ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยผันผวนไปตามกระแสตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นหลัก ด้วยปัจจัยข่าว ประเด็นหลักๆ ก็คือเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกา และก็ข่าวจากทางฟากฝั่งของจีน ซึ่งจะเดินหน้า ปรับฐาน ถอยหลัง หรือจะ side-way ต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงต้อง wait & see กันต่อไปก่อน ผู้เขียนคงไม่ไปโฟกัสทิศทางของมันแต่อย่างใด ขอนำเอาเกร็ดความรู้พฤติกรรมของนักลงทุนอีกกลุ่มนึงมาตีแผ่จะดีกว่า เพราะก็เป็นบุคคลอีกกลุ่มนึงที่สามารถสร้างโมเมนตัม กุมทิศทาง มีอิทธิพล หรือทำตัวเหนือกว่าตลาดหุ้นไทยได้ตลอดมา นั่นก็คือนักลงทุนประเภทที่เรียกว่า นักลงทุนรายใหญ่ หรือนักธุรกิจเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั่นแหละ ที่ผ่านมาทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จะมีพฤติกรรมในแบบที่เรียกได้ว่า ทำยังไงก็ได้ที่จะสามารถกอบโกยกำไรเข้าสู่กระเป๋าตัวเองให้มากที่สุด เขาทำกันอย่างไรนั้น เรามีอีกกรณีศึกษานึง ก็คือ การ Cash Out เงินออกจากตลาดหุ้นไปเข้าสู่กระเป๋าตัวเอง เขาทำกันอย่างไร ขอเชิญทัศนากันได้เลย
การแปลงธุรกิจให้เป็นความมั่งคั่งนั้นเป็นอีกกลยุทธ์นึงที่เขาทำกัน เมื่อได้จังหวะเหมาะ มีตั้งแต่การขายหุ้นออกมาทั้งหมด หรือลดสัดส่วนการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ ลดดีกรีความเป็นเจ้าของลงมา แต่ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายปลายทางเดียวกัน นั่นก็คือ มุ่งหาผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และเลือกที่จะ “ขายหุ้น” ในขณะที่ได้ “ราคาดี” และ “ธุรกิจยังคงรุ่งโรจน์” ต่อไป กรณีบิ๊กดีล เงินมหาศาลกว่า 73,271 ล้านบาท จากการขายหุ้นในเครือ “ชิน” (SHIN) คอร์ป ของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ให้กับเทมาเส็ก อันนั้นเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นกันมาแล้วว่า เป็นธุรกรรมทางการเงินที่มองได้หลายมิติมาก ถ้ามองทางด้านธุรกิจ ก็คือการผันเงินออกจากธุรกิจนึงเพื่อไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ดีกว่า ในสายตาคุณทักษิณ (ซึ่งเวลาต่อมาก็ได้เฉลยมาว่า แกสนใจธุรกิจด้านพลังงาน) บางคนมองไปอีกด้านนึงซึ่งเป็นด้านลบว่า แกกำลังฟอกเงินจำนวนมหาศาล ที่แกได้มาช่วงมีอำนาจ ให้กลายเป็นเงินสุจริตขึ้นมา แล้วผ่องถ่ายออกเสีย แต่ถ้ามองเป็นมิติด้านการเมือง ก็นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เป็นชนวนในการโจมตี ขับไล่ จนสุดท้ายต้องหลุดจากอำนาจไป วกมาเข้าเรื่องต่อ ดีลอื่นๆ ที่ไม่มีดีลไหนจะใหญ่เท่าดีลของชิน-เทมาเส็ก แต่ก็อยู่ในข่ายของการทำ Cash Out -4 มีดังนี้
