โดยทั่วไป มนุษย์ในเมืองกรุง
ที่อาศัยอยู่ในเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ เมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับต้นๆ ของอาเซี่ยน
และเป็นศูนย์กลางของความเจริญ
เมืองจุดหมายปลายทางของโลกที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากจะเดินทางมาสัมผัส
เมืองที่มีการแก่งแย่งแข่งขัน ปากกัดตีนถีบ ค่าครองชีพสูง ประชากรที่อาศัยอยู่ในมหานครแห่งนี้
จำเป็นที่จะต้องมีรายได้ขนาดไหน จึงจะอาศัยอยู่ได้ โดยไม่อัตคัด ขัดสน ช่องว่างของรายได้ของประชากรในกรุงเทพฯ
หรือประเทศไทยนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
ไม่เคยแก้ไขได้ กระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่คนไทยและชาวโลกรู้จักกันดี
ก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็นหมุดหมาย ทางออกของการแก้ปัญหานี้
อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขึ้นอยู่กับประชากรจะตระหนัก และนำแนวคิดดีๆ
นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองเช่นไร ไม่ปฏิเสธหรือต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์หรือทุนนิยมคลั่งวัตถุ
แต่หากเรามัวแต่ไล่ตามความอยาก ความปรารถนาของตนเอง ที่จะอยากได้ อยากมี
เหมือนคนอื่น โดยที่ไม่หันมามองตัวเราเอง หรือประมาณตน
ย่อมตกเป็นเหยื่อของลัทธิทุนนิยม คือ บริโภค ใช้จ่าย สะสมวัตถุ
อันเกินจากความจำเป็น เกินจากฐานะทางเศรษฐกิจของตน
สุดท้ายต้องกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ยากที่จะแก้ไข เยียวยา
ให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นผู้เป็นคนได้ บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีให้เห็นมาแล้ว บทความนี้จึงอยากจะหยิบเอาเรื่องใกล้ตัว
คือการวิเคราะห์ตัวตนทางเศรษฐกิจของเรา ว่าแท้ที่จริงแล้ว เราจัดอยู่ในชนกลุ่มใด
มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในชนชั้นใด เพื่อจะได้ประเมินความพร้อม ประเมินความเสี่ยง
ประเมินความต้องการของเราได้ ว่า กำลังซื้อเราอยู่ในระดับใด และสมควรมั๊ย
ที่เวลานี้ เราควรใช้จ่าย หรือ เก็บเงิน และเลยไปถึงต้องขายสมบัติเก่ากินกันแล้ว
มาดูกัน
กระเป๋าสตางค์,
สมุดบัญชี ,บัตรเครดิต และ บัญชีทรัพย์สินส่วนตัว (Wallet,Book Bank Acoount, Credit Cards and Property
Portfolio)
อยากจะลองตั้งคำถามดูว่า
คุณผู้อ่านคิดว่า 4 สิ่งนี้
สิ่งไหนสำคัญที่สุด และขาดไม่ได้ จำเป็นต้องมีติดตัว
และเป็นเครื่องมือแสดงฐานะการเงินส่วนตัว อันนี้ถามเล่นๆ
เพื่อให้ลองคิดดูในเบื้องต้นก่อน
ทีนี้เราลองมาทำความเข้าใจ
เจ้า 4 สิ่งนี้ก่อน ว่ามันคืออะไร ใครควรมี
