วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรณีเหตุน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว เปลือยองค์กรผีดิบ PTT (ปอเต๊กตึ๊ง) อย่างหมดเปลือก





เริ่มจากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกดวงโดยเฉพาะคนจังหวัดระยองก็คือ

1 ข้อเท็จจริง ความโปร่งใสของข้อมูล การออกมาให้ข่าวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ตรงกับความเป็นจริง นับตั้งแต่วันแรกก็คือเช้าวันที่ 27 ก.ค.56 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว มีการปิดข่าวมา 2-3 วัน เรื่องมาแดงเพราะมีการแชร์ข้อมูลกันตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงมีการออกมายอมรับว่าเกิดเหตุจริง และให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า รั่วแค่ 50,000 ลิตร (เท่ากับรถบรรทุกน้ำมัน 1 คันเท่านั้น) และ รมว.พลังงานก็ออกมาให้ข่าวว่าจะสามารถเก็บทำความสะอาดคราบน้ำมันบนท้องทะเลได้เสร็จภายใน 3 วัน จากนั้นจึงค่อยๆ แถมาเรื่อยว่า ภายใน 15 วันหรือ 1 เดือนตามลำดับ แต่ข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วนั้นถูกตีโต้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมของ jitsda และนักวิชาการหลายท่านที่เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และด้านพลังงานหลายท่านจากหลายมหาวิทยาลัย มีการให้ข้อมูลว่าได้ใช้สารเคมีบางชนิดเพื่อไปสลายคราบน้ำมัน แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏก็คือไม่สามารถสลายคราบน้ำมันได้ทั้งหมดและเกิดผลข้างเคียงตามมา เนื่องจากสารเคมีที่ใชเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในเหตุการณ์คราบน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก ซึงเป็นชนิดร้ายแรงที่จะไปทำลายระบบนิเวศวิทยา เช่น ไปฆ่าแนวปะการังในทะเล แพลงตอน และสัตว์น้ำทะเลชนิดเล็กๆ ตายหมด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ รวมถึงอาหารสัตว์ทะเลที่ชาวประมงจะอาศัยทำมาหากินทั้งหมด ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ สารเคมีขนิดที่ว่านี้มีฤทธิ์ร้ายแรงถึง 50 เท่าของสารตะกั่วในน้ำมันเสียอีก ซึ่งจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และระบบนิเวศวิทยา แม้เพียงในทะเลลึกอย่างอ่าวเม็กซิโกซึ่งมีความลึกจากผิวน้ำถึงใต้ท้องทะเลประมาณ 3,000 กว่าเมตร แต่บริเวณอ่าวไทยมีความลึกจากผิวน้ำถึงใต้ท้องทะเลเพียง 45 เมตร ความเข้มข้นของสารพิษย่อมจะมีมากกว่า แม้ว่าจะรั่วเพียง 50,000 ลิตร แต่ในความเป็นจริงคาดการณ์กันว่าน่าจะมีน้ำมันรั่วมากกว่านี้หลายเท่าตัว

2.ความจริงใจและการแสดงความรับผิดชอบ ของคณะผู้บริหารบริษัท ปตท.และภาครัฐ ต่อผลความเสียหายใหญ่หลวง และการแสดงท่าทีปิดข่าว ปกปิดข้อมูล การให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นของ รมว.พลังงาน ,รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ,ตลอดจนนายกรัฐมนตรี นั้น แทบจะเรียกได้ว่าแสดงออกอย่างขอไปที บ่ายเบี่ยงที่จะรับผิดชอบ ไม่แคร์ต่อความรู้สึกของประชาชน แทบจะไม่ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มกำลังเท่าที่ควรจะเป็น ราวกับว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดที่เมืองไทยบ้านเกิดของตนเสียอีก

