วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

9 เรื่องที่ลูกจะขอจดจำองค์พ่อหลวง (6) ของแผ่นดินตลอดไป ตอนที่ 6



6.กษัตริย์นักประดิษฐ์ ทรงใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใช้เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน

พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชดำริโครงการต่างๆ มากมายโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่เพียงแต่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยเท่านั้น ผลงานในโครงการตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านยังเป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ และใช้แก้ปัญหาของประชาชนทั่วโลกได้
     
       เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.50 ทีมงานผู้จัดการวิทยาศาสตร์ขอร่วมเทอดพระเกียรติพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ที่ทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกร ก่อเกิดเป็นผลงานนวัตกรรมใหม่มากมาย
     
       ปัญหาน้ำแล้งที่คุกคามประชาชนทุกหย่อมหญ้า ด้วยพระเมตตาและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงให้กำเนิด "ฝนหลวง" หรือ "ฝนเทียม" จากสารเคมีที่หาได้ไม่ยาก ผสมกันด้วยสูตรเฉพาะ โดยใช้เทคนิค "ก่อกวน" กระตุ้นให้เมฆฝนรวมตัวกันและ เลี้ยงให้อ้วนก่อนที่จะ โจมตีให้เกิดเป็นเม็ดฝนโปรยลงมายังความชุ่มฉ่ำให้พสกนิกรดุจน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกร
     
       กระทั่งในเดือน มิ.ย. 49 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.46 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 48
     
       ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการหาแหล่งพลังงานทดแทน ทว่าเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในหลวงของเราทรงพระปรีชายิ่งที่พระองค์ท่านได้ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนใครๆ และทรงค้นคว้าการผลิตไบโอดีเซลจากพืช เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำมันขาดแคลนและผลผลิตด้านการเกษตรราคาตกต่ำในอนาคต
     
       ในปี 2544 วช. ได้นำผลงาน น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์มไปจัดแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ที่จัดโดยสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ณ กรุงบรัสเซลส์ พร้อมกับผลงาน ฝนหลวงและ ทฤษฎีใหม่ซึ่งทั้ง 3 ผลงานนี้ได้รับรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailand พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร และยังมีรางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพที่มอบแด่ผลงานทั้ง 3 อย่างละรางวัลด้วย
     
       เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา 2 องค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับโลกก็พร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักประดิษฐ์ที่พระองค์ท่านทรงคิดค้นและพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนผลงานเรื่อง ทฤษฎีใหม่และ เศรษฐกิจพอเพียงสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) ส่วนสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร
     
       ก่อนหน้านี้จากกังหันน้ำชัยพัฒนาเคยได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นจากงาน บรัสเซลส์ ยูเรกามาแล้ว 5 รางวัล ในปี 43 ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International ซึ่งเป็นรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น และถ้วยรางวัล Yugoslavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์
     
       ทั้งนี้ กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 2 ก.พ.36 และนับแต่นั้นมาวันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี จึงเป็นวันนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย โดยในวันที่ 21 พ.ย.49 คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
     
       พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้มีแต่เพียงเท่านี้ พระองค์ยังทรงประดิษฐ์ "เรือใบตระกูลมด" ประกอบด้วย เรือใบมด, เรือใบซูเปอร์มด และเรือใบไมโครมด ซึ่งแสดงถึงความวิริยอุตสาหะของพระองค์ท่านที่ทรงเพียรพยายามเพื่อให้เสร็จสมดังพระราชหฤทัย พระองค์ท่านทรงออกแบบเรือใบเหล่านี้ให้เหมาะสมกับสรีระของคนไทย ได้มาตรฐาน น้ำหนักเบา แล่นเร็ว และง่ายต่อการใช้งาน และทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบมดเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ ส่วนเรือใบซูเปอร์มดยังเป็นพาหนะที่พระองค์ท่านทรงใช้ในการแข่งขันเรือใบในการแข่งขันระดับนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง ต่อมาพระองค์ท่านทรงปรับปรุงแก้ไขเรือใบตระกูลมดเหล่านี้จนกลายเป็นเรือยนต์รักษาฝั่งชื่อว่า "ต. 91" ปัจจุบันเรียกว่า "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง"
     
       ในหลวงยังทรงมีพระปรีชาสามารถในการอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝก ที่มีระบบรากช่วยยึดหน้าดินไม่ให้พังทลาย ขณะเดียวกันก็ช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นของดินไว้ ทำให้ดินที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นคืนชีวิตชีวาได้อีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาหน้าดินพังทลาย ทางสมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award แด่พระองค์ท่านที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.36
     
       โครงการแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการขุดคลองเก็บกักน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก และค่อยๆ ระบายออกเมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลง โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โดยการแกล้งให้ดินเปรี้ยวจัดเสียก่อน แล้วค่อยใส่สารที่มีฤทธิ์เป็นเบสลงไปในดิน ทำให้ดิน "ช็อก" และกลับสู่สภาวะปกติ เพาะปลูกได้ดีดังเดิม
     
       โครงการแหลมผักเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ที่แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ แล้วนำไปหมักในบ่อคอนกรีตด้วยกระบวนการที่กระตุ้นให้เกิดการย่อยสลายเศษอาหารเป็นสารอนินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยให้พืชต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบำบัดน้ำเน่าเสียจะใช้สาหร่ายหรือพืชเป็นตัวเพิ่มออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ในน้ำให้ทำหน้าที่ย่อยสลายสิ่งปฏิกูลได้ดียิ่งขึ้น
     
       นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชดำริขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาทุกหมู่เหล่า เพื่อให้ราษฎรทุคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ทรงครองราชย์

ประมวลรางวัลและสิทธิบัตรผลงานเด่น ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
     
       พ.ย. 2550
       สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ หรือ ไอเอฟไอเอ (IFIA) สาธารณรัฐฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเอฟไอเอคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup) และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize), สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (KIPA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลสเปเชีลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่ผลงานกังหันน้ำชัยพัฒนา, ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง
     
       ก.พ. 2550
       องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล โกลบอล ลีดเดอร์ส อะวอร์ด” (Global Leaders Award) แด่ผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนา, ฝนหลวง, ไบโอดีเซล และทฤษฎีใหม่
     
       21 พ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
     
       20 มิ.ย. 2549
       คณะรัฐมนตรีมีมติเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และกำหนดให้วันที่ 5 ต.ค. ของทุกปี เป็น "วันนวัตกรรมแห่งชาติ"
     
       มิ.ย. 2549
       สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "ฝนหลวง" ที่ยื่นจดในประเทศโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2546 และในต่างประเทศโดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ภายใต้ชื่อ “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548
     
       พ.ค. 2549
       นายโคฟี อนัน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์” (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ของโครงการพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ
     
       2544
       ผลงาน น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม", "ฝนหลวงและ ทฤษฎีใหม่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน และถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร
       ผลงาน น้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม" ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน ฝนหลวงได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
       ผลงาน ทฤษฎีใหม่ได้รับทูลเกล้าฯ รางวัล Gold medal with mention
     
       2543
       ผลงานประดิษฐ์ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้งสิ้นรวม 5 รางวัล ได้แก่ เหรียญรางวัล Prix OMPI โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO), เหรียญรางวัล Gold Medal with
       Mention และประกาศนียบัตร, ถ้วยรางวัล Grand Prix International, ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) และถ้วยรางวัล Yugoslavia
     
       ต.ค. 2536
       สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association: IECA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล The International Erosion Control Association’s International Merit Award เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ
     
       2 ก.พ. 2536
       กังหันน้ำชัยพัฒนาได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
     
       นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงนำเรือใบมดไปจดสิทธิบัตรเป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เองในช่วงระหว่างปี 2509 – 2510

(เครดิตข้อมูลจาก MGR online)

ความเป็นมาของการทำฝนเทียม (หรือโครงการฝนหลวง)

 
         โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติหรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน จากพระราชกรณียกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอนับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จนตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้ง ได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ตามเส้นทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศยานดังกล่าว ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้ อย่างแน่นอน ตามที่ทรงเล่าไว้ใน RAINMAKING STORY จาก พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ในปีถัดมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้


          การทดลองในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๒ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบิน ปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ในการสนองพระราชประสงค์ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการ ตามพระราชประสงค์แล้ว ดังนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลอง เป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลม พ้นไปจากสายตา ไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

 

วัตถุประสงค์

 

          โครงการฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ ๒๔๙๕ เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาด แคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมา ได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี ๒๕๑๒ ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการ พระราชดำริ "ฝนหลวง" ต่อไป

 

          สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ไม่สามารถขยายขอบเขตการให้บริการฝนหลวง แก่ประชาชนและเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง และเพียงพอกับความต้องการใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในฤดูแล้งปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน ๘ จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จว.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และชัยภูมิ อย่างรุนแรง ได้ทราบถึงพระเนตร พระกรรณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๓๐ จึงได้มีกระแสพระราชดำรัสกับผู้บัญชาการทหารบก ให้หาลู่ทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดโครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียวขึ้น

