วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

10 สุดยอดปรากฏการณ์ทางการตลาดแห่งปี 2017 (อันดับที่ 7,6,5)





อันดับที่ 7 Presenter of the Year 2017

ได้แก่ นาย ณภัทร เสียงสมบูรณ์ กับใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ปีนี้นับเป็นปีทองของน้องทั้ง 2 คนทั้งน้องใหม่ และน้องนาย เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นทั้งในแวดวงการบันเทิง และได้เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้ามากที่สุดของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย โดยขอเริ่มที่น้องนายก่อน ดังนี้

น้องนาย ณภัทร เสียงสมบูรณ์ บุตรชายเพียงคนเดียวของอดีตนางงามและนักแสดงชื่อดัง พิมพ์ผกา เสียงสมบูรณ์ จะว่าไปน้องนาย เป็นที่รู้จักในฐานะนายแบบโฆษณา ตามสื่อสิ่งพิมพ์ และโฆษณาสินค้าทางทีวี จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากรูปร่างหน้าตาที่มีเสน่ห์ และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากสื่อในฐานะลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของแม่หมู ก่อนที่จะได้รับการทาบทามให้มาเซ็นต์สัญญาเป็นนักแสดงในสังกัดช่อง 3 และเพิ่งจะมีผลงานละครในปีนี้ เพียงเรื่องเดียว นั่นคือ รักกันพัลวัน ทางช่อง 3 และมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง พรจากฟ้า ในปี 2559 และภาพยนตร์สั้นโปรโมทการท่องเที่ยวฯ ชื่อว่า “เที่ยวไทยเท่ ตอนทริปล้างใจ” อีกทั้งน้องนายยังเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับบุคคลชายที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดในโลกโซเชียล จากเอ็มไทยท็อปทอล์คอะเบ้าต์,รางวัลครอบครัวแห่งปีจาก ไนน์เอ็นเตอร์เทนอวอร์ด และรางวัลดาราชายเจ้าเสน่ห์จากมายามหาชนอวอร์ด แต่ผลงานที่โดดเด่นในปีนี้ของน้องนาย ก็คือการเป็น Presenter หรือ Brand Ambassador ให้กับสินค้า ด้วยเสน่ห์ที่เปล่งประกายในกลุ่มวัยรุ่น จนทำให้ได้รับความไว้วางใจจากเอเยนซี่โฆษณา ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ถึง 8 ตัว ซึ่งถือว่ามากสุดในบรรดานักแสดงชายรุ่นใหม่ในปีนี้แล้ว ได้แก่

1.น้ำดื่มคริสตัล,
2.รถยนต์มาสด้า ออลนิว CX-3,
3.สมาร์ทโฟน Samsung Galaxy A 2017,
4.เครื่องใช้ไฟฟ้าตระกูล Panasonic
5.กาแฟกระป๋อง Birdy 3 in 1
6.ผงซักฟอก Attack Falmily
7.เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Dtac แพ็กเกจ Go No limit และ Go เพลิน
8.ขนมสแน็คขบเคี้ยว Pretz ในเครือ Glico กูลิโกะ

เราจึงยกตำแหน่ง เจ้าพ่อพรีเซ็นเตอร์ หรือ Presenter of the Year 2017 ฝ่ายชายให้แก่ น้องนาย ณภัทร เสียงสมบูรณ์ ในปีนี้ไปครองแบบไร้คู่แข่ง


ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ สาวลูกครึ่งไทย-เบลเยี่ยม มีดีกรีเป็นนางเอกละครของช่อง 7 สีมาก่อน พอหมดสัญญา ก็ผันมาเป็นนักแสดงอิสระเต็มตัว โดยมีผลงานสร้างชื่อจากทั้งละครและภาพยนตร์ ได้แก่ ละครเรื่อง นางชฏา และภาพยนตร์เรื่อง พี่มากพระโขนง, ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เป็นต้น ผลงานในปีนี้ของใหม่ คือละคร 3 เรื่อง ก็คือ ไดอารี่ส์ตุ๊ดซี่ เดอะซีรีส์ ซีซั่น 2 (รับเชิญ) ช่อง GMM25 ,บ่วงบรรจถรณ์ ช่อง 3 ,ชายไม่จริงหญิงแท้ ช่อง ONE และผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด คือ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (ปี 2559) ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งให้เธอได้รับรางวัล นักแสดงนำฝ่ายหญิง จากหลายสถาบัน อาทิ ชมรมวิจารณ์บันเทิง,สมาคมผุ้กำกับภาพยนตร์ไทย, คมชัดลึกอวอร์ด ฯลฯ
ปี 2016 ดาวิกา ถูกจัดอันดับความงามเป็นอันดับ 13 ใน 55 ที่มีใบหน้าที่เป็นเอกลักษณ์เหมาะสมกับวงการแฟชั่นฝ่ายหญิงของฝั่งเอเชีย ของ I-MAGAZINE INC ร่วมมือกับ ADOBE BEHANCE'S ARTISTS โดยอาศัยความร่วมมือจาก 40 ประเทศ, 380 ช่างภาพมืออาชีพ , DESIGNERS, MAKEUP ARTISTS,STYLISTS, EDITORS AND ทีมงาน I-MAGAZINE IN-HOUSE จากประเทศ อังกฤษ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ แบ่งการคัดเลือกเป็น6หมวด จากรูป-วิดีโอจำนวน 35,000ชิ้น ใช้เวลา 3เดือนสำหรับในการจัดการหารายชื่อสุดท้ายของแต่ละหมวด

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ใหม่ได้รับเกียรติจากสปอนเซอร์ให้ไปเดินพรมแดงในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ที่เมืองคานส์ เกือบทุกปี โดยปีล่าสุด ใหม่ไปฐานะ Brand Ambassador ของไอศครีมวอลล์แม็กนั่ม จนเธอถูกสื่อมวลชนจับไปเปรียบเทียบว่า จะก้าวขึ้นมาแทนชมพู่ อารยา เอ.ฮาร์เก็ตหรือมาเทียบบารมีรุ่นพี่ ที่เป็น Brand Ambassador ประจำของ Loreal และไปคานส์ทุกปี
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 UNICEF Thailandประกาศแต่งตั้ง Friends of UNICEF ให้ ดาวิกามีบทบาทหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่เด็กๆ เรียกร้องให้สังคมไทยหันมาร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย.2560) ใหม่ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Brand Ambassador คนแรกและคนเดียวในเอเชีย ให้กับแบรนด์แว่นตาระดับโลก BOLON EYEWEAR by Essilor เทียบชั้นซุปเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ด ''แอน แฮททาเวย์'' (Anne Hathaway) และซุปเปอร์โมเดลชื่อดัง ''เฮลีย์ บัลด์วิน'' (Hailey Baldwin)

