ละครเวที (play หรือ stageplay) ละครเพลงซึ่งเน้นการร้องมากกว่า คาดกันว่าละครเวทีมีมาตั้งแต่สมัยกรีก อริสโตเติลบันทึกไว้ว่าละครของกรีก เริ่มต้นขึ้นจากการกล่าวคำบูชาเทพเจ้าไดโอนีซุส เทพเจ้าแห่งไวน์และความอุดมสมบูรณ์ จุดเด่นของละครเวทีคือ การสื่อสารระหว่างผู้ชมกับนักแสดง การสื่อสารระหว่างผู้ชมและนักแสดงเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน วอลเตอร์ เคอร์ นักวิจารณ์ชาวอเมริกันพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับนักแสดงเช่นนี้ไม่มีในภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่สร้างมาสำเร็จรูปแล้ว มันไม่สามารถตอบสนองเราได้ เพราะนักแสดงในภาพยนตร์ไม่สามารถได้ยินเรา รู้สึกถึงตัวตนของเราและไม่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ไม่มีผลใดๆ"
องค์ประกอบของละครเวที คือ การแสดงสดบนเวที ที่มีฉาก แสง เสียง ประกอบ และบทละคร คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำละครทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครเวที เพราะมันคือ ตัวกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ ทุกอย่างในละคร ไม่ว่าจะเป็น โครงของเรื่อง ,สีสันของแสง ของฉาก ของเสื้อผ้า และรวมไปถึงการแสดง (acting) ของนักแสดงด้วย
ละครเวที เป็นศาสตร์และศิลปะชั้นสูง ทางด้านการแสดง เป็นศิลปะวิทยาการที่มีมานานมากแล้ว ถ้าจะนับในระดับโลกก็น่าจะเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือ ยุคเรเนซองค์ นู่นเลย ถ้าเป็นบ้านเราการแสดงละครเวทีในบ้านเราก็น่าจะเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยก่อนผู้ที่จะเข้าชมได้ต้องเป็นสังคมชั้นสูงเท่านั้น พวกเชื้อพระวงศ์ คหบดี ข้าราชการระดับสูง พวกชาวบ้านธรรมดา ที่การศึกษาไม่สูงนัก โอกาสที่จะได้รับชมการแสดงแบบละครใน ยังยากเลย แต่การแสดงแบบละครเวทีเป็นศาสตร์ชั้นสูงของเมืองนอก ทำให้บทประพันธ์ที่นำมาแสดงในยุคแรกๆ มักจะเป็นบทประพันธ์ดังๆ จากบรอดเวย์ ,วรรณกรรมระดับโลก ของต่างประเทศ เช่น ราโชมอน ,โรมิโอแอนด์จูเลียต ,ดอน กิโฆเต้ ,เดอะ แพนทั่ม ออฟเดอะโอเปร่า ภายหลังพอเข้าสู่ยุคละครเวทีเฟืองฟูจึงเริ่มมีการนำบทประพันธ์ของไทยมาดัดแปลงเป็นละครเวที เช่น พันท้ายนรสิงห์ ,อิเหนา ,ผู้ชนะสิบทิศ ,ขุนช้างขุนแผน หรืออาจใช้บทประพันธ์ที่ประพันธ์ขึ้นมาใหม่สำหรับละครเวทีโดยตรง เช่น ฉันผู้ชายนะยะ , วิมานเมือง ,บัลลังก์เมฆ ยุคบุกเบิกของละครเวทีตามแบบฉบับสากล ในบ้านเรา จะเป็นช่วงปี 2525-2535 เป็นยุคของละครเวที ที่เล่นอยู่ในโรงแรมมณเฑียร ย่านสุรวงศ์ (มณเฑียรทองเธียเตอร์) คนที่เป็นเจ้าแม่แห่งยุค ก็คือ บริษัท แดส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ทีมงานของ คุณ ต้อ มารุต สาโรวาท พวกคุณหงุ่ย วราพันธุ์ อ.ดร.เสรี วงศ์มณฑา เป็นหัวหอกในยุคนั้น ต่อมาก็เป็นยุคของโรงละครภัทราวดี เธียเตอร์ โดยคุณภัทราวดี มีชูธน ช่วงนั้นก็มีลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์สดใส พันธุมโกมล และอาจารย์ช่าง จากรั้วอักษรศาสตร์,นิเทศศาสตร์,สถาปัตย์ จุฬา พวกทีมงานที่ออกมาอยู่ เจเอสแอล แกรมมี่ กระจายไปอยู่ตามบริษัทบันเทิงหลายค่าย หลายช่อง ต่อมาบริษัทแกรมมี่ ได้ตัวคุณบอยมานั่งกุมบังเหียน (คุณบอยเรียนจบมาทางด้านการแสดงโดยตรง) บ.