และเราอยู่ในฐานันดรใดกันแน่
1.กระเป๋าสตางค์ สิ่งนี้เป็นสิ่งพื้นฐาน
ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานันดรใด วรรณะใด รายได้เท่าไร ก็สามารถมีได้ วัตถุที่ถูกเรียกว่ากระเป๋าสตางค์
ไม่ว่าจะผลิตมาจากวัสดุอะไร ราคาแพงแค่ไหน หรือเป็นเพียงห่อผ้า ซองกระดาษ
แต่หากมันใช้เก็บเหรียญสตางค์ หรือธนบัตรได้ ให้อนุโลมนับเป็นกระเป๋าสตางค์ด้วย
หมายรวมในความหมายเดียวกัน และยังรวมไปถึงบัตรเดบิทการ์ดด้วยเลย
เพราะสถานะของบัตรมีค่าเท่ากับเงินสด หมายถึงปริมาณเงินสดๆ ที่คุณพกอยู่ในเวลานั้น
หรืออยู่ในกระเป๋าสตางค์คุณขณะนั้น (ส่วนจะมีมากมีน้อยเป็นอีกเรื่องนึง
ยังไม่ขอกล่าวไปถึง)
2.สมุดบัญชี
เจ้าสิ่งนี้เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือตัวแทน,เครื่องหมายให้รู้ว่า
คุณมีเงินฝากอยู่กับธนาคาร ซึ่งไม่สนว่าจะเป็นบัญชีเงินฝากประเภทไหน มีมากเท่าไหร่
มีกี่เล่ม กี่ธนาคาร แต่ให้หมายรวมถึงสถานะของเงินสดที่คุณมีอยู่ในธนาคารทั้งหมด
ทั้งระบบ ไม่สนว่าคุณจะมีบัตรเอทีเอ็มกี่ใบ บัตรเอทีเอ็มเป็นเพียง subset นึงของสถานะเงินสดที่คุณมีอยู่ในระบบธนาคาร ดังนั้นบัตรเอทีเอ็มที่คุณยังไม่ได้กดออกมาจากเครื่องถอนเงินสด
ก็มีค่าเท่ากับสมุดบัญชี ที่ยังไม่ได้ถอนออกมา
มันจึงเป็นเพียงเครื่องหมายแสดงสถานะทางการเงิน ซึ่งคนภายนอก
ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าคุณมีเงินอยู่ในบัญชีเท่าไหร่
1 กับ 2 นี้ (หมายถึงกระเป๋าสตางค์กับสมุดบัญชี) ทุกคน ทุกชนชั้น วรรณะ
ส่วนใหญ่จะมีกันได้ ไม่มีเกณฑ์ยุ่งยากอะไร มาแบ่งแยกความแตกต่างนี้ได้
ขึ้นอยู่กับปริมาณของมัน มากหรือน้อย และมันยังเป็นที่เก็บเงินที่ง่าย
ไม่ต้องอาศัยความรู้เชี่ยวชาญอะไรมากก็สามารถบริหารจัดการ หรือจัดเก็บได้เอง นี่คือการบริหารเงินสดอย่างง่าย
ถ้ามีเยอะก็ไปฝากเก็บไว้ที่ธนาคาร และมีติดตัวไว้บางส่วน
ให้มากเพียงพอใช้จ่ายประจำวัน เก็บใส่กระเป๋าสตางค์ติดตัวไว้
เรื่องแบบนี้ไม่ต้องมาสอนกัน เด็กอนุบาลก็ยังรู้ว่า
ถ้ามีเหลือเกินใช้จ่ายก็เก็บออม ไปหยอดใส่กระปุก
หรือไปเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน เป็นต้น
3.บัตรเครดิต
อันนี้เป็นขั้นสูง (แอดวานซ์) ขึ้นมาจากการบริหารเงินสดแบบง่ายๆ แล้วหล่ะ สิ่งนี้คือเครื่องหมายหรือเครื่องมือในการบ่งบอกสถานะอีกแบบนึง
ที่เรียกว่า เครดิต ความน่าเชื่อถือทางด้านสถานะการเงิน ที่ตีเป็นวงเงินให้แก่ผู้ถือ
สามารถนำเอาสิ่งนี้ไปใช้จ่ายได้แทนเงินสด โดยไม่ต้องเอาตัวเงินสดจริงๆ ไปแลกสินค้า
ใช้เจ้าสิ่งนี้ ที่เรียกว่าบัตรเครดิต เป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยน ชำระค่าสินค้าแทน