“ใหม่ – ดาวิกา โฮร์เน่” เคยติดอันดับ 100 ผู้หญิงที่หน้าสวยที่สุดในโลก (The 100 Most Beautiful Faces of 2015) ในอันดับที่ 96 พร้อมกับ “ปอย-ตรีชฎา” ที่ติดอันดับ 63 ในปี 2015 และมาในปี 2016 “ใหม่-ดาวิกา” มีชื่อติด 1 ใน 100 ของผู้หญิงที่สวยที่สุด โดยเธออยู่ในอันดับที่ 37

สำหรับผลงานในการได้รับเลือกให้เป็น Presenter ให้กับสินค้า เฉพาะในปีนี้มีด้วยกัน 29 ตัว ได้แก่
1. ยาสามัญประจำบ้าน แก้ไข้ หวัดคัดจมูก ทิฟฟี่แผงสีเขียว
2. แอปพิเคชัน True - TRUE id ครอบครัวทรู TrueFamily
3. น้ำมันบำรุงเส้นผม "ขวดชมพู่" L'Oréal Paris - Extraordinary Oil EclatImperial (PinkOil)
4. คอลลาเจนชนิดผง Colly Plus Lycopene Collagen
5. คอนเทคเลนส์ Lollipop
6. ครีมบำรุงผิวหน้า L'Oreal Paris - whiteperfect
7. ครีมกันแดด L'Oreal Paris - UV Perfect
8. ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม LESASHA
9. แชมพู L'Oréal Paris - L'Oréal Elseve
10. เครื่องดื่มชารสเลมอน ลิปตัน ไอซ์ที
11. ไอศครีม Magnum Red Velvet
12. แว่นตา BOLON
13. ครีมเปลี่ยนสีผม L'Oréal Paris - L'Oreal Excellence Fashion
14. น้ำผลไม้ผสมคอลลาเจน ตรา ทิปโก้ : "ดื่มแล้วเด้ง" "ดื่มแล้วยัง"
15. เลนส์แว่นตา Eyezen Crizal
16. แว็กซ์สตริปส์ อีซี่-เจลแว็กซ์ Veet
17. แอปพลิเคชัน KittyLive
18. น้ำมันบำรุงเส้นผม "ขวดสีทอง" L'Oréal Paris - Extraordinary Oil EclatImperial / (GoldOil) , (LaCreme)
19. ครีมอาบน้ำเนื้อครีม NAMU LIFE SNAILWHITE CRÈME BODY WASH
20. ผ้าอนามัย ลอรีเอะแบบกลางคืน
21. น้ำยาปรับผ้านุ่ม Comfort Luxury Nature (Luxe Rose from Luxury Nature)
22. ครีมขจัดขน Silk & Fresh ยี่ห้อ Veet
23. กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผงสูตรใหม่ Birdy 3 in 1 Robusta (New) กับ ณภัทร เสียงสมบุญ
24. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดถ้วยแบบใหม่ MAMA New Cup
25. เครื่องสำอางแป้งตลับ Mistine เรด คาร์เพ็ท
26. โคลนมาส์กหน้า L'Oreal Paris - PureClayMask InstaDetox
27. ลิปสติกซุปเปอร์แมทท์ Mistine Super Matte Air Matte 30 เฉดสี
28. ธ.ไทยพาณิชย์ Mobile banking “SCB Easy Pay แม่มณี”
29. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดถ้วยแบบใหม่ MAMA Cup รสกะเพรา แซ่บแห้ง
ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ จึงรับตำแหน่ง เจ้าแม่ Presenter of the Year 2017 ไปครองแบบไร้คู่แข่ง
เครดิตข้อมูลจาก วิถีพีเดีย,Mthai.com,Sanook.com




อันดับที่ 6 สงครามทีวีดิจิตอลคุกรุ่น สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร

ในปี 2017 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีที่โชกเลือด เลือดอาบของหลายธุรกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังคงอึมครึมอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวีในบ้านเราก็เผชิญชะตากรรมเช่นนั้นด้วย ถ้าไปดูผลประกอบการทีวีดิจิตอล จะพบว่าส่วนใหญ่ยังขาดทุน ช่องที่พอมีกำไรมีเพียง ไม่กี่ช่อง อาทิ ช่อง 7,3 (แต่ผลกำไรและรายได้ก็ลดลงจากยุคอนาล็อคมากแบบฮวบฮาบ) ช่องเวิร์คพ้อยท์,ช่อง one,ช่อง mono29,ช่อง 8 เป็นต้น ในขณะที่งบโฆษณาในช่องทางทีวีนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กับไปโตในช่องทาง social media แทน ทำให้ทีวีดิจิตอลช่องหลักๆ ต้องดิ้นหนีตาย ด้วยการหันมาเน้นหารายได้จากช่องทาง social media หรือจากรายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าโฆษณา มาชดเชยแทน เพื่อที่จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ลดลงเลย ในขณะที่ก็ต้องทำการตัดค่าใช้จ่ายหรือลดต้นทุนกันขนานใหญ่ 