เอ็กแซ็กท์ และคุณบอยเป็นอีกค่ายนึงที่สนใจทำละครเวทีขึ้นมาและเป็นค่ายที่กล้าลงทุนนำเข้าอุปกรณ์สมัยใหม่และสร้างทีมงานละครในระบบมืออาชีพแบบเดียวกับสากล กระแสละครเวทีก็คึกคักขึ้นมาใหม่ จากที่ต้องไปเช่าเสถานที่แสดงละครตาม ศูนย์วัฒนธรรมบ้าง โรงละครแห่งชาติบ้าง เพราะบ้านเราในตอนนั้นยังไม่มี สถานที่ที่สร้างขึ้นมาสำหรับเป็นโรงละครเวทีสมบูรณ์แบบ ทำให้คุณบอย ดำริอยากจะสร้างโรงละครเวทีแห่งใหม่ที่สมบูรณ์แบบ เทียบเคียงโรงละครบรอดเวย์ของอเมริกา จึงเป็นทีมาของโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ตัวที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดา ซึ่งพอสร้างเสร็จก็ได้เปิดมิติใหม่ของละครเวทีในบ้านเรา เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการปลุกกระแสการดูละครเวทีให้กลับมาอย่างคึกคักในยุคนี้ โรงละครแห่งนี้เปิดรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกด้วยละครเวทีเรื่องฟ้าจรดทราย (บทประพันธ์ชื่อดัง) ตามมาด้วย ข้างหลังภาพ แม่นาคพระโขนง หงส์เหนือมังกร ทวิภพ และที่ดังฮือฮาเมื่อปีที่แล้วคาบเกี่ยวมาถึงต้นปีนี้ เล่นกว่า 100 รอบ (มากที่สุดตั้งแต่เคยมีการแสดงมาของโรงละครแห่งนี้) ก็คือเรื่อง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ,ล่าสุดกำลังแสดงเรื่อง รักจับใจ เดอะโรแมนติกมิวสิคัล , และเรื่องที่กำลังจะเปิดแสดงในช่วงปลายปีนี้เป็นละครเวทีชื่อเสียงก้องโลก (ซื้อลิขสิทธิ์จากบรอดเวย์มา) คือเรื่อง มิสไซง่อน น่าจะเป็นละครเวทีฟอร์มยักษ์แห่งปีที่พลาดไม่ได้อีกเรื่องนึง
ละครบรอดเวย์ (อังกฤษ: Broadway theatre) มีชื่อเสียงทางด้านของศิลปะการละครเวที มีเอกลักษณ์ของละครอเมริกันอย่างที่นิยมกันเรียกกันว่าละครเพลง มีองค์ประกอบรูปแบบการแสดง เพลงและการเต้นรำในลักษณะต่างๆ ที่กำหนดไว้อย่างตายตัวไม่ว่าจะมีการแสดงสักกี่รอบก็ตาม โดย บรอดเวย์ เป็นชื่อของถนนสายหนึ่งในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาและวงการภาพยนตร์ก็มักจะนำเรื่องราวจากละครเพลงมาทำเป็นภาพยนตร์และส่วนมากจะประสบความสำเร็จได้รางวัลอยู่เสมอ เช่น เรื่อง West Side Story, The Sound of Music, South Pacific, The King and I, และ Chicago เป็นต้น
ละครเพลงบรอดเวย์ แต่ละเรื่องมักได้รับความนิยมยาวนานมาก ตัวอย่าง เมื่อวันที่ 9 มกราคมปีนี้เอง ที่สถิติบันทึกว่า ละครเพลงเรื่อง The Phantom Of Opera ได้ทำการแสดงยาวนานที่สุด จำนวน 7,486 รอบ ณ โรงละครมาเจสติก และหลายเรื่องได้รับรางวัลโทนี่ ซึ่งเป็นมาตรฐานดีที่สุดของวงการบรอดเวย์ ในยุคแรกของละครเพลงที่เกิดขึ้นนี้ได้รับอิทธิพลทางการแสดงจากประเทศทางแบบยุโรป ซึ่งมีลักษณะเป็นโอเปร่า (Operetta)คือมีรูปแบบการร้องเพลงแบบโอเปราร่วมกับการแสดง และมีโครงเรื่องที่มีลักษณะเหนือจริงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรัก มีการเต้นประกอบการแสดงที่เรียกกันว่า โรแมนติก บัลเล่ต์ (Romantic Ballet) เช่นเรื่อง The Red Mill (1906) Naughty Marietta (1910) Sweethearts (1913)
ยุคที่สอง ในยุคนี้จัดว่าเริ่มเป็นยุคของละครเวทีแบบอเมริกันโดยแท้ คือมีรูปแบบการประพันธ์ เค้าโครงเรื่อง และองค์ประกอบต่างๆ ของละครมีลักษณะเป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ชาวเมืองปกติในอเมริกา ใช้เพลงป็อป มีการนำการเต้นรำเข้ามาประกอบ มีบทพูดและมีการร้องเพลง การเต้นรำเพื่อเชื่อมต่อเรื่องราวจากเหตุการณ์หนึ่งไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง มีการเปลี่ยนฉาก มีบทชวนหัว เสียดสีล้อเลียนเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ที่เข้ากับเหตุการณ์ตอนนั้น ผู้นำการผลิตละครเพลงเวทีแบบอเมริกันในยุคนี้ได้แก่ จอร์ช แอมโคแฮน (1848-1942), เจอโรม เคิร์น (1885-1945), เออร์วิง เบอร์ลิน (1888-1985) ละครเพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนี้ได้แก่ Show boat (1927),Funny Face (1927), Roberta (1933), Annie get your guns (1946)
