วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

คาสเซ็ทท์รีวิว “ร็อคมือขวา” วงไมโคร

คาสเซ็ทท์รีวิว “ร็อคมือขวา” วงไมโคร

จำได้ว่าพอหมดยุควงสตริงคอมโบ้ในบ้านเราแล้ว ก้าวเข้าสู่ยุคค่ายเพลง วงไมโครเป็นวงแรกที่ผู้เขียนชื่นชอบในผลงานมากที่สุดวงหนึ่ง นับจากความสำเร็จจากภาพยนต์ของอาเปี๊ยก โปสเตอร์ เรื่องวัยระเริง การเป็นวงเปิดให้กับวงรอยัลสไปร์ท และวงคาราบาว เสมอๆ ในคอนเสิร์ตใหญ่ๆ การได้ก้าวเข้ามาสู่ชายคาของแกรมมี่ โดยมีพี่เต๋อและพี่ป้อม อัสนี และพี่กฤช ดูแลการผลิตอัลบั้ม นับตั้งแต่อัลบั้มแรกจนอัลบั้มสุดท้ายก่อนที่อำพล ลำพูน นักร้องนำจะแยกตัวออกไปเป็นศิลปินเดี่ยว ทั้งตัววงไมโครและหนุ่ยอำพล ล้วนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น กลายเป็นวงในตำนานเพลงร็อกของวงการเพลงบ้านเราวงหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าเทียบกับต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าไมโครก็คือบองโจวี่ เมืองไทย ส่วนตัวผู้เขียนติดตามงานของวงไมโครแค่อัลบั้มแรกจนถึงอัลบั้มเอี่ยมอ่องอรทัยเท่านั้น ส่วนพี่หนุ่ยก็ตามงานแกแค่อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกเท่านั้น ผลงานเดี่ยวแกไม่ค่อยโดดเด่นเท่าตอนอยู่วงไมโคร แต่ก็ถือเป็นศิลปินในดวงใจคนหนึ่งด้วยเช่นกัน จึงขอวิจารณ์ติชมแค่ 4 อัลบั้มแรกเท่านั้น ดังนี้


อัลบั้มแรก ร็อกเล็กๆ (ปี 2529) เพลงเปิดตัว อย่าดีกว่า,อยากจะบอกใครซักคน,รักปอนปอน

เพลงอย่าดีกว่า เพลงเปิดตัวที่ทำให้เราทุกคนรู้จักวงไมโคร เสียงกลองแน่นๆและลี๊ดกีตาร์แปลกหู ผนวกกับเสียงร้องเท่ห์ๆ ของหนุ่ย มันช่างลงตัวและเนื้อหาดี บ่งบอกคาแรกเตอร์ของทั้งวงได้เป็นอย่างดี อธิบายคอนเซ็ปต์อัลบั้มได้อย่าง cover ทั้งหมด คือเจียมเนื้อเจียมตัว เราเป็นเพียงร็อกตัวเล็กๆ วงหนึ่งเท่านั้น ผมว่าเป็นเพลงที่แนะนำตัวพวกเขาให้แฟนเพลงเปิดใจยอมรับ และรักพวกเขาได้ง่าย ตามด้วยเพลงรักปอนปอน ก็ตอกย้ำความเป็นคนธรรมดาติดดิน เพลงนี้มีคำร้องที่ติดหู ฟังทีแรกก็ร้องตามได้เลย คำร้องโดยพี่ดี้ นิติพงษ์ เป็นเพลงอมตะในใจใครหลายคนไปแล้ว “ตัวฉัน คนอย่างตัวฉัน ใครจะมาสนใจ คนสวยคนที่ดีพร้อม เค้าก็มองข้ามไป เพราะฉันมันเป็นคนแบบปอนๆ ทั่วไป ไม่เห็นจะมีดีที่ใด ชีวิตไปวันๆ ได้แต่ฝันจะมีใคร อยู่ข้างเคียง” ส่วนอู๊ดกับแอ๊ด เป็นเพลงสนุกๆ ดนตรีร็อกหนักขึ้น กระแสเกย์ เลสเบี้ยนมีมากขึ้น เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อแซวเล่นสนุกๆ แต่ก็ทันสมัยดี

