อันสืบเนืองมาจากการนั่งชมพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอนเกมส์ ที่เพิ่งจะปิดฉากจบการแข่งขันไปหมาดๆ ไฮไลท์ของพิธีปิดการแข่งขันที่ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกต ก็คือ การนำเอาวงที่เคยเป็นไอด้อลในตำนานของอังกฤษ หรือเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ มาร่วมในพิธีปิดหลากหลายศิลปิน หลากหลายวง 1ในจำนวนนั้นคือพวกวงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ยอดนิยมในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Take That, Spice Girl , Duran Duran และวงที่กำลังฮ็อตอยู่ในเวลานี้อย่าง One Direction ไม่รู้ว่ากระแสบอยแบนด์ของฝั่งตะวันตกจะกลับมาฮิตอีกหรือไม่ ภายหลังเริ่มซาลงไปในยุคช่วงปี 2000 แต่กระแสวงบอยแบนด์ กับเกิร์ลกรุ๊ป กลับไปฮิตและเป็นที่นิยมในฟากฝั่งตะวันออกอย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และแม้กระทั่งในบ้านเรา ซึ่งอีกกระแสนึงที่กำลังตีคู่กันมาก็คือ กระแส Cover Dance หรือ Flash Mob หรือแก็งค์เต้น บางทีก็คล้ายพวกทีมเชียร์ลีดเดอร์หรือ ปอมๆ เกิร์ล ปอมๆ บอย กระแสพวกดนตรีเต้นรำ มันกลับมาใหม่ในยุคนี้ สังเกตจากกระแสการตอบรับของคอนเสิร์ตพี่เจ เจตริน (J 20 anniversary concert) เปิดแสดงถึง 4 รอบ ก่อนหน้านั้นคอนเสิร์ต 20 ปี คริสติน่า ก็กระแสตอบรับดี,คอนเสิร์ต แร็ปเตอร์ รียูเนี่ยน ,คอนเสิร์ตลิฟต์ออย เมื่อเร็วๆนี้ ก็ใช่ และที่กำลังจะตามมาอย่างเจมส์ และก็อีกหลายเบอร์ ,กระแสฟีเวอร์ของฮั่นเดอะสตาร์ ซึ่งเป็นอดีตแดนเซอร์มาประกวดเวทีเดอะสตาร์ ก็สามารถสร้างกระแสคลั่งไคล้ในหมู่แฟนคลับเดอะสตาร์ไม่น้อยเลย หรือเป็นความแปลกใหม่ของพวกเวทีประกวดร้องเพลงก็ไม่ทราบ หรือแม้กระทั่ง ภ.Step Up 4 (3D) ก็สร้างกระแสยอดรายรับถล่มทลาย กลายเป็นภาพยนตร์เพลงเต้นรำที่ทำรายได้สูงทีสุดเท่าที่เคยมีมา ชนะ Step Up ทุกภาค และภาพยนตร์เต้นรำทุกเรื่องที่เคยเข้าฉายในบ้านเรา นี่ย่อมมีนัยยะอะไรบางอย่างที่บอกเราว่า กระแสการเต้นรำในหมู่แฟนคลับ คนดู ผู้บริโภคทั่วไป ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่า เริ่มกลับมาให้ความสนใจกับดนตรีเต้นรำ หรือแนวเพลงเต้นรำหรือเปล่า พวกค่ายเพลงเขาจับกระแสเหล่านี้ได้หรือเปล่า ทำไมเห็นมีแต่วงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ชุกชุมอยู่แต่ในค่าย Kamikaze ฝั่งลาดพร้าว แต่ทำไมค่ายใหญ่ยักษ์อย่าง Gmm Grammy ฝั่งอโศก ไม่ค่อยได้ปั้นวงบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปออกมาเลยในช่วงหลังๆ มานี้ หรือว่าแกรมมี่ไม่ถนัดงานปั้นศิลปินที่เป็นลักษณะบอยแบนด์ เกิรล์กรุ๊ป ในรูปแบบการเต้นรำก็ไม่รู้ เพราะล่าสุดเท่าที่เห็นก็เป็นวง B.O.Y (ซึ่งแยกวงไปแล้ว) กับ วง Olive เท่านั้น
