วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

20 เรื่องที่เราควรรู้ (3) เกี่ยวกับคุณพ่ออเมริกาผู้น่ารัก ตอนที่ 3




เรื่องที่ 3  สงครามกลางเมือง

ในโลกปัจจุบันนั้น มีความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง การปกครองภายในประเทศยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะเลยยุคสงครามเย็นมานานแล้วหลายสิบปีก็ตาม แต่ก็เกิดสงครามย่อยๆ กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก มาในรูปของสงครามกลางเมืองหรือการก่อการร้าย  หลายประเทศในทวีปเอเชีย บริเวณตะวันออกกลาง อาทิ ซีเรีย อิรัก อัฟกานิสถาน เยเมน ปาเลสไตน์ เลบานอน เอเชียบางส่วน อย่างพม่า ศรีลังกา บังคลาเทศ ในทวีปแอฟริกา อาทิ ลิเบีย-ซาเฮล โซมาเลีย ซูดานใต้ ไนจีเรีย คองโก รวันดา ลาตินอเมริกาอย่าง คิวบา โคลัมเบีย เวเนซูเอล่า ในยุโรปก็มีอย่าง ยูเครน-รัสเซีย ยูโกสลาเวีย-บอสเนีย เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้วรูปแบบหรือโมเดลต้นแบบเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองที่เด่นชัดที่สุดนั้น เริ่มต้นที่อเมริกาเป็นที่แรกสำหรับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อเวลาพูดถึงสงครามกลางเมืองในประเทศต่างๆ ทำให้อดคิดไปถึงสงครามกลางเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกาไม่ได้ แม้ว่าประเทศอเมริกาจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ก็มีส่วนไปเกี่ยวข้องหรือมีบทบาทอยู่เบื้องหลังไม่ทางตรงก็ทางอ้อม กับหลายๆ สงครามกลางเมืองในประเทศอื่นๆ ดังนั้น เราจึงจะมาไล่เรียงดูว่า มูลเหตุหรือที่มาที่ไปที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองของอเมริกามีที่มาอย่างไร

หากจะกล่าวถึงสงครามกลางเมืองครั้งสำคัญ ที่มีผลต่อชีวิตต่อสังคมและต่อโลก ทั้งยังเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ย่อมไม่อาจมองข้าม สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาไปได้อย่างแน่นอน  ทั้งนี้นอกจากผลของสงครามที่เกิดขึ้นมาในครั้งนั้น จะทำให้อเมริกาสามารถรวมกันเป็นประเทศหนึ่งเดียวที่เข้มแข็งแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวิถีและสังคมอเมริกันอีกมากมายก่ายกอง ซึ่งเราจะมาดูกันต่อไป

สงครามกลางเมืองในอเมริกา หรือ American Civil War  เป็นสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อระหว่างปี 1861-1865 โดยรัฐทางฝ่ายเหนือ 23 รัฐ ที่เรียกว่า สหรัฐอเมริกา (United State of America)  กับรัฐฝ่ายใต้ 11รัฐ  ที่แยกตัวเองออกมา และเรียกตัวเองว่า สหพันธรัฐอเมริกา ซึ่งที่มาที่ไปของการกำเนิดประเทศสหรัฐอเมริกาก็ต้องย้อนไปคราวที่ มีการประกาศเอกราชตั้งเป็นประเทศได้เพียง 200 กว่าปีมานี้เอง

ในปี 1492 นักสำรวจดินแดนชาวอิตาลี ชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ภายใต้การตกลงทำสัญญากับกษัตริย์ชาวสเปน ได้เดินทางถึงหมู่เกาะแคริบเบียน และได้ติดต่อกับชนพื้นเมืองเป็นครั้งแรก  แม้โคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกาก็จริง แต่ก็วนเวียนอยู่ในหมู่เกาะแคริบเบียนเท่านั้น สเปนเป็นชาติแรกที่เข้ามาตั้งอาณานิคมในอเมริกา แต่แค่ผิวชายฝั่งไม่เข้าไปลึกมาก

