วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โลก 360 องศา - (จับตาสหรัฐและนาโต้เปิดฉากโจมตีซีเรีย,ไฟป่าที่โคโลราโดบานปลาย,คณะยูเอ็นตรวจอาวุธเคมีในซีเรีย)

เอเจนซีส์ – รัฐบาลซีเรียเชื่อประเทศเสี่ยงต่อการถูกโจมตีได้ “ทุกเวลา” นับจากนี้ หลังผู้ตรวจสอบอาวุธเคมีขององค์การสหประชาชาติเดินทางออกจากซีเรียไปแล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา(31) ขณะที่หลายประเทศเตือนพลเมืองของตนให้งดเดินทางไปเลบานอนซึ่งมีพรมแดนติดกับซีเรีย หวั่นได้รับอันตรายจากปฏิบัติการทางทหารของอเมริกา  เจ้าหน้าที่ความมั่นคงซีเรียซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “เราเชื่อว่าตะวันตกอาจจะเปิดฉากโจมตีได้ตลอดเวลา”   ภารกิจของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นที่ปิดฉากลงทำให้ทั่วโลกคาดหมายว่า เร็วๆนี้อาจจะมีการผนึกกำลังทหารโจมตีรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เพื่อลงโทษที่ใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือนตัวเอง ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็แถลงชัดเจนวานนี้(30)ว่า กำลังเตรียมปฏิบัติการโจมตีซีเรีย “อย่างจำกัดและเฉพาะเจาะจง” พร้อมย้ำว่านานาชาติไม่ควรนิ่งเฉย เมื่อสตรีและเด็กชาวซีเรียหลายร้อยคนถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมด้วยแก๊สพิษทำลายระบบประสาท

คณะผู้ตรวจสอบยูเอ็นซึ่งขณะนี้เดินทางถึงเลบานอนแล้ว จะรายงานผลตรวจสอบให้เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน ทราบว่ามีการใช้แก๊สพิษในวันที่ 21 พฤษภาคมจริงหรือไม่ โดยยึดหลักฐานที่พบในจุดเกิดเหตุ  ซีเรียปฏิเสธว่าทหารฝ่ายตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ ขณะที่วอชิงตันอ้างข้อมูลข่าวกรองว่า มีชาวซีเรียผู้บริสุทธิ์ถูกอาวุธเคมีคร่าชีวิตไปกว่า 1,400 คน

ล่าสุด บาห์เรน, คูเวต, อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้เตือนพลเมืองงดเดินทางไปเลบานอนในระยะนี้ เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่กองทัพสหรัฐฯจะใช้ปฏิบัติการทางทหารกับซีเรีย ส่วนออสเตรียเพียงแนะนำให้ผู้ที่ต้องการเดินทางสอบถามสถานการณ์จากสถานทูตในเลบานอนเสียก่อน   บาห์เรนและคูเวตยังแจ้งให้พลเมืองของตนรีบเดินทางออกจากเลบานอนทันที ตามรายงานของสำนักข่าวแห่งชาติทั้ง 2 ประเทศ   แหล่งข่าวอาวุโสด้านความมั่นคงในเลบานอนเปิดเผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดี(29) มีชาวต่างชาติเดินทางออกจากเลบานอนแล้วประมาณ 14,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป

เมื่อวานนี้(30) อังกฤษแจ้งให้ประชาชนงดเดินทางไปเลบานอน เว้นแต่มีธุระจำเป็นจริงๆ โดยเตือนถึงสถานการณ์อันตรายที่กำลังแผ่ลามจากซีเรียออกสู่ประเทศข้างเคียง และชี้ว่าแผนปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐฯอาจจะก่อให้เกิดกระแสเกลียดชังชาวตะวันตกขึ้น ปารีสได้ออกคำเตือนในลักษณะเดียวกัน เมื่อวันพฤหัสบดี(29)


รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า เครื่องบินรบหลากหลายรุ่นรวมถึงบรรดาเครื่องบินลำเลียงทางทหารของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ทยอยเดินทางมาถึงยังฐานทัพอากาศ “อะโครติรี” บนเกาะไซปรัสแล้วตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (27) ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่อซีเรียใกล้เปิดฉากเต็มที