เริ่มจากทีวีดิจิตอลได้รวมตัวกันไปขอเรียกร้องให้ กสทช.พิจารณาการขอผ่อนผันให้มีการชะลอจ่ายค่าสัมปทาน โดยขอยืดระยะเวลาให้นานขึ้น และข้อเสนอการขอลดค่าสัมปทาน (ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ต้องให้ พณ.นายรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 สั่งให้แก้ไขเงื่อนไขสัญญาสัมปทานของการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล จึงจะทำได้ เวลานี้เรื่องก็ยังคาราคาซังอยู่ ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะทำได้) ข้อเสนอการขอคืนใบอนุญาติสัญญาสัมปทานช่องทีวี ที่ตนเองไปประมูลมา หรือขอให้มีการเปลี่ยนแปลงโอนกรรมสิทธิ์เจ้าของสัญญาสัมปทานช่องทีวี (ซึ่งข้อเสนอนี้ก็คล้ายกับการขอลดค่าสัมปทาน กสทช.ก็อ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ยกเว้นใช้ ม.44 เช่นกัน) เมื่อการดำเนินการขอลดหรือคืนใบอนุญาติสัญญาสัมปทานยังไม่มีทางออกที่เป็นไปได้ ทีวีดิจิตอลก็ต้องดิ้นเฮือกสุดท้าย ด้วยการตัดเนื้อร้าย ยอมกลืนเลือดตัวเอง ด้วยการโละพนักงานออก และหวยไปออกที่ฝ่ายข่าวและผู้สื่อข่าวของช่องที่มีผลประกอบการขาดทุน และส่วนใหญ่เป็นช่องข่าวเป็นหลัก อาทิเช่น ช่องเนชั่น ,ช่องสปริงนิวส์ ,ช่อง voice tv เป็นต้น (จริงๆ ยังมีอีกหลายช่อง ที่มีความเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรของทีมข่าวด้วยการยกทีมลาออก หรือมีคนย้ายข้ามช่องระหว่างกันอีกมาก) และก็มีอีกหลายช่องที่ยอมเสียเอกราช หรือยอมเฉือนเนื้อตัวเองด้วยการยินยอมออกหุ้นเพิ่มทุน และให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาถือหุ้น เพื่อจะรักษาชีวิตให้กิจการยังสามารถมีทุนหมุนเวียนที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือให้มีส่วนของทุนมากพอที่จะรักษางบดุลของกิจการต่อไปได้ อาทิ ช่อง Amarin,ช่อง One,GMM25 เป็นต้น (และมีอีกหลายช่องที่มีปัญหาเรื่องการแย่งชิงหรือเปลี่ยนแปลงการถือครองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กันแบบเงียบๆ) นี่คือบริบทคร่าวๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีของการดิ้นหนีตายของทีวีดิจิตอลในรอบปี ยังไม่นับปัญหาเรื่องบริษัทวัดเรตติ้งอย่าง กันดาร์ ที่ช่องส่วนใหญ่ไว้วางใจลงขันให้มาช่วยบริหารจัดการการวัดเรตติ้งทีวีดิจิตอลให้ถูกต้อง แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า บริษัทกันดาร์ยอมยกธงขาว อ้างว่าตัวเองไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการวัดเรตติ้งได้ (ตามกำหนดเดิมก็คือตั้งแต่ต้นปี 2560 ซึ่งมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนมาก่อนหน้า 2-3 ปีแล้ว จึงทำให้ช่องทีวีดิจิตอลต้องกลับไปใช้บริการของบริษัทเรตติ้งเจ้าเดิมก็คือ A.C Neilsen เหมือนเช่นเดิม ซึ่งผลการวัดเรตติ้งจึงออกมาเหมือนเดิมๆ ทุกอย่าง ที่นี้จะไปดูสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลรายช่อง (เอาเฉพาะช่องหลัก ๆ ซัก 5-6 ช่องก็พอ) ในรอบปีที่ผ่านมา มีดังนี้

ช่อง 7 ยังคงรักษาสถานภาพการครองความเป็นอันดับที่ 1 ในด้านเรตติ้งทั้งด้านละครและข่าว รวมถึงรายการต่างๆ โดยภาพรวมของทีวีไทยไว้ได้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผลประกอบการและเรตติ้งของช่อง 7 ก็ลดลงเช่นกันจากในยุคอนาล็อก จากรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านในยุคอนาล็อก ปัจจุบันรายได้ของช่อง 7 (10 เดือนแรก) มีรายได้เพียง 12,047.78 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากช่อง 3 ที่มีรายได้ 10 เดือนแรกเท่ากับ 13,585.54 ล้านบาท (ที่มาอ้างอิง : บริษัทเอ.ซี.เนลเซ่น) ส่วนเรตติ้งของช่อง 7 ที่เคยได้ประมาณ 47% เกือบครึ่งนึงของยุคอนาล็อก (มี 6 ช่อง) ปัจจุบันเรตติ้งรวมโดยเฉลี่ยของช่อง 7 (เดือนพ.ย.2560) อยู่ที่ 2.204 % แต่ในขณะที่เรตติ้งรวมของอันดับ 2-10 รวมกันเท่ากับ 5.01 นั่นแสดงว่า สัดส่วนเรตติ้งในปัจจุบันของช่อง 7 จากที่เคยครองส่วนแบ่งเรตติ้งอยู่ในระดับเกือบครึ่งคือ 47% ลดลงมาอยู่ในระดับ 22% เรียกว่าในยุคทีวีดิจิตอล ช่อง 7 เรตติ้งลดลงกว่าครึ่งนึง แม้จะครองอันดับ 1 ไว้ได้ แต่ในระยะยาว ส่วนแบ่งตรงนี้จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากจำนวนผู้เล่นหรือคู่แข่งในตลาดเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาคอนเท้นต์ของช่องเกิดใหม่หรือคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกประการต่อมาก็คือ เดิมในยุคอนาล็อก ช่อง 7 ถือได้ว่าได้เปรียบจากโครงข่ายของเสาส่ง หรือคลื่นความถี่ที่สามารถส่งคลื่นความถี่ของสถานีไปได้ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ทำให้ปริมาณคนดูช่อง 7 ดูได้มากที่สุด หรือแม้แต่ในจุดอับต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อน แม้ช่อง 3 จะพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถขยายฐานคนดูสู้ช่อง 7 ได้ แต่พอมาในยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิตอล เปลี่ยนแปลงระบบคลื่นความถี่ และเครือข่ายเสาส่งใหม่หมด เป็นการรับคลื่นความถี่ผ่านเสาแบบใหม่ ต้องมีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล และมีเครือข่ายของจานรับสัญญาณดาวเทียม มีเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น มีทีวีแบบบอกรับสมาชิกหรือที่เรียกว่า streming มี (ott) มีการไลฟ์สดผ่าน social media ,มีช่องทาง youtube ต่างๆ ทำให้ช่องทางในการรับสัญญาณทีวีไม่ติดอยู่ในกรอบที่จำกัดเหมือนแต่ก่อนแล้ว การดูทีวีผ่านโทรศัพท์มือถืออีก มันท้าทายว่า ความนิยมในการรับชมช่อง 7 ยังคงมากที่สุดเหมือนแต่ก่อนอีกหรือไม่ อีกทั้งช่อง 7 ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกก่อนกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน คือจะยุติในปี 2566 นั่นแปลว่า ณ ตอนนั้น ช่อง 7 จะไม่เหลือตัวช่วยคือการส่งสัญญาณในระบบอนาล็อกมาเป็นฐานอีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของช่อง 7 แต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ก็แทบไม่มีใครดูทีวีด้วยเสาก้างปลาแบบระบบอนาล็อกอยู่ซักเท่าไหร่แล้ว ช่อง 7 จึงเผชิญการท้าทายจากคู่แข่งที่มีทั้งรายเก่า รายใหม่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากเบอร์ 1 ไปได้มากน้อยเพียงใดแค่นั้นเอง

ช่อง 3 (อันดับ 2) ผู้ที่เผชิญวิกฤติปัญหาในองค์กรมาตลอดปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่รายได้โฆษณาที่ลดลง พลอยทำให้กำไรลดลงอย่างฮวบฮาบ บางคนโทษว่าเป็นเพราะผลพวงของสรยุทธ์ สุทัศนะจินดาโดนคดีไร่ส้ม ทำให้ต้องยุติบทบาทการทำรายการข่าวหน้าจอ และทำให้เรตติ้งของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ลดลง อันนั้นก็น่าจะส่วนหนึ่ง แต่ที่รายได้/กำไรของช่อง 3 ลดลงอย่างฮวบฮาบนั้นน่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ งบโฆษณาที่ลดลง อีกทั้งมีช่องคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นในยุคทีวีดิจิตอล การแบ่งรับต้นทุนจากการไปประมูลช่องทีวีดิจิตอลมาถึง 3 ช่อง แบกรับทั้งต้นทุนบุคลากรด้านข่าว ผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้ไปแก่งแย่งซื้อตัวมาจากช่องอื่น แบกรับต้นทุนการผลิตละครแบบใช้ระบบสต็อกละคร (หรือผลิตละครเป็นสต็อกไว้จำนวนมาก แต่ยังไม่ได้ออนแอร์ บางเรื่องก็ถูกดองยาว ไม่มีโอกาสได้ฉายเลย กลายเป็นต้นทุนเสียเปล่า sunk cost หรือต้องตัดเป็นค่าเสื่อมหรือหนี้สูญไป หรือเป็นเรื่องของต้องแบกรับต้นทุนค่าจ้างดารานักแสดงในสังกัด เพราะเป็นช่องเดียวที่มีการจ่ายเงินเดือนให้กับนักแสดงในสังกัดด้วย ยังไม่นับรวมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ซึ่งการเป็นช่องใหญ่ ย่อมมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าช่องเล็กๆ อื่นๆ อยู่แล้ว) อีกทั้งจำนวนคนดูลดลง เนื่องจากพฤติกรรมคนดูยุคโซเชียลมีเดียรุ่งเรืองเปลี่ยนไป ฯลฯ ตัวเลขผลประกอบการของช่อง 3 หรือ BEC เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรอยู่ที่ 361.69 ล้าน บาท ลดลงจากปีที่แล้วที่มีกำไรอยู่ที่ 1,037.37 ล้านบาท ลดลงถึง 65.13% และถ้านับย้อนไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่เข้าสู่ทีวีดิจิตอลจะเป็นผลกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ ปี 2558 มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,982.71 ล้านบาท พอมาปี 2559 ผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,218.29 ล้านบาท นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ช่อง 3 ต้องปรับขบวนทัพใหม่หมด เริ่มจากข่าวการเปลี่ยนตัวประธานและรองประธานบริหาร ตำแหน่ง CEO ของช่อง 3 เป็นทีมใหม่หมด รวมถึงฝ่ายบริหารอื่นๆที่สำคัญ เช่น ฝ่ายหารายได้ การปรับเปลี่ยนนโยบายในการหารายได้ใหม่ โดยไปเน้นที่ รายได้ที่ไม่ใช่ค่าโฆษณา อาทิ การสร้างช่องทางสื่อโซเชียลเป็นของตนเองไม่ต้องไปพึ่งพารายได้จาก youtube เพราะยอดวิวละครของช่อง 3 ก็นับเป็นอันดับต้นๆ ของผู้ชมในช่อง youtube channel อยู่แล้ว, การนำโมเดลแบ่งรายได้ระหว่างผู้ผลิตรายการกับช่อง แบ่งผลประโยชน์ค่าโฆษณากัน, นำโมเดลบริหารศิลปินเอง ปั๊มรายได้มาเป็นหัวหอก และนโยบายผลิตละครเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคเอเชีย , การนำเข้าซีรีส์ยอดฮิตจาก ตปท.หรือร่วมมือกับเอเยนซี่ เช่น jkn การนำละครเก่ามารีรันฉายใหม่ แทนการผลิตละครใหม่ ซึ่งไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพราะในปีนี้ ละครใหม่ช่วงไพรม์ไทม์หลายเรื่องของช่อง 3 ก็ไม่สามารถเรียกเรตติ้งหรือกระแสได้ ตามที่คาดหวังไว้ แม้จะลงทุนด้วยโปรดักชั่นใหญ่ และมีนักแสดงระดับแม่เหล็ก แต่ก็ยังไม่สามารถกระชากเรตติ้งได้ตามเป้า เป็นต้น