ส่วนอังกฤษนั้นตั้งอาณานิคมแรกคือ เจมส์ทาวน์ (James-Town) ในปี 1607 ตั้งชื่อตามพระนาม พระเจ้าเจมส์ที่ 1 โดยบริษัทลอนดอนเวอร์จิเนีย (London Virginia Company) ซึ่งจะพัฒนากลายเป็นมลรัฐเวอร์จิเนีย ในปีแรกๆ ฤดูหนาวนั้นหนาวเหน็บ ผู้คนล้มตายเพราะขาดอาหาร แต่ด้วยความช่วยเหลือของชาวพื้นเมือง  ทำให้อาณานิคมยังอยู่รอด และได้ยาสูบ (tobacco) เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ปลูกเป็นไร่ขนาดใหญ่ (Plantation) มีการนำทาสผิวดำจากแอฟริกามาใช้ในอังกฤษ เกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษและการกดขี่ศาสนา ทำให้พวกนิกายต่างๆ หลบหนีมาอเมริกาเพื่อตั้งรกราก พวกพิลกริม (Pilgrim) นั่งเรือเมย์ฟลาวเวอร์ (Mayflower)  มาตั้งอาณานิคมพลีมัธ ประกาศ Mayflower Compact เพื่อปกครองตนเอง พวกกลุ่มพิวริตัน ได้รับการกดขี่ในอังกฤษหนีมาตั้งอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Bay) เพื่อสร้างดินแดนในอุดมคติของนิกายพิวริตัน ในปี 1675 ชาวอาณานิคมทำสงครามกับชาวพื้นเมืองอย่างดุเดือดในสงคราม พระเจ้าฟิลิป (King Phillipzs War) ทำให้ชาวพื้นเมืองและชาวอาณานิคมล้มตายมากมาย  อาณานิคมพลีมัธและแมสซาชูเซตส์ได้รวมกันในปี 1691 ใช้ชื่อเรียกว่า อังกฤษใหม่ (New England)

ชาติอื่นก็มาตั้งอาณานิคมเช่นกัน ในปี 1638 สวีเดนตั้งอาณานิคมเดลาแวร์ แต่ถูกฮอลันดาเข้ายึด ฮอลันดาตั้งอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ใหม่ (New Netherlands) ประกอบด้วยนิวอัมสเตอร์ดัม (New Amsterdam ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองนิวยอร์ก) นิวเจอร์ซีย์ เดลาแวร์ และเพนซิลวาเนีย การแข่งขันจับจองที่ดินระหว่างอังกฤษและฮอลันดา ทำให้เกิดสงครามอังกฤษ-ฮอลันดาในปี 1652 ถึงปี 1674 อังกฤษยึดนิวอัมสเตอร์ดัมได้ในปี 1664 และสนธิสัญญาบรีดาในปี 1667 ยกนิวเนเธอร์แลนด์ให้อังกฤษ จนกระทั่งในที่สุด หลังจากถูกรัฐบาลตัวแทนจากเกาะบริเตน ปกครองมาเป็นเวลาร้อยกว่าปี อาณานิคมที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจำนวน 13 อาณานิคม ได้ทำการประกาศอิสรภาพในวันที่ 4 กรกฏาคม 1776 ทำให้เกิดสงครามปฏิวัติอเมริกาขึ้น และแล้วสงครามก็สิ้นสุดลงในปี 1783 โดยชัยชนะเป็นของอดีตอาณานิคม เมื่อราชอาณาจักรอังกฤษยอมรับอดีตอาณานิคมที่อังกฤษเคยปกครองมาก่อนให้เป็นประเทศใหม่

สหรัฐก่อตั้งโดยสิบสามอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งมีทำเลอยู่ตามฝั่งทะเลแอตแลนติก เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม 1776 ชาวอเมริกันประกาศอิสรภาพ ซึ่งเป็นการอ้างสิทธิ์ในการกำหนดชะตาของตนเอง และสร้างสหภาพความร่วมมือขึ้น รัฐซึ่งก่อการจราจลสามารถเอาชนะราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอาณานิคมแห่งแรกที่ประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ อนุสัญญาฟิลาเดลเฟียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1797 การปรับใช้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลให้รัฐต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเดี่ยว และขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางที่มีอำนาจเด็ดขาด

