วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์ การมอบรางวัล ออสการ์ แบบผิดฝา-ผิดตัว ตอนที่ 2


4. The Departed หนังของ Martin Scoresese หนังที่ออสการ์ให้รางวัลเพราะความสงสารจริงเหรอ The Departed ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 4 รางวัลออสการ์ปีล่าสุด(2007) อาจจะเป็นหนังที่เฉียบคมและเร้าใจ แต่ถ้าถามนักวิจารณ์ว่ามันใกล้เคียงกับผลงานที่ดีที่สุดของยอดผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี หรือเปล่า? คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า 'ยังห่างไกลนัก'



คงไม่มีใครที่จะไม่เห็นด้วยว่าปรมจารย์แห่งวงการภาพยนตร์อย่างเขาเหมาะสมกับรางวัลนี้มากแค่ไหน หลังจากเข้าชิงมาแล้วถึง 5 ครั้งก่อนหน้านี้ และมันยังเป็นการให้คำจำกัดความถึงมาตรฐานในการมอบรางวัลของออสการ์ให้ชัดเจนเข้าไปอีกว่า การให้รางวัลไม่ได้ดูจากผลงานในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว บางครั้งมันจะไปยังบุคคลที่สมควรแก่เวลา ซึ่งในกรณีของสกอร์เซซีเรียกได้ว่าเกือบจะสายเกินไปด้วยซ้ำ หมายความลึกๆ ก็คือ เมื่อใครสักคนได้ออสการ์ ใช่ว่าเรื่องนั้นจะดีที่สุดเสมอไป

ประสบการณ์รสขมในการชิงออสการ์ของเขานั้น นับย้อนไปได้เกือบ 3 ทศวรรษก่อน ในเหตุการณ์ที่แม้แต่แฟนหนังหลายคนยังรู้สึกถึงความอยุติธรรมเมื่อสกอร์เซซีพลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Raging Bull เมื่อปี 1981 ต่อ Ordinary People ของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด และ Goodfellas เมื่อปี 1991 ที่ต้องพ่ายให้กับ Dances With Wolves ของ เควิน คอสต์เนอร์ ไปอย่างค้านสายตา "ใช่ Departed ไม่ใช่หนังที่จะกลายเป็นผลงานคลาสสิกอย่าง Raging Bull แต่บางครั้งออสการ์ก็เหมือนรางวัลที่ตอบแทนการอุทิศในวิชาชีพ" โจนาธาน คุนซ์ ศาสตรจารย์ด้านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แห่ง UCLA กล่าว และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมออสการ์ถึงต้องมีรางวัลสาขา lifetime achievement awards เช่นในกรณีของอัลเฟรด ฮิทช์ค็อกและโรเบิร์ต อัลท์แมน ยอดผู้กำกับของโลกที่ไม่เคยได้สัมผัสออสการ์จากการประกวดแบบปกติ กลับมาได้รับรางวัลความประสบความสำเร็จในวิชาชีพทีหลังด้วยกันทั้งคู่ โดยฮิทช์ค็อกได้รับในปี 1968 ขณะที่อัลท์แมน มาได้เอาเมื่อปีที่แล้ว ไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะลาโลกไป
ถามแฟนหนังตัวจริงคนไหนดูก็ได้ เพราะเขาสามารถให้สถิติอันยืดยาวเกี่ยวกับบรรดารางวัลที่มอบให้กับเหล่านักแสดง ที่แม้แต่ตัวนักแสดงเองก็ยังเห็นว่าไม่ควรคู่กับรางวัลที่หมายถึงความ 'ยอดเยี่ยมที่สุด' ในแต่ละปีทั้งนั้น

ลีโอนาร์ด มอลติน นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์คนดังแห่ง Entertainment Tonight ช่วยย้ำเตือนความทรงจำของเราว่า เบตตี เดวิส ซึ่งพลาดออสการ์อย่างน่าเสียดายจาก Of Human Bondage เมื่อปี 1935 กลับมาได้รางวัลอีกครั้งในปีต่อมาจาก Dangerous ซึ่งเขาเห็นว่ามันเป็นการแสดงที่แย่กว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ อลิซาเบธ เทย์เลอร์ ที่ไม่ได้รับรางวัลจากผลงานในเรื่อง Cat on a Hot Tin Roof เมื่อปี 1959 กลับมาได้รับรางวัลใน 2 ปีต่อมาจากเรื่อง BUtterfield 8 ซึ่งแม้แต่ตัวเธอเองยังยอมรับในภายหลังว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