“เดอะ การ์เดียน” สื่อดังของอังกฤษรายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นนักบิน 2 รายของสายการบินพาณิชย์ ที่บินมายังไซปรัสระบุว่า พวกเขาพบเห็นเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินลำเลียงซี-130 รวมถึงอุปกรณ์เรดาร์ และยุทโธปกรณ์ทางทหารจำนวนมากของกองทัพอังกฤษทยอยเข้ามายังไซปรัส สอดคล้องกับข้อมูลจากประชาชนที่อาศัยอยู่รอบฐานทัพอากาศอะโครติรีที่ให้ข้อมูลว่าพวกเขาพบการเคลื่อนไหวภายในฐานทัพดังกล่าวที่มากกว่าปกติตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ฐานทัพอากาศอะโครติรีนั้น แม้จะตั้งอยู่ในไซปรัส แต่ตัวฐานทัพถือเป็นเขตอธิปไตยของอังกฤษและกองทัพอากาศเมืองผู้ดีก็ได้ใช้ฐานทัพแห่งนี้ในการปฏิบัติการทางทหารนับครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรรวมถึงอังกฤษตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อสั่งสอนรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดแห่งซีเรียจริง ฐานทัพอากาศอะโครติรีกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้น่าจะถูกใช้เป็นหนึ่งในที่มั่นหลักในการโจมตีซีเรีย เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งของซีเรียไม่ถึง 100 ไมล์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกองทัพอังกฤษมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลซีเรียประกาศปกป้องตนเองอย่างเต็มกำลังจากการโจมตีใดๆ ของต่างชาติต่อรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งถูกกล่าวหาใช้อาวุธเคมีสังหารผู้คน  วาลิด มูอัลเลม รัฐมนตรีต่างประเทศซีเรีย แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าดามัสกัสจะปกป้องตนเองจากการโจมตีใดๆ โดยระบุว่าซีเรียมีสองทางเลือก คือยอมจำนน หรือปกป้องตนเอง ซึ่งในมุมมองของรัฐบาลซีเรียแล้วทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การปกป้องตนเองอย่างสุดกำลัง พร้อมคุยโตด้วยว่าซีเรียมีแสนยานุภาพที่สามารถสร้างความประหลาดใจแก่ทั้งโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ว่าเพราะเหตุใดการใช้อาวุธเคมีในซีเรียเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 ศพ จึงกระตุ้นให้ประเทศมหาอำนาจนำโดยสหรัฐ ประกาศเตรียมใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซง เพื่อ "ลงโทษ" ผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ยังไม่หลักฐานชี้ชัดว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลดามัสกัส หรือฝ่ายกบฏ ปัจจัยใดทำให้สหรัฐและพันธมิตรมั่นใจว่า การใช้กำลังทางทหารคือวิธีที่สมควรที่สุดแล้วในเวลานี้

หลักการความรับผิดชอบในการคุ้มครอง ( Responsibility to Protect ) หรือที่รู้จักกันในตัวย่อว่า “อาร์ทูพี” ( R2P ) เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 จากแนวคิดของนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในเวลานั้น ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองในรวันดากว่า 800,000 ศพ เมื่อปี 2537 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประธานาธิบดีสโลโบดัน มิโลเซวิช แห่งเซอร์เบีย ต่อชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวเซิร์บ ในยูโกสลาเวียและโคโซโว เมื่อ 15 ปีก่อน

แม้อาร์ทูพีจะเป็นเพียงบรรทัดฐาน ไม่ใช่กฎหมาย แต่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากลว่ามีน้ำหนักไม่ต่างกัน และมีองค์ประกอบสำคัญในเบื้องต้น 3 ข้อ ได้แก่

- ประเทศต้องมีศักยภาพที่จะปกป้องพลเมืองของตัวเองจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ แต่หากเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งหมด ถือเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประชาคมโลกจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้

- แม้มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ประเทศไม่สามารถรับมือต่อเหตุการณ์ได้ ขอให้ประชาคมโลกร่วมดำเนินการอย่างสันติวิธี รวมถึงวิธีการทางการทูตและการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อหาทางหยุดยั้งความโหดร้ายเหล่านี้

- หากพยายามทุกวิธีแล้วแต่ไม่สำเร็จ ประชาคมโลกสามารถใช้กำลังทางทหารเข้าคลี่คลายสถานการณ์ และปกป้องพลเมืองของประเทศนั้น เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงทางทหารจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ซึ่งในกรณีของซีเรียถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากว่า รัสเซียและจีน 2 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซีจะใช้สิทธิ์คัดค้าน ( วีโต้ )

ดูเหมือนใจความสำคัญของอาร์ทูพีจะ “เข้าทาง” สหรัฐและพันธมิตร ด้วยความที่สถานการณ์ในซีเรียยังคงเลวร้าย ประชาคมโลกพยายามร่วมกันทุกวิถีทางแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น การใช้กำลังทางทหารจึงเป็นวิธีสุดท้าย ที่จะสามารถยุติความรุนแรงในซีเรียได้ ทว่าหากมองย้อนกลับไปยังปฏิบัติการโจมตีทางทหารในยูโกสลาเวีย คำว่า “ประชาคมโลก” ของสหรัฐ กลับหมายถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ไม่ใช่ยูเอ็น ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าไม่มีน้ำหนัก และความชอบธรรมมากพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการเปิดฉากโจมตีทางทหารต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง

พบผู้เสียชีวิต 2 ราย จากเหตุไฟป่า ในรัฐโคโลราโด สหรัฐ ขณะที่อีกกว่า 6,500 คน ได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมให้อพยพ

เจ้าหน้าที่ พบร่างผู้เสียชีวิต เป็นชาย 1 ราย และ หญิง 1 ราย จากบ้าน 1 ใน 16 หลัง ที่ถูกไฟป่าเผาไหม้ ในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตภูเขา เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้สูญหายอีก 1 ราย ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่เดียวกัน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ยังไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม หลังไฟป่าได้โหมไหม้พื้นที่ไปแล้วกว่า 7 ตารางกิโลเมตร ทางฝั่งตะวันตกของเมือเดนเวอร์ ซึ่งเป็นชานเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ค่อนข้างหน้าแน่น

ภัยคุกคามจากไฟป่า ได้เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ระหว่างช่วงฤดูร้อนและแห้งแล้งผิดปกติในเดือนมีนาคม โดยมีการสั่งอพยพประชาชนไปแล้ว กว่า 100 หลังคาเรือน ประชากรอีกราว 6,500 คน ได้รับคำสั่งให้เตรียมความพร้อมเพื่ออพยพ หลัง เจ้าหน้าที่พบว่า ไฟป่าโหมไหม้รุนแรงขึ้น ขณะที่ บ้านเรือนประชาชนอีกหลายหลัง ที่อยู่ในหุบเขาที่คดเคี้ยว เจ้าหน้าที่ จะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุระหว่างการอพยพ

คณะตรวจสอบของ UN เข้าไปซีเรียแล้ว


เอเจนซีส์ - คณะตรวจสอบของสหประชาชาติ ออกเดินทางไปปฏิบัติงานในวันจันทร์ (26 ส.ค.) ในพื้นที่ชานกรุงดามัสกัสซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธเคมี ขณะที่มหาอำนาจตะวันตกแสดงท่าทีโน้มเอียงมากขึ้นในการใช้กำลังลงโทษรัฐบาลซีเรียโดยไม่รอฉันทามติจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ด้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเตือนอเมริกา เตรียมตัวพบความล้มเหลวเช่นเดียวกับสงครามทุกครั้งที่วอชิงตันเปิดฉาก

รถ 6 คันลำเลียงคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธที่สวมเสื้อเกราะสีฟ้าของสหประชาชาติ เดินทางออกจากโรงแรมที่พักกลางกรุงดามัสกัสเมื่อวันจันทร์ โดยมีรถของกองกำลังรักษาความปลอดภัยและรถพยาบาลร่วมขบวนไปด้วยอย่างละคัน จุดหมายคือเขตกูตา ชานเมืองด้านตะวันออกของกรุงดามัสกัสซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของกบฏซีเรียที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ถูกโจมตีด้วยจรวดติดอาวุธเคมีเมื่อเช้าวันพุธ (21) ทำให้ประชาชนเสียชีวิตหลายร้อยคน

แม้ที่สุดรัฐบาลซีเรียยอมให้คณะเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นเข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว แต่สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตกก็ออกมาระบุว่า เป็นการสายเกินไปเนื่องจากช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพของประธานาธิบดีอัสซาด ได้ถล่มพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายหลักฐาน

เวลานี้นานาชาติยังคงมีความเห็นแตกแยกเกี่ยวกับแนวทางจัดการกับวิกฤตซีเรีย โดยที่ก่อนหน้านี้รัสเซียกับจีนได้ใช้สิทธิ์ยับยั้งมติเกี่ยวกับซีเรียของฝ่ายตะวันตกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นมาหลายครั้งแล้ว

ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ มีท่าทีลังเลที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องพลเรือนซีเรีย เนื่องจากเกรงว่า จะถูกดึงเข้าสู่สงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยม เพียงไม่นานหลังจากที่เขานำเอาทหารอเมริกันออกมาจากอิรัก

กระนั้น หลังจากคลิปและภาพข่าวที่เผยให้เห็นร่างเด็กเรียงรายเป็นทิวแถวที่สื่อทั่วโลกประโคมข่าวเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว เขาจึงถูกชาติตะวันตกอื่นๆ รวมทั้งพันธมิตรอาหรับกดดันอย่างหนักให้ลงมือจัดการกับวิกฤตซีเรีย

ทางด้าน วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ตอบข้อซักถามของบีบีซีว่า เป็นไปได้ที่จะมีการตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโดยไม่รอฉันทามติจากคณะมนตรีความมั่นคง