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาได้ดินแดนเพิ่มเติมจากฝรั่งเศส สเปน สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และรัสเซีย และผนวกดินแดนรวมกับสาธารณรัฐเท็กซัสและสาธารณรัฐฮาวาย  กระนั้นใช่ว่าอเมริกาจะเป็นปึกแผ่นได้อย่างปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะความขัดแย้งระหว่างรัฐกสิกรรมทางตอนใต้และรัฐอุตสาหกรรมทางตอนเหนือ เหนือสิทธิของรัฐ และการขยายจำนวนของทาสได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองอเมริกา เมื่อราวคริสต์ทศวรรษ 1860

สำหรับสาเหตุของสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกานั้น หากพูดกันตามข้อมูลทั่วไปที่ถูกเผยแพร่ ก็คือ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น ได้ประกาศว่าจะเลิกทาส ทำให้ชาวอเมริกาในรัฐทางตอนใต้ไม่พอใจและประกาศแยกตัวเป็นอิสระ จนเกิดสงครามกลางเมือง แต่ในความจริงแล้ว การเลิกทาสเป็นแต่เพียงผลที่เกิดจากสงครามเท่านั้น (ความเป็นจริงก็คือรัฐทางตอนใต้ยังต้องพึ่งพาทาสในการทำกสิกรรม เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ส่วนรัฐทางเหนือส่วนใหญ่ทำอุตสาหกรรม ไม่ต้องพึ่งพาทาสมากนัก)

นับจากได้รับชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพ เมื่อปี ค.ศ. 1781 แล้ว บรรดามลรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มรัฐที่มีทาสกับรัฐที่ไม่อนุญาตการใช้แรงงานทาส ซึ่งรัฐที่มีทาสได้นั้น จะเป็นรัฐที่อยู่ทางตอนใต้ ส่วนกลุ่มที่ไม่อนุญาตการใช้แรงงานทาสนั้นจะเป็นรัฐทางเหนือ

ในตอนแรก ทั้งสองกลุ่มต่างก็มีจำนวนพอ ๆ กัน และยังไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีความขัดแย้งและแตกต่างในด้านนโยบายของแต่ละกลุ่มอยู่บ้าง  กล่าวคือ รัฐทางเหนือมีสภาพเศรษฐกิจที่เน้นด้านอุตสาหกรรมเป็นหลักและมีภาคกสิกรรมในรูปแบบไร่นาขนาดเล็กที่ใช้แรงงานในครอบครัว ขณะที่รัฐทางใต้มีสภาพเศรษฐกิจที่เน้นด้านกสิกรรมเป็นหลักคล้ายรูปแบบของเจ้าที่ดินสมัยศักดินา โดยจะมีการทำไร่ขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานทาส

ต่อมา รัฐบาลกลางต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศจึงตั้งกำแพงภาษีเพื่อป้องกันสินค้าอุตสาหกรรมจากยุโรปเข้ามาตีตลาดในสหรัฐ ทว่าหลายประเทศในยุโรป ก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากอเมริกาเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือบรรดาเจ้าที่ดินของรัฐทางใต้เนื่องจากสินค้าเกษตรที่พวกเขาส่งไปขายในยุโรปถูกเก็บภาษีเพิ่มจนทำให้ปริมาณขายลดลง
  

แม้ความขัดแย้งในเชิงนโยบายของทั้งสองฝ่ายจะเกิดขึ้นบ้างดังกล่าว หากแต่เหตุการณ์ที่น่าจะเรียกว่า เป็นชนวนที่แท้จริง เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ซื้อดินแดนลุยเซียน่ามาจากฝรั่งเศส ทำให้อาณาเขตของประเทศขยายเข้าไปในฝั่งตะวันตกของทวีป นอกจากนี้อเมริกายังทำสงครามกับสเปนและเม็กซิโกจนได้ชัยชนะและได้รับดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาเหนือมาแทนค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งดินแดนใหม่ทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมๆว่า แดนตะวันตก