เอาที่ยังไม่ลืมไปจากความทรงจำของผู้คนอย่างในกรณีของ อัล ปาชิโน ผู้ที่ถูกเสนอชื่อในฐานะนักแสดงชายมาถึง 7 ครั้ง ทั้งผลงานใน Dog Day Afternoon และ The Godfather ทั้ง 2 ภาค แต่กลับมาได้ครั้งเดียวใน Scent of a Woman เมื่อปี 1993 "พวกที่โหวตรางวัลออสการ์นั้น สิ่งสุดท้ายที่เขาจะมาคิดกันคือเรื่องที่ว่าใครเหมาะสมกับรางวัลที่สุด เขาแค่อยากจะมอบรางวัลให้กับคนที่พวกเขาชอบ ก็เท่านั้น" ทอม โอ'นิล คอลัมนิสต์แห่งเว็บไซต์ theenvelope.com ให้ความเห็น แถมยังยอมรับว่าการมอบรางวัลของพวกออสการ์นอกจากจะมาช้าเกินไปอยู่เสมอๆ แล้ว หลายๆ กรณียังมาเร็วเกินไปอีกด้วย "ตอนที่ นิโคล คิดแมน ได้ออสการ์จากเรื่อง The Hours ก็เพราะตอนนั้นเธอกำลังไปได้สวยกับสถานะการเป็นซูเปอร์สตาร์ของเธอมากๆ และเมื่อตอนที่ รัสเซล โครว์ คว้ามันมาได้จากเรื่อง Gladiator ก็เป็นเหมือนกับการที่พวกนี้ต้อนรับเขาเข้าสู่สังเวียนแห่งฮอลลีวูดอย่างเป็นทางการ ก็เท่านั้นเอง"
แล้วระบบการให้ย้อนหน้าย้อนหลังอยู่อย่างนี้ของออสการ์มันเลวร้ายไปทั้งหมดหรือเปล่า นักวิจารณ์ผู้คร่ำหวอดอย่างมอลตินก็เผยว่าเขาเองก็เห็นใจเหล่าคณะกรรมการ ที่เขาเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวในสถิติเก่าๆ

"เมื่อมีใครซักคนตั้งคำถามพวกเขาว่า ทำไมนักแสดงดีๆ บางคนถึงยังไม่เคยได้รับออสการ์ มันกระทบใจพวกเขามาก ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับโชคและจังหวะ อย่างคำถามที่ว่าทำไม ปีเตอร์ โอ'ทูล ที่อดได้รางวัลนักแสดงนำชายในปีนี้ ถึงไม่ได้มันตั้งแต่บทบาทที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตเขาในเรื่อง Lawrence of Arabia เมื่อปี 1962 แล้ว เหตุนั้นก็เพราะปีนั้นเขาดันต้องไปชนกับนักแสดงดังในตอนนั้นอย่าง เกรกอรี เป็ค ใน To Kill a Mockingbird ผู้ที่สมควรจะได้มันมานานแล้วเช่นกัน แต่บางคนก็เห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง "ผมคิดว่าชัยชนะของสกอร์เซซีครั้งนี้ จะต้องชดใช้ให้กับผู้กำกับคนอื่นที่มีผลงานที่เหมาะสมยิ่งกว่า" ริชาร์ด วอลเตอร์ หัวหน้าภาควิชาการเขียนบทจาก UCLA กล่าว โดยให้นิยามผลงานที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาสดๆ ร้อนๆ นี้ว่า "ผลงานที่น่าสนใจน้อยที่สุดแห่งปีของสกอร์เซซี" "พวกเขาควรจะให้เกียรติกับคนที่ทำผลงานออกมาได้ดีที่สุด อีกแง่หนึ่ง ถ้ารางวัลมันล็อกไว้แล้ว ทำไมผู้เข้าชิงที่เหลือจะต้องไปร่วมงานเพื่อดูผลงานที่ด้อยกว่าคว้ารางวัลไปต่อหน้าต่อตาด้วย" วอลเตอร์กล่าว คนที่ดูเหมือนว่าทางออสการ์จะไม่พร้อมที่จะ 'ชดใช้' ความผิดหวังให้กับเขาเสียที คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก เควิน โอ'คอนเนล ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ผู้ที่เข้าชิงมาแล้วถึง 19 ครั้งในปีนี้ และก็ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันอยู่ดี จนสร้างสถิติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมากครั้งที่สุดโดยไม่เคยได้รับรางวัลเลย ซึ่งเขากล่าวติดตลกแบบทำใจเอาไว้ก่อนเริ่มงานว่า "ผมนัดจิตแพทย์เอาไว้พรุ่งนี้แล้ว"