ช่องเวิร์คพ้อยท์ ประสบความสำเร็จจากรายการประกวดร้องเพลง อย่างไมค์หมดหนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก บวกกับได้เรตติ้งและกระแสจากรายการใหม่อย่าง The Mask Singer seasonที่ 1 มานับตั้งแต่ปลายปี 59 ซึ่งสามารถต่อยอด รักษาโมเมนตัมของเรตติ้งมาได้จนถึง seasonที่ 3 ในปีนี้ ยังไม่นับรายการประกวดร้องเพลงอื่นๆ อีกที่ก็มีเรตติ้งที่น่าพอใจ อาทิ I can see your Voice, The X Factor Thailand รายการใหมที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจาก ตปท. และรายการวาไรตี้ยอดฮิตอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งจุดขายของช่องเลยก็ว่าได้ ทำให้ยังสามารครองเรตติ้งในภาพรวมมาอยู่ในอันดับ 3 ปรากฏการณ์ของรายการ The Mask Singer ได้ทลายความเชื่อของผู้ชมในประเทศไทยว่า ถ้าคอนเท้นต์ดี เด่น ดัง จริง ก็สามารถล้มละครค่ำช่วงไพร์มไทม์ของช่องใหญ่ได้ ซึ่งเรตติ้งของ The Mask Singer เคยขึ้นไปแตะถึงเกือบ 10 ชนะละครของทุกช่องได้สำเร็จ และกลายเป็น talk of the town ในช่วงต้นปี และตลอดทั้งปีนี้ นี่เป็นความสำเร็จของรายการทีวีเพียงรายการเดียว แต่เวิร์คพ้อยท์มิได้มีรายการที่เรตติ้งดีเพียงรายการนี้ รายการเดียว จึงทำให้ยังรักษาโมเมนตัมของการเป็นช่องเกิดใหม่ หรือคู่แข่งในทีวีดิจิตอลที่น่ากลัวที่สุด บางช่วงเบียดขึ้นไปถึงอันดับที่ 2 ของเรตติ้งรวมได้สำเร็จ โดยชนะช่อง 3 ได้ในบางช่วงเวลา และหลายรายการเรตติ้งก็สูงกว่ารายการของช่อง 7 ด้วย

ช่องโมโน 29 ทีวีที่คุยว่าตนเองมีภาพยนตร์ดี ซีรีส์ดังมากที่สุด ก็จริงตามนั้น แต่บ่อยครั้งพอเปิดไป ก็เป็นภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น แนวตลก ซ้ำๆซากๆ และฉายรีรันบ่อย สโลแกนที่ว่าภาพยนตร์ดี จึงฟังดูไม่น่าจะใช่ ส่วนซีรีส์นั้นก็จะหนักไปทางสืบสวนสอบสวน ไซไฟ และก็ไม่มีความหลากหลายของแนวเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ยังให้กำลังใจช่อง mono ต่อไป เนื่องจากเป็นช่องเดียวที่กล้าชูจุดขาย เป็นช่องที่สร้างคาแร็กเตอร์เฉพาะให้กับตนเองเป็นช่องหนังต่างประเทศไปเลย และมีถ่ายทอดสดกีฬาบาสเก็ตบอลให้ชมอยู่บ่อยๆ นับว่าเป็นช่องทางเลือกของคนที่ชอบดูหนังอย่างแท้จริง แต่สำหรับรายการที่ผลิตเองในประเทศจัดว่าน้อยมากสำหรับช่องนี้ จึงนับถือว่าช่องนี้ ถ้าไม่รวยจริง ทำไม่ได้ ลำพังค่าโฆษณาที่ได้เข้ามาหักลบกับหนังหรือซีรีส์จากต่างประเทศที่ซื้อมา ดูยังไงก็ไม่น่าจะคุ้มเท่าไหร่ สำหรับการทำทีวี เพราะนี่คือฟรีทีวี ดังนั้น ปัญหาของช่องนี้คือการบริหารจัดการรายได้กับค่าใช้จ่าย ต้นทุนให้สามารถอยู่ได้ และตอบแทนคืนกำไรให้คนดูมากทีสุด นับถือจริงๆ สำหรับช่องนี้

ช่อง ONE31 นับว่าในช่วง 2-3 ปีแรก ดูจะยังไม่ลงตัวกับหลายๆ อย่าง มีปัญหาทั้งทีมข่าว และการหารายได้เข้าสถานี จนทำให้ทีมข่าวยกทีมลาออกไป และเปลี่ยนทีมข่าวใหม่อยู่บ่อยๆ ในขณะที่จุดแข็งยังคงเป็นการผลิตละคร ที่แบกสถานีเอาไว้ได้ รวมถึงรายการวาไรตี้ต่างๆ เริ่มดีขึ้น และอยู่ตัวขึ้นแล้ว ช่องนี้จะมีลักษณะพิเศษกว่าช่องอื่นตรง กลุ่มเป้าหมายของช่อง one คือผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ มีฐานการศึกษา และรสนิยมดี มีรายได้สูง (กลุ่ม A-List จะดูช่อง 3,กับ one เยอะ และโฆษณาที่เน้นกลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูงจะลงช่อง one กับช่อง 3 เป็นหลัก) และกลุ่มคนดูละครจะทับซ้อนกับช่อง 3 ด้วย ลองสังเกตดูว่าหากละครล็อตใดของช่อง 3 ไม่สนุก จะเทมาเพิ่มเรตติ้งให้กับช่อง one ทันที เป็นอย่างนี้มาหลายเรื่องแล้ว สาเหตุก็เพราะฐานคนดูของคนเมืองส่วนใหญ่ อยู่ที่ช่อง 3 กับ one นี่แหละ แต่ที่เรตติ้งของช่อง one ยังไม่สามารถขยับขึ้นได้มากกว่านี้ ก็เพราะฐานแฟนละครที่เฝ้าหน้าจอแบบจงรักภักดีกับช่องจริงๆ มีน้อยกว่าช่อง 3 และมีพฤติกรรมแบบเปลี่ยนแปลงโยกย้ายง่ายและบ่อยด้วย ไม่ติดยึดกับหน้าจอทีวี เช่น ไม่นิยมดูสดผ่านทีวี แต่จะไปดูย้อนหลังทางไลน์ทีวีหรือยูทูปแทน แต่หากนับเอายอดวิวที่ดูย้อนหลังในช่องทางอื่นๆ มารวมด้วย ก็ต้องถือว่าฐานแฟนละครของช่อง one มีไม่น้อยไปกว่าช่อง 3 เลย ทางแก้ของช่อง ONE จึงต้องเพิ่มฐานแฟนละครที่เฝ้าหน้าจอเพิ่มขึ้นหรือจงรักภักดีกับช่อง ผ่านการทำโปรโมตลดแลกแจกแถมในการดูสด (ซึ่งช่อง ONE ทำอยู่ประจำ) การเพิ่มคอนเท้นต์ที่น่าสนใจ เพื่อขยานฐานคนดูให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หรือดึงคนดูมาจากช่องอื่นๆ ซึ่งช่อง one ทำประสบความสำเร็จเป็นพักๆ แต่ยังไม่สามารถทำให้คงตัวอยู่ได้นาน อันเนื่องมาจากเปลี่ยนผังรายการบ่อย ซึ่งโจทก์นี้ เป็นโจทก์ใหญ่ของช่อง ที่หากไม่แก้ ก็จะได้ฐานคนดูอยู่แค่นี้ ไม่กระเตื้องไปไหน อยู่อันดับ 5-6 อยู่อย่างนี้

