วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554

กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ อ่ะ, จริงดิ

โฉมหน้ากรุงเทพฯ ที่เราเห็นกำลังจะเปลี่ยนไป ในอีก 5 ปีข้างหน้า โครงการใหญ่ยักษ์หรือที่เรียกว่า Mega Project ไม่ว่าจะเป็นโครงการในระดับประเทศของภาครัฐ อย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่เชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมต่างๆ ของ สนข. ที่กำลังประมูลก่อสร้างหรือกำลังก่อสร้างไปแล้ว ซึ่งไม่นับรวมโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟลอยฟ้า (BTS) ซึ่งก็จะทำควบคู่กันไปบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าทั้งระบบแบบใยแมงมุม จะเริ่มแล้วเสร็จ ,โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือ ไฮสปีดเทรนที่เชื่อมต่อจากภาคอีสานมาสู่กรุงเทพฯ หรือภาคเหนือลงมากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจีนให้เงินกู้สนับสนุน หรือโครงการศูนย์การยักษ์ใหญ่แถบบางนา ศูนย์การค้าขนาดใหญ่บริเวณชิดลม ที่กำลังจะมาเปิด ส่วนต่อขยายของสนามบินสุวรรณภูมิ ,โครงการของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นก็ริเริ่มทำโครงการที่คนกรุงเทพยังมีข้อกังขาอย่าง ซุปเปอร์สกายวอล์ค โครงการอุโมงค์ยักษ์ป้องกันน้ำท่วม ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวโยงกับชุมชนและคนกรุงเทพ รวมถึงการจราจรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่นับรวมการวางโครงข่ายทางด้านโทรคมนาคมที่เรียกว่า 3G หรืออาจต้องเลยไปถึง 4G กันแล้ว ถามว่าโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นทั้งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ หรือบางอย่างก็เป็นการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐาน จะมีส่วนช่วยให้กรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรแห่งนี้กลายเป็นสลัมไฮเทคไปหรือไม่ เพราะลองนึกภาพดูแล้ว ทัศนียภาพมันคงดูเกะกะ เทอะทะ อุจาดตา อย่างบอกไม่ถูก อย่ากระนั้นเลยเราลองมาดูโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองหลวงกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง และมันจะมีผลดีหรือผลเสีย หรือนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงจุดบกพร่องด้านทัศนียภาพ และทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองน่าอยู่จริงหรือไม่อย่างไร

โครงการกรุงเทพฯ เดินสบาย

ถ้าถามคนกรุงเทพว่าอะไรจะทำให้ กทม. นั้นน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม พื้นที่สัญจรทางเท้าน่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบอย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ทางเดินที่คับแคบ ภูมิทัศน์ที่แออัดทำให้กรุงเทพ มัวหมอง หมดความสดใสน่าอยู่ลงไปอย่างมาก

กลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่ากรุงเทพเดินสบาย อันประกอบไปด้วย นักออกแบบผังเมือง ภูมิสถาปนิก สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบและศิลปิน จึงจัดโครงการหนึ่งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ นั่นก็คือการประกวดแบบในการปรับปรุงพื้นที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าทีเอสสยาม เชิญชวนนักศึกษา ศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก และประชาชนทั่วไปมารวมตัวกันเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 10 คน เพื่อออกแบบเพื่อปรับปรุงทางเท้า และภูมิทัศน์ย่านสยามแควร์เพื่อคนกรุงเทพบน ถนนพระราม 1จากแยกอังรีดูนังต์ถึงแยกพญาไท แบบที่ชนะการประกวดจะนำมาใช้จริงในการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ให้มีทัศนีภาพที่สวยงามขึ้นและมีมลภาวะน้อยลง อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ความสร้างสรรค์ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เชื่อว่าคนกรุงเทพจะต้องใจจดใจจ่อที่จะเห็นพื้นที่สยามแสควร์ในรูปแบบใหม่นี้อย่างมาก และหวังว่าจะมีการดำเนินโครงการแบบนี้กับพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพต่อไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น การที่กรุงเทพจะกลายเป็นเมืองสร้างสรรค์จะต้องไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน

และตามมาติดๆ ด้วยการเปิดตัวโครงการซุปเปอร์สกายวอล๋ค โครงการที่ถูกตั้งข้อกังขาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในโลกอินเตอร์เน็ต ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนถึงกับให้มีการทบทวนหรือทำประชาพิจารณ์จากคนกรุงเทพว่าเห็นด้วยหรือไม่เสียก่อน เราลองไปฟังการให้คำสัมภาษณ์ของ มรว.สุขุมพันธ์ ผวจ.กรุงเทพฯ ถึงโครงการนี้กันก่อน ดังนี้


ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเปิดตัวแผนแม่บทสำหรับการก่อสร้าง ‘โครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือ ซูเปอร์สกายวอล์ค (SuperSkywalk System)’ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้าที่ปราศจากสิ่งกีดขวางการเดินเป็นระยะทางรวม 50 กิโลเมตร โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คดังกล่าวจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยการก่อสร้างในเฟสแรกระยะทางรวม 16 กิโลเมตร จะเริ่มในเดือนมีนาคม 2554 ส่วนเฟสที่สอง ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ให้คำมั่นว่า โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค 16 กิโลเมตรแรก จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 18 เดือนเท่านั้น ซึ่งหลังจากเปิดใช้จะทำให้ กรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้ายาวขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า ทั้งนี้ โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค ส่วนแรกจะสร้างครอบถนนสุขุมวิทเกือบทั้งสาย โดยเริ่มจากซอยนานาไปถึงซอยแบริ่ง และอีก 3 สายบนถนนพญาไท ถนนรามคำแหง และใกล้กับวงเวียนใหญ่ในย่านธนบุรี “นี่ถือเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าสำหรับประชาชนที่เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ทั่วถึง และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คนี้จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อจุดต่างๆ ในย่านที่คนพลุกพล่านหลายส่วนของกรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า “โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่ในการเดิน-เท้ามากขึ้น ทำให้สามารถเดินไปยังจุดหมายปลายทางใกล้ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกแทนการขับรถ สำหรับการเดินทางระยะสั้นๆ” นอกจากนั้น โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คทั้งหมดยังได้รับการออกแบบเพื่อให้คนอยากจะใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น“ในส่วนของการเดินทางระยะไกลๆ ก็เช่นเดียวกัน ซูเปอร์สกายวอล์คจะช่วยให้คนตัดสินใจจอดรถไว้ที่บ้าน เพราะโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คถูกออกแบบให้สอดรับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ กล่าวคือคนสามารถจะใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้าได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกลัวว่าเมื่อออกจากระบบรถไฟฟ้าแล้วจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางลำบาก เพราะสามารถเดินเท้าต่อไปได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิมมาก ทั้งยังไม่ต้องกลัวแดด และฝนอีกด้วย” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว “ภารกิจกรุงเทพฯ ก้าวหน้า เป็นความตั้งใจของผมมาตั้งแต่ต้น ที่จะไม่ออกแบบโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบครึ่งๆ กลางๆ ในอดีตที่ผ่านมาบ่อยครั้งมีการทำโครงการแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้เกิดการสูญเปล่า และเป็นการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในส่วนของโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คนี้ ผมไม่สร้างสกายวอล์คแบบแยกส่วน แต่จะทำเป็นแผนบูรณาการครอบคลุมรอบพื้นที่อย่างทั่วถึง” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าในเวลากลางคืน ตลอดแนวเส้นทางโครงข่ายซูเปอร์-สกายวอล์คจะมีไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมกับกล้องวงจรปิดที่คอยตรวจจับความเคลื่อนไหว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ทางเดินเท้า ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคสำคัญเพียงอย่างเดียวในกรุงเทพฯ ที่เกือบจะไม่เคยมีการขยายเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเดินเท้าต้องเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ไปเรื่อยๆ” “การขยายตัวของเมืองที่มาพร้อมกับความหนาแน่นของประชากร ทำให้เราเพิ่มพื้นที่ในส่วนของที่พักอาศัยและสำนักงาน ด้วยการก่อสร้างอาคารสูงมากขึ้น ขยายถนนให้มากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ และขยายศักยภาพของระบบโทรคมนาคม แต่ทั้งหมดทั้งปวง เราแทบจะไม่ได้เพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าเพื่อรองรับกับความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นเลย โครงข่ายซูเปอร์-สกายวอล์คจะเข้ามาเสริมให้คนใน กรุงเทพฯ มีพื้นที่เดินเท้าที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น และผมมั่นใจว่า เมื่อเปิดใช้บริการจะมีคนกรุงเทพฯ ใช้ซูเปอร์สกายวอล์คเป็นทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ได้ยกตัวอย่างถนนอโศก ซึ่งเป็นย่านที่มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการขยายถนนและก่อสร้างตึกสูงไว้ว่า ราวปี พ.ศ. 2520 มีผู้พักอาศัย หรือทำมาหากินอยู่ในย่านอโศกประมาณ 50,000 คน ช่วงนั้นยังไม่มีการสร้างคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานสูงๆ เลย แต่ทุกวันนี้ ย่านอโศกมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ประมาณ 1,000,000 คนต่อวัน เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า มีการขยายถนนให้ใหญ่ขึ้นมาก ระบบระบายน้ำและสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ได้รับการพัฒนาขยับขยายขึ้นรองรับการใช้งาน เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานและโครงการคอนโดมิเนียมใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยคือ พื้นที่ทางเดินเท้ายังมีอยู่เท่าเดิม” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คในเฟสแรกประมาณ 5,200 ล้านบาทส่วนเฟสที่สองของโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค จะก่อสร้างในปี 2555 - 2557 และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 10,000 ล้านบาท