เพลงอยากจะบอกใครซักคน ทำนองเรียบเรียงโดย จาตุรนซ์ เอมซ์บุตร คำร้องโดยพี่ดี้ นิติพงษ์ เพลงนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปก็อปปี้ทำนองมาจากเพลงของต่างประเทศ รวมถึงเพลงรักปอนปอน จำฝังใจ ด้วย แต่หากมองข้ามในส่วนของทำนองก็อปปี้ไปแล้ว ต้องบอกว่าคำร้องของเพลงนี้โดนใจสุด ๆ ในยุคนั้นเลย เสียงกีต้าร์บาดใจ และเสียงพี่หนุ่ยเท่ห์ๆ แทบจะทำเอาแฟนเพลงคลั่งในตัวพี่หนุ่ยเลย รวมถึงเพลงจำฝังใจด้วย ผู้เขียนคิดว่า ถ้าไม่มีเพลงนี้ในอัลบั้มนี้ อัลบั้มนี้จะประสบความสำเร็จเท่านี้หรือไม่ ทุกครั้งที่ผู้เขียนนึกถึงภาพจำของพี่หนุ่ยในอัลบั้มแรกนั้น จะนึกถึงเพลงนี้ก่อนเสมอเลย มันแทบขาดใจ ลองฟังเนื้อร้อง คำร้องดู “หนใดที่ใจเหงา ทุกคราวที่เราท้อ ขอเพียงแต่มีแค่ ใครคนหนึ่ง ทุกข์จนสุดทนไหว ร้อนรนขึ้นยามใด อยากจะบอกใครซักคน ถึงใครต่อใครเขา เห็นเราหมดความหมาย ขอเพียงแต่มีแค่ ใครคนหนึ่ง ถึงวันที่สับสน ทุกข์ทนอยู่ในใจ อยากจะบอกใครซักคน สักคน ที่จะรู้ สักคน จะได้ไหม สักคน ....ถึงคราวที่สดใส ครั้งใดที่สุขสม ขอคนชื่นชมแค่เพียงคนหนึ่ง ถึงวันที่มองฟ้า คว้าดาวได้ดังใจ อยากจะบอกใครซักคน ใจเรามันเป็นเพียงแต่เนื้อเพียงก้อนหนึ่ง มันจึงมีเวลาจะอ่อนแอ เพียงตัวเรารำพันอ้างว้างไร้ทางแก้ จึงจำใจยอมทนเก็บไว้ อยากจะบอกใครซักคน เพียงคนเดียวจริงๆ ที่ขอไว้เป็นเพื่อน เพียงคนเดียว คอยเตือนและเข้าใจ มีคนเป็นพันๆ หมื่นแสนล้านอยู่บนโลก เพียงคนเดียวจะมีบางไหม อยากจะบอกใครซักคน” เพลงเรามันก็เป็นอย่างนี้ และเพลงสมน้ำหน้า ซ่าส์นัก มีจังหวะดนตรีสนุกๆ คำร้องกวนๆ สื่อความหมายความเป็นวัยรุ่น ดิบ ใจร้อน ก็ตรงกับคาแรกเตอร์ของสมาชิกวงไมโครได้ดี

เพลงฝันที่อยู่ไกล ทำนองเรียบเรียงโดย วิชัย อึ้งอัมพร คำร้องโดย เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์ เพลงนี้เป็นเพลงที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดในอัลบั้ม เพลงนี้เป็นเพลงที่เป็นคำตอบของความสำเร็จ และแรงบันดาลใจที่ทำให้วงไมโครประสบความสำเร็จในอัลบั้มแรก เนื้อหาดี มีท่อนประโยคจำคือ “ ฝันนั้นยังไกล ทำให้ใจมีพลัง แม้ล้มลงไป ทำให้ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ถ้าหากตั้งใจให้รีบก้าวไป เวลายังมีอยู่ หนทางนั้นยังรออยู่ รีบเร่งไปสู่ จุดมุ่งหมายที่อยู่ไม่ไกล...ให้ดี” เพลงอยากได้ดี ต้องฟังต่อจากเพลงเรามันก็เป็นอย่างนี้ เนื้อหาเป็นการพร่ำสอนวัยรุ่นให้เดินไปให้ถูกทาง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ผลงานพี่ดี้เขา ส่วนเพลงจำฝังใจ ก็มีประโยคจำ ที่โดนใจเช่นกัน “จดจำให้มันฝังใจ ว่าเวลาช่วงหนึ่งหายไป จำว่าไม่เคยพบใคร ไม่เคยมีใครเคยอยู่ เคยทิ้งเราไป”