ช่อง 8 มีการปรับขบวนทัพมาเป็นระยะ ๆ นับแต่การปรับโฉมรายการข่าว และหันมาเน้นรายการข่าวตอนเช้า จนบางช่วงเรตติ้งแซงชนะรายการข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ของช่อง 3 สำเร็จ การเพิ่มรายการมวย ในหลากหลายรูปแบบ และกีฬาอื่นๆ การซื้อซีรีส์เกาหลี และอินเดียมาชิมลางฉาย จนประสบความสำเร็จ ทำให้เรตติ้งดีขึ้นมากตั้งแต่นำซีรีส์อินเดียมาฉาย รวมถึงปรับปรุง เพิ่มผู้จัดละคร ดึงอดีตนักแสดงดังๆ จากช่องอื่น มาร่วมงาน เพื่อผลิตละครภาคค่ำให้มีสีสัน รสชาติที่แปลกตา และความหลากหลายแนว จากหลายผุ้จัด นับเป็นการพัฒนาที่มาถูกทาง ทำให้เรตติ้งและผลประกอบการของช่อง 8 ไปในทิศทางเดียวกัน


ทิศทางของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล จะยังคงดำเนินไปแบบทุลักทุเลเช่นนี้ จนกว่าจะถึงจุดแตกหัก ที่ทุกช่องสามารถอยู่ได้ โดยไม่ขาดทุน หรือยอมยกธงขาว ยอมแพ้ ก็จะได้เห็นจำนวนสถานีโทรทัศน์ที่อยู่รอดได้เพียงไม่กี่ช่อง แต่จะมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน มีการสร้างจุดขายให้กับตนเอง เพื่อต่อสู้แข่งขัน แย่งชิงเรตติ้งกัน ให้ตนเองเป็นผู้รอดในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป





อันดับที่ 5 สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง กำลังจะเป็นลายแทงขุมทรัพย์ใหม่ของประเทศ เอาไว้หารายได้เข้าประเทศ

คำว่าสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างเด่นชัด จนมาในยุคที่ “ฟุตบอลไทย” เฟื่องฟู และมีการจัดแข่งขันเป็นระบบลีกอาชีพ ซึ่งก็ในช่วงไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง ยังผลไปสู่กีฬาชนิดอื่นๆ ด้วย ฟุตบอลกลายเป็น role model ที่กีฬาชนิดอื่นพร้อมเดินตาม ในขณะที่ เมื่อก่อนกีฬาอาชีพในเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่ไกลตัวเหลือเกิน จนมาในช่วงที่กีฬาไทยมีฮีโร่แจ้งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆชนิดกีฬา อาทิ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย (วัฒนา ภู่โอบอ้อม) จากสนุกเกอร์, บอล ภราดร ศรีชาพันธุ์และแทมมี่ แทมมารีน ชนะสุกาญจน์ จากกีฬาเทนนิส ,เขาทราย กาแล็คซี่ ,สามารถ พยัคฆ์อรุณ,บัวขาว บัญชาเมฆ จนมาถึงศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น, โปรช้าง ธงชัย ใจดี,โปรอาร์ม กิรเดช อภิบาลรัตน์ จนมาถึงโปรเม โมรียา จุฑานุกูล ,เมย์ รัชนก อินทนนท์ นี่คือตัวอย่างของนักกีฬาอาชีพประเภทบุคคลที่ประสบความสำเร็จ สามารถหารายได้และยึดเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคง และเป็นต้นแบบให้กับนักกีฬาหรือเยาวชนไทยรุ่นหลังได้เดินตาม

ในขณะที่กีฬาที่เป็นประเภททีมก็ต้องยกให้กับฟุตบอลกับวอลเลย์บอล ที่สามารถสร้างกระแสความนิยม และตัวนักกีฬาสามารถเล่นเป็นอาชีพได้ มีลีกการแข่งขันรองรับ และนักกีฬาของไทยก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล จนช่วงหลังๆ มีหลากหลายชนิดกีฬา สามารถพัฒนาให้มีลีกการแข่งขันเป็นแบบระบบอาชีพ เช่น บาสเก็บบอล เซปัคตระกร้อ แบดมินตัน อีสปอร์ต เป็นต้น

กระแสสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งเริ่มกระพือความคึกคักคู่มากับกระแสความนิยมในกีฟาฟุตบอลอาชีพของบ้านเรา ต้องยกอานิสงส์ให้กับบรรดาทีมฟุตบอลสโมสรชั้นนำในบ้านเรา ที่นำเอาระบบการตลาดมาใช้กับการทำทีมสโมสรได้อย่างประสบความสำเร็จ อาทิ สโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด,สโมสรเมืองทองยูไนเต็ด ,สโมสรแบงคอกยูไนเต็ด และสโมสรเชียงรายยูไนเต็ด มีการคาดการณ์จากศูนย์วิจัย ธ.กสิกรไทย ว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนกันในระบบลีกฟุตบอลไทย หรือ T1 ปีๆ นึงไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท (อันนี้เป็นตัวเลขโดยรวมแบบคร่าว ของปี 2559) พอมาถึงปีนี้อาจพุ่งไปแตะในระดับ 15,000 ล้านบาทแล้วก็เป็นได้ ลองวิเคราะห์ง่ายๆ ว่าค่าตัวของนักกีฬาสโมสรดังๆ แต่ละคนมีค่าตัวกันคนละเท่าไหร่ บวกๆ กันไว้ ค่าจ้างโค้ช ยอดขายตั๋ว+สินค้าที่ระลึก เม็ดเงินจากสปอนเซอร์ ค่าโฆษณา ยังไม่นับรวมมูลค่าการตลาดของแบรนด์สโมสร นับวันมีแต่จะมากขึ้นไปแบบไม่หยุด เรียกได้ว่า ลีกฟุตบอลของไทย ได้รับการจัดอันดับจากเอเอฟซีว่า เป็นดันดับ 12 ของทวีปเอเชีย (ในปีที่ผ่านมา) และเป็นอันดับ 1 ในย่านอาเซียน