ยุคที่สาม จะมีเนื้อหาและเรื่องราวของละครเพลงในยุคนี้เน้นการเสนอเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตจริงมากขึ้น และมีการนำเรื่องจากบทกวี วรรณคดีมาแสดงและผสมผสานเนื้อเรื่อง มีการเต้นรำมากขึ้น ละครเพลงในยุคนี้มีลักษณะเป็นละคร (Drama) มากขึ้น มีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าในยุคก่อน ผลงานเด่นในยุคนี้ได้แก่ Oklahoma! (1943) , South Pacific (1949), The King and I (1951), My Fair Lady (1956), The Sound of Music (1959)Camelot (1960), Funny Girls (1964) เป็นต้น
ยุคที่สี่ เป็นยุคของรูปแบบใหม่แห่งวงการละครเพลง คือการนำเสนอเรื่องราวจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวของวีรบุรุษ ความรักความยิ่งใหญ่ตระการตาหมดไปมีการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตสังคมในแง่มุมต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็น จบลงด้วยความสุข หรือเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ อาจจะมีการใช้เพลงร็อกแอนด์โรลประกอบการแสดง เช่น Jesus Christ Superstar (1968) Grease (1972) และในยุคนี้นับเป็นการเริ่มต้นละครแบบทดลองคือมีการนำเรื่องราวที่แปลกออกไปมานำเสนอเช่นเรื่อง Cabaret (1966) และเรื่อง Evita (1970)เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายและกลายเป็นละครเวทีที่ได้รับความนิยมเปิดแสดงติดต่อกันเป็นเวลานาน เพลงประกอบที่ได้รับความนิยมมากจากละครทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ Cabaret, May be this time, Don’t cry for me Argentinaซึ่งประพันธ์โดยเจ้าพ่อแห่งวงการละครเพลง แอนดรู ลอยด์ เว๊บเบอร์
ปัจจุบันละครบรอดเวย์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาปรับใช้ให้เข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องสร้างภาพ 3 มิติ เครื่องสร้างปรากฏการณ์ธรรมชาติเทียม ทำให้ละครดูสมจริงสมจังมากขึ้นทุกที เป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้ชมชื่นชอบละครบรอดเวย์มาโดยตลอด
ลักษณะของละครบรอดเวย์
ละครชวนหัว (Musical Comedy) คือเป็นแนวทางในการจัดทำละครบรอดเวย์เหล่านี้มักจะเป็นแนวเบาสมอง เป็นส่วนใหญ่ และมีการสอดแทรกมุขตลกอยู่เสมอ
เน้นหนักด้านเนื้อเรื่อง บทร้อง และทำนองเพลงการเต้นรำที่ใช้ประกอบเพลงซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างให้เป็นเพลง “ฮิต” บทร้องและดนตรีจึงมีความสำคัญมาก ทำให้รวมไปถึงผู้ออกแบบท่าเต้นประกอบเพลง (Choreographer) เช่น เจอราลด์ รอบบินส์ (Jerome Robbins – West Side Story 1957), แอกเนส เดอ มิล (Agnes de Mille – Oklahoma! 1943), บ๊อบ ฟอซซี่ (Bob Fossi – Cabaret 1966)
หมอละคร (Show Doctor) คือผู้ที่ช่วยแก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ของละครให้ดีขึ้น ถ้าเห็นว่าการแสดงในรอบปฐมทัศน์ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นเรื่อง คาเมล๊อต (Camelot)มอส ฮาร์ทได้เข้ามาปรับปรุงแก้ไข ทำให้ละครเรื่องนี้กลับมาเป็นละครเพลงบรอดเวย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องหนึ่งในเวลาต่อมา