เจ้าสิ่งนี้ ไม่ใช่ใครก็สามารถมีได้ เพราะมีเกณฑ์ในการพิจารณาออกบัตร หรือสมัคร
โดยต้องกระทำผ่านสถาบันการเงิน หรือธนาคารเป็นตัวออกบัตร เพราะฉะนั้น
เขาจะต้องดูว่า ผู้ขอ มีรายได้ สถานะทางการเงิน ตีเป็นรายได้เดือนละเท่าไหร่
แล้วจึงพิจารณา วิเคราะห์ออกมาเป็นวงเงิน
ว่าจะให้วงเงินใช้จ่ายสูงสุดแก่เราเท่าไหร่
ผุ้เขียนขอเรียกเจ้าสิ่งนี้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทบ่งบอกฐานะทางการเงิน
หมายรวมไปถึงพวก บัญชีเช็คส่วนบุคคล (Personal Cheque) ,เช็คเดินทาง
(Traveller Cheque),เช็คธนาคาร (Money Cheque) ,การโอนเงินผ่าน Money Gram,Western Union วงเงินสินเชื่อ,
O/D การชำระเงินผ่าน Pay-Pal, Ali-pay, Air-pay ,QR
codeและอื่นๆ ฯลฯ ในลักษณะคล้ายๆ กันแบบนี้ ซึ่งปัจจุบันโลกมีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย
ที่วิวัฒนาการมาสู่ยุค Digital Banking, Fin tech ทำให้กินความไปไกลกว่าแค่บัตรเครดิต
แต่หมายรวมไปถึงอะไรก็ตาม ที่เป็นเครื่องมือที่บ่งบอกหรือแสดงสถานะทางการเงินของคุณได้
เชื่อถือได้ว่าคุณมีตังค์จ่ายนั่นแหละ โดยที่คุณไม่ต้องถือเงินสดๆ พกติดตัวไปชำระ
4.บัญชีทรัพย์สินส่วนบุคคล
อันนี้ต้องหมายถึงบุคคลที่มีสถานะการเงินที่สูงกว่าบุคคลโดยทั่วไป
คือมีทรัพย์สินมากมายกว่าแค่เงินสดในบัญชี ซึ่งอาจเป็น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ ทอง
อัญมณี พระเครื่องอสังหาริมทรัพย์ สิ่งของมีค่าที่มีราคาตามตลาด สามารถเก็งกำไรได้
พันธบัตรรัฐบาล ตราสารทางการเงิน หุ้น กิจการส่วนตัว ทรัพย์สินของกิจการธุรกิจ
และอื่นๆ ถ้าคุณเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากมาย
ที่มันมากกว่าเงินทอง อันนี้จะจัดคุณอยู่ในกลุ่มคนมีฐานะดี คนมีอันจะกิน หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียก
คุณจำเป็นต้องมีตัวช่วย คือมีความรู้ที่มากกว่าการบริหารเงินสดแบบง่ายๆ แล้วหล่ะ
จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน สินทรัพย์ให้มันงอกเงยขึ้น การบริหารพอร์ต
การออม การลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการฝากเงินไว้ที่ธนาคาร
ซึ่งถ้าคุณไม่มีความรู้เหล่านี้ คุณก็ต้องอาศัยตัวช่วย ก็คือมืออาชีพ
ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สิน การบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนและความเสี่ยง
ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ในประเทศจะมีการแบ่งแยกแผนกหรือฝ่าย
ที่ดูแลลูกค้าที่มีพอร์ตสินทรัพย์เป็นรายบุคคล (Personal Finance) โดยประเมินจากความเหมาะสม ความต้องการ เป้าหมายผลตอบแทน ในแต่ละบุคคล
ไม่เหมือนกัน แต่หากว่าคุณมีทรัพย์สินไม่ได้มากมายขนาดแบบอภิมหาเศรษฐี