อัลบั้มที่ 2 หมื่นฟาเรนไฮต์ (ปี 2531) เพลงเปิดตัว เอาไปเลย, ใจโทรมๆ, บอกมาคำเดียว (อัลบั้มนี้มีการเปลี่ยนตัวผู้ดูแลอัลบั้มหรือโปรดิวเซอร์จากพี่ป้อม อัสนีโชติกุล มาเป็นพี่กฤช โชคทิพย์พัฒนา แทน รายละเอียดทางดนตรี ความหนักหน่วงของดนตรีดูแน่นขึ้นมาก)

เพลงเอาไปเลย เพลงนี้แรงตั้งแต่เปิดตัว ทุกครั้งที่มีคอนเสิร์ตจะเป็นเพลงที่ถูกขอมากที่สุดของไมโครเลย ทั้งดนตรีและคำร้องมีเสน่ห์สุด ๆ (ทำนองเรียบเรียงโดย ชาตรี คงสุวรรณ คำร้องโดยอรรณพ จันสุตะ) ทุกครั้งที่ผู้เขียนนึกถึงภาพจำของพี่หนุ่ยในอัลบั้ม 2 ก็เป็นเพลงนี้แหละที่ผุดขึ้นมาก่อนเสมอ ฟังเพลงนี้แล้วต่อด้วยเพลงจริงใจซะอย่าง ร้องโดยพี่กบ ไมโคร มันช่างได้ฟีลสุด ๆ เพราะทั้ง 2 เพลง มันมีความหมายที่ให้ใจกับคนฟังแฟนเพลงอย่างเต็มที่แล้วเกินคำบรรยาย ยังนึกไม่ออกว่าจะมีใครที่จะไม่ชอบวงนี้กันบ้าง (ไม่นับพวกนักวิจารณ์,คอลัมนิสต์นิตยสารดนตรีทั้งหลายที่เป็นเกจิ ผู้รู้ที่มักวิจารณ์ไปตามเนื้อผ้าจริงๆ ) ผู้เขียนบอกได้เลยว่าชอบอัลบั้มนี้มากกว่าชุดแรกเสียอีก เพราะมันมีหลายเพลงที่ชอบมาก เดี๋ยวจะบอกว่าชอบเพลงไหนกันบ้าง เพลงหมื่นฟาเรนไฮต์ เป็นเพลงธีมของอัลบั้ม ดนตรีและเนื้อหาคำร้อง ผ่านมาตรฐานของวงไมโครอย่างสบาย เพลงพายุ ชอบตรงเนื้อหาคำร้องที่ให้ความหมายปรัชญาชีวิตดี (ทำนองเรียบเรียงโดย ปรมาจารย์ จิรพรรณ อังศวานนท์ คำร้องโดยเขตอรัญ เลิศพิพัฒน์ มีท่อนประโยคจำที่ว่า “ไปต่อไป แต่เคยคิดว่าชีวิตเป็นอย่างต้นไทร ไม่เคยโค้งไม่เคยโน้มให้กับสิ่งใด เพิ่งจะรู้ว่าชีวิตต้องอ่อนเอนตาม....พายุ”

เพลงใจโทรมๆ เพลงนี้เนื้อหาโดนใจสุด ๆ (ทำนองเรียบเรียงโดย โสฬส ปุณกะบุตร คำร้องโดยพี่ดี้ นิติพงษ์) เป็นเพลงช้าของพี่หนุ่ยที่ชอบมากที่สุดเพลงนึง จำได้ว่าฟังและดูมิวสิควีดีโอครั้งแรกในพาราไดซ์ มิวสิคฮอลล์ (ดิสโก้เธ็คชื่อดังในอดีต) แล้วขนลุก ยังมีภาพจำมาจนถึงทุกวันนี้ ท่อนฮุคประโยคโดนใจคือ”ให้โอกาสเธอ ได้เดินจากไป จากไปเสียก่อน ก่อนจะเห็นน้ำตาผู้ชาย โปรดจงอย่าหันมองกลับมา เดินไปให้ไกล ให้สุดสายตา แล้วเธอคงได้พบทางเดินใหม่”