1.ดีลเจ้าพ่อโรงหนัง คุณวิชา พูลวรลักษณ์ เจ้าของและซีอีโอ ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กกรุ๊ป (major) เลือกที่จะ cash out บางส่วน ทยอยเทขายหุ้นเมเจอร์ออกไป ทั้งในส่วนของตัวเองและภรรยา ได้เงินสดมานอนกอดกว่า 1,700 ล้านบาท ก่อนที่จะนำเงินนั้นไปซื้อหุ้นในบริษัท แมคไทย ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์รายใหญ่ นามว่า แม็คโดนัลด์ เพื่อเอามาต่อยอดเติมเต็มจิ๊กซอว์ธุรกิจให้กับเมเจอร์ ในขณะที่ธุรกิจยังคงโตต่อไป และตัวเองก็ยังนั่งบริหารอยู่ แม้ว่าหุ้นใหญ่ตกไปเป็นของสถาบันในประเทศ และกองทุนจากต่างประเทศแล้วก็ตาม
2.ดีลของกลุ่มณรงค์เดช ที่เลือกที่จะขายธุรกิจของครอบครัว KPN ออโตโมทีฟ ออกไปให้กับ อาปิโก้ไฮเทค แทน ทำให้ cash out เงินออกไปได้กว่า 1,000 ล้านบาท แล้วนำเงินไปทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และอื่นๆ แทน
3.ดีลของคุณตัน ภาสกรนที ผู้ปลุกปั้นแบรนด์ “OISHI”มากับมือ ยอมตัดใจขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนามของ บ.ไทยเบฟ ซึ่งดีลนี้ทำให้คุณตัน ได้เงินสดติดมือมากว่า 3,351ล้านบาท ภายหลังคุณตันก็นำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำรีสอร์ทบ้าง ตั้งบริษัทตันไม่ตันอะไรของแก ทำร้านอาหารญี่ปุ่นบ้าง และสุดท้ายมาเฉลยแบบสร้างกระแสดังไปทั่ววงการ ว่าแกตั้งใจจะทำอิชิตัน (ICHITAN) มาแข่งกับ OISHI นั่นเอง แสบมั๊ยหล่ะ แต่ต้องถือว่า win-win ทั้งคู่ เพราะว่าคุณเจริญซื้อมาก็ต้องถือว่าเกินคุ้ม เพราะตอนนั้นซื้อมาในราคาหุ้นละ 32.50 บาท ปัจจุบันราคาหุ้นโออิชิ ปาเข้าไป 110 บาทแล้ว ราคาขยับเป็น 3 เท่าจากที่ซื้อมา แถมมาร์เก็ตแชร์ของโออิชิก็ไม่ได้ลดลงมาก ยังคงเป็นผู้นำอยู่ นี่จะเรียกว่าเป็นบิ๊กดีล ที่ฉลาดที่สุด ก็ว่าได้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
4.ดีลกลุ่มเบญจรงคกุล ขายหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทยูคอม ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์มือถือ Dtac ให้กับกลุ่ม เทเลนอร์ บริษัทยักษ์ใหญ่จากนอร์เวย์ ในช่วงที่ธุรกิจโทรคมนาคม ยังอยู่ในยุคดิจิตอล และมีการแข่งขันกันสูงมาก และดีแทคก็เป็นรองจากคู่แข่งคือ แอดวานซ์ และก็มีรายใหม่เข้ามาแข่ง มีข่าวถึงการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม รวมถึงการแปรรูปบริษัท TOT และ CAT เข้ามาร่วมวงสู้ด้วย การมาของ 3G ที่ต้องเปิดประมูลและลงทุนในมูลค่ามหาศาล ทำให้คุณ บุญชัยและวิชัย เบญจรงคกุล 2 พี่น้องถอดใจยอมขายธุรกิจทิ้ง เพื่อเอาเงินไปลงทุนด้านอื่น ทำกิจกรรมเพื่อสังคมจำนวนมาก เช่น โครงการสำนึกรักบ้านเกิด การขายหุ้นครั้งนั้น กลุ่มเบญจรงคกุล ขายไปในราคาหุ้นละ 53 บาท ได้เงินไปเฉียดๆ 9,200 ล้านบาท ภายหลังแม้ทราบว่า คุณบุญชัย แอบนำเงินสดส่วนหนึ่งไปซื้อคืนธุรกิจเดิมของตัวเองกลับคืนมาบ้างแล้วก็ตาม