หรือบรรดาเศรษฐีใหญ่ ก็ยังสามารถเอาหลักการบริหารพอร์ต การลงทุน การกระจายเงินไปลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง
และบริหารผลตอบแทนแบบมืออาชีพได้เหมือนกัน
เพราะเป็นหลักการที่ประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว เขาคิดมาดิบดีแล้วว่า
คนระดับชั้นกลางขึ้นไป ก็สามารถนำไปใช้ได้ และได้ผลลัพธ์ทีดีในแบบเดียวกัน ซึ่งคนที่จะมีพอร์ตการลงทุน
บริหารทรัพย์สินเป็นเรื่องเป็นราว เป็นระบบแบบมืออาชีพได้
ก็คงไม่น่าจะใช่คนที่มีฐานรายได้น้อย หรือคนชั้นกลางบางส่วน ที่ยังคงหาเช้ากินค่ำ
มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหารหรอกจริงมั๊ย
ดังนั้น คนที่มีฐานรายได้น้อย
(หรือคนจน,คนรากหญ้า) ไปจนถึงคนชั้นกลางที่มีฐานรายได้ไม่สูงมากนัก ก็จะมีอย่างมากก็ได้แค่เพียงข้อ
1-3 คือกระเป๋าสตางค์,สมุดบัญชี
และบัตรเครดิต (หรือเครื่องมืออะไรอย่างอื่นๆ ที่บ่งบอกสถานะทางการเงินของคุณได้
ตามที่อธิบายในหัวข้อ 3 นั้น) ส่วนข้อ 4 พอร์ตทรัพย์สินส่วนบุคคล จะมีก็แต่เฉพาะคนรวย (Richman) หรือกลุ่มบน (A-list) พวกชนชั้นรายได้สูง (High,Upper
Income)
ผู้เขียนเคยเห็นผู้สูงอายุท่านนึง
อายุน่าจะประมาณ 70 ปีขึ้น
เดินเข้าธนาคารมา ใส่เสื้อยืดโปโล กางเกงขาสั้น สวมรองเท้าแตะ
เนื้อตัวไม่มีเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงติดตัวเลย ผมหงอกขาวโพลนทั้งหัว
แต่พอเดินเข้าไปที่เคาน์เตอร์พิเศษ พนักงานยกมือไหว้ เชื้อเชิญให้นั่ง
มีน้ำชามาเสิร์ฟ ซักพักพนักงานท่านนั้นต้องวิ่งตาลีตาเหลือกไปทำการเบิกเงินสด
น่าจะประมาณ 2 ล้าน (เห็นเป็นแบ็งค์พัน 10 ปึก มัดรวมกัน 2 ก้อน ใส่ถุง)
มามอบให้ชายผู้สูงอายุคนนั้น และมี รปภ.เดินนำไปส่งถึงออฟฟิซ
โดยที่ชายคนนั้นไม่ต้องยื่นหลักฐาน หรืออะไรให้กับพนักงานเลย คุณผู้อ่านคิดว่าชายคนดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทข้อ
1-3 หรือกลุ่มคนข้อ 4 (ตอบคำถามนี้ในใจ)
เฉลย
ชายผู้สูงอายุท่านนี้ ที่แท้แล้วเป็นเศรษฐีเจ้าของกิจการกว่า 10 บริษัท เป็นประธานของบริษัทในเครือทั้งหมด
คือใหญ่กว่าผุ้บริหารของบริษัทอีก วันนั้นแกต้องการใช้เงินด่วน จะเรียกเสมียนบัญชี
เอาเช็คมาสั่งจ่ายเบิกเงิน ก็เกรงว่าจะชักช้า บวกกับบริษัทแกอยู่หลังธนาคาร
เพียงแค่ก้าวเดินไม่ถึง 10 ก้าว
แกก็เลยรีบมาขอเบิกเงินธนาคารไปก่อนแบบใช้อภิสิทธิ์ V.I.P พอดีวันนั้น
ในสาขาธนาคารแห่งนั้น ผู้จัดการก็ไม่อยู่ ออกไปพบลูกค้า
ผู้ช่วยผู้จัดการก็ไม่อยู่ออกไปทานอาหารเที่ยง เหลือแต่หัวหน้าพนักงานเทลเลอร์ คือ
หน.คนที่ดูแลพนักงานแคชเชียร์กับพนักงานเบิกถอนตรงหน้าเคาน์เตอร์นั่นแหละ
แต่ด้วยความที่ทุกคนในสาขาธนาคาร
