วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน

ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน comment แนะนำ

หนังสือ pocket book แนวสารคดีการเดินทาง ในหมวด บทความ
สำนักพิมพ์ springbooks

“เก่งไม่เก่ง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อยู่ที่ขนาดของหัวใจ มากกว่า” ทิม พิธา

“ติดตามงานเขียนของคุณทิม ผ่านทางนิตยสาร สุดสัปดาห์ มาโดยตลอด เพราะชื่นชอบในมุมมอง วิธีคิดของหนุ่มไทยรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้ และยังได้เพลิดเพลินกับประสบการณ์ใหม่ ๆ การได้พบเจอกับบุคคลระดับโลกมากมาย แต่สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุด คงเป็นเรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจของคุณทิมที่จะนำความรู้ ต่างๆ มาทำประโยชน์”

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กก.ผจก.อมรินทร์พริ้นติ้งพับลิชชิ่ง

“แต่เหนืออื่นใด เหตุผลที่ทำให้สุดสัปดาห์ประทับใจว่า ทิม พิธา เป็นคนมีค่า คือ ความรักชาติ ค่ะ คำนี้ใครๆ ก็พูดได้ แต่ทิมแสดงออกผ่านวิธีคิด มุมมอง และการกระทำหลายอย่าง เท่าที่ประชาชนคนไทยธรรมดาๆ คนนึง จะพึงทำได้”

มนทิรา ภูปากน้ำ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สุดสัปดาห์

“เสน่ห์ของทิม คือการเป็นคนฉลาด แต่นอบน้อม เป็นคุณสมบัติที่เหมือนจะหาได้ทั่วไป แต่หายากนะ หนังสือเล่มนี้รวบรวมมาจากคอลัมน์ จดหมายจากฮาร์วาร์ด ของเขาในนิตยสารสุดสัปดาห์”

สหัสวรรษ ใฝ่เจริญ บรรณาธิการต้นฉบับ

ผู้เขียนรู้จักน้องทิม ครั้งแรกในรายการ สุริวิภา เป็นการให้สัมภาษณ์ในรายการ ซึ่งตอนนั้นนั่งฟังดูก็รู้สึกว่า เด็กคนนี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพอร์เฟ็คท์ คือ เรียนเก่ง บุคลิกหน้าตาดี พื้นฐานทางครอบครัวดี มีทัศนคติมองโลกในแง่บวก เป็นคนที่มีมุมมองทางความคิดเกินอายุ หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดตามข่าวคราว จนมาได้ยินเมื่อไม่นานมานี้ว่าแต่งงานแล้วกับอดีตดาราวัยรุ่นชื่อต่าย และก็ออกพ็อคเก็ตบุ้ครวมเล่มบทความที่ได้เคยเขียนลงในแพรว สุดสัปดาห์ พอวางแผง ผู้เขียนก็ไม่พลาดที่จะซื้อทันที พอเอามาอ่านก็ชอบ จึงได้นำมาแนะนำในบล็อกแห่งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านโดยทั่วไปได้ลองอ่านกันดูครับ

ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (เจ้าของผลงาน) จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง ที่ John F.Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านบริหารธุรกิจ ที่ MIT Sloan School of Management เป็นนักศึกษาไทยคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของโลก

ชื่อ นามสกุล: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ชื่อเล่น: ทิม
อายุ: 28 ปี
ส่วนสูง: 175 เซนติเมตร
น้ำหนัก: 67 กิโลกรัม
การศึกษา: ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง


ครอบครัว: มีพี่น้อง 2 คน เขาเป็นคนโต เป็นบุตรชายของคุณพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับคุณลิลฎา ลิ้มเจริญรัตน์
ประวัติการทำงาน: กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด และเกรท โอเชียน ฟู้ด


“การเรียนที่ฮาร์วาร์ด เป็นมากกว่าการเรียนหนังสือ หนังสือเรียนแทบไม่ต้องใช้ แต่อาศัยเรียนจากคนจริงๆ”

“เด็กรุ่นใหม่ ที่นี่เน้น เนื้อหา มากกว่า รูปแบบ เน้น สาร มากกว่า หีบห่อ ที่ดึงดูดความสามารถทั่วโลกมารวมกันในเมืองเหงาๆ แห่งนี้”

“วิชานี้ไม่มีหนังสือเรียน ถ้าเรียนจากหนังสือ หมายถึงคุณจะกลับไปหาอดีต แต่ถ้าเรียนจากเพื่อนรอบข้าง คือคุณเรียนจากอนาคต”

“เอาเวลาท่องจำไปเรียนนอกห้องดีกว่า ไม่ต้องเรียนทฤษฏีมากมาย สำหรับโลกในบริบทใหม่ ทฤษฏีมีไว้ทำลาย”

“การเดินทางเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันชีวิตไปข้างหน้า การท่องเที่ยวทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น โลกที่กว้างใหญ่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ”

"... ตลอดเวลาเรียนปริญญาโทในสองมหาิวิทยาลัยระดับโลก ผมไม่เคยรู้สึกว่ายากเลย (ตอนเรียนปริญญาตรีที่มหาิวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยากกว่าด้วยซ้ำ) สิ่งที่เขาเน้นคือ "อ่าน อ่าน และอ่าน" อ่านแล้วแลกเปลี่ยน อ่านแล้วเขียน ไม่ใช่การอ่านจากหนังสือเรียนที่เขียนมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปี แต่เป็นการอ่านจากแมกกาซีน จากอินเทอร์เน็ต จากบล็อก แล้วมาถกกันให้ตกผลึก การเรียนการสอนแบบนี้ต่างหากที่ทำให้สองมหาวิทยาลัยนี้เป็นอันดับหนึ่งของโลกในสาขาที่ตัวเองถนัด ..."

