วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ฟรีทีวีตายแล้ว หรือฟรีทีวีเสียใจแต่ไม่แคร์

สืบเนื่องจากช่วงเวลา 1-2 เดือนมานี้ ฟรีทีวีมีอิทธิพลและบทบาทต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก ในแง่ที่เป็นสื่อกลางรายงานข่าว และสะท้อนภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองไทยมาโดยตลอดเป็นเวลายาวนาน อันนั้นเป็นบทบาทที่ผู้ชมโดยทั่วไปในฐานะผู้บริโภครับทราบกันดีอยู่แล้ว อีกด้านหนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อด้วยกันเอง หรือจากผู้ชม,ผู้บริโภคด้วยเช่นกันในกรณีที่เพิ่งเป็นข่าวไปสดๆ ร้อน เมื่อไม่นานมานี้ ก็อย่างน้อย 2 กรณี นั่นก็คือ กรณีจอดำในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร และกรณีรายการ Thailand Got Talent ที่แพร่ภาพทางช่อง 3 (ฟรีทีวี) กรณีแรกนั้นถูกกล่าวหาว่าสมคบคิดกับผู้ได้รับลิขสิทธิ์คือ Gmm Grammy บล็อกสัญญาณไม่ให้คู่แข่งคือทรูวิชั่น ไม่ให้ได้รับชม เนื่องจากไม่ยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซึ่งผู้ได้รับลิขสิทธิ์ได้อ้างว่าเป็นข้อตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์ และเห็นว่าการให้สัญญาณออกไปอาจทำให้เกิดการแพร่สัญญาณออกไปนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้ผิดข้อตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์ จนเป็นที่มาของการถูกฟ้องร้องจากมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และต่อมาศาลได้ตัดสินให้ยกฟ้อง เนื่องจากการที่ผู้ฟ้องต้องการให้ศาลคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภคด้วยการให้ถ่ายทอดสัญญาณภาพในแม็ทซ์ที่เหลือจะส่งผลให้เจ้าของลิขสิทธ์ (ยูฟ่า) ที่อยุ่ต่างประเทศไม่พอใจ และอาจขอตัดสิทธิ์ยกเลิกการถ่ายทอดแม็ทซ์ที่เหลือไปเลยก็เป็นได้ นั่นยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ชมคนดูโดยทั่วไปได้ จึงยกฟ้อง คู่กรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องในส่วนของฟรีทีวีนั้นก็คือช่อง 3 ในส่วนของช่อง 5, กับช่อง 9 ที่ร่วมถ่ายทอดด้วยนั้น กลับไม่ได้รับการถูกต่อว่าหรือกล่าวถึงซักเท่าไหร่ อีกกรณีนึงนั้นเป็นเรื่องของจรรยาบรรณสื่อ ทั้งในส่วนของเจ้าของรายการโดยตรงคือ WorkPoint และเจ้าของสถานีคือช่อง 3 ที่ไม่ได้ตรวจทานอย่างรอบคอบ หรือประมาทเลินเล่อ จงใจปล่อยให้มีการแพร่ภาพผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่งที่ได้แสดงความสามารถเข้าข่ายอนาจารออกสื่อ ซึ่งเป็นรายการที่มีเยาวชน และครอบครัวส่วนใหญ่ทั้งประเทศสามารถรับชมได้ทั้งประเทศ ซึ่งเจ้าของรายการอ้างว่าเป็นการแสดงที่เป็นศิลปะจึงให้แพร่ภาพได้ แต่เมื่อภายหลังถูกท้วงติงจากทุกทิศทาง จึงได้ออกมาขอโทษต่อประชาชนหรือผู้ชม ตัดสิทธืผู้เข้าแข่งขันท่านนั้น และต่อไปจะไม่ให้มีการเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก ทั้ง 2 เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีมาก เป็นเคสที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นกรณีศึกษาร่วมกันของทั้งสื่อ ผู้ผลิตรายการ และคนดู ที่จะนำไปเป็นบทเรียนร่วมกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผู้เขียนคิดว่าไม่มีใครผิดใครถูก แบบ 100%.ในทั้ง 2 กรณีนั้น แต่น่าจะใช้เป็นบรรทัดฐานในกรณีคล้ายคลึงกันนี้ ในโอกาสต่อไปในการที่จะชั่งใจ คิดทบทวน และแก้ปัญหาที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคตได้