การได้ดินแดนตะวันตกมา ก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐมีทาสกับรัฐไม่มีทาสขึ้นใหม่ ทั้งนี้บรรดามลรัฐทางเหนือนั้นไม่ได้ต่อต้านการมีทาส แม้ว่าจะมีเอกชนหรือนักการเมืองบางคนที่ส่งเสริมการเลิกทาสก็ตาม

หากแต่มลรัฐทางเหนือไม่ต้องการให้รัฐใหม่ที่เกิดในดินแดนตะวันตกเป็นรัฐมีทาสเพราะเกรงว่าจะเป็นโอกาสให้บรรดาเจ้าที่ดินทางภาคใต้นำแรงงานทาสเข้าไปยึดครองที่ดินทำไร่ขนาดใหญ่และจะทำให้โอกาสของบรรดาชาวนาอิสระสูญเสียไป

แต่ในขณะเดียวกันบรรดามลรัฐทางใต้ก็เกรงว่า หากรัฐใหม่ในแดนตะวันตกกลายเป็นรัฐไม่มีทาส ฝ่ายของพวกเขาก็น้อยกว่ากลุ่มรัฐมีทาสและส่งผลให้การออกนโยบายเสียเปรียบยิ่งขึ้น จนท้ายที่สุด อาจนำไปสู่การออกนโยบายเลิกทาสทั่วทั้งประเทศ ซึ่งนั่นย่อมกลายเป็นความหายนะของบรรดารัฐทางใต้ที่มีเศรษฐกิจแบบกสิกรรมขนาดใหญ่และพึ่งแรงงานทาสเป็นหลัก

ทั้งนี้ ประเด็นต่อต้านการมีทาสในดินแดนทางตะวันตกได้ถูกพรรคการเมืองนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงในดินแดนตอนเหนือซึ่งมีประชากรค่อนข้างมากกว่าทางใต้ โดยพรรครีพับลีกัน ที่ก่อตั้งใน ปี ค.ศ. 1854 ได้เสนอชื่อ อับบราฮัม ลิงคอล์น เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมชูนโยบายห้ามการมีทาสในแดนตะวันตก ขณะที่พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ก็ส่ง สตีเฟ่น ดักลาสเป็นผู้สมัคร และชูนโยบายเดียวกัน
 

ทว่า นโยบายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกจำนวนมากของทั้งสองพรรคที่มีแนวคิดสนับสนุนการมีทาส โดยเฉพาะพรรคเดโมแครตทีมีสมาชิกจำนวนมากอยู่ทางภาคใต้ จนทำให้ฐานเสียงของพรรคแตกแยกและส่งผลให้พรรครีพับลีกันชนะการเลือกตั้ง

ซึ่งในระกว่างที่ทางสภาได้แต่งตั้งอับราฮัม ลิงคอล์น ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีนั่นเอง ในเดือน มีนาคม ปี ค.ศ.รัฐฝ่ายใต้ 7 รัฐก็รวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐและประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างเพื่อนร่วมชาติในที่สุด

จุดเริ่มของสงครามกลางเมืองอเมริกาจึงก่อตัวขึ้น

อ่านเพิ่มเติมจากลิ้งค์นี้ http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?id=92842  

-ยุทธการเกตตีสเบิร์ก อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ลิ้งค์นี้ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81

-ยุทธการแอตแลนตา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ลิ้งค์นี้ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2


ลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา


ค.ศ. 1860 อับราฮัม ลินคอล์นได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
ค.ศ. 1860 เซาท์ แคโรไลนาแยกตัวออกเพราะไม่พอใจผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ค.ศ. 1860 การทำข้อตกลงคิสเตนเดน (Crittenden Compromise) ล้มเหลวเท่ากับเป็นการสิ้นสุด ความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะยังคงรวมกันเป็นสหภาพ (Union)
ค.ศ. 1861 ฝ่ายสมาพันธรัฐ (Confederates) ยิงเรือของฝ่ายสหภาพ พยายามปลดปล่อยฟอร์ท ซัมเตอร์ (Fort Sumter) ที่เมืองชาร์ลสตัน (เซาท์ แคโรไลนา) ทำให้เรือของฝ่ายสหรัฐต้องถอย
ค.ศ. 1861 มิสซิสซิปปี แยกตัว (9 มกราคม) ตามมาด้วยฟลอริดา (10มกราคม) อลาบามา (11 มกราคม) จอร์เจีย (19มกราคม) หลุยส์เซียนา (26มกราคม) และเท็กซัส (1กุมภาพันธ์)
ค.ศ. 1861 สภาคองเกรสเรียกประชุมผู้แทน (4 ก.พ.) บรรดารัฐที่แยกตัวออกที่เมืองมองโกเมอรี รัฐอลาบามาจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา และเลือกตั้งนายพล เจ.เดวิส (J.Davis) เป็นประธานาธิบดี
ค.ศ. 1861 ประธานาธิบดีเดวิส ประกาศเกณฑ์ทหารอาสาสมัคร 20,000 คนเข้าประจำการ (3 เมษายน)
ค.ศ. 1861 กองทัพฝ่ายสมาพันธ์นำโดยนายพลโบรีการ์ด (Beauregard) ระดมยิงฟอร์ท ซัมเตอร์จน ต้องยอมแพ้ เป็นการเปิดฉากสงครามกลางเมือง ที่มีความรุนแรงยิ่งขี้น (12 - 14 เมษายน)
ค.ศ. 1861 ประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศเกณฑ์ทหารอาสาสมัคร 75,000 คน (15 เมษายน) ดำเนินการปิดล้อมท่าเรือของฝ่ายรัฐที่แยกตัวออก (19 เมษา) แต่ไม่สามารถสกัดการส่งสินค้า จากต่างประเทศที่เข้ามาถึงรัฐที่ถูกปิดล้อมได้ทั้งหมด
ค.ศ. 1861 เวอร์จิเนียถอนตัวออกจากสหพันธรัฐ (17 เมษา) ตามด้วยอาร์คันซอส์ (6 พฤษภา) นอร์ท แคโรไลนา (20 พฤษภา) และเทนเนสซี (8 มิถุนา)
ค.ศ. 1861 กองทัพฝ่ายสมาพันธรัฐเผชิญหน้าฝ่ายสหพันธรัฐ เริ่มการสู้รบที่บุล รัน (bull Run) (21 กรกฎา) ทางตอนเหนือของรัฐเวอร์จิเนีย การสู้รบที่บุลรันทำให้ฝ่ายเหนือคิดเรื่องที่จะยุติสงครามกลางเมืองโดยเร็ว ด้วยการปิดล้อมฝ่ายใต้ทางเรือ คุมย่านแม่น้ำมิสซิสซิปปี (เพื่อเป็นการแยกฝ่ายใต้ออกจากกัน) และเข้ายึดเมืองริชมอนด์ เมืองหลวงของสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ ค.ศ. 1861 ฝ่ายสมาพันธรัฐก็ยึดเมืองสปริงฟิลด์ (Springfield) ในมิสซูรีภายหลังการรบที่วิลสัน ครีก (Wilson's Creek) (10สิงหาคม)
ค.ศ. 1861 พลเอก จี. แมคเคลลัน (General G.McCelan) เป็นผู้บัญชาการกองทัพสหพันธรัฐ และจัดตั้งกองทัพแห่งโปโตแมค (Army of Potomac) ขึ้น
ค.ศ. 1861 กองทัพสหพันธรัฐปิดล้อมเรืออังกฤษ (8 พฤศจิกายน) จนเกือบนำไปสู่การเกิดสงรามระหว่างประเทศ