เนื้อหาของหนังสือ เรียงตามสารบัญเนื้อหา ดังนี้

คาบเรียนที่ 1 วิชาฮาร์วาร์ด

คาบเรียนที่ 2 คนบันดาลใจ

คาบเรียนที่ 3 สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

คาบเรียนที่ 4 มองประเทศไทยจากเมืองไกล

คาบเรียนที่ 5 Living etc.

ขอเล่าย่อๆ เพียงบางส่วนของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ที่ผู้เขียนอ่านแล้วชอบ คือตอน “ Nerd Pride ความภูมิใจของของเนิร์ดอันดับ 1 ของโลก” , และตอน “โลกร้อนและการเข้าใจสมการแห่งวิกฤติและโอกาส”

“เด็กเนิร์ดที่ MIT เป็นเนิร์ดแบบมีศักดิ์ศรีและมีสังคมนะ เขามีการแข่งขันที่เป็นตำนาน เรียกว่า MIT Hacks ครั้งสุดท้ายที่เห็นมีเนิร์ดกลุ่มหนึ่งนำรถตำรวจไปวางไว้บนยอดโดมหอประชุมของ มหา’ลัย ไม่รู้มันเอาขึ้นไปวางได้ไง ผมเองไม่ค่อยสนใจกับอารมณ์และความตื่นเต้นของการแข่งขันที่รุ่นพี่คนนนั้นพูดสักเท่าไหร่ กระทั่งเช้าวันหนึ่งได้เห็นมันกับตา สิ่งที่ MIT Hacks ให้กับผมก็คือ 1.จงตระหนักถึงพลังของคนรุ่นใหม่ที่แม้จะมีประสบการณ์น้อย แต่พลังกับความกล้า ก็สามารถทำให้คนทึ่งได้2.บรรยากาศการเรียนที่สนุกสนาน ท้าทายให้กล้าคิดและกล้าลอง จะเห็นว่าสินค้า สิ่งประดิษฐ์แปลกๆ และใช้งานง่ายในเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดัง เป็นผลผลิตจากมันสมองของศิษย์เก่า MIT แทบทั้งสิ้น”

“หิมะตกเดือนตุลา เป็นสัญญาณภาวะโลกร้อนที่ทำให้ชาวอเมริกันตระหนักในประเด็นนี้ เป็นช่วงเวลาที่ ปธน.บารัก โอบาม่า เดินทางมาพูดบรรยายเรื่องโลกร้อนและพลังงานทดแทนที่เอ็มไอทีพอดี คณาจารย์และนักเรียนเอ็มไอทีจากแขนงวิชา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม บริหารธุรกิจ โลจิสติกส์ ฯลฯ ได้ร่วมกับภาคเอกชนเดินทางไปศึกษาชั้นน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกา แล้วรวบรวมข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปีมาสร้างโมเดลที่สามารถคาดการณ์ผลกระทบของภาวะโลกร้อน(สูงขึ้นปีละ 2-3 องศาเซลเซียส) หาวิธีแก้ปัญหาและบ่มเพาะนิสัยการประหยัดพลังงาน รวมถึงแยกขยะรีไซเคิลให้เกิดขึ้นกับนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อนเสร็จ มีการบรรยายเรื่อง Entrepreneurship ตอนนี้ทั่วอเมริกากำลังตื่นตัวกับสองกระแสหลัก นั่นคือ เรื่องภาวะโลกร้อน กับอีกเรื่องคือ สอนให้นักเรียนนักศึกษาเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าจะเป็นพนักงานบริษัท อาจารย์เน้นเรื่องที่ 2 มากๆ ท่านพยายามโน้มน้าวทุกคนว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะเริ่มธุรกิจของตนเอง เด็กจบใหม่ไม่อยากเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เพราะกลัวความเสี่ยง สู้งานจากบริษัทเอกชนที่มั่นคงมากกว่าไม่ได้ แต่ความจริงแล้วภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้ความมั่นคงในงานลดลง พวกมนุษย์เงินเดือนแทบไม่เหลือความมั่นคงในชีวิต ความเสี่ยงของมนุษย์เงินเดือนกับผู้ที่เริ่มทำธุรกิจของตนเองจึงเกือบจะเท่ากัน คนที่ทำธุรกิจ ณ เวลานี้ มีความเสี่ยงน้อยเพราะทำในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ที่สุด ดังนั้น ความน่าจะเป็นว่าโอกาสที่พรุ่งนี้จะดีกว่าจึงมีมากขึ้น”





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น