 

          การทำฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า จะต้องให้เครื่องบิน ที่มีอัตราการ บรรทุกมากๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้น ปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพ ในปริมาณที่เหมาะสมกล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้น ที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศ จะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอ ก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆ ให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้ กระตุ้นกลไก ระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

 

รายละเอียดโครงการ

 

          การทำฝนหลวงนี้มีขั้นตอน ยุ่งยากหลายประการ จึงต้องใช้บุคลากรหลายฝ่ายร่วมมือกัน จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ต้องมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมกัน สร้างสรรค์โครงการนี้ ให้เป็นฝันที่เป้นจริงของพี่น้องชาวอีสานในส่วนของฝนหลวงพิเศษ
โครงการฝนหลวงพิเศษ หากสามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวอีสานจากภาวะแห้งแล้ง ถึงแม้จะมีการสร้างเขื่อนหรือ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในบางส่วนของภูมิภาค แต่ก็ยังไม่ เพียงพอที่จะเก็บกักน้ำสำรับอุปโภค บริโภคและใช้ในการเกษตร โครงการนี้จึงสามารถ บรรเท่าความเดือดร้อนได้ เพราะสามารถที่จะเข้าไปปฏิบัติ ภารกิจในจุดต่างๆ ซึ่งเกิด ภาวะแห้งแล้งได้ แม้ฝนที่ตกในบางครั้ง อาจจะผิดเป้าหมายไปบ้าง เนื่องจาก ข้อผิดพลาดของสภาพลมฟ้าอากาศ หรือจากการคำนวน แต่ก็เป็น เพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับผลสำเร็จซึ่งนับได้ว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

          จากที่กล่าวมาในข้างต้น สามารถพิสูจน์ได้ว่า กองทัพเรือไม่ได้มีเพียงหน้าที่ในการ ปกป้องน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่ยังได้เข้าช่วยเหลือราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ในหลาย โครงการที่ร่วมมือกับภาครัฐอื่นๆ เช่น โครงการดับไฟป่าที่ จว.เชียงใหม่ สามารถรักษา พื้นที่ป่าให้พ้นจากความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่เพื่อรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ในการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ท่าน ให้อยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ความรับผิดชอบของของทัพเรือที่มีต่อโครงการฝนหลวง

 

          กองทัพเรือได้ร่วมเข้าโครงการน้ำพระทัยจากในหลวงในส่วนของ ฝนหลวงพิเศษ มาตั้งแต่เริ่มต้น โดยผู้บัญชาการทหารเรือ มีคำสั่งให้ดำเนินการดัดแปลง บ.C-47 จำนวน ๒ ลำ เพื่อใช้ในการโปรยสารเสมีและทำการทดลองในช่วงแรก ตั้งแต่ ๑๕ เม.ย.-๓๐ ต.ค.พ.ศ.๒๕๓๐ รวม ๒๐๐ วัน ปรากฎว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และได้รับหน้าที่รับผิดชอบทำฝนหลวง ในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยส่ง บ. C-47 ๑ ลำ ร่วมกับกรมตำรวจ ซึ่งส่ง บ.แบบปอร์ตเตอร์เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๓ ลำ มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่สนามบินขอนแก่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นหน้าที่รับผิดชอบของกองทัพอากาศ ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ บ.C-47 ได้เลิกปฏิบัตภารกิจ เนื่องจากมีอายุการใช้งานมานาน และมีปัญหาด้านการซ่อมบำรุง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิต เลิกสายการผลิตอะไหล่ กองการบินทหารเรือจึงได้จัด บ.ธก.๒ (N-24A) สังกัดฝูงบิน ๒๐๑ กองบิน ๒ ทดแทน โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ ๑๖ มี.ค.๓๕ ต่อมาในฤดูแล้งปีเดียวกันเกิด ภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในระดับต่ำมาก เพื่อให้ภาวะวิกฤตนี้หมดสิ้นไป กองทัพเรือจึงได้เข้าร่วมแก้ไขปัญหานี้โดยส่ง บ.ธก.๒ อีก ๑ ลำเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจที่ จว.พิษณุโลก ตั้งแต่ ๑๖ ก.ค.๓๕

 

ที่ตั้งโครงการ  กองการบินทหารเรือ ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง 

ที่มา : http://84th.rtsd.mi.th/project/project-110.asp
เครดิตข้อมูลจาก www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น