วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์ การมอบรางวัล ออสการ์ แบบผิดฝา-ผิดตัว ตอนที่ 1


ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว กรณีแบบนี้คือความบกพร่องโดยสุจริตก็เป็นได้ คือไม่มีใครอยากให้เกิด และรางวัลที่มอบให้แบบผิดฝาผิดตัว ผู้เขียนขอประมวลมาให้อ่านแบบคร่าวๆ เท่าที่นึกออกตอนนี้ มีดังนี้

1.กรณีล่าสุดเมื่อปีที่แล้วนี่เอง การประกาศรางวัล BEST PICTURE 2017 ผิด (แบบไม่น่าให้อภัย,และเป็นความผิดพลาดในการประกาศชื่อผู้ชนะผิดเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ออสการ์ นอกนั้นเป็นการประกาศถูก แต่ค้านสายตาเฉยๆ) ออสการ์สุดอื้อฉาว! เกิดอะไรขึ้นในวินาทีช็อกโลก? และทำไมจดหมายจึงผิดซองไปได้?



• ผู้ประกาศรางวัลออสการ์ขึ้นมากล่าวบนเวทีว่า การประกาศรางวัลให้ La La Land คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมนั้นผิดพลาด โดยแก้ไขว่าภาพยนตร์ที่ชนะคือ Moonlight สร้างความงงงวยและโกลาหลไปทั่วทั้งงาน จนหลายคนคิดว่านี่คือมุกตลก!
• วอร์เรน บีตตี (Warren Beatty) ผู้ที่ถือซองจดหมายผู้ชนะอธิบายว่า ซองจดหมายรางวัลที่สร้างความเข้าใจผิดนั้นคือ ซองจดหมายประกาศรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมที่ประกาศให้ เอ็มมา สโตน จากเรื่อง La La Land
• Moonlight นับเป็นภาพยนตร์ม้ามืดที่ไม่ได้อยู่ในโผผู้ชนะ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ผิวสีวัยรุ่น แต่Moonlight เคยกวาดรางวัลมาแล้วจากเวที Goden Globes และ Gotham Awards
• การเก็บซองจดหมายรางวัลออสการ์จะมีระเบียบขั้นตอน และถูกเก็บเป็นความลับ
ถือเป็นการประกาศรางวัลออสการ์ที่ช็อกโลกที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจาก วอร์เรน บีตตี (Warren Beatty) นักแสดงชาวอเมริกันรุ่นเก๋าขึ้นมาประกาศกลางเวทีว่า La La Land ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หลังจากบรรดาผู้กำกับและทีมนักแสดงจากภาพยนตร์รางวัล La La Land ขึ้นไปรับรางวัล และกล่าวแสดงความยินดีไปแล้วถึง 2 นาที!



วอร์เรน บีตตี และ เฟย์ ดันอเวย์ (Faye Dunaway) คือสองนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ประกาศรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่หลังจากประกาศเสร็จไปแล้วว่าผู้ชนะคือ La La Land ด้าน วอร์เรน บีตตี ก็กลับขึ้นมากลางเวทีและประกาศกลางงานว่า การประกาศรางวัลโดย เฟย์ ดันอเวย์ นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่เมื่อสักครู่นั้นผิดพลาด และอธิบายว่าซองที่ประกาศรางวัลเมื่อสักครู่คือซองรางวัลที่จะให้ เอ็มมา สโตน (Emma Stone) นักแสดงนำหญิงจากเรื่อง La La Land ไม่ใช่รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยแก้ไขว่าแท้จริงแล้วภาพยนตร์ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือ Moonlight ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์วัยรุ่นผิวสีในชุมชนใกล้กับไมอามี กำกับโดย แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins)



ขณะนั้นเหล่าทีมผู้สร้าง La La Land กำลังกล่าวขอบคุณครอบครัวและศิลปินที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คำประกาศช็อกโลกนี้จึงทำให้ทุกคนในงานสงสัยว่านี่คือมุกตลกหรือเปล่า แต่ วอร์เรน บีตตี ย้ำว่า
“ผมไม่ได้พยายามจะเล่นมุกตลก ขอผมอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสักครู่ ผมเปิดซองรางวัล และในนั้นระบุว่า เอ็มมา สโตน จาก La La Land และตอนนั้นจะเห็นว่าทำไมผมถึงมองไปที่เฟย์และทุกคนอยู่สักพักใหญ่” ซึ่งวอร์เรน บีตตี คือคนที่ยื่นซองรางวัลให้กับ เฟย์ ดันอเวย์ ก่อนที่เธอจะประกาศว่าผู้ชนะคือ La La Land