การประกาศออสการ์เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ชมเฝ้าดูการมอบรางวัลครั้งนี้ถึง 39.9 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้วที่คนได้ดู Crash คว้าออสการ์ไปด้วยจำนวนผู้ชม 38.8 ล้านคนเมื่อปี 2006
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ออสการ์ปฎิเสธที่จะ 'ชดใช้' ให้กับการมองข้ามบุคคลที่เหมาะสมกับรางวัลในอดีต ได้แก่การพ่ายแพ้ของ ปีเตอร์ โอ'ทูล ผู้ที่พ่ายมาแล้วก่อนหน้านี้ถึง 7 ครั้ง และล่าสุดก็ได้ทำสถิติเป็นนักแสดงที่เข้าชิงมากที่สุดถึง 8 ครั้งโดยสะกดคำว่าชัยชนะไม่ได้เลย ซึ่งผู้ที่ขวางเขาจากเกียรติยศในบั้นปลายชีวิตครั้งนี้ได้แก่ ฟอร์เรสท์ วิทเทคเกอร์ จากเรื่อง The Last King of Scotland แต่เป็นรางวัลที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นการมอบที่เหมาะสมที่สุดแล้ว หลายๆ ตัวอย่างก็พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีประวัติการทำงานที่ยอดเยี่ยมก็มีโอกาสคว้าออสการ์ได้มากพอๆ กับบรรดานักแสดงรุ่นใหญ่ เช่นในรายของ เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ที่คว้านักแสดงสมทบหญิงไปได้จากการผลงานการแสดงครั้งแรกในชีวิต ขณะที่เหล่านักเขียนทั้งหลายต้องอิจฉากันเป็นแถว เมื่อ ไมเคิล อาร์ต เจ้าของบทหนัง Little Miss Sunshine ที่สามารถคว้าออสการ์ได้จากผลงานเขียนแค่ชิ้นแรกเท่านั้น สำหรับแฟนหนังที่ยังคงหงุดหงิดข้ามวันข้ามคืน ที่ลูกรักของตนต้องมาพลาดรางวัลเพราะเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ลองเอาคำแนะนำแบบไม่สนใจใยดีต่อการประชันขันแข่งของ แคเธอรีน เฮปเบิร์น นักแสดงหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่มีประสบการณ์ในการคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงมากที่สุดมาแล้วถึง 4 ครั้ง ที่โทรเลขไปถึงนักแสดงสาวรุ่นน้องอย่าง ออเดรย์ เฮปเบิร์น ที่พลาดการเข้าชิงอย่างน่าเสียดายจากบทบาทในเรื่อง My Fair Ladyว่า "อย่ากังวลเลยเรื่องที่เธอไม่ได้เข้าชิง เพราะวันหนึ่งเธอจะได้ออสการ์ในบทที่แม้แต่เธอก็ไม่คิดว่ามันจะได้"
(เครดิตข้อมูลจากบทความ “Departed : ออสการ์ที่ได้มาเพราะความสงสาร?” คอลัมน์ซุปเปอร์บันเทิง,MGR online , 27 ก.พ. 2550)

5.กระแสความขัดแย้งเรื่องคนผิวสีกับคนผิวขาวในอเมริกา เป็นปัญหาคลาสสิก ที่มีมาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งประเทศ หรือสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกา บ่อยครั้งที่ในบางช่วงเวลา มีกรณีความขัดแย้งที่เกิดจากน้ำผึ้งหยดเดียว หรือฟางเส้นสุดท้าย ซึ่งหากปีใดมีกระแสข้อพิพาทของสังคมมากๆ ในกรณีของคนผิวสีกับคนผิวขาว และในปีนั้นมีหนังที่เข้าชิงออสการ์ ที่มีหน้าหนังและนักแสดงนำเป็นคนผิวสี เชื่อขนมกินได้เลยว่า ออสการ์จะยอมเทรางวัลให้กับหนังเรื่องที่ว่าเป็นผู้ชนะ เพื่อต้องการลดกระแสความขัดแย้ง และเพื่อต้องการเอาน้ำเย็นลูบให้คนผิวสีในสังคมอเมริกัน รู้สึกถึงความภาคภูมิใจ ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นผู้ชนะบ้าง ไม่ใช่ชนชั้น 2 ในสังคม และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หนังที่เคยได้รางวัลออสการ์ ที่เป็นหนังที่มีหน้าหนังหรือนักแสดงนำเป็นคนผิวสี หรือเป็นเรื่องราวของคนในสังคมคนผิวสี ที่ได้รางวัลชนะเลิศ ส่วนใหญ่เป็นหนังในยุคหลังๆ ไม่เกิน 10 ปีมานี้เอง ที่ออสการ์เปิดใจกว้างมากขึ้น นับตั้งแต่ได้ ปธน.เป็นคนผิวสี นามว่า บารัค โอบาม่า และหนังที่ได้ Best Picture เพื่อหวังลดกระแสความขัดแย้งเรื่องคนผิวสีกับคนผิวขาว อาทิ 12 Years a Slave และก็เมื่อปีกลาย ปีล่าสุดก็คือ Moonlight ก่อนหน้านี้เคยมีหนังคนผิวสีได้เข้าชิงมาทุกยุคทุกสมัยแต่ก็พลาดรางวัลใหญ่ไป อาทิ The Color Purple (1985),Precious ,The Blind Side (2009), Djanco Unchained (2012), *12 Years a Slave (2014), Selma (2015) ,Fences, Hidden Figures,Manchester by The Sea (2016) ,*Moonlight (2017) ,Get Out (2018)