เพลงบอกมาคำเดียว เป็นอีกเพลงที่ชอบมาก ชอบตรงเมโลดี้ และคำร้องที่ซื่อๆ ตรงๆ บวกกับเสียงร้องพี่หนุ่ยอีกแล้ว มันอินได้ใจจริงๆ (ทำนองเรียบเรียงโดย จาตุรนซ์ เอมซ์บุตร คำร้องโดยพี่ดี้ นิติพงษ์) เพลงนี้เป็นต้นตอที่ทำให้พี่ๆ วงเฉลียง (คุณประภาส ชลศรานนท์) เอามาเขียนแซวล้อเลียน เป็นเพลงใจเย็นน้องชาย แสดงถึงความฮ็อตของวงไมโครและศิลปินท่านอื่นๆ ในแกรมมี่(แหวน,อัสนี,นูโว) ที่ทำให้คู่แข่งอย่างคีตาเอามาเขียนแซวได้ ช่วงนั้นสงครามระหว่างแกรมมี่คีตา สนุกมาก เพราะคีตาออกพงษ์พัฒน์มาชนกับไมโคร และออกเอ็มสุรศักดิ์ มาชนกับบิลลี่ และยังมีอีกหลายคู่ศิลปิน มาเข้าเรื่องกันต่อ เพลงลองบ้างไหม จังหวะดนตรีแน่นๆ สนุกๆ ในอัลบั้มนี้คือเพลงนี้ ส่วนเพลงรักคุณเข้าแล้ว น่าจะเป็นเพลงที่โดดที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ เพราะเสียงร้องของพี่อ้วน ไมโคร บวกกับสำเนียงการร้องที่ซื่อๆ ส่วนเนื้อหาคำร้องก็ดูเชยๆ แต่ก็น่ารักดี ลดโทนเข้มๆ ลง

เพลงคิดไปเองว่าดี ชอบตรงเนื้อหาของเพลง (ทำนองเรียบเรียงโดย สมชาย กฤษณะเศรณี คำร้องโดยอรรณพ จันสุตะ) เสียงร้องของพี่หนุ่ยดูเศร้าๆ

เป็นการบิลต์ เพื่อจะไปพีคสุดในเพลงสุดท้ายของอัลบั้มนี้นั่นคือเพลง โชคดีนะเพื่อน ซึ่งเป็นเพลงที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ เพราะมีความหลังฝังใจกับเพลงนี้เป็นอย่างมาก เป็นเพลงเรียกน้ำตาทุกครั้งที่คิดถึงวันจบการศึกษาตอนที่ยังนึกถึงภาพความทรงจำของเพื่อนๆ ในวัยเรียนที่เคยร่วมเรียน ร่วมสนุก และร่วมประสบการณ์ในชีวตทุกรูปแบบมาด้วยกัน เพลงนี้ผู้เขียนได้ยินไม่ได้เลย จะนึกถึงเพื่อนรักคนหนึ่งของผู้เขียนที่ได้เสียชีวิตไปแล้วทุกครั้ง และก็ภาพความทรงจำสมัยเรียนผุดขึ้นมาอีกทุกครั้ง ทำเอาเสียน้ำตาทุกที เรียกว่าเป็นเพลงจี๊ดโดนใจ ประจำตัวผู้เขียน


อัลบั้มชุดที่ 3 เต็มถัง (ปี 2532) เพลงเปิดตัว ส้มหล่น ,เรามันก็คน ,เติมน้ำมัน

อัลบั้มนี้จัดว่าเป็นอัลบั้มที่ทำให้วงไมโครประสบความสำเร็จมากที่สุด เพลงฮิตเกือบจะทั้งอัลบั้ม อัลบั้มขายได้เกินล้านตลับ คอนเสิร์ตมีคนดูเรือนแสน จนเป็นที่มาของคอนเสิร์ตในตำนาน “ร็อคมือขวา”