ส่วนที่ปารีส รัฐมนตรีต่างประเทศ ลอรองต์ ฟาเบียส กล่าวว่า ฝรั่งเศสจะตัดสินใจเกี่ยวกับวิกฤตซีเรียในเร็ววันนี้

เช่นเดียวกับตุรกีที่ประกาศเข้าร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศต่อต้านรัฐบาลซีเรีย แม้คณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ก็ตาม

เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ เผยว่า โอบามาซึ่งหารือกับผู้ช่วยระดับสูงด้านความมั่นคงเมื่อวันเสาร์ (24) จะตัดสินใจว่าจะตอบโต้ต่อการโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรียนี้อย่างไร โดยอิงอาศัยข้อมูลอันถี่ถ้วน

ปีที่แล้ว โอบามาเคยประกาศว่า ตะวันตกจะเข้าแทรกแซง หากกองทัพซีเรียใช้อาวุธเคมี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวปฏิเสธรายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษที่ว่า ลอนดอนและวอชิงตันมีแผนสนธิกำลังเปิดปฏิบัติการทางทหารต่อกองทัพของอัสซาด “ภายในไม่กี่วันนี้”

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า แนวโน้มปฏิบัติการที่เป็นไปได้มากที่สุดของสหรัฐฯคือ การโจมตีด้วยจรวดร่อน (ครูซ มิสไซล์) จากเรือรบไปยังเป้าหมายทางการทหารของซีเรียและกองทหารปืนใหญ่ที่มีส่วนในการโจมตีด้วยอาวุธเคมี โดยที่มีเครื่องบินขับไล่ที่ประจำการอยู่นอกอเมริการ่วมปฏิบัติภารกิจด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่กำลังป้องกันอากาศยานของซีเรียอาจเล่นงานนักบินอเมริกันและพันธมิตร

นอกจากนั้นมีแนวโน้มว่า วอชิงตันอาจขอการสนับสนุนจากพันธมิตรในยุโรปและในอ่าวเปอร์เซีย เนื่องจากค่อนข้างแน่นอนว่า รัสเซียจะพยายามขัดขวางปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรีย

มีรายงานว่านายทหารระดับสูงจากตะวันตกและชาติมุสลิม ซึ่งรวมถึงประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ กำหนดหารือกันเมื่อวันจันทร์เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปิดศึกเช่นนี้ที่อาจเกิดกับตะวันออกกลาง

วันเดียวกัน บัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า ต้องเร่งรีบเข้าตรวจสอบข้อกล่าวหาการใช้อาวุธเคมีโจมตีที่ตามรายงานของของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนระบุว่าทำให้พลเรือนเสียชีวิต 355 คน

สำหรับด้านอัสซาดปฏิเสธว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมืองล้วนๆ โดยยืนยันว่า รัฐบาลซีเรียไม่มีทางทำเช่นนั้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวก็มีทหารของรัฐบาลอยู่จำนวนมาก

“ความล้มเหลวรออเมริกาอยู่เหมือนเช่นสงครามทุกครั้งที่อเมริกาเป็นคนก่อ ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามจนถึงปัจจุบัน”

ขณะที่รัสเซีย พันธมิตรเก่าแก่ที่ขายอาวุธให้อัสซาด รับลูกว่า กลุ่มกบฏอาจอยู่เบื้องหลังการโจมตีด้วยอาวุธเคมี และจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงในการด่วนสรุปว่า เป็นฝีมือฝ่ายใด พร้อมแสดงความกังวลและเรียกร้องให้วอชิงตันอดกลั้นจากการยั่วยุให้ใช้ปฏิบัติการทางทหาร

รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลัฟรอฟ ของรัสเซีย ยังกล่าวเตือนในขณะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ถึง“ผลสืบเนื่องอันมีอันตรายอย่างยิ่งต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือโดยรวม จากความเป็นไปได้ที่ (สหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก) จะมีการเข้าแทรกแซงทางทหารครั้งใหม่”

ส่วนทางด้านจีนนั้น สนับสนุนให้สหประชาชาติเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่ก็เร่งเร้าให้ดำเนินการตอบโต้ “อย่างระมัดระวัง”









1 ความคิดเห็น:

MyNote กล่าวว่า...

รัฐบาลโอบามาใช้หลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพียงครั้งเดียวกับอ้างหลักการว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อโจมตีซีเรีย โดยละทิ้งกระบวนการของสหประชาชาติ กฎเกณฑ์ ระบบความมั่นคงของโลก
http://www.chanchaivision.com/2013/09/Obama-weight-war-Syria-2-130908.html

แสดงความคิดเห็น