินและอวกาศ อิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ
การผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ ปิโตรเคมีและพลังงานแนวใหม่ และวัสดุ
เอเจนซีส์
- จีนลดค่าเงินหยวนลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่สามในวันพฤหัสบดี (13 ส.ค.)
พร้อมกับออกมาแถลงยืนยันเศรษฐกิจยังคงเข้มแข็งดี
จึงไม่มีเหตุผลในการปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนดิ่งยาว
รวมทั้งไม่คิดก่อสงครามค่าเงินอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
ทางด้านตลาดการเงินโลกที่ตกถล่มทลายไปสองวันก็ใจชื้นขึ้นและเริ่มฟื้นสู่แดนบวก
ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBoC) หรือธนาคารกลางจีน
ประกาศ “ค่ากลาง” หรือ “อัตราอ้างอิง” สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ประจำวันพฤหัสบดี (13) อยู่ที่ 6.4010 หยวนต่อดอลลาร์
เท่ากับให้ค่าสกุลเงินตราแดนมังกรอ่อนลงมาอีก 1.1% จากค่ากลางประจำวันพุธ
(12) ซึ่งอยู่ที่ 6.3306 และก็ถือเป็นการปรับลดน้อยที่สุดในรอบ
3 วันที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า PBoC เข้าแทรกแซงตลาดด้วยการบอกให้พวกธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐจีน
ปล่อยขายดอลลาร์ซื้อหยวนในวันพุธ (12) เพื่อป้องกันไม่ให้เงินหยวนตกแรงเกินไป
ทั้งนี้ จีนประกาศในวันอังคาร (11) เริ่มปรับใช้วิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนโดยอิงกับกลไกตลาดมากขึ้น
ขณะที่พวกผู้สังเกตการณ์วงกว้างมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวลดค่าเงิน
จนกระตุ้นเตือนความเคลือบแคลงเกี่ยวกับสถานะเศรษฐกิจของจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2
ของโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาล่าสุดชวนกันถดถอยลง หลังจากทำให้ตลาดหุ้น
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และตลาดโภคภัณฑ์ทั่วโลกร่วงมา 2 วัน
แบงก์ชาติจีนก็จัดการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี โดยที่ จาง เซี่ยวฮุย ผู้ช่วยผู้ว่าการ
PBoC กล่าวยืนยันว่า
เงินหยวนยังคงเป็นสกุลเงินตราที่แข็งแกร่ง
และปักกิ่งมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป เธอแจกแจงด้วยว่า
สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การเกินดุลการค้าอย่างยั่งยืน สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล
ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน การยืนยันดังกล่าว
บวกกับรายงานที่ว่าจีนได้เข้าแทรกแซงพยุงไม่ให้เงินหยวนต่ำเกินไปในวันพุธ
กลายเป็นแรงหนุนให้ตลาดหุ้นเอเชียและค่าเงินสกุลต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกฟื้นตัว
หลังจากถูกเทขายต่อเนื่องสองวันหนักหน่วงที่สุดนับจากปี 1998 แม้นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อมั่นในตลาดยังเปราะบางอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ เงินหยวนซื้อขายกันจริงๆ ในระดับ 6.3982 ต่อดอลลาร์ตอนปิดตลาดวันพฤหัสบดี
อ่อนตัวลงจากราคาปิดเมื่อวันพุธซึ่งอยู่ที่ 6.3870 หยวน
แต่ยังคงแข็งค่ากว่าอัตราอ้างอิงที่แบงก์ชาติจีนประกาศไว้ นับจากวันอังคาร PBoC
ประกาศวิธีคำนวณอัตราอ้างอิงใหม่
จากเดิมที่อิงกับผลสำรวจความคิดเห็นของพวกมาร์เก็ตเมคเกอร์ ก็เปลี่ยนเป็นอิงกับราคาปิดของวันก่อนหน้า
อุปสงค์และอุปทานในตลาด และอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินหลักอื่นๆ นับจากนั้น
จีนลดค่าเงินหยวนลง 3 วันติดกัน รวมแล้วถือว่า
มากที่สุดนับจากปี 1994 ที่มีการลดค่าเงินหยวนถึง 33%
เพื่อเริ่มต้นระบบอัตราแลกเปลี่ยนยุคใหม่ นักวิเคราะห์มองความเคลื่อนไหวนี้ว่า
เป็นการกระตุ้นการส่งออกด้วยการทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงในต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็เป็นการเดินหน้าให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นและเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น
เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการทำให้เงินหยวนได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งในสกุลเงินอ้างอิงในกลุ่มสิทธิพิเศษถอนเงิน
(SDR) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แต่ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ก็ทำให้เงินหยวนที่ปกติแล้วมีเสถียรภาพ
บังเกิดความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งมีนักวิเคราะห์จำนวนมากคาดว่า
เงินหยวนอาจจะถูกปล่อยให้อ่อนค่าต่อไปอีกหลายเดือน
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของการค้าโลก
รวมทั้งสำนักข่าวรอยเตอร์ยังอ้างคำบอกเล่าของแหล่งข่าวหลายรายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายในเรื่องนี้
ระบุว่าเสียงที่ทรงอำนาจหลายๆ เสียงในคณะรัฐบาล
กำลังผลักดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนตัวลงไปอีก เป็นการบ่งชี้ถึงแรงกดดันที่จะให้มีการลดค่าเงินโดยรวมแล้วในระดับเกือบๆ