หลังจากนั้นความโกลาหลก็เกิดขึ้นในการประกาศรางวัลออสการ์ และทีมงานจาก La La Land ต้องลงจากเวที ในขณะที่เหล่านักแสดงและทีมงานจาก Moonlight ยืนอยู่ข้างล่างเวทีด้วยความตะลึง
“แน่นอนว่าแม้แต่ในฝัน ผมก็คิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” แบร์รี เจนกินส์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Moonlightประกาศกลางเวที “แต่ช่างความฝันเหล่านั้นเถอะ เพราะนี่คือเรื่องจริง โอ้ พระเจ้า”
Moonlight ภาพยนตร์ม้ามืดที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง

Moonlight ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่อยู่นอกโผผู้ชนะ เพราะทุกคนต่างคาดการณ์ว่า La La Land ภาพยนตร์ยอดฮิตจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากออสการ์ไปครอง และเอาชนะภาพยนตร์อีก 8 เรื่อง เช่น Manchester by the Sea และภาพยนตร์ที่กวาดรายได้มหาศาลอย่าง Hidden Figures
Moonlight ยังคว้ารางวัลจากเวทีออสการ์ไปอีก 2 รางวัลคือ Best Adapted Screenplay และ Best Supporting Actor

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ Moonlight ได้รับรางวัลมาแล้วหลายเวที ทั้งรางวัล Best Drama จาก Golden Globes และ Best Feature จาก Gotham Awards รวมถึงถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ Telluride Film Festival ในปี 2016
(เครดิตข้อมูลจาก บทความของคุณกานต์กลอน รักธรรม,ในเพจ The Momentum.co)


2.การเมืองที่มีอยู่ในสถาบันผู้จัดการมอบรางวัลออสการ์ หรือที่เรียกว่า สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ เรียกย่อๆ ว่า AMPAS กรณีนี้เกิดขึ้นในปี 1999

ในปี 1999 ที่ Shakespeare in Love ได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแบบค้านสายตาชาวโลก แทนที่จะเป็น Saving Private Ryan ของสตีเวน สปีลเบิร์ก ซ้ำร้ายกวินเนธ พัลโทรว์ ยังคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงตัดหน้าเคท แบลนเชตต์ จากElizabeth มันแทบไม่ต่างอะไรจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ แทนที่จะเป็นฮิลลารี คลินตัน (สิ่งที่ต่างกันคือออสการ์มีทุกปี แต่ประธานาธิบดีอยู่นานถึงสี่ปี)








รางวัลออสการ์ก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช่ คุณภาพของหนังและความสามารถของนักแสดงเป็นเรื่องสำคัญ (เราไม่ได้บอกว่า Shakespeare in Love, Crash หรือ How Green Was My Valley คือหนังที่แย่) แต่การวางแผนสร้างแคมเปญเพื่อออสการ์ของสตูดิโอนั้นก็สำคัญพอกัน หรืออาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายรางวัลออสการ์ที่มอบในทุกสาขาก็มีผลมาจากการโหวต... ถ้าพูดด้วยความจริงที่โหดร้ายก็คือ หนังและนักแสดงที่ได้รับรางวัลในแต่ละปีไม่ได้หมายความว่า ‘ยอดเยี่ยมที่สุด’ แต่หมายความว่า ‘มีคนโหวตให้มากที่สุด’ ต่างหาก





Academy Awards หรือชื่อเล่นว่าออสการ์ เป็นรางวัลที่จัดขึ้นโดยสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences - AMPAS) เริ่มจัดการมอบรางวัลขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1929 และกลายเป็นรางวัลทางด้านภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2017 ถือเป็นครั้งที่ 89 ซึ่งจะจัดงานมอบรางวัลกันในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ (ตรงกับเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ในประเทศไทย) ณ ดอลบีเธียเตอร์ในฮอลลีวูด ลอสแอนเจลิส