สื่อทีวีอย่างช่อง 3 นั้น เป็นฟรีทีวีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบ้านเรา เมื่อก่อนเคยถูกช่อง 7ทิ้งห่างทั้งด้านรายการข่าวและละครทีวี แต่ปัจจุบันสามารถไล่ตาม และเบียดแซงขึ้นมาชนะช่อง 7ได้ทั้งในส่วนของการการข่าว และละครทีวีช่วงไพร์มไทม์ แม้ว่าเรตติ้งโดยรวมยังสู้ไม่ได้ แต่ในด้านคุณภาพการผลิต และกระแสนั้นแรงกว่า รวมถึงช่อง3 ยังสามารถดึงเอาบุคลากรทั้งด้านข่าวและละครทีวีจากหลากหลายช่อง มาไว้ที่ช่องตัวเองได้มากที่สุด ถ้าพูดถึงบุคลากรด้านข่าว ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างเรตติ้งและโมเมนตัมให้ช่อง 3ขึ้นมาโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้มากทีสุด ก็คือ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ รายการเจาะข่าวกับสรยุทธ ในช่วงข่าวหัวค่ำเรื่องเด่นเย็นนี้ อีกด้วย ด้วยความที่คุณสรยุทธ เป็นคนข่าวที่มีคุณภาพมาก่อนเป็นลูกหม้อเก่าของค่ายเนชั่น เคยเป็นลูกน้องเก่าคุณสุทธิชัย หยุ่น เคยทำข่าวภาคสนาม เป็นพิธีกร นักวิเคราะห์ข่าวสายการเมือง ในช่วงที่เนชั่นไปทำข่าวและบริหารให้กับช่องไอทีวี จนช่อง 9 (คุณมิ่งขวัญ ผอ.ช่อง 9 ขณะนั้น) ดึงตัวมาทำรายการสนทนาสถานการณ์ปัจจุบัน ,การเมืองช่วงไพร์มไทม์ที่ชื่อว่า ถึงลูกถึงคน จนโด่งดังจึงเป็นที่มาและถือกำเนิดของ บ.ไร่ส้ม และขอสัมปทานทำรายการทีวีกับช่อง 9 ที่ทำร่วมกับคุณกนก รัตน์วงศ์สกุล ชื่อรายการคุยคุ้ยข่าว อยู่พักนึง ภายหลังแตกคอกัน ไม่ทราบว่าเรื่องอะไรกัน (ผลประโยชน์และสปิริต) คุณสรยุทธ์ถูกคุณประวิทย์ มาลีนนท์ดึง (ซื้อ) ตัวมาอยู่ช่อง 3 จนถึงปัจจุบัน ส่วนคุณกนก แยกไปทำรายการข่าวข้นคนข่าว ร่วมกับคุณธีระ และคุณกำภู เป็นรายการที่ผลิตโดยเนชั่น ให้กับช่อง 9 และเพิ่งหลุดผังไปเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ คุณสรยุทธ นั้นเดิมเคยเป็นคนข่าวคุณภาพในระดับต้นๆ ของประเทศนั้น ผู้เขียนคิดว่าใช่ แต่ปัจจุบันนั้นไม่ใช่แล้ว เนื่องจากรายการที่แกทำอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ นั้นไม่จัดว่าเป็นรายการข่าวแล้ว น่าจะเรียกว่าเป็นวาไรตี้ทอล์คโชว์หรือนำเกร็ดจากข่าวหรือสถานการณ์ปัจจุบันมานั่งคุย สรวลเสเฮฮากันเสียมากกว่า เพราะมีการแทรกความคิดเห็นส่วนตัว มุกตลก คุยนอกเรื่อง แซวกันขำๆ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ หรือมุมมองบางด้านของเนื้อข่าว โดยใช้วัตถุดิบก็คือข่าว หรือข้อเท็จจริง มานั่งคุยกันเสียมากกว่า คนดูคนฟังจึงอาจจะงงๆ ว่า อันไหนคือข้อเท็จจริง อันไหนคือความคิดเห็นส่วนตัวของสรยุทธ์ และอันไหน คือทัศนคติส่วนตัว ที่แทรกอยู่ในประเด็นหรือเนื้อข่าวนั้นๆ อย่างสับสนปนเปกันไปหมด ในเมืองนอกนั้นถ้าเป็นรายการข่าว รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะนั่งอ่านข่าวกันอย่างจริงจังเป็นทางการ ถ้าจะวิเคราะห์ข่าวก็จะมีพิธีกร นั่งคุยกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์สถานการณ์ หรือแขกรับเชิญผู้รู้ในประเด็นนั้นๆ โดยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน มันจะไม่ใช่วาไรตี้ทอล์คโชว์แบบที่คุณสรยุทธ์ทำอยู่เวลานี้ วันดีคืนดี อยากจะแจกเสื้อ ชิงโชคของรางวัล อยากจะให้ส่ง sms หรือบางทีเอาอาหาร ผลไม้มาตั้งกลางรายการ แล้วก็นั่งชิมกันไป หัวเราะกันไป ในเมืองนอกเขาไม่ทำกัน ดูแล้วมันอะไรกันนี่ ทำอย่างกับคนดูเป็นคนข้างบ้าน ที่มานั่งแอบฟังคุณกำลังคุยกันอยู่ แต่สิ่งที่คุณสรยุทธ์กำลังทำอยู่นั้น ผู้เขียนไม่ขอเถียงว่า มันถูกใจ หรือถูกจริตกับคนไทยโดยส่วนใหญ่ก็เป็นได้ (คนไทยไม่ชอบอะไรที่เครียดๆ) ไม่งั้นรายการของแกคงไม่เรตติ้งดีหรอก และอยุ่มาได้จนถึงทุกวันนี้ จะให้เครดิตแกในแง่ของผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ของรายการข่าวประเภทวาไรตี้ทอล์คโชว์หรืออะไรก็เห็นจะได้อยู่ แต่เป็นคนละเรื่องกับความเหมาะสม ความเหมาะควรในแง่หลักการ รายการข่าวที่ดี ที่ต้องนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเพียวๆ การแยกเรื่องของบทวิเคราะห์ สกู๊ปข่าว ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ดำเนินรายการ ไปอีก 1รายการ แต่ที่ช่อง 3ทำอยู่เวลานี้ มันยำกันมั่วเละเทะ ปนเปกันไปหมด คุณไม่สงสารคนดูบ้างเหรอ ลำพังดูละครของช่องคุณซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ราคะ ก็มอมเมาคนดูมากพอแล้วนะ (เรื่องละครจะเป็นอีกหัวข้อนึงที่จะวิเคราะห์ในย่อหน้าถัดไป) ปัจจุบันคนข่าวคุณภาพที่ผู้เขียนพอจะยอมรับว่าเป็นผู้ดำเนินรายการได้เหมาะสมกว่าคุณสรยุทธ์ ยังมีอีกหลายท่าน อาทิ คุณกิตติ สิงหาปัด,คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา,คุณเติมศักดิ์ จารุปราณ,คุณณัฐฐา โกมลวาทิน แต่สิ่งที่คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังสามารถรักษาชื่อเสียงความเป็นผู้นำของคนข่าวมาได้ จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย นั้นจุดนึงก็คงเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ทางการตลาด อันนี้เกิดจากการสร้างขึ้นมาแน่ๆ ในอีเว้นท์ต่างๆ ของแก ที่เคยทำมา เช่น สึนามิภาคใต้, เหตุการณ์ร้ายแรงใน3 จว.ชายแดน ,คนพิการ คนยากไร้ ,แผ่นดินไหวที่ไฮติ, สึนามิที่ญี่ปุ่น ,น้ำท่วมที่เมืองไทย ปี 2554 แล้วแกเป็นแกนกลางรับบริจาคสิ่งของ เงินทองเพื่อช่วยเหลือ อันนี้ผู้เขียนขอชื่นชม แม้ว่าจะเป็นการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ส่วนหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นการทำดีเพื่อสังคม ชื่อเสียงถือเป็นผลพลอยได้ตามมา ไม่ว่ากัน สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าใกล้เคียงกับการทำหน้าที่คนข่าวมากที่สุด น่าจะเป็นเจาะข่าวเด่นกับสรยุทธ์ ในเรื่องเด่นเย็นนี้ มากกว่า แต่นั่นก็ยังถือว่าเข้มข้นน้อยกว่าเมื่อตอนแกเป็นพิธีกรรายการถึงลูกถึงคนอยู่ดี อาจจะด้วยเหตุผลคือช่วงเวลาที่น้อยมากของรายการส่วนหนึ่ง แต่คุณสรยุทธ ณ วินาทีนี้ ที่ถือได้ว่ามีเงินมีทองเป็นร้อยล้าน ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่คนข่าวในประเทศไทยพึงจะทำได้คนนึง ต้องถือว่าแกมาได้ไกลมากที่สุดคนหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนข่าวรุ่นเดียวกัน หรือในแง่ทรัพย์สินเงินทองก็มากกว่านายเก่าของแก อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น ทำให้คุณสรยุทธ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนข่าวที่ทำหน้าที่อย่างเข้มข้นจริงจังเหมือนสมัยก่อนก็เป็นได้ ประคองตัวไป ทอล์คโชว์ขำๆ ของแกต่อไป ไม่ซีเรียส ก็อาจจะดีสำหรับสาวกแฟนคลับก็เป็นได้