เพลงแรก เพลงส้มหล่น เรียกว่าถ้าใครเป็นแฟนเพลงของไมโครย่อมไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ ทั้งดนตรีและคำร้อง(ทำนองเรียบเรียงโดยชาตรี คงสุวรรณ คำร้องโดยอรรณพ จันสุตะ) นั้นติดหูตั้งแต่แรกฟัง ท่อนฮุคประโยคจำ คือ “อยู่ดีๆ เธอก็ให้มา ให้ความรักเรา ให้มาทั้งตัวและหมดหัวใจ เจอะเข้าแล้วเต็มเปา เจอะคราวนี้เต็มใบ เป็นไปได้ไง ไม่อยากเชื่อเลย” เพลงต่อมา เรามันก็คน เพลงนี้ชอบตรงเนื้อหาโดนใจสุดๆ (ทำนองเรียบเรียงโดย อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ คำร้องโดย อรรณพ จันสุตะ อีกแล้ว) ฟังต่อกันระหว่างส้มหล่นกับเรามันก็คน ต่อด้วยมันก็ยังงงงง เหมือนแต่งมาเพื่อแก้ต่างให้พี่หนุ่ยยังไงไม่รู้ ในช่วงนั้นมีข่าวคราวว่าพี่หนุ่ยมาคบหาดูใจกับคุณมาช่าแล้ว แล้วเหมือนกับว่ากำลังจะมีน้อง(กาย) ด้วยกัน ทำให้พี่หนุ่ยดังและขึ้นแท่นนักร้องเบอร์ 1 ของค่ายไปเลยเวลานั้น ส่วนภายหลังคุณมาช่าก็กลายมาเป็นนักร้องมีอัลบั้มเดี่ยวด้วยในสังกัดเดียวกันตามมา

เพลงคนไม่มีสิทธิ์ เป็นเพลงช้าที่มีสำเนียงซื่อๆ โดนใจ คล้ายๆ เพลงบอกมาคำเดียวจากอัลบั้มชุดที่แล้ว เพลงดับเครื่องชน เป็นเพลงร็อคจังหวะดนตรีแน่นๆ ของอัลบั้มนี้ เพลงรู้ไปทำไม จังหวะดนตรีเศร้าๆ ได้เสียงร้องพี่หนุ่ยเข้าไป เลยออกมาในโทนเศร้าแต่เข้ม ช่วงท้ายมีกระชับดนตรีให้หนักแน่นขึ้นด้วย เพลงมันก็ยังงงงง สนุกๆ มันๆ ดูคล้ายร็อคแอนด์โรล สำหรับเพลงนี้

เพลงเติมน้ำมัน เป็นเพลงที่ชอบมากที่สุดในอัลบั้มนี้ (ทำนองเรียบเรียงโดย คณิต พฤกษ์พระกานต์ คำร้องโดย เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์) มีท่อนฮุคประโยคจำ ก็คือ “หากวันนี้ ได้รักเติมอีกที คงเริ่มมีกำลังเคลื่อนไหว หากเติมรักครั้งนั้นให้กับใจฉันไว้ ฉันนี้คงไม่ตาย” เพลงรุนแรงเหลือเกิน ก็เป็นเพลงช้าอีกเพลงที่โดนใจ ช่วงอินโทรก่อนจะขึ้นเพลงนั้นไพเราะมาก จนคิดว่าเพลงนี้น่าจะทำเป็นเพลงบรรเลงอย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องมีคำร้องเพราะเมโลดี้ของเพลงไพเราะดีอยู่แล้ว (ทำนองเรียบเรียงโดย อภิไชย เย็นพูนสุข) ส่วนเพลงถึงเพื่อนเรา เป็นภาคต่อของเพลงโชคดีนะเพื่อนในอัลบั้มชุดที่แล้ว แต่เนื้อหาและทำนองไม่กินใจเท่าเพลงโชคดีนะเพื่อน และปิดท้ายด้วยเพลงเปิดฟ้า น่าจะเป็นภาคต่อของเพลงพายุ ทั้งเนื้อหาและทำนองก็ไม่กินใจเท่าเพลงพายุอีกเช่นกัน


อัลบั้มที่ 4 เอี่ยมอ่องอรทัย (ปี 2534) เพลงเปิดตัว รักซะให้เข็ด, เลือดเย็น, ไม่มีอะไรจะเสีย (อัลบั้มชุดนี้มีการเปลี่ยนโปรดิวเซอร์เป็นคุณจาตุรนซ์ เอมซ์บุตร )