รู้จักกันดีว่าคุณลุงท่านนี้คือลูกค้ารายใหญ่เบอร์ 1 ของสาขา
อย่างไรเสียให้เบิกเงินเท่าไหร่ก็ได้ ไม่กลัวว่าแกจะโกงธนาคาร
เพราะแกมีเงินฝาก,เงินกู้ มีบริการกับธนาคารทุกรูปแบบ,มีบริการเปิดตู้นิรภัย,วงเงินโอดี
ทรัพย์สินที่แกจำนองไว้กับธนาคาร ฯลฯ
และก็ใบหน้าของแกนั่นแหละเป็นเครื่องมือหรือบ่งบอกสถานะการเงินส่วนบุคคลของแกได้เป็นอย่างดี
ภายหลังแกก็ให้เสมียนเขียนเช็คและแกลงลายมือชื่อด้านหลังเช็ค มูลค่าหน้าเช็ค 2
ล้านบาท
ให้เสมียนบัญชีบริษัทนำมาให้กับผู้ช่วยผู้จัดการในวันรุ่งขึ้น
แต่เงินเบิกไปใช้ก่อนแล้ว 1 วัน ถามว่าเคสนี้
ถ้าเราเป็นบุคคลที่มีเพียงแค่สมุดบัญชี กับบัตรเครดิตหรือเครื่องมือบ่งบอกสถานะการเงินในหลายรูปแบบ
(ที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 3) เราจะทำได้มั๊ย คำตอบคือ
ทำไม่ได้หรอก เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือผู้ขายสินค้าให้คุณคนนั้น เขาคงไม่ยอมแน่ๆ
ถ้ามันยังหักเงินจากระบบบัญชีของคุณยังไม่ได้ ยกเว้นคุณเป็นบุคคลในระดับ A-List
เท่านั้น
คำถามอีกข้อนึงที่ผู้เขียน
อยากให้ผู้อ่านลองเอาไปขบคิดดู ก็คือ
เหตุใดตอนนี้โลกกำลังผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบการหักบัญชีอัตโนมัติแทนการใช้เงินสด
หรือสังคมไร้เงินสด แม้แต่ประเทศของเราเอง รัฐบาลก็ออกมาสนับสนุนแนวคิดนี้
บางคนอาจจะบอกว่า ต้องการลดค่าใช้จ่ายพิมพ์แบ็งค์ ผลิตเหรียญ เพื่อความสะดวกสบาย
เพื่อลดปัญหาการถือเงินสดจำนวนมากๆ ป้องกันการจี้ปล้น ลักขโมยเงินสดกัน
จะเหตุผลใดก็ตามก็ถูกทั้งสิ้น แต่เราก็ยังพบเห็นว่ายังมีความผิดพลาดของระบบธนาคาร
ที่ยังมีหลุมดำใหญ่อยู่ก็คือ มิจฉาชีพ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจดิจิตอล
ที่มาในรูปแบบของนักแฮ็กเกอร์ ที่สามารถยักย้าย ถ่ายเท
แฮ็กข้อมูลบัญชีในระบบธนาคาร และสามารถเอาเงินของเราออกจากระบบบัญชีได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้
มีให้เห็นในข่าวมากมาย ทั้งในระดับโลกและในประเทศก็เคยเกิดกรณี ความผิดพลาด
ลูกค้าเงินหายจากบัญชี โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือถอนเงินจากเอทีเอ็มแล้วเงินไม่ออก
แต่ตัดบัญชีไป หรือซื้อของทางออนไลน์จากต่างประเทศ แต่พอสินค้าส่งมาพบว่าไม่ตรง
หรือถูกหลอก แต่เงินถูกตัดบัญชีไปแล้ว ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดังด้วย
กว่าจะขอติดตามเงินคืนได้ก็เสียเวลา หรือต้องร้องเรียน ดำเนินคดีกันอยู่นาน
และจำนวนมากก็ไม่สามารถติดตามเงินคืนได้ เป็นต้น
ผู้เขียนเพียงอยากจะบอกว่า
เหตุผลที่แท้จริง ทีต้องการให้ระบบเศรษฐกิจพัฒนาไปสู่สังคมแบบไร้เงินสด