ดารา มักจะกลายเป็นดาราที่มีชื่อเสียงในวงการอื่นๆ ด้วย เช่นวงการภาพยนตร์หรือ วงการโทรทัศน์ เช่น จูลี่ แอนดรูส์ (จาก The Sound of Music 1959) ซึ่งแตกต่างจากดาราโอเปรา เพราะโอเปราใช้เสียงเป็นสื่อในการแสดงแต่ละครเพลงต้องการ นางเอก หรือ พระเอก ที่ดูเหมาะสมกับบทบาทอย่างแท้จริง
เค้าโครงเรื่อง ส่วนมากจะได้รับการจัดทำขึ้นโดยดูตลาดและผู้ชมเป็นแนวทางการในการผลิตละครแต่ละเรื่อง โครงเรื่องจึงแตกต่างกันไปตามแนวความนิยมของสังคมในแต่ละยุค มักนำเหตุการณ์ที่น่าจดจำมาเป็นส่วนโครงเรื่อง อย่างประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เช่น Oklahoma!, Show Boat ,Music Man หรือโครงเรื่องที่มีแนวเทพนิยายในลักษณะของซินเดอเรลล่า เช่น แอนนาในเรื่อง The King and I และมาเรียในเรื่อง The Sound of Music และ อีไลซ่า ดูลิตเติลในเรื่อง My Fair Lady หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเรื่อง 'บุษบาริมทาง'
เค้าโครงเรื่องอีกประเภทหนึ่งคือเรื่องราวสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของสังคม เช่นเรื่อง Cabaret, West Side Story, Chicago
ฉาก และ คอสตูม หรือเครื่องแต่งกาย เน้นความอลังการอันตื่นตา ผสมผสานกับพื้นฐานสำคัญในเรื่องการสร้างสรรค์เพลง ดนตรี รวมทั้งการเต้นที่มีการพัฒนาให้เหมาะสมกับเนื้อหาของเรื่อง รวมทั้งแสง สี เสียง และเทคนิคของการจัดฉาก การเปลี่ยนฉาก และความสดในการแสดงของนักแสดงที่มีความสามารถสูงทั้งในด้านการร้องเพลง การเต้นรำ ทำให้ละครบรอดเวย์เป็นที่ประทับใจในเรื่องของความแปลกใหม่
เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ เปิดตัว “มิสไซง่อน” ละครเวทีติดอันดับ 3 ของโลก
เปิดเผยกันมาแล้วว่า มิสไซ่ง่อน (Miss Saigon) ละครเพลงระดับตำนาน ซึ่งครองหัวใจผู้ชมทั่วโลกมากว่า 20 ปี โดยติด 1 ใน 5 ของละครเวทีระดับโลก จะเป็นละครเวทีเรื่องถัดไป ที่มารอจ่อคิวต่อจาก ‘ละครเวที รักจับใจ เดอะมิวสิคัล’ โดยที่ทางซีเนริโอ ร่วมกับ CAMERON MAVKINTOSH ภูมิใจนำเสนอ ละครเพลงสุดยิ่งใหญ่ระดับโลกเรื่องนี้ ในภาคภาษาไทย
นำแสดงโดย ‘กัน’ นภัทร อินทร์ในเอื้อ ในบท Chris นายทหารหนุ่มที่ต้องละทิ้งคิมไป แต่ในใจไม่เคยลืมเธอเลย และนักแสดงหน้าใหม่ ‘แก้ม’ กุลกรณ์พัชร์ โพธิทองนาค ทายาทนักร้องคุณภาพ ‘ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล’ ที่จะมารับบท Kim สาวเวียดนามซึ่งมั่นคงในความรัก ร่วมด้วยนักร้องคุณภาพอีกคับคั่ง อาทิ ‘เบน ชลาทิศ’ รับบท The Engineer เจ้าของไนต์คลับที่ Kim ทำงาน, ‘นิว’ นภัสสร ภูธรใจ รับบท Ellen ภรรยาคนใหม่สัญชาติอเมริกันของ Chris, ‘คิว’ สุวีระ บุญรอด (คิว วงฟลัว) รับบท John เพื่อนคนสนิทของ Chris เตรียมพบกับเรื่องราวความรักแสนยิ่งใหญ่ ตราตรึงใจผู้ชมไม่รู้คลาย กับ มิสไซ่ง่อน (Miss Saigon) มิวสิคัลระดับโลกในโปรดักชั่นไทย ณ เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ที่มีกำหนดจะเปิดการแสดงในเดือนกันยายน 55 และจะมีการแถลงข่าวในวันอังคารที่ 24 กรกฏาคม 2555 ที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์
