วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

9 เรื่องที่ลูกจะขอจดจำองค์พ่อหลวง (7) ของแผ่นดินตลอดไป ตอนที่ 7





7.ทรงเป็นองค์เอกอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ทั้งของไทยและระดับโลก

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนอกจากจะมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศไทยอย่างล้นเหลือแล้ว พระองค์ท่านยังมีความเป็นเลิศทางด้านงานศิลปะในหลายแขนง ทั้ง ด้านดนตรี การถ่ายภาพ ด้านจิตรกรรม ด้านวรรณกรรม และหัตถกรรม ฯลฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพในศิลปะด้านต่างๆ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต

พระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” พระองค์ทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งมวล ทรงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณทั้ง จากพสกนิกรและศิลปินทั่วโลกในพระปรีชาสามารถอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทรงเป็นเอตทัคคะในศิลปะหลายสาขา อาทิ

ด้านจิตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยงานด้านจิตรกรรม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนเองและทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ เมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้น ถึงที่พักเพื่อทรงทอดพระเนตรวิธีการทำงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผสมสี ตลอดจนเทคนิควิธีการต่าง ๆ พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ มีจำนวนถึง ๔๗ ภาพ สามารถจำแนกได้ ใน ๓ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ภาพเหมือนจริง (realistic) เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (expressionism) และศิลปะแบบนามธรรม (abstractionism)

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ได้บรรยายไว้ในหนังสือจิตรกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ว่า
      
       "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มเขียนภาพเหมือนซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่และทรงค้นคว้าหาทางใหม่ ๆ แปลก ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือนอันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงเคยใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ
      
       ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์โดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่น ภาพที่พระราชทานชื่อว่า วัฏฏะ,โลภะ,โทสะ,ยุแหย่,อ่อนโยน, บุคลิกซ้อน ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้จะตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงานทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรกเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย"
ด้านประติมากรรม ประติมากรรมฝีพระหัตถ์เป็นประติมากรรมลอยตัว (round relief) ได้แก่ รูปปั้นดินน้ำมันเป็นรูปผู้หญิงเปลือยนั่งคุกเข่า และพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูปเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้แนวพระราชดำริ แก่ช่างปั้นพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณะงดงาม มีลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ดูมีพระเมตตาสงบและเยือกเย็นสุขุม และได้ทรงทดลองหล่อพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อพระราชทานไปประดิษฐาน ณ จังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร

ด้านการถ่ายภาพ ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพมาตั่งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เองจนทรงเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะคิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ส่วนใหญ่เป็นภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และภาพถ่ายสถานที่ที่พระองค์เสด็จเยี่ยมราษฎร เป็นต้น

การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ และการถ่ายภาพสไลด์ ก็เป็นงานอดิเรกที่โปรดมาก พระองค์สนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ยามเมื่อตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชนิวัติประเทศไทยคราวใด ก็จะเห็นพระองค์ทรงสะพายกล้องถ่ายรูปบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ทุกแห่งที่ได้เสด็จฯ ไป เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ทรงฉายพระรูปสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และบันทึกภาพประชาชน ภาพเหตุการณ์ต่างๆ มายมาก
      
       นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการล้างฟิล์ม การอัด ขยายภาพ ทั้งภาพขาวดำและภาพสีนับเป็นพระปรีชาที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน โดยพระองค์ทรงจัดทำห้องมืด (DarkRoom) ขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรง “สร้างภาพ” ให้เป็นศิลปะถูกต้องและรวดเร็วด้วยพระองค์เอง
      
       ทั้งนี้เมื่อทรงครองราชย์แล้วไม่ว่าจะเสด็จไปเยี่ยมราษฎร ณ ที่แห่งใด จะสังเกตเห็นว่าจะทรงมีกล้องถ่ายรูปอยู่ข้างพระวรกายเสมอ โปรดการถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่ง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรงปฏิบัติ
ด้านหัตถศิลป์ ทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น โปรดที่จะต่อเรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี ๓ ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) เรือใบประเภทโอเค (Internatinal OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class)

คีตราชัน
      
       พระราชอัจฉริยภาพด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาใช่ปรากฏเฉพาะในสายตาปวงชนชาวไทยเท่านั้น หากแต่นานาประเทศต่างก็ยอมรับว่าพระองค์ท่านมีความสามารถทางด้านดนตรีไม่เป็นที่สองรองใคร โดยพระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน”ขึ้นเป็นเพลงแรก ในปีพ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบันรวมทั่วสิ้นกว่า 48 เพลง โดยมีบทเพลงที่คนไทยคุ้นเคย อาทิ ชะตาชีวิต ยามเย็น ใกล้รุ่ง พรปีใหม เป็นต้น ผลงานของพระองค์นั้นถือว่าจัดอยู่ในระดับยอดเยี่ยม จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "อัครศิลปิน" ที่แปลว่า "ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ"หรือ"ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน" เป็นศิลปินแห่งศิลปินที่ยังความปราบปลื้มให้แก่พสกนิกรชาวไทยเป็นยิ่งนัก

 