ในมุมมองของ Deal Maker ตัวพ่อ อย่าง ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ปธ.บ.หลักทรัพย์ asiaplus (ASP) ได้ให้ข้อคิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“การ cash out มีมานานแล้ว นับตั้งแต่สมัย โรบินสันขายหุ้นไขว้ให้กับเซ็นทรัล ซึ่งถือเป็นดีลตำนานธุรกิจของไทย ที่ผ่านการดีลโดย ดร.ก้องเกียรติเอง เมื่อ สิบกว่าปีที่ผ่านมา ดีลอื่นๆ ก็เกิดขึ้นตามมาในยุคหลังๆ ตอนนี้แนวคิดหรือค่านิยมของบรรดาเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ของตระกูลดังๆ หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ในวันนี้ เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง สมัยก่อนการขายธุรกิจสำหรับนักธุรกิจคนไทย หรือคนจีนรุ่นเก่าๆ ที่บุกเบิกบริษัทมาด้วยตัวเองกับมือ เรื่องเหล่านี้ทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการเสียหน้า เป็นเรื่องของศักดืศรี กลัวเพื่อนฝูงบอกว่าเดี๋ยวนี้ถึงขนาดต้องขายบริษัทกินกันแล้วเหรอ เหมือนกับเสียหน้ารับไม่ได้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามาจากโลกตะวันตก พวกนี้จะรับเอาแนวความคิดใหม่ๆ มา จะไม่ยึดติด เพราะรู้ว่าของทุกอย่างมีราคาและช่วงเวลาของมัน”
หลัก 2 ข้อที่ ดร.ก้องเกียรติ มักจะย้ำเสมอๆ ในหลายโอกาส หลายสถานที่ ก็คือ 1 อย่ายึดติด 2 ของทุกอย่างมีราคาที่เหมาะสม ในจังหวะใดจังหวะหนึ่งเท่านั้น ทุกธุรกิจย่อมมีวัฏจักร การเติบโต มีขึ้นมีลง มีสูงสุดและมีต่ำสุด เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดติด... เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า ปากกาด้ามนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 200 บาท ถ้าอยู่ๆ มีคนจะมาขอซื้อต่อที่ราคา 500 บาท คุณจะขายมั๊ย ถ้าไม่อยากขาย กลัวเสียหน้า แต่สักพัก พอมีปากการุ่นใหม่มาแทน ปากกาด้ามนี้อาจจะมีมูลค่าลดลงมาเหลือแค่ 100 บาท เผลอๆ ลดลงมาเหลือแค่ 50 บาท และอีกหน่อยอาจจะเหลือแค่ 2 บาท “อย่ายึดติด !” ดร.ก้องเกียรติย้ำ “ของทุกอย่างมันมีราคาของมัน ถ้ามันแพงเกินไปแล้วก็ต้องขาย ถ้ามันถูกเกินไปก็ต้องซื้อเข้ามา....ก็แค่นั้น อย่างที่บอก ของทุกอย่างมีราคาของมัน อยู่ๆ เกิดมีคนมาให้พรีเมียมคุณเยอะอย่างนั้น เป็นคุณ..คุณจะไม่ขายเหรอ ถ้าคิดในแง่ตัวเลขนะ เป็นผม..ผมก็ขายนะ” ดร.ก้องเกียรติ ตอบคำถามที่ว่า ดีลการขายหุ้นชินคอร์ป จะมีส่วนมั๊ยกับการจุดประกายให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ในเมืองไทยให้เดินตามรอยอดีตนายกฯ ดร.ก้องเกียรติ บอกว่า วิเคราะห์ว่าให้ดูจาก 4 องค์ประกอบหลักๆ ด้วยกัน คือ
1.ความสนใจที่จะทำธุรกิจนั้นต่อ ถ้าคิดว่าตัวเองก็ไม่ได้สนใจมาก แก่แล้ว หรือลูกหลานก็ไม่สนที่จะทำต่อ ก็ขาย
2.ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร ? “ถ้ามองไปแล้ว ทางข้างหน้าคู่แข่งมีเทคโนโลยีใหม่ มีต้นทุนที่ต่ำกว่า มีเครือข่าย เรา (เจ้าของธุรกิจ) จะเหนื่อยมากขึ้นมั๊ย ก็ตัดสินใจว่าจะรักษาหรือขายออกไป
ความสามารถในการแข่งขันนี้ ยังครอบคลุมกว้างไปถึงต้นทุนทางการเงิน ความสามารถทางการตลาด และทีมผู้บริหารเก่งด้วยหรือไม่ ฯลฯ
3.เรื่องราคาที่มีคนเสนอขอซื้อ “ราคาน่าสนใจหรือเปล่า จะซื้อหมดหรือบางส่วน เจ้าของบางคนก็อยากเก็บไว้บางส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการบริหารต่อไป ขณะที่บางคนอาจเลือกที่จะ cash out ออกไปทั้งหมด เหมือนอย่างดีลของกลุ่มณรงค์เดช KPN”
ของทุกอย่างมีราคา แต่คำว่า “ราคาที่เหมาะสม” ดร.ก้องเกียรติปฏิเสธว่า ไม่จำเป็นต้องหมายถึง “จุดพีค” หรือจุดสูงสุดของธุรกิจเสมอไป เพราะคนซื้อไม่ได้โง่ทุกคน ! แม้ว่าจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในหลายๆ เคส ทั้งกรณีโออิชิ หรือ ชินคอร์ป ล้วนเป็นการขายธุรกิจเมือถึงจุดพีคแล้ว (อันนี้เป็นความเข้าใจของคนทั่วไปว่าธุรกิจนั้นพีคไปแล้ว แต่กาลต่อมาเราก็ยังเห็นว่าเกมธุรกิจยังเดินต่อไปได้อีก เมื่อสนามแข่งขันเปลี่ยนแปลงผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาหรือมีกติกาใหม่ๆ ) ดร.ก้องเกียรติ อธิบายต่อว่า พีคของคนขาย อาจไม่ใช่พีคของคนซื้อก็ได้ ธุรกิจที่ดูจะถึง “ขาลง” หรือจุดสูงสุดในมือของคนหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนมือไปสู่อีกมือหนึ่ง ก็อาจจะมีแรงส่งให้ทะยานไปได้ต่อ
“ตลาดทุกตลาดมัน p/e ไม่เหมือนกัน ตอนที่ขายหุ้น shin ราคา 49.25 บาท ผู้ซื้ออาจบอกว่า ถูกเป็นบ้าเลย เพราะ cost of fund เขาต่ำ ถ้าเขาไปซื้อหุ้นแบบนี้ที่อื่น อาจแพงกว่านี้ตั้งเยอะ สมมติของของเราขายอยู่ตลาดเมืองไทย p/e 10 เท่า แต่พอขายให้ต่างประเทศ เขาบอกถูกเป็นบ้า เพราะของเขา p/e 20 เท่า เขาก็ไป consolidate กับธุรกิจที่มืองนอก แต่องค์ประกอบสุดท้ายของการขายหุ้น ที่เป็นตัวแปรที่สำคัญก็คือ เรื่องจังหวะ “บางทีอยากขาย แต่ไม่ได้ราคาที่ดี บางดีลคุยกันจนใกล้จบ เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติขึ้นมาบ้าง ราคาตกลงห่างกันบาทนึง ดีลไม่จบ ในที่สุดก็มาเสียดายภายหลัง” เรื่องของจังหวะจึงสำคัญ เพราะคนซื้อไม่ได้พร้อมตลอดเวลา “เมื่อสิบปีที่แล้ว จังหวะที่ใบอนุญาต บงล. มีคนอยากจะซื้อ ให้ราคาเกือบพันล้าน ผมไปถามเถ้าแก่คนหนึ่งบอกไม่ขาย แต่เสร็จแล้วก็ถูกปิดบริษัทไป ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรืออีกเคสหนึ่ง บริษัทประกันภัย สมัยสิบปีที่แล้วรุ่งเรือง ราคาหุ้นพุ่งมหาศาล อยู่ ๆมีต่างประเทศจะมาขอซื้อ ผมไปเจรจา ห่างกันอยู่แค่ 2บาท คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็แค่ 4-5% ไม่ยอมขาย พอการแข่งขันมหาศาล ราคาหุ้นก็ตกลง” เขายกตัวอย่าง เมื่อไหร่จังหวะมาแล้ว แต่ตัดสินใจพลาด ไม่ขาย นั่นอาจทำให้ต้องรอไปอีกนานนนนนนนนนน
“โอกาสที่ดีมีเพียงครั้งเดียว ! คติในการทำธุรกิจของผม โอกาสของคุณมีครั้งเดียวเสมอ ในหลายๆ เรื่อง และถ้าคุณไม่เอา มันก็จะหลุดผ่านไปเลย” ดร.ก้องเกียรติ บอก