ออสการ์มีระบบการโหวตกันอย่างไร?
รางวัลออสการ์ทุกสาขามาจากการโหวตของสมาชิกสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ที่มีสมาชิกในปัจจุบัน 5,783 คน โดยมีการแบ่งกลุ่มตามสาขาอาชีพ เช่น นักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ผู้กำกับภาพ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ในจำนวนทั้งหมดนี้มีนักแสดงมากที่สุด 1,311 คน หรือ 22 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละปีบริษัทผู้สร้างจะส่งหนังของตนเองให้คณะกรรมการพิจารณา โดยมีข้อกำหนดว่าหนังเรื่องนั้นๆ ต้องเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ภายในรอบปีปฏิทิน (1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม) จะฉายแบบจำกัดโรงก็ได้ แต่ต้องฉายติดต่อกันนานอย่างน้อย 7 วัน

ยกตัวอย่างในกรณีของหนังเรื่อง The Hurt Locker ที่ได้รางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในการจัดงานปี 2010 นั้น จริงๆ เข้าฉายในเทศกาลหนังเวนิสของอิตาลีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2008 แต่เปิดตัวฉายที่แอล.เอ. ในเดือนมิถุนายน 2009 เลยถือว่ามีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ประจำปีที่เปิดตัวฉาย แต่ประกาศผลในต้นปีถัดไป

โปรดิวเซอร์ของหนังจะต้องส่งรายชื่อเสนอ (Submission) เป็นชื่อหนัง นักแสดง หรือผู้กำกับไปให้สถาบันภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา ไล่มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนธันวาคม หลังจากปิดรับรายชื่อในช่วงปลายปี สถาบันจะส่งบุ๊กเล็ตที่ชื่อว่า Reminder List of Eligible Releases ที่มีรายชื่อหนังและนักแสดงที่อยู่ในเกณฑ์ไปให้สมาชิกทุกคน จากนั้นสมาชิกทุกคนก็โหวตเลือกผู้เข้าชิงตามสาขาอาชีพของตน (ผู้กำกับโหวตผู้กำกับ นักแสดงโหวตนักแสดง ผู้เขียนบทโหวตผู้เขียนบท) ยกเว้นในกรณีของสาขาใหญ่อย่างหนังยอดเยี่ยม (Best Picture) ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์โหวตหนังที่อยากให้เข้าชิง โดยสมาชิกทุกคนสามารถโหวตได้ 5 รายชื่อ เรียงลำดับตามความชอบจากมากไปหาน้อย

จากนั้นสถาบันจะนำผลการโหวตทั้งหมดมาจัดประมวลผลเป็นคะแนนและคัดเหลือรายชื่อผู้เข้าชิงรอบสุดท้าย โดยใช้ระบบแบบ Plurality Voting หรือการเลือกแบบเสียงข้างมาก ยกเว้นกรณีสาขาหนังยอดเยี่ยมที่นับจากออสการ์เปลี่ยนกฎในปี 2009 ให้มีหนังที่เข้าชิงรอบสุดท้ายได้มากกว่า 5 เรื่อง สมาชิกก็สามารถกากบาทเลือกหนังที่ตนเองชอบได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง แต่ไม่เกิน 10 เรื่อง หนังเรื่องใดที่มีคะแนนโหวตมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์จะถือว่าได้เข้าชิง นั่นคือเหตุผลที่ทำไมในแต่ละปีมีหนังเข้าชิงไม่เท่ากัน บางปีมี 8 เรื่อง บางปีมี 10 เรื่อง กฎเกณฑ์นี้ยกเว้นรางวัลหนังภาษาต่างประเทศ, รางวัลหนังสารคดี และรางวัลหนังแอนิเมชั่น ที่ทำการคัดเลือกผู้เข้าชิงโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจากสมาชิกแบบคละทุกสาขา

เมื่อได้รายชื่อผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายในทุกสาขาดังเช่นที่ประกาศให้สาธารณชนได้ทราบกันแล้ว สมาชิกทุกคนจะโหวตผู้ชนะอีกครั้ง โดยคราวนี้เลือกได้เพียงหนึ่งคน/หนึ่งเรื่องต่อสาขา ซึ่งใช้วิธีเดิมคือโหวตตามสาขาของตน ยกเว้นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ทุกคนมีสิทธิ์โหวต ช่วงระยะเวลาในการส่งรายชื่อเสนอนี่แหละสำคัญที่สุด ท้าทายที่สุด และสนุกที่สุด

ทุ่มเงินกันเป็นล้านๆ
ถ้าเปรียบเทียบออสการ์เหมือนการเลือกตั้งทางการเมือง ช่วงปลายปีจนถึงเดือนมกราคมก็คือช่วงเวลาหาเสียงนั่นเอง สตูดิโอสร้างหนังต่างพากันทุ่มงบหลายล้านเหรียญในการโปรโมทแคมเปญต่างๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสมาชิกของสถาบันเกือบหกพันคน

