วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สร้างวิกฤติเพื่อความเป็นเจ้าผู้ครองโลก

วิกฤติโลกเรื่องแรกก็คือวิบัติภัยทางธรรมชาติ เมื่อเร็วๆ มานี้ ได้ยินข่าวว่า ธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ที่อยู่บริเวณขั้วโลกเหนือนั้นละลายเร็วมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 เดือน ละลายเป็นน้ำใกล้จะหมดแล้ว เป็นข่าวที่ช็อกโลก และเป็นที่วิตกสงสัยของบรรดานักอุตุนิยมวิทยา นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา เป็นอย่างมาก อีกทั้งในรอบ 2-3 ปีมานี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นทั่วโลก แทบทุกทวีปถี่ขึ้น และเกิดขึ้นในอัตราที่รุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในรอบ 1-2 เดือนนี้ พายุ มรสุมพัดถล่มประเทศที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกหนักหน่วงมาก โดนกันเป็นแถบๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลี ไต้หวัน และเมื่อเร็วๆ นี้ที่ฮ่องกง และจีน ถึงขนาดเกิดน้ำท่วมในกรุงปักกิ่ง ในรอบ 50 ปี ในอเมริกาและยุโรปเผชิญสภาวะอากาศร้อนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเกือบถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่าบางประเทศในแถบเอเซียเสียอีก มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ นี่คือคำถามที่หลายคนถามอยู่ในใจ เราพอจะมีทางที่จะป้องกัน บรรเทา เยียวยาแก้ไขให้มันลดลงได้บ้างมั๊ย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าแม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเขายังนั่งกุมขมับปวดหัว ไม่รู้ว่าจะหาทางเยียวยาแก้ไขอย่างไรเลย เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดในอัตราเร่ง ทวีคูณ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจะช่วยกันก็คือต้องช่วยกันในระดับประชาคมโลกพร้อมๆ กันทั่วทั้งโลก เพราะใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถระงับยับยั้งหรือแก้ไขได้แต่เพียงลำพัง ภัยครั้งนี้ใหญ่ถึงขั้นที่เป็นมหันตภัยขั้นรุนแรงที่สามารถล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์บนโลกนี้ได้ทั้งโลกเลยทีเดียว แต่ต้องตระหนักและเริ่มลงไม้ลงมือกันคนละเล็กละน้อยนับแต่วินาทีนี้กันแล้ว ไม่อยากบอกว่ามันสายไปแล้ว เดี๋ยวจะเสียกำลังใจ ยังไงเสียผู้เขียนยังไม่คิดว่าวันสิ้นโลกจะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน และยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ยังพอจะมีสติปัญญาแก้ไข และรับมือได้อยู่





(ข้อมูลปี 2002 : ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศเอาไว้ว่า พื้นที่น้ำแข็งอันใหญ่โตกว้างขวางที่เรียกกันว่า ลาร์เซ็น บี.หรือ บี.22 ซึ่งเคยเกาะอยู่กับแผ่นทวีปแอนตาร์กติกา มานานไม่น้อยกว่า 12,000ปีมาแล้ว ได้ละลายจนเกิดการแยกตัวออกไปจากแผ่นทวีปมีขนาดกว้างถึง 2,130 ตารางไมล์ มีน้ำหนักถึง 7.2 แสนตัน ใหญ่โตกว่าประเทศเล็กๆ อย่างประเทศสิงคโปร์กว่า 9เท่า)