“บอยแบนด์ คือวงดนตรีแนวป็อปหรือฮิปฮอป ที่ประกอบด้วยคน 3 คนขึ้นไป หรือกลุ่มนักร้องชายล้วน เช่น เทค แดท, นิว คิดส์ ออน เดอะ บล็อก เป็นต้น สมาชิกแต่ละคนมีความสามารถในการร้อง การเต้น และร้องเพลงที่อยู่ในกระแสหลัก และมีการแต่งตัวที่นำกระแสแฟชั่น ส่วนใหญ่สมาชิกของวงจะมาจากการออดิชั่น โดยผู้จัดการวงหรือโปรดิวเซอร์เพลง พวกเขาอาจมีทักษะในการร้อง การเต้น การแร็ป โดยส่วนมากสมาชิกจะอยู่ที่ 3 ถึง 6 คน เมอริซ สตารร์ มักจะถูกยกเครดิตว่าเป็นคนเริ่มต้นในการปั้นวงบอยแบนด์ อย่างวงนิว คิดส์ ออน เดอะ บล็อก โดยสตารร์ได้เคยปั้นวงเด็กอย่างวงนิว อีดิชั่น (วงวัยรุ่นผิวสี) และได้ปรับมาลองกับกลุ่มนักร้องเพลงในแนวป็อป สูตรนี้ มีผู้จัดการวงในยุโรปได้นำมาใช้เช่น ไนเจล มาร์ติน สมิธ (Nigel Martin-Smith) และ หลุยส์ วอลช์ (Louis Walsh) หากย้อนไปในอดีตในสมัยยุค 60-70 โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ เบิร์ต ชไนเดอร์ (Bert Schneider) และ บ๊อบ ราเฟลสัน (Bob Rafelson) ได้สมาชิก 4 คนเพื่อแสดงทางรายการโทรทัศน์ เดอะ มังกีส์ ก็สามารถถูกจำกัดความว่าเป็นวงบอยแบนด์ในยุคแรกๆได้ วงเดอะ มังกีส์เริ่มก่อตั้งวงในปี 1965 และยุบวงไปในที่สุดในปี 1970 ต่อมาก็มีวงชายล้วนที่ได้รับความนิยมในยุค 60 อย่าง เดอะ บีทเทิลส์, เดอะ บีช บอยส์, บีจีส์, เดอะ แจ็คสัน ไฟฟ์, ดิ ออสมอนด์ส เป็นต้น และในปี 1977 ก็มีการฟอร์มวงบอยแบนด์แนวละติน คือวง Menudo ในช่วงต้นถึงปลายยุค 90 ซึ่งเป็นช่วงที่บอยแบนด์กำลังรุ่งเรือง ได้มีวงบอยแบนด์ประสบความสำเร็จหลายวงด้วยกัน เช่น เทค แดท, บอยโซน, แบ็คสตรีท บอยส์, เอ็นซิงค์ และ เวสท์ไลฟ์ ซึ่งทุกวันนี้บอยแบนด์เริ่มมีความคล้ายคลึงกับวงบอยแบนด์ในยุค 60 คือสมาชิกในวงสามารถเล่นดนตรี เขียนเพลง แต่งเพลงได้ เช่น วงบัสเต็ด และ แมคฟลาย เป็นต้น” (ข้อความดังกล่าว อ้างอิงจาก วิถีพีเดีย สารานุกรมออนไลน์)
ฝั่งอังกฤษ วง BB,GG มี 2 รูปแบบก็คือที่เป็นวงดนตรี สมาชิกทุกคนเล่นดนตรีคนละ 1 ชิ้น มีนักร้องนำของวง เช่น วงเดอะบีทเทิ่ลส์ ,วงดูแรนดูแรน ,วงแวม เป็นต้น กับที่เป็นวงในลักษณะขายรูปลักษณ์ เน้นการร้องเพลง และลีลา ท่าเต้น หรือเน้นเต้นเป็นจุดขาย เช่น วง เทคแดท ,บอยโซน ,บลู ,เวสท์ไลฟ์ , สไปซ์เกิรล์ , อะตอมมิค คิทเช่น และ วัน ไดเรคชั่น
ฝั่งอเมริกา วง BB,GG ก็มี 3 รูปแบบ ก็คือเป็นวงดนตรีเล่นดนตรีสดทุกชิ้น ,วงร้องและเต้นเป็นจุดขาย และเพิ่มรูปแบบที่ 3 ก็คือ เป็นนักร้องผิวสี เน้นร้องประสานเสียง แนว R&B หรือ แนว Hip-Hop วงในกลุ่มแรก ก็เช่น พวกเดอะบีชบอย,บีจีส์ ,อีเกิ้ล ,มารูนไฟว์ ไฟว์ฟอร์ไฟท์ติ้ง วงในกลุ่ม 2 ก็พวก แจ็คสันไฟว์ ,นิวคิดส์ออนเดอะบล็อก, แบ็คสตรีทบอยส์ ,เอ็นซิงค์ วงในกลุ่ม 3 (ผิวสี) เช่น ออลโฟร์วัน ,บอยส์ทูเม็น , เดสตินี่ไชด์ เป็นต้น ยังมีอีกรูปแบบนึงที่ไม่รู้จะจัดเข้าเป็น BB,GG ด้วยหรือไม่ คือลูกผสม คือมีทั้งหญิงชายอยู่ในกลุ่ม อาทิ วง Bonny M, Black Eyed Pea (และวง Bazoo ของไทย)