จะเห็นว่า ในประวัติศาสตร์หนังออสการ์ หนังของคนผิวสี ที่จะได้รางวัลออสการ์ มีเพียง 2 เรื่องเท่านั้น ในปี 2014 เรื่อง 12 Years a Slave และก็ปี 2017 เรื่อง Moonlight แล้วเป็นปีที่มีความขัดแย้ง ภายในสังคมคนอเมริกัน เกี่ยวกับคนผิวสีกับคนผิวขาวจริงๆ ด้วย ทั้งๆ ที่ในปีนั้น 2014 มีหนังที่เป็นตัวเต็งออสการ์ อีกหลายเรื่อง อาทิ American Hustle, Her, Dallas Buyers Club เป็นต้น ส่วนปี 2017 ก็มีหนังที่เป็นตัวเต็งออสการ์ อาทิ La La Land,Manchester by the Sea เป็นต้น

6.ออสการ์ไม่ค่อยกล้าให้รางวัลกับหนังที่เป็นเพศทางเลือก หรือหนัง LGBT ถ้ามันไม่เจ๋งจริง คือจะตีตกไปเลย ถ้ามันไม่อะไรใหม่หรือกระแทกความรู้สึกคนดูถึงขนาดใ้ห้ได้พูดถึงเป็นกระแส แต่ก่อนหน้านี้ เคยมีหนังที่กวาดรางวัลมาจากหลายๆ สถาบัน กี่รางวัลก็แล้วแต่ แต่พอเข้ามาชิงในออสการ์ ก็จะมาตกม้าตาย ไม่ได้รางวัล Best Picture ยกตัวอย่างเช่น Brokeback Mountain (2005) หนังเกย์ของ อั้งลี่ ที่เป็นตัวเต็ง และเป็นที่พูดถึงมานับตั้งแต่ไปเดินสายกวาดรางวัลมาแทบทุกสถาบันเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั่วทั้งอเมริกาและออสเตรเลีย กวาดรางวัลจากลูกโลกทองคำ เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ทั่วโลก และอีกหลายสถาบันหลักๆ ทั้งที่เป็นตัวเต็งและคู่ควรกับรางวัล Best Picture แต่ในปีนั้นที่เข้าชิงออสการ์ ไปพ่ายแพ้ให้กับเรื่อง Crash แล้วในประวัติศาสตร์มีหนังของเพศทางเลือก (LGBT) เคยได้รางวัลออสการ์มั๊ย คำตอบคือมี แต่มันนานมาแล้ว ดังนี้



-ปี 1963 เรื่อง Tom Jones (ยุคพระเจ้าเหา)
-ปี 1999 เรื่อง American Beauty (เรื่องนี้ถือว่ายอดเยี่ยมจริงๆ คือกวาดหมดใน 5 รางวัลใหญ่ (เบญจภาคี) ทั้ง หนัง,บท,ผู้กำกับ,นำชาย,นำหญิง ซึ่งจะมีหนังแบบนี้ซักกี่เรื่อง ใน ปวศ.)
-ปี 2010 เรื่อง The King's Speech (มันคือหนังเกย์ตรงไหนหว่า ผู้เขียนก็ยังงง แต่ในลิสต์บอกอย่างนั้น)
-ปี 2017 เรื่อง Moonlight เรื่องล่าสุด แต่ไม่เป็นกระแส เป็นหนังอินดี้ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ตอนแจกรางวัลปีที่แล้ว ยังมีคนค่อนขอดว่า สงสารหนังเรื่อง Moonlight เพราะคนดูเทใจให้ La La Land ไปหมดแล้ว
ชอบออสการ์ ติดตามออสการ์ อย่าลืม งานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 90th Academy Award ในปีนี้จะประกาศในวันที่ 5 มีนาคมนี้ แล้วเพจจะเอาผลรางวัลมาโพสต์อีกที

บทวิเคราะห์โดย เพจหยิกแกมหยอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น