วิกฤติโลกเรื่องที่ 2 คือฝีทุนนิยมโลกกำลังจะแตกหรือแตกไปหลายฝีแล้ว สาเหตุเกิดจากความโลภโมโทสันต์ การเสพติดประชานิยม ลัทธิบริโภคนิยม อย่างบ้าคลั่ง และไม่มีขีดจำกัด ความไม่พอดี หรือไม่ประมาณตนในศาสนาพุทธนั่นแหละ โดยประเทศหัวหอกของทุนนิยมทั้งหลายโดนกันถ้วนหน้า นับตั้งแต่อเมริกา เจอวิกฤติซับไพร์ม ซีดีโอ และเลห์แมนบราเธ่อร์ เรื่อยมาถึงฟองสบู่แตกของประเทศอาหรับอย่างดูไบ ลามมาถึงวิกฤติหนี้สินยุโรปหรือหนี้สาธารณะในกรีซ โปรตุเกส สเปน อิตาลี ก่อนหน้านี้ก็มีประเทศที่ประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF อย่างฮังการี ไอร์แลนด์เหนือ และประเทศในยุโรปตะวันออกบางประเทศ หรือแม้กระทั่งประเทศใหญ่ๆอย่างอังกฤษก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจหนนี้ด้วยเหมือนกัน ปัจจุบันลามเข้าสู่เขตยูโรโซนไปเรียบร้อยแล้ว และสัญญาณอันตรายเมื่อเร็วๆนี้ ที่แสดงออกมาก็คือ GDP ของประเทศที่โตเร็วที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดียก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าพอเกิดปัญหาด้านหนี้สิน และสถานะการเงินการคลังในแถบประเทศตะวันตกหรือพี่เอ้ย ที่เคยทำตัวเป็นพี่เบิ้มในฟากฝั่งทุนนิยมทั้งหลาย พลอยทำให้กำลังซื้อหดหายแบบเฉียบพลัน กระทบไปถึงประเทศเกิดใหม่และประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และตลาดส่งออกจากประเทศตะวันตกกันเป็นแถบ สะท้อนผ่านตลาดหุ้นก็ดูได้ สะท้อนผ่านสินค้าโภคภัณฑ์ทุกตัวลงหมด แม้กระทั่งทองคำก็ลง ประเทศที่เคยเป็นดาวเด่นด้านส่งออก อย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เดี้ยงกันเป็นแถบๆ สะท้อนผ่านค่าเงินของพวกเขาด้วย ผลกระทบนี้จะลุกลามเป็นลูกโซ่เหมือนโดมิโน่มั๊ย หรือจะเป็นไข้เรื้อรังไปอีกนานแค่ไหน สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ ห่วงใย ของนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัย ผู้บริหารงานในระดับหัวๆ ของภาครัฐและเอกชนชั้นนำ ในทุกประเทศว่าจะนำพาองค์กรไปรอดมั๊ย หรือฝ่าด่านมหันตภัยตัวนี้ไปได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ และให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในเวลาที่จำกัดด้วย ได้อย่างไร