ค.ศ. 1862 ฝ่ายสหพันธรัฐบุกเคนตักกี้กับเทนเนสซี ยึดได้ฟอร์ท เฮนรี (Fort Henry) กับฟอร์ท โดเนลสัน (Fort Donelson) (6 - 16 กุมภาพันธ์) ฝ่ายสมาพันธ์ถอนตัวจากเมืองแนชวิลล์ (Nashville)
ค.ศ. 1862 เป็นปีรุกของฝ่ายสหพันธรัฐ นายพลแกรนท์ของฝ่ายเหนือรุกไล่ฝ่ายใต้ทางตอนใต้รัฐเทนเนสซี มีชัยในการรบนองเลือดที่ชิโลห์ (Shiloh) (6-7เมษา) ฝ่ายใต้สูญเสียแม่ทัพสำคัญ คนหนึ่งคือนายพล เอ จอห์นสตัน (Gen. A. Johnston)
ค.ศ. 1863 ลินคอล์นประกาศกฎหมายปลดปล่อยวันที่ 1 มกราคม (Emancipation Proclaimation) (1 มกราคม)
ค.ศ. 1863 กองทัพฝ่ายเหนือรุกไปทางตะวันออก นายพลลี (Gen. R.E. Lee) ของฝ่ายใต้รุกขึ้นทาง เหนือเข้าสู่เพนซิลวาเนีย (มิถุนายน) แต่ถูกนายพลจี มีด (Gen.G.Meade) ของฝ่ายสหพันธรัฐ เอาชนะได้ในการรบที่เกตติสเบิร์ก (Battle of Gettysburg) ในเพนซิลวาเนีย ถือ เป็นสงครามแห่งชัยชนะในสงครามกลางเมือง เมื่อนายพลลีต้องถอยกลับไปเวอร์จิเนีย
ค.ศ. 1864 นายพลแกรนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหภาพ (มีนาคม) ขณะที่นายพล ดับเบิลยู เชอร์แมน (Gen. W. Sherman) เป็นแม่ทัพฝ่ายตะวันตก กองทัพ ของนายพลแกรนท์ ปะทะกับกองทัพนายพลลีในเวอร์จีเนีย ส่วนกองทัพของนายพลเชอร์ แมนมีหน้าที่รุกรบกองทัพของนายพลจอห์นสตันที่แอตแลนตา
ค.ศ. 1864 นายพลลีของฝ่ายใต้เริ่มถอย เพราะไม่สามารถป้องกันปีเตอร์สเบิร์ก (Petersburg) ในการสู้รบเป็นเวลาถึง 10 เดือน แม้จะพยายามโจมตีแนวหลังของฝ่ายสหพันธรัฐก็ไม่สำเร็จ
ค.ศ. 1864 นายพลดี ฟาร์รากัตเอาชนะกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐที่อ่าวโมบายล์ (5 สิงหาคม)
ค.ศ. 1864 ประธานาธิบดีลินคอล์นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง (พฤศจิกายน)
ค.ศ. 1865 มีการร่างข้อตกลง 13 ข้อ ยกเลิกการมีทาสในสหรัฐอเมริกา ผ่านรัฐสภาอเมริกัน (1 กุมภาพันธ์) และมีผลบังคับใช้เดือนธันวาคม
ค.ศ. 1865 นายพลลี ถูกบังคับให้ยอมจำนนที่แอพโพแมตทอก คอร์ทเฮาส์ (Appomattox Courthouse) เป็นการยุติสงครามกลางเมือง

ค.ศ. 1865 (14 เมษายน) ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบสังหาร (เขาถูกสังหารโดยชาวผิวขาวที่เคยสนับสนุนการเลิกทาส แต่เมื่ออับราฮัมต้องการให้คนผิวดำมีสิทธิการเลือกตั้งเท่าเทียมกับคนขาว เรื่องนี้ทำให้คนขาวหลายคนไม่พอใจ รวมทั้งมือสังหารคนนี้ด้วย)

หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลและคัดลอกข้อมูลจาก เว็บไซต์วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์,พ็อกเก็ตบุ้ค สงครามกลางเมือง ฆ่ากันเอง บนแผ่นดินเดียวกัน โดยวีระชัย โชคมุกดา,สำนักพิมพ์ เอสเคเอสอินเตอร์พริ้นท์ ,ยิปซีกรุ๊ป ,เว็บไซต์ myfirstbrain.com, เว็บไซต์ komkid.com )    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น