สถานการณ์โลกธุรกิจทุกวันนี้ มันเป็นแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ทำให้หลายธุรกิจต้องรู้จักปรับตัวตามทิศทางลม ชนิดที่ว่า ถ้าเข็นให้ใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องขายทิ้ง หรือหาทางควบรวมเพื่อความแข็งแกร่ง ถ้าไม่ไปเทคโอเวอร์ธุรกิจอื่น ก็ต้องปล่อยให้ธุรกิจอื่นมาเทคโอเวอร์เรา ล่าสุด กลุ่มทุนต่างชาติ นอกจากญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปบางชาติ สิงคโปร์ (จอมเขมือบ) ที่เข้ามานานแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีทุนจากจีน มาเลเซีย อินเดีย และชาติตะวันออกกลาง ที่สนใจโฉบเข้ามา “ช็อปธุรกิจ” ในเมืองไทยกันมาก
“พูดมาหลายปีแล้ว ถ้าคุณไม่ใหญ่ไปเลย ก็ต้องเล็กพริกขี้หนู มีแค่สองอย่าง กลางๆ อยู่ไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีจุดเด่นอยุ่ไม่ได้” นั่นคือ ทิศทางลม ที่กำลังเปลี่ยนไปในยุค globalization เช่นเดียวกับแนวคิด “กอดธุรกิจหรือความเป็นเจ้าของ ไว้กับตัวเอง กำลังจะค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ” แนวคิดที่ว่าสร้างธุรกิจมาให้ลูกหลานรัน เป็นแนวคิดที่เก่าแล้ว ถ้าลูกหลานของคุณไม่เก่ง คุณก็ต้องเอาคนเก่งกว่ามารันจะดีกว่า อย่าไปยึดติดเลย ธุรกิจไปไม่รอดแน่ หรือกรณีลูกหลานอาจไม่สนใจทำธุรกิจของกงสี คุณก็เอาคนเก่งมาดำเนินธุรกิจนั้นต่อ หรือขายทิ้งไป กำเงินสดในมือแทน สำหรับ ดร.ก้องเกียรติแล้ว สุดยอดของนักธุรกิจ ก็คือการเป็นนักลงทุน และการเป็นสุดยอดของนักลงทุน ก็คือต้องรู้จัก Cash Out....ก็คือซื้อให้ถูก และขายให้เป็น!
-สร้างธุรกิจแล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ฯ กระจายหุ้นขายส่วนหนึ่งกับนักลงทุนทั่วไป แต่อีก step นึงที่เหนือกว่าวิธีแรก ที่น่าสนใจ ก็คือ เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว Cash Out อีกรอบหนึ่งโดยขายหุ้นใหญ่ที่ตัวเองถืออยู่ออกไป และยังมีข้อตกลงว่าสามารถบริหารกิจการต่อไปได้ อย่างกรณีของหุ้น ชินคอร์ป และ ตัน โออิชิ ค่อนข้างชัดเจนว่า Cash Out แล้วได้ราคาดี จากประสบการณ์ “Deal Maker” ที่ผ่านการทำดีลที่มาเลเซียมาแล้ว 60-70 ดีล ทั้งควบรวม และซื้อขายกิจการจนเป็นมืออาชีพ เอกยุทธบอกว่า สำหรับนักเทคโอเวอร์ตัวยงแล้ว จะไม่มีความรู้สึกแบบ Sentimental กับหุ้นหรือธุรกิจตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ ต้องทำตามเงื่อนไขของดีลแต่ละดีลนั้น
เอกยุทธ บอกว่า จังหวะในการ cash out ไม่มีใครรู้หรอกว่า จุดสูงสุดอยู่ตรงไหน แต่ต้องรู้จักขายก่อนถึงจุดอิ่มตัว
ยกตัวอย่างธุรกิจกาแฟ ปีแรกเริ่มบูม ปีที่ 2 อิ่มตัว คนเปิดร้านกันเยอะ การแข่งขันสูงแล้ว พอมีคนมาทำเยอะ เป็นผมก็ต้องไปแล้ว ปล่อยในราคาที่พอใจ ยกตัวอย่าง กาแฟบ้านไร่ ตอนพีคสุด มีคนมาขอซื้อ แต่ไม่ได้ขายไป แต่พอจะมาขายตอนนี้ ไม่ได้แล้ว หรือขนาดอย่าง สตาร์บัคส์เองก็เหนื่อย ต้องปรับตัวธุรกิจอย่างมากเลยในเวลานี้ ประเภทที่ “ออกไม่ทัน” ก็อย่างกรณี ออเร้นจ์ (ชื่อเดิมของทรูมูฟ) พลาดจังหวะ ไม่ได้ cash out ในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่า “อันนี้เป็นแทคติค ถ้า cash out ไม่เป็น ไม่รู้จังหวะในการขาย ก็ต้องมาตกอยู่ในมือธุรกิจของตัวเอง แล้วดิ้นรนต่อไป รออีกรอบนึง แล้วรอรอบหน้า (ถ้ามีโอกาส) ซึ่งอย่างน้อยต้องรอเป็นสิบปี แต่ส่วนใหญ่ ถ้าพลาดโอกาสแล้วก็ยาก