วิกฤติโลกเรื่องที่ 3 คือวิกฤติด้านศีลธรรม/จิตใจมนุษย์ที่ล้วนตกต่ำ เสื่อมลง อย่างถึงที่สุดในยุคปัจจุบันนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อะไรบ้าง ที่พอจะยกเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดก็คือ การใช้เด็กเป็นโล่ห์มนุษย์ในสงครามหรือการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ หรือใช้นักรบเด็ก ยังไม่นับรวมการใช้แรงานเด็กในภาคอุตสาหกรรม การค้ามนุษย์ขอทานเด็ก โสเภณีเด็ก ถ้าเป็นในประเทศเราเองที่เจอมากที่สุดก็คือปัญหาชิงสุกก่อนห่าม คือปัญหาแม่วัยใส การทำแท้ง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จนเกิดสภาพท้องก่อนแต่งหรือท้องแบบหาพ่อของเด็กไม่ได้ จนเกิดผลกระทบข้างเคียงก็คือการทำแท้ง สูงมากในประเทศนี้ ปัญหาแรงงานเถื่อน ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาผู้อพยพข้ามแดนจากการสู้รบหรือการไม่รับสภาพการเป็นประชากรของประเทศ เช่น โรฮิงยา ปัญหามิจฉาชีพในทุกรูปแบบและโดยเฉพาะแฝงเข้ามาในคราบของภิกษุ หรือนักบวช นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จะเห็นข่าวว่าพระค้ายาบ้า เสพยาบ้าก็มี พระข่มขืนสีกาหรือพระตุ๊ด เณรแต๋ว พระเกย์ เพิ่มขึ้นมากมายในประเทศนี้ แก๊งค์ตกทอง แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ ที่ต้มตุ๋นหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงิน ถึงขนาดมีคอลเซ็นเตอร์อยู่ประเทศนึง ไปหลอกเหยื่ออยู่อีกประเทศนึง ทำกันอย่างเป็นกระบวนการคือแท็คทีมทำกันแล้วเดี๋ยวนี้ กระจายไปในทุกวงการ เมื่อก่อนที่ว่าเจ๋งก็อย่างพวกการพนันในบ่อน การพนันฟุตบอลที่เจ้ามืออยู่ต่างประเทศ พัฒนามาเป็นเว็บไซต์ออนไลน์ การค้าประเวณีของพวกสังคมไฮโซ ดาราเซเลป ที่พวกที่ใช้บริการเป็นนักการเมืองระดับชาติ ไปจนถึงการค้ายาบ้าที่ผู้บงการสั่งของออกมาจากในคุกก็มี ถ้าในระดับประเทศก็พวกนักการเมืองก็กินหัวคิว กำหนดนโยบาย สร้างโปรเจ็คหรือโครงการ ล็อกสเป็คและอนุมัติให้คนของเครือข่ายตัวเองมารับงาน ถ้าในระดับโลกก็เวลานี้ประเทศมหาอำนาจโลกร่วมหัวกันบีบบังคับประเทศเล็กๆ ให้จำต้องยกดินแดนให้อีกประเทศนึงแล้วแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานใต้พื้นดินกัน โดยไม่สนใจใยดีต่อประชาชนของประเทศนั้น เป็นการตกลงแบ่งเค้กกันของพวกขายชาติในระดับหัวๆ กัน ถ้าในหลายๆ ประเทศในโลกมุสลิมที่รู้แกว ฉลาดทันพวกมหาอำนาจ และไม่ยอมที่จะให้มหาอำนาจมาแสวงหาประโยชน์เอาเปรียบด้านพลังงาน ก็จะถูกกลั่นแกล้งโดยใช้ข้ออ้างเรื่องผู้นำเป็นเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตยต้องแทรกแซงด้วยการคว่ำบาตรบ้าง รวมหัวกันไม่ซื้อน้ำมันบ้าง ใช้กลไกด้านการเงินไปอายัดหรือตรวจสอบบัญชีเงินฝากบ้างหล่ะ หรือหนักๆ เข้าก็ไปถล่มทำสงครามยึดครอง และปกครองให้ได้ สุดท้ายก็คือหวังไปปล้นเอาพลังงานของประเทศเขามาเป็นของตัวเอง โลกจึงลุกเป็นไฟอยู่ในเวลานี้นั่นเอง ตัวอย่างก็ ลิเบียเสร็จไปแล้ว ที่กำลังต่อสู้กันอยู่ก็คือที่ซีเรีย และที่หมายมั่นปั้นมืออยากจะได้ก็คืออิหร่าน แต่คงต้องเหนื่อยหน่อย เพราะเขาไม่ใช่ประเทศเล็กๆ และมีแบ็คดีอย่าง รัสเซีย จีนหนุนหลังด้วย มหาอำนาจโจรตัวนั้น คงลำบากนิดนึง แต่ไม่ยอมลดละแน่นอน เพราะมหาอำนาจโจรชาตินี้เป็นผู้ค้ารายใหญ่ด้านพลังงาน อาวุธรายใหญ่ของโลกด้วย อีกทั้งมหาอำนาจโจรตัวนี้แหละเป็นต้นตอของปัญหาวิกฤติโลกทั้ง 3ข้อนี้เลย มีส่วนเอี่ยวในทุกวิกฤติอย่างไม่รู้สำนึก ยังคงตั้งหน้าตั้งตาสร้างวิกฤติต่อไปเรื่อยๆ ฉากหน้ามักแสดงตนเป็นตำรวจโลก แต่แท้ที่จริงแล้วคือโจรปล้นทรัพยากร สูบความมั่งคั่งของทุกประเทศที่ตนเองไปปฏิสัมพันธ์ด้วย คือทฤษฏีของเขาคือทำลายก่อนแล้วยึดครอง จากนั้นค่อยสร้างขึ้นมาใหม่อีกที แต่ที่สุดแล้วต้องเป็นของเขาหมด เพราะเขาคือเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียว



(ภ.อเมริกันเรื่อง Dictator สร้างโดยซาช่า บารอน โคเฮน เนื้อหาจิกกัดพฤติกรรมผู้นำเผด็จการโลกที่ 3 แต่ออกแนวอคติหรือมุมมองด้านลบมากเกินไป ,Farenhei 9/11 สร้างโดยไมเคิล มัวร์ เนื้อหาจิกกัดพฤติกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐ ,The Ides of March สร้างโดยจอร์จ คลูนี่ย์ เนื้อหาเรื่องราวของแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งระหว่างที่นักการเมืองรายหนึ่ง (รับบทโดย จอร์จ คลูนีย์) ออกหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ผู้ช่วยของเขา (รับบทโดย ไรอัน กอสลิ่ง) ก็ได้พบกับความไม่ชอบมาพากล และเรื่องสกปรก ในเบื้องลึกเบื้องหลังของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้สมัครหาเสียง เลือกตั้งประธานาธิบดี จึงเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการเปิดโปงเกิดขึ้น ดูทั้ง 3 เรื่องประกอบกัน จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของนักการเมือง,การเมืองในโลกใบนี้ได้กระจ่างมากขึ้น)


อ้างอิงบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับมหันตภัยธรรมชาติที่กำหนดโดยฝีมือมนุษย์
http://www.oknation.net/blog/nidnhoi/2011/10/10/entry-5

http://en.wikipedia.org/wiki/Jesse_Ventura

และบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง Margin Call ภ.ที่พูดถึงเหตุการณ์ 24 ชั่วโมงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน Lehman Brother


MARGIN CALL (2011) The Day After Tomorrow
บทวิจารณ์ โดย อ. ประวิทย์ แต่งอักษร

โดยรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว Margin Call ไม่ใช่หนังสำหรับคนเดินดินกินข้าวแกง ทั้งนี้ก็เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงอยู่กับการพังครืนของระบบเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008-ซึ่งว่าไปแล้ว ต้นสายปลายเหตุของมันไม่เพียงซับซ้อน ยังมีเงื่อนไขและปัจจัยสารพัดสารเพผูกพัน รวมทั้งคล้ายๆว่าผู้ชมยังถูกเรียกร้องให้ต้องมีพื้นภูมิความรู้ในเรื่องจำเพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นและการลงทุน เพราะไม่อย่างนั้น-ก็คงประสบความยากลำบากในการติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาและศัพท์แสงที่บรรดาตัวละครในหนังเรื่องนี้โต้ตอบกัน-ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับของมนุษย์ต่างดาว

แต่เอาเข้าจริงๆแล้ว นั่นก็เป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้ม และเนื้อแท้ของหนังเรื่องนี้-ก็ไม่ได้อยู่เกินกำลังความสามารถในการทำความเข้าใจของปุถุชนคนธรรมดา พูดอย่างง่ายที่สุด หนังเรื่อง Margin Call ก็คือ Titanic ที่ตัดทอนโรแมนซ์(อันเหลวไหล)ของแจ็คกับโรสทิ้งไป และสถานการณ์ในช่วงก่อนที่หนังจะเริ่มต้น-ก็คือตอนที่เรือไททานิกกำลังตรงดิ่งเข้าไปหาภูเขาน้ำแข็งในท่ามกลางความเงียบสงัดและความมืดมิดที่ปกคลุม ขณะที่โฟกัสของ Margin Call ได้แก่การถ่ายทอดปฏิกิริยาของคนกลุ่มแรกๆที่สังเกตเห็นความไม่ชอบมาพากล และในห้วงเวลาที่คับขันจวนเจียน หนทางเดียวที่พวกเขาทำได้-ก็คือการกระโดดขึ้นเรือชูชีพเพื่อเอาตัวรอดเพราะตระหนักในข้อเท็จจริงสองประการ หนึ่ง จำนวนเรือชูชีพไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้โดยสารทั้งลำ (และนั่นยังไม่ต้องนึกถึงอาการสติแตกของคนตอนหนีตาย) และสอง ความวินาศสันตะโรของการประสานงาจะส่งผลให้งานนี้-ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย (หรือฉิบหายขายตัว) เป็นเบือแน่นอน