ไม่ใช่เพราะต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมจัดการ หรือเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น
หรือป้องกันปัญหาจี้ปล้น ลักขโมยอะไรหรอก
เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีการปล้นด้วยมิจฉาชีพโดยมาในรูปแบบพวกแฮ็กเกอร์
ค่าใช้จ่ายที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งลงทุนไปในการวางระบบ แก้ปัญหาเหล่านี้ เผลอๆ
อาจจะมากกว่าการลงทุนสร้างสาขาเพิ่ม หรือค่าจ้างพนักงานอีก
หรือที่บอกว่าจะทำให้สะดวกรวดเร็ว
ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่ามันเร็วกว่าที่ผู้เขียนควักเงินจากกระเป๋ามาจ่าย
ใช้เวลานานกว่ากันมากมายเพียงใด ก็ไม่ได้เสียเวลาอะไรมาก อาจมีเสียเวลาทอนเงินบ้าง
ถ้าเป็นจำนวนเงินเศษ แต่เอาหล่ะทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้เขียนก็ไม่ขอปฏิเสธว่า สังคมไร้เงินสด
มีข้อดีมากมาย และสอดคล้องกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยไปมากแล้ว
แต่ยังมีเหตุผลอีกข้อนึงที่ผู้เขียนอยากจะให้ผู้อ่านลองเอาไปคิด
กระตุกต่อมความคิดให้พิจารณาต่อว่า มันใช่มั๊ย
ที่เขาอยากให้เป็นสังคมไร้เงินสดเพราะเหตุนี้ นี่เอง คืออะไร?
นักการตลาด,ผู้ผลิต,นักธุรกิจ,นักการเงิน,นักวิจัย
จำนวนมาก เคยคิดว่าโลกทุนนิยมทำให้คนจับจ่าย ใช้เงินอย่างเสรี โดยไม่มีขีดจำกัด
ด้วยอำนาจซื้อ (Purchasing Power) อย่างไม่มีจำกัด แต่ในสภาพความเป็นจริงที่ผ่านมา
มันมีขีดจำกัดอยู่เป็นสเต็ปๆ ดังนี้ คนที่มีแค่เงินในกระเป๋าสตางค์
จะใช้จ่ายเงินได้เต็มที่ก็แค่เงินหมดกระเป๋า สมมติ คุณมีเงินในกระเป๋า 100 บาทที่ติดตัวอยู่ คุณก็ใช้จ่ายได้แค่ไม่เกิน 100 บาทที่คุณมี
เกินจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ขายสินค้าให้คุณว่าเขาจะยอมให้คุณติดเงินเขามั๊ย
ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ยอม ส่วนคนที่มีบัตรเอทีเอ็มหรือสมุดบัญชีอยู่
คุณต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าราคา 20,000 บาท แต่เงินในบัญชีคุณมีอยู่ตอนนี้เพียงแค่
17,000 บาท คุณไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มออกมาได้ 17,000
บาท นำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า คุณก็จะซื้อได้เพียงไม่เกินเงิน 17,000
บาท ยกเว้นคุณมีบัตรเครดิต
แต่คนที่มีบัตรเครดิต ก็จะรูดซื้อของได้ไม่เกินวงเงินที่ตัวเองได้รับอนุมัติ
หรือบางทีอาจจะไม่ถึงด้วย เพราะอาจมียอดสะสมจากการที่คุณรูดซื้อของไปแล้วบางส่วนและยังไม่ได้เคลียร์ยอดสะสมนั้น
ก็อาจเหลือวงเงินให้คุณรูดใช้จ่ายได้อีกไม่เกินส่วนที่เหลือ ในบางรายมีประวัติการจ่ายเงินล่าช้า