จากตัวเลขเม็ดเงินมหาศาลที่นับวันจะยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐเริ่มเล็งเห็นถึงการนำเอากีฬามาเป็นหัวหอก เดินกลยุทธ์หารายได้เข้าประเทศ โดยหยิบเอาชนิดกีฬาที่ ประเทศไทยมีนักกีฬาที่มีความเป็นเลิศ และในประเทศรอบบ้านเราก็นิยมเล่นกัน นำมาจัดเป็นอีเว้นต์การแข่งขัน หรือลีกการแข่งขัน เพื่อสร้างให้เป็นแพล็ตเทิร์นโมเดล สามารถขายลิขสิทธิ์การแข่งขันไปยังต่างประเทศแบบซื้อแฟรนไชส์ได้ เหมือนๆ กับที่ประเทศไทย ได้รับสิทธิ์เป็นสนามแข่งขันโมโตจีพี (สำหรับฤดูกาล 2018-2020 ได้รับสิทธิ์ 3 ปี ที่จะใช้สนามแข่งของช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิตเป็นสนามแข่งที่บุรีรัมย์) จากจำนวนสนามแข่งในปี 2018 ทิ้งสิ้น 18 สนาม ของไทยได้รับเลือกเป็นสนามที่ 15 ของโลก แข่งในช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2018 (รายละเอียดสนาม 1 วันที่ 16-18 มีนาคม โลแซล อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต, กาตาร์ สนาม 2 วันที่ 6-8 เมษายน เทอร์มาส เดอ ริโอ ฮอนโด, อาร์เจนตินา สนาม 3 วันที่ 20-22 อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1069229)

เพื่อจะดึงเม็ดเงินจากการถ่ายทอดสด ค่าสปอนเซอร์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นคนดู ที่จะแห่แหนมาประเทศไทยเพื่อชมดูการแข่งขัน

พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ถือว่าเป็นกฎหมายกีฬาสำคัญในการยกระดับพัฒนาวงการกีฬาอาชีพไทยให้มีมาตรฐานก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ โดจะมีทั้งหมด 74 มาตรา คุ้มครอง และสนับสนุนกลุ่มบุคคล 5 กลุ่มคือ นักกีฬาอาชีพ, บุคลากรกีฬาอาชีพ, สโมสรกีฬาอาชีพ, สมาคมกีฬาอาชีพ และผู้จัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ

ชนิดกีฬาอาชีพที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการกีฬาอาชีพประกาศรับรองในปี 2560 มี 13 ชนิดกีฬา คือ ฟุตบอล, กอล์ฟ, เจ็ตสกี, วอลเลย์บอล, ตะกร้อ, โบว์ลิ่ง, แข่งรถจักรยานยนต์, แข่งรถยนต์, จักรยาน, สนุกเกอร์, เทนนิส, แบดมินตัน และบาสเกตบอล ซึ่งนอกเหนือจากแผนนโยบายยุทธศาสตร์ส่งเสริมพัฒนา และการสนับสนุนงบประมาณแล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ ยังมีบทกำหนดโทษ ทั้งโทษทางปกครอง และโทษอาญา เพื่อช่วยสร้างมาตรฐานกีฬาอาชีพ

คณะกรรมการกีฬาอาชีพ หรือ บอร์ด กีฬาอาชีพ จะมี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” เป็นประธานบอร์ด 

เจตริน วรรธนะสิน นักร้องดังของเมืองไทย และเป็นนักกีฬาเจ็ทสกี เคยออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ็คส่วนตัว ขอให้ประธานทีม "ปราสาทสายฟ้า" แห่งศึกลูกหนังไทยพรีเมียร์ลีก ช่วยสร้างศูนย์กีฬาทางน้ำ เพื่อจะได้อำลาวงการไปซื้อบ้านอยู่ที่บุรีรัมย์

"ฝันอยากเห็นคุณอาเนวิน พ่อเมืองแห่งบุรีรัมย์ สร้างบึงใหญ่ๆ หรือสร้างทะเลสาบใหญ่ๆ จัดให้เป็นศูณย์กีฬาทางน้ำและเป็นแหล่งพักผ่อน ตั้งแต่ เรือใบ วินเซิร์ฟ เวคบอร์ด สกีน้ำ เจ็ทสกี (กีฬาที่คนไทยเป็นแชมป์โลกมากสุด) ในตลอดทั้งปีมีการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ในแต่ละกีฬา และ สามารถจัดระดับอินเตอร์ extreme game หรือ world king s cup jetski หรือถ้า เอาแบบ Mega จัดเรือ F1 กันได้เลย มั่นใจว่าตลอดทั้งปี water curcuit นี้เต็มตลอด "Buriram water sport curcuit" นักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งแขกอาหรับ ยุโรป อเมริกา มากันพรึบ งานไหนจัด traffic ใกล้กับ สนามแข่งรถ ยิ่งสนุกกันไปใหญ่ ผมนี้จะซื้อที่ปลูกบ้านรอเลย ขอลาวงการไปทำงานอยู่บุรีรัมย์ก่อนนะครับ สวัสดีครับ" ซึ่งจากข้อความดังกล่าวนี้ ทางภาครัฐ โดยอดีต รมต.กีฬาและการท่องเที่ยวฯ อย่างคุณหญิงกอบกาญจน์ ก็เห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับกีฬาทางน้ำ เพื่อนำเอากีฬาทางน้ำเป็นต้นแบบในการเป็นหัวหอกสร้างแพ็ทเทิร์นโมเดลการจัดการแข่งขันแล้วขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งโปรเจ็คท์นี้จะได้รับการผลักดันต่อหรือไม่ คงต้องรอ รมต.กีฬาและท่องเที่ยวคนใหม่ คือ ดร.วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ที่เพิ่งมารับตำแหน่งใหม่ ว่าจะผลักดันต่อหรือไม่อย่างไร

สุดท้ายก็คือเรื่องกีฬาอีสปอร์ต ซึ่งเป็นกีฬาชนิดใหม่ที่คนไทยมีความสามารถ ชำนาญ และมีศักยภาพในระดับโลก จนสามารถไปคว้าแชมป์ระดับโลกมาครองได้แล้ว เป็นปีที่มีการผลักดันให้รับรองกีฬาชนิดนี้ และตั้งเป็นสมาคมจนสำเร็จ และมีภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสปอนเซอร์สินค้าให้การสนับสนุนนักกีฬาของไทย ไปแข่งในระดับนานาชาติ หรือการจัดแข่งขัน อีเว้นต์การแข่งขันที่จัดขึ้นในบ้านเรา โดยเราเป็นเจ้าภาพ โดยในปีนี้