พอมาดูด้านละคร ไม่เฉพาะเจาะจงช่อง 3 เท่านั้น คิดว่าวงการละครของบ้านเราเวลานี้ พัฒนาทางด้านโปรดักชั่น การผลิต การแสดงของนักแสดง ไปได้ไกล หรือพัฒนาขึ้นมามาก (ไม่ค่อยแน่ใจ) มีนักแสดงหน้าตาดีๆ เกิดขึ้นมาใหม่จำนวนมาก หลากหลายให้เลือก แต่สิ่งที่ยังจำเจ ก็คือ เนื้อหา พล็อตเรื่อง หรือบทละครดีๆ อันนี้ทำไมมันถึงตามไม่ทันปริมาณของละคร และนักแสดงที่มากขึ้นทุกวัน หรือเป็นเพราะผู้ผลิตและตัวสถานี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเนื้อหา พล็อต บทละคร ที่มันควรต้องมีปริมาณที่มาก และหลากหลายด้วยเช่นกัน เป็นสมการที่คู่ขนานไปกับจำนวนละครที่ผลิตมากขึ้น มีผู้จัดมากขึ้น มีนักแสดงใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนที่ชอบดูละครไทยเหมือนกัน สมัยก่อนจะชอบดูละครช่อง 3 หลังๆมานี่จะดูเฉลี่ยกระจายไปทุกช่อง และก็ไม่เห็นด้วยที่มักมีคนพูดว่าละครไทยน้ำเน่า หรือไม่ได้ให้เนื้อหาสาระอะไร ตบตี ด่าทอ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ผู้เขียนคิดว่าต้องวิเคราะห์วิจารณ์เป็นแต่ละเรื่อง แต่ละบท แยกแยะกันไป ไม่ใช่เหมารวมไปทั้งหมด เพราะบางเรื่องก็มีคุณภาพมาก แต่โดยรวมแล้วมีคติสอนใจแทบทุกเรื่อง และก็เห็นด้วยที่จะมีการสร้างมันเยอะๆ รีเมคละครงานเก่าๆ ทีดีมีคุณภาพ ให้กลับมาทำให้คนรุ่นหลังได้ดูกันด้วย เพราะอย่างน้อยเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และอุตสาหกรรมให้กับวงการละคร บันเทิงไทยให้เจริญก้าวหน้า เติบโต แข่งกับชาติอื่นเมืองอื่นได้ด้วย แต่ขออย่างเดียว พัฒนาเรื่องบท เรื่องไดอะล็อคการพูดให้มันดูสมจริง มีเหตุมีผลหน่อยเถอะ และคติสอนใจให้มันหลากหลายหน่อย ไม่เอาคติสอนใจแบบซ้ำๆ ซากๆ ได้มั๊ยอ่ะ ประเภท แม่ผัวลูกสะใก้ , ตบตีแย่งผู้ชายโง่ๆ ไม่ทำงานทำการอะไรกัน , นางเอกเป็นแม่ค้าแต่แต่งหน้าสวยเป็นคุณหนูอยู่บ้าน , ลูกท่านเจ้าคุณตกยาก ปลอมตัวมาเป็นคนใช้ คลอดออกมาสลับตัวกัน ถูกเอาไปเลี้ยงเป็นเด็กสลัม วันหนึ่งต้องกลับมาเป็นคุณหนูครอบครองสมบัติของตระกูล ฯลฯ คติสอนใจ แบบทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี่ขอแบบที่มันเห็นผลทันตาเลยได้มั๊ย เช่น ละครสะท้อนสังคม ประเภทเด็กติดยา ติดเกมส์ ติดการพนัน ช่างกลตีกัน นักเรียนหนีเที่ยว ค้าประเวณีแต่เด็ก ทำแท้ง และได้รับผลกรรมทันตา ทำออกมาเยอะๆ สิครับ เยาวชนคนดู จะได้ไม่เอาไปทำเป็นเยี่ยงอย่าง ละครที่มีแง่มุมแปลก หรือกว้างขวางออกไป เช่น พฤติกรรมของนักการเมือง ครูที่ไม่มีจรรยาบรรณ พ่อค้าที่ค้าหากำไรแบบผิดกฏหมาย ผิดศีลธรรม ผิดจรรยาบรรณ ข้าราชการที่คอรัปชั่น อะไรพวกนี้ทำออกมาเยอะๆ อย่าไปทำแต่ละครประโลมโลก รักๆ ใคร่ๆ แต่เพียงอย่างเดียว เยาวชนของชาติถึงได้มีบุตรก่อนวัยอันควรเยอะมาก (แล้วก็ไปทำแท้ง) จนติดอันดับโลกแล้ว ละครน่าจะมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะมีอิทธิพลส่วนหนึ่งด้วยในการโน้มน้าว ชักจูง และสร้างแรงบันดาลใจต่อเด็กเยาวชน ให้อยากมีความรัก