อะไรที่ทำให้ ผวจ.กรุงเทพ ท่านนี้ถึงได้มีแนวความคิดทำโครงการใหญ่ๆ สิ้นเปลืองงบประมาณได้มากมายถึงเพียงนี้ คิดว่ากรุงเทพเป็นเมืองหลวงและมีงบประมาณเหลือเฟือเป็นของตนเองนั้น คิดว่าท่านคงคิดผิดอย่างแน่นอน เพราะกรุงเทพมีระบบการบริหารงานเป็นองค์กรพิเศษที่เรียกว่าสภากรุงเทพมหานครและมีสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) เป็นผู้ดูแลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานและการใช้งบ บังเอิญโชคร้ายของคนกรุงเทพฯ วันนี้ก็คือ ทั้ง สก.สข.และผุ้ว่าฯ ในยุคนี้มาจากพรรคเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ระบบการตรวจสอบจึงอาจไม่ทำงาน คือเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่หรือมีเหตุผลเคลือบแฝงใดๆ ก็ตาม ประชาชนคนกรุงเทพฯ ย่อมต้องมีส่วนร่วมในโครงการที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด อะไรที่ใช่ และเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯจริงๆ เราไม่ต่อต้านอยู่แล้ว แต่หากไม่ใช่ คนกรุงเทพฯจะให้คำตอบแก่ผู้ว่าและทีมงานของท่านเอง เราเคยมีบทเรียนจากรถดับเพลิงสมัยผู้ว่าคนก่อน (อภิรักษ์ โกษะโยธิน) จากพรรคเดียวกัน และอีกหลายโครงการก็ถูกตั้งคำถามถึงว่าเป็นประโยชน์คุ้มค่ามากน้อยเพียงใดกับงบประมาณที่เสียไป ไม่ว่าจะเป็นป้ายอัจฉริยะทั่วกรุง ระบบรถรางBRT ทุกวันนี้สร้างมาแล้วมีคนใช้หรือได้ประโยชน์กับโครงการนี้ซักกี่คน คำถามที่ยังไม่มีใครให้คำตอบเราเลย แต่คิดแต่จะสร้างโน่นสร้างนี่ ใช้เงินงบประมาณกันท่าเดียว พอเราได้รับฟังมาว่าท่านคิดจะทำโครงการใหญ่ ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเราชาวกรุงเทพฯ โดยที่ท่านมิได้มาถามคนกรุงเทพฯอย่างเราๆ เลย หรือตอนหาเสียงก็ไม่เคยเห็นท่านจะมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพวกนี้ให้เห็นเลย แต่จู่ๆ พอมาเป็นผู้ว่าฯ แล้วท่านก็ค่อยคิดจะมาทำ ผมคนกรุงเทพฯคนนึงที่มีบ้านอยู่ชานเมือง แทบจะไม่เคยได้ใช้บริการ BTS หรือ Sky Walk อะไรของท่านเลย ก็เลยรู้สึกเศร้าใจและเสียใจเป็นอย่างมากครับ ที่เลือกท่านมาเป็นผู้ว่าฯ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น