“มันเป็นช่วงเวลาที่วุ่นวายสุดๆ” ซินเธีย สวอร์ตซ์ กล่าว เธอคือผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านการวางแผนประชาสัมพันธ์แคมเปญออสการ์ หรือพูดง่ายๆ คือตัวแม่ในวงการที่หลายสตูดิโอต่างวิ่งเข้าหา สวอร์ตซ์คือผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังแคมเปญหนังออสการ์อย่าง Crash, Pulp Fiction, Chicago, The Hurt Locker จนถึง The Revenant “ทุกคนอยากจะใช้การเสนอชื่อเข้าชิงให้เป็นประโยชน์เหมือนกับเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้บริหารธุรกิจ นี่จึงเป็นหลายสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยความกดดัน”

ซินเธีย สวอร์ตซ์ พูดถูก การได้รางวัลออสการ์หรือแค่ได้เสนอชื่อเข้าชิงคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังทำเงิน โดยเฉพาะหนังหวังกล่องที่ส่วนใหญ่จะเข้าฉายในช่วงปลายปีเพื่อให้เข้ากับฤดูกาลล่ารางวัลที่มักเปิดหัวด้วยรางวัลจากสถาบันนักวิจารณ์ต่างๆ ไล่ไปจนถึงรางวัลสำคัญอย่างลูกโลกทองคำ (Golden Globes) ต่อด้วยบาฟต้า (BAFTA) ของฝั่งอังกฤษ ปิดท้ายด้วยรางวัลจากสมาคมนักแสดง (Screen Actors Guild หรือ SAG) ก่อนจะไปสิ้นสุดที่พี่ใหญ่อย่างออสการ์ การจับหนังล่ารางวัลมาลงในช่วงนี้เหมือนได้สองเด้ง เพราะนอกจากจะทำให้หนังอยู่ในกระแสเพื่อเรียกคะแนนโหวตจากคณะกรรมการของสถาบันต่างๆ แล้ว (ที่ผ่านมา 56 เปอร์เซ็นต์ของหนังที่ได้ออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มักเข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ยังชวนให้คนดูพากันตีตั๋วเข้าชมหนังที่เดินสายเข้าชิงหรือได้รางวัลกันในช่วงนี้

หนึ่งในแผนโฆษณาที่นิยมใช้กันและมักปล่อยออกมาเป็นเฟสแรก คือแคมเปญ For Your Consideration ที่ค่ายหนังนิยมซื้อหน้าในนิตยสารหนังอย่าง Variety และ The Hollywood Reporter (ราคาหน้าโฆษณาของนิตยสาร The Hollywood Reporter ในฤดูออสการ์ตกราคาหน้าละประมาณ 72,000 เหรียญ) รวมไปถึงแบนเนอร์ในเว็บไซต์บันเทิงต่างๆ เพื่อลงภาพโปสเตอร์หนังที่มีข้อความนำเสนอให้พิจารณาหนังหรือนักแสดงที่ได้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ ที่เห็นสมควร เฟสแรกนี้มักเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางเดือนธันวาคม ก่อนปิดลงคะแนนโหวตเลือกผู้เข้าชิง

ว่ากันว่าแค่เฟสแรกนี้ สตูดิโอก็ทุ่มงบกันตั้งแต่ 3 ล้านถึง 10 ล้านเหรียญ (ขึ้นอยู่กับสเกลของหนัง) ส่วนเฟสที่สองนั้นสตูดิโอสามารถเปิดฉายหนังที่ได้เข้าชิงให้สมาชิกชมได้ แต่ต้องไม่เกินเรื่องละสี่รอบและห้ามเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มในงาน นอกจากนั้นยังมีการส่งดีวีดีหนังที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษไปถึงบ้านสมาชิกอีกด้วย ในปีหลังๆ บางสตูดิโอเปลี่ยนวิธีให้ทันสมัยขึ้นด้วยการส่งพาสเวิร์ดสำหรับให้สมาชิกสามารถชมแบบสตรีมมิ่งได้เลย
การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมีความสำคัญมาก กรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดและประสบความสำเร็จมากคือเคต วินสเล็ต ในปี 2008 เธอได้รับบทนำในหนังสองเรื่องที่โดดเด่นพอกันคือ The Reader และ Revolutionary Road บนเวทีลูกโลกทองคำ วินสเล็ตกวาดไปทั้งสองรางวัลคือนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก The Reader และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Revolutionary Roadเมื่อถึงเวทีออสการ์ กลับมีชื่อเคต วินสเล็ต เข้าชิง ‘นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม’ จาก The Reader เพียงชื่อเดียว เนื่องจากกฎของออสการ์คือในหนึ่งสาขาจะมีนักแสดงเข้าชิงได้ชื่อเดียวเท่านั้น นั่นหมายถึงวินสเล็ต (หรือสตูดิโอ) ต้องเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งในการเข้าชิงนักแสดงนำหญิง ซึ่งในกรณีนี้ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เจ้าพ่อแห่งการล็อบบี้จาก The Weinstein Company ใช้กลยุทธ์ผลักดันให้วินสเล็ตได้เข้าชิงและชนะนักแสดงนำหญิงบนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ

แต่ที่ดูไม่ชอบมาพากลคือก่อนหน้านี้ ไวน์สตีนโปรโมทหนัง The Reader ในแคมเปญ For Your Consideration โดยเสนอให้วินสเล็ตเข้าชิงนักแสดงสมทบหญิง แต่จู่ๆ ชื่อวินสเล็ตกลับไปโผล่อยู่ในสาขานักแสดงนำหญิง ประเด็นนี้ดูเคลือบแคลงแต่ก็ไม่ถือว่าผิดซะทีเดียว เนื่องจากบทสาววัยกลางคนที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มใน The Reader มีความก้ำกึ่งระหว่างบทนำกับบทสมทบ ขณะที่บทภรรยาที่ชีวิตคู่มีปัญหาใน Revolutionary Road นั้นเป็นบทนำอย่างชัดเจนแต่ต้องโดนปัดตกไปตามกฎของออสการ์
(เครดิตข้อมูลจากบทความ “ออสการ์ : การเมืองแห่งโลกฮอลลีวู้ด”,ในเพจ vogue.co.th)


3.การมอบรางวัลโดยให้จากบารมีที่สะสมมาของนักแสดง มิใช่ผลงานดีเด่นที่อยู่ตรงหน้าฉาก พูดอย่างนี้คงจะนึกภาพไม่ออก ขอยกตัวอย่างเลยแล้วกัน กรณีนักแสดง จูดี้ เดนช์ รับบทเป็น ราชินีอลิซาเบธ ปรากฏตัวในฉากภาพยนตร์เรื่อง Shakespeare in Love เพียง 6 นาที แต่ได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และในเรื่องเดียวกันนี้ นักแสดง กวินเนธ พัลโทรว์ รับบทเป็นวิโอลา เดอ เลสเซ็ปส์ คนรักของเช็คสเปียร์ ก็สามารถคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมไปแบบค้านสายตา ซึ่งตัวเต็งอย่าง เคท แบลนเช็ตต์ จากเรื่อง Elizabeth ได้รับบทหนักท้าทาย และเล่นดีกว่า แต่กลับพลาดไม่ได้รางวัลนักแสดงนำหญิงไปในปีนั้น และที่ค้านสายตาสุดๆ ยิ่งกว่าคือรางวัลใหญ่ในปีนั้น คือรางวัล Best Picture ตัวเต็งอย่าง Saving Private Ryan ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับ Shakespeare in Love ไปแบบน่ากังขา (ย้อนดูรายละเดียดในข้อ 2) ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงทุกวันนี้ ถามว่าความดีงามของหนังเรื่อง Shakespeare in Love มันไม่มีเลยเหรอ ถึงบอกว่ามันค้านสายตา ก็มีอยู่ เพียงแต่เปรียบเทียบในองค์ประกอบในทุกส่วนแล้ว ก็ยังสู้มาตรฐานของเรื่องอื่นๆ ที่เป็นผู้ท้าชิงในปีนั้นไม่ได้ ผู้เขียนจึงคิดว่าการประกาศรางวัลออสการ์ในปีนั้น (1999) ถูกขนานนามไว้มากที่สุดว่า หลายรางวัลค้านสายตาสุดๆ แหกโผสุดๆ หรือมีการล็อคผลรางวัล(โหวต) มาอย่างไรอย่างนั้นเลย



บทวิเคราะห์โดย เพจหยิกแกมหยอก

(ยังไม่จบ มีต่อตอนที่ 2 โปรดติดตาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น