ความน่าสนใจอย่างที่สุดของหนังเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งได้แก่เนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่าอย่างเข้มข้นและชวนให้จดจ่อติดตามชนิดไม่อาจละวางสายตา หมายความว่าหนังของ เจ.ซี.แชนเดอร์แจกแจงได้อย่างรัดกุมและเป็นลำดับขั้นตอนให้รับรู้ว่า-เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนักวิเคราะห์หนุ่มของบริษัทซื้อขายหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง (สันนิษฐานได้ไม่ยากว่ามันคือเลห์แมน บราเธอร์ส หนึ่งในตัวการที่นำพาให้ตลาดหุ้นพังพินาศ) พบความผิดปกติในวงจรหนี้สิ้นของบริษัทและสรุปได้ในที่สุดว่ามันคือสัญญาณของหายนะที่เริ่มก่อตัว ซึ่งมันตามติดมาด้วยการวางแผนรับมือที่ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อนเกินไปกว่าการเทขายหุ้นทั้งหมดทิ้งให้เร็วที่สุดก่อนที่มันจะไม่เหลือมูลค่าในตัวมันเอง หรือไม่เช่นนั้น-ถ้าอ้างคำพูดของตัวละคร มันก็จะกลายเป็น ‘กระสอบใส่อุจจาระที่เหม็นหึ่งและมีขนาดมหึมาที่สุดในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม’

อีกส่วนได้แก่การบอกเล่าข้อมูลปลีกย่อยเกี่ยวกับบรรดาตัวละครหลักที่มีอยู่ราวๆ 7-8 คน ซึ่งไม่ว่ามันจะผ่านกระบวนการเสกสรรปั้นแต่งในทางดราม่าเพียงใด อย่างน้อยที่สุด มันก็ช่วยให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความเป็นมนุษย์มนาของตัวละครแต่ละคน มีความรู้สึกรู้สม และไม่ใช่ภูตผีปิศาจที่ถูกวาดอย่างน่ากลัวและเกินจริง และไม่มากไม่น้อย มันสร้างความหนักแน่นและน่าเชื่อถือให้กับตัวหนังอย่างมีนัยสำคัญ

เราได้รับรู้ว่าตัวละครสองคนในเรื่องร่ำเรียนทางด้านวิศวกรรม คนหนึ่งสร้างจรวด ส่วนอีกคนสร้างสะพาน แต่ตัวแปรที่หัวเหวิถีชีวิตของทั้งสองคนให้กลายมาเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น-ก็คือเรื่องของเงิน หนังยังบอกอีกว่าขณะที่รายได้ต่อปีของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน-เท่ากับสองแสนห้าหมื่นเหรียญ ซึ่งใครคนนั้นก็แสดงออกทำนองว่ามันเป็นตัวเลขที่งดงาม ทว่ามันกลับเทียบเคียงไม่ได้แม้แต่กระผีกริ้นกับรายได้ต่อปีของคนระดับซีอีโอ.ที่สูงถึง 86 ล้านเหรียญ หรืออีกนัยหนึ่ง สวาปามก้อนเค้กคำโตกว่าเพื่อน

แต่สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้น-เมื่อประกอบเข้าเป็นภาพใหญ่ มันก็นำพาผู้ชมมาสู่ข้อสรุปอย่างน้อยที่สุดสองสามประการด้วยกัน นั่นคือ เงินและความโลภกัดกร่อนสติและสัมปชัญญะของผู้คนได้อย่างง่ายดาย, หายนะครั้งนี้มันใหญ่เกินไป และไม่มีใครคนหนึ่งคนใด ไม่ว่าสำนึกทางคุณธรรมของเขาจะสูงส่งหรือต่ำเตี้ยติดดินแค่ไหน-สามารถยับยั้งความเลวร้ายครั้งนี้ไม่ให้ประทุขึ้นมาได้ และการเล่นหุ้นก็เหมือนกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี

ท่วงท่าในการร่ายรำไม่มีความหมายแต่อย่างใด ผลแพ้ชนะอยู่ในตอนที่เสียงเพลงหยุดลง และแท็คติกก็คือ ความรวดเร็ว โหดเหี้ยม เลือดเย็น และถ้าจะมีใครหาเก้าอี้นั่งไม่ได้และต้องเดินออกจากเกม ‘มันก็ควรจะเป็นมึง ไม่ใช่กู’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น