เป็นที่ชัดเจนว่ากีฬาอีสปอร์ตในไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจริงๆ Garena เองก็ไม่อยู่เฉยโดยวันที่ 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาก็ได้มาแถลงข่าวทิศทางของอีสปอร์ตของประเทศไทยในอนาคตและการจัดงาน GSL2017 โดยถือเป็นมหกรรมเกมและการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดตัว Blade & Soul เกมออนไลน์แนว Action MMORPG ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ พบเทรนด์ใหม่ของกีฬาอีสปอร์ตกับการแข่งขัน Mobile eSports ด้วยเกม RoV สุดยอดโมบายเกม MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1,000,000 บาท พร้อมทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตมูลค่ารวมอีกกว่า 1,600,000 บาท เพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทจนจบการศึกษา รวมเงินรางวัลของงาน GSL ครั้งนี้ทั้งสิ้นกว่า 7,000,000 บาท นายอัลเลน ซู ผู้จัดการอาวุโสด้านพันธมิตรทางธุรกิจเกม บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าสำหรับงาน GSL 2017 (Garena Star League 2017) ในปีนี้นั้น ถือเป็นการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีทุกปี โดยในปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 150,000 คน สำหรับงาน GSL ในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 เมษายน นับเป็นกิจกรรมแรกของปี 2017 ที่การีนาจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันวงการกีฬาอีสปอร์ตให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ และเป็นการแสดงศักยภาพของวงการอีสปอร์ตไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก รวมทั้งเป็นพื้นที่ในการประลองฝีมือของเหล่าเกมเมอร์ที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตในอนาคต ในงานจะได้พบกับการแข่งขันอีสปอร์ตในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HoN, Fifa Online 3, LoL, Point Blank นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันโมบายอีสปอร์ต (Mobile eSports) ในทัวร์นาเมนต์ของเกม RoV เกมมือถือที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงยึดอันดับ 1 Top Free Games ใน Google Play และ App Store มานานกว่า 2 เดือน และมียอดผู้ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 3.5 ล้านไอดี ถือเป็นครั้งแรกของวงการอีสปอร์ตเกมมือถือที่จะมีการแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลหลักล้าน ผู้ชนะทั้ง 5 คนยังจะได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตมูลค่ารวมกว่า 1,600,000 บาท และพบกับไอเดียสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ในการประกวดคอสเพลย์ในธีมของเกม LoL ที่งาน GSL ถือเป็นศูนย์รวมของเหล่าผู้ชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์เพื่อมาร่วมประชันไอเดียในการออกแบบการแต่งกายให้กับตัวละครต่างๆ นอกจากนี้ นาย อัลเลน ยังกล่าวเสริมด้วยว่า “ในขณะที่การเติบโตของกีฬาอีสปอร์ตยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เกมเมอร์และนักกีฬาส่วนใหญ่ยังคงแข่งขันอีสปอร์ตอยู่บนเครื่องพีซีคอมพิวเตอร์ เรามองเห็นว่าในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุคของโมบายเฟิร์ส ที่มีการใช้งานมือถือเป็นอุปกรณ์แรกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความบันเทิง ไปจนถึงการใช้งานต่างๆในชีวิตประจำวัน จากจุดนี้ที่ทำให้การีนามองเห็นโอกาสในการสนับสนุนให้มีการแข่งขันอีสปอร์ตผ่านมือถือเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน โดยจะใช้เกม RoV ที่ได้เปิดให้คอเกมในประเทศไทยได้ใช้บริการมาได้ระยะหนึ่งแล้วเป็นตัวนำร่อง จากการสำรวจมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเพราะการแข่งขันบนมือถือสามารถเข้าถึงได้ง่ายทำให้มีโอกาสผลักดันให้เกมมือถือกลายเป็นกีฬาอีสปอร์ตได้ และในงาน GSL 2017 ครั้งนี้ การีนา ได้จัดทัวร์นาเมนต์สำหรับเกม RoV เป็นการแข่งขันในประเภทโมบายอีสปอร์ต ที่นอกจากชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมถึง 1 ล้านบาท”

และเขายังได้เน้นย้ำความสำคัญของการศึกษาว่า “เราได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ในการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโทจนจบการศึกษา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตบนมือถือในประเทศไทยที่มีรางวัลเป็นทุนการศึกษา เพราะปีที่แล้วเราเคยจัดแข่งขันเกม League of Legends เพื่อชิงทุนการศึกษาและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นการพลิกมุมมองใหม่ๆให้กับวงการเกมและวงการอีสปอร์ต ประกอบกับในปัจจุบันมีองค์กรภาคการศึกษาต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนในเรื่องของอีสปอร์ตจนมีการเปิดสาขาวิชาเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ตในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายมหาวิทยาลัยในตอนนี้ พร้อมกับทิ้งท้ายให้กับเยาวชนไทยว่า “การีนามองว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันร่วมผลักดันและกำหนดกรอบที่ถูกต้องเพื่อให้เยาวชนแบ่งเวลาให้ถูก ให้ความสำคัญกับการเรียน มีจุดมุ่งหมายในการเล่นเกมเพื่อพัฒนาไปเป็นนักกีฬา รวมทั้งทำให้อุตสาหกรรมเกมขยายตัวและได้รับการยอมรับในทางที่ดีขึ้นอีกด้วย” มหกรรมเกมและการแข่งขันอีสปอร์ต ‘GSL 2017’ ได้จัดขึ้นไปแล้ว ณ ฮอลล์ 98-99 ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2560

นับวันกีฬากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และธุรกิจ การตลาด จะแยกจากกันไม่ออก มันจะเดินคู่ขนานกันไป ตราบเท่าที่มันยังมีคุณค่า คุณประโยชน์ ทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพของคนควบคู่ไปกับผลประโยชน์ในด้านตัวเงิน และนับวันสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งก็จะยิ่งมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณไปเรื่อยๆ

บทความ 10 สุดยอดปรากฏการณ์ทางการตลาดแห่งปี 2017 โดยเพจหยิกแกมหยอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น