เกาหลี วง BB, GG ส่วนใหญ่จะขายรูปลักษณ์ หน้าตา ท่าเต้น หรือเน้นจุดขายเรื่องการเต้นรำ ไล่มาตั้งแต่ SJ, SNSD, TVXQ, 2PM, 2AM, BabyVox,Wonder Girl, T-ara, BigBang, ShiNee, Infinite, Mblaq, Beast, Exo –K,Exo-M, Nu’est เป็นต้น ที่เล่นเป็นในรูปวงดนตรี เช่น cn blue
บ้านเรา (พี่ไทย) วง BB,GG ก็แบ่งเป็น 2 รูปแบบเช่นกัน คือ ที่รวมกันเป็นวงเล่นดนตรีสด ทุกชิ้น เช่น วงสตริงคอมโบ้ ,วงชาโดว์ ต่างๆ กับที่เป็นทีม,แก๊งค์ เต้นรำเน้นขายรูปลักษณ์หน้าตาและการเต้นที่แข็งแรง พร้อมเพรียง วงในลักษณะนี้ในอดีต อาทิเช่น ทิคแท็คโท ,ยูโฟร์, ไฮแจ็ค ,ดร.คิดส์, ,บอยสเก๊าต์,,ซาซ่า,บับเบิ้ลเกิร์ล,,ทีสเกิร์ต,,ไชน่าดอลล์และ 2002 ราตรี, ดีทูบี, ยูเอชที, เอ็กซ์แอลสเต็ป, ดราก้อนไฟว์ เป็นต้น ถ้าเป็นรุ่นปัจจุบันก็ศิลปินในสังกัดกามิกาเซ่ อาทิ ไนซ์ทูมีทยู ซีควินซ์, เคโอติค,รุกกี้บีบี เฟย์ฟางแก้ว เป็นต้น
ผู้เขียนคิดว่า ผู้ที่ปลุกกระแสวง BB,GG และกระแสเพลง Dance Music ให้กลับมาคึกคักในบ้านเรา ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ K-Pop นั่นเอง เพราะกระแสวง BB,GG ที่ดังในระดับโลกนั้นเดิมที่มาจากฝั่งอังกฤษและอเมริกานั่นแหละ และก็ถึงจุดอิ่มตัวช่วงยุคปี 90's พอเข้าสู่ยุค 2000 ก็กลายเป็นฝั่งเอเซียที่ผงาดขึ้นมา นับตั้งแต่ ญี่ปุ่น(Johnny Junior) ไต้หวัน (4 หนุ่ม F4) เกาหลี ก็ตั้งแต่กระแส Korean Wave ตั้งแต่วงแรก ๆ ที่มาเปิดตัวในบ้านเราก็พวก BabyVox, Super Junior, Seven เป็นต้น จากนั้นศิลปินของทางเกาหลีก็เข้ามาตีตลาดทั่วเอเซียด้วยหัวหอกอย่าง Wonder Girl , Rain และก้ตามมาด้วยศิลปิน BB,GG อีกเป็นร้อยวง จวบกระทั่งจนบัดนี้ก็ไปตีตลาดโลกด้วยการไปบุกตลาดอเมริกาและยุโรป ด้วยศิลปินที่เป็นหัวหอกนำร่องอย่าง WonderGirl , Girl Generation ,BigBang ,Rain และที่กำลังจะตามมาอีกมาก แต่จะประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แต่ในบ้านเราต้องถึอว่า Korea ครองเมืองมา 5-6 ปีแล้ว และก็ถือว่าสร้างโมเมนตัมได้ในระดับเดียวกับเพลงจากอเมริกาและอังกฤษ แม้ว่าจะไม่สามารถยึดครองตลาดไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็กลายเป็นดนตรีอีกแนวเพลงนึงที่คนไทยนิยมฟังกัน และติดตาม คงต้องรอดูต่อไปว่าค่ายเพลงในเมืองไทยจะตั้งรับและรุกกลับได้หรือไม่ และอย่างไรต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น