ฉากละครประเภทตบจูบ มีเพศสัมพันธ์กันนั้น เช่น ตัวละครพระเอกข่มขืนนางเอก แล้วไม่ได้รับการลงโทษ ควรระวัง ควรใช้มุมกล้องหรือตัดออกไปเลยก็จะเป็นการดี แม้จะช่วยสร้างเรตติ้ง แต่ก็สร้างพฤติกรรมเลียนแบบ และอาชญากรรมตามมา อย่างชนิดได้ไม่คุ้มเสีย คุณผู้จัดละคร ผู้ผลิต ผู้เขียนบท และเจ้าของสถานี จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา ไม่ใช่หวังผลแค่เรียกเรตติ้ง ค่าโฆษณา ของสถานีแต่เพียงเท่านั้น กรณีของละครมงกุฏดอกส้ม มารยาริษยา นั้น จะสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อเยาวชน และค่านิยมเลียนแบบตัวละครก็เป็นไปได้ให้เกิดขึ้น นำมาซึ่งพฤติกรรมทางเพศ ครอบครัวแตกแยกในสังคม คิดว่าแนวๆ นี้ ควรจะคุมกำเนิด ไม่ให้มีมากเกินไป และก็เป็นมุมมองที่ซ้ำซาก ช้ำแล้ว และก็ไม่มีประเด็นอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์ต่อสังคม หรือจรรโลงใจต่อผู้ชมหรือสถาบันครอบครัวแต่อย่างใด ทำไมซีรี่ย์ต่างประเทศเขาถึงมีมุมมอง พล็อตเรื่องที่มันฉีกออกไปมาก หลากหลายแนว และให้ข้อคิดที่สามารถนำไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ต่อได้ อาทิ ซี่รี่ย์ดังๆ ดีๆ ของอเมริกัน ซีรี่ย์เกาหลีเองก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่แนวรักใคร่ แต่มีแนวสืบสวนสอบสวน แนวประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติ ฯลฯ


ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพียงเพราะข้องใจแค่ว่า ทำไมฟรีทีวีถึงไม่มีซักช่องเลย ที่จะถ่ายทอดสดการไตร่สวนพยานผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง คดีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผู้ร้องไปร้อง เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ม.291 มีผลลบล้างรัฐธรรมนูญ/ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญที่ประชาชนคนไทยควรจะได้รับรู้ ถึงที่มาที่ไป และเหตุผลของแต่ละฝ่าย หักล้างกันอย่างไร ไม่ใช่จะมาให้รับรู้แค่ผลการตัดสินตอนท้ายแล้วเท่านั้น แม้จะไม่ใหญ่หรือใกล้ตัวประชาชนเท่าเรื่องปากท้อง หรือละครทีวี แต่ทีเรื่องฟุตบอลยูโร ยังถ่ายทอดสดได้ แถมยังมีการมานั่งถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นบ้าเป็นบอ แต่กลับกรณีเรื่องรัฐธรรมนูญใหญ่กว่าทุกเรื่องในประเทศนี้ ฟรีทีวีไม่นำเสนอข่าว เงียบเป็นเป่าสากทุกช่องเลย แม้แต่ช่วงข่าวต้นชั่วโมงของบางช่องก็ไม่มีรายงานเลย มัวไปออกอากาศรายการไร้สาระอะไรก็ไม่รู้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ไง ที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ฟรีทีวีมันไปมัวทำอะไรอยู่ ฟรีทีวีตายแล้ว หรือฟรีทีวีเสียใจแต่ไม่แคร์ ผู้เขียนจึงขอจัดหนักหน่อย โดยเฉพาะช่อง 3 ก็ไหนคุณบอกว่า คุ้มค่าทุกนาทีดูทีวีสีช่อง 3 ไง แล้วมันคุ้มค่าไฟมั๊ยที่พูดมาหน่ะ ,ททบ 5นำคุณค่าสู่สังคมไทย ตรงไหน ,ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ (คนไหนเหรอ) , ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ สังคมอุดมปัญญา (ปัญญาอ่อนหน่ะใช่มั๊ย) , TPBS ทีวีไทย ทีวีที่คุณวางใจ (วางใจไม่ได้แล้วนะ ก็คุณไม่ทำหน้าที่เลยอ่ะ) ?????

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น