หรือจ่ายไม่ตรงก็อาจมียอดตัวแดงติดลบจากค่าปรับและดอกเบี้ยค้างจ่ายตามมา
ยิ่งพลอยให้วงเงินถูกลดทอนไปอีก หรืออาจถูกปฏิเสธการอนุมัติวงเงินจากจากธนาคารเจ้าของบัตรนั้น
มีเพียงแต่คนกลุ่มที่ 4 ที่มีพอร์ตสินทรัพย์ส่วนบุคคลเท่านั้น
ที่เป็นเป้าหมายของนักการตลาด,นักลงทุน,นักธุรกิจ,ผู้ผลิตสินค้า,นักเศรษฐศาสตร์
ที่ต้องการดึงเงินจากกระเป๋าเขาออกมาให้ได้มากที่สุด
เพราะนี่คือกลุ่มคนที่มีอำนาจซื้ออย่างแท้จริง และมีอำนาจการซื้อไม่จำกัดจำนวน
เพียงแต่ทีผ่านมาถูกปิดกั้นด้วยระบบกลไกอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องมีเครื่องมือแสดงฐานะการเงินหรือเครดิต
แต่ต่อไปข้างหน้า มันจะมีเครื่องมือบางอย่างที่เรียกว่า เครื่องมือในการแสดงตัวตนเท่านั้น
แนวโน้มพฤติกรรมของผุ้บริโกคเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจแบบสังคมไร้เงินสดแล้วหล่ะก็
ขอเพียงคุณมีเครื่องมือแสดงตัวตนของคุณเป็นพอ โลกแห่งการจับจ่าย บริโภคนิยม
จะถึงขีดสุด ที่ไม่มีอะไรปิดกั้นวงเงิน หรือที่เรียกว่าไม่จำกัด ในแง่กำลังซื้อ
เม็ดเงินมหาศาลของโลกธุรกิจจะก้าวกระโดดไปขนาดไหนลองคิดดู เครื่องมือแสดงตัวตนนี้
อาจเป็นเพียง เครื่องสแกนม่านตา สแกนลายนิ้วมือ
บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดที่ลิ้งค์เอาข้อมูลพอร์ตสินทรัพย์และบัญชีเงินฝากเข้าไปอยู่ในนั้นหมด
หรือซิมโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีข้อมูลทางการเงินของคุณอยู่ในนั้นทั้งหมด
เพียงแค่สแกน QR code ที่ติดอยู่ตรงตัวสินค้า หยิบกลับบ้าน แล้วเดินออกจากห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตได้เลย
หรือถ้าเป็นของขนาดใหญ่อาจมีบริการส่งของถึงบ้าน แล้วมันไปหักเงินในบัญชีคุณเอง ทฤษฏีล้วงเงินในกระเป๋าของเศรษฐีใหม่หรือคนมีกะตังค์แบบเนียนๆ นี่แหละแนวคิดที่นักการตลาด นักธุรกิจ นักลงทุน นักการเงินเคยฝันให้โลกไปสู่จุดนั้น
แล้วตอนนี้มันกำลังกลายเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
-การบริหารการเงินส่วนบุคคล
(Personal Finance)
http://www.kiatnakin.co.th/knowledge-detail.php?id=17
-ออกแบบพอร์ตลงทุนกองทุนรวมแบบ
D.I.Y คุณเองก็ทำได้
https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?name=lifeevent_detail_income-6&innerMenuId=7
-จีนทดสอบบัตรประชาชนใน We Chat ใช้ใบหน้าออกบัตร
http://www.awdshopping.com/article/30/%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99-wechat-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3
-Walmart
ปล่อยหมัดตรง Amazon เปิดตัวเทคโนโลยีไม่ง้อแคชเชียร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น