เริ่มจากกรณีน้ำมันรั่วตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ก.ค. มีการปิดข่าวนี้ และไม่ออกมายอมรับเหตุการณ์จนเหตุการณ์ผ่านไปถึงวันที่ 29 ก.ค.ซึ่งเป็นวันที่ 3 จนคราบน้ำมันแผ่กระจายไปมากแล้ว จนเห็นได้อย่างเด่นชัดทั่วทั้งท้องทะเลไทยแล้ว จึงค่อยมีการสั่งการให้หน่วยงานกองทัพเรือไปเก็บคราบน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานอะไรของบริษัท ปตท.เลย (ซึ่งควรมีหน่วยงานเก็บกู้คราบน้ำมันเป็นของตนเอง เหมือนบริษัทพลังงานของต่างประเทศ ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้ข้อมูลว่าบริษัทใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ กลับไม่มีหน่วยงานเก็บกู้หรือรองรับสถานการณ์เป็นของตนเอง และต้องไปพึ่งพาสารเคมีสลายคราบน้ำมันจาก บ.ที่สิงคโปร์ โอ้พระเจ้า! นี่มันบริษัทที่มีทรัพย์สินรายได้เป็นแสนล้านได้อย่างไร และบอกว่าจะไปลงทุนต่างประเทศอีกด้วย)

รมว.พลังงานออกมาให้ข่าว ออกหน้ารับแทนผู้บริหารบริษัท ปตท.ต่อกรณีน้ำมันรั่วเป็นตุเป็นตะ ราวกับเป็นผู้บริหารเสียเอง และไม่ได้ทำหน้าที่ รมว.พลังงานที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ให้สัมภาษณ์ออกรับแทนประมาณว่าจะเก็บกู้คราบน้ำมันได้เสร็จในเร็ววัน (3วัน,15วัน,1เดือน...) ส่วนผลกระทบบอกว่ากำลังประเมินมูลค่าเสียหายอยู่แต่อยู่ราวๆ 45-1,000 ล้านบาทไม่เกินนี้ เนื่องจากได้ทำประกันความเสียหายไว้ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้าน นี่กะว่าถ้าเกินจากนี้ ปตท.หรือรัฐบาลคงไม่รับผิดชอบงั้นสิ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกและในโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ใช้หน่วยงานจากกองทัพเรือ แทนที่จะเป็นหน่วยงาน/คนของบริษัท ปตท.หรืออย่างน้อยบริษัทเอ้าท์ซอร์สที่ ปตท.ควรจะจ้างมา แต่ไม่งานนี้มีการแฉข้อมูลมาว่าหน่วยงานจากกองทัพเรือ งบก็เป็นของกระทรวงกลาโหมตกเบิกจ่ายไปก่อน พองานเสร็จจึงจะให้ ปตท.จ่าย งานนี้ทำให้คนไทยได้เห็นความไม่ธรรมดาขององค์กรพิเศษแห่งนี้อย่าง ปตท.ที่เป็นดังไข่ในหินของรัฐบาล จนทำให้คนในรัฐบาลต้องออกมาปกป้อง และใช้ทรัพยากรของภาครัฐมาโอบอุ้มและช่วยเหลือบริษัทแห่งนี้ ราวกับเป็นอีก 1 หน่วยงานของภาครัฐ แต่อ้างตัวว่าเป็นบริษัทมหาชนและมีธรรมาภิบาล

ประชาชนรอการออกมาแถลงข่าวแสดงความรับผิดชอบของผู้บริหาร ปตท. กว่าที่จะได้เห็นภาพนั้นก็ปาเข้าไปวันที่ 6 ของเหตุการณ์ ก็คือวันที่ 1 สิงหาคม แล้ว โดยคุณไพรินทร์ ประธานบริษัท ปตท.ออกมาแถลงข่าวแสดงความเสียใจและชาร์ทอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์ ซึ่งถ้าจะต้องลำดับเหตุการณ์ใหม่หมดนั้น เหตุการณ์นี้ควรจะต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่ก็ไม่เป็นไร ประเทศไทยมักมีอะไรแปลกๆ แบบนี้ แบบคาดไม่ถึง เข็มขัดสั้น ราวกับหนังทริลเลอร์หักมุมของฮอลลีวู้ดเสมอ

ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีของไทยอยู่ต่างประเทศ ไปยังประเทศที่คนไทยไม่รู้จัก และไม่ทราบว่าไปทำไม ไปแล้วได้อะไรกลับมา ประชาชนไม่เคยรับทราบภารกิจอันสำคัญของนายกรํฐมนตรีไทยท่านนี้ ที่สุดแสนจะฉลาด เก่งกาจมากมาย เพราะบริหารประเทศมา 2 ปีกว่า เธอยังไม่อยากจะแถลงผลงานอะไรให้ประชาชนรับทราบ เธอกล่าวกับประชาชนว่าได้รับทราบเหตุการณ์อยู่ตลอด และได้โทร.สั่งการให้หน่วยงานที่เกียวข้องดำเนินการแก้ไข เอาใจใส่ ติดตามใกล้ชิดอยู่ตลอด แต่ไฉนการดำเนินการถึงได้เป็นอย่างที่ประชาชนคนไทยก็ได้รับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น มิหนำซ้ำพอกลับมาประเทศไทยแล้ว ก็ไม่ยอมที่จะลงไปยังพื้นที่ อ้างว่าได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องลงไปดูแลเอง ซึ่งประชาชนไม่ได้คาดหวังให้เธอลงไปยังทะเล เดินลุยน้ำไปดูคราบน้ำมัน หรือกินปลาโชว์ผู้สื่อข่าวอะไรอย่างที่เธอมักทำอยู่เป็นประจำหรอก แต่ประชาชนอยากจะให้เธอลงไปหาประชาชน ไปรับทราบสารทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน นักธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงคนท้องถิ่นว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างไรต่อกรณีนี้ และอยากเอาความทุกข์มาเล่าให้นายกฯของประเทศนี้ได้รับทราบเพื่อนำไปแก้ไขก็เท่านั้น

3.การสร้างภาพของบริษัท ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ PTTGC บริษัทต้นตอที่ก่อเรื่องนี้ มักสร้างภาพว่าตนเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลสูง ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนมีการตั้งมูลนิธิลูกโลกสีเขียวนี้ขึ้นมา และแต่งตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานมูลนิธิ และเคยได้มีการแจกรางวัลแก่คนไทยผู้ที่มีส่วนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแต่ละสาขา ต่อกรณีนี้ทำให้ผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ต่างทยอยนำรางวัลนี้มาคืนแก่บริษัท ปตท. เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจและไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพลักษณ์องค์กรแห่งนี้ ที่เป็นเพียงการเสแสร้ง แสร้งทำ โดยเนื้อแท้ของจิตวิญญาณขององค์กรแห่งนี้ เป็นองค์กรแสวงหากำไรสูงสุด และไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อกรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าวนั้น ฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ซึ่งไมบ่อยนักที่จะมีการคืนรางวัลในลักษณะเช่นนี้ให้เห็นในบ้านเรา และเป็นการตอกหน้า ซึ่งยังผลไปถึงภาพลักษณ์องค์กรแห่งนี้ที่เสียหายป่นปี้ที่สุด หลังจากนี้ประชาชนจะต้องจับตากิจกรรมในลักษณะ CSR ขององค์กรแห่งนี้ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป และความจริงใจจะมีมากน้อยเพียงใด

4.การเยียวยาและการทบทวนแก้ไข หลังจากนี้จะมีการตั้งหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ คณาจารย์ ผู้เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้เชียวชาญด้านสารเคมี ที่จะเข้าไปฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางทะเลอ่าวไทย การประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งทางด้านการท่องเที่ยว ด้านประมง ด้านสิ่งมีชีวิตทางทะเล เพื่อเรียกร้อง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อ PTTGC ซึ่งต้องชดเชยความเสียหายตามที่เป็นจริง อย่างทั่วถึง ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ อย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และหน่วยงานที่จะมาประเมินก็ไม่ควรจะเป็น ปตท. ควรจะเป็นหน่วยงานที่ประกอบด้วยผู้เชียวชาญ น่าเชื่อถือ เป็นกลางจริงๆ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังต้องมีการทบทวน มาตรการ การขนถ่ายน้ำมันในท้องทะเล กำหนดบทลงโทษที่รัดกุม รุนแรงต่อผู้ท่ี่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยา ส่วน ปตท.ต้องปรับปรุงอุปกรณ์ วิธีปฏิบัติงาน และบุคลากร ตั้งหน่วยงานเก็บกู้เป็นของตนเอง ถ้าคิดจะ go inter ไม่ใช่ go to hell อย่างที่เป็นอยู่



ขอไว้อาลัยแก่ผู้บริหารบริษัท ปตท.ทุกท่าน

รมว.พลังงาน,รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม,รมว.อุตสาหกรรม

นายกรัฐมนตรี



ให้กำลังใจแก่ประชาชนชาวเสม็ด อ่าวพร้าว ประชาชนชาวระยองทุกท่าน

ทหารกองทัพเรือ ,หน่วยงานภาครัฐ ,คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชียวชาญที่ลงไปช่วยเหลือทุกคน

ประชาชนที่มีจิตอาสาทุกท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น