10% ทีเดียว เกี่ยวกับเรื่องหลังนี้ อี้ กัง
รองผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน กล่าวปฏิเสธในการแถลงข่าววันพฤหัสบดี โดยบอกว่า “นี่เป็นเรื่องไร้สาระอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลเลยโดยสิ้นเชิง” ขณะที่รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กในวันพุธที่ว่า
PBoC แทรกแซงตลาดเงินเพื่อปกป้องเงินหยวนนั้น อี้
ปฏิเสธไม่ขอยืนยัน แต่กล่าวว่า PBoC จะบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
หากค่าเงินผันผวนรุนแรง PBoC ยังแถลงว่า จะเฝ้าติดตาม เงินทุนไหลออกที่ “ผิดปกติ”
หลังจากการลดค่าเงินทำให้เกิดความกังวลว่า
นักลงทุนอาจถอนเม็ดเงินทุนออกจากจีนเนื่องจากคาดว่าเงินหยวนจะตกต่อเนื่อง นอกจากนั้น
เมื่อวันพุธ หม่า จุน นักเศรษฐศาสตร์ของ PBoC ยังปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จีนกำลังก่อสงครามค่าเงิน
โดยยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่าการส่งออกจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี
ทางด้านฟิตช์ เรทติ้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ กล่าวในวันพฤหัสบดี
ว่า การลดค่าเงินหยวนตอกย้ำว่า เศรษฐกิจจีนกำลังถูกกดดันในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกัน
ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งยังมุ่งมั่นในการปฏิรูปตามแนวทางตลาด
ซึ่งเป็นพันธสัญญาที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากบังเกิดความเคลือบแคลง
หลังจากจีนเข้าแทรกแซงอย่างหนักเพื่อปกป้องตลาดหุ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เอเอฟพี
- ราคาน้ำมันเมื่อวันพุธ (12
ส.ค.) ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี
หลังอุปทานเชื้อเพลิงสหรัฐฯลด และดอลลาร์อ่อนค่าลง
ปัจจัยภาคพลังงานพยุงวอลล์สตรีทปิดในกรอบแคบๆ แม้มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีน
ขณะที่ข้อวิตกดังกล่าวช่วยดันให้ทองคำขยับขึ้นแรงกว่า 15 ดอลลาร์
น้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกันยายน
เพิ่มขึ้น 22 เซ็นต์ ปิดที่ 43.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน
เพิ่มขึ้น 48 เซ็นต์ ปิดที่ 49.66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐฯที่เผยแพร่ในวันพุธ (12 ส.ค.)
พบว่า คลังน้ำมันดิบสำรองของอเมริกาในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 สิงหาคม ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล
ขณะที่กำลังผลิตภายในประเทศ ก็ลดลง 70,000 บาร์เรลต่อวัน
เหลือ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงเมื่อวันพุธ
(12 ส.ค.)
ขณะที่ความเคลื่อนไหวลดค่าเงินของหยวนต่อดอลลาร์ติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ของจีน กระพือความคาดเดาว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม อย่างไรก็ตาม แม้การลดค่าเงินหยวนจะกระพือความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจของจีน
แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันพุธ (12 ส.ค.)
สามารถฟื้นตัวขึ้นมาปิดทรงตัว จากแรงหนุนของแอปเปิลและหุ้นกลุ่มพลังงาน ดาวโจนส์ ลดลง 0.33 จุด (0.00 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 17,402.51 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 1.98 จุด (0.10 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,086.05 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 7.60
จุด (0.15 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 5,044.39
จุด แอปเปิล
ซึ่งขยับลงเกือบตลอดทั้ง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปิดบวกร้อยละ 1.6
ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานสมาชิกดาวโจนส์ อย่าง เอ็กซอนโมบิล
ปิดบวกร้อยละ 1.7, โคโนโคฟิลลิปส์ ปิดบวกร้อยละ 2.3 และอาปาเช ปิดบวกร้อยละ 3.2 จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
วอลล์สตรีทแกว่งตัวอยู่ในแดนลบเกือบตลอดทั้งวัน
จากความกังวลว่าการลดค่าเงินหยวนของจีน คือ
การส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คิด โดย ดาวโจนส์ ร่วงลงไปกว่า 275 จุด อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดก็ฟื้นตัวขึ้นมาปิดในกรอบแคบๆ กระนั้นราคาทองคำเมื่อวันพุธ (12 ส.ค.)
พุ่งขึ้นอย่างแรงและปิดบวกเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน
หลังความยุ่งเหยิงในตลาดเงินโลก ตามหลังจีนประกาศลดค่าเงินหยวน 2 วันติด กระตุ้นให้นักลงทุนแห่ถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 15.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,123.60
ดอลลาร์ต่อออนซ์
(เครดิตอ้างอิง : คัดลอกจากคอลัมน์ข่าว (แปลข่าว) ต่างประเทศ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)
(เครดิตอ้างอิง : คัดลอกจากคอลัมน์ข่าว (แปลข่าว) ต่างประเทศ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น