อัลบั้มนี้นับว่าเผยตัวตนความเป็นไมโครได้อย่างชัดแจ้งที่สุด แม้ว่าจะไม่มีเสียงพี่หนุ่ยอำพลแบบอัลบั้มก่อนๆ แล้ว แต่กลายเป็นว่าดีกว่า และพี่กบก็ทำหน้าที่ร้องนำได้ดี รวมถึงสมาชิกที่เหลือ เพราะวงร็อคสำคัญที่สุดคือภาคของดนตรี บางทีไม่ต้องอาศัยเสียงร้องที่โดดเด่นเลยด้วยซ้ำ ขอเพียงต้องมีเสียงสูงที่ถึง เนื่องจากคีย์เพลงร็อคจะเป็นคีย์สูงเสียส่วนใหญ่ และจะว่าไปถ้านับแค่ 4 อัลบั้มแรกนี้ ผู้เขียนก็มองว่าอัลบั้มที่ 4 นี้ดีที่สุด แล้วในส่วนของภาคดนตรี หนักแน่น และดูเป็นร็อคมากกว่าทุกอัลบั้ม ระยะหลังพอหยิบอัลบั้มนี้มาฟัง ส่วนตัวเลยชอบอัลบั้มนี้มากที่สุดไปแล้ว

เพลงรักซะให้เข็ด เพลงนี้ทั้งท่วงทำนองและน้ำเสียงของพี่กบมันยังไม่ค่อยลงตัว และเนื้อหาก็ไม่โดน คล้ายๆ จะเป็นเรามันก็คนภาค 2 แต่เนื้อหามันไม่ใช่ (ทำนองเรียบเรียงโดยอนุวัฒน์ สืบสุวรรณ คำร้องโดย ประชา พงศ์สุพัฒน์) จึงเสียดาย ไม่น่าเอามาเป็นเพลงโปรโมตเลย ทำให้ภาพรวมดูดร็อปไปกว่าอัลบั้มก่อนๆ มาแก้ตัวได้จากเพลงเลือดเย็น เพลงนี้ทั้งเนื้อหาและทำนองพอรับได้รวมทั้งเสียงของพี่กบด้วยครับ (ทำนองเรียบเรียงโดย โสฬส ปุณกะบุตร คำร้องโดยจาตุรนซ์ เอมซ์บุตร ไม่คิดว่าพี่เขาจะแต่งคำร้องได้ด้วย นึกว่าแกทำดนตรีเพียงอย่างเดียว)

เพลงไม่มีอะไรจะเสีย (ทำนองเรียบเรียงโดยสันธาน เลาหวัฒนาวิทย์ (พี่บอย) คำร้องโดยจักราวุธ แสวงผล) ดนตรีมันส์ พะยะค่ะ คุณพี่บอย ชอบครับ ชอบ ได้คำร้องของพี่จักราวุธ เข้าไปก็เลยออกมาดีมาก ไอ้ 2 เพลงแรกเล่นเอาไม่อยากจะฟังอัลบั้มนี้เลย พอมาเพลงนี้ค่อยหายใจหายคอโล่งหน่อย ผมว่าแกคงทุ่มกู้หน้าสุดตัว สมกับชื่อเพลงมั๊ง ไม่มีอะไรจะเสีย อีกแล้วใช่มั๊ย แต่ขอบอกว่าโดยรวมชอบเพลงนี้นะ ครับ

เพลงสะใจแล้วซิเธอ (ทำนองเรียบเรียงโดยสันธาน เลาหวัฒนาวิทย์ (พี่บอย) คำร้องโดยจาตุรนซ์ เอมซ์บุตร) เพลงนี้โดยเนื้อหาและเสียงร้องของพี่กบ ถือว่าดีและโดนที่สุดในอัลบั้มนี้แล้วครับ พี่กบจำไว้นะครับร้องแบบนี้แหละได้ใจที่สุด นี่เป็นเพลงช้าที่พี่กบร้องดีที่สุดเลยนะครับ