ด้านดุริยางคศิลป์ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีหลายชนิดโดยมีเครื่องดนตรีที่โปรด ปรานเช่น แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ต นอกจากนี้ยังทรงกีตาร์และเปียโน โดยพระองค์ท่านได้ทรงดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) ยอดนักคลาริเน็ตชื่อก้องโลก หลุยส์ อาร์มสตรอง (Louis Armstrong) นักเป่าทรัมเป็ต เจ๊ก ทีการ์เดอร์ (Jack Teagarder) นักตีระนาดเหล็กสากล สแตน เก็ตส์ (Stan Getz) นักเป่าแซกโซโฟนชื่อดัง ทรงสนพระราชหฤทัยวิชาดนตรีอย่างจริงจังและทรงศึกษาอย่างลึกซึ้งจนถึงการ เขียนโน้ตและการบรรเลงแบบคลาสสิก
นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์ เพลงไว้ถึง ๔๘ เพลง โดยบรรเลงในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งในลีลาของเพลงแจซซ์ คลาสสิก เพลงสมัยนิยม บทเพลงขับร้อง บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ “แสงเทียน” ในขณะที่มีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา บทเพลงพระราชนิพนธ์นั้นมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองก่อนและใส่เนื้อร้อง ภาษาอังกฤษภายหลัง ๕ เพลง คือ แว่ว (Echo) ในดวงใจนิรันดร์ (Still on my mind) เตือนใจ (Old Fashioned Melody) ไร้เดือน (No Moon) และเกาะในฝัน (Dream Island) ส่วนเพลงที่พระราชนิพนธ์คำร้องก่อน และใส่ทำนองภายหลัง คือ ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เฉพาะทำนองเพลง และโปรดฯ ให้ผู้อื่นประพันธ์เนื้อเพลง มีทั้งสิ้น ๔๑ เพลง

นนท์ บูรณสมภพ หนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีอ.ส.วันศุกร์ ตำแหน่งแซกโซโฟน เล่าว่า เรื่องของพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระเจ้าอยู่หัวนั้นสืบเนื่องมากจากพระองค์ทรงมีความรักในดนตรี โดยแนวเพลงที่ทรงโปรดปรานคือดนตรีแจ็ส ดิ๊กซีแลนด์ ซึ่งเป็นแจ็สที่มีจังหวะตื่นเต้นครื้นเครงสนุกสนาน ส่วนเพลงคลาสสิกก็ทรงโปรดเช่นกัน
      
       "สำหรับเรื่องพระปรีชาของพระองค์ท่านนั้น เป็นที่ล่วงรู้กันดีอยู่แล้วในวงการนักดนตรี พระองค์ท่านทรงซ้อมดนตรีทุกค่ำวันศุกร์และวันอาทิตย์ กับวง อ.ส.วันศุกร์ ชื่อวงอ.ส.วันศุกร์มาจากคำว่าพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นที่ออกอากาศครั้งแรกของวง เพราะทรงต้องการให้ประชาชนมีช่องทางติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านขั้นตอนตามพิธี และพระองค์ท่านยังทรงทำความสะอาดเครื่องดนตรีด้วยพระองค์เอง
      
       เพลงทุกเพลงที่พระราชนิพนธ์ขึ้นล้วนมีความหมายในตัว อย่างเพลง "พรปีใหม่" ก็ทรงพระราชทานเนื่องในวันปีใหม่ เพลง "เราสู้"พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ โดยขณะพระนิพนธ์เพลง มีความสนพระราชหฤทัยที่จะค้นคว้าอย่างลึกซึ้งด้านดนตรี นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงเชี่ยวชาญเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภทอย่างที่รู้จักกันดีและเป็นเครื่องดนตรีที่ทรงโปรดก็คือ “แซกโซโฟน” ที่พระองค์ท่านเล่นได้ไพเราะที่สุดยากหาใครเสมือนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปทั้งในประเทศและหมู่ชาวต่างชาติ"

ด้านวรรณศิลป์ และวาทศิลป์ พระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์จะเห็นได้จากผลงานพระราชนิพนธ์ซึ่งถึงแม้จะมี จำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นผลงานที่แสดงทั้งความสนพระราชหฤทัยในเรื่องต่าง ๆ และพระปรีชาสามารถในการถ่ายทอดเรื่องนั้น ๆ ออกมาเป็นตัวอักษร พระราชนิพนธ์เล่มแรก ได้แก่ พระราชานุกิจรัชการที่ ๘ พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และติโต นอกจากนี้ยังทรงเขียนบทความที่พระราชนิพนธ์แปลและเรียบเรียงอีกจำนวน ๑๐ บทความ

ด้านภูมิสถาปัตยกรรม งานภูมิทัศน์และการออกแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นงานที่มักจะพระราชทานพระราชดำริ พระราชวินิจฉัย หรือพระราชประสงค์ให้คณะทำงานรับไปปฏิบัติ โดยมีได้ทรงปฏิบัติเองดังเช่นงานช่างกลุ่มอื่นๆ

เครดิตข้อมูลจาก www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com, และ MGR online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น