มิสไซ่ง่อน (อังกฤษ: Miss Saigon) เป็นละครเพลงแนวละครเวสต์เอนด์ (West End theatre) ประพันธ์ดนตรีโดยคลอดด์-มิเชล โชนเบิร์ก (Claude-Michel Schönberg) คำร้องโดยอัลเลง บูบลิล (Alain Boublil) และริชาร์ด มอลต์บี จูเนียร์ (Richard Maltby, Jr.) โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจากอุปรากรของจาโกโม ปุชชีนี (Giacomo Puccini) เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madame Butterfly) ซึ่งทั้ง "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" และ "มิสไซ่ง่อน" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวโศกนาฏกรรมความรักของหญิงชาวเอเชียที่ถูกชายชาวอเมริกันทอดทิ้ง ในขณะที่เนื้อเรื่องเดิมของ "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่นและนายทหารเรือชาวอเมริกันในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1900 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ "มิสไซ่ง่อน" เป็นเรื่องราวความรักของหญิงสาวชาวเวียดนามที่ทำงานในสถานบริการ และนายทหารชาวอเมริกันที่เข้าไปประจำการในเมืองไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์) ประเทศเวียดนาม ระหว่างสงครามเวียดนาม ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970
มิสไซ่ง่อนรอบปฐมทัศน์แสดงที่โรงละครโรยัล ถนนดรูรี่ (Theatre Royal, Drury Lane) กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1989 และแสดงรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1999 รวมทั้งหมด 4,264 รอบ แต่ยังเปิดการแสดงที่โรงละครบรอดเวย์ (The Broadway Theatre) สหรัฐอเมริกา เมื่อ 11 เมษายน ค.ศ. 1991 และปิดการแสดงเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.2001 รวมรอบการแสดงถึง 4,092 รอบ ในอเมริกา และเปิดการแสดงตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก
มิสไซ่ง่อน ถือเป็นละครเพลงของโชนเบิร์กและบูบลิลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากเลส์ มิเซราเบลอส์ (Les Misérables) ที่เป็นการแสดงในค.ศ. 1980 มิสไซ่ง่อนยังถือเป็นละครบรอดเวย์ที่ดำเนินการแสดงเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดเป็นอันดับ 10 ในประวัติศาสตร์ของละครเพลง
ยุคทองของละครเวทีเมืองไทย เดือนเดียว มีละครเวที เปิดวิกแสดงในบ้านเราพร้อมกันถึง 7 เรื่อง (คึกคักมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน)
รักจับใจ เดอะโรแมนติกมิวสิคัล ของซีนาริโอ้ เล่นที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ วันนี้ถึงต้นส.ค.
หลังคาแดง เดอะมิวสิคัล ของพี่ตั้ว ศรัณญู เล่นที่เอ็มเธียเตอร์ ถ.เพชรบุรี วันนี้ถึง 29 ก.ค.
กุหลายสีเลือด เดอะมิวสิคัล ของครูเงาะ เล่นที่ศูนย์ดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี วันนี้ถึง 16 ก.ย.
ดรีมเกิร์ล เดอะมิวสิคัล ของค่ายดรีมบ็อกซ์ เล่นที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ช่วงเดือน ส.ค.
เรยา เดอะมิวสิคัล ของอ.สมเถา-ถ่ายเถา สุจริตกุล ร่วมกับเนชั่นทีวี เล่นที่โรงละครอักษรา คิงพาวเวอร์ 14 ก.ย.-7 ต.ค.
แม่เบี้ย ดิอีโรติค อาร์ต มิวสิคัล เล่นที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ ถ.เพชรบุรี 28 ก.ย.-14 ต.ค.
มิสไซง่อน ของซีนาริโอ้ เล่นที่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ 27 ก.ย. -21 ต.ค.
ชอบเรื่องไหน เป็นแฟนของค่ายละครใด สะดวกเรื่องไหน เชิญทัศนาครับ
มีคำกล่าวไว้ว่า ประเทศใดก็ตาม ที่อุตสาหกรรมละครเวทีเฟื่องฟู ประเทศนั้นคือประเทศที่เจริญสูงสุดในด้านศิลปะวิทยาการทางด้านแสดง และจะเป็นศูนย์กลางของโลกในอนาคตครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น