เพลงเฮกันหน่อย (ทำนองเรียบเรียงโดย อภิไชย เย็นพูนสุข คำร้องโดย จักราวุธ แสวงผล) เพลงนี้ถือว่าโดดสุดในอัลบั้ม จังหวะเป็นร็อคแบบโจ๊ะๆ สามารถดิ้นได้ ชอบครับ ทั้งเนื้อร้อง และทำนอง ไม่น่าเชื่อว่าเพลงนี้จะมันส์กว่าไลน์ร็อคแท้ๆ ทุกเพลงในอัลบั้มเลย ถ้าเอาเพลงนี้โปรโมต รับรองว่าอัลบั้มนี้จะดังกว่านี้

เพลงคิดถึง (บรรเลง) เพลงนี้โดดเด่นตรงโซโล่กีตาร์ ยาวหลายนาที มีท่วงทำนองโหยหวน และก็เป็นเพลงที่ได้รางวัลสีสันอวอร์ดในสาขาเพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมด้วย ก็ต้องถือว่าเหมาะสม ชอบมากครับ

เพลงร็อครักร็อค ตอบโจทย์ทุกอย่างที่เราอยากเห็นจากไมโครได้หมดจด รวมถึงเป็นเพลงธีมของอัลบั้มด้วย (ทำนองเรียบเรียงโดยสมชาย กฤษณะเศรณี คำร้องโดยจาตุรนซ์ เอมซ์บุตร) ดนตรีหนักแน่น ชอบเสียงกลองหนักๆ ของเพลงนี้จัง นี่แหละที่เรียกว่าเอี่ยมอ่องอรทัย ชอบเพลงนี้ที่สุดในอัลบั้มแล้วครับ

เพลงรู้ตัวอยู่แล้ว ลดโทนลงมาจากเพลงแรกมากเลย แต่ยังคงเป็นเสียงพี่กบร้องนำอยู่ เพลงนี้ได้สร้างคาแรกเตอร์ของเสียงให้กับพี่กบได้อย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้ลืมพี่หนุ่ยไปเลย จึงทำให้คิดไปว่าไม่จำเป็นต้องมีเสียงเท่ห์ๆ แบบพี่หนุ่ยก็ไพเราะได้เหมือนกัน

เพลงอีรุงตุงนัง เพลงนี้ดนตรีหนักแน่นอีกเหมือนกัน แต่เสียงร้องกลายเป็นพี่บอย มือคีย์บอร์ดร้อง เสียงดีใช้ได้ระดับนึง น่าจะมีเพลงร้องบ้างตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้ว นอกจากนี้พี่บอยยังร้องในเพลงอึดอัดออก ด้วย

เพลงตัวเราก็เท่านี้ เสียงร้องนำโดยพี่อ้วน (เสียงไม่ให้กับเพลงร็อคเลย) ร้องในสไตล์เดิมๆ ของแก เหมือนอัลบั้มชุด 2 เนื้อหาเชยๆ เหมือนเดิม

เพลงสงครามสันติภาพ เป็นเพลงบรรเลง ท่วงทำนองเร้าใจ สนุกครับ ผมไม่ได้จินตนาการไปถึงสงครามสันติภาพเหมือนชื่อเพลงเขาหรอก คิดไปอีกรูปแบบนึง แต่ยังไงก็เป็นเพลงบรรเลงที่ดีเพลงนึง

เสียดายที่อัลบั้มสุริยคราส ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดต่อมาของวงไมโคร ทำการตลาดไม่ดีหรือยังไงไม่ทราบ แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับอัลบั้มนี้แล้ว แต่เป็นอัลบั้มที่เป็นผลงานดีที่สุดของวงไมโคร มีผู้ร่วมงานที่อยู่เบื้องหลังระดับเทพมากมาย และก็พี่บอยลงมาควบคุมการผลิตด้วยตนเอง ยังไงต้องหามาฟังให้ได้ ถือว่าพลาดไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ และนี่เป็นบางส่วนของนักวิจารณ์ที่พูดถึงอัลบั้มต่างๆ ของวงไมโครไว้ในหนังสือรำลึกถึงวงไมโคร ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ชื่อหนังสือ micro in a day ของนิตยสาร a day ไว้ดังนี้