เอกยุทธ อธิบายว่า สมมติถ้าลงทุนไปพันล้าน ทำไป 3-4ปี เปรียบเทียบผลตอบแทนกับฝากธนาคารได้ yield 6-7% หรือถ้าไปลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ ไพรเวทฟันด์ ได้ผลตอบแทน 20-25% ถ้ามีคนมาซื้อ เสนอราคาแบบได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ ถ้าไม่เอา ก็ถือว่าคุณเป็นคนโลภมากแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้คำว่าโง่เลยก็ว่าได้ แต่เราถือว่าโลภ เพราะต้องเอาแล้ว เพราไม่มีการลงทุนใดๆ ในโลกที่จะทำได้ ไปในทางเดียว คือกำไรตลอด
การ cash out พวกนี้ ก็ยังเหลือหุ้นส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อตกลงให้บริหารต่ออีกอย่างน้อย 3ปี อย่างน้อยตัวเองก็ยังได้กุมธุรกิจต่อ อย่างกรณีคุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง (อดีตเจ้าพ่อธุรกิจเหล็ก NSM) ใครๆ ก็บอกแกถอย แต่ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าแก cash out ไม่ได้ออกไปมือเปล่า และเมื่อถอยออกไปก็ไปทำธุรกิจอสังหาฯ ที่มีอยู่ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หรืออย่างกรณี การเทขายหุ้นของกลุ่มผู้บริหารบล. ภัทร (PHATRA) หลังจากทำ MBO ซื้อหุ้นคืน บล.เมอร์ริล ลินซ์ พอปรับตัวได้ระดับนึง เข้าตลาด และเริ่มมีมูลค่า ก็ cash out ขายหุ้นออกไปในราคาที่ค่อนข้างสูง “จริงๆ ก็ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยนะ เพราะข้อมูลทุกอย่างตัวเองมีอยู่” เอกยุทธตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องมองลึกลงไปอีก ก็คือ การ cash out ที่เกิดขึ้น บางดีลอาจเป็นการ “สมรู้ร่วมคิด” ระหว่างบริษัทมหาชนกับบริษัทโบรกเกอร์เหมือนกัน ทั้งสร้างวอลุ่ม และราคาเกินจริงสูงกว่าที่ควรจะเป็น คือ win-win ทั้งคู่ บางกรณี บริษัทที่ต้องการเทคโอเวอร์อีกบริษัทหนึ่ง เพราะมีเงินสดในมือเหลือเยอะ บางกรณีทำเพื่อเลี่ยงเสียภาษี บางกรณีต้องการซื้อไปเพื่อต่อยอดทางธุรกิจจริงๆ ก็มี หรือบางกรณีซื้อมาเพื่อปั้นย้อมแม้ว แล้วขายออกไปอีกทีนึงก็มี
รูปแบบการ Cash Out ธรกิจ ในสไตล์เอกยุทธ ได้แก่
-สร้างธุรกิจแล้วนำเข้าตลาดหุ้น จากนั้นก็ขายหุ้นทิ้ง
-สร้างธุรกิจแล้วเข้าตลาดหุ้น แล้วขายหุ้นใหญ่ออกหมด แต่ยังได้นั่งบริหารต่อ
-ธุรกิจที่มีเงินสดในมือมาก จะต้องนำเงินไปซื้อกิจการดีๆ เพื่อเลี่ยงภาษี แล้วแบ่งส่วนต่างกับเจ้าของ
-ซื้อธุรกิจในนามส่วนตัว แล้วขายให้กับบริษัทในเครือ
-ซื้อธุรกิจเพื่อต่อยอด เติมเต็มกิจการที่มีอยู่
-ซื้อธุรกิจมาปั้นแล้วขายต่อ
-ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นเพราะถูกบีบ แต่ยังมีสิทธิในการบริหาร
-ซื้อธูรกิจมาขาย แต่ยังนั่งบริหาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น