อัลบั้ม ร็อคเล็กเล็ก (2529) วิรัตน์ โตอารีย์มิตร คอลัมนิสต์อิสระ ให้ความเห็นไว้ว่า “ร็อคเล็กเล็ก คือการนำ อัสนี โชติกุล มาถ่ายเอกสาร แต่ย่อขนาดให้เล็กลงและเป็นการนำกระดูกดนตรีของบัตเตอร์ฟลาย มาย่อยเพื่อแบ่งให้กับวงร็อคหน้าใหม่ จากนั้นก็ใส่อิมเมจลงไป”

อัลบั้ม หมื่นฟาเรนไฮต์ (2531) อนุสรณ์ สถิรรัตน์ จากนิตยสาร Sound Magazine วิจารณ์ไว้ว่า “หมื่นฟาเรนไฮต์ก็เป็นผลงานชุดหนึ่งที่ทำให้ผมรู้ว่าประเทศไทยมีวงที่ทำงานตลาดได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของทางวงและนายทุนได้ดีเยี่ยมวงหนึ่ง แต่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเองนั้น คนละเรื่องกันเลย เสียดายที่โปรดิวเซอร์เก่งมาก แต่ไม่ค่อยยอมเสียสละความคิดความอ่านกับเด็กๆวงนี้มากเท่าไร”

อัลบั้ม เต็มถัง (2532) พอล เฮง คอลัมนิสต์หนังสือมติชน มีคำชมให้กับผลงานชุดนี้ไว้ว่า “ สิบเพลงอัลบั้มเต็มถัง ถือว่า เป็นงานป๊อบร็อคที่อยู่ในเกณฑ์ดี มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง เรียกว่า ไม่ถึงกับเป็นงานดีเลิศ แต่เป็นงานที่วางตำแหน่งของมันได้เหมาะเจาะทุกอย่าง และทุกเพลงก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ มีมาตรฐานที่อยู่ในระดับของเพลงป๊อบร็อคแบบไทยที่โดดเด่นเกินใครในยุคนั้น”

อัลบั้ม เอี่ยมอ่องอรทัย (2534) ปรารถนา รัตนะสิทธิ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Core ให้นิยามชุดนี้ว่า “ขอเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น อ่วมอรทัยจะดีไหม?”

อัลบั้ม สุริยคราส (2538) ทิวา สาระจูฑะ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสีสัน พูดในแง่มุมมองของเขาว่า “อย่างไรก็ตาม ถ้าผลักประเด็นความสำเร็จทางการตลาดออกไปเสียทางหนึ่ง เป็นไปได้ว่า สุริยคราส คือผลงานที่ดีที่สุดของไมโคร”

อัลบั้ม ทางไกล (2540) อารี แท่นคำ คอลัมนิสต์ คมชัดลึก วิจารณ์ไว้ว่า “ชุดนี้ไม่มีเพลงฮิตติดหูมากนัก แต่โดยภาพรวมแล้วพลังดนตรียังอยู่ครบ อันที่จริงผลงานที่มีเพลงฮิตกลับไม่ยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผลงานที่ไม่มีเพลงฮิตผมว่าน่าศึกษา เพราะบางครั้งการยึดสูตรสำเร็จเดิมๆก็ทำให้เกิดอาการตีบตันทางปัญญาดนตรีเหมือนกัน”

หมายเหตุ   สมาชิกของวงไมโคร  ประกอบด้วย


อำพล ลำพูน (หนุ่ย) ร้องนำ

ไกรภพ จันทร์ดี (กบ) กีต้าร์ / ร้องนำ

มานะ ประเสริฐวงศ์ (อ้วน) กีต้าร์

สันธาน เลาหวัฒนาวิทย์ (บอย) คีย์บอร์ด

อดินันท์ นกเทศ (อ๊อด) เบส

อดิสัย นกเทศ (ปู) กลอง

สมาชิก 4 คน คือ อำพล ลำพูน , มานะ ประเสริฐวงศ์ , อดินันท์ - อดิสัย นกเทศ เกิดที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ไกรภพ จันทร์ดี และ สันธาน เลาหวัฒนวิทย์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร

 
หากคุณคือของจริง ท้ายที่สุดคุณก็จะกลายไปเป็นตำนาน ผลงานจะได้รับการยอมรับในวันนึง แต่หากคุณเป็นของเทียม ท้ายที่สุดคุณจะเป็นเพียงเรื่องเล่าขำๆ ผลงานจะถูกโลกลืมไปกับกาลเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น